:: 101 Visual Journal 2021 : Graphic ::
เปิดบันทึก ‘101 Visual Journal 2021 : Graphic’ เล่าเบื้องหลังงานภาพกราฟิก โดย ภาพิมล หล่อตระกูล และ ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล
เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอล สิ่งต่างๆ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมา
รวมถึงสื่อก็เช่นกัน ปัจจุบันสื่อทั้งหน้าเก่าและใหม่ต่างก็ได้มาลงหลักปักฐานในโลกออนไลน์ โลกที่เป็นเหมือนคลังความรู้มหาศาลที่พกได้ในกระเป๋ากางเกง พร้อมให้หยิบขึ้นมาอ่านได้ตลอดเวลา
บทบาทหน้าที่ของคำว่า ‘ภาพประกอบ’ ก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย
จากเดิมที่เป็นการประกอบอยู่ภายในเล่ม เพื่อสร้างความเพลิดเพลินใจ หรือเป็นจุดพักสายตาสำหรับผู้อ่าน
ปัจจุบันภาพประกอบกลายเป็นด่านหน้าทางการมองเห็น ทำหน้าที่เหมือนประตูที่เชิญชวนให้ผู้อ่านเปิดเข้าไปสู่ด้านใน ไม่แพ้กับปกหนังสือที่วางเรียงรายอยู่บนชั้นหนังสือ
เมื่อเริ่มออกแบบ โจทย์ต่างๆ ก็เริ่มสุมขึ้นมาบนบ่าของนักวาดภาพประกอบ
จะทำภาพอย่างไรให้สื่อสารเนื้อหาได้ครบถ้วน ตรงประเด็น สวยงาม และน่าสนใจ
ในโพสต์นี้เราขอเชิญคุณผู้อ่านรับชมผลงานและความคิดเบื้องหลังทั้ง 10 ผลงาน
ที่พวกเราหวังว่าจะเป็นประตูที่เชื้อเชิญให้คุณผู้อ่านได้เปิดเข้ามาเจอเรื่องราวใหม่ๆ ไปด้วยกัน
เรื่องและภาพโดย ภาพิมล หล่อตระกูล และ ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล
ส่องเศรษฐกิจปีวัว From Home

ภาพประกอบบทความ ส่องเศรษฐกิจปีวัว From Home โดย วิมุต วานิชเจริญธรรม
เปิดปีด้วยการทำภาพประกอบที่พูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยที่ถดถอยเนื่องจากพิษโควิด – 19
ตอนอ่านแล้วก็นึกภาพในหัวว่า ถ้าใช้การทุบกระปุกออมสิน มาเป็นภาพแทนของการที่เศรษฐกิจถดถอยน่าจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและรู้สึกเชื่อมโยงได้ง่าย
จึงทำภาพออกมาเป็นกระปุกออมสินรูปวัวที่ทุบออกมาแล้วเหลือเงินนิดเดียว แทนที่จะเป็นการทุบเงินที่เต็มกระปุกมาเพื่อจับจ่ายใช้สอย กลับกลายเป็นการทุบกระปุกเพื่อความอยู่รอด
โดยตอนออกแบบภาพร่างได้เพิ่มลูกเล่นจากกระปุกออมสินธรรมดา ให้เป็นกระปุกออมสินรูปวัว เพื่อสะท้อนถึงปีวัวทั้งปี และเพื่อให้ภาพล้อไปกับชื่อบทความ
ผ่าสมรภูมิการเมืองโลก 6 ภูมิภาค ในยุคการทูตวัคซีนเบ่งบาน

ภาพประกอบบทความ ผ่าสมรภูมิการเมืองโลก 6 ภูมิภาค ในยุคการทูตวัคซีนเบ่งบาน โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา
‘‘การทูตวัคซีน’ กำลังกลายเป็นเครื่องมือหลักบนสมรภูมิการเมืองโลกท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแต่ละขั้วอำนาจใหญ่ของโลกต่างใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองกันอย่างเข้มข้น’
จากบทความที่พูดถึงประเทศมหาอำนาจที่มาแข่งขันด้านการทูตวัคซีน
ทำให้เรานึกไปถึงตอนที่ประเทศมหาอำนาจแข่งขันกันด้านอวกาศ เลยคิดว่าถ้าทำให้ภาพออกมาดูเหนือจริงหน่อย น่าจะทำให้ภาพดูน่าสนใจดี
จึงเล่นกับขนาดของวัคซีนให้ดูใหญ่มากๆ และเล่นกับมุมมองที่มองจากล่างขึ้นบนเพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกได้ถึงความทรงพลัง สร้างเงาให้ทอดทับลงมายังประเทศต่างๆ เหมือนเป็นกับอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจที่ทอดลงมาปกคลุมประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า
วัคซีนที่ล่าช้า คือต้นทุนและความทุกข์ยากของพี่น้องคนไทย

