ห่างหายกันไปพักใหญ่ กับการแนะนำหนังสือที่ ‘น่าจะอ่าน’
เชื่อว่าหลายคนคงได้ไปเดินสำรวจงานหนังสือฯ กันมาบ้างแล้ว แน่นอนว่ามีหนังสือใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมายเช่นเคย แต่จะให้ตามซื้อทั้งหมดก็กระไรอยู่ (แอบหันไปดูกองหนังสือจากคราวก่อนๆ ยังไม่ได้อ่านอีกเพียบ!)
เอาเป็นว่า ถ้าใครยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะซื้อเล่มไหนดี เราขอชี้เป้าให้แบบเนื้อๆ เน้นๆ 15 เล่ม จากความเห็นและรสนิยมของกรรมการ ‘ความน่าจะอ่าน’ ทั้ง 5 คน ได้แก่ นิวัต พุทธประสาท, โตมร ศุขปรีชา, ทีปกร วุฒิพิทยามงคล, สฤณี อาชวานันทกุล และทราย เจริญปุระ
จะมีเล่มไหนบ้าง ไปดูกันเลย!
1. ผจญไทยในแดนเทศ
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon Books
แนะนำโดย : โตมร ศุขปรีชา
“เล่มนี้น่าอ่านมาก เป็นเรื่องของคนไทยที่ไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของโลก เช่น คนไทยที่มีตั๋วเรือไททานิกในครอบครอง, ฟิเดล คาสโตร เคยมีอาจารย์เป็นคนไทย และเกร็ดความรู้แปลกๆ อีกมากมาย”
2. ความจนกับคนจรในปารีสและลอนดอน (Down and out in Paris and London)
จอร์จ ออร์เวลล์ เขียน, บัญชา สุวรรณานนท์ แปล
สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น
แนะนำโดย : แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
“เป็นงานเขียนบันทึกประสบการณ์ความจนแบบสิ้นไร้ไม้ตอกที่สนุกเหลือเชื่อ ประกอบกับการแปลที่ลื่นไหลยิ่งทำให้แป๊บเดียวอ่านจบ”
3. ศาลรัฐประหาร : ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร
ปิยบุตร แสงกนกกุล เขียน
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
แนะนำโดย : สฤณี อาชวานันทกุล
“หนังสือ ‘ต้องอ่าน’ เพื่อทลายมายาคติที่ว่า ขึ้นชื่อว่าสถาบันศาลแล้วต้องเป็นกลาง ศักดิ์สิทธิ์ และยุติธรรม โดยไม่มีข้อแม้ และไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”
4. ตำนานนิรันดร์ (The immortal story)
ไอแซค ไดนีเสน เขียน , อรจิรา โกลากุล แปล
สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม
แนะนำโดย : นิวัต พุทธประสาท
“ผลงานของ ไอแซค ไดนีเสน ผู้เขียน Out of Africa หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวของเศรษฐีชราที่ต้องการทำเรื่องเล่าให้กลายเป็นเรื่องจริง อ่านเพลินจนวางไม่ลง”
5. วิธีเดินทางกับแซลมอน (Come viaggiare con un salmone)
อุมแบร์โต เอโค เขียน , นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปล
สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี
แนะนำโดย : ทราย เจริญปุระ
“เล่มนี้เป็นรวมความเรียงที่อ่านสนุกมาก วิพากษ์เรื่องต่างๆ ได้เจ็บแสบ ทั้งคม ทั้งตลก ประทับใจในความปากร้ายแบบวิชาการของคุณลุงเอโคมากๆ”
6. Fetish : อีโรติกชน
สำนักพิมพ์ Her Space
แนะนำโดย : นิวัต พุทธประสาท
“หกเรื่องสั้นเค้นคั้นความปรารถนา จากนักเขียนรุ่นใหม่สามคน นำเสนองานเขียนในแนวรักๆ ใคร่ๆ ได้อย่างน่าคลั่งไคล้”
7. อาทิตย์สิ้นแสง
ดะไซ โอซามุ เขียน , พรพิรุณ กิจสมเจตน์ แปล
สำนักพิมพ์ J-Lit
แนะนำโดย : สฤณี อาชวานันทกุล
“งานชิ้นเอกของ ดะไซ โอซามุ ว่าด้วยเรื่องราวของผู้ดีตกยากในญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง วางไม่ลงด้วยวิธีบรรยายความโศกอันสวยงาม และสำนวนแปลอันประณีต”
8. Pieces of You : เศษเสี้ยวของเธอ
ทาโบล เขียน , ทศพล ศรีพุ่ม แปล
สำนักพิมพ์ ไจไจบุ๊คส์
แนะนำโดย โตมร ศุขปรีชา
