fbpx
มรดกความคิด ปรีดี พนมยงค์ ในสังคมไทยสมัยใหม่

ปรีดี พนมยงค์ รัตนบุรุษสยาม

ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล เรื่อง

เว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ภาพ

แทบทุกครั้งเลยก็ว่าได้ หากต้องลงมือเขียนหรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้เขียนมักหวนระลึกถึงเด็กหนุ่มชาวเยอรมันคนหนึ่ง

ในปี 1835 เมื่อเด็กหนุ่มคนนั้นอายุ 17 ปี เขาได้เขียนเรียงความส่งครู ในงานชิ้นนั้น เขาพยายามอธิบายวิถีชีวิตและอุดมคติในการทำงานของมนุษย์ โดยสรุปความไว้ตอนท้ายของเรียงความว่า

“ประวัติศาสตร์เรียกขานบรรดามนุษย์เหล่านั้นในฐานะผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ซึ่งโดดเด่นขึ้นด้วยการงานที่เป็นไปเพื่อความดีงามร่วมกัน ประสบการณ์ต่างขนานนามบุคคลผู้มอบความสุขแด่มวลชนทั้งหลายส่วนข้างมากที่สุดนั้นว่า มนุษย์ผู้เป็นสุขยิ่งนัก

ศาสนธรรมนั้นเองสอนเราว่า บุรุษในอุดมคติอันผู้คนทั้งปวงต่างประสงค์จะเดินตามรอยเท้าของเขานั้น ล้วนอุทิศตนเองแล้วเพื่อความดีงามของมนุษยชาติ

แล้วใครกันเล่าจะกล้าลุกขึ้นมาบอกว่า นี่เป็นสิ่งไร้สาระ

หากเราได้เลือกแล้วซึ่งจุดยืนในชีวิตที่เราสามารถประกอบกิจการงานส่วนใหญ่เพื่อมนุษยชาติได้ ย่อมไม่มีภารกิจอื่นใดที่จะชี้นำเราได้อีกต่อไป ด้วยเหตุที่กิจการงานเหล่านั้นได้พลีไว้เพื่อประโยชน์แห่งมนุษย์ทุกผู้ทุกนามร่วมกันแล้ว

ต่อแต่นี้ไป ประสบการณ์ของเราจะมิใช่ประสบการณ์แห่งความสุขอันเจือด้วยความเห็นแก่ตัวอย่างคับแคบ แต่ความสุขของเรานั้นจะเป็นสมบัติของมหาชนเรือนล้าน คุณูปการทั้งหลายของเรา แม้จะซ่อนคงไว้ในความเงียบเชียบ แต่จะดำรงอยู่ชั่วกาลนาน และบนเถ้าถ่านแห่งเรือนกายของเรานี่เอง จะเป็นที่หลั่งรดซึ่งน้ำตาแห่งมหาบุรุษทั้งปวง”

เมื่อเรียงความส่งถึงมือของ เอ็ช. วิทเท็นบาค (H. Wyttenbach) ผู้เป็นครู งานชิ้นนี้ก็ได้รับการตรวจและประเมินว่า “ดีพอใช้” ผู้เขียนจึงพอเข้าใจได้ทันทีว่า การบรรยายชีวิตเป็นตัวอักษรนั้นออกดูจะง่ายเสียเหลือเกิน แต่ชีวิตที่เป็นจริงคงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งอย่างแน่นอน

ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่า เด็กหนุ่มชาวเยอรมันเจ้าของเรียงความชิ้นนี้ที่ชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) จะตระหนักในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ แต่สำหรับชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้เขียนเห็นว่าสะท้อนให้เห็นทั้งนัยแห่งข้อความตอนท้ายของนักเรียน คาร์ล มาร์กซ์ และยังสะท้อนชีวิตจริงของท่านเองที่กรุ่นไปด้วยการต่อสู้มาโดยตลอด

นายปรีดี พนมยงค์ ต่อสู้เพื่ออะไร

I.

ชีวิตสามัญ (พ.ศ. 2443-2475)

แสวงวิถีปัญญาและการศึกษาเพื่อมาตุภูมิ

วันถือกำเนิด

ย้อนกลับไปในอดีตที่เรียกกันตามคติโบราณว่า ใกล้ยุคกึ่งพุทธกาล (พุทธศักราช 2500) สายน้ำอ้อยอิ่งแห่งลำคลองคูเมืองฝั่งด้านใต้ ตรงข้ามวัดพนมยงค์ เมืองกรุงเก่า ได้ต้อนรับการถือกำเนิดขึ้นของทารกน้อยซึ่งมีนามว่า “ปรีดี” ในวันศุกร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด อีกนัยหนึ่งคือ วันที่ 11 พฤษภาคม 2443/1900 (ตามปฏิทินสากล)

บิดาของทารกน้อยผู้นี้ มีนามว่านายเสียง พนมยงค์ ส่วนมารดามีนามว่านางลูกจันทน์ พนมยงค์

นายเสียง พนมยงค์ บิดานายปรีดี พนมยงค์
นางลูกจันทน์ พนมยงค์ มารดานายปรีดี พนมยงค์

สกุลพนมยงค์

ตามคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติสกุล “พนมยงค์” นั้น อาจย้อนร่องรอยกลับขึ้นไปได้ถึงพระนมแห่งกษัตริย์ในสมัยอยุธยาพระองค์หนึ่ง พระนมท่านนี้มีนามว่า “ประยงค์” เป็นผู้สร้างวัดขึ้น ณ บริเวณฝั่งด้านใต้ของลำคลองคูเมือง ส่วนบ้านเรือนของพระนมก็ตั้งอยู่ ณ ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดนั่นเอง

ด้วยลักษณะของการออกเสียงของคนโบราณ จากคำว่า “พระนมประยงค์” จึงควบสั้นเข้ากลายเป็น “พนมยงค์” และหลายชั่วอายุคนต่อมา จึงกลายเป็นชื่อที่ใช้เรียกพระนมประยงค์และวัดที่พระนมสร้างขึ้นในที่สุด

จนกระทั่งปี 2456 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล นายเสียงจึงขอให้พระสุวรรณวิมลศีล เจ้าคณะเมืองในเวลานั้นช่วยตั้งนามสกุลให้ พระสุวรรณวิมลศีลซึ่งทราบเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษของนายเสียง จึงตั้งนามสกุลให้ว่า “พนมยงค์”

