fbpx
101 Visual Journal 2020 : Photo VOL.1

101 Visual Journal 2020 : Photo VOL.1

101 Visual Journal 2020

บันทึกการทำงานสร้างสรรค์ของ ‘นักสร้างภาพ 101’

 

ตลอดปีที่ผ่านมา 101 ได้ผลิตผลงานสื่อหลากหลายรูปแบบ ทั้งบทความ สารคดี บทสัมภาษณ์ รายการออนไลน์ นอกเหนือจากการทำงานด้านเนื้อหาที่ทีม 101 ตั้งใจทำแบบเกินร้อยแล้ว การสร้างสรรค์ภาพเป็นอีกหัวใจสำคัญที่พวกเราตั้งใจนำเสนอ

ช่วงนับถอยหลังขึ้นปีใหม่นี้ 101 ชวนอ่านบันทึกเบื้องหลังการทำงานสร้างสรรค์ในปี 2020 ตั้งแต่การตีโจทย์ กระบวนการทำงาน รวมไปถึงความรู้สึก ของทีม ‘นักสร้างภาพ 101’ กราฟิก มัลติมิเดีย และครีเอทีฟ

เริ่มกันที่ ‘101 Visual Journal 2020 : Photo VOL.1’ 36 ภาพถ่ายแห่งปี 2020 โดย เมธิชัย เตียวนะ

2020 เป็นปีที่สังคมไทยประสบพบเจอกับเหตุการณ์มากมาย ตั้งแต่วิกฤตฝุ่น PM2.5, การยุบพรรคอนาคตใหม่, เหตุการณ์กราดยิงที่ Terminal 21 โคราช, การหายตัวไปของวันเฉลิม รวมไปถึงวิกฤต COVID-19 ที่ไม่ได้ทำลายเพียงแค่ปอด แต่ได้กัดกินเศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คนอีกมากมาย หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2020 ได้เปิดให้เห็นบาดแผลเชิงลึกของสังคมไทย ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นแล้วจบลงไป สังคมตั้งคำถามกับปัญหาเหล่านี้จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่อาจเรียกได้ว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น”

ปีนี้เราได้เห็นสนามหลวงกลับมาเป็นสนามราษฎรอีกครั้ง
ปีนี้เราได้เห็นม็อบที่ไม่มีแกนนำ
ปีนี้เราได้รู้จักกับจีโน่ รถฉีดน้ำแรงดันสูงที่ภาครัฐใช้สลายการชุมนุม
ปีนี้เราได้เห็นเป็ดยางสีเหลืองอยู่เคียงข้างการต่อสู้ของประชาชน
ปีนี้เราได้เห็นตู้คอนเทนเนอร์วางเรียงกันกลางสี่แยกในกรุงเทพฯ
ปีนี้เราได้เห็นผู้คนขึ้นไปยืนเด่นเคียงข้างพานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ปีนี้เราได้เห็นหมุดคณะราษฎรที่ 2
และปีนี้เราได้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทั้งในออนไลน์และบนท้องถนน

หากย้อนกลับไปเมื่อต้นปีเราคงมิอาจจินตนาการถึงเหตุการณ์เหล่านี้ได้เลย แต่ทว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

101 รวบรวม 36 ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2020 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศไทย

 

 

#Mobfest

14 พฤศจิกายน 2563 ในงาน #mobfest #แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ กลุ่มอาชีวะเพื่อประชาธิปไตยชูสามนิ้วข้างพานรัฐธรรมนูญหลังจากนำผืนผ้าที่แต่งแต้มด้วยข้อความความฝันจากประชาชนต่อประเทศไทยไปห่มรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

 

#LaScala

ลาสกาลาแววตาของผู้คนที่กำลังจับจ้องไปยังโรงหนังสกาล่าในวันสุดท้ายของโรงหนังแห่งนี้ ถือเป็นการปิดฉากโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร ที่อยู่คู่สยามสแควร์มากว่า 50 ปี

 

 

#ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

“ผม แม่ กับป้า นอนด้วยกันในนี้หมดเลย นอนคนละมุม ก่อนนอนก็จะปูเสื่อก่อน” คำพูดของน้องเต้ย นักเรียนชั้น ป.4 ที่บอกเล่าถึงบ้านของตัวเอง ฉายภาพให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่กัดกินไปถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา เต้ยไม่ใช่เด็กไทยคนเดียวที่ประสบภาวะเหล่านี้ แต่ยังมีเด็กในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นอีกกว่า 1.1 แสนคนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 100 บาท ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้

 

 

#สู้โควิดด้วยกัน

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ไม่เพียงแค่ความน่ากลัวของไวรัส แต่ที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือพิษเศรษฐกิจ

 

 

#COVID19

ชายคนหนึ่งกำลังยืนรอรถเมล์ท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีคำสั่งล็อกดาวน์ให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน ลดการเดินทาง และห้ามออกจากเคหะสถานในเวลา 22.00-04.00 น.

