fbpx
101 Visual Journal 2020 : Graphic

101 Visual Journal 2020 : Graphic

เปิดบันทึก ‘101 Visual Journal 2020 : Graphic’ เล่าเบื้องหลังงานกราฟิกและภาพประกอบ โดย ภาพิมล หล่อตระกูล กฤตพร โทจันทร์ และ ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล

การทำภาพประกอบบทความ หากมองผ่านๆ จากภายนอกอาจจะคิดว่าแค่ทำให้สวยก็พอแล้ว แต่ในความเป็นจริง เบื้องหลังภาพสวยแต่ละภาพนั้นผ่านกระบวนการตีความ เชื่อมโยงข้อมูล และออกแบบเพื่อสื่อสารความรู้สึกมากมาย นอกเหนือจากทักษะในการทำภาพให้สวยแล้ว อีกหนึ่งทักษะสำคัญของนักวาดภาพประกอบคือ ‘การอ่านให้แตก และ ตีโจทย์ให้แตก’ ว่านักเขียนต้องการจะพูดถึงเรื่องอะไร ใจความของงานชิ้นนี้คืออะไร เพื่อแปลงภาษาเขียน ให้กลายมาเป็นภาษาภาพ สื่อสารหลายพันตัวอักษร ผ่านภาพเพียงภาพเดียว

เนื้อความเรื่องนี้ควรสื่อสารด้วยภาพอะไร? สีนี้สื่อถึงอารมณ์ของบทความได้ไหม? ทุกรายละเอียดถูกออกแบบไว้เพื่อสื่อสารกับจิตใต้สำนึกของคนดูเพียงแค่เสี้ยววินาทีที่เห็นภาพ ก่อนที่ผู้อ่านจะไถนิ้วผ่านหน้าจอไปยังโพสต์อื่นบนทะเลข้อมูลของเฟซบุ๊ก

ตลอดปี 2020 นี้ เราทั้งสามคนได้อ่านบทความและทำภาพประกอบมารวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยบทความ ครบเครื่องทุกรสทั้งเรื่อง ระหว่างประเทศ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ

จากกว่าร้อยบทความ นี่คือ 10 ภาพประกอบเด่นพร้อมเบื้องหลังการตีความของพวกเรา ที่อยากชวนให้ทุกท่านมาร่วมคิดตามไปด้วยกัน

 

:: โมงยามแห่งรัฐธรรมนูญจากประชาชน ::

 

 

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง – เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล – ภาพประกอบ

 

จะมีบางจังหวะที่มหาชนสนใจจดจ่อกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างแรงกล้าและปรารถนาจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยตัวเองจนสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบกฎหมาย Ackerman เรียกจังหวะนี้ว่าเป็น ‘โมงยามแห่งรัฐธรรมนูญ’ คือ จังหวะที่ก่อสร้างรัฐธรรมนูญ และจังหวะที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สำคัญอีกด้วย

ภาพออกแบบเป็นมือของทุกคนที่ช่วยกันสร้างเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยทำพื้นหลังให้เป็นช่วงเวลาก่อนรุ่งสาง ที่มีแสงอาทิตย์แทรกขึ้นมาท่ามกลางความมืด เพื่อให้ความรู้สึกถึง New dawn, New Hope

หลังจากทำงานมาระยะหนึ่ง การทำภาพเรื่องรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องท้าทาย ว่าจะทำอย่างไรให้ภาพไม่ออกมาจำเจ เพราะเมื่อถึงช่วงหนึ่งอาจจะได้ทำเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 บทความ

ควรจะใช้สัญลักษณ์อะไรมาแทนรัฐธรรมนูญ? ถ้าไม่มีพานด้านล่างแล้วจะยังสื่อสารว่าเป็นรัฐธรรมนูญได้อยู่ไหม?

