fbpx
101 Visual Journal 2020 : Photo VOL.2

101 Visual Journal 2020 : Photo VOL.2

เปิดบันทึก ‘101 Visual Journal 2020 : Photo VOL.2’ เล่าเบื้องหลังงานภาพถ่ายและวิดิโอ โดย กมลชนก คัชมาตย์ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ และ ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร

“ยาก (แต่) น่าดู”

การสร้างสะพานเพื่อเชื่อมโลกวิชาการที่เนื้อหาเข้มข้นเข้ากับความคิดสร้างสรรค์เป็นโจทย์ที่ท้าทายเสมอมา เพราะลำพังเพียงแค่การสร้างสื่อภาพถ่ายและวิดีโอที่มีประเด็นเข้มๆ ยากๆ ให้ชัดเจน ถูกต้อง และครบถ้วนนั้น ก็อาศัยพลังมหาศาลแล้ว และยกกำลังเข้าไปอีกเท่าตัว เมื่อเราอยากทำให้เรื่องราวนั้นสนุกและแตกต่าง เป็น ‘เรื่องยากที่น่าดู’

ปี 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ระดับประวัติศาสตร์ ที่ควรค่าให้สังคมตั้งคำถามและเปิดประเด็นถกเถียงกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ในห้วงเวลานี้เอง 101 จึงขอยกกำลังเพิ่มเข้าไปอีกในการทดลองสร้างสรรค์งานแบบใหม่ๆ เพื่อเปิดบทสนทนาในสังคม

เชิญชมวิธีคิด 10 งานภาพที่ยาก (แต่) น่าดู และอยากให้คุณดู

 

:: “Now you see me” ภาพโปสเตอร์ที่ท้าทายให้ผู้ใหญ่ เงยหน้าขึ้นไปมองเด็ก ::

 

 

“Now you see me”  ไม่ใช่ชื่อหนัง แต่คือคอนเซปของภาพโปสเตอร์ Spotlight “We are youngster : เพราะเจ็บจัดๆ เลยแสบสุดๆ” ที่ The101.world ทำร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

คำครหาว่า ‘เด็กสมัยนี้’ ก้าวร้าว ไม่อดทน ไม่เคารพผู้ใหญ่ มักถูกพูดโดยผู้ใหญ่บางคนที่ก้มมองเด็กจากมุมสูง พวกเขาจับจ้องและตัดสินเด็กจากมุมมองของตัวเอง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ใหญ่จะมอง ‘เด็กสมัยนี้’ ในมุมที่พวกเขาอยากให้มอง และมองในแบบที่เขาเป็น เราทดลองสวมวิญญาณเด็กวัยรุ่นถ่ายทอดมุมมองที่ต่างออกไป ผ่านภาพถ่ายภาพนี้

วัยรุ่นสามคนที่เป็นแบบถูกวางคอนเซปให้มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังถูกคลุมไว้ด้วย Mood & Tone เดียวกันคือความซิ่ง แสบซ่า เพื่อปลดปล่อยพลังของการเป็นวัยรุ่น เราแอบใส่ลูกเล่นเล็กๆ ลงไปในเครื่องแต่งกายของแต่ละคน เช่น เสื้อวงร็อคชื่อดังอย่าง Nirvana ที่มีเนื้อเพลง Smell like teen spirit เขียนเอาไว้ การผูกโบว์ขาว หรือการใส่เสื้อสีรุ้งเพื่อสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ

เราเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง (Wide-angle lens) ในการถ่าย เพื่อทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้มีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างความรู้สึกว่าวัยรุ่นทั้งสามคนยิ่งใหญ่ขึ้น และถ่ายในมุมสายตาหนอน (Worm’s-eye view) เพื่อให้รู้สึกว่าคนดูอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าวัยรุ่นทั้งสาม เป็นมุมมองที่คนมองภาพต้องเงยหน้าขึ้นดู โดยให้เด็กทั้งสามก้มลงมามองกล้อง เพื่อเป็นการทำลายกรอบของความคิดที่ว่าเด็กต้องอยู่ต่ำกว่าผู้ใหญ่ และพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่โลกทางความคิดของวัยรุ่นอย่างแท้จริง

