fbpx
15 ปีไฟใต้ : เมื่อ ‘พิราบ’ ทบทวนเส้นทาง “สันติภาพ”

15 ปีไฟใต้ : เมื่อ ‘พิราบ’ ทบทวนเส้นทาง “สันติภาพ”

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังอิ่มพรสุขสันต์รับปีใหม่ 2562 แต่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพิ่งผ่านเหตุการณ์ระเบิด 8 จุด 4 อำเภอในนราธิวาสเมื่อปลายปี 2561 มาหมาดๆ

ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าความสงบและสันติในชายแดนใต้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ผ่านมา 15 ปี นับจากความรุนแรงที่เริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ทั้งการบุกปล้นปืนที่ค่ายทหารและการเผาโรงเรียนกว่า 20 แห่ง จนถึงวันนี้ ยอดผู้เสียชีวิตมากถึงกว่า 6 พันราย ผู้บาดเจ็บราว 2 หมื่นคน และงบประมาณแผ่นดินกว่า 3 แสนล้านบาทที่ใช้ไปในการแก้ไขความรุนแรง

ท่ามกลางการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายขบวนการ

ท่ามกลางความคลอนแคลนของการเมืองไทย

ท่ามกลางการเอาชีวิตรอด ตัวใครตัวมันของสังคมไทยยามวิกฤต

และท่ามกลางความสูญเสียที่ไม่มีวี่แววจะสิ้นสุด

ยังมีความพยายามในการสร้างพื้นที่สันติสนทนาจากหลายฝ่าย ทั้งที่เปิดเผยและปิดลับ

หากทบทวนเส้นทางเผชิญความรุนแรงตลอด 15 ปีที่ผ่านมา อะไรเป็นโจทย์สำคัญของวันนี้ เพื่อมองหาทางออกจากบาดแผลเรื้อรังร่วมกัน

ชายแดนใต้

“มองคนที่ต่อสู้เป็นเพื่อนร่วมชาติ”

จากที่ฝ่ายรัฐไทยกับขบวนการติดอาวุธต่อสู้กันมายาวนาน อะไรคือจุดเริ่มต้นของการเลือกหันหน้ามาพูดคุยกัน แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง ปัจจุบันยังไม่มีฝ่ายไหนวางอาวุธลงอย่างสิ้นเชิง

สมเกียรติ บุญชู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงเส้นทางการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมาว่า หลายคนคงเป็นห่วงและท้อแท้ใจกับปัญหาภาคใต้ว่าแก้ยากและซับซ้อน แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่ายังแก้ได้ เป็นเรื่องของการเปลี่ยนมุมมอง เป็นเรื่องของการปรับความคิดเพื่อความคลี่คลายปัญหา

เขามองว่า จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มเมื่อปี 2540 เมื่อ สมช. ได้ลงไปประเมินตรวจสอบในพื้นที่ และพบว่าไทยใช้นโยบายมาหลายฉบับ แต่คำถามคือทำไมถึงไม่ได้ผล ปัญหาสำคัญ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก ฝ่ายรัฐไทยให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก และละเลยหรือให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับความมั่นคงทางชีวิตของประชาชน

แนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่ปัญหาที่สอง คือ ก่อนหน้าปี 2540 นโยบายล้วนทำจากส่วนกลาง ไม่ได้ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม จึงเป็นที่มาการทำนโยบายใหม่ เริ่มใช้ปี 2542 การปรับนโยบายใหม่เริ่มจากรู้ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่ามีอะไรไม่มั่นคง มีความอึดอัดและความไม่เป็นธรรมอย่างไร

แต่ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังปะทุขึ้นหลังปี 2547 เป็นต้นมา กระทั่งปี 2549 สมเกียรติเล่าว่า ทางคณะกรรมยุทธศาสตร์สันติวิธี (กยส.) ภายใต้ สมช. ได้รับการติดต่อจากองค์กรต่างประเทศที่ทำงานด้านสันติภาพว่าสามารถเข้าถึงคนในขบวนการที่ใช้ความรุนแรงได้ ถ้ารัฐบาลสนใจก็จะทำหน้าที่ประสานงานเพื่อให้เกิดการพูดคุยได้