เรามักจะออกแบบโดยใช้สัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญ มาผสมกับสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อให้เกิดความหมายใหม่ เป็นการผสมความหมายของสัญญะทั้งสองอย่างเพื่อให้ผู้อ่านสามารถรับรู้ได้ด้วยการมองเพียงครั้งเดียว

อ่านบทความได้ที่ โมงยามแห่งรัฐธรรมนูญจากประชาชน

 

:: จาก ‘ตุลาการภิวัตน์’ ถึง ‘นิติสงคราม’ : สงครามไม่มีวันแล้วเสร็จของปีกขวาไทย ::

 

 

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง – เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล – ภาพประกอบ



การใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบฝ่ายการเมืองของไทยเกิดขึ้นถี่มากผิดปกติ เหนือสิ่งอื่นใด การใช้อำนาจตุลาการแบบไทยๆ นั้นมีทิศทางชัดเจน นั่นคือผู้ชมทุกคนคาดคะเนได้เสมอว่า ใครจะรอด-ไม่รอดจากอำนาจตุลาการ ที่น่าเศร้าคือ ผู้ชมทุกคนไม่อาจลุกขึ้นเปลี่ยนบท หรือโวยวายอะไรได้เลย”

ก่อนจะออกมาเป็นภาพนี้ เราร่างภาพไว้หลายแบบมาก โดยพยายามผสมสัญลักษณ์ที่สื่อถึงตุลาการ และการทำสงครามเข้าไว้ด้วยกัน แต่สุดท้ายแล้วเลือกทางที่ภาพออกมาเป็นปืนกระดาษ 

ตัวอักษรที่อยู่บนปืนกระดาษเป็นตัวอักษรจากรัฐธรรมนูญ เป็นลูกเล่นเล็กๆ เพื่อสื่อถึงการนำรัฐธรรมนูญมาทำเป็นอาวุธเพื่อทำลายคู่ตรงข้าม โดยมีอำนาจศาลเป็นเหมือนลูกกระสุน

อ่านบทความได้ที่ จาก ‘ตุลาการภิวัตน์’ ถึง ‘นิติสงคราม’ : สงครามไม่มีวันแล้วเสร็จของปีกขวาไทย

 

:: เมื่อญี่ปุ่นเริ่มขบคิดเรื่องการติดอาวุธจู่โจม ::

 

 

ธีวินท์ สุพุทธิกุล – เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล – ภาพประกอบ

 

“ญี่ปุ่นมีวิถีปฏิบัติในการป้องกันประเทศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน อันเป็นผลจากความพยายามประนีประนอมระหว่างความจริงที่ว่าญี่ปุ่นจำต้องมีศักยภาพไว้ปกป้องชาติ กับแนวทางสันตินิยมที่หยั่งรากและเบ่งบานจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่านหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ วิถีอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้อาจถูกมองเป็นความผิดปกติในสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาญี่ปุ่น ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยมากว่าครึ่งศตวรรษของยุคหลังสงคราม อีกทั้งยังมองว่าเป็นเสาหลักที่ค้ำจุนสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคมาจนบัดนี้อีกด้วย”

หลังจากอ่านบทความ ก็สรุปใจความได้ว่า ญี่ปุ่นมีวิธีเฉพาะตัวเมื่อต้องคิดถึงการมีอาวุธจู่โจมในประเทศตัวเอง เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน ถึงขนาดกับมีเขียนในรัฐธรรมนูญว่า “ห้ามใช้กำลังและทำสงคราม” และ “ห้ามมีกองกำลังและศักยภาพทำสงคราม” เมื่อจะมีอาวุธจู่โจมไว้ครอบครองญี่ปุ่นจึงต้องคำนึงถึงหลักสันติภาพเป็นหลัก 

เมื่อนึกถึงคำว่าสันติวิธี+ความเป็นญี่ปุ่น ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นมาในหัวคือภาพนกกระเรียนกระดาษที่พับด้วยวิธี Origami 