การศึกษาในช่วงต้น

เด็กชายปรีดีเริ่มเรียนหนังสือกับครูแสงที่ตำบลท่าวาสุกรีก่อน ต่อมาจึงย้ายไปอำเภอท่าเรือ เพื่อศึกษากับหลวงปราณีประชาชน (เปี่ยม ขะชาติ) และเรียนต่อที่โรงเรียนวัดรวก ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐประจำอำเภอท่าเรือ จนสอบไล่ได้ชั้น 1 แห่งประโยค 1 ในปี 2454 ซึ่งในเวลานั้นยังคงเป็นระบบการศึกษาแบบเก่า แต่เมื่อกระทรวงธรรมการจำแนกหลักสูตรการศึกษาใหม่เป็นชั้นมูล ประถม และมัธยมแล้ว เด็กชายปรีดีจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนวัดศาลาปูน ในอำเภอกรุงเก่า

เมื่อจบชั้นประถม ก็ย้ายไปศึกษาชั้นมัธยมในเมืองหลวงที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และย้ายกลับมาศึกษาต่อโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 ในปี 2458 แล้วกลับเข้าไปศึกษาต่อในโรงเรียนสวนกุหลาบอีก 6 เดือน

ประสบการณ์ชีวิตชาวนา

หลังจากนั้น เด็กชายปรีดีจึงกลับมาช่วยนายเสียงผู้เป็นบิดาทำนาที่ตำบลอู่ตะเภา (ปัจจุบันคือ อำเภอวังน้อย) เขาได้สัมผัสประสบการณ์ครั้งแรกในการลงมือช่วยบิดาทำนาด้วยตนเอง รวมถึงการสังเกตถึงปัญหาประการต่างๆ และวิถีชีวิตอันแท้จริงของชาวนา อาทิเช่น การที่บิดาเปลี่ยนไปทำนาที่ท่าหลวงซึ่งไม่มีการชลประทาน ต้องเผชิญฝนแล้งติดต่อกัน ๒ ปี หรือแม้แต่ถูกขโมยกระบือไปจนหมด ทางการก็ไม่ได้เข้าช่วยเหลือ อีกทั้งยังต้องเสีย “ส่วย” (เงินรัชชูปการ) และอากรค่านาให้แก่หลวง ยังไม่นับกรณีชาวนาซึ่งเช่าที่ดินต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดินในเรื่องค่าเช่า จากพ่อค้าข้าวเปลือก และจากเจ้าของโรงสีข้าว เป็นต้น

แม้ในเวลานั้นจะปรากฏเป็นเพียงปัญหาเฉพาะหน้าฉุกใจเด็กหนุ่มให้คิดแสวงหาทางออก แต่เด็กชายปรีดีคงหารู้ไม่ว่า นี่คือจิ๊กซอว์ตัวแรกๆ ที่เมื่อปะติดปะต่อกันเข้าแล้วจะฉายภาพรวมของปัญหาที่หยั่งลึกของประเทศนี้อย่างลึกซึ้ง

เหตุการณ์สำคัญที่มีส่วนก่อรูปความคิด

ในระหว่างที่ยังศึกษาเล่าเรียน ปรากฏเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่สำคัญขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อความคิดและความเข้าใจของเด็กชายปรีดีไม่น้อยเลย เหตุการณ์เหล่านั้นได้แก่

วันที่ 23 ตุลาคม 2453 กษัตริย์รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต

ในปีต่อมาคือ วันที่ 10 ตุลาคม 2454 ดร.ซุนยัดเซ็นก่อการอภิวัฒน์ล้มล้างระบอบการปกครองเก่าและก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศจีน เด็กชายปรีดีได้รับรู้เรื่องนี้ในชั้นเรียนจากครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ และยังมีเหตุการณ์ที่ชาวจีนในเมืองกรุงเก่าพากันตัดหางเปียทิ้ง เพื่อต้อนรับการสิ้นสุดลงของระบอบการปกครองเก่า

ถัดมาในปี 2455 เกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ขึ้นในเมืองหลวง เด็กชายปรีดีให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก ไม่น้อยไปกว่าการได้มีโอกาสพบ “เทียนวรรณ” และสนทนากับ “ก.ศ.ร.กุหลาบ” ด้วยตนเอง

อีกทั้งยังเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในประเทศรัสเซียตามมาในปี 2461

การศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ในปี 2460 นายปรีดีกลับเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยสอบเข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม นายเสียงบิดานำไปฝากและให้อาศัยอยู่ในบ้านปากคลองสานของพระยาชัยวิชิตวิศิษฎธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) และคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต (สุวรรณศร) ซึ่งนับได้ว่าเป็นญาติห่างๆ กับนายเสียง นอกจากนี้ นายปรีดียังได้เรียนภาษาฝรั่งเศสกับอาจารย์เลเดแกร์ (E. Ladeker) ชาวฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภาด้วย

การทำงานระหว่างเรียน

นอกจากจะกลับเข้ามาศึกษาต่อในเมืองหลวงแล้ว นายปรีดียังได้ทำงานเป็นเสมียนในสำนักทนายความพระวิชิตมนตรี (สุด กุณฑลจินดา) ระหว่างปี 2460-2462 และต่อมา ระหว่างปี 2462-2463 พระยาชัยวิชิตฯ ก็ได้ให้นายปรีดีเข้าทำงานเป็นเสมียนโทประจำกรมราชทัณฑ์ด้วย

เนติบัณฑิต

จนกระทั่งในปี 2462 นายปรีดีสอบไล่ได้ชั้นเนติบัณฑิต แต่เนื่องจากตามข้อบังคับสมัยนั้น ผู้ที่จะเป็นเนติบัณฑิตต้องมีคุณสมบัติคือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ นายปรีดีจึงต้องรอให้ตนเองมีอายุครบเกณฑ์ในปี 2463 จึงสามารถเข้าเป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้

คดีพลาติสัย

ในระหว่างนั้นเอง นายปรีดีได้รับอนุญาตให้ว่าความเป็นทนายในคดีชั้นอุทธรณ์ จำเลยคือนายลิ่ม ซุ่นหงวน เจ้าของเรือโป๊ะ ซึ่งถูกรัฐบาลเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 600 บาท เหตุเกิดจากเรือโป๊ะตงหลีของจำเลยซึ่งจอดอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการถูกพายุพัดมาโดนพลับพลาสถานที่ของรัฐซึ่งอยู่ริมน้ำเกิดความเสียหาย ศาลชั้นต้นตัดสินว่า เป็นความประมาทของจำเลยจึงให้ชดใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตัดสินให้ยกฟ้องจำเลย

