fbpx

101 PUB Policy Dialogue: ตีโจทย์นโยบายหลังเลือกตั้ง คำถามที่สังคมไทยต้องคิดต่อ

ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank) ที่เรียกกันโดยย่อว่า ‘101 PUB’ ทำงานสร้างสรรค์และสื่อสารความรู้ด้านนโยบายสาธารณะมาครบ 1 ปีเต็ม ด้วยวิถีการทำงานที่เชื่อว่านโยบายสาธารณะเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ ในความหมาย ‘การเมืองของประชาชน’ มิใช่การเมืองของผู้ใช้อำนาจรัฐในรัฐบาลหรือรัฐสภา หรือจำกัดอยู่เฉพาะวงแคบของผู้ใช้ความรู้เป็นอำนาจ

ในวาระครบรอบ 1 ปี 101 PUB ทีมงานจึงชวนเพื่อนร่วมทางในโลกนโยบายสาธารณะ ทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักการเมือง และสื่อมวลชน มาร่วมตั้งวงระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเรื่องบทต่อไปของประเทศไทยหลังเลือกตั้งว่าจะก้าวเดินไปทางไหน มีความท้าทายอะไรเฝ้ารออยู่บ้าง และโจทย์วิจัยหรือโจทย์นโยบายต่างๆ ที่จะรับมือความท้าทายเหล่านั้นคืออะไร ในงาน 101 PUB Policy Dialogue “Thailand’s Next Chapter: ตีโจทย์นโยบายหลังเลือกตั้ง” เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 ณ Foreign Correspondents’ Club of Thailand (FCCT)

ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด เเละบรรณาธิการอำนวยการ The101.world เริ่มต้นกล่าวถึงความตั้งใจในการก่อตั้ง 101 PUB ว่าเป็นการต่อยอดจากงานสื่อสารความรู้สู่สาธารณะผ่านเว็บสื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world ที่มีอายุ 6 ปีเต็ม และมีผลงานสื่อกว่า 6 พันชิ้น

“ที่ผ่านมา เราลงมือทำ The101.world เพื่อเชื่อมโลกวิชาการกับโลกสื่อสารมวลชนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างตลาดวิชาทางเลือกให้สังคมเข้าไปเรียนรู้กันแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อชวนสังคมตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในเรื่องสำคัญต่อชีวิตผู้คนและสังคม และเพื่อเจาะเบื้องลึกเบื้องหลังทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และโลกระหว่างประเทศ เว็บสื่อเป็นการทำงานความรู้ที่ปลายน้ำด้วยการนำความรู้ดีๆ ของเพื่อนๆ เช่น ในรั้วมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยมาสื่อสารต่อ แต่โจทย์ของ 101 PUB เป็นการทำงานที่ท้าทายขึ้นอีกขั้น เป็นการทำงานความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการทำวิจัยด้านนโยบายสาธารณะที่เราตั้งโจทย์เอง หาข้อมูลเอง ทำโมเดลเอง เรียกว่าสร้างความรู้และข้อมูลใหม่ๆ ที่เป็นออริจินัลของเราเองเลย แล้วสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้เหล่านั้นผ่านช่องทางต่างๆ ของเรา

“101 ตั้งใจทำศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์อนาคต จับกระแสวิเคราะห์และเสนอทางเลือกได้ทันท่วงที เน้นการทำงานนโยบายร่วมกับสังคม สื่อสารโดยตรงกับสาธารณะแบบตรงจุดตอบโจทย์ เราอยากเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยความรู้ ด้วยข้อมูล อยากมีส่วน shape ความคิดคน เพื่อให้พลเมืองไทยมีข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ไปใช้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม”

ปกป้องเน้นย้ำถึงจุดยืนในการทำงานสร้างสรรค์และสื่อสารนโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ว่า 101 PUB จะเป็น think tank ที่มุ่งทำงานความคิดกับประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่มุ่งทำงานเชิงเทคนิคเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ

“เพราะเราเชื่อว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเปลี่ยนด้วยพลังของความคิด พลังของความรู้ พลังของประชาชน” ปกป้องกล่าว