“มีข้อแม้ว่าให้รับรู้กันในวงจำกัด เพราะมีความละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เห็นด้วย” อดีตรองเลขาธิการ สมช. กล่าวถึงเงื่อนไข หลังจากที่ฝ่ายนโยบายได้ปรึกษาหารือกัน ทั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นที่เห็นตรงกันว่าควรจะลองทำ

“เราพยายามทบทวนอดีตที่ผ่านมา พบว่าเวลาที่รัฐเจรจากับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงหรือฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ หลายครั้งเราตั้งสมมติฐานว่าพวกเขาเป็นผู้หลงผิด และพยายามหาวิธีการให้ผู้หลงผิดกลับมามอบตัวหรือให้ความร่วมมือกับทางการโดยมีข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างที่ทำให้เกิดความมั่นใจ เช่น  โครงการผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แต่เราพบว่าเมื่อเขากลับมา ก็ยังต้องพบกับปัญหาเงื่อนไขเดิมๆ ที่เป็นเหตุทำให้เขาต้องออกไปต่อสู้”

“เราจึงเห็นว่าวิธีการมองว่าคนที่ต่อสู้กับรัฐเป็นผู้หลงผิดจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป เราไม่สามารถจะวางสถานะของผู้ที่ต่อสู้เป็นแบบเดิมได้ ต้องมองเป็นเพื่อนร่วมชาติ เป็นหุ้นส่วนในการหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกัน วิธีการมองดังกล่าว อย่างน้อยก็สร้างความรู้สึกไว้วางใจต่อกันได้”

แต่อะไรคือความยากและท้าทายในเส้นทางดังกล่าว เมื่อที่ผ่านมาการโจมตีกันด้วยอาวุธเป็นทางเลือกเดียวที่ทั้งสองฝ่ายมี

สมเกียรติบอกว่า การทำให้ฝ่ายบริหารยอมรับและสนับสนุนการพูดคุยเป็นเรื่องยาก กระบวนการทำงานเพื่อให้เกิดความยอมรับ อุปสรรคสำคัญคือความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐที่ฝังลึกในหน่วยงานความมั่นคงมานาน โดยเฉพาะกองทัพ

อีกอุปสรรคที่เขามองเห็น คือ คนที่อยู่ในองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้และอาศัยอยู่นอกประเทศส่วนใหญ่จะนึกว่าตัวเองกระทำการหรือพูดในนามคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในความเป็นจริง คนข้างในเขาก็อยากมีการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงของคนข้างในไม่ได้ตรงกับคนในขบวนการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมุมมองจากสมเกียรติสะท้อนว่าการพูดคุยสันติภาพในอดีตค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แต่การยกระดับการพูดคุยให้เป็นวาระแห่งชาติผ่านคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 ซึ่งเป็นนโยบายฉบับแรกที่ใช้ในภาคใต้ในรูปของคำสั่งนายกรัฐมนตรี และต่อมาคำสั่งดังกล่าวได้กลายมาเป็นนโยบายการบริหารและพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็นับเป็นหมุดหมายสำคัญให้ฝ่ายรัฐบาลไทยต้องตระหนักว่าการสร้างสันติภาพ ลำพังการพูดคุยอย่างเดียวคงไปได้ไม่ถึงไหน ถ้าไม่ทำให้เป็นนโยบาย

“สิ่งที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามว่าการพูดคุยกับฝ่ายขบวนการเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากพูด เพราะกังวลว่าถ้ามีการพูดไปแล้วจะถูกเข้าใจผิด กลายเป็นว่าเมื่อมันเป็นประเด็นทางนโยบาย มันก็ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เป็นเรื่องสำคัญที่จับต้องได้” สมเกียรติ ทิ้งท้าย

“เราเข้าข้างการไม่ใช้ความรุนแรง”

ในฐานะผู้มีบทบาทโดยตรงในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ช่วงปี 2549 – 2554 รศ.ดร.มารค ตามไท อดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งเคยได้รับการมอบหมายจากสภาความมั่นคงแห่งชาติให้พบปะพูดคุยกับฝ่ายขบวนการ กล่าวถึงความท้าทายในอดีตที่ผ่านมาว่า “บางครั้งสันติสนทนาก็ไม่ใช่การสนทนาระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการ แต่เป็นการสนทนาระหว่างเรา (ทีมพูดคุย) กับรัฐบาลไทย”