 

ภาพเบื้องหลังการจำลองตัวเองเป็นหนอน เพื่อให้ได้มุมมองแบบ Worm’s-eye view

 

ติดตามอ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ใน Spotlight “We are youngster : เพราะเจ็บจัดๆ เลยแสบสุดๆ

 

:: เปิดพื้นที่ทดลองการถ่ายภาพแนว Conceptual ::

 

 

นอกจากภาพโปสเตอร์แล้ว ใน Spotlight “We are youngster : เพราะเจ็บจัดๆ เลยแสบสุดๆ” ยังมีชุดภาพถ่ายอื่นๆ ที่ถูกถ่ายมาเพื่อใช้เป็นแบนเนอร์ประกอบบทความที่อยู่ใน Spotlight นี้ด้วย

เราได้ใช้โอกาสนี้เป็นพื้นที่ทดลองในการถ่ายภาพเชิง Conceptual โดยออกแบบคอนเซปของแต่ละภาพให้สอดคล้องกับเนื้อหาของแต่ละบทความ

 

 

ภาพที่ 1 – “บาดแผลภายในใจของวัยรุ่นจะยังคงอยู่ตลอดกาล” คือคอนเซปของภาพแรก เราเริ่มจากการถ่ายภาพนักเรียนหญิงที่เป็นนางแบบ ใช้ไฟแฟลชสีแดงสาดลงไป เพื่อให้ความรู้สึกที่รุนแรง เจ็บปวด ก่อนนำรูปที่ได้ไปปริ้นท์ลงกระดาษ เราทดลองนำภาพที่ได้มาฉีกเพื่อสร้างบาดแผลทางกายภาพให้กับภาพถ่าย แต่กลับรู้สึกว่าการฉีกขาด ไม่สามารถอธิบายความเจ็บปวดทางใจได้ดีเท่าไหร่ เรากลับคิดว่าแผลใจที่วัยรุ่นเผชิญน่าจะเงียบงันและไม่แสดงถึงอารมณ์รุนแรงเท่ากับการฉีดขาด จึงเปลี่ยนมาเป็นการใช้หยดน้ำแทน ให้การไหลของน้ำเปรียบกับหยดน้ำตา แสดงถึงอารมณ์ความเจ็บปวดที่เงียบงัน ถูกกักเก็บและจะยังคงอยู่ที่จิตใจตลอดไป

อ่านบทความได้ที่ วัยรุ่นเจ็บแล้วจำ: สำรวจบาดแผลทางใจในระหว่างทางเติบโต

 

 

ภาพที่ 2 – ในโลกที่เทคโนโลยีเปรียบเสมือนดวงตาที่สาม เราสามารถมองเห็นข่าวสาร มองเห็นความรู้ มองเห็นคนอื่นๆ ผ่านเทคโนโลยี และคนอื่นๆ ก็สามารถมองกลับมาที่เราได้เช่นกัน ไม่แปลกเลยที่โลกเสมือนนี้จะกลายเป็นพื้นที่ของการ Cyberbullying โดยเฉพาะกับวัยรุ่น เราบอกเล่าเรื่องราวนี้ผ่านภาพถ่าย โทรศัพท์ที่ล้อมรอบคอยถ่ายภาพเด็กที่อยู่ตรงกลาง ไม่ต่างจากการถูกจับจ้อง คุกคาม และที่น่ากลัวกว่าคือเราไม่มีทางรู้เลยว่ามือที่ยื่นโทรศัพท์รายล้อมรอบเรานั้นคือมือของใคร

อ่านบทความได้ที่ มองปัญหาการ ‘บูลลี่’ แบบไทยๆ กับ ธานี ชัยวัฒน์

 

 

ภาพที่ 3 – ตอนสมัยเรียนมัธยมเราเคยหัวเราะให้กับเพื่อนที่ถูกครูไถหัวในวันตรวจผม เห็นว่ามันเป็นเรื่องตลกที่เพื่อนผมแหว่ง และคิดว่าสมควรแล้วเพราะเพื่อนทำผิดระเบียบ โดยที่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิในเรือนร่าง หรืออำนาจนิยมในโรงเรียนเลย 

