กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
ใครๆ ที่รู้จักธรรมศาสตร์ ย่อมรู้จักคำขวัญอันโด่งดังที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
แต่น้อยคนที่จะทราบว่าใครเป็นผู้คิดคำขวัญนี้ขึ้นมา
ผู้เขียนเองก็จนปัญญาที่จะตอบ!
ทราบแต่เพียงว่า คำขวัญนี้มาจากการสรุปความจากข้อเขียนของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือที่คนสมัยนี้พอรู้จักในนาม “ศรีบูรพา” ผู้ประพันธ์ ข้างหลังภาพ ข้อเขียนนั้นมีใจความว่า
“ชาว ม.ธ.ก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”
ซึ่งมีที่มาจากการเขียนบทความรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง ที่นายกุหลาบใช้คำว่า “วันที่ระลึกวันหนึ่งในประวัติชีวิตของมหาวิทยาลัย” นั่นคือ การเดินขบวนเรียกร้องทวงคืนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 หลังจากที่ถูกทหารยึดครองในช่วงเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน
กบฏแมนฮัตตัน
29 มิถุนายน 2494 ในพิธีส่งมอบเรือแมนฮัตตันที่ท่าราชวรดิฐ นาวาโท มนัส จารุภา บุกเข้าจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นตัวประกัน เพื่อหวังก่อการรัฐประหาร แต่สุดท้ายฝ่ายทหารเรือก็พ่ายแพ้ รัฐบาลสามารถปราบปรามและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น “กบฏแมนฮัตตัน”
ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2494 รัฐบาลส่งทหารเข้าควบคุมและครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย โดยอ้างว่า “ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวและเพื่อความสงบเรียบร้อย” ทำให้ไม่อาจจัดการเรียนการสอนได้ มหาวิทยาลัยต้องขอใช้อาคารของเนติบัณฑิตยสภา และโรงอาหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นสถานที่เรียนชั่วคราวอยู่ราว 4 เดือน
28 กันยายน ศกนั้น กองทัพบกเสนอขอซื้อมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร แต่ได้รับการคัดค้าน
การที่ทหารเข้ามาจัดการกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยตรงเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพื่อมากวาดล้างฐานกำลังของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ที่ล้มเหลวในการนำ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” กลับมาฟื้นระบอบประชาธิปไตย และถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังกบฏแมนฮัตตันอีกครั้งหนึ่ง
เดินขบวนไปสภาผู้แทน
ถึงวันที่ 11 ตุลาคม นักศึกษา ม.ธ.ก. ประมาณ 2,000 คน เดินขบวนจากสนามหลวงไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นที่ประชุมรัฐสภา เพื่อเรียกร้องขอคืนมหาวิทยาลัย ซึ่งในวันนั้น นายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกสภาผู้แทน (รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 เรียก “สมาชิกสภาผู้แทน” เฉยๆ) จังหวัดธนบุรี ได้ตั้งกระทู้ถาม เรื่องสถานที่ศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย
เมื่อถึงรัฐสภาแล้ว ประตูปิดไว้ไม่ให้เข้า เหล่านักศึกษาจึงใช้แรงดันพังประตูล้มลง แล้วไปรวมตัวกันที่สนามหญ้า โดยมีนักศึกษาหญิงเป็นด่านหน้า ร้องตะโดนว่า “พวกเราต้องการมาพบท่านจอมพล ป. ถ้าท่านเป็นชายชาติทหาร โปรดออกมาพบนักศึกษาด้วย” ในที่สุดจอมพลนายกรัฐมนตรีจึงออกมาพร้อมด้วยองครักษ์ล้อมรอบ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสถามว่า “ลูกหลานต้องการอะไรกันเหรอ” นักศึกษาตอบว่า “หนูจะเอามหาวิทยาลัยคืน ไม่มีที่เรียนค่ะ” จอมพล ป. จึงตอบว่า “งั้นเหรอ เอ้า…จะคืนให้” เมื่อนักศึกษาถามถึงกำหนดเวลา นายกรัฐมนตรีจึงตอบว่าภายใน 1 เดือน เหล่าผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับ
กระทู้ถามในสภา
โดยในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 นายเพทาย โชตินุชิต ธรรมศาสตร์บัณฑิต และสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดธนบุรี ได้ตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลายข้อ แต่ผู้ที่มาตอบ กลับเป็นพลโท สวัสดิ์ สวัสดิรณชัย สวัสดิเกียรติ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้ประศาสน์การ ที่จะต้องลี้ภัยการเมืองออกไปพำนักในประเทศจีน
ใจความที่นายเพทายถามคือ ทหารใช้อำนาจใดในการยึดครองมหาวิทยาลัย และมีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องยึดครองมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 3 เดือนเศษ (นับถึงวันที่ตั้งกระทู้ถาม)
พลโท สวัสดิ์ ตอบว่า “การที่ทหารเข้าไปใช้มหาวิทยาลัยนั้น ก็เนื่องมาจากเหตุการณ์กบฏวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ซึ่งทำให้ทหารของชาติผู้ต้องปฏิบัติงานปราบปรามตามหน้าที่ มีความจำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติการต่อสู้และคุมเชิงอยู่ตลอดเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึก และด้วยการต่อเนื่องของการป้องกันภัย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและประเทศชาติ ทางการทหารมีความจำเป็นต้องอาศัยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยอยู่ต่อไปอีกด้วย”
เมื่อถูกถามซ้ำถึงเรื่องอำนาจที่ใช้ยึดครองมหาวิทยาลัยมาเกินกว่า 3 เดือน พลโท สวัสดิ์ ก็ตอบว่า “ทหารเข้าอาศัยที่ว่าใช้อำนาจอะไรนั้น ข้าพเจ้าก็พูดให้ท่านฟังแล้ว ท่านก็ไม่ฟังให้ตลอด และไม่จำไว้ด้วย ข้าพเจ้าบอกว่าเวลานี้ทหารขออาศัยด้วยความจำเป็นของทางราชการทหาร ซึ่งบางอย่างบอกไม่ได้ จำเป็นก็ต้องบอกไปเช่นนั้น ขออาศัยชั่วระยะเวลาครั้งหนึ่ง อันนี้ก็ไม่ใช่ใช้อำนาจอะไร อำนาจเดิมที่เมื่อเข้าไปด้วยเหตุผลดังได้เรียนแล้ว และเข้าไปก็ต่อเนื่องมา และการอยู่ต่อมาก็โปรดถือว่าเป็นอัธยาศัยไมตรี ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าเป็นเกียรติที่เราได้เสียสละความสุขช่วยราชการทหารเพียงเล็กน้อยด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ว่าเป็นความทุกข์อย่างที่ท่านเข้าใจ”
