fbpx
101 Policy Forum : ออกแบบสัญญาประชาคมใหม่ มีประชาชนเป็นใหญ่ในรัฐธรรมนูญ

101 Policy Forum : ออกแบบสัญญาประชาคมใหม่ มีประชาชนเป็นใหญ่ในรัฐธรรมนูญ

กองบรรณาธิการ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ทุกครั้งที่สังคมไทยเกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญหรือสัญญาประชาคมที่ยึดโยงผู้คนในสังคมไว้ด้วยกันมักเป็นสิ่งแรกที่ถูกฉีกทิ้ง ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติอันดับต้นๆ ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก

ที่ผ่านมา วิกฤตการเมืองได้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ 2560 ออกมาที่ทุกฝ่ายมองเห็นว่ากำลังเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของสังคมไทย คำถามคือหากทุกฝ่ายอยากเห็นประเทศไทยเดินหน้าต่อได้ เป็นไปได้หรือไม่อย่างไรที่สัญญาประชาคมใหม่จะเกิดขึ้นและได้รับฉันทามติจากประชาชนทุกฝ่าย เพื่อปลดชนวนระเบิดเวลา-ยุติวงจรอุบาทว์ลง

101Policy Forum ตอนที่ 2 : แก้รัฐธรรมนูญ ออกแบบสัญญาประชาคมใหม่ ร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนโดย วิเชียร ชวลิต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ, ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และปิยบุตร แสงกนกกุล คณะอนาคตใหม่

ตั้งแต่ประเด็นว่ารัฐธรรมนูญที่ดีเป็นอย่างไร ไปจนถึงมิติด้านสิทธิเสรีภาพ, ระบบเลือกตั้ง ส.ส., สมาชิกวุฒิสภา, ศาลและองค์กรอิสระ, และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

 

 

รัฐธรรมนูญในอุดมคติ

 

รัฐธรรมนูญที่ดี ที่เหมาะกับสังคมไทยเป็นอย่างไร และรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปตามหลักการหรือไม่เป็นไปตามหลักการที่ดีอย่างไร

วิเชียร สังคมไทยเรามีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีทั้งผู้มีอำนาจร่างและคณะยกร่าง แต่สำหรับผม รัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมไปมากคือ ฉบับ 2540 เพราะมีระบบที่ดี มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และเป็นประชาธิปไตยมากอย่างที่ทราบกันดี ข้อสังเกตผมก็คือรัฐธรรมนูญที่เรามีมาทั้งหมดนั้นมักจะมีการแก้น้อยกว่าการยกเลิกเป็นส่วนใหญ่

แต่วันนี้ ผมอยากจะเรียกร้องว่าเราเลิกเขียนธรรมนูญใหม่กันเสียที ไม่เช่นนั้นเราอาจจะเป็นตำนานที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก

ส่วนหลายคนที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาจาก คสช. เป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามสืบทอดอำนาจ ผมมองว่าถ้าไปอ่านกันดูดีๆ จะเห็นความใกล้เคียงและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2540 พอสมควร ทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและหลักการต่างๆ ส่วนฉบับปัจจุบันถ้าใช้แล้วมีปัญหาอะไร อะไรบ้างที่เป็นประเด็นปัญหา เราก็มาพิจารณาปรับแก้ตรงส่วนนั้น

เวลายกร่างหรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้เขียนก็จะเอาสิ่งที่ตัวเองอยากได้เขียนใส่เข้าไป แต่ใส่ไปแล้วไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาหรือไม่ ถ้ามองกลับกัน อะไรที่ใช้แล้วมีปัญหา เราไปพิจารณาเอาออก อะไรที่ดีเรารักษาไว้ รัฐธรรมนูญที่ดีควรจะเขียนให้น้อยและสั้น แต่เวลานี้เราจับทุกอย่างเขียนไปในรัฐธรรมนูญจนไปติดกับอยู่กับถ้อยคำ แล้วก็ไปสร้างองค์กรมาวินิจฉัยถ้อยคำ ซึ่งจริงๆ รัฐธรรมนูญควรจะเป็นกติกากลางซึ่งคนในสังคมยอมรับ มีความเข้าใจไปในทางเดียวกัน สังคมถึงจะอยู่รอด

ชูศักดิ์ : เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญที่ดี ส่วนใหญ่ก็จะมองกันที่เนื้อหาสาระของฉบับนั้นๆ แต่ผมมองว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องมองถึงที่มาและเนื้อหาสาระประกอบกัน

ที่มาของรัฐธรรมนูญที่ดี ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะส่วนร่วมในลักษณะใดก็แล้วแต่ เหตุผลก็เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เมื่อเราจะยกร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถ้าไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเลยนั้นเป็นเรื่องที่ผิด

ขั้นตอนการยกร่าง ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ส่วนถ้ายกร่างเสร็จแล้วก็ต้องไปขอความเห็นชอบจากประชาชนด้วย หรือที่เราเรียกกันว่าการทำประชามติ

ส่วนสาระของรัฐธรรมนูญที่ดี ประเทศไทยเราเน้นการเขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญต้องมีความชัดเจน มีความรัดกุม ไม่เปิดโอกาสให้ตีความขยายความอย่างกว้างขวางเหมือนที่ผ่านมา

ถัดมาต้องมีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจน การใดๆ ที่จะกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องมีบทบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง

ประการถัดมา ต้องมีบทบัญญัติเรื่องรูปแบบของรัฐ องคาพยพทั้งหลายของรัฐต้องมีบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจน และต้องจัดสมดุลองค์กรทั้งหลายของรัฐที่จะใช้อํานาจอธิปไตย ไม่ใช่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าองค์กรอื่นๆ

ที่สำคัญคือต้องมีบัญญัติวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ใช่บัญญัติไว้ให้แก้ไม่ได้เลยแบบเช่นในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ถ้าสรุปสั้นๆ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง 1. ที่มาไม่เป็นกลาง ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว.250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้  2. ดุลอำนาจไม่ชัดเจน มีการให้อำนาจตุลาการมากเกินไป โดยฉพาะอำนาจการยุบพรรคการเมือง 3. สิทธิในการตรวจสอบนักการเมืองและองค์กรอิสระทั้งหลายถูกตัดทิ้งหมด เมื่อก่อนประชาชนยังสามารถเข้าชื่อเสนอถอดถอนได้ 4. ที่มาของอำนาจองค์กรอิสระโดยเฉพาะการให้ศาลเข้าไปคัดเลือกตำแหน่งองค์กรอิสระทั้งหลายนั้นมีมากเกินไป 5. ระบบเลือกตั้งในปัจจุบันสับสนวุ่นวายไปหมด 6. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการล็อกอนาคตประเทศไว้ และ 7. หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญช่างยากเย็น

นิพิฏฐ์ : เวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญ อย่างที่เราเรียนและรู้มาว่ามันเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันโดยไม่มีข้อพิพาท แต่ถ้ามีข้อพิพาทเราจะยุติข้อพิพาทได้อย่างไร แล้วเมื่อเราไปดูตัวอย่างจากประเทศทั่วโลก ไม่ว่าพื้นที่ไหนที่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งนั้นจะยุติได้ด้วยรัฐธรรมนูญทั้งนั้นเลย จะไปประเทศไทยอาจจะเป็นข้อยกเว้นหนึ่งเดียวในโลกก็ได้ แต่พอเราพูดถึงรัฐธรรมนูญ ดูจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งไม่ใช่ยุติความขัดแย้ง