เราจึงนำภาพนี้มาเป็นภาพแทนของการใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน ภาพเส้นผมที่เว้าแหว่งไม่ต่างกับการศึกษาไทย สาดไฟสีแดงเพื่อขับเน้นให้ภาพดูรุนแรงและจริงจัง เพื่อบอกกว่าว่าการกดทับนั้นไม่ใช่เรื่องตลก

อ่านบทความได้ที่ โรงเรียนของเราน่าอยู่? : ความเจ็บปวดของวัยขาสั้นคอซองยุคโบว์ขาว

ติดตามอ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ใน Spotlight “We are youngster : เพราะเจ็บจัดๆ เลยแสบสุดๆ

 

:: What’s in your bag? ::

 

 

What’s in your bag? คือ ชุดภาพที่อยู่ Spotlight ต้องรอด ชุดภาพนี้จะสอดแทรกอยู่ในบทความของแต่ละศาสตร์ความรู้ พาเปิดดูกระเป๋าของผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ ว่ามีสิ่งสำคัญอะไรบ้างที่ควรพกไว้

สิ่งสำคัญเหล่านั้นอาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ตามองเห็น อย่างหนังสือ นิตยสาร หรือภาพยนตร์ ซึ่งง่ายต่อการแปลงเป็นภาพ เช่น ภาพยนตร์ก็อาจใช้ DVD โปสเตอร์ของหนังเรื่องนั้น หรืออาจจะใช้หุ่นจำลอง (Model figure) จากหนังมาตีเป็นภาพแทนได้

แต่บางครั้งสิ่งของบางอย่างต้องอาศัยการตีความมากขึ้นอีกระดับ เช่น ในบทความ IR ต้องรอด : “ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ ได้แนะนำให้นักรัฐศาสตร์ด้าน IR ควรพกแผนที่ และได้ตั้งข้อสังเกตว่าแผนที่ทั่วๆ ไปมักมียุโรปอยู่ตรงกลางเสมอ การเขียนแผนที่เป็นเรื่องอำนาจ/ความรู้ ที่จัดวางความรับรู้ของเราที่มีต่อโลก และกำหนดสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเมืองโลก

จากข้อสังเกตนั้น เราจึงสร้างแผนที่ขึ้นมาใหม่ โดยตัดแผนที่ออกเป็นสองซีก และเรียงสลับกันเพื่อไม่ให้ยุโรปหรืออเมริกาอยู่ตรงกลาง ทำให้เราได้แผนที่แผ่นใหม่ที่นักรัฐศาสตร์ด้าน IR ควรพก

สิ่งของในกระเป๋าของผู้ศึกษาในศาสตร์นั้นๆ อาจจะมีทั้งของที่เข้าใจง่ายและของที่ต้องใช้การตีความ เราอยากให้ของเหล่านี้เปรียบเสมือนกล่องเครื่องมือพื้นฐานที่พาผู้อ่านไปรู้จักศาสตร์นั้นๆ เพื่อต่อลมหายใจไม่ให้มีศาสตร์ใดต้องหายไป ต้องรอด!

ติดตามอ่านบทความใน spotlight ต้องรอด!

:: เปิดม่านการแสดง – เป่าควันกันจนปวดแก้ม ::

 

 

ผ้าม่านสีแดง ไฟสปอตไลท์ และหน้ากาก คือ สัญลักษณ์ที่เราเลือกมาใช้ในภาพแบนเนอร์ประกอบบทความ ละครต้องรอด! : “ทำละครเพื่ออะไร?” – ภาสกร อินทุมาร ความเปลี่ยนแปลงของการละคร ในโลกที่เต็มไปด้วยคำถาม 

สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นภาพแทนของละครเวทีที่เห็นแล้วเข้าใจได้ทันที ไม่ต้องใช้การตีความอะไรมาก ภายใต้ความเข้าใจง่าย เราใส่ความน่าฉงนสงสัยลงไป ตั้งคำถามเบื้องหลังม่านละครเวที ด้วยการแง้มให้มีควันลอยออกมาจากหลังม่าน สร้างความรู้สึกให้คนดูอยากรู้ว่าจะมีอะไรโผล่ออกมา เพื่อชักชวนคนดูไปหาคำตอบเบื้องหลังม่านได้ในบทความ

มองเผินๆ คอนเซปที่เราไว้ก็แค่การถ่ายสิ่งของ กับมือแง้มผ้าม่านให้ควันออกมา มันจะไปยากอะไร แต่กว่าจะได้ภาพแบบที่ต้องการนั้นไม่ง่ายเลย ควันจากน้ำแข็งแห้งไม่เคยลอยออกมาจากหลังม่านอย่างดีๆ ต้องทั้งใช้ปากเป่า เอากระดาษมาพัด เอาพัดลมมาจ่อ แต่ควันก็ยังบางไปอยู่ดี

เราจึงใช้รูปที่ช็อตใกล้เคียงกัน 6 รูป เอาควันของแต่ละรูปมารวมกันเพื่อให้ได้ปริมาณความหนาแน่นของควันที่กำลังดี รวมถึงลบกะละมังสีชมพูที่ใส่น้ำแข็งแห้งออกไป เพื่อให้ได้ภาพสุดท้ายที่เราต้องการ

ติดตามอ่านบทความใน spotlight ต้องรอด!

 

:: “I LOVE MY JOB” ถ่ายภาพเพื่อทำโปสเตอร์ครั้งแรก แถมยังจับชาวกองมาเป็นนางแบบ นายแบบอีก! ::

 

 

(ข้อนี้ครีเอทีฟขอแทรก)

 ‘I LOVE MY JOB : คน (รัก) งาน และ ที่ทำงานในอนาคต’ ชุดงาน Spotlight ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง สสส. และ The101.world เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา คือการสำรวจความเปลี่ยนแปลงในโลกการทำงานยุคใหม่ ฉายให้เห็นภาพการปรับตัวสู่อนาคตตั้งแต่ระดับคนทำงาน เจ้าของกิจการ จนถึงผู้กำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในโลกการทำงาน

 

 

‘Happy Workplace’ คือ คีย์เวิร์ดสั้นๆ บนใบบรีฟ ซึ่งชาวกอง (กองบรรณาธิการ) เห็นตรงกันว่า คำว่า ‘ที่ทำงาน’ หรือ ‘โลกการทำงาน’ ให้ความรู้สึกที่เป็นทางการและมีระยะห่างกับผู้คน จึงเกิดเป็นโจทย์ว่า “จะทำยังไงให้คนสามารถเห็นและรู้สึกถึง ‘ชีวิตของคนทำงาน’ แล้วเชื่อมโยงกับตัวเองได้”

 

 

ในที่ประชุมมีคนพูดถึงเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มักโพสต์ Meme ตลกๆ เสียดสี ชีวิตการทำงานของพนักงานออฟฟิศขึ้นมา เสนอคำอย่างเช่น ‘ฉันรักงาน งานรักฉันไหม’ หรือ ‘ตื่นไปทำงานที่เรารักกันเถอะ’ ที่คำว่า ‘รัก’ เป็นได้ทั้งความสุขและความเหนื่อยยาก ชาวกองชอบใจกันมาก เพราะคำเหล่านี้สะท้อนหัวอกของคนทำงานที่ทุ่มเทกับงานเพื่อพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตออกมาได้อย่างชัดเจนและน่าดึงดูดใจ ท้ายที่สุดเราคิดกันต่อจนได้ไอเดีย ‘I LOVE MY JOB’ ขึ้นมา และขมวดไอเดียว่า ‘เพราะเรารักงาน และควรได้รับความรักกลับจากการงานเช่นกัน