หลังจากนั้นจึงคิดว่า ถ้ามีอาวุธจู่โจมที่ถูกพับด้วยวิธี Origami อยู่ด้วยน่าจะดี เพราะสื่อถึงการมีอาวุธจู่โจมในบริบทญี่ปุ่น จึงเป็นภาพนกกระสาที่แสดงถึงความสันติ และ อาวุธจู่โจมวางอยู่ข้างเคียงกัน

ภาพแบนเนอร์ชิ้นนี้ตอนทำลองวางสีไว้หลาย Direction ทั้ง ขาวบนแดง, แดงบนขาว, แดงบนแดง สุดท้ายเลือกสีขาวบนแดง เพราะทำให้ผู้อ่านนึกถึงธงชาติญี่ปุ่น 

 

 

อ่านบทความได้ที่ เมื่อญี่ปุ่นเริ่มขบคิดเรื่องการติดอาวุธจู่โจม

 

:: บัญญัติ 7 ประการของฮิตเลอร์กับสงครามแย่งชิงมวลชน ::

 

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ – เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล – ภาพประกอบ

 

ภาพที่สื่อสารได้ดีบางครั้งไม่จำเป็นต้องลงแรงทำเยอะ

บทความนี้พูดถึงวิธีการที่ฮิตเลอร์ควบคุมสื่อ และใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองไว้

การสื่อสารที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาของบทความ ทำให้เราพยายามออกแบบภาพที่ผู้อ่านไม่ต้องตีความมากนัก โดยเราเลือก หนวดของฮิตเตอร์ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ผสมเข้ากับภาพจอโทรทัศน์ ที่สื่อถึงโฆษณาชวนเชื่อ

อ่านบทความได้ที่ บัญญัติ 7 ประการของฮิตเลอร์กับสงครามแย่งชิงมวลชน

 

:: เสียงที่ไม่อาจปิดกั้น: กฎหมายไม่ใช่ทางออกในการกำกับดูแลสื่อในความขัดแย้ง ::

 

 

พรรษาสิริ กุหลาบ – เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล – ภาพประกอบ

 

บทความนี้พูดถึงการที่รัฐบาลใช้กฏหมายมาการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ

จึงออกแบบให้เป็นภาพที่เป็นการผสมกันระหว่าง บับเบิลคำพูด กำแพงลวด และนก

บับเบิลคำพูดแสดงถึงคำพูด หรือ เสียงที่พูดออกมา ล้อไปกับชื่อบทความ ‘เสียงที่ไม่อาจปิดกั้น’ ซึ่งเราตีความว่าเสียงนี้ไม่ใช่เพียงแค่เสียงของสื่อเท่านั้น แต่รวมไปถึงเสียงของพวกเราทุกคนด้วย 

ภาพกำแพงลวดแสดงถึงการปิดกั้น โดยเพิ่มลูกเล่นให้กำแพงลวดคลายออกเป็นรูปนก เพื่อแสดงให้เห็นว่าการปิดกั้นนั้นไม่ใช่ทางออก แต่ควรคลี่คลายไปในทางที่ให้เสรีภาพมากกว่า

อ่านบทความได้ที่ เสียงที่ไม่อาจปิดกั้น: กฎหมายไม่ใช่ทางออกในการกำกับดูแลสื่อในความขัดแย้ง

 

:: คนจีนโพ้นทะเลท่ามกลางสนามความขัดแย้งจีน-อินเดีย ::

 

 

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก – เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ – ภาพประกอบ

บทความนี้พูดถึงเรื่องคนอินเดียเชื้อสายจีนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดีย เราย่อยข้อมูลออกเป็นสามคีย์เวิร์ดสำคัญที่ต้องแปลงเป็นภาพ คือ ความเป็นอินเดีย (ภาพธงชาติ, ดอกบัว, ทัชมาฮาล, คนอินเดีย, ช้าง), ความเป็นจีน (ภาพธงชาติ, มังกร, พัด, คนจีน, โคมจีน) และความขัดแย้ง (อาวุธต่างๆ, นวมชกกัน, คนสองฝั่งทะเลาะกัน)

