fbpx
101 Policy Forum : ทลายคอขวดปฏิรูปการศึกษา ฝ่ามรสุมความเหลื่อมล้ำ

101 Policy Forum : ทลายคอขวดปฏิรูปการศึกษา ฝ่ามรสุมความเหลื่อมล้ำ

กองบรรณาธิการ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เป็นปัญหารากฐานที่สุดอย่างหนึ่งของสังคมไทย ‘การศึกษาคุณภาพ’ คือโอกาสที่ช่วยให้คนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ คนที่เข้าไม่ถึงการศึกษามักติดอยู่ในกับดักของความยากจน และส่งผลกระทบรุ่นต่อรุ่น สู่ลูกหลาน

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 6.7 แสนคน คิดเป็นค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจประมาณ 3.3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3% ของจีดีพี

ที่น่ากังวลคือ สังคมไทยยังมีเด็กอีกกว่า 2 ล้านคนที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากการศึกษา เพียงเพราะพวกเขามาจากครอบครัวที่ยากจนขาดโอกาส

ในกลุ่มเด็กจากครอบครัวยากจนที่ได้เรียนหนังสือ มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่ได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างโรงเรียนใหญ่กับโรงเรียนเล็ก และระหว่างโรงเรียนต่างสังกัด  รวมถึงปัญหาคุณภาพครู  และปัญหาด้านการเรียนการสอนอีกมากมาย

101 Policy Forum ชวน ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย น.ต.ศิธา ทิวารี คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร, ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ และกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อดีตครูและนักวิชาการด้านการศึกษา

ทั้งหมดเปิดวงแลกเปลี่ยนเพื่อตอบคำถามร่วมกันว่าจะทลายคอขวดปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร, อะไรคือหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, ระบบเงินอุดหนุนสำหรับนักเรียนยากจนควรเริ่มตรงไหน, ทางออกของปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่เสี่ยงถูกยุบทิ้ง ไปจนถึงการยกระดับคุณภาพครูและคุณภาพการเรียนการสอน, บทบาทของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เพิ่งเริ่มทำงานมาได้ 2 ปี และประเด็นคลาสสิคอย่างการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาด้วยตัวเอง

เปลี่ยน “ความเหลื่อมล้ำ” เป็น “ความเสมอภาค”

 

กุลธิดา : มี 3 เรื่องหลักๆ ในประเทศไทยสำหรับเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ยังเป็นประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรกคือ เวลามองมิติเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราไม่ได้มองการแก้ไขปัญหาในเชิงความเสมอภาค ว่าง่ายๆ คือเรามีเส้นชัยเส้นเดียวกัน เราอยากได้คนที่มีคุณภาพสูง จะทำอย่างไรให้คนแต่ละกลุ่มวิ่งไปถึงเส้นชัยได้ ทั้งที่เขามีโจทย์ไม่เหมือนกัน ระยะทางและวิธีการไม่เหมือนกัน ตอนนี้เราแก้ปัญหาด้วยหลักความเท่าเทียม (Equality) คือทุกอย่างเหมือนกันหมด แต่การจัดการควรหันไปเน้นความเสมอภาค (Equity) เป็นหลัก ต้องเปลี่ยนไปให้แต่ละคนได้รับการสนับสนุนที่แตกต่างกันออกไป

ประเด็นที่สอง ระบบการศึกษาไทยตอนนี้แทบไม่มีใครมีอำนาจบริหารและตัดสินใจได้เลย ถ้าคลุกคลีกับห้องเรียนจริงจะรู้ว่าโรงเรียนตัดสินใจเองไม่ได้ ทั้งเรื่องงบและคน

ในรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า จังหวัดที่มีการจัดการที่ดีและพัฒนาทุนมนุษย์ได้สูงสุด 1 ใน 5 อันดับแรก คือนนทบุรี ซึ่งใช้เงินเพื่อจัดการศึกษาระดับท้องถิ่นสูง เขาสามารถนำเงินงบประมาณไปพัฒนาการศึกษาให้ตอบโจทย์พื้นที่ ในขณะที่พื้นที่ที่มีความซับซ้อนมาก อย่างนราธิวาสหรือปัตตานีที่มีปัญหาความมั่นคง ความยากจน การเข้าไม่ถึงการศึกษา ปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว ปัญหาสาธารณสุข ในเมืองแบบนี้ที่จัดการอะไรไม่ได้และมีปัญหาอื่นเข้ามาแทรก ย่อมพัฒนาทุนมนุษย์ไม่ได้ ดังนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

การแก้ไขปัญหาเรื่องที่สองจึงเป็นเรื่องการกระจายอำนาจให้ทุกภาคสามารถจัดการศึกษาได้ และมีระบบบริหารจัดการที่ตรวจสอบซึ่งกันและกันได้