เราวางแผนให้โปสเตอร์เปิดตัว Spotlight นี้ออกมาในรูปแบบของภาพถ่ายบุคคล (เป็นการถ่ายภาพเพื่อทำโปสเตอร์ครั้งแรกของ The101.world) โดยออกแบบให้มีตัวละครทั้งหมดเก้าคนเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เป้าหมาย ซึ่งเป็นคนทำงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้าง นายจ้าง หรือแรงงานนอกระบบ ตัวละครทั้งหมดแสดงอิริยาบถของการทำงานที่ดูเหนือความเป็นจริง เสมือนกลุ่มเป้าหมายที่พยายามทำงานอย่างหนักหน่วง และท่อง ‘I LOVE MY JOB’ ไว้เป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนชีวิตต่อไป

 

 

นอกจากนี้เรายังเอารูปทั้งหมดมาทำเป็น อัลบัมภาพ Meme สำหรับแนะนำชุดงาน Spotlight นี้ ตอนปิดโปรเจ็คด้วย ซึ่งข้อความกวนๆ ในหลายๆ ภาพนี้ ขอยกเครดิตให้ พลอย – ศศิกานต์ นารถดิลก น้องฝึกงานครีเอทีฟในปีนี้ของเรา

 

:: เว่อขึ้นอีก! เห็นปัญหาชัดขึ้นอีก! ::

 

 

หลังจากที่เราตีโจทย์คอนเซปภาพออกมาแล้วว่าจะใช้การถ่ายภาพบุคคล ในอิริยาบทการทำงานที่เหนือจริง ดังนั้นเราจึงนำประโยคเว่อๆ อย่าง “งานมีเป็นแสน แขนมีแค่สอง” มาแปลงเป็นภาพ โดยการเพิ่มแขนให้พนักงานร้านสะดวกซื้อเพื่อขยายให้เห็นว่าพนักงานร้านสะดวกซื้อต้องรับผิดชอบงานหลายอย่าง ถ้ามีสิบแขนเหมือนทศกัณฐ์ ก็จะทำงานให้เธอทั้งสิบแขน 

หรือประโยค “ทำงานจนตาค้าง” เราให้แบบใส่ชุดพนักงานออฟฟิศโหนรถไฟฟ้าไปด้วยทำงานไปด้วย ตาลอยเพราะงานเยอะ ในภาพนี้เราลดขนาดลูกตาดำของพนักงานออฟฟิศเพื่อให้เห็นตาลอยชัดขึ้น รู้สึกถึงการโดนงานรุมเร้ามากขึ้น 

และประโยค “เห็นงานเป็นลม เห็นชานมสู้ตาย” เราตีความเป็นภาพโดยการ จำลองน้ำเกลือชานม ของโปรดของชาวออฟฟิศ เปลี่ยนจากการดื่มธรรมดาเป็นการฉีดเข้าเส้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการชานมเดี๋ยวนี้! เวลานี้! เพื่อที่จะได้แปลงเป็นพลังไปสู้กับงานต่อไป

การขยายภาพความลำบากของเหล่าคนรักงานให้ดูเกินจริง อาจจะดูน่าขบขันหรือดูเว่อเกินไปบ้าง แต่ความลำบากที่พวกเขาต้องเผชิญจากการทำงานยังคงมีอยู่จริง เราหวังว่าการขยายภาพเหล่านี้จะทำให้ทุกคนเห็นปัญหาชัดขึ้น และการได้รับการแก้ไขก็ไม่ควรต้องเป็นเรื่องเกินจริงแต่อย่างใด 

ติดตามอ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ใน Spotlight “I LOVE MY JOB : คน (รัก) งาน และที่ทำงานในอนาคต

 

:: โคตรคนกอง อึดทะลุแถบพลังงาน ::

 

 

คำว่า Gaze (n) การเพ่งมอง และ Glaze (n) การเคลือบ คือ คำภาษาอังกฤษสองคำที่เป็นคำจำกัดความของรายการ 101 Gaze

