fbpx
ล้อมวงคุยคณบดีนิติศาสตร์: ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้ยุติธรรม

ล้อมวงคุยคณบดีนิติศาสตร์: ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้ยุติธรรม

ในห้วงเวลาที่กระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง 101 ชวน 4 คณบดีคณะนิติศาสตร์ จาก 4 มหาวิทยาลัย ร่วมคุย-ร่วมคิดในเวทีนโยบายสาธารณะว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ผ่านรายการ 101 Policy Forum #11 : “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้ยุติธรรม” ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

101 หยิบบางส่วนจากการพูดคุยมาชวนสังคมให้คิดต่อไปถึงการทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ ในช่วงเวลาที่การทำหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน เช่น สิทธิในการประกันตัวเพื่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม

อ่านสรุปความทั้งหมดได้ที่: ฟื้นวิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

1

มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การบังคับใช้กฎหมายกับคนที่แสดงเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง และสร้างความสั่นสะเทือนต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมภาพรวมทั้งหมด

มีอยู่ 4 เหตุผลที่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง

หนึ่ง สิ่งนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอาญาที่เราเรียนและสอนกันมา เราคาดหวังว่าจะมีการบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้องตามหลักวิชา รัฐธรรมนูญก็มีบัญญัติไว้เรื่องหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะดูจากคำวินิจฉัยของศาลก็ดูเหมือนศาลจะเชื่อไว้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิด

สอง คนที่เกี่ยวข้องหรือคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและเยาวชน เราเห็นเยาวชนถูกจับกุม ซึ่งในสายตาของคนทั่วไปหรือในสายตานานาชาติ เป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้ เพราะเราทราบกันดีว่าเยาวชนมีความฝันที่จะเห็นสังคมพัฒนาไปในทิศทางที่เขาต้องการ เขาก็ควรมีสิทธิฝัน หลายเรื่องอาจจะเป็นความฝันที่คนไม่เห็นด้วย แต่บางครั้งเราอาจจะต้องปล่อยให้เขาเติบโตขึ้นมา แล้วเรียนรู้เองว่าความฝันจะเป็นความจริงได้ไหม หรือเขาจะทำอย่างไรให้ไปสู่จุดที่ฝัน เพราะฉะนั้นการไม่เปิดโอกาสให้เขาแสดงออกหรือฝันถึงสังคมที่ดี เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ

สาม การปฏิบัติต่อคนที่แสดงความคิดเห็นหรือใช้เสรีภาพในทางการเมือง เป็นตัวสะท้อนให้เห็นปัญหาของการเลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งบ้านเรามีปัญหามายาวนานแล้ว คดีบอส อยู่วิทยา ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าคนที่มีเงินและอำนาจก็จะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไป แต่ในบางคดี เจ้าหน้าที่รัฐก็ดำเนินการอย่างรวดเร็วและเข้มงวด คนก็จะเปรียบเทียบว่าทำไมคดีอุกฉกรรจ์จึงเกิดความล่าช้า ปล่อยให้ผู้ต้องหาที่มีเงินและอำนาจลอยนวล ในขณะที่คดีที่ดูแล้วไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่เจ้าหน้ารัฐก็บังคับใช้กฎหมายค่อนข้างเข้มงวด

สี่ นโยบายของรัฐบาลในการดำเนินการเกี่ยวกับคดี 112 อาจจะไม่ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว ผมเชื่อว่าการปกป้องสถาบันที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล พวกเราอยู่ท่ามกลางช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ทุกสถาบัน ทุกองค์กร และตัวบุคคลถูกตั้งคำถามทั้งหมด อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างพวกเราก็ถูกนักศึกษาตั้งคำถาม เราต้องใช้ความอดทนในการพูดคุยและให้เหตุผลกับเขา เรารู้ดีว่าไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามไปได้ เพราะฉะนั้นวิธีการในการแก้ปัญหา ความเห็นไม่ตรงกัน คือการอธิบายกันด้วยเหตุผล น่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

2

ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากปฏิกิริยาของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หลายท่านคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือเรื่องศรัทธาของสังคมที่มีต่อกฎหมายและหน่วยงานที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดซึ่งก็สะท้อนออกมาผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายพื้นที่ เช่น ในทวิตเตอร์ มีทั้งที่วิจารณ์ด้วยเหตุผลและมีที่ใช้คำด่าทอ แต่เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นและความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมที่มีต่อความยุติธรรมว่าการใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมนั้นยุติธรรมจริงหรือไม่ มีหลายกรณีที่สังคมมีความสงสัย ไม่ชัดเจน และสังคมก็ยังไม่ได้ยินคำตอบ ไม่มีคำอธิบายพร้อมหลักฐานที่กระจ่างแจ้ง