ถามว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตรงไหน ผมไม่ยอมรับตั้งแต่ทำประชามติแล้ว รัฐธรรมนูญจะดีได้ คนต้องมีฉันทามติยอมรับร่วมกัน จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่บรรยากาศและสิ่งที่ใส่ในรัฐธรรมนูญมันไม่เป็นประชาธิปไตย

สิ่งที่มียาพิษอยู่ไม่มีทางได้รับการยอมรับ สมมุติว่าผมลงแข่งวิ่งแล้วผมกินยาโด๊ป ถ้าผมชนะขึ้นมาแล้วถูกจับได้ว่ามีสารกระตุ้น ผมยังยืนยันว่าชนะ เราจะรับกติกาแบบนี้ไหม เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มต้นด้วยความไม่ไว้วางใจ และเราต้องเริ่มร่างกันใหม่ให้ทุกคนมีฉันทามติร่วมกัน

การออกกฎหมายจะใช้สมมติฐานในปัจจุบัน แต่ไม่ได้ออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้วก็จบ แต่แก้ปัญหาในอนาคตด้วย ถามว่ารัฐธรรมนูญควรจะอยู่บนอุดมคติไหม แน่นอน รัฐธรรมนูญควรมีความเป็นอุดมคติ สังคมที่ดีควรจะมีกติกาอย่างไรที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นมีทั้งความเป็นจริงที่เป็นพลวัต และรัฐธรรมนูญต้องเป็นอุดมคติของรัฐนั้นๆ ด้วย

ปิยบุตร : รัฐธรรมนูญที่ดีคืออะไร ผมคิดว่ามีสัก 5 องค์ประกอบ 1. รัฐธรรมนูญที่ดีต้องกำเนิดมาจากประชาชนก่อน เพราะรากศัพท์ของมันสะท้อนการตัดสินใจร่วมกันของประชาชน คำว่า constitute มาจากคำว่า co กับ institute หมายถึงการก่อตั้งร่วมกัน 2. อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้นระบบสถาบันการเมืองต่างๆ ต้องสะท้อนถึงเชื่อมโยงกับประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่ 3. การแบ่งแยกอำนาจของสถาบันการเมืองต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีดุลยภาพ มีระบบการจำกัดและการตรวจสอบอำนาจต่างๆ 4. ต้องประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย

เช่น เมื่อใดที่มีการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้ว จะมีโอกาสเปลี่ยนการตัดสินใจได้ ก็ต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก องค์กรทางการเมืองต่างๆ จะถูกควบคุมตรวจสอบจากประชาชนผ่านการแสดงออกของพวกเขา ส่วนจะแสดงออกได้ดีมีคุณภาพเพียงใด ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกับสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ชีวิตของคุณไม่ดีคุณก็ไม่สนใจที่จะแสดงออก เพราะคุณต้องทำมาหาเช้ากินค่ำ เพราะฉะนั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต้องไปด้วยกันกับสิทธิ์ในการดำรงชีวิตที่ดี

และสุดท้าย ประการที่ 5. รัฐธรรมนูญเมื่อตราออกไปแล้วย่อมมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เสมอ แน่นอนว่าไม่ใช่แก้ง่ายอย่างผิดปกติ แต่ต้องมีช่องทางในการแก้ เพราะว่าสถานการณ์บางช่วงบางเวลามันเปลี่ยนไป ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 บกพร่องอย่างไร ผมคิดว่าใน 5 องค์ประกอบที่กล่าวมาไม่มีเลย และอาจกำลังนำสังคมไทยไปสู่ทางตัน แต่ผมยังพอมีความหวังที่จะแก้ไขได้

รัฐธรรมนูญมันมีเสน่ห์อย่างหนึ่งคือมีองค์ประกอบของทั้งมติทางการเมืองและมติทางกฎหมาย ในมติทางการเมืองหมายถึงเมื่อเราประกอบร่างสร้างตัวขึ้นมากลายเป็นรัฐ แล้วเราตกลงกันว่าแต่ละรัฐในยุคประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐ ดังนั้นเมื่อคุณจะออกแบบกติกาให้รัฐใช้ จึงต้องเป็นลักษณะที่ไม่มีใครกินรวบได้ทั้งหมด แต่เป็นพื้นที่กว้างๆ ให้ทุกคนทุกฝ่ายได้เข้ามาอยู่ในการแข่งขันกันตามระบบ

รัฐธรรมนูญจึงเป็นฉันทามติของสังคมนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลา และแน่นอนที่สุด สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกช่วงขณะ จึงต้องเปิดทางให้มีการแก้ไขได้ ถ้าแก้ยาก เสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้แก้ก็จะไปจบตรงที่การฉีก ไม่ฉีกด้วยทหารก็ฉีกด้วยประชาชน

เพราะฉะนั้นวิธีการออกแบบรัฐธรรมนูญต้องคิดก่อนว่าใครเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนก็เป็นคนกำหนด เพียงแต่เรามักจะบอกว่าประชาชนไม่รู้เรื่อง จะเขียนรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

อย่างน้อยมันมีกรอบกว้างๆ อยู่ แน่นอนว่ามันต้องมีนักเทคนิคเข้ามาช่วยปรุงแต่ง แต่ก็มีกรอบกว้างๆ อยู่ว่าเขาต้องการอะไรในการปกครองประเทศ ผมว่าที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือหาฉันทามติให้ได้ในสังคมไทย ซึ่งผมประเมินว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบมาไม่ให้คุยกัน ออกแบบมาในลักษณะที่ผลักคนออกไป

 

วิเชียร ชวลิต
วิเชียร ชวลิต

 

สิทธิและเสรีภาพ

 

“สิทธิเสรีภาพของประชาชน” ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีหลักการสำคัญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งสิทธิเสรีภาพในแสดงออก ในร่างกาย การชุมนุม ไม่ต่างไปจากฉบับ 2540 และ 2550 แต่ฉบับ 2560 มีหมวดใหม่เพิ่มขึ้นมาคือ “หน้าที่ของรัฐ” เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เดิมเป็นสิทธิของประชาชน แต่ปัจจุบันถูกเขียนใหม่ว่า “รัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร” แต่จะตีความอย่างไร ระหว่างรัฐมีหน้าที่กับประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ

หรือกรณีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันเขียนว่า สิทธิดังกล่าวสำหรับผู้ยากไร้ ซึ่งอาจแปลว่าสิทธิดังกล่าวไม่ครอบคลุมทุกคนเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ คำถามคือเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้งานแล้ว “สิทธิเสรีภาพของประชาชน” ดีขึ้นหรือแย่ลง

วิเชียร ในรัฐธรรมนูญเขียนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้เยอะ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 และ 2560 ฉบับ 2550 มีรายละเอียดมาก ยาว และทำยากมาก จนทำให้เป็นปัญหา พอฉบับ 2560 จึงย้อนกลับไปเขียนกรอบและแนวทางเหมือนฉบับ 2540 แต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเรื่องสิทธิและหน้าที่ของรัฐ

ผมมองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปลี่ยนสิทธิ์บางอย่างให้เป็นหน้าที่ของรัฐนั้นดีกว่า สามารถเจาะจงได้ว่ารัฐต้องทำเรื่องอะไร ถ้ารัฐไม่ทำ เราสามารถกล่าวหาหรือฟ้องร้องได้ว่าทำไมรัฐไม่ทำ แต่ถ้าไม่เขียนเอาไว้ พอรัฐไม่ทำ ประชาชนก็ต้องหาทางสู้กับรัฐเอง ไปร้องเรียนกับองค์กรต่างๆ เองว่าทำไมรัฐไม่ดูแล

