fbpx

รื้อกระบวนการผลิตนักกฎหมาย – จุดตั้งต้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ทำให้ประเด็นเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระของสังคม แต่หากจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เราจำเป็นต้องย้อนไปมองจุดเริ่มต้นตั้งแต่ด่านแรกของการผลิตนักกฎหมายคนหนึ่งขึ้นมา ไล่ตั้งแต่การศึกษานิติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย การฝึกอบรมทางปฏิบัติในระดับเนติบัณฑิต รวมถึงสภาทนายความซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญในกระบวนการนี้ด้วย เพื่อให้นักกฎหมายรุ่นใหม่ไม่กลายเป็นเพียง ‘ตู้ฎีกาเคลื่อนที่’

101 จึงร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเวทีสาธารณะ ‘101 Public Forum : ปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์สร้างนักกฎหมายไทยในโลกสมัยใหม่’ ชวนนักกฎหมายจากกระบวนการยุติธรรม แวดวงวิชาการ ภาครัฐและภาคประชาชน พูดคุยถึงแนวทางการปฏิรูประบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษานิติศาสตร์ระดับสากล ตั้งคำถามกับระบบการเรียนนิติศาสตร์ของไทยใน ‘โลกเก่า’ ที่มุ่งเตรียมความพร้อมให้นิสิตนักศึกษาสู่วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ สู่การปฏิรูปกระบวนการสร้างนักกฎหมายให้เหมาะสมกับ ‘โลกใหม่’ เท่าทันและรอบด้านต่อระบบนิเวศของกระบวนการยุติธรรมในอนาคต

วัตถุดิบใหม่ในโรงงานผลิตเก่า

เมื่อคนเปลี่ยนแต่ระบบไม่เคยเปลี่ยน

เมื่อพูดถึงคุณภาพและความรอบรู้รอบด้านของนักกฎหมายรุ่นใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับนักกฎหมายในยุคสมัยที่ผ่านมา รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงกระบวนการผลิตนักกฎหมายให้เห็นภาพโดยแยก input และ output ให้ฟังว่า วัตถุดิบตั้งต้นคือตัวผู้เรียนซึ่งจบจากโรงเรียนมัธยม ส่วนโรงงานในกระบวนการผลิตก็คือมหาวิทยาลัย และหากใครต้องการเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการก็จะมีเนติบัณฑิตยสภาทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรอีกเครื่องในโรงงาน สุดท้ายจึงออกมาเป็นนักกฎหมายที่จบออกมาแล้วไปทำงานในแต่ละภาคส่วนของสังคม

ถ้าย้อนกลับไปราวยี่สิบปีก่อนในระบบเก่า input ในกระบวนการนี้คือนักเรียนที่ถูกสอนมาว่าไม่ให้โต้เถียงหรือโต้แย้ง การเรียนจึงเหมือนเป็น ‘การป้อนให้’ เมื่อเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยผู้เรียนหลายคนก็รู้จักคิดวิเคราะห์มากขึ้น เริ่มจุดประกายในการคิดวิเคราะห์ก่อนเข้าไปสู่การเตรียมการเรียนในชั้นวิชาชีพที่สำนักอบรมเนติบัณฑิต

“เราจบมา บางคนมีตั๋วทนาย บางคนมีเนติฯ แต่ถามว่าทำงานได้จริงไหม? ก็ไม่ เพราะว่าระบบในโรงงานไม่ได้เทรนเพื่อให้เราพร้อมออกไปทำงานในทางปฏิบัติ เราต้องใช้เวลาอีก 5-10 ปี ในทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นนักกฎหมายที่เก่ง”