ภาพประกอบบทความ วัคซีนที่ล่าช้า คือต้นทุนและความทุกข์ยากของพี่น้องคนไทย โดย ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
‘เพราะทุกวันที่ล่าช้าออกไปคือต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจขนาดมหาศาล ซึ่งภายในตัวเลขนั้นคือความทุกข์ยากในชีวิตของพี่น้องคนไทย’
ประโยคด้านบนทำให้เราอยากถ่ายทอดให้คนได้รู้สึกถึงความสำคัญของเวลา และเข้าใจว่าการรอคอยคือการเสียโอกาส
จึงนำนาฬิกาทรายที่เป็นสัญลักษณ์ของเวลา มาผสมกับวัคซีน เพื่อเน้นถึงเวลาที่ผ่านไปทุกๆ วินาที
พระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย: ว่าด้วย ‘ความล่วงละเมิดมิได้’ ของพระมหากษัตริย์

ภาพประกอบบทความ พระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย: ว่าด้วย ‘ความล่วงละเมิดมิได้’ ของพระมหากษัตริย์ โดย อติเทพ ไชยสิทธิ์
ในบทความผู้เขียนได้เขียนถึงความหมายที่แท้จริงของภาษิต ‘พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้’ และเขียนถึงหลักการ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ ที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักทฤษฎีกฎหมายชาวอังกฤษ
เรานำเอาคำต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นมาประกอบร่างเป็นรูปมงกุฎ เพื่อสื่อสารว่าหากไร้ซึ่งหลักการเหล่านี้แล้ว ภาพมงกุฎก็จะหายไป
Justice Next Version อัปเกดกระบวนการยุติธรรม สู่เวอร์ชันอนาคต

โปสเตอร์เปิดซีรีส์ Justice Next Version อัปเกดกระบวนการยุติธรรม สู่เวอร์ชันอนาคต
ตอนแรกได้โจทย์มาว่า เป็นซีรีส์สปอตไลท์ที่พูดถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาปรับกระบวนการยุติธรรมให้ทันสมัยมากขึ้น ทีมระดมสมองกันสักพักจนสุดท้ายตกลงกันได้ว่าอยากให้ซีรีส์นี้มีทิศทางแบบ ‘Futuristic & Sci-fi’ และตั้งชื่อว่า ‘Justice Next Version อัปเกรดกระบวนการยุติธรรม สู่เวอร์ชันอนาคต’
หลังจากได้ชื่อและทิศทางแล้วทำให้เรากับ ครีเอทีฟ เห็นภาพตรงกันว่าน่าจะทำโปสเตอร์ของซีรีส์ออกมาโดยนำ Lady Justice ที่เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมมาปรับให้มันดูสมัยใหม่มากขึ้น แต่ยังคงสัญลักษณ์ทั้ง 3 อย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของ Lady Justice ไว้ คือ ตาชั่ง ดาบ และผ้าปิดตา
จากนั้นก็คุยกับครีเอทีฟว่าอยากให้โปสเตอร์มีความทรงพลัง จึงเลือกมุมมองจากล่างขึ้นมาข้างบน แล้วก็อยากให้ตาชั่งชูอยู่ระหว่างสายตาของ Lady justice พอดี ส่วนดีเทลต่างๆ ก็ปรับให้มีความสมัยใหม่มากขึ้น เช่น จากเดิมที่ Lady เป็นรูปปั้น ก็เปลี่ยนให้เป็นหุ่นยนต์แทน ปรับลักษณะของผ้าปิดตา ดาบ และตาชั่งให้ดูล้ำสมัยมากขึ้น นอกจากนี้เราออกแบบพื้นหลังทำให้เป็นสีเหมือนท้องฟ้าตอนพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น
เพื่อสะท้อนการมาถึงของรุ่งอรุณใหม่ และเติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติม เช่น เติมดาวบางดวงให้เป็นเลข 0 กับ 1 ที่ล้อไปกับโค้ดของคอมพิวเตอร์
ความน่าจะอ่าน 2021 อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!