ถ้าระบุให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เวลารัฐจะออกนโยบาย ทำโครงการ จัดสรรงบประมาณ ต้องดูว่าตนเองมีหน้าที่อะไร ทำครบหรือไม่ ไม่งั้นรัฐผิดแน่นอน

ส่วนประเด็นเรื่องผู้ยากไร้ ผมเคยอยู่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้ง กลุ่มคนที่เสียเปรียบ คนที่ไม่มีโอกาส กลุ่มเหล่านี้รัฐต้องหยิบยกขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ เพราะเขาดูแลตัวเองไม่ได้ รัฐมีหน้าที่ช่วยเหลือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้แปลว่าจะทำให้คนอื่นไม่ได้สิทธิ คนอื่นได้สิทธิอยู่แล้ว สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่คนทั่วไปได้รับการคุ้มครองเสมอภาคกัน แต่ขณะเดียวกัน การอุ้มชูดูแลคนด้อยโอกาส ผมก็มองว่าเป็นการคุ้มครองที่ดี

ปิยบุตร เวลาเราดูว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีจริงหรือไม่ ไม่ใช่แค่มองว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้เยอะแค่ไหน น้อยแค่ไหน ถ้าเขียนไว้เยอะมาก แต่ใช้การไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ หรือถ้าเขียนน้อยจนเรียกได้ว่าสิทธิที่เป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหายไปหมด แบบนี้ก็ไม่ได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาใหญ่อยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ไม่ว่าสิทธิเสรีภาพของเราจะเขียนไว้ดีอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเจอมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ทำให้หมวดสิทธิเสรีภาพหายไปหมดเลย นั่นคือมาตรา 279 ซึ่งรับรองการกระทำทุกอย่างของคสช. ถ้าวันนี้พวกเราอยากโต้แย้งว่า ประกาศคำสั่งคสช. ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนด คำตอบคือโต้แย้งไม่ได้ เพราะมาตรา 279 รับรองไว้หมดแล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่ามาตราเดียวลบล้างสิทธิเสรีภาพหายไปได้ทั้งฉบับ

2. ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของไทยตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา คือ เวลาประกันสิทธิเสรีภาพแล้ว เราจะมีวรรคที่สอง ที่บอกว่าสิทธิเสรีภาพตามวรรคแรกสามารถจำกัดได้ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างตามที่กฎหมายบัญญัติ ปัญหาคือเวลานี้มีการจำกัดแบบที่เรียกได้ว่าเนื้อของสิทธิเสรีภาพแทบไม่เหลือเลย โดยใช้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาจำกัด พอจะโต้แย้งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าพ.ร.บ.แบบไหนขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุหรือไม่ ต้องไปรอลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร

ในรัฐธรรมนูญ 2540 เคยมีมาตรา 29 เขียนว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพสามารถทำได้โดยมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เพื่อให้เป็นมาตรวัดในกรณีที่มีการโต้แย้งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะตัดสินได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิเกินกว่าเหตุไหม แต่ตอนนี้มาตราในลักษณะที่เป็นกรอบเบื้องต้นของการจำกัดสิทธิ์หายไปแล้ว

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรแก้ 2 เรื่อง คือมาตรา 279 ที่ทำให้สิทธิเสรีภาพหายไปทั้งฉบับ กับนำมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ใหม่

นิพิฏฐ์ ก่อนอื่นผมอยากให้ประชาชนตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามองรัฐอย่างไร เราอยู่ในส่วนไหนของประเทศนี้ เรามองว่าตัวเองใหญ่หรือเล็กกว่ารัฐ ผมคิดว่าวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญในตอนนี้ เป็นการเขียนให้รัฐใหญ่ แต่ประชาชนเล็ก เขียนว่ารัฐเป็นฝ่ายให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน รัฐต้องให้สิ่งต่างๆ แก่ประชาชน ถ้ารัฐไม่ให้ประชาชนก็ไม่ได้ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเขียนรายละเอียดทั้งหมด เพราะโดยหลักการ พอประชาชนเกิดมา เขาก็มีสิทธิโดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว

พอประชาชนมองว่าตัวเองเล็กกว่ารัฐ จะรอรัฐให้ความช่วยเหลืออย่างเดียว เช่น นโยบายที่บอกว่ารัฐบาลจะมอบเงินช่วยคน 300 บาท หรือ 500 บาทต่อเดือน พอถึงปลายเดือนคนก็เฝ้ารอ ถ้าเป็นแบบนี้ จะทำให้เราต้องเดินตามรัฐไปตลอด ไม่มีโอกาสจะเติบโตทางสติปัญญาได้เลย

รัฐที่ดีต้องทำให้คนรู้สึกเหมือนไม่มีรัฐบาล แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นตรงกันข้าม คนรู้สึกว่ารัฐที่ดีคือมีรัฐบาลที่ให้เขาทุกอย่าง มันกลับหลักการหมด

ชูศักดิ์ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ปิยบุตร บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 29 ถ้าเราติดตามการร่างกฎหมายที่ใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพ เขาจะบอกไว้ก่อนเขียนมาตราอื่นๆ ว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรานั้นให้อำนาจไว้

ถ้าติดตามต่อไปจะเห็นว่าการตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีกระบวนการตรวจสอบว่ากฎหมายเหล่านั้นตราขึ้นอย่างไรด้วย พูดง่ายๆ ว่าในยุคประชาธิปไตยปกติ กว่าจะตราขึ้นได้ สภาผู้แทนราษฎรมีการถกเถียงกันมาก เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนใหญ่ที่ออกมา มักออกโดยสภาเดียวและเป็นสภาแต่งตั้ง เช่น กฎหมายชุมนุมสาธารณะ ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ส่วนสิทธิเสรีภาพประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมือง ตุลาการ องค์กรอิสระทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนอีกต่อไป กลับไปให้อำนาจ ป.ป.ช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง กว่าป.ป.ช.จะทำได้ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุด ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง ร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ถ้า ป.ป.ช. ไม่ทำก็จบ การเข้าชื่อถอดถอนเป็นเรื่องใหญ่ ควรให้อำนาจประชาชน เพราะประชาชนเป็นคนเลือกนักการเมืองเข้ามา ถ้านักการเมืองทำไม่ดี ประชาชนก็ควรมีอำนาจถอดถอนเขาได้

 

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ชูศักดิ์ ศิรินิล

 

ระบบเลือกตั้ง ส.ส.