มุนินทร์ ชี้ว่านักศึกษากฎหมายที่จบออกจากรั้วมหาวิทยาลัยจำนวนมากมีความคิดเห็นในเรื่องสิทธิเสรีภาพหรือเรื่องการเมืองค่อนข้างมาก เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้พยายามปลูกฝังในเรื่องการกดขี่ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย หลายคนจบมาด้วยความรู้สึกฮึกเหิมคล้ายกับว่าตัวเองกำลังก้าวออกไปเพื่อเปลี่ยนโลกข้างนอกเสียด้วยซ้ำ คำถามคือกระบวนการต่อจากนั้นในชั้นเนติบัณฑิต มีการรับช่วงต่อจากมหาวิทยาลัยแค่ไหน ซึ่งเมื่อไม่มีความต่อเนื่อง ไฟที่เคยมีก็อาจจะมอดดับไป

เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตนักกฎหมายที่เกิดขึ้นในอดีตแล้ว มุนินทร์มองว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบางส่วน

วัตถุดิบเปลี่ยน – เด็กที่เข้ามาเป็นนักศึกษากฎหมายเปลี่ยนไปมาก ทั้งด้านการคิดวิเคราะห์ ความมั่นใจในตัวเอง ความสามารถในการสื่อสาร รวมถึงความกล้าหาญที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ที่มีผลให้วัตถุดิบเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อวัตถุดิบเปลี่ยน มหาวิทยาลัยก็ปรับ – จากเดิมที่มหาวิทยาลัยมีการกดทับกันระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง มีการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียน-เข้าสอบก็ต้องแก้กฎเกณฑ์เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย แต่ถึงอย่างนั้นมหาวิทยาลัยก็ปรับได้ไม่มากนัก

แต่ในขณะที่วัตถุดิบเปลี่ยน มหาวิทยาลัยปรับ เรากลับพบว่าโครงสร้างหลักสูตรขยับน้อยมาก มุนินทร์บอกว่าเหตุผลหนึ่งก็เพราะพัฒนาการของนักกฎหมายยังยึดโยงอยู่กับความต้องการทางวิชาชีพอยู่ กล่าวคือคนที่เข้ามาเรียนต้องการรักษาโอกาสเพื่อเข้าสู่วิชาชีพหลัก ดังนั้นถ้าวิชาชีพหลักไม่ปรับก็คงไม่มีใครอยากปรับเช่นกัน ซึ่งหากย้อนไปดูโครงสร้างหลักสูตรอบรมเนติบัณฑิตหรือกฎเกณฑ์การรับผู้พิพากษา-อัยการทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เหมือนเครื่องจักรเก่าที่ไม่เคยถูกเปลี่ยน

“สำหรับคนรุ่นผมอาจเปรียบเป็นวัตถุดิบเกรด D หรือเกรด C ปัจจุบันเรามีวัตถุดิบเกรด A แล้วแต่กลับเข้าไปสู่เครื่องจักรตัวเดิม ผมไม่คิดว่ามันจะออกมาดีขึ้นกว่าเดิมนัก สุดท้ายแล้ววัตถุดิบเกรด A ก็ต้องพยายามปรับตัวเพื่อเข้าสู่วิชาชีพหลักให้ได้โดยที่สิ่งแวดล้อมก็ยังเหมือนเดิม แล้วทำไมโรงงานจึงไม่สามารถสร้างเครื่องจักรใหม่ๆ ปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่เพื่อให้โรงงานสามารถผลิตโปรดักส์ที่ดีแล้วออกไปทำงานได้เลย พร้อมให้เขามีจิตสำนึกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมทั้งมีจิตสำนึกในประชาธิปไตย ทำไมเราจึงทำพอเป็นพิธีเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ” มุนินทร์กล่าว