ในการสู้คดี ทนายความจำเลยยกเรื่อง “ภัยนอกอำนาจ” ในบทกฎหมายเก่าขึ้นเป็นข้อต่อสู้ (ปัจจุบันเรียกว่า เหตุสุดวิสัย) ผลแห่งคดีนี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115 พ.ศ. 2463) ได้ทำให้ทนายความหนุ่มปรีดี ซึ่งยังมีอายุไม่ครบ 20 ปี เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทีเดียว

การศึกษาต่อในต่างประเทศ

ในเดือนสิงหาคม ปี 2463 นายปรีดีได้รับการคัดเลือกเพื่อรับทุนจากกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส

ถ้าเราพิจารณาจากนโยบายของรัฐบาลและบริบทของประเทศสยามในช่วงเวลานั้น จะเห็นได้ว่า กำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายและวิชานิติศาสตร์ให้สอดรับกับกระแสการพัฒนาแบบสมัยใหม่ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นนับจากรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา และเร่งจังหวะถี่ขึ้นในรัชกาลที่ 5

อีกนัยหนึ่ง เนื่องจากประเทศสยามกำลังร่างประมวลกฎหมายขึ้นใช้หลายฉบับ โดยมีเหตุผลเร่งด่วนที่จะปลดแอกจากปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่มีมานับจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398

การที่รัฐบาลมีทรัพยากรบุคคลที่มีความเข้าใจในระบบกฎหมายตะวันตกเป็นอย่างดีไว้ทำงานในด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบกฎหมายซีวิลลอว์แบบยุโรปภาคพื้นทวีป เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมัน จึงเป็นความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงมิได้สำหรับการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นด้วยเช่นกัน

แต่สำหรับนายปรีดี นี่คือโอกาสที่จะทำความใฝ่ฝันอันใหญ่ยิ่งให้เป็นจริงขึ้นด้วย

ชีวิตในต่างแดน

เมื่อเดินทางมาถึงฝรั่งเศสในวันที่ 25 กันยายน 2463 นายปรีดีได้เข้าศึกษาภาษาฝรั่งเศสและความรู้ทั่วไปที่วิทยาลัยก็อง (Lycée de Caen) เป็นลำดับแรก กระทั่งได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา (le baccalauréat) เช่นเดียวกับนักเรียนชาวฝรั่งเศสโดยทั่วไป

ต่อมา เมื่อรู้จักกับอาจารย์เลอบอนนัวส์ (Lebonnois) ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ และดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันครุศาสตร์ระหว่างประเทศ (L’institut pédagogique international) ซึ่งเป็นสถาบันสอนภาษาฝรั่งเศสสำหรับชาวต่างชาติ นักศึกษาหนุ่มปรีดีก็ได้มีโอกาสพักอาศัยอยู่ด้วยและได้รับความรู้ในด้านอื่นๆ เพิ่มพูนขึ้นอีกเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการและวัฒนธรรมประเพณีของประเทศฝรั่งเศส เวลารับประทานอาหารแทบทุกมื้อกับอาจารย์ท่านนี้จึงเป็นเวลาแห่งการสั่งสมข้อมูลไปพร้อมกัน นั่นหมายถึง ความรู้รอบตัวที่จะเป็นฐานแห่งการศึกษาค้นคว้าและการต่อยอดทางปัญญาออกไปอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งศึกษาในฝรั่งเศส
นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งศึกษาในฝรั่งเศส ถ่ายภาพร่วมกับนายควง อภัยวงศ์ (ซ้าย) นายชม จารุวัฒน์ (ขวา)

การศึกษาระดับปริญญา

ในปี 2464 นายปรีดีเข้าศึกษากฎหมายตามหลักสูตรบาเชอลิเอร์ (Bachelier en Droit) อันเป็นปริญญาของรัฐชั้นที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยก็อง (Université de Caen) โดยใช้เวลา 2 ปี

วิชาที่ต้องเรียนในปีที่ 1 ก็ได้แก่ วิชาพงศาวดารกฎหมาย (ปัจจุบันคือประวัติศาสตร์กฎหมาย) กฎหมายโรมัน (ว่าด้วยบุคคล ทรัพย์และมรดก) เศรษฐวิทยา (น่าจะเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน) การสอบมีทั้งข้อเขียนและสอบปากเปล่า

ส่วนในปี 2465 ซึ่งเป็นการเริ่มเรียนในชั้นปีที่ 2 ก็ต้องเรียนวิชาเช่นวิชากฎหมายโรมัน (ว่าด้วยหนี้)  กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ (ปัจจุบันคือกฎหมายปกครอง) การสอบก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับปีที่ 1

ผลการศึกษาอันโดดเด่น

ในเดือนมิถุนายนปี 2466 นักศึกษาปรีดีสอบไล่ผ่านชั้นปีที่ 2 โดยได้รับเกียรตินิยมดีมาก (Mention Très bien) อีกทั้งยังได้รับ “รางวัลชมเชย” สำหรับการกล่าวปาฐกถาว่าด้วยตำรวจชาวนา และได้รับปริญญา Bachelier en Droit

การศึกษาในชั้นลิซองซิเอ (Licencié en droit) อันเป็นปริญญาของรัฐชั้นที่ 2 แท้จริงแล้วก็คือ การศึกษาต่อเนื่องในชั้นปีที่ 3 ซึ่งนักศึกษาปรีดีต้องเรียนตัวบทกฎหมายฉบับต่างๆ เข้มข้นขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาหลายวิชา เช่น กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายการคลัง การสอบก็เช่นเดียวกันกับปีที่ 1 และ 2 และเมื่อสอบผ่านปีที่ 3 จะได้รับปริญญา Licencié en droit หรือปริญญานิติศาสตรบัณฑิตนั่นเอง

นายปรีดี พนมยงค์ (แถวยืนคนที่ 2 จากขวา) กับเพื่อนนักเรียนในฝรั่งเศส

การศึกษาระดับปริญญาเอก

จากนั้น ในปี 2467 นักศึกษาปรีดีได้ย้ายจากเมืองก็องเข้ามาศึกษากฎหมายต่อในระดับปริญญาเอก ณ กรุงปารีส โดยได้มาพำนักอยู่ในเขตการ์ทิเยร์ ลาแต็ง (Quartier-Latin)