หนึ่งในกติกาที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560 คือกติกาที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ) ที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส.ส. และการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบใหม่ เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA) ที่กำหนดให้มี ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน

ด้วยระบบแบบนี้ ประชาชนมีสิทธิ์กาบัตรเลือกตั้งใบเดียว หลังจากนั้น กกต. จะนำคะแนนมาคำนวณตามสูตรเพื่อประกาศจำนวน ส.ส. ทั้ง 2 แบบ

แต่หลังจากเลือกตั้งผ่านพ้นก็เกิดปัญหาหลายอย่างสืบเนื่องมาจากกติกานี้ เช่น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคะแนนของพรรคใด ก็จะส่งผลต่อสัดส่วนของ ส.ส บัญชีรายชื่อด้วย หรือมีการคำนวณสูตรที่คะแนนกับจำนวน ส.ส. ไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น

คำถามคือควรจะแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ และถ้าจะแก้ต้องแก้อย่างไร

ชูศักดิ์ องค์ประกอบของระบบการเลือกตั้งที่ดีมี 4 ประการ โดยยึดโยงกับประชาชนเป็นสำคัญ ดังนี้ 1. ต้องเป็นระบบที่ประชาชนไม่เกิดความสับสน เพราะจากระบบตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีบัตรใบเดียว แต่คะแนนจะถูกนำไปคำนวณทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ซึ่งคนอาจจะสับสนว่าจะกาอย่างไร 2. ต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ให้รู้ว่าเขาเลือก ส.ส. เขตเพื่ออะไร และเลือกพรรคการเมืองเพื่ออะไร

3. ต้องสร้างความมีเสถียรภาพให้รัฐบาลพอสมควร ต้องไม่ประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก เพราะสุดท้ายจะนำมาสู่การต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ 4. ต้องเป็นระบบที่ไม่สร้างปัญหาในการปฏิบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เช่น ปัญหาในการคำนวณสูตรจนประกาศผลรายชื่อ ส.ส. ไม่ได้ หรือมีการตัดสิทธิ์ ส.ส. หลังประกาศผลแล้ว โดยไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัดและเป็นธรรม

แต่ระบบเลือกตั้งนี้มีปัญหาคือ การคำนวณคะแนนทำให้พรรคเล็กได้จำนวน ส.ส. ไม่สอดคล้องกับคะแนน ส.ส. พึงมี จนมีพรรคเล็กจำนวนมากที่มี ส.ส. 1 คนอยู่ในสภา และประเด็นเรื่องการคิดคำนวณ ส.ส. ใหม่ในกรณีที่มีการทุจริตเลือกตั้ง ทำให้จำนวน ส.ส. ไม่เสถียร มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการเปิดโอกาสให้มีการยุบพรรคการเมืองกลางทาง จน ส.ส. ต้องย้ายพรรค และนำมาสู่ความสับสนในการอธิบายลำดับของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งทั้งหมดนี้นำมาสู่ปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลในท้ายที่สุด ผมคิดว่าระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 น่าจะเหมาะสมกับสังคมไทยมากกว่า

นิพิฏฐ์ : ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการใช้ primary vote คือพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งใดต้องทำ primary vote ก่อน ซึ่งฟังแล้วก็ดูดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่ใช่ เนื่องจาก primary vote อาจไม่ได้ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน

กฎหมายเขียนไว้ว่า พรรคการเมืองจะส่ง ส.ส. เขตได้ เขตนั้นต้องมีสมาชิก 100 คนเพื่อทำ primary vote ตามกติกาคือ สมาชิกที่มีอยู่ 100 คน ต้องมาประชุมกันเกินกึ่งหนึ่ง แล้วคน 51 คนนั่นแหละที่เป็นคนเลือกว่าพรรคต้องส่งคนนี้ลงในเขตนี้ ถึงจะเสนอมาได้ 2 ชื่อก็จริงอยู่ แต่ใน 2 ชื่อนี้ก็เอาคนอื่นไม่ได้แล้ว ถามว่าอย่างนี้เป็น primary ไหม ผมว่าไม่ใช่ เพราะว่าในแต่ละเขต ประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีหนึ่งแสนคนขึ้นไป แต่เราเอา 51 คนมานั่งบอกว่าเอาคนนี้มาเป็นตัวแทนลงสมัคร สู้เราเอาคนที่มีศักยภาพดี ที่ตัดสินใจเลือกเองยังดีกว่าให้ 51 คนมาเลือก ซึ่งผมว่าไม่ได้ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมหรอก

ส่วนประเด็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็มีปัญหาจาก primary vote เช่นเดียวกัน เป็นปัญหาเรื่องการสรรหาคนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ถ้าเราจะเชิญใครเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เช่น อยากได้คนที่เก่งด้านการต่างประเทศมาเป็น ส.ส. พอเราไปเชิญเขามาลงสมัคร เขาก็จะถามว่าจะให้ลงลำดับที่เท่าไหร่ เราก็ไม่ทราบ เพราะต้องให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกทำ primary ก่อน ซึ่งคนที่เราเชิญมาอาจจะอยู่ในคิวที่ 100 ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเชิญคนที่มีความรู้ความสามารถมาลงระบบบัญชีรายชื่อสมัยหน้ายากมากๆ เลย พรรคก็จะขาดบุคลากรที่มีความสามารถแต่ละด้าน แต่จะให้เขาไปลงเขต เขาก็ไม่รู้จักใครในเขตนั้น ก็ลงไม่ได้อยู่ดี

ผมเสนอว่าเมื่อประเทศไทยมี ส.ส.อยู่ 2 ระบบ ก็ควรจะให้ประชาชนเลือกทั้ง 2 ระบบแยกกัน โดยจัดสัดส่วนของ ส.ส. ตามความสมดุล วันนี้ประชาชนอาจจะไม่ชอบผม แต่ชอบพรรคผม เขาก็อาจจะเลือกพรรคผมได้ แต่ถ้าเขาไม่ชอบพรรคผม แต่คนในเขตยังโอเคกับผมอยู่ เขาก็เลือกผมแต่ไม่เลือกพรรคได้ ผมว่าอย่างนี้น่าจะวิน-วิน ไม่ขัดต่อความต้องการของประชาชน”

ปิยบุตร ทุกระบบการเลือกตั้งมีข้ออ่อนทั้งสิ้น ไม่มีระบบไหนที่สมบูรณ์ เพียงแต่ว่าถ้าเลือกใช้แล้วต้องปิดข้ออ่อนนั้นให้ได้ แต่ของไทยตั้งแต่หลังรัฐประหาร2549เป็นต้นมา มีการออกแบบระบบเลือกตั้งโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองบางอย่าง เพื่อจะคาดการณ์ว่ารัฐบาลต่อไปจะเป็นใคร ซึ่งถ้าเริ่มต้นอย่างนี้ผิดหมด

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 มีการออกแบบเพื่อยับยั้งพรรคการเมืองอันดับที่ 1 เพื่อไม่ให้มีการผูกขาดจากพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีเป้าหมายเช่นเดียวกัน เราต้องกลับมาตั้งหลักที่การสร้างระบบเลือกตั้งที่ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย

รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้อยู่ตอนนี้ ไม่วันใดวันหนึ่งทุกพรรคก็จะเดือดร้อนกันหมด วันนี้พรรคเพื่อไทยโดนไปก่อน ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้ พรรคผมซึ่งโดนยุบไปแล้วได้ปาร์ตี้ลิสต์มาก พรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ก็ต้องลุ้นเอารายเขตบ้าง ปาร์ตี้ลิสต์บ้าง พรรคพลังประชารัฐ วันหน้าถ้าเขตเยอะกว่านี้ ปาร์ตี้ลิสต์ก็จะหายหมด เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าในอนาคต คะแนนนิยมจะขึ้นลงเท่าไหร่ การเลือกตั้งครั้งหน้าผมว่าคนจะต้องคำนวณแล้วว่าจะต้องไปอยู่เขตหรือไปอยู่บัญชีรายชื่อ เพราะสับสนอลหม่านไปหมด

เราควรจะนำระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยทำ แม้จะมีการอ้างว่ามีต้นแบบมาจากเยอรมันก็ตาม แต่ในรายละเอียดยังแตกต่างกันอยู่มาก เขาอธิบายว่า การเลือกตั้งแบบเยอรมันให้เลือกทั้งคน เลือกทั้งพรรค แล้วจึงรวบรวมคะแนนทั้งประเทศมาทอนเป็น ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ก่อนจะหัก ส.ส. เขตออกไปจากจำนวน ส.ส. พึงมี แล้วส่วนที่เหลือให้แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งยังมีการป้องกันพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาในสภาจนมีพรรคการเมืองเยอะเกินไป โดยกำหนดว่าถ้าพรรคไหนได้คะแนนไม่ถึง 5% จำนวน ส.ส.จะเป็นศูนย์ทันที อีกทั้งระบบยังไม่มีการกำหนดจำนวน ส.ส.ตายตัว เพราะมีโอกาสที่บางพรรคจะมี ส.ส.มากกว่าคะแนนทั้งประเทศ ซึ่งหากใช้ระบบนี้จะทำให้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตสัมพันธ์กับจำนวน ส.ส.ที่เป็นจริง

สิ่งที่น่ากลัวกว่ารูปแบบการเลือกตั้งที่พิสดารคือการไม่มีความแน่นอนชัดเจนให้ผู้เล่นทางการเมือง หรือแม้กระทั่งผู้คุมกฎอย่าง กกต. เอง พอไม่มีเกณฑ์ที่รู้ล่วงหน้า หมายความว่าเกณฑ์จะถูกเปลี่ยนไปตลอดตามอำเภอใจของผู้คุมกฎ เช่น คำนวณแบบนี้ทำให้ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่หายไป 7 คน พอไม่มีใครบอกกฎ ก็ตีความได้หลายแบบ มีหลายสูตรให้เลือก หรือดึง ส.ส.เข้าออก เพราะฉะนั้นผู้คุมกติกาต้องบอกผู้เล่นก่อน ผู้เล่นเขาจะได้รู้ และจะได้โต้แย้งถูก

วิเชียร ผมเห็นด้วยว่ามาตรา 91 เรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถ้าให้สูตรคำนวณชัดเจนได้ หลายประเด็นก็จะลดปัญหา เพราะการคำนวณคะแนนใหม่ในกรณีมีการทุจริตการเลือกตั้ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสภาสมมติเราคำนวณคะแนนเสียงได้แล้ว จัดตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว พอมีการเลือกตั้งใหม่กรณีทุจริตครั้งหนึ่งมันหวั่นไหว คะแนนก็จะเปลี่ยน ผู้คนจะมองว่าแล้วรัฐบาลจะอยู่รอดไหม จะเกิดอะไรขึ้น ทำให้เกิดสภาวะความไม่มั่นคงของรัฐบาล ซึ่งอันตราย เพราะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ

ส่วนเรื่อง primary vote ในการเลือกตั้งต้องประกาศเขตเลือกตั้งใหม่ทุกครั้ง ซึ่งพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการก่อนทำ primary vote ได้ทัน ยังไม่นับว่าหากเกิดความเห็นไม่ตรงกันระหว่างพรรคกับสมาชิก ระบบ primary vote จะยิ่งทำให้ปัญหา

ผมเห็นด้วยว่าหลักการของ primary vote เป็นเรื่องดี เพราะระบบพรรคการเมืองบ้านเรา ทุกคนทราบดีว่าพรรคการเมืองนี้เป็นเป็นพรรคของใคร ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดี หลายคนอาจจะบอกว่านี่คือกับดัก แต่ผมมองว่าการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมืองต้องทำให้สมาชิกมีส่วนร่วมการเมืองได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่อย่างนั้นพรรคการเมืองก็เป็นของผู้บริหาร ถ้าผมเป็นผู้บริหาร ผมก็จัดการหมดทุกอย่าง สมาชิกไม่มีสิทธิ์รับรู้อะไร แต่ primary voteจะทำให้พรรคการเมืองต้องไปสู่กระบวนการของการมีส่วนร่วม แต่เราต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับระบบนี้

 

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

 

วุฒิสภา

 

ประเด็นสำคัญของระบบวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วย ส.ว. 250 คน เป็นชุดพิเศษซึ่งมีวาระ 5 ปี เพื่อรักษาการปฏิรูปประเทศและการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดย ส.ว. 6 คนมาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ 194 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ตั้งขึ้น อีก 50 คนมาจากการเปิดรับสมัครและแบ่งกลุ่มตามอาชีพออกเป็น 11 กลุ่ม แยกตามอำเภอและจังหวัด แล้วให้ คสช. คัดเลือกในรอบสุดท้าย

เมื่อ ส.ว. ชุดนี้ทำหน้าที่ครบวาระ 5 ปี จะมี ส.ว. ชุดต่อไปจำนวน 200 คน ที่มาจากระบบเปิดรับสมัคร โดยแบ่งตามกลุ่มอาชีพและคัดเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเท่านั้น ระบบดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ หรือระบบวุฒิสภาไทยควรมีหน้าตาแบบไหน

นิพิฏฐ์ : ทุกคนเห็นตรงกันหมดว่าระบบวุฒิสภาในขณะนี้ผิดหลักการ ทั้งเรื่องวิธีการดำรงตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ ผมเข้าใจว่าไม่มีประเทศไหนในโลกทำแบบนี้ ที่ให้ ส.ว. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ถ้าพูดกันตรงไปตรงมาว่าใครได้ประโยชน์จากระบบวุฒิสภาแบบนี้ ก็ต้องตอบว่าคือคนร่างรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจอยู่ แต่ถามว่าได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนไหม ก็ไม่ บางคนบางพรรคบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อประโยชน์ของเขา

ผมไม่ได้คิดซับซ้อน ใครจะเป็นรัฐบาลก็ควรให้ประชาชนกำหนด เขาเลือกพรรคไหนมากที่สุด พรรคนั้นก็ได้เป็นรัฐบาล แต่พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดกลับไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล นี่เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้และกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ แม้เราจะอยากแก้เรื่องวุฒิสภาซึ่งคงยังแก้ไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าเวลาเราแก้รัฐธรรมนูญ เราจะแก้มาตรา 256 เพื่อเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยหรือจะแก้รายมาตรา ผมเสนอให้ลองทำทีโออาร์ดู สมมติสภาเปิดกว้างให้แก้มาตรา 256 ได้ เราก็วางกรอบไว้ว่าอาจจะแก้ 10 ประเด็นอะไรบ้าง แล้วอีก 4-5 ปีค่อยแก้ส่วนอื่นต่อไป ก็พอเป็นไปได้ แต่ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมดเลย ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าส่วนที่ดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังมี แก้ทั้งหมดเลยอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้

ชูศักดิ์ : ผมมี 2 ประเด็นเกี่ยวกับระบบวุฒิสภา 1.ปัจจุบันการเลือก ส.ว. ตามบทถาวรหรือตามกลุ่มอาชีพยังไม่มีการบังคับใช้ เพราะเราบังคับใช้ตามบทเฉพาะกาลอยู่ ถามว่าเห็นด้วยไหม ผมไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว. ไม่ได้ผ่านการเลือกจากประชาชน แต่เป็นการเลือกกันเองตามกลุ่ม ซึ่งก็จะมีปัญหาตามมา ที่สำคัญคือการเลือกแบบนี้สามารถบล๊อกโหวตกันได้ว่าจะเอาหรือไม่เอาใคร เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยมีสภาสนามม้า จัดตั้งกันมา แล้วสุดท้ายก็ให้เลือกแบบนี้