เช่น การแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมในคดีบอส อยู่วิทยา สังคมอาจจะมีคำถามที่ใหญ่กว่าว่าจะได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีต่อหรือไม่ เช่น คำถามว่ามีการแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมจริงหรือเปล่า มีความพยายามในการช่วยเหลือให้มีการหลบหนีไปต่างประเทศไหม มีการดำเนินการเป็นขบวนการเพื่อจัดฉากบีบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงคำให้การหรือพยานหลักฐานในสำนวนจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ประชาชนยังไม่มีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริง

สังคมอาจจะอยากรู้ว่า ถ้าไม่มีการแทรกแซงจริงก็ต้องบอกมาว่าอะไรที่เป็นหลักฐานว่าไม่มีการแทรกแซง แต่ถ้ามีการแทรกแซง สังคมก็อาจจะอยากรู้ต่อไปว่า แล้วรัฐบาลดำเนินการอะไรต่อจากนั้น การที่อยู่ดีๆ ก็เงียบไปทุกอย่าง สะท้อนถึงความไม่โปร่งใส แล้วยิ่งไม่โปร่งใสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นเท่านั้น

3

สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการยุติธรรมคือความเชื่อมั่นและศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม การทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความเชื่อมั่นหรือศรัทธาได้ โดยหลักแล้วต้องไม่มีจุดด่างพร้อย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศาลทำได้ดีในหลายเรื่อง เช่น เปิดให้มีการประกันตัวในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้ประกันโดยไม่มีหลักประกันในหลายคดี เรื่องการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ทำให้คนยากจนไม่ต้องเข้าคุก เป็นต้น แต่พอเรามาเจอปัญหาแบบในปัจจุบันที่ทำให้สังคมเกิดคำถาม ส่งผลไปสู่ความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นประเด็นที่เราต้องมาคุยกัน เพราะการสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมได้ ต้องไม่มีจุดด่างพร้อย

ถ้าพูดในฐานะคนสอนกฎหมายมหาชน การใช้อำนาจรัฐในช่วงเวลานี้ หลุดลอยจากหลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญหลายประการมาก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วทุกระบบกฎหมายก็ยอมรับหลักการพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการห้ามเลือกปฏิบัติ สิทธิในการพบทนาย สิทธิในการแจ้งให้ญาติทราบว่าถูกควบคุมตัว นี่คือหลักการพื้นฐานที่ระบบกฎหมายยอมรับทุกระบบ และไม่ได้เป็นข้อถกเถียงอะไรเลย แต่ว่าเป็นประเด็นที่เรายังต้องมาพูดกันอยู่วันนี้

4

พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สิ่งที่คณะนิติศาสตร์พร่ำเรียนกันมา 4 ปี เป็นการหล่อหลอมให้เป็นนักกฎหมาย แต่เราลืมตั้งคำถามกับการใช้กฎหมาย ส่วนหนึ่งเพราะเราพยายามสอนนักศึกษาให้เข้าใจตัวกฎหมาย แต่เราไม่เคยเข้าใจถึงแนวคิดพื้นฐานว่าคนเราต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างไร หรือในการดำเนินคดีทางอาญาเราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

เราเห็นสองมาตรฐานของกฎหมายในตำรากับกฎหมายในทางปฏิบัติอยู่มาก เช่น คดีที่ตำรวจไปจับคดีพนัน หวยออนไลน์ สามารถประกันตัวได้โดยง่าย แม้ว่าความผิดทางเศรษฐกิจมีมาก แล้วก็สร้างปัญหาทางสังคมมากกว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองด้วยซ้ำ การดำเนินงานส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมขาดการตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพหรือการตระหนักถึงความเป็นคน แต่เนื่องจากว่าเราเรียนเป็นนักกฎหมายเพื่อใช้กฎหมายมาตลอด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการตัดสินให้หรือไม่ให้ประกันตัว เราจะพิเคราะห์ได้ว่าอัตราโทษสูง อาจจะมีการกระทำซ้ำ หรือมีการก่อเหตุร้ายแรง ซึ่งตรงกับกฎหมายตามตำรา แต่เราลืมตั้งคำถามกับหลักความยุติธรรมที่จะไปใช้ตัวกฎหมายนั้นหรือเปล่า

เราเรียนกฎหมายโดยไม่ได้ให้นักศึกษาเข้าไปสู่กระบวนการที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เราให้เด็กเรียนแค่นี้ ตอบแค่นี้ ไปใช้กฎหมายอย่างนี้ จบแล้ว รวมถึงที่ผ่านมาเราเจอนักกฎหมายแนวอำนาจนิยม เรามองกฎหมายเป็นการกำกับ แต่ไม่เคยมองกฎหมายเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้สังคม หรือทำให้สังคมเดินต่อไปได้ นี่คือปัญหาของกระบวนการยุติธรรมถ้าเราไม่ปรับปรุงอะไรสักอย่าง สังคมเดินไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมคือโครงสร้างทั้งหมดของสังคม