ปกป้อง จันวิทย์

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความตั้งใจของทีมงานทุกคน

“หนึ่งปีที่ผ่านมา พวกเราตั้งใจทำศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ เพื่อเป็นฐานในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย พวกเราเชื่อว่าสังคมไทยดีกว่านี้ได้ เป็นธรรมกว่านี้ได้ ยั่งยืนกว่านี้ได้ เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ได้ ไม่ใช่ด้วยความกลัวหรือความเกลียด แต่ด้วยความหวัง ไม่ใช่ด้วยอำนาจ แต่ด้วยความรู้ ไม่ใช่ด้วยผู้มีอำนาจ แต่ด้วยประชาชนธรรมดาๆ อย่างพวกเรา”

ก่อนที่จะบอกเล่าถึงผลงานของ 101 PUB ในขวบปีแรก โดยชวนผู้เข้าร่วมงานร่วมเช็กสุขภาพประเทศไทย ผ่านภาพ 12 ภาพ ซึ่งสังเคราะห์จากผลงานกว่า 50 ชิ้นตลอด 12 เดือนแรกของ 101 PUB

[อ่านบทอภิปราย “เช็กสุขภาพประเทศไทย ผ่าน 12 ภาพ ผลงาน 101 PUB” ฉบับเต็ม ได้ ที่นี่]

ฉัตรย้ำว่า 101 PUB ทำงานหนักแน่นบน 3 ฐาน คือ ฐานวิชาการ ฐานการพัฒนา และฐานประชาธิปไตย

ฐานวิชาการ หมายถึง การทำงานบนหลักวิชาอย่างเป็นมืออาชีพ ตั้งโจทย์ที่ใช่และท้าทาย มีความเป็นอิสระ วิเคราะห์วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาด้วยข้อมูลใหม่ ด้วยความรู้ใหม่

ฐานการพัฒนา หมายถึง การนำเสนอวิสัยทัศน์และข้อเสนอที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาว ตั้งเป้าปฏิรูปโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และความเป็นธรรม

ฐานประชาธิปไตย หมายถึง การยึดมั่นในคุณค่าของหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม มีกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมจริงๆ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความหลากหลาย เราเชื่อว่า การพัฒนาที่อยู่บนวิถีประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะตอบโจทย์ผลประโยชน์ของสาธารณะ และมีความหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้ากัน

“ในโลกนโยบายใหม่ ประชาชนจะต้องเป็นองค์ประธานในสมการนโยบาย” ฉัตรกล่าวทิ้งท้าย

ฉัตร คำแสง

101 PUB Policy Dialogue -Thailand’s Next Chapter: ตีโจทย์นโยบายหลังเลือกตั้ง

เพราะเจตนารมณ์ของ 101 PUB คือการทำงานสร้างสรรค์ความรู้นโยบายสาธารณะ ทั้งวิเคราะห์ ออกแบบ ขับเคลื่อน และสื่อสารงานวิจัยร่วมกับประชาชน นำเสนอวิสัยทัศน์และข้อเสนอเชิงนโยบายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ในวาระครบรอบ 1 ปีของการทำงานเช่นนี้ ทีมงาน 101 PUB จึงชวนนักวิชาการและผู้มีส่วนขับเคลื่อนนโยบายมาร่วมขบคิดและตีโจทย์นโยบายหลังเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ภายใต้ 4 ประเด็นวิจัยที่ 101 PUB มุ่งโฟกัสในการทำงาน ได้แก่ 

1. Democracy: การสร้างประชาธิปไตยในเชิงสถาบันและวัฒนธรรม

2. Rule of Law: การสร้างหลักนิติธรรมในสังคมไทย การปฏิรูประบบยุติธรรมให้ “ยุติธรรม” และการปฏิรูปกฎหมายบนวิถีประชาธิปไตย

3. Inclusive Development: การพัฒนาที่นับรวมทุกคน และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความยั่งยืน

4. Child Development: การพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้ทำให้เด็กสามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง ภายใต้สังคมที่ทุกคนสามารถเลือกอนาคตที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้

โดยมีการตั้งวงสนทนากับ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมาร่วมตีโจทย์สำคัญที่สังคมไทยควรคิดต่อหลังการเลือกตั้ง