นายเพทายจึงแย้ง นอกจากทหารในคราวปราบกบฏแล้ว ทางราชการยังจัดให้ทหารกองผสมที่ไปรบในสงครามเกาหลีมาพักในมหาวิทายาลัยด้วย และถ้าจะถือว่าเป็นสถานที่สมเกียรติเหมาะสมกับทหารหาญเหล่านี้ ก็ยังมีที่อื่นๆ อีก ดังนี้
“ถ้าไม่มีความจำเป็นถึงขั้นนั้นแล้ว ท่านก็ควรจะคืนให้เขาได้แล้วไม่ใช่หรือ แล้วหาสถานที่อย่างที่ข้าพเจ้าว่า ที่ท่านบอกว่าทหารเกาหลีไปทำงานเพื่อชาติ ควรจะมีหน้ามีตามีเกียรติมีกำลังน้ำใจ แต่ทำไมจะต้องมีกำลังน้ำใจเฉพาะมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ทำไมท่านไม่ยึดเอา จะเอาเกียรติยศสูงส่งขนาดไหนก็ได้ นับตั้งแต่วังหลวง สภาผู้แทน วังสวนกุหลาบ และที่อื่นๆ ซึ่งเขาทำงานเพื่อชาติ จะให้มีเกียรติและความเหมาะสมแค่ไหนก็ได้ ทำไมเฉพาะจะมีความจำเป็นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เท่านั้นที่จะเทิดทูนเกียรติทหารของชาติ ข้าพเจ้าถามถึงความจำเป็นว่า ในข้อนี้มีความจำเป็นถึงขนาดที่จะทำให้ลูกหลานอนุชนเหล่านี้ต้องเดือดร้อนโดยไม่มีสถานศึกษา”
หลังจากพลโท สวัสดิ์ ตอบในลักษณะเดิมอีกครั้ง ประธานสภาผู้แทน ก็แจ้งว่าหมดวาระของกระทู้ถามแล้ว และประชุมในเรื่องอื่นต่อไป
บุกธรรมศาสตร์ ยึดมหาวิทยาลัยคืน
ครั้นเมื่อใกล้ครบระยะเวลา 1 เดือนแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้มหาวิทยาลัยคืน ในที่สุด วันที่ 5 พฤศจิกายน หลังจากสโมสรนักศึกษานำนักศึกษากลับจากการทัศนาจรที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อนั่งรถไฟกลับมาถึงหัวลำโพง สโมสรได้จัดเตรียมรถเมล์ขาวกว่าสิบคัน มีป้ายติดที่รถว่า “พวกเราจะยึดมหาวิทยาลัยคืน” บรรทุกนักศึกษาที่กลับมา และมีรถบัสอีกส่วนหนึ่งรับนักศึกษาในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ไปนครสวรรค์ด้วย รวมประมาณ 3,000 คน ไปยังมหาวิทยาลัย
เมื่อมาถึงสนามหลวง นักศึกษาลงจากรถใกล้บริเวณศาลแพ่งในเวลานั้น แล้วตั้งขบวนกันเพื่อเดินเข้ายึดมหาวิทยาลัยคืนจากฝ่ายทหาร ภายใต้คำขวัญที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” โดยนักศึกษาเข้าเจรจากับทหารผู้เฒ่าที่เฝ้าหน้ามหาวิทยาลัย บอกว่า ลูกหลานต้องการเข้าเรียน การปิดกั้นไม่ถูกต้อง ขอให้กลับไปยังกรมกองที่สังกัด เพราะที่มาเฝ้านั้นอดอยาก เบี้ยเลี้ยงก็ไม่ได้ ทหารที่เฝ้าอยู่ได้รับคำสั่งไม่ให้ขัดขวาง จึงยอมเปิดทางให้ นักศึกษาจึงยกขบวนเข้าไปในมหาวิทยาลัย นับว่าเป็นการยึดคืนโดยเรียบร้อย สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ
ด้วยเหตุนี้ วันที่ 5 พฤศจิกายน จึงเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เรียกกันว่า “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” หรือ “วันคืนสู่เหย้า”
วันในประวัติชีวิตของมหาวิทยาลัย
เมื่อครบรอบ 1 ปี ของเหตุการณ์ดังกล่าว ในวันที่ 11 ตุลาคม 2495 นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ธรรมศาสตร์บัณฑิต ได้เขียนรำลึกไว้ว่า