ประเด็นสุดท้าย ถ้าให้พูดเร็วๆ เป็นโจทย์ที่หลายคนมักพูดถึงเวลาเข้ามาแก้ระบบการศึกษาว่าให้เปลี่ยนหลักสูตร ซึ่งดิฉันเองก็เห็นด้วยว่าหลักสูตรต้องปรับให้ทันและตอบโจทย์ยุคสมัย แต่ปัญหาคือ เรายังก้าวไม่พ้นโจทย์พื้นฐานของการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือคุณภาพการสอนในห้องเรียน มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อครูไม่ได้สอนนักเรียน และต้องเอาเวลาไปทำอย่างอื่นเสียหมด ดังนั้นไม่ว่าจะสร้างหลักสูตรจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างไร ถ้าครูทำงานไม่ได้ก็จะไม่สามารถใช้หลักสูตรนั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ไกรเสริม : เราต้องฉายภาพความเป็นจริงก่อนว่าเมืองไทยมีกลุ่มนักเรียนปัจจุบันในระบบประมาณ 6 ล้านคน และมีโรงเรียนในระบบราว 3 หมื่นกว่าแห่งที่สังกัดกระทรวงศึกษาฯ จำนวนนักเรียนไม่ได้ถูกแบ่งให้เท่าเทียมกันในแต่ละโรงเรียนแน่นอน และคุณภาพของการศึกษาในแต่ละระบบโรงเรียนก็มีความแตกต่าง นี่เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ที่เราเรียกว่า ‘โรงเรียนขนาดใหญ่’ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ ถูกเอาใจใส่ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกัน โรงเรียนซึ่งถูกนิยามว่าเป็น ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ไม่ได้พัฒนาไปในทางทิศทางเดียวกัน ก็ยิ่งสร้างความแตกต่างเหลื่อมล้ำ

เราต้องพุ่งเป้าไปที่โครงสร้างของการบริหารการศึกษาว่า ถ้าเรายังตั้งเป้าหมายทางการศึกษาในสถานการณ์เช่นนี้ ก็จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้าเรากลับมามองว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่แท้จริงควรเป็นอะไร ใน สังคมพหุวัฒนธรรมของไทยมีความต้องการไม่เหมือนกัน เป้าหมายทางการศึกษาอาจไม่ใช่การผลักดันให้คนไปถึงการศึกษาระดับสูงสุด แต่อาจเป็นการมีชีวิตที่ดี เป็นการศึกษาที่ตอบโจทย์สังคมและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน  ดังนั้นเป้าหมายทางการศึกษาเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ต้องเอามาสังคายนากัน ซึ่งเป้าหมายนี้ต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศ ความก้าวหน้าของประเทศ

พิสิฐ : แถวบ้านผม (กรุงเทพชั้นใน) มีโรงเรียนหลายประเภท มีอยู่วันหนึ่งผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมโรงเรียนประชาบาล มีอาคารขนาดใหญ่ที่กระทรวงศึกษาฯ สร้างให้กับโรงเรียนหลายหลัง รับเด็กได้ประมาณ 1,000 คน แต่พอไปดูจำนวนนักเรียนจริงๆ ทั้งโรงเรียนมีเพียง 89 คน

ผมถามครูว่าเด็กหายไปไหนหมด เขาตอบว่าเมื่อก่อนเด็กมีจำนวนมาก แต่ที่ปัจจุบันน้อยลงเพราะครอบครัวเด็กย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่ผมสังเกตเห็นว่าละแวกนั้นมีคอนโดฯ เกิดขึ้นเยอะ แค่เด็กไม่ได้ไปเรียนโรงเรียนประชาบาล เพราะพ่อแม่ยอมกัดฟันส่งไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์

ทุกวันนี้ คนที่พอมีกำลังทรัพย์ยอมจ่ายเงินเพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี ส่วนคนที่มีรายได้น้อยต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเหล่านี้ก็ว่าง มีสภาพแวดล้อมที่น่าหดหู่ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลมาถึงการศึกษา

ผมเชื่อว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ต ช่วยเรื่องการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากกว่าเด็กอีกกลุ่มที่ไม่มีโอกาสกระทั่งได้เรียนภาษาอังกฤษ อินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจ โอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จำกัด ดังนั้น โอกาสทางการศึกษาของเด็กจะต่างกัน

สิ่งที่ผมอยากจะเห็นคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโรงเรียนประชาบาลที่มีเด็กน้อยลง เราจะเปลี่ยนบรรยากาศอย่างไรให้เด็กกลับเข้ามา ให้เขาได้เรียนรู้ไม่แพ้เด็กที่อยู่โรงเรียนอินเตอร์

เมื่อเทียบกับ 40 ปีที่แล้ว อัตราการเกิดของเด็กรุ่นหนึ่งมีประมาณ 1.2 ล้านคน ปัจจุบันเหลือเพียง 6 แสนคน เด็กไทยเกิดน้อยลงจนเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น จำนวนเด็กที่เข้าโรงเรียนก็จะน้อยลงเรื่อยๆ จนบางโรงเรียนต้องปิดเพราะมีเด็กไม่พอ จริงๆ เราน่าจะใช้โอกาสนี้เพิ่มคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนให้มากกว่านี้ แต่กลายเป็นว่ากระทรวงศึกษาฯ หันไปใช้วิธีปิดโรงเรียนขนาดเล็กแทน