1. โจทย์การเมือง – โจทย์สำหรับรัฐบาลใหม่ รัฐสภาใหม่ และประชาชนไทย หลังการเลือกตั้งคืออะไร ในอนาคตเรามีความท้าทายเกี่ยวกับประชาธิปไตยอะไรบ้างที่รออยู่

2. โจทย์วิจัย – โจทย์ทางวิชาการที่จะช่วยสังคมไทยให้สามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตมีอะไรบ้าง

Democracy: ความตายจากภายในของประชาธิปไตย

ประจักษ์เริ่มต้นด้วยการตีโจทย์การเมืองหลังการเลือกตั้ง เขาให้ความเห็นว่าการสร้างหรือฟื้นฟูประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งถือเป็นโจทย์ที่ทั้งภาคการเมือง ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งภาคธุรกิจจะต้องร่วมกันคิด พร้อมอธิบายว่าด้วยพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางการเมือง ปัจจุบันประชาธิปไตยไม่ได้ถดถอยหรือล้มลงในรูปแบบเดิมอีกต่อไป แต่เกิดการถดถอยรูปแบบใหม่ที่แนบเนียนกว่า ซึ่งประจักษ์เรียกการถดถอยรูปแบบนี้ว่า ‘การถดถอยจากภายใน’

การถดถอยของประชาธิปไตยแบบเดิมในที่นี้คือการถดถอยจากอำนาจดิบ เช่น การล้มลงของประชาธิปไตยโดยการรัฐประหาร ในขณะที่การถดถอยรูปแบบใหม่หรือการถดถอยจากภายใน บางครั้งเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียเอง กล่าวคือรัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิดหลังจากได้รับตำแหน่ง จนทำให้ประชาธิปไตยไม่เหลือแก่นสารหรือเค้าโครงเดิม แม้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไปแล้วก็ตาม

“ตอนนี้ประเทศไทยมี 2 โจทย์ใหญ่ และเป็นโจทย์ที่ยากกว่าหลายประเทศ เพราะเรายังคงมีความท้าทายหรือความเสี่ยงรูปแบบเดิมอยู่ คือโจทย์เก่าที่เป็นการถดถอยจากอำนาจดิบยังมีอยู่ ในขณะที่การบ่อนทำลายประชาธิปไตยจากภายในก็ยิ่งแนบเนียนขึ้น ซึ่งเห็นชัดเจนจากการเลือกตั้งปี 2562” ประจักษ์กล่าว

มากกว่านั้น ประจักษ์เสริมว่าโดยทั่วไปเมื่อคนพูดถึง ‘ประชาธิปไตย’ จะนึกถึงการเลือกตั้งเป็นหลัก แต่สำหรับเขา ประชาธิปไตยมี 3 ประเด็นหลักที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก ได้แก่ การขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสถาบันเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหลาย โจทย์สำคัญของประเด็นนี้คือการทำอย่างไรให้องค์กรเกี่ยวกับการเลือกตั้งทำงานอย่างยุติธรรม เพื่อให้เราได้ใช้สิทธิและเสียงในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และถูกต้องชอบธรรม

ประเด็นที่สองคือสิทธิเสรีภาพ ประจักษ์ตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพของสื่อถูกทำลายไปมาก ทั้งยังถูกบ่อนทำลายผ่านรูปแบบใหม่ๆ คือไม่ใช่แค่ทำลายด้วยความรุนแรงทางตรง แต่ยังใช้กลไกทางกฎหมาย ใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกของสื่อและประชาชนเพิ่มขึ้นมาก เช่น การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมในรูปของการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPP)  

ประเด็นสุดท้ายเป็นประเด็นที่ประจักษ์มองว่าสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร คือเรื่อง ‘accountability’ หรือความรับผิด หมายความว่าต่อให้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องตรวจสอบได้ ไม่ใช้อำนาจเหนือประชาชน และเมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษและถูกเอาลงจากอำนาจได้ 

“ถ้าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า accountability ต่อให้มีการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยก็จะยังคงไม่มั่นคง นี่คือโจทย์สำคัญมากในการเลือกตั้งครั้งนี้” ประจักษ์ให้ความเห็น