ตามหลักสูตรนี้ นักศึกษาปรีดีจะต้องเรียนเนื้อหา 2 ภาคการศึกษา โดยในภาคการศึกษาที่  1 มีเรียน 4 วิชา ได้แก่ พงศาวดารกฎหมายอย่างพิศดาร วิชาแปลและวินิจฉัยกฎหมายโรมัน อีก 2 วิชามีชื่อเดียวกันคือ กฎหมายโรมันอย่างพิสดารและลึกซี้ง ส่วนในภาคการศึกษาที่ 2 ก็เข้าสู่เนื้อหาการศึกษาเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับกฎหมายสาขาที่สำคัญทั้งหลาย และจบด้วยการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาคการศึกษาที่ 3 จึงจะได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของรัฐคือ Docteur en Droit (mention sciences juridiques)

การศึกษานิติศาสตร์โรมัน (Ratio scripta)

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักสูตรที่ต้องร่ำเรียนในระดับปริญญาเอกนี้ด้วยว่า การอบรมในทางวิชาการและความคิดชั้นสูงบนพื้นฐานของนิติศาสตร์โรมัน ที่แม้แต่นิติศาสตร์ของประเทศยุโรปทั้งปวงก็ยกย่องว่าเป็น Ratio scripta (ระบบเหตุผลที่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร) นั้น น่าจะทำให้นักศึกษาปรีดีตระหนักแน่แก่ใจได้เป็นอย่างดีถึงภารกิจที่วิชานิติศาสตร์มีต่อโลก ต่อวัฒนธรรมของยุโรป และที่สำคัญที่สุดก็คือต่อประเทศสยาม

อีกนัยหนึ่ง วิชานิติศาสตร์ที่หยั่งรากลงสู่หลักวิชาอันเป็นระบบของเหตุผล ทั้งไม่ขึ้นกับเจตจำนงและอำนาจหรืออำเภอใจของมนุษย์ตนใดนั้น ก็พึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้มีขึ้นในประเทศสยามด้วยเช่นกัน และต้องไม่ลืมด้วยว่า นี่คือปัญญาญาณที่เป็นรากฐานสำคัญแห่งระบบกฎหมายยุโรปภาคพื้นทวีป (ระบบกฎหมายซีวิลลอว์) โดยแท้

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

นักศึกษาปรีดีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของรัฐ ในปี 2469 เป็นคนแรกของประเทศ โดยการเขียนงานวิจัยในหัวข้อ  Du sort des Sociétés de Personnes en cas de Décès d’un Associé : Étude de droit français et de droit comparé (สถานะของห้างหุ้นส่วนในกรณีผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งถึงแก่ความตาย : ศึกษากฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายเปรียบเทียบ) เมื่อพิจารณากันตามเกณฑ์ทางวิชาการจากงานศึกษาและวิจัยชิ้นนี้แล้ว ก็น่าจะทำให้บัณฑิตหนุ่มปรีดี พนมยงค์ กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหุ้นส่วนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนายปรีดี พนมยงค์

วิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง

อย่างไรก็ดี ด้วยความใส่ใจในปัญหาทางเศรษฐกิจอันเป็นประสบการณ์แต่เมื่อครั้งได้ช่วยบิดาทำนานั้น มีส่วนผลักดันให้บัณฑิตหนุ่มปรีดีไม่พอใจแต่เพียงการได้รับความรู้ทางกฎหมายเป็นการเฉพาะเท่านั้น แต่ยังพยายามและขวนขวายเล่าเรียนศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง กล่าวคือ เศรษฐศาสตร์ ซึ่งตนเองเห็นว่า จะมีส่วนในการแสวงหาหนทางแก้ปัญหาที่ตนเองเคยประสบมาได้ด้วย

ดังนั้น การสอบผ่านและได้รับ “ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐกิจการเมือง (Diplôme d’Études Supérieures d’Économie politique)” เพิ่มขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยวิชาเศรษฐศาสตร์พิสดาร ประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจ กฎหมายและวิทยาศาสตร์การคลัง กฎหมายและวิทยาศาสตร์การแรงงาน เป็นเหตุให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหลากหลายชนิด รวมทั้งระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่เกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบัณฑิตหนุ่มผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการตกผลึกทางความคิด

ผลพวงที่สำคัญยิ่งในเรื่องนี้ได้ปรากฏขึ้นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งนำเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในปี 2476 และชัดเจนยิ่งขึ้นทางความคิด เมื่อให้สัมภาษณ์แก่ท่านอาจารย์ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เสมือนดังบทสรุปที่ว่า

“ผมจึงเกิดจิตสำนึกว่า สมควรที่สยามจะได้มีแผนเศรษฐกิจตามทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยสมานกับท้องที่กาลสมัยของสยามเท่าที่ผมประสบพบเห็น และที่ได้เปลี่ยนแปลงต่อๆ มาในระหว่างที่ผมศึกษาอยู่นั้น”

เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จากปัญหาของชาวนาสยามที่ได้ประสบด้วยตนเองมาก่อนหน้านี้ เมื่อหลอมรวมเข้ากับวิชาความรู้ทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ที่ตนเองใฝ่ใจเป็นพิเศษแล้ว ย่อมกลายมาเป็นปัญญาญาณส่วนบุคคลที่หยั่งลึกลงสู่ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสยามประเทศในเวลานั้น

โดยสรุป นี่คือฐานทางปัญญาที่สำคัญที่ค่อยๆ ผ่านการสั่งสมบ่มเพาะขึ้นจากชีวิตการศึกษาจากวัยเยาว์ ซึ่งเริ่มจากภายในประเทศก่อน และใช้เวลาอีก 7 ปีต่อมา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาชั้นสูงทางวิชาการในดินแดนที่เป็นแม่แบบของการเมืองการปกครองที่ยกย่อง “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ”

“ปารีส” ในฐานะแหล่งบ่มเพาะการอภิวัฒน์

นายปรีดีกล่าวถึงเมืองที่ตนเองได้มีโอกาสไปเข้าศึกษาเล่าเรียนว่า

“นับจากการอภิวัฒน์ใหญ่ในปี 2332 [ค.ศ.1789] เป็นต้นมา ปารีสได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยให้กับหลายประเทศในยุโรปและในเอเซีย กล่าวคือ ขนบจารีตเพื่อการอภิวัฒน์ที่แพร่หลายและสืบสานกันมายาวนานทั้งในทางทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติได้ตกทอดมาจนถึงช่วงเวลาที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักศึกษาอยู่ในปารีสด้วย