เราเริ่มทำรายการ 101 Gaze จากการ “Gaze” หรือการจับจ้องปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ที่พวกเราสนใจและคิดว่าสำคัญ ใน 101 Gaze  Ep.1 “โคตรคนกอง อึดทะลุคิว” เราเลือกจับจ้องไปที่การทำงานของคนกองถ่ายที่ต้องอดหลับอดนอนทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง สำรวจปัญหาต่างๆ ผ่านความเห็นของคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อย่าง ตั้ม-พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ ผู้ออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ (Production Designer) ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ และ ปั๊ป-ภิไธย สมิตสุต ผู้กำกับภาพ 

เมื่อได้เนื้อหา ข้อมูลและวัตถุดิบต่างๆ พร้อมแล้ว เราจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาเข้าสู่ขั้นตอนปรุงรส โรยน้ำตาล เคลือบความหวาน หรือที่พวกเราเรียกกันว่าการ “Glaze” เพื่อให้เนื้อหาเหล่านั้นง่ายต่อการบริโภค

 

 

ในขั้นตอน “Glaze” เราตีความเนื้อหาบางส่วนออกมาเป็นภาพเชิง Conceptual โดยใช้การแสดงเล่าเรื่อง เราจำลองสถานการณ์กองถ่ายแห่งหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นถึง “การทดลองมนุษย์” ตามที่ ปั๊ป-ภิไธย สมิตสุต ให้ความเห็นไว้  

คำว่า “การทดลองมนุษย์” ทำให้เรานึกถึงภาพเกมส์ the sims ที่ตัวอวตารมีหลอดความต้องการคอยบอกขีดจำกัดของคนคนหนึ่งอยู่ และเมื่อไหร่ที่หลอดเป็นสีแดงก็เท่ากับตัวละครเหล่านั้นกำลังจะตาย เราเห็นว่ามันเป็นเรื่องตลกร้ายที่คนในกองถ่ายต้องเผชิญ พวกเขาทุกคนต่างทำงานกันจนหลอดความต้องการเป็นสีแดง หากเป็นแค่การเล่นเกมส์เราคงรีบพาตัวละครเหล่านี้ไปพักเพื่อให้หลอดความต้องการกลับมาเป็นสีเขียวเหมือนเดิม แต่ในความเป็นจริงไม่มีหลอดความต้องการเหล่านั้นบอก และชีวิตคนไม่ใช่เกมส์ ไม่มีใครควรต้องทำงานจนหลอดความต้องการเป็นสีแดง พวกเขาสมควรได้รับคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีอย่างที่พวกเขาควรจะได้ 

เราจึงนำคอนเซปนี้มาทำเป็นภาพกราฟิกควบคู่กับการเล่าเรื่องคนกองผ่านการแสดงจากเหล่านักแสดงแสนน่ารัก ใช้องค์ประกอบของเกมส์อย่างแถบวัดพลังงาน หน้าจอวิเคราะห์ตัวละคร มาปรุงแต่งให้การเล่าเรื่องสนุก มีสีสัน เชื้อชวนให้เข้ามาทำความเข้าใจเหล่าคนกอง เติมเต็มค่าพลังงานใหม่เพื่อกู้หัวใจคนกองอีกครั้ง

ดูคลิปวิดีโอได้ทาง 101 Gaze Ep.1 “โคตรคนกอง อึดทะลุคิว”

 

:: ห้องเรียนประวัติศาสตร์ต้องไม่มีกรอบ ::

 

 

ทำไมเราถึงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ถึงไม่สนุก ทำไมประวัติศาสตร์บางเรื่องครูถึงไม่ยอมสอน ทำไมประวัติศาสตร์ที่รู้จากอินเทอร์เน็ตถึงเปิดโลกมากกว่า คือคำถามตั้งต้นที่ทำให้เกิดรายการ 101 Gaze Ep.2 “(วิชา) ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน”

ด้วยความสงสัย พวกเราจึงลงไป ‘Gaze’ เพื่อหาคำตอบ โดยสำรวจห้องเรียนประวัติศาสตร์ไทยผ่านความคิดเห็นของ ธงชัย อัชฌายกชาติ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนักเรียนที่ตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์บนเวที TEDxYouth @Bangkok 2019 และ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง 