“ความบีบคั้นนานาประการที่นักศึกษาได้ผจญมาไม่ขาดสายนั้น แทนที่จะผลักนักศึกษาให้ถอยหลังกรูดๆ ไป แทนที่จะตีความเป็นกลุ่มก้อนของนักศึกษาให้แตกกระเจิงไป ดังที่อาจมีผู้หวังว่าจะเป็นได้นั้น กลับทำให้นักศึกษาได้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนหนาแน่นยิ่งกว่าเดิม แม้ว่าในบางครั้งบางคราวจะได้รับความบีบคั้นคุกคามอย่างหนัก ดังในกรณีการลงทัณฑ์แก่นักศึกษาผู้รักสันติ ก็หาทำให้นักศึกษาสยบซบเศียรไม่ เขาทั้งหลายกลับสะบัดศีรษะเชิดหน้าขึ้น แล้วก้าวต่อไปในวิถีแห่งการต่อสู้เพื่อสันติ ความบีบคั้นไม่ได้ทำและไม่อาจทำให้จิตใจที่ยึดมั่นในสัจจะอ่อนเปียกละลาย ตรงกันข้าม ยิ่งเผชิญก็ยิ่งเกาะเกี่ยวกลมเกลียวกันหนักแน่นยิ่งขึ้น พยานข้อนี้เห็นจะได้จากการรวมกำลังอย่างเปนปึกแผ่นแน่นหนาของนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนี้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ปีกลาย ในการเรียกร้องคืนมหาวิทยาลัยของเขา ด้วยเจตจำนงอันเด็ดเดี่ยวที่จะเอาคืนมาให้ได้ และเขาก็ได้มหาวิทยาลัยของเขาคืนมา”
และ “เมื่อนักศึกษาได้มีวันที่ 11 ตุลาคม เปนวันที่ระลึกวันหนึ่งของเขาฉะนี้ เขาก็คงจะไม่แลดูความยากลำบากที่เขาได้รับมาตลอดเวลา 4-5 ปีที่แล้วว่า เปนระยะแห่งความมืดมิดเสียทีเดียว ว่ากันตามจริง การที่เขาได้วันที่ 11 ตุลาคม ไว้ในประวัติชีวิตของมหาวิทยาลัย ม.ธ.ก. นั้น เขามิได้ชำระราคาที่สูงไปกว่าคุณค่าของวันนั้นเลย ราคาที่เขาได้ชำระนั้นเปนแต่ของเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับคุณค่าใหญ่หลวงที่บรรจุอยู่ในวันที่ระลึก 11 ตุลาคม เพราะฉะนั้น เมื่อนักศึกษา ม.ธ.ก. ฉลองวันที่ 11 ตุลาคม ของเขา เขาก็ไม่มีน้ำตาแห่งความระทมขมขื่นในอดีตที่จะเช็ดอีกต่อไปแล้ว”
นักศึกษาถูก…ซื้อ
นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตอบโต้ประเด็นที่ผู้ปกครองบ้านเมืองในเวลานั้น (ไม่ใช่เวลานี้) ที่หาว่านักศึกษาถูกชักจูงได้ง่าย ถูกครอบงำโดยใครที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งนั่นก็หนีไม่พ้นการเชื่อมโยงไปยังผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า
“หากว่านักศึกษา ม.ธ.ก. เปนเครื่องมือของนักการเมืองคนใดฝ่ายใด และกระทำการใดๆ แต่โดยอาศัยคำยุยงเสี้ยมสอนจากทางหนึ่งทางใดแล้ว ก็คงเปนการง่ายที่ใครๆ จะมาประมูลนักศึกษาที่สักแต่ว่าเปนเครื่องมือของคนหนึ่งฝ่ายหนึ่งไปเปนเครื่องมือของอีกคนหนึ่งฝ่ายหนึ่งได้ และก็เปนการง่ายเช่นเดียวกันที่ใครๆ จะยุยงให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดความอ่านของเขา
“ดังที่เราได้เห็นการสับปลับกลับกลอกอย่างดกดื่นที่เปนอยู่ในวงของพวกนักเล่นการเมือง ที่แสวงหาแต่ลาภยศและผลประโยชน์ส่วนตัวไปวันหนึ่งๆ แต่เราย่อมเห็นได้ว่า นักศึกษา ม.ธ.ก. มิใช่เปนเครื่องมือหรือสินค้าที่จะนำออกขายในตลาดการเมือง และที่ใครๆ จะเข้าถือกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการประมูลราคา หากว่าพวกที่ถืออำนาจอยู่ในมือเคยชินมากับการประมูลซื้อสินค้าในตลาดการเมือง ก็ไม่เปนการชอบธรรมเลยที่ท่านจะนำเอาความสันนิษฐานอย่างมักง่ายและต่ำช้าเช่นนั้นมาใช้แก่นักศึกษา ม.ธ.ก.”