 

 

#SocialDistancing

หลังจากการประกาศล็อคดาวน์บรรยากาศตลาดสดห้วยขวางยังคงคึกคักอยู่ หลายคนเริ่มซื้ออาหารเพื่อกักตุน ไข่ไก่เป็นหนึ่งในสินค้าที่ขายดีที่สุดในช่วงเวลานั้น ในขณะเดียวกันเริ่มมีการใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการระบาดของไวรัส COVID-19

 

 

#ฝุ่นPM25

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฝุ่น PM2.5 ปกคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพ เช่นเดียวกันกับถนนเส้นประดิพัทธ์ที่มุ่งหน้าไปยังแยกเกียกกาย ทำให้มองเห็นสัปปายะสภาสถานอยู่ในม่านฝุ่น

 

 

#ฝุ่นPM25

ภาพรอยยิ้มของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางสภาวะฝุ่น PM2.5 ที่ประชาชนกำลังเผชิญ

 

 

#saveวันเฉลิม

5 มิถุนายน 2563 ดอกกุหลาบถูกวางเรียงกันตรงหน้าภาพถ่ายของเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศกัมพูชาซึ่งหายตัวไปในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 วันเฉลิมเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองไทยรายที่ 9 ที่หายตัวไปหลังการรัฐประหาร 2557

 

 

#ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ

16 สิงหาคม 2563 คณะประชาชนปลดแอกชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสนอ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน ให้มี ‘ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ’ อย่างแท้จริง

 

 

#ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส

“เราจะไม่หยุด จนกว่าอำนาจมืดจะหมดไป” คำกล่าวจากคณะประชาชนปลดแอกในกิจกรรมแฟลชม็อบที่สกายวอล์ก แยกปทุมวันในวันที่ 8 สิงหาคม 2563

 

 

#19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุมที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนจะเริ่มเคลื่อนเข้าไปในสนามหลวงเพื่อทวงคืนให้ ‘สนามหลวงกลับมาเป็นสนามราษฎรอีกครั้ง’

 

 

#ไพร่พาเหรด

7 พฤศจิกายน 2563 ธงรุ้งหลากสีกับกับขบวนกลุ่มเสรีเทยย์พลัสจัดกิจกรรมม็อบตุ้งติ้ง 2 เพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQI+ และข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะราษฎร 2563 โดยมีสโลแกนว่า ‘นี่คือการขบวนของผู้ถูกกดขี่ที่จะไม่หยุดแม้จะมีอะไรกั้น!’

 

 

#ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ

19 สิงหาคม 2563 โบว์สีขาวกำลังถูกผูกติดกับรั้วของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อส่งเสียงให้มีการปฏิรูปการศึกษา และรับรองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของนักเรียน ในช่วงปีที่ผ่านมาโบว์สีขาวกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านเผด็จการของเด็กนักเรียน

 

 

#เพราะทุกคนคือแกนนำ

“แกนนำที่แท้จริงคือประชาชนทุกคน” วันที่ 17 ตุลาคม 2563 เป็นวันแรกที่ทำให้เราได้เห็นบรรยากาศของม็อบที่ไม่มีใครเป็นแกนนำ กิจกรรม Freemic เริ่มเกิดขึ้นปัญหาที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มและหลากหลายเริ่มถูกส่งเสียงออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

#ม็อบ14ตุลา

แนวหน้าของม็อบในวันที่ 14 ตุลาคม คือ ผู้หญิงถือดอกกุหลาบเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล

 

 

#อีกไม่นานจะเอาธงแดงปักกลางนคร

19 กันยายน 2563 สนามหลวงกลายเป็นพื้นที่ของราษฎรอีกครั้งยึดคืนสนามราษฎรอีกครั้ง

 

 

#หมุดคณะราษฎร2563

19 กันยายน 2563 หมุดคณะราษฎรที่ 2 ถูกฝังลงในพื้นที่สนามหลวง ในเวลาต่อมาสัญลักษณ์หมุดนี้ได้ถูกเผยแพร่ไปในโซเชียลมีเดียในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธง เสื้อ ผ้าพันคอ หน้ากากอนามัย ฟิลเตอร์ของอินสตาแกรม และอีกมากมาย

 

 

#คณะราษฎร2563

14 ตุลาคม 2563 ธงสีแดงรูปหมุดคณะราษฎร 2563 โบกสะบัดในขบวนขณะที่กำลังทางไปยังทำเนียบรัฐบาล

 

 

#แสนเสียงแก้รัฐธรรมนูญ

22 กันยายน 2563 iLaw และประชาชนเดินทางไปรัฐสภาเพื่อนำ 100,732 รายชื่อไปยื่นต่อประธานรัฐสภา เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ รื้อระบอบอำนาจของ คสช. เปิดทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อสร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย

 

 

#ม็อบ17พฤศจิกา

ผู้ชุมนุมกำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีสลายการชุมนุมบริเวณแยกเกียกกาย

 

 

#สลายการชุมนุมแยกปทุมวัน

หลังจากเริ่มสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ จนผู้ชุมนุมแถวหน้าเริ่มถอยร่นลงมาตั้งแนวใหม่และใช้ร่มคันใหญ่เป็นโล่ป้องกันน้ำแรงดันสูง เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สังคมตั้งคำถามกับการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ

 

 

#จีโน่

16 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการใช้ ‘จีโน่’ รถฉีดน้ำแรงดันสูงราคา 25 ล้านที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้เพื่อควบคุมฝูงชน

 

 

#ม็อบ17พฤศจิกา

ผู้ชุมนุมกำลังใช้น้ำเกลือล้างสารเคมีออกจากตา หลังจากเจ้าหน้าที่ใช้รถน้ำแรงดันสูงในการสลายการชุมนุมบริเวณแยกเกียกกาย สารเคมีที่ใช้ผสมในน้ำนั้นเป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่ผสมอยู่ในแก๊สน้ำตา ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการแสบตามผิวหนัง มีน้ำมูกและน้ำตาไหล หายไจไม่ออก

 

 

#เป็ดเหลืองเพื่อประชาธิปไตย

ซากเป็ดยางสีเหลืองกองอยู่ท่ามกลางตะกอนสารเคมีจากน้ำแรงดันสูง ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณแยกเกียกกายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

 

 

#ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร

27 พฤศจิกายน 2563 หลังจากมีข่าวลือเรื่องการรัฐประหารในโซเชียลมีเดียทำให้กลุ่มคณะราษฎร 2563 ประกาศชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อซักซ้อมรับมือกับการรัฐประหาร

 

 

#มินเนี่ยน

8 พฤศจิกายน 2563 ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) สังเกตการณ์การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

 

#แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ

ช่วงบ่ายของวันที่ 14 พฤศจิกายน ผ้าสีขาวความยาว 30×30 เมตรเดินทางมาพร้อมกับขบวนนักเรียนเลว ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเริ่มเขียนความฝันของตัวเองที่อยากเห็นในรัฐธรรมนูญลงบนผืนผ้า และจบลงด้วยการนำผ้าผืนนี้ที่เต็มไปด้วยข้อความจากประชาชนห่มรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

 

#จดหมายจากราษฎรถึงสถาบันกษัตริย์

8 พฤศจิกายน กลุ่มคณะราษฎร 2563 ประกาศนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อยื่นจดหมายถึงสถาบันกษัตริย์ โดยใช้ถังสีแดงทำเป็นตู้ไปรษณีย์รวบรวมจดหมายส่งถึงสถาบันกษัตริย์

 

 

#ปล่อยเพื่อนเรา

อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, เอกชัย หงส์กังวาน และสุรนาถ แป้นประเสริฐ ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังจากถูกจองจำเป็นเวลา 19 วันจากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 และ 20 กันยายน 2563

 

 

#ราษฎรปลดอาวุธศักดินา

ถ้อยคำแถลงการณ์จากผู้ชุมนุมถูกพับเป็นจรวดก่อนที่จะปาเข้าไปในกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งการเรียกร้องเรื่อง พ.ร.ก. โอนกำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1 และราบ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

 

 

#ขบวนเสด็จ

14 พฤศจิกายน 2563 ช่วงเวลาหนึ่งในกิจกรรม MOB FEST ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขบวนเสด็จได้ผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และผู้ชุมนุมได้ยืนหันหลัง ชูสามนิ้ว และร้องเพลงชาติ

 

 

#บัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร

24 ตุลาคม 2563 ท่ามกลางการซ้อมรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดกิจกรรมกิจกรรมถ่ายรูปคู่กับแสตนดี้ ‘คนดังประชาธิปไตย’ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และมีการมอบปริญญาบัตรฉบับมหาวิทยาลัยราษฎรและการเมืองให้แก่บัณฑิตที่เข้าร่วมการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เชิญชวนให้ปฏิเสธการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

 

 

#LandOfContainer

เจ้าหน้าที่กำลังยืนมองตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาวางกั้นการชุมนุมในวันที่ 10 ธันวาคม 2563

 

 

#ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป

2 ธันวาคม 2563 ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการทุบศาล(พระภูมิ) หลังจากคำตัดสินประยุทธ์ ไม่มีความผิดกรณี ‘พักบ้านหลวง’

 

 

#ช่วงเวลาแห่งประชาธิปไตย

14 พฤศจิกายน 2563 ณ ช่วงเวลาหนึ่งใน MOB Fest ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ตรงกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะนำผ้าสีขาวที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้เขียนข้อความไว้มาคลุมบริเวณตรงกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save