ประจักษ์ ก้องกีรติ

นอกจากนี้ ประจักษ์เน้นย้ำถึงความโปร่งใสขององค์กรอิสระต่างๆ ในไทย เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้เป็นไปอย่างยุติธรรมและตรวจสอบได้ หากภายในกระบวนการเลือกตั้งยังคงมีการใช้กลโกงอย่างแนบเนียน ท้ายที่สุดเจตนารมณ์ของประชาชนจะไม่ถูกสะท้อนออกมาผ่านการเลือกตั้งได้อย่างแท้จริง หลักสำคัญคือต้องช่วยกันทำให้ 3 ประเด็นดังที่กล่าวไปได้ถูกนำมาใช้อย่างถูกต้อง เพื่อจะนำไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตยกลับมาใหม่

“องค์กรอิสระในปัจจุบันเป็นมรดกของปี 2540 จากองค์กรที่เราหวังให้มาช่วยตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นปากเสียงให้ประชาชน แต่องค์กรเหล่านี้กลับกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐ เราต้องมาคิดใหม่ว่าองค์กรเหล่านี้ส่งเสริมประชาธิปไตยไหม หรือกลายเป็นอำนาจใหม่ที่ตรวจสอบไม่ได้และเป็นเครื่องมือบั่นทอนประชาธิปไตยเสียเอง”

สุดท้าย อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยคือภาคเอกชน ประจักษ์กล่าวว่าหากประเทศไทยมี ‘กองทุนเพื่อประชาธิปไตย’ จะทำให้การทำงานร่วมกันในการเสริมสร้างประชาธิปไตยราบรื่นมากขึ้น ทั้งยังเสริมเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในไทย ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชัน ปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในการรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้เติบโตต่อไปได้

“ถ้าเราไม่สามารถทำให้ประชาธิปไตยที่ได้มาผ่านการเลือกตั้งเติบโตได้ แม้เราจะได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่สุดท้ายยังมีเรื่องการคอร์รัปชัน มีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาชนก็จะรู้สึกเสียศรัทธากับประชาธิปไตยอีกครั้ง แล้วเราจะวนลูปแบบนี้ต่อไปเหมือนเดิม ต้องกลับมาพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ ต่อไป ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ไขอะไรเลย” ประจักษ์กล่าวทิ้งท้าย

Rule of Law: สร้างบรรทัดฐานใหม่แห่งกฎหมายเพื่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม

เมื่อมองโจทย์ใหญ่การเมืองไทยด้วยสายตาของนักกฎหมาย เข็มทองเห็นว่าโจทย์สำคัญของประเทศไทยคือบรรทัดฐานในสังคมที่ผิดเพี้ยนมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรทัดฐานในการใช้กฎหมาย กลับกลายเป็นว่าในปัจจุบันกฎหมายที่มีไว้รักษาความสงบของสังคมถูกนำไปเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งหรือปิดปากประชาชน จนแทบจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการใช้กฎหมายของผู้มีอำนาจ

“สิ่งหนึ่งที่นักกฎหมายสัมผัสได้คือบรรทัดฐานทุกอย่างในสังคมพังไปทุกวันตั้งแต่วันที่เกิดรัฐประหาร หลังจากผ่านมา 9 ปี กฎหมายที่ใช้จริงกับกฎหมายที่สอนในมหาวิทยาลัยต่างกันออกไปเรื่อยๆ เช่น กฎหมายมาตรา 112 ถ้าถามนักวิชาการกับผู้พิพากษา มันแทบจะเป็นกฎหมายคนละฉบับแล้ว การอ่านและตีความกฎหมายเหมือนเราอยู่คนละโลก นี่คือสภาพและปัญหาใหญ่ของกฎหมายไทย”

เช่นเดียวกับประจักษ์ เข็มทองเสริมว่าตนให้ความสำคัญกับเรื่องความรับผิดเช่นกัน เรื่องนี้สะท้อนออกมาผ่านความรุนแรงครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดในไทย เช่น เหตุการณ์พฤษภา 2535 การสลายการชุมนุมเสื้อแดง 2553 ที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่และกองทัพ รวมถึงการนิรโทษกรรมในคดีต่างๆ ที่ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมถกเถียงกันอยู่เสมอมา 

อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งผูกโยงกับการทุจริตคอร์รัปชันและความรับผิด เข็มทองชี้ให้เห็นว่าประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันโดยตรง หากระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ ไม่มีการพัฒนาหรือปฏิรูป ก็จะนำสังคมและคนในระบบกลับไปสู่ปัญหาการเมืองเดิมๆ ทำให้คนในระบบต้องขับเคลื่อนการทำงานด้วยการเจรจาต่อรอง การวิ่งเต้น และที่สำคัญคือต้องพึ่งพิงการทำงานด้วยสายสัมพันธ์อุปถัมภ์ ซึ่งจะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอีกต่อหนึ่ง

ประจักษ์ ก้องกีรติ, เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, สมชัย จิตสุชน

ประเด็นที่เข็มทองเน้นย้ำอย่างมากคือเรื่องความมั่นคง เขามองว่าปัจจุบันคำว่า ‘ความมั่นคง’ ถูกรัฐไทยนำไปใช้ในทางมิชอบหลายต่อหลายครั้ง ทั้งยังมีการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนด้วยเหตุผลที่ว่า ‘กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ’ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. ต่างๆ ที่นำมาใช้ปราบปรามการชุมนุมในช่วงโควิด รวมไปถึงกฎหมายความมั่นคงอย่าง ม.112 ม.113 ม.116 หรือแม้แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามมากมายต่อการทำงานของฝ่ายตุลาการและกระบวนการยุติธรรม

“ปัจจุบันทำอะไรก็กระทบความมั่นคง วาดรูปก็กระทบ ทำขนมเป็นรูปพระก็กระทบ รัฐไทยต้องทำความเข้าใจนิยามของคำว่าความมั่นคงเสียใหม่ รวมถึงตีกฎหมายและแนวคิดของคำว่าความมั่นคงให้แคบลงกว่านี้

“กฎหมายต่างๆ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญคือเราต้องกล้าพูดว่ากฎหมายถูกนำมาใช้ผิดๆ และต้องพูดถึงบทบาทของผู้ใช้กฎหมายความมั่นคง ถ้าเราจะทำการศึกษาวิจัยเรื่องเหล่านี้ เราต้องลงลึกให้มากกว่านี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ประเด็นการควบรวมธุรกิจขนาดใหญ่ งานวิจัยต้องไปสู่ข้อเสนอและข้อสรุปใหม่ๆ ที่จะไปได้ไกลกว่าเดิม” เข็มทองกล่าว

Inclusive Development: เศรษฐกิจที่ดีคือเศรษฐกิจที่เป็นของทุกคน

หากมองสังคมด้วยเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์ สมชัยให้ความเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ทั้งยังมองว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีปัญหานานัปการ และหลายเรื่องเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราอาจมองหาทางออกไม่เจอ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และยังมีปัญหากับดักรายได้ปานกลางที่ฝังรากลึกมานาน ด้วยปัญหาอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ความเหลื่อมล้ำจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ สมชัยกล่าวว่ามีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการจำนวนไม่น้อยพยายามให้ข้อเสนอแนะในการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างรายได้ การปรับระบบภาษี แต่เสนอนโยบายไปมากเพียงใดก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เขาจึงให้ความสำคัญกับเรื่องระบบการจัดการของรัฐและราชการมากเป็นพิเศษ โดยมองว่าหากจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ การเสนอนโยบายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องมีระบบการทำงานที่สามารถนำนโยบายนั้นไปปรับใช้ได้จริงด้วย

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, สมชัย จิตสุชน, ณัฐยา บุญภักดี

อีกหนึ่งประเด็นที่สมชัยให้ความสำคัญคือการทำงานที่ตอบสนองโจทย์ของสังคมได้ (responsive) เพื่อที่เสียงของประชาชนจะได้รับการได้ยิน และในท้ายที่สุดปัญหาและความยากลำบากต่างๆ ที่คนในสังคมต้องเผชิญจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

“การทำงานร่วมกันระหว่างภาคการเมืองกับภาคราชการต้อง responsive เพื่อที่ความเหลื่อมล้ำจะลดลง และประชาชนในระดับรากหญ้าจะได้ส่งเสียงของตนเองมากขึ้น”