ศิธา : ผมมองภาพรวมปัญหาของการศึกษาไทยแบ่งออกเป็น 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่งคือเรื่องคุณภาพการศึกษา ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กจนถึงปัจจุบัน หลายโรงเรียนยังไม่แตกต่างจากเดิม หากเทียบกับโรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนของฝรั่ง โรงเรียนไทยมีลักษณะการสอนแบบให้เด็กนั่งเป็นหน้ากระดาน ครูสอนให้จดตามบนกระดาน แต่โรงเรียนฝรั่งทุกวันนี้ เขาไม่ได้ให้นั่งแบบนี้ ตอนแรกผมไปเห็นโรงเรียนอนุบาล เข้าใจว่ายังเด็กอยู่เลยให้นั่งล้อมวงกัน แต่ปรากฏว่านักเรียนเกรด 1-6 หรือเกรด 7-12 ก็ทำเหมือนกันคือนั่งเป็นกลุ่มเรียน

ผมจึงย้อนกลับมาคิดถึงสิ่งที่เราเคยเรียนจากระบบการศึกษาไทยขั้นพื้นฐาน 6 ปีในชั้นประถม และ 6 ปีในชั้นมัธยม กลายเป็นว่าเราต้องนั่งฟังสิ่งที่ครูสอน ครูไปอ่านตำรามาว่าระดับชั้นไหนต้องเรียนอะไร จากนั้นจึงมาสอนเด็ก ถ้ามีเนื้อหา 100% ครูจำได้สัก 90-95% พอไปถึงเด็ก เด็กจำได้แค่ 70-80% เท่านั้นก็ถือว่าได้ที่หนึ่งของห้อง

แต่ของฝรั่งไม่ใช่ เขาสอนให้เด็กรู้จักการทำงานเป็นทีม ให้เด็กเป็นผู้นำ เป็นผู้ตาม เมื่อเรียนจบไป การทำงานก็เป็นลักษณะเดียวกันกับที่เขาเรียน เพราะฉะนั้น เท่ากับว่าบรรทัดสุดท้ายของระบบการศึกษาของต่างชาติที่พัฒนาแล้ว คือต้องการสอนให้เด็กเติบโตไปอยู่ในสังคมและสามารถมีอาชีพการงาน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ของเราเป็นการสอนความรู้พื้นฐาน ต้องเรียนรู้วิชาการและไปสอบแข่งตามตำราตามที่ครูสอน หรือคุณเรียนเพื่อไปสอบ

สองคือเรื่องการเข้าถึงการศึกษา การนำเด็กเข้ามาในระบบที่ผมมองว่ายังไม่สมบูรณ์พอจะสอนเขาให้เข้าสู่สังคม และผมมองว่าความเหลื่อมล้ำที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นการศึกษา คือเรื่องฐานะของผู้ปกครอง จากสองโจทย์นี้ ถ้าการศึกษาคือการสอนให้เด็กไปสอบ เราก็ยังคงเถียงกัน แต่ถ้าการศึกษาคือการทำให้เด็กสามารถเข้าไปอยู่ในสังคม มีงานทำ เป็นบุคลากรที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เขาอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบการเรียนการสอนแบบที่เราสอนอยู่ในปัจจุบัน

 

พิสิฐ ลี้อาธรรม
พิสิฐ ลี้อาธรรม

 

ส่งเสริมเด็กเล็ก อุดหนุนเด็กพิการและยากไร้

 

พิสิฐ : พวกเราคงเคยได้ยินหนังสือ กว่าจะเข้าอนุบาลก็สายเสียแล้ว ทุกวันนี้ระบบการศึกษาของเรามุ่งให้ความสำคัญกับเด็ก 5-7 ขวบขึ้นไป คือเป็นเด็กที่โตพอสมควร เราให้การศึกษาฟรี มีนมโรงเรียน เครื่องแบบฟรี หนังสือฟรี เป็นต้น แต่จริงๆ วิวัฒนาการของเด็กต้องพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์มารดา เหมือนสร้างตึกแล้วต้องมีรากฐานที่แน่นและดี ที่ผ่านมาเราอาจจะมองข้ามจุดนี้ไป

เพราะฉะนั้นในการหาเสียงที่ผ่านมา ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ ก็พยายามลงมือทำ ให้มีการดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เพื่อให้มีอาหารไปเสริมสมอง มีการจ่ายเงินให้กับมารดาที่มีบุตรตั้งแต่ต้น

ทีนี้ ถ้าพูดถึงงบประมาณด้านการศึกษา เรามีงบถึง 9 แสนกว่าล้านบาท ผมเห็นด้วยว่ารัฐบาลทุกยุคที่ผ่านมาให้เงินแก่เรื่องการศึกษาเป็นอันดับ 1 แต่อย่างว่า เราไปลงทุนเรื่องสร้างตึก สร้างอาคารเรียนไว้เยอะ เราไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของเด็ก คุณภาพของการศึกษา เราทำงานในลักษณะจัดกิจกรรม เช่น จัดการสอบเยอะ ทั้งที่หลายประเทศยกเลิกเรื่องการสอบไปแล้ว ที่ผ่านมาเราเอาการสอบเป็นตัววัดความสำเร็จของการศึกษา เด็กและครูจึงมุ่งแค่เรียนให้ได้คะแนนสูง