‘โลกใหม่’ อาจเป็นเพียงละคร

เมื่อ ‘โลกเก่า’ ยังเผชิญกฎหมายที่ล้าหลัง

“เรากำลังพูดกันว่านักกฎหมายใหม่จะปรับตัวได้ไหม โลกใหม่เป็นอย่างไร ซึ่งมันถูกทำให้เหมือนละคร คือเราก้าวข้ามไปไม่ถึง ขณะที่เกิดภาพการจับกุมควบคุมตัวในบริบทพิเศษ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ใช้ในกรุงเทพฯ ทำให้เหมือนว่าเราอยู่กันคนละโลกกับโลกความจริง นักกฎหมายทั่วประเทศก็ปิดหูปิดตา ไม่อยากเห็น ไม่อยากรับรู้ แล้วปล่อยให้ทนายสิทธิมนุษยชนและประชาชนผู้ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพไปเผชิญกับกฎหมายที่ล้าหลังโดยลำพัง ปล่อยให้เราไปพูดคุยกับบัณฑิตกฎหมายซึ่งอยู่ในชุดทหาร ตำรวจ ที่ไม่ได้ใช้กฎหมายปกติแต่ใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวและบอกว่า ‘โลกใหม่’ ของนักกฎหมายไทยที่พูดถึงกันอยู่นี้กำลังเป็นเพียงแค่ละคร เมื่อเราไม่สามารถก้าวข้ามโลกเก่าซึ่งเป็นโลกแห่งความจริงไปได้ ดังนั้นหากจะพูดถึงการปรับระบบการเรียนกฎหมายเพื่อสร้างนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ก้าวทันโลก เราจึงจำเป็นต้องพูดถึง ‘โลกเก่า’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พรเพ็ญอธิบายถึง ‘โลกเก่า’ ว่า จากการทำงานได้มีโอกาสเจอบัณฑิตกฎหมายที่ส่วนใหญ่อยู่ในหน่วยงานที่มีอำนาจให้คุณให้โทษประชาชนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งตำรวจ ทหารพระธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งตนมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิโดยรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการถูกซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย หรือการจับกุมควบคุมตัวโดยมิชอบ

พรเพ็ญมองว่าสถานการณ์ในประเทศไทยนั้นมักมีกฎหมายพิเศษซึ่งให้อำนาจค่อนข้างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอายุ 107 ปี ตอนนั้นสภาทนายความยังไม่เกิดหรือแม้แต่กลไกสิทธิมนุษยชนของ UN ที่เป็นมาตรฐานสากลในการคุ้มครองความยุติธรรมก็ยังไม่ได้เขียนเอาไว้ด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการปรับปรุงแก้กฎอัยการศึก ดังนั้นการบังคับใช้กฎอัยการศึกจึงขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมาย ทำให้ผู้ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบต้องเผชิญหน้ากับภาวการณ์พิเศษ โดยไม่รู้ว่าจะเอาหลักการใดพูดคุยกัน เมื่อผู้บังคับใช้กฎหมายก็อ้างว่าเขาใช้กฎหมาย แต่กฎหมายนั้นคือกฎอัยการศึก

“การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบัณฑิตนักกฎหมายที่อยู่ในเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่รัฐยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ขณะที่เรากำลังพูดถึงนักกฎหมายในโลกใหม่ที่กำลังจะก้าวไปข้างหน้า อยากให้กลับมาทบทวนโลกใบเก่าด้วย โลกใบเก่าที่ทำให้ประชาชนหรือจำเลยตกอยู่ในมุมมืด ไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดกระบวนการยุติธรรมและอาจจะไม่ได้รับการปฏิบัติตามหลักการ”

น่าสนใจว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มก่อตั้งสหประชาชาติ (United Nations) และที่ผ่านมามีการลงนามในอนุสัญญาฉบับต่างๆ แต่ในแวดวงด้านกฎหมายไทยกลับไม่ยอมรับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนในกฎหมายไทยแบบตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันก็พยายามจะบอกว่ากฎหมายไทยสามารถให้การคุ้มครองได้ทัดเทียมหลักสากลแล้ว พรเพ็ญบอกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือกฎหมายพร้อม แต่นักกฎหมายไทยไม่ได้มีแนวคิดสากลเท่ากับตัวกฎหมายที่มี ดังนั้นความยากของการเป็นนักกฎหมายไทยคือจะทำอย่างไรให้นักกฎหมายไทยยอมเอาหลักการด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาประกอบการพิจารณา ประกอบการไต่สวนมูลฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ

“อาจจะต้องยอมสละความเป็นชาตินิยมในตัวนักกฎหมายแล้วเอาหลักการสากลเข้ามา” พรเพ็ญกล่าวทิ้งท้ายเรื่องนักกฎหมายกับสิทธิมนุษยชน

‘สภานิติศึกษาแห่งชาติ’ ความหวังในการสร้างนักกฎหมายเพื่อโลกใหม่

ที่ผ่านมามีการตั้ง ‘สภานิติศึกษาแห่งชาติ’ ขึ้นมาเพื่อปฏิรูประบบการเรียนการสอนด้านกฎหมาย สำหรับมุนินทร์ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘คณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ’ มองว่าคณะอนุกรรมการฯ นี้ทำงานโดยตั้งหลักจากปัญหาใหญ่ คือกระบวนการผลิตนักกฎหมายที่แยกส่วนกัน ทั้งมหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตยสภา และสภาทนายความก็ต่างคนต่างทำไป ขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเข้ามากำกับมาตรฐานหลักสูตรก็มีความคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยจะต้องทำตามแนวทางที่ อว. อยากเห็น นั่นคือทุกสายอาชีพทำเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นระบบการศึกษากฎหมายจึงดำเนินไปแบบแยกส่วนแยกทาง แม้ว่าจะส่งต่อกันแต่ไม่ได้ทำงานแบบสอดประสานกัน

เมื่อมองเรื่องระบบการเรียนการสอนกฎหมาย ปัญหาสำคัญคือกระบวนการผลิตนักกฎหมายที่ไม่สอดประสานกันและไม่ฟังก์ชันในการทำหน้าที่ที่ควรจะทำ

“เราไม่ได้มองภาพรวมของกระบวนการผลิตนักกฎหมายอย่างเป็นระบบ แต่ละองค์กรก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ถ้าวันนี้เรามีโอกาสมาคุยกันก็ควรคิดกันใหม่ว่าระบบการเรียนกฎหมายควรออกแบบอย่างไรและจะทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อสร้างคนที่เก่งกว่าเดิม รับใช้สังคมได้ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้”

จุดประสงค์หลักของการปฏิรูปจึงเป็นเรื่องการออกแบบกระบวนการผลิตนักกฎหมายให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นในโลกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล นั่นคือมีการแบ่งชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยเน้นทฤษฎี ซอฟต์สกิล และในภาคปฏิบัติก็เน้นให้นักศึกษาได้ฝึกงาน ส่วนการอบรมเนติบัณฑิตจะเป็นการรับช่วงต่อในการฝึกภาคปฏิบัติ อย่างในประเทศเยอรมนีหรืออังกฤษที่จะบังคับให้นักศึกษากฎหมายฝึกงานในทุกแขนง ทั้งกฎหมายเอกชน กฎหมายธุรกิจ ศาลปกครอง ศาลอาญา มีความรู้เรื่องการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถสร้างนักกฎหมายที่มีความรู้เชิงหลักการและทฤษฎีที่แน่นเพียงพอและกว้างขวางในหลากหลายสาขา รวมถึงมีทักษะในการเอาตัวรอด ทำงานได้จริงและใช้ชีวิตได้

“พอเราออกแบบกระบวนการใหม่ เราก็ต้องออกแบบองค์กรใหม่ด้วย จึงต้องมีเวทีที่ทั้งฝ่ายปฏิบัติและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาได้มาคุยกัน เพื่อให้เห็นทิศทางการพัฒนานักกฎหมายร่วมกัน เห็นความท้าทาย เห็นปัญหา แล้วแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อทำให้กระบวนการผลิตนักกฎหมายเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ” มุนินทร์กล่าว