เราได้ค้นพบข้อหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ “ประวัติศาสตร์ล้วนมีอคติ” ตามที่คุณครูภาคินได้กล่าวไว้ในคลิป เรื่องเล่าล้วนมีการเลือกเล่า การที่เราเลือกที่จะเล่าบางอย่าง ไม่เล่าบางอย่างเป็นอคติ ดังนั้นประวัติศาสตร์ต่อให้ซื่อสัตย์ต่อหลักฐานมากแค่ไหน ก็ล้วนแล้วแต่มีอคติ การค้นพบนี้ทำให้เราที่ทำงานด้านภาพอยู่แล้ว นึกถึงการทำงานของสื่ออย่างวิดีโอ 

วิดีโอทำงานไม่ต่างกับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เลย เพราะวิดีโอก็มีการเลือก framing หรือการวางกรอบให้คนดูดูในสิ่งที่เราอยากให้ดูเช่นกัน

เราจึงสร้างซีนที่พูดถึงเรื่องนี้ด้วยการถ่ายภาพมุมแคบของนักเรียนหญิงคนหนึ่งที่กำลังเล่าเรื่องราวในห้องเรียนของเธอแต่ในด้านดีๆ แต่เมื่อกล้องค่อยๆ ถอยออกมา (Dolly out) เราจะเห็นว่าเพื่อนที่อยู่ข้างหลังของเธอกำลังแกล้งเพื่อนอีกคน หากเราไม่ขยายขนาดภาพให้กว้างขึ้นเราก็จะไม่ไม่ทางรู้เลยเรื่องที่เธอพูดไม่ใช่ความจริง

 

 

นอกจากจะใช้การ Framing เพื่อเล่าเรื่องอคติของประวัติศาสตร์แล้ว เรายังใช้ขนาดภาพเพื่อบอกเล่าถึงความอึดอัดคับแคบของห้องเรียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

เราเลือกใช้ขนาดภาพ 4:3 กับซีนภายในห้องเรียน เพื่อให้ขนาดภาพแคบลง กรอบด้านข้างขยายใหญ่ขึ้น การรับรู้ของคนดูก็จะรู้สึกอึดอัดไปกับตัวละครนักเรียนในเรื่องมากขึ้น เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงจุดที่มีความหวัง การเสนอทางออกเรื่องห้องเรียนประวัติศาสตร์ในฝัน เฟรมภาพก็ค่อยๆ ขยายออกเพื่อคลายความอึดอัด กรอบการเรียนรู้ห้องเรียนของห้องเรียนที่แสนอึดอัดได้ถูกทำลายลง

 

ดูคลิปวิดีโอได้ทาง 101 Gaze Ep.2 “(วิชา) ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน”

 

:: ด้วยพลังใจและไฟแฟลช ::

 

 

การชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาเมื่อกลางปีนี้ 101 ได้ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศการชุมนุม นอกจากเสียงปราศรัยและพลังใจของผู้ชุมนุมแล้ว สีสันแปลกตาจากเสื้อผ้าแฟนซีจากผู้มาร่วมชุมนุมก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อะไรที่อยู่เบื้องหลังการเลือกเสื้อผ้าเหล่านี้ และนี้คือโจทย์ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ของเรา

เมื่อโจทย์คือเรื่องราวหรือความรู้สึกของคน ดังนั้นภาพก็ควรที่จะบอกเล่าเรื่องของคนๆ นั้นด้วย 

เราเลือกใช้แฟลชเป็นตัวช่วยขับเน้นให้คนโดดเด่นขึ้นมา ด้วยการปรับค่ากล้องให้มืดลงกว่าปกติแล้วสาดแฟลชไปที่คนที่สัมภาษณ์ (แน่นอนว่าต้องขอก่อน เพราะแฟลชแรงเหลือเกิน) เพื่อให้เขาเป็นคนเดียวที่โดดเด่นออกมาจากคนอื่นๆ 

อีกสาเหตุที่เลือกใช้แฟลชเพื่อเน้นตัวบุคคลแทนที่จะใช้การปรับรูรับแสงเพื่อให้ฉากหลังละลาย เพราะว่าเรายังอยากให้เห็นบรรยากาศของการชุมนุมเป็นฉากหลังอย่างชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าคนในภาพยังอยู่ในพื้นที่การชุมนุม และยังคงเป็นส่วนหนึ่งกับพลังของการชุมนุม