มาร์กซ์ เองเกิลส์ รวมถึงเลนินซึ่งก่อการอภิวัฒน์อันยิ่งใหญ่ ล้วนแต่ได้เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในปารีสมาแล้ว ส่วนชาวเอเซียซึ่งปรารถนาในเอกราชอันสมบูรณ์ของชาติและประสงค์จะปลดเปลื้องมาตุภูมิของตนจากลัทธิอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมนั้น ต่างมารวมตัวกันอยู่ในประเทศฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหงียน ไอ คว๊อค (โฮจิมินห์) โจว เอินไหล เฉินอี้ รวมถึงบรรดานักอภิวัฒน์จากประเทศต่างๆ อีกเป็นอันมาก …”

แผนการใหญ่

บนถนนอองรี มาร์แต็ง (Rue Henri Martin) อันร่มรื่นและทอดตัวยาวออกไปกว่า 500 เมตร ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้ที่นายปรีดีชักชวนให้มาเดินเล่นและสนทนาร่วมกัน บางตอนของการสนทนาได้รับการบันทึกไว้ว่า

ปรารภกันว่า ได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มามากมายหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดใจเอาจริง ฉะนั้น เราจะไม่พูดแต่ปาก คือจะต้องทำจริง จากน้อยไปสู่มาก แล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรกขึ้น ต่อมา จึงชวน ร.ท.แปลก ร.ต.ทัศนัย ซึ่งย้ายจากบ้านพักเดิมไปอยู่ถิ่นเดียวกับข้าพเจ้าที่ Quartier-Latin จึงได้สนทนากันแทบทุกวัน แล้วก็ได้ชวนเพื่อนอื่นๆ ให้ร่วมด้วย

พลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกใหม่

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2469 นายปรีดีร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ได้นัดประชุมกันที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ถนน ดู ซอมเมอราร์ (Rue du Sommerard) ในกรุงปารีส ใช้เวลาประชุมกันราว 5 วัน ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมทั้ง 7 คน ได้แก่ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายตั้ว ลพานุกรม หลวงสิริราขไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) นายแนบ พหลโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์

นับเป็นจุดกำเนิดของแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวในนาม “คณะราษฎร” พร้อมนโยบายสำคัญ ได้แก่ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” อันประกอบด้วย

(1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

(2) จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

(3) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

(4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)

(5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าวข้างต้น

(6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

กลับสู่มาตุภูมิ

ในวันที่ 9 มีนาคม 2469 นายปรีดีเดินทางกลับประเทศด้วยเรือกลไฟของบริษัทญี่ปุ่น โดยออกจากท่าเมืองมาร์แซยร์ (Marseille) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และเรือเข้าเทียบท่าปลายทางในวันที่ 1 เมษายนปีเดียวกัน

ภายในปีแรกของการกลับสู่ประเทศสยาม นายปรีดีเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม โดยมีหน้าที่คือ ฝึกหัดอัยการศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศเป็นเวลา 6 เดือน และมีหน้าที่บันทึกกระทงแถลงสำนวนคดีฎีกาประจำศาลฎีกาอยู่เป็นเวลา 6 เดือนเช่นกัน

จากนั้น จึงได้รับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และยังเป็นผู้สอนในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ที่ตนเป็นศิษย์เก่าด้วยในเวลาเดียวกัน

วันชื่นคืนสุข เริ่มชีวิตครอบครัว

คู่ชีวิตปรีดี-พูนศุข

วันทื่ 16 พฤศจิกายน 2471 มีงานมงคลสมรสระหว่าง นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ และ นายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านป้อมเพชร์

นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เป็นบุตรคนที่ 5 ของพระยาชัยวิชิตวิศิษฎธรรมธาดา และคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2454 หลังสมรสแล้วมีบุตรและธิดารวม 6 คน ได้แก่ ลลิตา ปาล สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี

แน่นอนว่า นางสาวพูนศุขในวัยเพียง 17 ปี คงไม่เคยตระหนักเป็นแน่ว่า การสมรสครั้งนี้จะนำพาตนเองเข้าสู่ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของสังคมไทยอย่างนึกไม่ถึงทีเดียว โดยเฉพาะในฐานะภริยาคู่ทุกข์คู่ยากของนายปรีดี พนมยงค์

ครอบครัวปรีดี-พูนศุข

งานวิชาการ

วิชาที่นายปรีดีต้องรับผิดชอบสอนในโรงเรียนกฎหมายนั้น ได้แก่ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัท สมาคม ซึ่งต้องถือว่าเป็นวิชาในความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรงของนายปรีดีเลยทีเดียว อีกวิชาหนึ่งได้แก่ วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และยังมีวิชาใหม่ที่เพิ่งกำหนดขึ้นในโรงเรียนกฎหมายเป็นครั้งแรก นั่นคือ วิชากฎหมายปกครอง ด้วยเหตุนี้ นายปรีดีจึงกลายเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชานี้เป็นคนแรกด้วย

วิชากฎหมายปกครอง

ดูเหมือนว่า ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของนายปรีดีในเรื่อง “องค์กรธุรกิจเอกชน” เช่นที่ตนได้ร่ำเรียนและเขียนงานวิทยานิพนธ์มา กลับถูกบดบังด้วยเจตนารมณ์ที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้น

คำปรารภในตำรากฎหมายปกครองของผู้บรรยายคนแรก ซึ่งเขียนขึ้นหลังปี 2475 ย่อมเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญในกรณีนี้ ดังมีความบางตอนว่า

… คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญคือ ในปี พ.ศ. 2475 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแต่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น …

II.

การงานแห่งรัฐ (พ.ศ. 2475-2490)

เพื่อชาติและราษฎรไทย

ประวัติศาสตร์ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) คือบทเรียนราคาแพง

นายปรีดีเคยบันทึกถึงเหตุการณ์การขึ้นศาลของบรรดานายทหารผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ไว้ว่า

“ระหว่างการพิจารณาคดีต่อหน้าคณะกรรมการทหารพิเศษ ผู้พิพากษาได้กล่าวตำหนินายทหารราชองครักษ์ท่านหนึ่งว่าไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงผู้พิพากษาอย่างอาจหาญว่า เขารักชาติยิ่งกว่าองค์กษัตริย์ และด้วยเหตุที่ตนปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด จึงทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในราชสำนักดีเสียยิ่งกว่าเหล่าทหารและราษฎรอื่นๆ เมื่อนั้น เขาจึงเห็นแล้วว่า ความเริงสำราญและความไร้สาระในราชสำนักย่อมนำพาชาติให้ตกต่ำ สิ่งนี้ได้ทำให้เขาตระหนักชัดด้วยตนเอง จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมในกลุ่มดังกล่าวด้วย”