“เล่มนี้ออกมาระยะหนึ่งแล้ว อยากอ่านมาก เป็นรวมเรื่องสั้นสิบเรื่องของทาโบล นักเขียน นักแต่งเพลง และแร็ปเปอร์ชาวเกาหลีที่ดังมากๆ”
9. ‘Wild Side’ และ ‘City Sight’
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และ สรณรัชฏ์ กาญจนวณิชย์ เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon Books
แนะนำโดย : แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
“รวมผลงานชวนคิด ชวนตระหนัก ทั้งในเรื่องชีวิตและสิ่งรอบกาย โดยนักเขียนที่เราถือเป็นครูทั้งคู่ อ่านแล้วรู้เลยว่าแต่ละคำกลั่นมาจากประสบการณ์จริงๆ”
10. ทำลาย, เธอกล่าว
สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
แนะนำโดย : ทราย เจริญปุระ
“รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ พลังทำลายล้างสูงมาก แต่ละเรื่องมีเอกลักษณ์ชัดเจนมาก อ่านแล้วคันไม้คันมือ อยากเขียนด้วยเลย”
11. หิมาลัยไม่มีจริง
นิ้วกลม เขียน
สำนักพิมพ์ Koob
แนะนำโดย : แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
“นี่น่าจะเป็นงานเขียนที่จริงจังที่สุดของนิ้วกลม เราอยากเห็นงานเขียนหนักๆ ของนิ้วกลมมานานแล้ว และงานเขียนนี้ก็ทั้งหนัก (ในเชิงจำนวนหน้า) และน่าจะหนักในเชิงความคิดด้วย”
12. มนุษย์บริกร (Jakob von Gunten)
โรเบิร์ท วัลเซอร์ เขียน , พร่างดาว นุประดิษฐ์ แปล
สำนักพิมพ์ ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง
แนะนำโดย : นิวัต พุทธประสาท
“เรื่องราวของวัยรุ่นคนหนึ่งที่ครอบครัวตกอับ หนีออกจากบ้านไปอยู่ในสถาบันฝึกสอนวิชาบริกรที่กำลังตบอับเหมือนกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่มีนิยายในแบบเสียดสีสังคม คนนอก และโพสต์-โมเดิร์นแบบนี้ มักเป็นนิยายที่น่าอ่านเสมอ”
13. จากดวงจันทร์ (Mal di pietre)
มิเลนา อากุส เขียน , นันทวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปล
สำนักพิมพ์ อ่านอิตาลี
แนะนำโดย : สฤณี อาชวานันทกุล
“เรื่องราวเศร้าสวยเปี่ยมเสน่ห์จากเกาะซาร์ดีเนีย เป็นนวนิยายเกี่ยวกับครอบครัว ความรัก มองจากมุมของผู้หญิงที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในชีวิตการอ่าน”
14. เข้าตาร้าย (Get in trouble)
เคลลี่ ลิงค์ เขียน , ธนรรถวร จตุรงควาณิช แปล
สำนักพิมพ์กำมะหยี่
แนะนำโดย : ทราย เจริญปุระ
“เป็นรวมเรื่องสั้นกึ่งสยองขวัญกึ่งแฟนตาซี เหมือนพาเราเข้าไปอยู่ในโลกเล็กๆ ของผู้คนแปลกๆ รวมถึงความสัมพันธ์เหนือจินตนาการที่เราไม่มีวันได้สัมผัส”
15. GDP : ประวัติศาสตร์เบื้องหลังตัวเลขเปลี่ยนโลก
ไดแอน คอยล์ เขียน , ฐณฐ จินดานนท์ แปล
สำนักพิมพ์ Openworlds
แนะนำโดย : โตมร ศุขปรีชา
“เรื่องของ GDP ตัวเลขที่ทุกคนคุ้นหูดี แต่อาจไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นมายังไง และเป็นตัวเลขที่ ‘เปลี่ยนโลก’ ยังไง น่าอ่านมากครับ”
นอกจากหนังสือแต่ละเล่มที่ว่ามา ไฮไลต์อีกอย่างในงานนี้ที่ทุกคนไม่ควรพลาดก็คือ นิทรรศการ ‘ความท๙งจำ’ ประมวลเหตุการณ์และพระราชประวัติด้านต่างๆ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 รวมถึงผลงานพระราชนิพนธ์ต่างๆ ทั้งหนังสือ พระราชนิพนธ์แปล และบทเพลง บอกได้คำเดียวว่าทรงคุณค่าและหาโอกาสชมได้ยากจริงๆ
งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 รวมถึงนิทรรศการ ‘ความท๙งจำ’ จะเปิดให้เข้าชมงานถึงวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคมนี้ (เวลาทำการ 10.00 – 21.00 น.) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์