อาจารย์มารค อธิบายว่าปัญหาไม่ใช่แค่ว่าการอธิบายให้รัฐบาลเข้าใจความสำคัญของการพูดคุย แต่สิ่งที่เขาพบตลอดคือการเห็นต่างกันในเรื่องวิธีพูดคุยด้วย โดยเฉพาะการพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการ

“มันมีความลำบากตรงการทำตามแนวที่เราคิดไว้กับแนวที่รัฐบาลต้องการ ซึ่งผมเชื่อว่าเป้าหมายก็เหมือนกัน แต่วิธีการต่างกัน รัฐไทยอาจจะติดวิธีการในอดีต เช่น ให้เราไปชักชวนหรือเสนอการดูแลครอบครัวพวกเขา หรือบางครั้งคนในฝ่ายไทยก็มองว่าเราเอนเอียงไปเข้าข้างฝ่ายขบวนการหรือเปล่า เลยต้องอธิบายให้เข้าใจว่าเราเข้าข้างการไม่ใช้ความรุนแรง และต้องอธิบายให้รัฐไทยเข้าใจว่ามันไม่ใช่การแข่งขันในการเอาชนะฝ่ายตรงข้าม หรือทำให้เขาคล้อยตาม แต่เป็นการร่วมกันหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนทุกคน”

อีกความท้าทายที่เขามองเห็น คือ การสร้างความไว้ใจซึ่งเป็นหัวใจของการพูดคุย ประเด็นคือการสร้างความไว้วางใจนั้นเราสร้างกับใคร กับคนที่นั่งอยู่กับโต๊ะหรือกับคนที่ไม่ได้มาร่วมโต๊ะด้วย แต่ส่งคนมาร่วมโต๊ะแทน

“คนที่อยู่ร่วมกันในห้อง บางครั้งอาจจะมองตากันแล้วดูออกว่าจริงใจหรือเสแสร้ง ส่วนมากการสร้างความไว้วางใจไม่ได้ทำตอนคุยบนโต๊ะเจรจา แต่ทำตอนกินข้าว กินน้ำชาด้วยกัน ผมถูกถามเสมอว่าอาจารย์รู้ได้ไงว่าคุยถูกคน ผมมองว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจมันถึงกันหมด ไม่ต้องอยู่ต่อหน้ากันก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราชัดเจนและมั่นใจแค่ไหน เพราะเราชัดเจนว่าไม่ได้มาล้วงความลับของคุณและเราไม่ได้มาขอให้คุณเลิกสิ่งที่คุณทำทันที”

บทเรียนสำคัญที่อาจารย์มารคค้นพบหลังผ่านช่วงเวลาของกระบวนการพูดคุยในอดีตมา คือ ทัศนะว่าสันติสนทนากับฝ่ายขบวนการจะแก้ปัญหาทุกอย่างในชายแดนใต้ได้ ในความเห็นของเขาบอกว่าไม่ใช่

“คำตอบยังมีอีกหลายส่วนที่รัฐไทยต้องไปฟัง คำตอบทางสันติภาพในชายแดนใต้ไม่ได้เกิดจากบนโต๊ะเจรจาอย่างเดียวแน่ๆ”

เขาอธิบายอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลชอบบอกเวลาไปพูดคุย คือ “คุยอะไรก็ได้แต่ให้อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ”

นักวิชาการด้านสันติวิธีมองว่า การพูดคุยทำไมต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ พอยึดกรอบมากเกินไป มันทำให้ติดล็อก

“ผมคิดว่าการพูดว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรานั้น มาตรานี้ ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องที่คุยกันได้ เพราะถึงที่สุดถ้าปัญหามันอยู่ที่รัญธรรมนูญ ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาห้ามพูดคุย”

รศ.ดร.มารค บอกว่าถ้าเราพยายามแก้ปัญหานี้โดยวิธีที่ผ่านมา ก็ค่อนข้างแน่ว่าไม่ได้ผล ต้องหาวิธีอื่นที่นอกกรอบ ไม่ต้องมีกรอบอะไรทั้งสิ้น

“มันไม่ต้องมีเพดานนี้ เราอ้างเรื่องเอกราช แต่คนที่มีอำนาจให้ตรงนี้ได้คือประชาชน ไม่ใช่คณะพูดคุย เพราะฉะนั้นเพดานไม่มีความหมาย ควรจะคุยกันได้ทุกอย่าง การเคลื่อนไหวให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติก็มีการเคลื่อนไหวกันเยอะ เป็นสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย”