“ถ้าพูดถึงความความเหลื่อมล้ำ การเลือกตั้งครั้งนี้หลายพรรคนำความลำบากของประชาชนมาใช้เป็นนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่าพรรคของตัวเองจะได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งเราต้องตามดูหลังการเลือกตั้งต่อไป หลังจากเราได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมาแล้ว สังคมต้องเฝ้าดู responsive ในการทำงานของรัฐบาลต่อไป” สมชัยเน้นย้ำ

Child Development: เพราะการดูแลเด็กเล็ก คือการสร้างอนาคตที่ดีให้กับสังคม

ด้านณัฐยาเสนอมุมมองใหม่ๆ ในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กเล็ก จากการที่เธอสังเกตว่าการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา หลายพรรคออกนโยบายเกี่ยวกับเด็กเล็กมากมาย ทว่าจนถึงวันนี้ กลับยังไม่มีนโยบายใดที่ถูกนำมาใช้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงประจักษ์ ซ้ำร้ายความเหลื่อมล้ำในสังคมยังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน

ณัฐยาเสนอว่าโจทย์ของการวิจัยครั้งต่อไปในประเด็นเด็กเล็กอาจเป็นการตีโจทย์ว่าหากสังคมหรือผู้มีอำนาจไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ขับเคลื่อนนโยบายด้านเด็กเสียที ในอนาคตข้างหน้าสังคมไทยจะต้องเจอโจทย์ปัญหาอะไรบ้าง

“สถิติต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในปัจจุบันล้วนเป็นผลเชิงประจักษ์ที่ไม่เคยเป็นที่รับฟังจากรัฐบาลเลย เราเจอข้ออ้างว่าไม่มีเงินมากพอในการพัฒนาเรื่องนี้ นโยบายสำหรับเด็กจึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ไม่เคยได้เข้าไปสู่เจตจำนงทางการเมืองในภาพใหญ่”

มากไปกว่านั้น นอกจากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้น ปัญหาการศึกษาของไทยเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ณัฐยาห่วงกังวล เธอให้ความเห็นว่าปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขและขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับนโยบายเกี่ยวกับเด็ก เพราะล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้

ณัฐยา บุญภักดี

“ถ้าเด็กในปัจจุบันที่กว่า 70% อยู่ในครัวเรือนรายได้ต่ำ ต้องเติบโตไปเป็นวัยทำงานในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ลองคิดดูว่าสังคมไทยจะเจอกับโจทย์ใหญ่อะไรบ้าง

“ความยากจนเป็นปัจจัยใหญ่สุดที่จะชี้คุณภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นมาจากวัยเด็ก เรื่องรองลงมาคือเรื่องการศึกษา พอไปดูตัวเลขสถิติการศึกษาเด็กส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาไม่เกินมัธยมต้น ส่วนผู้เลี้ยงดูส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาไม่เกินประถมสี่ ในอนาคตเราจะได้พลเมืองแบบไหนที่จะขับเคลื่อนสังคมต่อไป นี่เป็นเรื่องที่น่าหนักใจที่สุด” ณัฐยาให้ความเห็น

ณัฐยาเสริมว่าการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาแต่ละครัวเรือนออกไปจากความยากจนข้ามรุ่น ทว่าหากมองการปฏิรูปการศึกษาในไทย เรากลับไม่สามารถเห็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้อย่างแท้จริง สำหรับณัฐยา ความรู้คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ควรจะมีอยู่ทุกที่ ดังนั้นสังคมต้องมองการเปลี่ยนแปลงใหม่ ต้องมีการทำงานรูปแบบใหม่ อาจต้องมีการระดมทุนจากทุกภาคส่วนมาลงทุนกับประเด็นนี้ พร้อมทั้งใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา เพราะในขณะที่เราทำได้เพียงรอคอยการแก้ไข แต่เด็กทุกคนในสังคมกำลังเติบโตขึ้นในทุกๆ วัน ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ

“ที่บอกว่าเด็กสร้างโลก ทุกวันนี้เราสร้างเด็กได้ดีแล้วหรือยัง ปัญหาทุกอย่างในปัจจุบันจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำต่อไปในอนาคต” ณัฐยาเสนอประเด็นให้คิดกันต่อไป

YouTube video

MOST READ

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save