5

ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การออกมาชุมนุมเป็นเสียงเล็กๆ ของคนที่หากไม่รวมตัวกันก็ไม่มีใครฟังเขา เขามีความคับข้องใจ มันเกิดจากความปรารถนาดีที่มีความเห็นต่างกันได้ การมีความเห็นต่างกันไม่น่าเป็นเหตุที่เขาจะต้องถูกควบคุมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องแยกระหว่างการชุมนุมที่มาแสดงความความเห็นกับการกระทำที่จะเป็นอันตราย

ยิ่งเขาถูกปิดกั้นเท่าไรยิ่งทำให้แรงต่อต้านมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่เราขาดคือความเข้าใจและการรับฟัง ต้องมีพื้นที่ในการรับฟังอย่างจริงจังจากคนที่มีอำนาจ ถ้าคนที่มีอำนาจในทางบริหาร ตุลาการ หรือนิติบัญญัติเปิดพื้นที่ให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนได้มีโอกาสส่งเสียงเรื่องของเขาด้วยเหตุผลและรับฟังกัน น่าจะดีกว่าการไปกดหรือบีบเขา จะยิ่งทำให้มีการต่อต้านและนำไปสู่การปะทะที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งเราไม่อยากจะเห็น

(เรื่องการตัดสินคดีการเมือง) ถ้าท่านจะใช้ดุลพินิจในทางที่ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เรายอมรับได้ว่ามีตัวบทกฎหมาย แต่เราอยากเห็นข้อเท็จจริงและหลักฐานสนับสนุน แม้ประชาชนหลายคนเห็นด้วยที่ศาลตัดสินไม่ให้ปล่อยชั่วคราว แต่ไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงแสดงอยู่ในคำสั่ง หากศาลเปิดเผยเรื่องนี้จะสะท้อนถึงความโปร่งใสว่าทำไมจึงมีคำสั่งแบบนั้น หรือกระทั่งหากให้ปล่อยชั่วคราวออกมา ก็คงมีคนอีกฝ่ายหนึ่งอยากจะได้คำตอบเหมือนกันว่าเพราะอะไร เหล่านี้เป็นเรื่องการแสดงความเห็นโดยสุจริต แต่อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าไปแตะในประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว

6

พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เราต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความเห็น ได้ส่งเสียงของเขาให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เขาไม่ได้พยายามสร้างปัญหาให้ประเทศ แต่เขาแสดงให้เห็นถึงความต้องการของเขา ถ้าเราคิดได้ว่าตอนเราเป็นวัยรุ่นเราก็คล้ายเขานั่นแหละ อยากฝากให้คิดว่าตอนวัยรุ่นเราคงไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องฟังและทำความเข้าใจเขา เพื่อให้เขาเป็นผู้ใหญ่และเป็นคนที่สร้างสังคมใหม่ให้เราให้ได้

7

สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

องค์กรตุลาการเป็นองค์กรสำคัญมากที่จะทำให้บ้านเมืองขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สงบสันติ การใช้อำนาจของท่าน ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยในรูปแบบใด ถ้ายืนอยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย อธิบายได้ด้วยเหตุด้วยผล ข้อเท็จจริง และกล้าที่จะยืนยันความถูกต้องโดยไม่สนใจการกดดัน ปราศจากอคติเพื่อยืนยันความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ ผมคิดว่าจะทำให้สังคมถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลได้ต่อไป

8

มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมาองค์กรตุลาการเป็นเสาหลักในการทำหน้าที่ค้ำจุนความสงบสุขของสังคมไทยและเป็นองค์กรหลักของกระบวนการยุติธรรม เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของชาติในทางนิติศาสตร์และการเมือง คนจำนวนมากมีความคาดหวังว่าผู้พิพากษาจะเป็นปราการด่านสุดท้ายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ผมอยากให้ทุกท่านที่ทำหน้าที่ในช่วงเวลานี้ได้กลับไปมองตัวเองตอนที่เป็นนักศึกษากฎหมาย เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีความฝัน มีพลังผลักดันที่บริสุทธิ์ อยากเห็นสังคมไทยก้าวหน้าไปด้วยความยุติธรรม ความสงบสุข ผมอยากให้ท่านทำหน้าที่โดยคิดว่าตัวเองเป็นนักศึกษากฎหมาย เรารู้หลักกฎหมาย ปรับใช้หลักกฎหมายอย่างซื่อตรงต่อหลักการที่เราเรียนมาด้วยความกล้าหาญ ความเป็นอิสระ มองเห็นอนาคตของสังคมไทยข้างหน้า

ผมอยากให้คิดว่าการทำหน้าที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงเวลานี้ แต่เป็นการทำให้สังคมไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ มีทางออกให้กับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ผมไม่อยากให้ทางออกสุดท้ายต้องปิดตายลง หวังว่าผู้พิพากษาจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save