2. ผมเห็นว่า ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลไม่มีความชอบธรรมเลย ในรัฐธรรมนูญระบุว่า “ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกินกว่า 12 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางทางการเมืองมาคัดเลือก ส.ว. จำนวน 200 คน” ซึ่งทราบกันดีว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นกรรมการสรรหาที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. และมี คสช. อีกหลายคนมาเป็นกรรมการสรรหาแล้วก็เลือก คสช. ด้วยกันเองมาเป็นวุฒิสมาชิก การที่ ส.ว. จำนวน 249 คน เทคะแนนเสียงให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นสิ่งที่ผมมองว่าไม่มีความชอบธรรมเลย

ผมมองว่าระบบนี้ต้องยกเลิก แต่ถ้าไปยกเลิก ส.ว. ก็อาจจะแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ เพราะมาตรา 256 ระบุว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องเอา ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 80 กว่าคนมาลงคะแนนด้วย นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่เราต้องคิดต่อไป

วิเชียร : รัฐธรรมนูญเรามีองค์กรอิสระ มีรัฐสภา เลยต้องให้วุฒิสมาชิกทำหน้าที่คัดเลือกและกลั่นกรองบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระ นี่คือหน้าที่ ไม่นับเรื่องบทเฉพาะกาลที่พูดกันไปแล้ว ผมลองคิดว่า ถ้าไม่มี ส.ว. ใครจะทำหน้าที่ตรงนี้

กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. จะมี 2 ทาง ทางแรกคือใช้วิธีเลือกตั้งจากประชาชน เราเคยเลือกและปรากฏว่า ส.ว. เลือกมาแล้วมีอำนาจน้อยกว่า ส.ส. แต่ ส.ว. ได้รับเลือกมาจากเขตใหญ่ทั้งจังหวัดเลย ก็เป็นประเด็นปัญหาอีก พอมาใช้วิธีการเลือกทางอ้อม คือเลือกจากกลุ่มอาชีพ ก็เป็นปัญหาเรื่องสายใครสายมัน

ครั้งหนึ่งเราเคยใช้วิธีเลือกแบบห้ามหาเสียง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาด แล้วพอห้ามหาเสียงแต่ให้สมัครได้ คนที่มีสายพรรคการเมืองอยู่เดิมก็จะได้เปรียบ เพราะจะสื่อสารต่อๆ กันไปได้ พวกนี้คือข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่เกิดขึ้น

แต่ผมมองว่า วิธีการเลือกทางอ้อมให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ยังจำเป็นและยังควรใช้วิธีนี้อยู่ ส่วนเรื่องบทเฉพาะกาลหรือชุดพิเศษ เราคงไปเสนอแก้ไขไม่ได้ เพราะถ้าเราไปเสนอแก้เรื่องพวกนี้ เรื่องอื่นที่อยากจะแก้ก็แก้ไม่ได้ จะล่มไปหมด เพราะฉะนั้ เรามาดูกันในส่วนที่เราสามารถดำเนินการได้ดีกว่า

ปิยบุตร : ก่อนจะไปถึงคำถามว่าเราจำเป็นต้องมีวุฒิสภาหรือไม่ ผมคิดว่าเราตั้งต้นที่ความคิดว่า “ระบบรัฐสภาไม่จำเป็นต้องมีสองสภา”หลายประเทศมีสภาเดียว ส่วนประเทศที่มีสองสภาก็มีเหตุผลต่างกันออกไป ถ้าเป็นที่อังกฤษเขามีเหตุผลทางประวัติศาสตร์ มี House of Lords (สภาขุนนาง) กับ House of Common (สภาสามัญชน) แยกกัน

ตอนนี้วุฒิสภาของอังกฤษก็พัฒนาจนไม่ได้มาจากการแต่งตั้งแล้ว บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ หรือเยอรมนี ที่เป็นแบบสหพันธรัฐ อยากให้ ส.ว. เป็นตัวแทนที่เท่าเทียมกันจากแต่ละมลรัฐ เพราะ ส.ส. จากแต่ละมลรัฐจะไม่เท่ากัน แต่ ส.ว. จะเท่ากันหมด ส่วน ส.ว. ของฝรั่งเศสเป็นตัวแทนท้องถิ่น เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ส.ว. จะมีหรือไม่ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่ามีไว้ทำอะไร

จากนั้นจึงออกแบบที่มาของ ส.ว. ได้ ถ้าเราให้ ส.ว. มีหน้าที่กลั่นกรองหรือถ่วงดุลอำนาจเล็กน้อย อาจจะไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ เหมือนก่อนปี 2540 อำนาจ ส.ว. น้อยมาก พอมาปี 2540 อำนาจ ส.ว. มากขึ้น ทั้งเลือกองค์กรอิสระและถอดถอนนักการเมืองได้ เขาเลยออกแบบให้มาจากการเลือกตั้ง แต่พอนำระบบแบบนี้มาใช้แล้วก็มีการกล่าวหากันว่ามี “สภาผัวเมีย”ขึ้นมา

เมื่อก่อนเวลาเราออกกฎหมาย จะมีสภาผู้แทนฯ ซึ่งใหญ่กว่าวุฒิสภา แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากเดิม เรามีกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศ”ถ้ารัฐบาลแถลงนโยบายแล้ว เขาจะเขียนเลยว่าในนโยบายรัฐบาลมีกฎหมายฉบับใดบ้างที่เป็นไปเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นจะต้องเข้าที่ประชุมร่วมกันสองสภา นั่นจึงทำให้อำนาจของ ส.ส. ลดลงไป เพราะ ส.ว. เข้ามาแชร์อำนาจตรงนี้

ถ้าทบทวนประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย จะเห็นว่ามีแค่ช่วงรัฐธรรมนูญฉบับแรกเท่านั้นที่เป็นแบบสภาเดียว จากนั้นเราก็ใช้สองสภามาตลอด ถ้ายอมรับอย่างตรงไปตรงมา การมีสภาที่สองก็มีไว้เพื่อสกัดสภาผู้แทนฯ

ในสมัยคณะราษฎร ถึงจะมีสภาเดียว แต่ภายในมีสภาสองประเภท มีไว้เพื่อคนที่มีอุดมการณ์แบบคณะราษฎร ต่อมาปี 2489 มีพฤฒิสภาขึ้น ปรากฏว่าบางพรรคไม่มีตัวแทนเลย จึงกลับมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2490 ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ดึงกลับมาเป็นพวกเขาหมด วนเวียนกันอยู่แบบนี้ สรุปคือ ส.ว. กลายเป็นตัวสกัดกั้นเจตจำนงของ  ส.ส. ทุกครั้งหลังการทำรัฐประหาร ผู้ทำรัฐประหารจึงมีความคิดว่าต้องมี ส.ว. ไว้ตลอด เพราะถ้าปล่อยเสือไปเลือกตั้งก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น วิธีเลือกตั้ง ส.ว. ของไทยจึงเพี้ยนไปหมด

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

ศาลและองค์กรอิระ

 

ระบบปัจจุบัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระมีที่มาจากคณะกรรมการสรรหาชุดที่คล้ายกัน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน และตัวแทนจากองค์กรอิสระอื่นๆ เมื่อสรรหาแล้วส่งให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าองค์กรอิสระและศาลมีที่มาจากกลุ่มเดียวกัน ทำให้ไม่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ หากไม่สรรหาด้วยระบบนี้ ควรใช้ระบบใด