เมื่อบทความพูดถึงคนจีนเชื้อสายอินเดีย ความเป็นอินเดียกับความเป็นจีนจึงควรถูกรวบเป็นสิ่งเดียวกัน เราเลยลองเลือกคำสองหมวดนั้นมาผสมกันดูว่า มันพอจะเป็นแบบไหนได้บ้าง จนเกิดเป็นส่วนผสม โคมจีน + ธงชาติอินเดีย เพราะระหว่างที่อ่านบทความ เราสะดุดใจกับท่อนที่พูดว่า ‘ปัจจุบันร้านอาหารจีนในเขตชุมชนจีน หรือไชน่าทาวน์ในเขตกัลกัตตายังคงไม่สามารถเปิดดำเนินการได้’ ประโยคนี้เป็นการเจาะจงถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในการขัดแย้งที่ชัดเจน ซึ่งโคมจีนสามารถสะท้อนภาพของไชน่าทาวน์ได้ดี ส่วนความเป็นอินเดียเราเลือกธงชาติเพราะสื่อถึงอินเดียง่ายที่สุด

พอได้ภาพแทนของคนอินเดียเชื้อสายจีนแล้ว เราเหลือคีย์เวิร์ดเรื่องความขัดแย้งที่ต้องใส่เข้าไปอีก ในการพยายามแตกไอเดียครั้งแรก ไม่มีคำไหนไปด้วยกันได้กับภาพโคมที่เราคิดไว้ สุดท้ายเราเลยบิดจากความขัดแย้งที่เป็นการปะทะระหว่างสองฝั่งตรงๆ เป็นภาพไฟกำลังลุกไหม้โคม แทน เป็นการสะท้อนว่าโคมถูกทำลายจากความเกลียดชังระหว่างความขัดแย้งครั้งนี้

อ่านบทความได้ที่ คนจีนโพ้นทะเลท่ามกลางสนามความขัดแย้งจีน-อินเดีย

 

:: ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางอุดมการณ์: ความตายระลอกสองของคณะราษฎร ::

 

 

วจนา วรรลยางกูร – เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ – ภาพประกอบ



เราอยากขยายเรื่องความพยายามทำลายสิ่งก่อสร้างยุคคณะราษฎร ซึ่งส่งผลต่อเรื่องอุดมการณ์ของผู้คนอีกทีหนึ่ง

ไอเดียแรกๆ เป็นการเล่นกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหมุดคณะราษฎร ว่าถูกทำลาย ถูกลบ ถูกทำให้หายไป แต่ภาพไอเดียเหล่านั้นมีให้เห็นค่อนข้างเยอะแล้ว เราเลยลองคิดต่อว่ามันยังถูกทำลายในมุมไหนได้อีก

‘ขั้นตอนแรกของการฆ่าผู้คนคือการทำลายความทรงจำของพวกเขา ทำลายหนังสือ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของพวกเขา…’ ข้อความนี้คือส่วนสำคัญที่ทำให้เราคิดได้ว่า ไม่ต้องเล่นกับภาพสิ่งก่อสร้างโดยตรงก็ได้ 

สุดท้ายจึงเกิดเป็นภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนกระดาษที่กำลังถูกทำลายด้วยเครื่องย่อยกระดาษ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นจังหวะว่ากำลังโดนทำลายได้ชัดเจนด้วย

อ่านบทความได้ที่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางอุดมการณ์: ความตายระลอกสองของคณะราษฎร

 

:: ท้าทายสายตามนุษย์ : เรามองเห็นความจริง หรือมองเห็นจากความทรงจำ ::

 

 

ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ – เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ – ภาพประกอบ