ผมเคยไปที่เยอรมัน ครูสอนวิชากลศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมที่นั่นแตกต่างจากครูไทย ถ้าเป็นครูไทยจะสอนโดยขึ้นโจทย์บนกระดาน เด็กคนไหนที่ทำโจทย์เก่งจะได้คะแนนเต็ม แต่ครูเยอรมันเขาจะไม่พูดถึงโจทย์เลย เขาเริ่มจากการสอนหลักธรรมชาติว่าแรงที่เกิดขึ้นและเป็นที่มาของสูตรกลศาสตร์ที่เรารู้จักเกิดจากอะไร สอนให้คิดเป็นลำดับ พอได้สูตร นักเรียนก็นำไปใช้เป็นโจทย์

ประเด็นคือเราให้เงินแก่โรงเรียนเพื่อให้คนไปสอบ ทั้งที่การศึกษาที่แท้จริงควรเป็นเรื่องการสอนให้เด็กมีความคิด

ไกรเสริม 70-80% ของงบประมาณด้านการศึกษาใช้ไปกับงบค่าตอบแทนข้าราชการครู ที่เหลือเป็นงบในการอุดหนุน งบลงทุนและงบดำเนินการ ซึ่งเหลืออยู่ในสัดส่วน 20% สำหรับโรงเรียน 30,000 กว่าโรงและนักเรียนในระบบปัจจุบัน 6 ล้านกว่าคน ถ้าหารเฉลี่ยออกมาแล้วงบเหลือน้อยมาก แต่ประเด็นคือเราจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ผมเห็นด้วยว่าเราต้องมาคุยกันว่าการศึกษาที่ดีต้องพุ่งเป้าไปที่ early childhood หรือการศึกษาก่อนวัยเรียน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษา มีอีก 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาฯ, และกระทรวงมหาดไทย เพราะดูแลทั้งระบบ ทั้งภูมิภาค สำหรับเรื่องนี้ งบประมาณที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็ถือว่าน้อยเกินไป ราว 2,000-3,000 บาทที่อุดหนุนต่อหัว

ด้วยงบประมาณเท่านี้ การส่งเสริมด้วยรูปแบบที่เหมือนๆ กันไม่น่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่เรามีกองทุนที่ใช้เงินลดความเหลื่อมล้ำ เอาเงินมาช่วยเหลือเด็กยากจน กองทุนนี้ของบประมาณไว้ 25,000 ล้าน แต่ได้มาทุกปีที่ 2,000-3,000 ล้าน ปีนี้ต่อสู้กันมาล่าสุด น่าจะได้ 5,400 ล้าน ซึ่งเงินนี้เอามาช่วยเรื่องเด็กยากจน เพิ่มโอกาสให้แก่เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้

การเริ่มเข้าไปทำงานในวันนี้อาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ แต่ผมอยากพุ่งเป้าไปที่รูปแบบของการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ เงินส่วนหนึ่งได้เข้าไปช่วยโครงการพื้นที่นวัตกรรม เราจะได้เห็นรูปแบบใหม่ๆ ในการเข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษามากขึ้น ผมมีโอกาสเข้าไปดูพื้นที่นวัตกรรมหลายพื้นที่ ได้เห็นกระบวนการคิดที่มีพื้นฐานจากงานวิจัย ดูการปฏิบัติงานจริงของนักเรียน ให้ครูใช้เวลากับนักเรียนจริงๆ เด็กได้เรียนรู้ ได้เพิ่มทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม

กุลธิดา : ประเทศเราไม่ได้ใช้งบประมาณน้อยในการศึกษา แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมากลับน้อยมากๆ ดิฉันอยากพูดถึงวิธีคิดที่ใช้จัดสรรงบประมาณเล็กน้อย ปกติเวลาเราจัดสรรงบประมาณไทยสะท้อนเลยว่า เราช่วยแต่คนที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ และเราละเลยคนที่จำเป็นต้องช่วยเหลือ

เช่น งบประมาณที่เพิ่งผ่านสภามา ถ้าเราไปดูในชั้นกรรมาธิการงบประมาณจะพบว่า ตอนคุณตัดงบ คุณเลือกตัดอะไร ถ้าคุณเลือกตัดอาคารใดๆ เราไม่เถียง แต่คุณเลือกตัดงบเด็กพิการ ตัดงบเด็กด้อยโอกาส

เด็กพิการเป็นเด็กกลุ่มที่มีความเปราะบางอีกกลุ่ม เพราะเขาต้องการทรัพยากรที่แตกต่างออกไปจากเด็กปกติ ตอนนี้เรามีกลไกศูนย์การศึกษาพิเศษ แต่กลายเป็นว่ากลไกการทำงานของศูนย์ต้องรอให้เด็กไปที่ศูนย์ คิดสภาพว่าเป็นเด็กพิการแล้วต้องไปรับบริการที่ศูนย์ แทบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นมันมีเรื่อง early intervention คือเราต้องช่วยเหลือเด็กพิการตั้งแต่เด็กๆ ให้พ่อแม่รู้ว่าต้องดูแลเด็กอย่างไร สำหรับดิฉันมองว่าจุดนี้รัฐยังจัดการได้ไม่ดีเพียงพอ

นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าวยังเป็นหน่วยงานเล็กๆ อยู่ในเขตจังหวัดต่างๆ ไม่มีบุคลากรเยอะ ไม่สามารถดูแลเด็กพิการได้ครบ เพราะเด็กพิการมีความหลากหลาย ศูนย์นี้ต้องดูแลตั้งแต่พิการทางกายภาพ รวมถึงมีปัญหาด้านการเรียน (Learning Disorder) ต่างๆ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้ศูนย์นี้สามารถให้บริการกับเด็กๆ ได้ และถ้าต้องเข้าไปให้บริการถึงในพื้นที่ ต้องรับคนให้เพียงพอขนาดไหน ได้รับเงินเพียงพอขนาดไหน

อีกเรื่องหนึ่งคือปัญหาเรื่องการจัดเก็บข้อมูลว่าเด็กพิการในแต่ละพื้นที่ ว่าอยู่ตรงไหน อย่างไรบ้าง ต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง มันต้องมีข้อมูลพัฒนาการของเขาด้วย ว่าเข้าไปเจอนักบำบัดแล้วพัฒนาการดีขึ้นอย่างไร และจะส่งต่อเข้าโรงเรียนได้อย่างไร

นอกจากนี้เราอยากเห็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการช่วยเหลือเด็กพิการในประเทศไทยมากขึ้นด้วย เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้มาก

กลไกในการช่วยเหลือเด็กนักเรียนนั้นรวมหลายกระทรวง สพฐ. หรือ กสศ. ก็มีงบของตัวเองอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลักคิดของคนที่อยู่ระดับนโยบายคือ ถ้าตัดงบ ต้องตัดส่วนนี้ก่อน ดังนั้นเด็กที่ไม่ใช่แค่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ว่ายไม่ได้เลย เขาจะจมน้ำแน่นอน ในส่วนนี้เราต้องกลับไปปรับวิธีคิดเรื่องการวางงบประมาณใหม่

เงินอุดหนุนนักเรียนตอนนี้เฉลี่ยจากเด็ก ป.6 อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทนิดๆ ต่อหัวต่อปี ซึ่งมันไม่ขึ้นมา 10 ปีแล้ว ถ้าเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ เราต้องขึ้นไปถึง 12,000 บาท นี่แปลว่าแค่เงินอุดหนุนพื้นฐานก็ไม่เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ยังมีเด็กยากจนที่ต้องมาคัดกรองจัดสรรเงินให้ ซึ่งก็ไม่เพียงพอ

ในภาพรวมทั้งประเทศ เราเองก็ไม่ได้จัดกลุ่มเด็กอย่างชัดเจน ถ้าไม่ใช้กลไกแบบ กสศ. และเรามีหน่วยงานหนึ่งทำเรื่องเด็กยากไร้ อีกหน่วยงานหนึ่งทำเรื่องเด็กพิการ แต่หน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้มาทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นการจัดความช่วยเหลือแก่เด็กในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันและมีหลายส่วนจึงไม่สอดคล้องกัน เด็กได้รับการช่วยเหลือแบบสะเปะสะปะ กลายเป็นว่าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอะไร

สำหรับภาพรวมโรงเรียน 30,000 กว่าแห่งในประเทศไทย ตอนนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง โรงเรียนขนาดเล็ก หมายถึงมีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพดี

มีโจทย์ 2 เรื่องของประเทศไทยที่สำคัญมากและถ้าเรายังก้าวข้ามโจทย์นี้ไม่ได้ คงมองไกลไม่ได้ คือ หนึ่ง โครงสร้างพื้นฐาน สอง คุณภาพห้องเรียนซึ่งขึ้นอยู่กับครู โจทย์เหล่านี้พัวพันอยู่กับโจทย์ชีวิตนักเรียน และสิ่งที่เราแทบไม่เคยมองเลยคือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนในแต่ละพื้นที่มีการศึกษาคุณภาพดีเป็นของตนเอง

ดิฉันขอเสนอว่าเงินอุดหนุนขั้นพื้นฐานต้องปรับขึ้นให้เหมาะกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เดิมมีการมอบเงินอยู่แล้วก็ดี แต่ขอให้เพิ่มโครงการที่เจาะจงรายพื้นที่ เพราะบางพื้นที่มีครอบครัวที่เด็กไม่สามารถพึ่งพาพ่อแม่ได้เลย เด็กอยู่กับปู่กับย่าเป็นหลักล้านคน บางพื้นที่มีเด็กจนเมือง ซึ่งแตกต่างจากบริบทเด็กยากจนในชนบท บางพื้นที่มีเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรง

ถ้าเราย้อนไปดูงานโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ล่าสุด จะพบว่าการตีโจทย์พื้นที่ให้แตกเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างโรงเรียนในเวสต์เคนยา เขาพาเด็กกลับเข้ามาสู่โรงเรียนได้โดยการพาเด็กไปถ่ายพยาธิ เด็กไปโรงเรียนไม่ได้เพราะเด็กป่วย ซึ่งจริงๆ โรงเรียนไทยมีการไปเยี่ยมบ้านอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคุณครูทำงานนี้ไม่ได้ เพราะครูงานล้น