ปิยบุตร ไอเดียศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเริ่มมาจากรัฐธรรมนูญ2540โดยตั้งหลักว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ จึงต้องมีองค์กรตรวจสอบ แล้วเอาโมเดลฝรั่งมาใช้จนเพี้ยนไปหมด

โมเดลหนึ่งที่เอามาใช้ คือ ส.ส. ห้ามยุ่งกับองค์กรเหล่านี้ เพราะกลัวเลือกพวกตัวเอง รัฐธรรมนูญ 2540 จึงออกแบบการสรรหาที่มีกรรมการสรรหาแล้วส่งต่อให้ ส.ว. โหวต โดย ส.ส. ไม่มีส่วนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในประเทศอื่นจะให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก ไม่ได้ให้วุฒิสภาเลือกอย่างเดียว ถ้ากลัวเสียงข้างมากของสภาผู้แทนกินรวบ จะต้องเปลี่ยนมติในการเลือกเป็น 2 ใน3 หรือ3 ใน 4 แล้วต้องเลือกจากลิสต์ที่รัฐบาล ฝ่ายค้าน และศาลส่งมา จะช่วยลดทอนการตัดสินใจเลือกของ ส.ส. ได้

ในต่างประเทศ กกต.ไม่มีอำนาจแจกใบเหลืองใบแดงขนาดนี้ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะดูแค่ว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างมากก็ดูเรื่องพรรคการเมืองที่ล้มล้างการปกครอง แต่ของเราสามารถปลดส.ส. ปลดนายกฯ ทำอะไรได้หมด และเมื่อมีอำนาจมหาศาล ฝ่ายการเมืองเลยพยายามช่วงชิง หากช่วงชิงไม่ได้ก็จะช่วงชิงผ่าน ส.ว. เพราะ ส.ว. เป็นคนไปกำหนดองค์กรอิสระ

เราควรออกแบบว่า1. อย่าให้อำนาจองค์กรอิสระมากจนเกินเหตุ 2. ต้องให้อำนาจจากการเลือกตั้งเข้าไปมีส่วนเลือก แต่ต้องกำหนดมติให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันใครไปยึดไว้ได้หมด และ 3. ต้องออกแบบระบบถ่วงดุลองค์กรอิสระ ในอนาคตต้องมีผู้ตรวจการองค์กรอิสระและศาลที่สภาแต่งตั้ง โดยผู้ตรวจการไม่ได้ไปเปลี่ยนคำวินิจฉัย แต่อย่างน้อยได้วิจารณ์ พูดคุยกันว่าตัดสินถูกผิดอย่างไร

รัฐธรรมนูญ 2540 มีข้อดีเรื่องระบบการตรวจสอบ แต่ข้อดีนั้นเอามาใช้แล้วกลายเป็นบิดเบือนไปหมด

นิพิฏฐ์ ผมคิดว่าเป็นความก้าวหน้าของประเทศที่มีองค์กรอิสระ องค์กรอิสระมาจากความคิดที่เชื่อว่า ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารคือฝ่ายเดียวกัน ไม่สามารถถ่วงดุลกันได้ จึงต้องมีองค์กรอิสระมาถ่วงดุลอำนาจอีกชั้นหนึ่ง เป็นการช่วยเสียงข้างน้อย ถ้าไม่มีองค์กรอิสระเราจะไม่เห็นนักการเมืองทุจริตติดคุก แต่ตอนหลังองค์กรอิสระมีอำนาจจนตรวจสอบไม่ได้ กลายเป็นเสืออีกตัวหนึ่ง และเป็นเสือที่มีปีก ไล่กินหมด

องค์กรอิสระจำเป็นต้องมีเพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย เช่นที่ผมร้องเรียนเรื่องการเสียบบัตรแทนกันในสภา ผมรู้อยู่แล้วว่า ส.ส.ทั้งสภา 500 คนไม่สามารถตรวจสอบได้ เลยต้องส่งเรื่องไป ป.ป.ช. นี่คือประโยชน์ขององค์กรอิสระ แต่อำนาจองค์กรอิสระควรมีมากขนาดไหน และการได้มาขององค์กรอิสระจะมีที่มาอย่างไรเพื่อไม่ให้ฝ่ายเสียงข้างมากไปผูกขาด

ชูศักดิ์ คณะกรรมการสรรหาศาลและองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่คือประธานศาล ผมเห็นว่าไม่ควรนำศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการสรรหาองค์กรอิสระ เพราะหากนำศาลมายุ่งเกี่ยวทางการเมืองแล้วจะมีอันตรายกับสังคมไทยหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาคดี เช่นที่มีประธานศาลมาสรรหา ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช. ไปสอบและฟ้องบุคคลนั้นต่อศาลอีกที คล้ายการผลัดกันเกาหลังและเท่ากับการนำศาลมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรเอาผู้พิพากษามาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ ควรสรรหาบุคคลที่เป็นกลางและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ

ศาลรัฐธรรมนูญควรถูกจำกัดอำนาจ ก็คือการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.-ส.ว. แต่การวินิจฉัยเรื่องอื่นๆ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ควรเป็นอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญควรต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลทั้งหลาย เพราะในบางเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินรัฐธรรมนูญ เป็นการวินิจฉัยโดยบัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง เช่น กรณีการวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

อำนาจขององค์กรอิสระบางประเภทมีมากไป เช่น ป.ป.ช. มีอำนาจชี้ขาดเมื่อมีการร้องเรียน ถ้าเห็นควรยุติเรื่องก็จบ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรจะวินิจฉัยได้และอยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าระบบการตรวจสอบยังใช้ไม่ได้ ต้องปรับปรุงแก้ไข

วิเชียร ก่อนปี 2540เรามีปัญหาในระบบรัฐสภามาก สสร.ยุคนั้นจึงเขียนรัฐธรรมนูญที่ผมถือว่าเป็นการยกเลิกระบบรัฐสภาของไทย เพราะตัดทอนอำนาจสภาให้มีสถานะเป็นสภานิติบัญญัติที่บัญญัติกฎหมายอย่างเดียว การถ่วงดุลอำนาจในรัฐสภาก็ไม่ได้ใช้ กลับตั้งองค์กรอิสระมากำกับดูแลฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในอเมริกา ที่มีรัฐบาลกลางแล้วหาคนกลางจากรัฐต่างๆ มาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้เพราะปลอดจากการเมือง

ผู้บริหารของเขามาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วมีองค์กรอิสระมาถ่วงดุล แต่ของเรา ประชาชนเลือก ส.ส.เข้ามาเพื่อไปออกกฎหมายอย่างเดียว แล้วให้องค์กรอิสระมากำกับดูแลรัฐบาล ซึ่งผิดหลักระบบรัฐสภา ต้องไปดูในอังกฤษ องค์กรอิสระทั้งหมดไม่ได้มีอำนาจกำกับดูแลรัฐบาล แต่ต้องมารายงานกิจการกับสภา เพราะสภาเป็นตัวแทนของประชาชน