ดูภาพและอ่านบทสัมภาษณ์ต่อได้ทาง วัฒนธรรมป็อปในม็อบ 19 กันยา : ส่องคอสตูมปังๆ และพลังของการชุมนุม

 

:: เชื่อมภาพให้ชิด ต่อใจให้สนิท กับแรงงานข้ามชาติ ::

 

 

อคติต่อแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ยิ่งหากอคติเหล่านั้นเกิดขึ้นกับคนที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติโดยตรง ก็อาจยิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“หน้าที่ของคุณส่งผลอย่างมากต่อชีวิตของใครบางคน” จึงกลายเป็นไอเดียเริ่มต้นของการทำคลิปนี้ 

คลิปวิดิโอเปิดมาด้วยแรงงานข้ามชาติสามคนที่กำลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติด้วยอคติ ก่อนจะย้อนภาพ (Flash back) ให้เห็นถึงชีวิตของแรงงานทั้งสามที่ ต่างก็ทำหน้าที่ของพวกเข้าอย่างเต็มที่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า 

“แล้วหน้าที่ของคุณล่ะ” คือคำถามที่ถูกส่งกลับมาที่เจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ของเขาอย่างเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ผลจะเป็นอย่างไร

เพื่อแสดงให้เห็นถึงผล เราใช้วิธีการ Transition ภาพมาเล่าเรื่อง โดยใช้เฟรมภาพที่คล้ายกันมาเรียงต่อกัน (Match cut) เพื่อบอกเหตุและผลของการกระทำที่ตามมา โดยให้เฟรมภาพแรกเป็นเฟรมที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติกับแรงงานอย่างไม่มีอคติ ต่อด้วยภาพแรงงานที่ได้กลับไปตั้งใจทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

การเรียงร้อยภาพที่คล้ายกันนี้สะท้อนชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินไปอย่างราบรื่น

ในชีวิตจริงเราไม่สามารถ ‘ย้อน’ ‘ข้าม’ ‘ตัด’ และ ‘ต่อ’ เหตุการณ์ต่างๆ อย่างในเรื่องได้ แต่เราสามารถ ‘เลือก’ ที่จะเข้าใจและปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ เพื่อร่วมสร้างให้สังคมเป็นหนังที่ดีสำหรับคนทุกคน

ดูคลิปวิดีโอได้ทาง Call Of Duty : หน้าที่เพื่อเพื่อนมนุษย์ ‘แรงงานข้ามชาติ’

MOST READ

Media

4 Nov 2022

จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ เมื่อถูกรัฐคุกคาม เยาวชนจึงลี้ภัย

เมลิญณ์ หรือชื่อเดิมคือ ‘เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม’ เยาวชนนักเคลื่อนไหวการเมือง จำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังถูกคุกคามอย่างหนัก

ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

4 Nov 2022

Media

6 Aug 2020

Innerscape Ep.6 เป็นครูศิลปะแบบไหนที่ไม่ทำให้เด็ก ‘กลัว’ ศิลปะ

Innerscape ศิลปะบนผืนใจ ตอนใหม่ ชวนคุยเรื่อง ‘ครูศิลปะ’ ผู้เชื่อมโยงระหว่างเด็กและศิลปะ ตัวแปรสำคัญที่อาจกำหนดว่า ศิลปะจะถูกระบายไปถึงผืนใจของเด็กหรือไม่

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

6 Aug 2020

Media

13 Jul 2021

PRESSCAST EP.21 : เสียงคลื่นลูกใหม่ในสนามข่าว ‘วศินี พบูประภาพ’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ ชวน ‘วศินี พบูประภาพ’ อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ผันตัวมาสู่เส้นทางนักข่าวสังกัด workpointTODAY คุยประสบการณ์และภาพวงการสื่อที่เธอมองเห็น

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

13 Jul 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save