“ต้องเข้าใจให้ลึกที่สุดว่าจริงๆ แล้ว เรากำลังพูดเรื่องความรับผิดชอบของรัฐที่จะทำให้ประชาชนไม่ทุกข์ใจ นี่คือหน้าที่ของรัฐในการปลดความทุกข์ใจของคน แต่ความทุกข์ใจของคนเราจะรู้ได้อย่างไร ไม่ง่าย มีวิธีเดียวคือให้เขาเล่าเอง หรือปลดล็อคว่าคุยอะไรก็ได้ บางคนอาจจะบอกว่าอยากได้เอกราช อีกคนหนึ่งอาจจะบอกว่าไม่อยากได้ ก็ให้เขาได้ถกเถียงกัน แต่ทันทีที่ห้ามก็จะเกิดปัญหาทันที” อาจารย์มารค ทิ้งท้าย

สันติสนทนา
นอกสายตาฝ่ายความมั่นคง

ในบรรดาทัศนะที่เชื่อว่าการพูดคุยสันติภาพทำให้ความรุนแรงลดลงนั้น รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (deepsouthwatch) ตั้งข้อสังเกตสำคัญจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพว่า แม้ความรุนแรงลดลง แต่ไม่ได้ทำให้หมดความขัดแย้งไป

จากการเก็บข้อมูลของ deepsouthwatch เขาอธิบายว่า ตัวความรุนแรงลดลง แต่เมื่อมาดูย้อนไทม์ไลน์ จะเห็นว่าสถิติความรุนแรงช่วงที่มีกิจกรรมการพูดคุยกลับทะยานขึ้น

“ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างการพูดคุยกับความรุนแรงเป็นเรื่องเดียวกัน เราเห็นในแง่หนึ่งถึงความจำเป็นในการพูดคุยมักจะมีเมื่อมีความรุนแรง ถ้าเหตุผลนี้ถูก หมายความว่าถ้าต่อไปความรุนแรงลดน้อยลง ความจำเป็นที่ต้องมีการพูดคุยจะน้อยลงหรือเปล่า สิ่งนี้จำเป็นต้องตั้งคำถาม”

อีกประเด็นที่เขาตั้งข้อสังเกต คือ จริงๆ แล้ว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงในพื้นที่ก็มีการวางแผนงานเป็นระยะๆ ในการแก้ไขปัญหา ตอนนี้ไทยอยู่ในระยะที่ 2 คือการปฏิบัติการเชิงรุกควบคู่การพัฒนา

“ส่วนระยะที่ 3 คือ การเสริมสร้างสันติสุขและพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ความหมายของมันเป็นผลมาจากการประเมินสถานการณ์ความรุนแรงและความพร้อมของกองกำลังประจำท้องถิ่นที่หันหลังจากทหารไปสู่การเป็นอาสาสมัคร และเงื่อนไขเท่าที่ทราบคือ ปัจจัยในเรื่องของการพูดคุยสันติภาพไม่ได้อยู่ในการคิดคำนวณของเรื่องนี้เท่าไหร่ คำถามคือสันติสนทนาอยู่ส่วนไหนของการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

อย่างไรก็ตาม พ้นไปจากนโยบายของรัฐบาลในการพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงอันเรื้อรัง สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกถึงปัญหาที่แท้จริงของคนในพื้นที่อาจไม่ได้ถูกนับพ่วงเข้าไปด้วยกับการร่างนโยบายของฝ่ายความมั่นคง แล้วคนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมอย่างไรในกระบวนการดังกล่าว

ประเด็นนี้ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มองว่าเรื่องสันติสนทนาไม่ได้ลอยอยู่บนอากาศ แต่มันอยู่บนบริบทสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

“หนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุดคือคนต้องรู้สึกว่ามันปลอดภัยมากพอที่เขาจะสะท้อนเสียงออกมา ไม่อย่างนั้นการฟังเสียงพวกเขา เราก็จะได้ยินแต่เสียงที่เราอยากจะได้ยินเท่านั้น” รอมฎอน ทิ้งท้าย

อนาคตของการ “พูดคุยเพื่อสันติสุข”

ตั้งแต่ คสช. รัฐประหารเข้ามาเมื่อเดือน พ.ค. 2557 รัฐบาลทหารได้สานต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพต่อจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เปลี่ยนชื่อจาก “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” มาเป็น “พูดคุยเพื่อสันติสุข” แทน

พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาค 4 เพิ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงไม่กี่เดือน ร่วมแสดงทัศนะถึงกระบวนการสันติสนทนาในปัจจุบันว่า “ในอดีตผมผ่านสงครามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมา มันไม่ใช่ด้วยกำลังอาวุธที่ยุติสงครามได้ แต่เป็นสันติวิธี”

ในฐานะนายทหารที่เติบโตมาในพื้นที่ชายแดนใต้ เขามองว่า ความรุนแรงเป็นเพียงด้านหน้าที่แสดงออกถึงการประท้วงรัฐ แต่อะไรที่อยู่เบื้องหลัง อาจเป็นเรื่องของเจ้าของบ้านที่อยู่ในบ้านตัวเองแล้วอึดอัด เราต้องศึกษาเข้าไปในรากลึกว่านอกจากเรื่องการใช้อาวุธแล้วมันเป็นเรื่องอะไร

“เพราะเราหลีกเลี่ยงที่จะพูดคำว่า autonomy กัน ผมว่านี่เป็นประเด็นที่เราต้องหาทางออก มันเป็นเรื่องยากที่จะชี้แจงให้กับคนที่ไม่ได้อยู่ในปัญหานี้เข้าใจ โดยเฉพาะคนที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองในระดับกำหนดนโยบายว่ามันไม่ใช่ปัญหาแค่เรื่องการใช้ความรุนแรง แต่เป็นปัญหาโครงสร้างหรือปัญหาเชิงวัฒนธรรม”

“ผมเคยพูดสมัยผมเป็นแม่ทัพ ผู้ที่ต่อสู้กับเราเขาไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน อาชญากรรมมันเกิดจากความคิดความเชื่อของเขา ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหามันไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเดียว”

“เราคงไม่สุดโต่ง ต้องคุยกับคนที่คุมกำลังและอีกหลายส่วนที่ไม่ถืออาวุธ ทั้งนอกและในประเทศ และประชาชน เราต้องหาออกให้ได้ว่าในบรรดาคนเหล่านี้ ใครจะดำเนินการอย่างไร นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมควรจะรู้ว่าพี่น้องในสามจังหวัดใช้แดนภาคใต้ จริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร”

“เขาอาจบอกว่าอยากแยกเป็นเอกราช แต่เรายังไม่ได้ฟังเลยว่าเขาอยากปกครองกันอย่างไร มีลักษณะอย่างไรในรัฐนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องการไปทำคือไปรับฟังแล้วมาวิเคราะห์ นี่คือจุดยืนของผม”

หัวหน้าคณะพูดคุยฯ บอกว่า ถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง การเมืองในทัศนะผมเป็นเรื่องระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ซึ่งผู้ถูกปกครองในสามจังหวัดใช้แดนภาคใต้เขาอึดอัด เขาไม่อยากอยู่กับเรา การดำเนินงานของเขาก็เป็นการเคลื่อนไหวลักษณะการเมืองที่มีองค์กรนำ มีแนวร่วม มีมวลชน และมีกองกำลังเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ปัจจุบันมันถึงเวลาที่เราจะต้องพูดคุยกัน บทพิสูจน์ที่ชัดมากที่สุดคือความทุกข์ยากของประชาชน ซึ่งทุกคนได้เห็นและบางครอบครัวก็ได้สัมผัสกับตัวเอง” พล.อ.อุดมชัย กล่าว

ทั้งหมดเป็นเสียงของสายพิราบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความรุนแรงในชายแดนภาคใต้

เป็นเสียงแห่งการทบทวนอดีตและร่วมมองไปยังอนาคตของกระบวนการสันติภาพ

ยังไม่ต้องนับถึงวิกฤตโดยรวมของการเมืองไทย ดูไปแล้วนับว่าเส้นทางไปสู่สันติภาพนั้นน่าท้าทายอย่างยิ่ง

จากซ้าย : รอมฎอน ปันจอร์, พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์, สมเกียรติ บุญชู, มารค ตามไท, ผู้ดำเนินรายการ

________________________________________________________________________
หมายเหตุ : เก็บความจากเวทีเสวนาเรื่อง “สันติสนทนา: เส้นทางเผชิญความรุนแรงชายแดนใต้” เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2561

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save