ศิธา : การอุดหนุนเด็กยากจน เรามักอุดหนุนในมิติเดียวคือช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เช่น ค่าเสื้อผ้า ชุดนักเรียน ค่าหนังสือ ค่ากิจกรรม ต่างๆ แต่โจทย์จริงๆ ที่ทำให้เด็กไม่ไปโรงเรียนหรือออกจากการศึกษา มีสองส่วนคือมุมมองของผู้ปกครองและมุมมองของเด็ก ความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กออกจากระบบการศึกษา กับความต้องการของเด็กที่ต้องการอยู่ในการศึกษาต่อไปหรือไม่

ผู้ปกครองหลายๆ คนโดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสทุกคนอยากให้ลูกเจริญก้าวหน้าในอนาคต แต่ถ้าให้เขาเลือกระหว่างการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับการแก้ปัญหาระยะยาว บางครั้งเขาเลือกเฉพาะหน้า ถ้าเขามองว่าเด็กคือทรัพย์สินอย่างหนึ่งในครอบครัวที่ต้องช่วยกันทำมาหากิน

ปัญหาเด็กยากจนไม่ได้มีแค่เรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่การศึกษาอย่างเดียว บางครอบครัวมีพ่อแม่ทำงาน มีปู่ย่าอยู่ด้วย ซึ่งปกติพ่อแม่ต้องดูแลปู่ย่า พอเด็กอายุ 13-14 เริ่มจะดูแลแทนได้ พ่อแม่ก็ต้องการออกไปทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงลูก เลี้ยงพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ขณะเดียวกัน ในชุมชนเขา ในพื้นที่ท้องถิ่นที่เขาอยู่ ทำให้เขาไม่เห็นภาพว่าหลังจากเด็กเรียนต่อไปจนกระทั่งจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วจะหารายได้ที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวได้อย่างไรในอนาคต นั่นอาจเป็นเวลาอีก 5-8 ปีข้างหน้า แต่เวลานี้ เขาจำเป็นต้องให้ลูกออกมาช่วยทำประโยชน์กับครอบครัวก่อน

เพราะฉะนั้น เราต้องกลับมามองว่าเงินที่เราสนับสนุนไป สมมติ 12,000 บาท เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทำให้เขาสามารถมาเรียนจริงหรือไม่ บางครอบครัวต่อให้เพิ่มไปเป็น 15,000-20,000 บาทก็อาจจะยังไม่ส่งลูกมาเรียนก็ได้ เพราะมันเป็นเงินช่วยลดภาระที่ลูกเข้าโรงเรียน แต่ไม่ได้ลดภาระของผู้ปกครองที่กำลังสู้กับความยากจน ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ มันจึงเป็นเรื่องของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานท้องถิ่นต้องมาดูร่วมกันว่าการแก้ไขปัญหาแบบใดที่ตอบโจทย์นี้

 

น.ต.ศิธา ทิวารี
น.ต.ศิธา ทิวารี

 

ทางรอดของโรงเรียนขนาดเล็ก

 

ศิธา : ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กคือการมีบุคลากรไม่เพียงพอ ถ้าไม่มีโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กนักเรียนจะต้องเดินทางไกลถึง 5-10 กิโลเมตร เพื่อไปเข้าโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีครูเพียงพอ ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องระยะทาง และหากยุบแล้วมีนักเรียนเพียงแค่ 20-30 คนที่ย้ายไปโรงเรียนใหญ่ ส่วนนักเรียนที่เหลือกว่า 70 คนหลุดออกจากระบบการศึกษา ผมคิดว่าไม่คุ้ม

นอกจากนี้ผู้ปกครองบางคนก็มองว่าให้เด็กเรียนในระบบการศึกษาไป พอเรียนจบก็ทำงานที่ไม่ได้ใช้ความรู้จากโรงเรียนอยู่ดี หากคิดแบบนี้เขาก็จะเอาเด็กออกจากระบบเช่นเดียวกัน เช่น ชุมชนที่เป็นเกาะ มีนักท่องเที่ยวเยอะ หรือชุมชนที่มีอาชีพในครัวเรือน และไม่ได้ต้องการการศึกษาพื้นฐาน พ่อแม่จะมองว่าเรียนจบมาก็ทำงานในเกาะ เป็นไกด์ ขายของในชุมชน เขาก็จะไม่สนใจการศึกษา ดังนั้นปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก หน่วยงานการศึกษา ภาครัฐ ต้องถามชุมชนว่าต้องการอะไร

กุลธิดา : ปัจจุบันเรามีโรงเรียนประถมศึกษาที่เข้าข่ายโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ประมาณ 14,000 กว่าโรงเรียน เป็นโรงเรียนในชุมชน ทาง สพฐ. ได้ไปสำรวจและบอกว่ามี 305 โรงเรียนเล็กที่ยุบได้ เพราะไม่มีนักเรียนแล้ว

เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กเป็นปัญหานโยบายทั้งหมด ปัญหาแรกคือการที่โรงเรียนไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้ ปัญหาที่สองคือการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัวทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถจัดการการศึกษาได้ หากโรงเรียนนั้นมีนักเรียนเยอะก็ได้รับการอุดหนุนเยอะ หากมีนักเรียนน้อยก็ได้รับการอุดหนุนน้อย