บทความนี้สร้างความรู้สึกเหมือนเชิญชวนเราไปเดินดูว่าสมองทำอะไรกับการมองเห็น ระหว่างทางก็มีภาพมาทดสอบว่าเราเห็นและแปลเป็นภาพอะไรบ้าง เราจึงตั้งใจอยากทำภาพประกอบให้สนุก เหมือนกำลังเล่นเกมทดสอบตามบทความไปด้วย

เราเลือกทำเป็นภาพจังหวะที่กำลังหาคำตอบของการมองเห็นสิ่งๆ หนึ่ง เมื่อตาเรามอง สมองเราก็เด้งเอาสิ่งที่ใกล้เคียงสิ่งที่เก็บเอาไว้ออกมาจากบรรดาความทรงจำทั้งหมดที่เรามี ซึ่งมันอาจจะไม่ได้มีที่ใกล้เคียงที่สุดแค่หนึ่งภาพก็ได้ 

ในภาพเราไม่ได้เฉลยว่าท้ายที่สุดแล้วคำตอบของสิ่งที่มองเห็นอยู่ เป็นภาพไหนกันแน่ระหว่างสองภาพนั้นที่เด้งออกมา ทิ้งไว้เป็นเกมให้คนอ่านลองเดากันดู

อ่านบทความได้ที่ ท้าทายสายตามนุษย์ : เรามองเห็นความจริง หรือมองเห็นจากความทรงจำ

 

:: ครั้งแรกของฉัน เกิดขึ้นตอน 11 ขวบครึ่ง – เมื่อเด็กไทยมีประจำเดือนเร็วขึ้น ::

 

 

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ – เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล – ภาพประกอบ

 

“หากชีวิตของหญิงสาวเป็นดั่งดอกไม้ วัยเด็กคงเปรียบได้กับดอกตูมที่รอวันแย้มบานเมื่อถึงฤดูกาลอันเหมาะสม”

จากบทความที่พูดถึงการที่เด็กมีประจำเดือนเร็วกว่าเดิม ในบทความได้เปรียบเปรียว่าผู้หญิงคือดอกไม้ เเละเด็กคือดอกไม้ตูมที่รอคอยวันที่จะบาน เเต่เมื่อดอกไม้นั้นบานก่อนถึงเวลาเเละได้รับการดูเเลที่ไม่เหมาะสม ดอกไม้นั้นจะเศร้าหมองเเละเหี่ยวลง 

ความรู้สึกเเตกต่างเเละเเปลกแยกที่ตัวเองนั้นโตไวกว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน จึงเป็นที่มาของภาพนี้

อ่านบทความได้ที่ ครั้งแรกของฉัน เกิดขึ้นตอน 11 ขวบครึ่ง – เมื่อเด็กไทยมีประจำเดือนเร็วขึ้น

 

:: Design Thinking กับชุดนักเรียนไทย : ใส่หรือไม่ใส่ดี​ ::

 

 

เอกศาสตร์ สรรพช่าง – เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล – ภาพประกอบ

 

บทความนี้พูดถึงเรื่องการใส่ชุดนักเรียน ว่าแม้จะเป็นชุดที่ไม่ตอบโจทย์ในการใช้งาน เเต่การใส่ชุดไปรเวทนั้นเหมาะเเล้วจริงๆ หรือ 

ภาพเเรกที่เข้ามาในหัวหลังจากที่อ่านบทความ คือเกมที่สามารถเลือกได้ว่าตัวละครจะเเต่งตัวแบบไหนดี เรารู้สึกว่าประเด็นนี้เป็นที่ถูกตั้งคำถาม และเป็นที่ถกเถียงในสังคมมาหลายต่อหลายครั้ง จึงวาดให้เป็นแถบหน้าเกมที่เด้งขึ้นมาค้างไว้มากมาย พร้อมปรากฎคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ 

อ่านบทความได้ที่ Design Thinking กับชุดนักเรียนไทย : ใส่หรือไม่ใส่ดี

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save