โปสเตอร์เปิดซีรีส์ ความน่าจะอ่าน 2021 อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!
เรารู้สึกตื่นเต้นเเละสนุกตั้งเเต่ตอนที่ได้ยินชื่อคอนเซป ความน่าจะอ่านในปีนี้ซึ่งเป็นคอนเซปที่ต่อเนื่องมาจากปีที่เเล้ว สถานการณ์โควิดทำให้อะไรหลายๆ อย่างปั่นป่วนเเละสาหัสกว่าเดิม เราจึงถ่ายทอดสภาวะนี้โดยเลือกใช้คนวิ่งผลัด ที่วิ่งส่งต่อความสาหัสจากปีที่เเล้วมาสู่ปีนี้ โดยมีองค์ประกอบอื่นๆ มากมายในเส้นทางที่ทุกคนวิ่ง สื่อถึงเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากโควิด-19 ที่มาทำให้เราเจ็บช้ำเเละซ้ำเติมเข้าไปอีก
ความคิดตั้งต้นของภาพนี้มาจาก meme เนื่องจากเราเป็นคนชอบเสพ meme เป็นทุนเดิมอยู่เเล้ว เลยใช้จังหวะการเล่าภาพของ meme เเละการเล่าภาพแบบ comic มาผสมผสานเข้าด้วยกัน
การคะเนพลาดในประวัติศาสตร์สงคราม

ภาพประกอบบทความ การคะเนพลาดในประวัติศาสตร์สงคราม โดย ธีวินท์ สุพุทธิกุล
“การคาดคะเนผิดพลาด (miscalculation) เป็นหนึ่งในต้นเหตุของสงคราม ซึ่งอาจอุบัติขึ้นแม้ในเวลาที่ชาติต่างๆ เห็นว่าสงครามเป็นทางเลือกที่สุ่มเสี่ยงและไม่คุ้มค่า ดังคำกล่าวที่ว่าสงครามอาจเกิดได้แม้ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการ”
บทความนี้เล่าถึงการคาดคะเนที่ผิดพลาดในการทำสงคราม ในตอนที่อ่านบทความนี้เรานึกถึงการเล่นหมากรุก ที่ต้องมีการคำนวณเเละมีกลยุทธ์ในการเล่น ซึ่งถ้าลงตัวใดตัวหนึ่งไปก็สามารถพลิกเกมได้
โดนกดขี่ดูถูกไม่เห็นคุณค่า: การลุกขึ้นสู้ของแรงงานเกาหลีใต้ช่วงปี 1970 -1987

ภาพประกอบบทความ โดนกดขี่ดูถูกไม่เห็นคุณค่า: การลุกขึ้นสู้ของแรงงานเกาหลีใต้ช่วงปี 1970 -1987 โดย โกษม โกยทอง
บทความนี้พูดถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้ของเเรงงานเกาหลีใต้นับล้านชีวิตในช่วงปี 1970-1987 ที่ถูกกดขี่โดนบังคับให้ทำงานซ้ำร้ายยังถูกดูถูกเหยียดหยาม
ในช่วงปีนั้นเป็นปีที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโต เเต่ภายใต้การเติบโตนั้นมาจากเเรงงาน เราจึงใช้ธงของเกาหลีใต้มาผสมกับนาฬิกา ภายในธงนั้นมีแรงงานเกาหลีใต้จำนวนมากกำลังทำงาน เพื่อสื่อการการเจริญเติบโตของประเทศนั้นต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อในการทำงานของเเรงงาน
เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ (จนกว่ามันจะไม่ใช่)

ภาพประกอบบทความ เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ (จนกว่ามันจะไม่ใช่) โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
บทความนี้พูดถึงประชาธิปไตยที่ถูกหยิบใช้ในบริบทแบบไทยๆ เมื่อมีการยกย่องรัฐธรรมนูญที่มาจากประชามติภายใต้บรรยากาศที่ไม่มีเสรี โดยอ้างว่าเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ ในภาพนี้เราจึงเเทนรัฐธรรมนูญเเละเสียงของประชาชนด้วยภาพก้อนเมฆ เพราะก้อนเมฆนั้นในหลายๆ ครั้งถูกใช้เป็นภาพแทนของสวรรค์ เเละก้อนเมฆเหล่านั้นช่างเบาบางเเละจับต้องไม่ได้
ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์จารีตประเพณี: “ไม่มีคุณค่าทางจารีตประเพณีใดที่ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยการกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

ภาพประกอบบทความ ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์จารีตประเพณี: “ไม่มีคุณค่าทางจารีตประเพณีใดที่ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยการกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน” โดย มุนินทร์ พงศาปาน
บทความนี้พูดถึงศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินโดยอิงหลักจารีต เเต่ไม่อิงประชาชนทำให้เสรีภาพประชาชนโดนกดทับ เราจึงใช้ตราสัญลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ ตรงด้านล่างของฐานเป็นกรงที่มีไว้กังขังนกพิราบที่เปรียบเหมือนกับเสรีภาพ เเละตรงตัวของตราศาลรัฐธรรมนูญมีเเต่หยากไย่ เพราะคำพิจรณาที่อิงหลักจารีตนั้นไม่เป็นไปตามยุคสมัย