ไม่นานมานี้ดิฉันได้ไปที่เกาะลิบง มีโรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่มีนักเรียน 115 คน เสี่ยงที่จะเข้าข่ายโรงเรียนเล็ก เขาจึงสู้กับระบบด้วยการเพิ่มชั้นเรียนอนุบาล เพื่อเพิ่มจำนวนเด็ก ผอ.โรงเรียนบอกว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้ครูในโรงเรียนจะหายไป 4 คน ตามระบบที่บอกว่าต้องมีนักเรียน 20 คนถึงจะได้ครู 1 คน

ประเด็นเรื่องขาดแคลนบุคลากร โรงเรียนขนาดเล็กบางที่สามารถจัดการสอนแบบช่วงชั้นได้ หมายความว่าครูต้องถูกฝึกให้สอนคละชั้นเป็น แต่ถ้าไปดูกระบวนการผลิตครู จะพบว่าเราไม่ได้เทรนด์ครูให้มีทักษะนี้ มีแต่การเทรนด์ปลายทาง เข้ามาเป็นครูแล้วค่อยเทรนด์ เราจึงไม่มีครูที่สามารถจัดการโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างแท้จริง

ทั้งเรื่องเงินและเรื่องคน ต้องมาคุยกันใหม่ทั้งหมดเลยว่าตกลงแล้วเราจะยังใช้ระบบรายหัวกับโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ไหม หรือเราจะใช้ระบบมาตรฐานพื้นฐานอย่างที่เวียดนามใช้อยู่ตอนนี้ คือ ระบุว่าในโรงเรียนจะต้องมีอะไรบ้าง และต้องใช้เงินเท่าไหร่ เรื่องการสนับสนุนก็เช่นกัน เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบรวม ต้องคิดว่าเงินที่จะสนับสนุนให้ใช้เดินทางนั้นมีอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ประเด็นการขนส่งควรจะเป็นความรับผิดชอบของใคร

เราไม่ควรจะพูดแค่ว่ายุบหรือไม่ แต่ต้องตั้งธงว่าคุณภาพการศึกษาในพื้นที่นี้เป็นอย่างไร โรงเรียนให้บริการได้ดีเพียงใด แล้วเราค่อยมาดูว่าโจทย์ของพื้นที่นั้นเหมาะกับการจัดการแบบไหน หากการจัดการและการสนับสนุนเมื่อยุบโรงเรียนขนาดเล็กยังไม่ชัดเจน พ่อแม่ที่ไหนจะไว้ใจให้ลูกเปลี่ยนโรงเรียน

ไกรเสริม : โรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมดมีนักเรียนในระบบกว่า 1 ล้านคน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีอยู่แค่เพียง 2,500 โรงเรียน มีนักเรียนในระบบกว่า 3 ล้านคน แปลว่าถ้าเรายังยึดอยู่กับขนาด มันก็จะเกิดการเอาจำนวนนักเรียนเป็นตัวตั้ง โรงเรียนที่เคยใหญ่ก็จะเล็กลง ความพร้อมทางการศึกษาก็จะหายไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเอาความพร้อมเป็นตัวตั้ง มีโรงเรียนที่พร้อมมาก พร้อมกลางๆ หรือต้องมีความพร้อมเพิ่มเติม ผมคิดว่าโจทย์จะเปลี่ยน นักเรียนน้อยก็สามารถพร้อมมากได้

ผมเข้าไปดูการจัดการของโรงเรียนในหลายพื้นที่ พบว่ามีโมเดลที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ที่สตูล โรงเรียนหนึ่งสอนเด็กชั้น ป.1, ป.3, และ ป.5 ส่วนเด็กชั้น ป.2, ป.4, และ ป.6 ต้องไปอีกโรงเรียนหนึ่ง เป็นการร่วมมือจัดการกันในชุมชน จนสามารถตอบโจทย์พื้นที่ โรงเรียนก็ไม่จำเป็นต้องมีครูครบทุกชั้น

หรือที่สุพรรณบุรี เขาควบรวมโรงเรียนโดยคุยกันภายในชุมชน และตกลงกันว่าเงินอุดหนุนจะเข้าไปที่โรงเรียนไหน โดยโรงเรียนดังกล่าวต้องมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางหรือเป็นฮับ (Hub) ของโรงเรียนเล็กรอบๆ พอโรงเรียนที่ตกลงร่วมกันพัฒนาขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็พร้อมที่จะให้ลูกย้ายไปที่โรงเรียนนี้ โรงเรียนขนาดเล็กรอบๆ ก็ต้องย่อหรือยุบไป แต่ในเชิงสภาพ ก็เหลืออาคารสถานที่ที่สามารถนำมาพัฒนาได้ เช่น เปลี่ยนเป็นที่ฝึกอาชีพ เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ดังนั้นแต่ละพื้นที่ต้องมาตกลงร่วมกัน เอาความพร้อมเป็นตัวตั้ง เพิ่มเติมทรัพยากรเข้าไปให้ถูกที่ถูกทาง