เราควรเอาอำนาจกลับมาให้สภา แต่การจำกัดอำนาจสภาเพื่อไม่ให้ใช้อำนาจเกินเลย ก็ต้องเขียนบัญญัติในกฎหมายว่าอะไรทำได้บ้างไม่ได้บ้าง และคนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนในองค์กรต่างๆ ต้องมารายงานกับสภาเพื่อให้เกิดการตรวจสอบในฐานะองค์กรจากประชาชน แล้วต้องแบ่งแยกอำนาจตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร จะทำให้ระบบสมบูรณ์ขึ้น

 

วิเชียร ชวลิต ชูศักดิ์ ศิรินิล นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และปิยบุตร แสงกนกกุล

 

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

 

ขั้นตอนและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ากันว่าเป็นมาตราที่เขียนออกมาเพื่อไม่ให้แก้ไขได้ง่ายๆ หรืออย่างที่บางคนเรียกว่า “แทบจะแก้ไม่ได้”

ในฐานะที่ทุกคนเป็น กมธ.วิสามัญที่พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ และจะเสนอให้รูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร

ชูศักดิ์ ตอนนี้หลายคนมีความเห็นว่าถ้าว่าไม่แก้มาตรา 256 ก็ให้แก้เป็นรายประเด็น เช่น ประเด็นระบบเลือกตั้ง ก็ให้ส่งเรื่องเข้าไปที่รัฐสภาเพื่อแก้เป็นวาระย่อยๆ หากเลือกทางนี้อาจทำให้ ส.ว.เห็นด้วยก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะท้ายที่สุดก็ต้องการเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คนอยู่ดี

รัฐธรรมนูญฉบับ เขาใส่บทบัญญัติมาตรา 256 ขึ้นมาเพราะไม่ต้องการให้แก้ แต่ความยากลำบากนั้น ไม่ควรทำให้เราถูกมัดมือมัดเท้า แล้วพาลคิดว่าอย่าแก้เลย เราอภิปรายกันมาเยอะ เห็นแล้วว่าต้องนำเสนอให้พี่น้องประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และควรต้องแก้

ถ้าแก้เป็นรายประเด็น ต้องแก้กี่ประเด็น กี่ร่าง แล้วท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญทั้งหลายทั้งปวงก็โยงกันหมด สำหรับผมวิธีแก้ที่ดีที่สุดควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม และแก้มาตรา 256 โดยให้มีตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วม เหมือนที่เราเคยทำมา แม้ยากก็ต้องพยายาม

นิพิฏฐ์ ผมคิดว่าการแก้มาตรา 256 และการแก้รายมาตราอื่นๆ ทำควบคู่กันไปได้ เพราะเรายังต้องเผชิญหน้ากับการเลือกตั้งที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้าเราแก้มาตรา 256 ก่อนอย่างเดียว กว่าจะมีกรรมการร่างขึ้นมาได้ จะปลดล็อคทันการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ก็ไม่รู้ และคงมีปัญหาพอสมควร การแก้มาตรา 256 อาจจะใช้เวลาอีก 4-5 ปีก็ได้ แต่อย่างน้อยประเด็นที่เห็นตรงกันก็สามารถแก้ให้ผ่านไปก่อน

ปิยบุตร หากถามว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาแก้ง่ายหรือยากเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่น ต้องยอมรับว่าแก้ง่ายกว่าประเทศอื่นๆ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนให้แก้ยาก

รัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนใหญ่ พอเป็นที่ยอมรับจึงค่อยเขียนระบบป้องกันให้แก้ยาก หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังจากมีความแตกแยกของคนในชาติที่กลับมาปรองดองกันได้แล้ว จึงตกลงร่วมใจและเขียนป้องกันรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้แก้ยาก แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีลักษณะแบบนั้นเลย

ผมคิดว่าเราต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้น คือทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญกำเนิดมาจากประชาชนจริงๆ ผมคิดว่าเหลือทางเดียวเท่านั้น คือ เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกของประชาชน หากมีประเด็นที่กังวลใจกัน ก็แก้หมวดอื่นให้หมด ทำใหม่ทั้งฉบับ แต่เก็บหมวด 1 หมวด 2 ไว้ ไม่ต้องไปยุ่ง จะได้หมดปัญหากันในเรื่องประเด็นอ่อนไหวต่างๆ

ลักษณะการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้เราเคยทำมาแล้วสมัยที่แก้จากรัฐธรรมนูญ 2534 ไปเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ผมเห็นด้วยกับคุณนิพิฏฐ์ว่า ในระหว่างทางก็แก้ประเด็นอื่นๆ ไปก่อน เรื่องไหนเคลียร์กันได้ก็แก้ไปด้วยวิธีการแก้แบบเดิม เรื่องไหนที่ ส.ว. เข้าใจง่ายหน่อยก็ลุยเลย แต่ในส่วนที่จะแก้เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่คุยกันยากมาก เสียงข้างมากในสภาอาจจะต้องคุยกันหนัก และผมก็นึกไม่ออกเลยว่าจะเอาเสียง ส.ว. 84 คนมาได้อย่างไร

เท่าที่นึกออกมีอยู่แค่ 2 ทางคือ 1. หันไปหาเจ้าของประเทศ คือประชาชนที่กำลังเรียกร้องอยู่ทั่วประเทศ 2. หันไปถามเจ้าของ ส.ว. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าเจ้าของประเทศส่งเสียงดังๆ ส.ว. ก็อาจยอม มิเช่นนั้น ส.ว. ทั้ง 84 กำลังนั่งทับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้

ถามว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากไหน ก็เป็นประเด็นที่เถียงกันได้อีก ถ้าคุณบอกว่าจะเอาสภาร่างแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีที่มาจากตัวแทนประชาชนจังหวัดละคน ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการ อย่างนี้พรรคไหนที่ได้ฐานเสียงหลายจังหวัดก็กินรวบหมด ผมคิดว่าต้องเติมจำนวนคน เพิ่มตัวแทนประชาชนเป็นจังหวัดละ 3 คน ฐานเสียงจะได้หลากหลาย นี่เป็นการหาหนทางเพื่อเป็นรัฐธรรมนูญที่พหุนิยมที่สุด

วิเชียร : เรื่องที่ผมเป็นห่วงและกังวลมาก หากไปดูรัฐธรรมนูญทุกฉบับ จะเห็นว่ามีการสร้างประเด็นขึ้นมาใหม่ทุกฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา แล้วจนวันนี้ก็ยังปลดล็อกไม่ออก มันเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นทุกครั้งที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมไม่มั่นใจว่าหากสร้างขึ้นมาใหม่ จะเกิดประเด็นอะไรให้เราปวดหัวในวันข้างหน้าอีก แต่ฉบับนี้เราเห็นแล้วว่าอะไรที่เป็นปัญหา เราก็มาหาข้อตกลงร่วมกัน หาข้อสรุปร่วมกันได้

รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายที่แก้ยาก การที่ต้องมีสัดส่วนของพรรคที่ไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล เท่ากับการคำนึงถึงเสียงข้างน้อย ไม่อย่างนั้นหากใครเข้ามาเป็นเสียงข้างมากก็จะสามารถแก้ได้ตามอำเภอใจ อะไรที่เป็นปัญหาที่ทำให้เราเดินไปข้างหน้าไม่ได้ก็ต้องร่วมกันแก้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่เราสามารถทำความเข้าใจกันได้ ผมยืนยันตั้งแต่ต้นแล้วว่าอะไรที่เป็นข้อติดขัด เรามาร่วมกันดำเนินการแก้ไข

____________________________
ติดตาม The Policy Forum ตอนที่ 1 ได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save