และในที่สุด…

“ด้วยความตั้งใจที่จะรับใช้เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายของข้าพเจ้าให้ได้มาซึ่งเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติ อีกทั้งบรรลุถึงความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยอันแท้จริง ข้าพเจ้าและเพื่อนนักศึกษาชาวสยามบางคนจึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็นแกนนำลับของ “คณะราษฎร” พวกเรามีความประสงค์จะทำการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศของเรา บรรดาทฤษฎีการอภิวัฒน์และการทั้งปวงที่จะต้องดำเนินการซึ่งได้รับสั่งสมมาจากประเทศฝรั่งเศสมีส่วนช่วยพวกเราในเวลาต่อมามิใช่น้อย”

การอภิวัฒน์สยาม ระหว่างปี 2475-2476

หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ลงข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งทรงครองราชย์เป็นปีที่ 8 คณะบุคคลซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหาร (ทหารบก ทหารเรือ) พลเรือน และราษฎร ร่วมกันในนามของ “คณะราษฎร” เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary System) และประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นแม่บทในการปกครองตามแบบประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย

คณะราษฎร

ประกาศคณะราษฎร

นายปรีดีในฐานะหัวหน้าผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎร ซึ่งถือได้ว่ามีสถานะสำคัญยิ่งในเหตุการณ์อภิวัฒน์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองสยาม

ประการแรก ในทางการเมือง ประกาศคณะราษฎรแถลงเหตุผลและเจตนารมณ์อันหนักแน่นของการอภิวัฒน์ อีกนัยหนึ่ง นับเป็นเอกสารที่ประกาศหลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งเข้าแทนที่ระบอบเก่า (Ancient régime) และผู้ร่างยืนยันต่อสาธารณะด้วยว่า นี่คือหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน (Human Rights) นั่นเอง

ประการที่สอง ในแง่การบริหารปกครองแผ่นดิน ประกาศฉบับนี้ระบุหลัก 6 ประการอันเป็นเสมือนทิศทางสำคัญในการบริหารบ้านเมืองในระบอบการปกครองใหม่ โดยนัยนี้ จึงน่าจะเทียบสถานะและความสำคัญของประกาศคณะราษฎรฉบับนี้ได้ในระดับเดียวกันกับ “คำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 (La Déclaration universelle des droits de l’homme et du citoyen)” ที่ประกาศใช้ภายหลังเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสเลยทีเดียว

กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรก

ต่อมา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ โดยนายปรีดีเป็นผู้ร่างขึ้นอีกเช่นกัน แต่เมื่อกษัตริย์รัชกาลที่ 7 เติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป จึงเป็นเหตุให้จำต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นใหม่ในเวลาต่อมา

งานฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร

ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 นายปรีดีได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต่อมา สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการสภาฯ (คนแรก) อีกทั้งยังเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475

งานฝ่ายบริหาร

นายปรีดีได้รับการเลือกตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้ร่วมเป็นหนึ่งใน “คณะกรรมการราษฎร” โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็น “ประธานคณะกรรมการราษฎร” และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้วจึงได้เลิกไป โดยจัดตั้ง “คณะรัฐมนตรี” ขึ้นแทน

เค้าโครงการเศรษฐกิจ

ในปี 2476 นายปรีดีได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ร่างและนำเสนอ “โครงการเศรษฐกิจ” เพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะราษฎรที่เป็นเสมือน “สัญญาประชาคม” ที่คณะผู้ก่อการผูกพันตนเองไว้แก่ราษฎรทั้งปวงในการอภิวัฒน์

และที่สำคัญในการนี้ก็คือ “ … ถ้าเราคงทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่ทำสาระสำคัญ คือแก้ความฝืดเคืองของราษฎร แบบที่เราต้องเดินนั้น ต้องเดินอย่างอาศัยหลักวิชา อาศัยแผน อาศัยโครงการวิธีโซเชียลลิสม์ เป็นวิธีวิทยาศาสตร์โดยแท้ … ” 

หัวใจของการอภิวัฒน์สยาม

นายปรีดีกล่าวในการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างหนักแน่นและอธิบายตรงเข้าสู่ประเด็นสำคัญที่สุดของการอภิวัฒน์สยามว่า

“รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลฯ ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ ไม่ใช่ Coup d’État เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ …

การตอบโต้การอภิวัฒน์ระลอกแรก

เมื่อเกิดความแตกแยกทางความเห็นในการรับรองเค้าโครงการเศรษฐกิจ ต่อมา ในวันที่ 1 เมษายน 2476 รัฐบาลกลับแก้ปัญหาด้วยการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมกับประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476 ในวันต่อมา และบังคับให้นายปรีดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ต้องเดินทางออกจากประเทศ ในวันทื่ 12 เมษายน 2476

นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งออกเดินทางไปฝรั่งเศสในปี 2476 ภายหลังวิกฤตในการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ

การยึดอำนาจเพื่อสานต่อการอภิวัฒน์

ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้านำทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เพื่อเปิดสภาผู้แทนราษฎร และนำบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้บังคับต่อไป พร้อมทั้งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี

กลับสู่สยาม

นายปรีดีได้รับการติดต่อจากรัฐบาลใหม่ให้เดินทางกลับประเทศ ในวันที่ 29 กันยายน 2476 และในวันที่ 1 ตุลาคม 2476 นายปรีดีจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี

นายปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2476

การตอบโต้การอภิวัฒน์ระลอกที่สอง

ในระหว่างวันที่ 11-24 ตุลาคม 2476 เกิดเหตุการณ์กบฎบวรเดช กล่าวคือ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤษดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หัวหน้าและคณะในนาม “คณะกู้บ้านเมือง” ได้ยกกำลังทหารจากหัวเมืองโคราชเข้าล้อมพระนคร และยื่นข้อเสนอหลายประการต่อรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มอำนาจให้แก่กษัตริย์ และที่เห็นเป้าหมายได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ การล้มรัฐบาลและ “ห้ามมิให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งหน้าที่ เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ลัทธิที่ตนนิยม หรือบังคับขู่เข็ญโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้คนอื่นถือลัทธิที่ตนนิยมนั้นเป็นอันขาด” แต่ในที่สุดก็จำต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมาย

ปรีดีพ้นมลทิน

ในวันที่ 25 ธันวาคม 2476 สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรณีนายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสมบูรณ์ คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายปรีดีมิได้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด

งานบริหารในตำแหน่งรัฐมนตรี

งานที่สำคัญของนายปรีดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ มีดังนี้