รื้อห้องเรียนกฎหมาย: ข้อเสนอต่อกระบวนการผลิตนักกฎหมายใหม่

เสาเข็มของนักกฎหมายคือมหาวิทยาลัย

สรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกาและโฆษกศาลยุติธรรม มองว่ามหาวิทยาลัยคือเสาเข็มที่จะวางรากฐานเพื่อให้นักกฎหมายสามารถต่อเติมได้ตามที่แต่ละคนต้องการ แน่นอนว่าเมื่อตอนทำงานก็ต้องฝึกฝน สั่งสมประสบการณ์และแสวงหาความรู้ แต่ฐานรากสำคัญคือช่วงมหาวิทยาลัย เพราะการอบรมเนติบัณฑิตนั้นมีเวลาเพียงหนึ่งปี ในเวลาแค่นี้คงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือวิธีคิดในการทำงานได้ไม่มากเท่ากับมหาวิทยาลัยซึ่งมีเวลามากถึง 4 ปีที่จะบ่มเพาะวิธีคิดได้มากกว่าและน่าจะทำได้มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย

สรวิศยกตัวอย่างให้เห็นว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 มหาวิทยาลัยใช้วิธีการสอนออนไลน์โดยการอัดวิดีโอให้นักศึกษาและดูย้อนหลังได้ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นนี้สามารถออกแบบได้หลากหลายวิธี อาจให้นักศึกษาดูวิดีโอนอกเวลาเรียนและในชั้นเรียนมาคุยเรื่องข้อมูลปัญหาซึ่งสะท้อนในชีวิตจริงแทน ในขณะที่การทดสอบก็ใช้วิธีการขยำปัญหาหลายๆ อย่างเข้าด้วยกันเพื่อให้เด็กรู้จักคิดและเข้าใจปัญหา การที่จะแก้โจทย์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากถ้าผู้เรียนรู้จักคิดไปตามขั้นตอน โดยเอาความรู้แต่ละส่วนมาวินิจฉัยและวิเคราะห์ปัญหา

“ในหลายครั้งที่เราเรียนกฎหมาย เรากลับไม่เข้าใจที่มาที่ไปของกฎหมายว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมจึงไม่เป็นอย่างอื่น แต่ถ้าเราเข้าใจหลักการและเหตุผลที่มาที่ไป การเป็นนักกฎหมายหัวสี่เหลี่ยมคงไม่เกิดขึ้น ต่อให้โจทย์ยากแค่ไหนจะมีวิธีการในการหาทางออกเสมอ เพียงแต่ต้องรู้จักมองปัญหาเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะในการสอบประมวลผลหรืออะไรก็แล้วแต่จะมีระเบียบวิธี (methodology) ในการคิดวิเคราะห์อยู่” สรวิศกล่าว

คุณภาพต้องไปพร้อมคุณค่า

จากมุมมองของภาคเอกชน เพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เล่าว่า รายได้ของสำนักงานกฎหมายไทยที่ทำงานให้ลูกความในต่างประเทศหรือบริษัทไทยซึ่งไปลงทุนในต่างประเทศมีรายได้รวมปีละกว่าหมื่นล้านบาทและสำนักงานกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีรายได้กว่า 3 พันล้านบาท คำถามคือวงการกฎหมายไทยควรเติบโตทั้งในแง่คุณภาพและคุณค่าไปพร้อมๆ กันหรือไม่

เพียงพนอมองว่า การพัฒนาเชิงคุณภาพจะเกิดขึ้นได้จากการแข่งขัน การปรับตัว และเรียนรู้ว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงนักสำหรับสำนักงานกฎหมายในภาคเอกชน แต่นักกฎหมายเอกชนจะได้รับผลกระทบจากการทำงานของกลุ่มนักกฎหมายอีกกลุ่มที่มีกรอบวิธีคิด รวมถึงบรรทัดฐานทางสังคมที่ปฏิบัติอย่างไรมาก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้น

“เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนกฎหมายไม่ควรบอกว่าตัวบทเขียนว่าอย่างไรและตีความอย่างไร เพราะบางครั้งก็อาจตีความไม่เหมือนกัน แต่ควรสอนไปให้ถึงที่มาที่ไปและเจตนารมณ์ของกฎหมายว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร จึงเป็นที่มาของวิชาที่ควรเรียนเพิ่มเติม เช่น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นภาพว่าในกระบวนการยุติธรรมหากเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน ผลก็ควรเหมือนกัน เราไม่ควรเห็นผลที่แตกต่างว่าเรื่องนี้หากชาวบ้านทำผลจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้านายทุนหรือข้าราชการทำจะเป็นอีกแบบหนึ่ง”

สิ่งที่เพียงพนอคาดหวังว่าจะมีและเป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือเรื่อง ESG หรือ environmental (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (ธรรมาภิบาล) ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นเมื่อพูดถึงธรรมาภิบาลก็จะโยงไปถึงเรื่องหลักนิติธรรม (rule of law)

“ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่ rule of law แต่คือ rule of lawyer แปลว่าเราไม่อาจมั่นใจได้ว่ากรณีเช่นนี้ ผลควรเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นความมั่นใจ ความไว้วางใจและความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก” เพียงพนอกล่าว

เพิ่ม soft skill – ที่ไม่ใช่แค่เป็นนักกฎหมายที่เก่งแต่ต้องเป็นนักกฎหมายที่ดี

พรเพ็ญพูดถึงการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ว่า สำหรับนักกฎหมายที่จะมาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาคือแทนที่พวกเขาจะช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เขากลับช่วยขยายอำนาจรัฐให้กว้างใหญ่กว่าที่กฎหมายเขียนเสียด้วยซ้ำ

ระบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์จึงควรสอนให้นักกฎหมายเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบใดก็ต้องยึดหลักของกฎหมาย คือ หลักความเป็นธรรม หลักนิติธรรม หลักความเท่าเทียม หลักความเสมอหน้า ซึ่งหลักการเหล่านี้ไม่ควรหลุดออกไปตอนที่ไปสวมชุดราชการ ตำรวจ ทหาร หรือเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงตามหลักการ แต่ในระบบราชการมีหลายมิติที่ทำให้ไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งหลักการทางกฎหมายและพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนได้

พรเพ็ญเสนอว่ามีศาสตร์อื่นอีกหลายแขนงที่ทำให้นักกฎหมายสามารถเป็นนักกฎหมายที่ดีได้ โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจด้านจิตวิทยา ความเข้าใจเรื่องผลกระทบทางด้านจิตใจ เพราะเจ้าหน้าที่ที่เป็นนักกฎหมายของภาครัฐต้องพบทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา ความเข้าใจด้านจิตวิทยาจึงเป็นส่วนสำคัญมากในการทำงาน

นอกจากนี้ยังมีหลักการที่นักกฎหมายไทยและเจ้าหน้าที่ควรเอามาใช้ เช่น การค้นหาความจริงและการสัมภาษณ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งเรียกว่า effective interviewing โดยหลักการเหล่านี้มีเขียนไว้แล้วในแทบทุกอนุสัญญา โดยจะมี optional protocol ซึ่งมีหลักการย่อยที่เป็นทักษะ เทคนิคและวิธีการสากลที่นำไปปรับใช้และมีลักษณะแบบองค์รวม ซึ่งหลักการเหล่านี้จะเขียนด้วยศาสตร์หลายแขนง มีทั้งนักนิติจิตเวท จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ หลักการเหล่านี้ล้วนถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้ว การนำไปสอดแทรกในการเรียนการสอนนิติศาสตร์จะช่วยเพิ่มทักษะที่ไม่ได้แค่ถูกยอมรับในไทย แต่ถูกยอมรับในระดับสากลให้นักศึกษาอีกด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save