อนาคตเก่ากับอนาคตใหม่
ต่อประเด็นความขัดแย้งของคนระหว่างรุ่น ที่คนในกรอบทัศนคติแบบเดิม เห็นต่างจากนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของสังคมที่เขาอาศัยอยู่นั้น นายกุหลาบเขียนไว้ได้อย่างคมคายว่า
“พวกท่านที่เรียกกันว่าผู้หลักผู้ใหญ่จะมีความคิดเห็นของท่านอย่างไรก็มีกันไปเถิด พวกท่านที่ประสงค์จะไปใช้ชีวิตอันริบหรี่ของท่านอยู่ในโรงพิพิธภัณฑ์ ก็จงไปใช้อยู่ตามความพอใจของท่านเถิด พวกท่านที่ไม่ต้องการจะคิดถึงใครเลย นอกจากจะคิดถึงแต่ตัวท่าน วงศ์วานของท่าน คิดถึงแต่ผลประโยชน์และความสุขสำราญส่วนตัวท่านล้วนๆ เท่านั้น ก็เชิญท่านไปตามทางของท่าน แต่ขออย่ามาขัดขวาง เหนี่ยวรั้ง และใช้อำนาจเกะกะระรานแก่คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่เขาต้องการจะคิดถึงคนอื่น ที่ต้องการจะคิดแก้ไขความสกปรกโสมม ความทุราจารเลวร้ายในสังคมเก่าที่เขาเห็นเด่นชัดอยู่กับตา คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ต้องการจะก้าวไปข้างหน้า ที่ต้องการจะเข้าร่วมกับประชาชนผู้มีมนุษยธรรมกำจัดความชั่วร้ายและความทุกข์ทรมานของสงคราม คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ต้องการจะเลือกวิถีชีวิตของเขาเอง
“ขออย่าได้กักขังเหนี่ยวรั้งเขาไว้ในโรงพิพิธภัณฑ์กับท่าน ขออย่าได้ส่งมอบมรดกบางชิ้นที่เต็มไปด้วยกลิ่นขื่นคาวเน่าเฟะให้เขารับสืบทอดต่อไปเลย ผู้ใหญ่บางจำพวกที่ได้ทำความผิดมามากแล้ว และต้องการจะทำความผิดซ้ำซากต่อไปจนตาย ก็เชิญทำของท่านไป แต่อย่าเหนี่ยวรั้งบังคับให้คนรุ่นใหม่ไปนอนตายกับท่านในหลุมเก่าหลุมเดียวกันเลย
“ท่านพวกผู้ใหญ่ ท่านเคยพร่ำสอนปลุกใจพวกเขาอยู่ไม่วายมิใช่หรือว่า อนาคตของชาติอยู่ในมือของเยาวชน ใครๆ ก็เฝ้าฝากฝังอนาคตไว้แก่เขามิใช่หรือ? บัดนี้ เขาต่างก็เตรียมตัวยืนขึ้นรับคำฝากฝัง และรับภาระแล้ว เขาผู้กำอนาคต ไฉนจะมีสิทธิวินิจฉัยอนาคตน้อยไปกว่าผู้ที่ไม่มีอนาคตเล่า?”
และ “จงปล่อยให้เขาเปนอิสสระที่จะเลือกวิถีชีวิตของเขาเถิด แต่ปล่อยหรือไม่ปล่อยก็เท่ากัน ก็เพราะว่าเขาคงจะแสวงหามันจนได้
ทำไมเขาถึงรักธรรมศาสตร์
ในข้อเขียนชิ้นนี้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2495 ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว” นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กล่าวสรุปเรื่องการต่อสู้ของนักศึกษาและบัณฑิตของธรรมศาสตร์ ถึงการเรียกร้องความเป็นธรรม ขอคืนพื้นที่มหาวิทยาลัยจากการยึดครองของทหาร จนได้กลับคืนมาเป็นผลสำเร็จ ว่ามีเหตุผลมาจาก…
“นักศึกษาและบัณฑิตของ ม.ธ.ก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่า เขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะว่ามีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น
“ชาว ม.ธ.ก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”
บรรณานุกรม
รายงานการประชุมสภาผู้แทน ครั้งที่ ๒/๒๔๙๔ (สามัญ) ชุดที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2494.
กษิดิศ อนันทนาธร (บรรณาธิการ). เหลียวหลัง แลหน้า 85 ปี ธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562.
กุหลาบ สายประดิษฐ์. มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ. สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา [กุหลาบ สายประดิษฐ์], 2548.
มารุต บุนนาค. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จากความทรงจำของอดีตประธานนักศึกษา. กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2562.
สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502. พระนคร: สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562.