  • กระทรวงมหาดไทย (มีนาคม 2476-สิงหาคม 2480) เช่น ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งเทศบาลขึ้นทั่วประเทศ
  • กระทรวงการต่างประเทศ (สิงหาคม 2480-ธันวาคม 2481) เช่น สานต่อการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับต่างชาติหลายประเทศ
  • กระทรวงการคลัง (ธันวาคม 2481-ธันวาคม 2484) เช่น บุกเบิกและวางรากฐานธนาคารชาติ ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากร และเสนอให้ประกาศใช้ “ประมวลรัษฎากร” เป็นครั้งแรก
นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งเดินทางไปเจรจากับสัมพันธมิตรยุโรปในปี 2478
นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งตรวจราชการภาคใต้และแวะเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดตรัง 19 มิถุนายน 2479
นายปรีดี ท่านผู้หญิงพูนศุข บนเรือสินค้า ระหว่างเดินทางไปเจรจากับต่างประเทศ
นายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ระหว่างการเดินทางไปแก้ไขสนธิสัญญากับต่างประเทศ

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยฯ

นายปรีดีได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 เมื่อได้ประกาศใช้แล้ว รัฐบาลจึงเสนอให้แต่งตั้งนายปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยฯ ในวันที่ 11 เมษายน 2476 ต่อมา ตำแหน่งนี้ถูกยุบเลิกไปอันเนื่องมาจากมีกฎหมายฉบับใหม่ประกาศใช้ กล่าวคือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ พุทธศักราช 2495 อันเป็นผลสืบเนื่องจากจากการรัฐประหารในปี 2490

เจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ ปรากฏชัดเจนใน (1) พระราชปรารภตอนต้นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 กล่าวคือ

“โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยะประเทศและให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะ จัดตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขึ้นเป็นพิเศษ

และใน (2) คำกล่าวในวันทำพิธีเปิดของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยฯ กล่าวคือ วันที่ 27 มิถุนายน 2477 (2 ปีภายหลังการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับ 27 มิถุนายน 2475) ที่ว่า

“มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่ง เสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น …

… ยิ่งในสมัยที่ประเทศของเราดำเนินการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองให้มากที่สุดที่จะเป็นได้ เปิดโอกาสแก่พลเมืองที่จะใช้ เสรีภาพในการศึกษา ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสืบไป …”

(การเว้นวรรคและเน้นข้อความเป็นของผู้เขียน)

ด้วยเหตุนี้ การกล่าวอ้างเจตนารมณ์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นไปเพื่อ “เสรีภาพทางการศึกษา” ย่อมจะถูกต้องถึงที่สุด เมื่อเชื่อมโยงเข้ากับ “อุดมคติของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร” อย่างแน่นแฟ้นเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม การอธิบายเจตนารมณ์การก่อตั้งโดยยกข้อความเพียงบางตอนออกจากบริบทโดยรวมของคำกล่าว จนเป็นผลให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีสถานะกลายเป็นเพียง “บ่อน้ำดับความกระหาย” โดยไม่เชื่อมโยงใดๆ เข้ากับระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรเลย จึงเป็นคำอธิบายและการยกคำกล่าวของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยฯ ออกจากบริบทซึ่งย่อมจะก่อความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนต่อสาธารณชนอย่างยิ่ง

นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ถ่ายภาพร่วมกับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย
นักศึกษา มธก. 19 คน ในพิธีประสาทปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2478 (นักศึกษารุ่นนี้โอนมาจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม)

ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และจุดเริ่มต้น “เสรีไทย”

เมื่อเกิดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายในหมู่คณะรัฐมนตรี ภายหลังเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นขยายอิทธิพลทางทหารเข้าสู่ดินแดนประเทศสยาม ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ทั้งนี้ ด้วยการร้องขอจากฝ่ายการทูตของญี่ปุ่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นได้ให้นายปรีดีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2484

จากสถานการณ์ในเวลานั้น นายปรีดีเริ่มดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อแก้ไขสภานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการรุกรานและล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของประเทศสยาม อีกทั้งท่าทีของรัฐบาลในเวลานั้นที่ดูเหมือนจะโน้มเอียงเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้นทุกขณะ

ต่อมา เมื่อสถานการณ์เริ่มเกิดความชัดเจนมากขึ้น นายปรีดีจึงวางแนวทางการดำเนินงานไว้ 3 ประการ กล่าวคือ

(1) ต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาล

(2) ปฏิบัติการเพื่อให้ประเทศสยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืนมา ได้แก่

2.1 ต่อต้านและเตรียมการต่อสู้กับญี่ปุ่น

2.2 ดำเนินการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับว่า ประเทศสยามไม่ได้เข้าร่วมกับญี่ปุ่นและผ่อนหนักเป็นเบาในยามสิ้นสุดสงคราม ซึ่งต่อมาได้รับการรับรองจากฝ่ายสัมพันธมิตรในนาม “ขบวนการเสรีไทย”

(3) ส่งเสริมระบอบการเมืองการปกครองให้มุ่งไปสู่เจตนารมณ์แห่งการอภิวัฒน์ 2475-2476 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอให้มีการร่างบทกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ จนเป็นที่มาของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489

ประกาศสันติภาพ

เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดีได้ออกประกาศในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 มีสาระสำคัญคือ ปฏิเสธการกระทำของรัฐบาลอันขัดต่อกฎหมายและเป็นปฏิปักษ์กับสหประชาชาติ โดยเน้นย้ำว่าประเทศไทยประสงค์ต่อสันติภาพ มุ่งรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีอันดีและร่วมมือกับประชาชาติทั้งหลาย เพื่อสร้างสรรค์เสถียรภาพในการอยู่ร่วมกันในโลกเป็นสำคัญ จึงเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งว่า สงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว และประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น

อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จกลับประเทศ

ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดีได้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จกลับประเทศ เพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง และต่อมา จึงทรงเสด็จกลับมาถึงในวันที่ 5 ธันวาคม 2488

ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงรับการเคารพจากกองทัพสัมพันธมิตรที่สวนสนามผ่านที่ประทับ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ

ประกาศพระบรมราชโองการยกย่องในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส”

ในวันที่ 8 ธันวาคม 2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีประกาศพระบรมราชโองการยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ไว้ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” และ “ให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป”

นายปรีดี พนมยงค์ ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489

งานบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรี

ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งระหว่าง 24 มีนาคม-3 มิถุนายน 2489 ครั้งที่สอง 8-9 มิถุนายน 2489 และครั้งที่สาม 10 มิถุนายน-20 สิงหาคม 2489

เหตุการณ์ที่สำคัญในช่วงเวลานี้ ได้แก่ การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489  เมื่อได้เสนอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อแล้ว นายปรีดีก็ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในงานเปิดป้ายสมาคมไทย-จีน ที่ถนนสาทร
นายปรีดี พนมยงค์ โบกมือทักทายประชาชนจำนวนมากที่มารอต้อนรับภายหลังจากเดินทางรอบโลกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2490

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้นนำมาสู่การทำรัฐประหารโดย “คณะรัฐประหาร” มีผลเป็นการเลิกล้มรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ลงอย่างสิ้นเชิง และนัยในทางการเมืองที่สำคัญก็คือ เป็นการปิดฉากบทบาทและผลงานของคณะราษฎรที่มีมาตลอด 15 ปีลงด้วยเช่นกัน

สิ่งที่เรียกกันว่า “วงจรอุบาทว์” ได้เริ่มเข้าสิงสถิตย์ในการเมืองไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา และจะต้องเน้นย้ำในที่ด้วยว่า จากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นี่เอง ระบอบการเมืองการปกครองที่ถูกสถาปนาขึ้นในภายหลังหามีความเกี่ยวพันหรือสืบเนื่องจากการอภิวัฒน์ 2475-2476 ของคณะราษฎรแต่อย่างใดไม่

นายปรีดีและการตอบโต้รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

หากศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของรัฐประหารครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาชีวิตของนายปรีดีอย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ตกเป็นเป้าจึงจำเป็นต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ แต่ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทยและนำ “ขบวนการประชาธิปไตย” เข้าต่อสู้โดยทางอาวุธ เพื่อสถาปนาระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่กลับพ่ายแพ้ในที่สุด ดังนั้น “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ จึงมิใช่กบฎต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จึงไม่ควรที่ผู้รณรงค์เพื่อความเป็นประชาธิปไตยจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มและระบบต่างๆ ที่สืบเนื่องจากระบบใต้ตุ่ม โดยใส่ความว่าขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นขบถวังหลวง”

III.

วันคืนแห่งรัฐบุรุษอาวุโส (พ.ศ. 2492-2526)

พินิจพิจารณ์สืบสานอุดมคติ

จุดเริ่มต้นของการลี้ภัยถาวร

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ เป็นผลให้นายปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศเป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นจึงเล็ดลอดไปทางเรือและขึ้นเกาะ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในการปกครองของฮอลแลนด์ และเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ จากสิงคโปร์ไปฮ่องกง แล้วจึงขอลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างปี 2492-2513 รวมเวลา 21 ปี ต่อมาในปี 2513 นายปรีดีเดินทางออกจากประเทศจีนมาพำนักในประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งปี 2526 รวมเวลา 13 ปี

นายปรีดี พนมยงค์ ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน
นายปรีดี พนมยงค์ เข้าเยี่ยมคำนับประธานเหมา เจ๋อตุง กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2508
นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเยี่ยมนายปรีดี พนมยงค์ ที่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2513
นายปรีดี พนมยงค์ ริมถนนแห่งหนึ่งในสก็อตแลนด์

ข้อกล่าวหาอุกฉกรรจ์

ระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศนั้น มีผู้ฉวยโอกาสกล่าวหานายปรีดีว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นระยะ นายปรีดีจึงได้ใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อศาลหลายคดี และในทุกคดี นายปรีดีได้รับการยอมรับจากคู่กรณีในที่สุดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการสวรรคตตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

อนึ่ง อัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ เคยขึ้นต้นเอกสารรายงาน (ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2489) ถึงกระทรวงการต่างประเทศของตนมีข้อความน่าตระหนกถึงขนาดว่า “Since this is a country where the blindest bluffs hold good and wildest tales are true” แปลได้ความว่า “โดยที่ (ประเทศไทย) เป็นประเทศ ซึ่งคำหลอกลวงอย่างตบตาที่สุดนั้น ถือกันว่าเชื่อได้ดี และคำบอกเล่าที่ป่าเถื่อนที่สุดนั้น ถือกันว่าเป็นความจริง”

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2526 เวลาประมาณ 10.00 น. เศษ

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสเพียงคนเดียวของประเทศ ได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และแน่นอนว่า คงไม่มีใครคาดคิดเลยว่า การจากลานิรันดร์จะเกิดขึ้นอย่างกระทันหันเช่นนี้

นายปรีดี พนมยงค์ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิตลี้ภัย 34 ปี

การลี้ภัยรัฐประหาร 2490 และความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 นับเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องสิ้นสุดบทบาทในงานการเมืองของคณะราษฎรที่มีมานับแต่ปี 2475 ลงโดยสิ้นเชิง

นับจากปี 2492 เป็นต้นไป กลับต้องผันชีวิตกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยตราบจนวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต ช่วงเวลาแห่งการลี้ภัยในต่างประเทศตลอด 34 ปี ซึ่งแม้บางครั้งจะพบกับอุปสรรคในแง่การติดต่อสื่อสาร เพราะอยู่ห่างไกลออกไปจากมาตุภูมิ ก็มิได้ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ คลายความเป็นกังวลต่อชาติบ้านเมืองลงไปได้เลยแม้แต่น้อย

ผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นข้อคิด คำเขียน รวมทั้งเอกสารที่เป็นหลักฐานทั้งในงานด้านความคิดที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นระยะ ๆ ซึ่งบางชิ้นนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันมีคุณค่าอย่างปฏิเสธมิได้ อีกทั้งคำกล่าว คำปาฐกถาในวาระต่าง ๆ นั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยบ้านเมืองอย่างลึกซึ้ง

มรสุมทางการเมืองที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ได้ใช้เป็นดั่งบทเรียน ด้วยนำมาขบคิด พินิจไตร่ตรองและทบทวนอย่างรอบคอบรัดกุม และเปิดเผยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะในต่างวาระกันหลายเรื่อง

จริงอยู่ว่าภารกิจภายในประเทศได้ปิดฉากลง แต่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ผู้มีหน้าที่ “รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป” ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด นายปรีดี พนมยงค์ ก็ยังคงถือปฏิบัติภารกิจสุดท้ายนี้อย่างแข็งขัน

คงไม่เป็นการกล่าวเกินความจริงเลยว่า ชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ คือการต่อสู้เพื่อชาติและราษฎรไทย.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save