พิสิฐ : เพื่อนชาวต่างชาติของผมถามว่าทำไมโรงเรียนไทยถึงได้มีอาคารหลังใหญ่ๆ ที่ประเทศของเขา โรงเรียนมีขนาดเล็ก เป็นบ้านเสียด้วยซ้ำ ผมก็ย้อนคิดแล้วถึงบางอ้อว่า โรงเรียนไทยมีหัวหน้าคือครูใหญ่ ใหญ่ขึ้นมาอีกคืออาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียน ระบบการทำงานของบ้านเราพยายามทำให้มันใหญ่ขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น การทำให้โรงเรียนมีขนาดใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ แล้วโรงเรียนควรจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ภรรยาของคนขับรถผมเขาเป็นครู เขามาเล่าว่าปีการศึกษากับปีงบประมาณมันเหลื่อมกัน ปีงบประมาณจบ แต่เด็กยังเรียนไม่จบ ก็เลยไม่มีเงินมาจ้างครู จริงๆ โรงเรียนขนาดเล็กไม่จำเป็นจะต้องมีครูเต็มอัตรา เราสามารถที่จะสร้างครูอื่นๆ ที่มีความสามารถพิเศษ หรือยังไม่ได้บรรจุมาเป็นครูเฉพาะเวลานั้นได้ ทำให้มันยืดหยุ่น

นอกจากนี้เด็กแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนพร้อมๆ กัน แม้กระทั่งเด็กอายุเท่ากันก็มีความสามารถต่างกัน เด็กที่มีความสามารถแบบไหนก็ต้องให้เขาเรียนในแบบของเขา นี่คือหลักการศึกษาในต่างประเทศที่เขาใช้กัน จริงๆ ต้องปล่อยให้โรงเรียนเล็กๆ เกิดเยอะๆ ครูก็ไม่ต้องมากองกันที่เดียว แต่ดูแลเด็กตามความสามารถและศักยภาพ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และจัดงบประมาณให้เหมาะสม

 

ไกรเสริม โตทับเที่ยง
ไกรเสริม โตทับเที่ยง

 

กระจายอำนาจและสร้างความรับผิดชอบ

 

ไกรเสริม : ผมไม่สามารถจะพูดว่าการศึกษาไทยมันรวมศูนย์ได้เสียทีเดียว และไม่อยากจะเจาะจงว่ามันเป็นหน้าที่ของนักการศึกษาอย่างเดียว แต่จำเป็นจะต้องมีผู้ที่ชำนาญด้านการจัดการและนักบริหารเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการบริหารจัดการโรงเรียนเป็นหัวใจหลักที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา

โจทย์แรกที่ต้องคุยกันคือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ถ้าหากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพุ่งเป้ามาที่ผลสัมฤทธิ์ การทำงานจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง เราต้องมองว่าปลายทางของกิจกรรมใดๆ ที่ทำอยู่ นักเรียนได้อะไร เช่น ช่วงที่ทำงานในกระทรวง มีกลุ่มครูมาบอกว่าสวัสดิการเขาไม่ดี กระทบขวัญกำลังใจในการสอน และอยากจะให้ดูแลช่วยเหลือ ปัญหาเหล่านี้ผมมองว่ามันเชื่อมโยงกันได้ แต่ต้องรู้ว่าการส่งเสริมครูแปลว่าเรากำลังจะส่งเสริมให้เด็กดีขึ้นใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ทำเลย

แต่ปัจจุบันเรายังไม่มีตัวแก้สมการนี้ ตัวที่จะบอกว่าทำไปแล้วมีผลกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างไร การกระจายอำนาจจึงต้องมีกระบวนการพื้นฐาน ต้องมีกลไกที่ตรวจวัดได้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ผลที่มีประสิทธิภาพ

คนที่เป็นครูในปัจจุบัน เมื่อเติบโตก้าวหน้าทางอาชีพจะกลายเป็น ผอ. แต่ต้องยอมรับว่าบางคนอาจไม่มีทักษะที่จะเป็นผู้บริหาร ในขณะเดียวกันคนที่เป็นผู้บริหารก็อาจไม่มีความสามารถในการเป็นครู โมเดลนึงที่ผมเสนอคือ ในการคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียน หากเราเปิดช่องว่างให้ครูได้มีประสบการณ์สัก 1-2 ปี ให้ทำงานบริหาร เห็นภาพการจัดการ มองเห็นวิธีการพัฒนาโรงเรียน เขาน่าจะเป็นผู้บริหารได้ในอนาคต หรือคุณจะเติบโตในสายอาชีพครูก็ได้ แต่ก็ต้องมีสวัสดิการค่าตอบแทนที่เหมาะสมเช่นกัน

ศิธา : ผมเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่าการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานของไทย ในมุมหนึ่งเป็นการสอนเบสิคให้เด็กจบออกไปทำงาน เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการกักความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก เขาต้องมาเรียนในแพทเทิร์นเดิม นั่งมองกระดาน ได้ความรู้ตามหนังสือ เมื่อมองภาพนี้คู่กับจำนวนเด็กมากมายที่ออกจากระบบการศึกษา ต้องพิจารณาว่าการรวมศูนย์แบบนี้ได้ประโยชน์หรือไม่

มีรายการหนึ่งไปทำสกู๊ปเรื่องเด็กบนเกาะ เขาพบว่าเด็กออกนอกระบบการศึกษาถึง 90% เมื่อมาดูความรู้สึกของเด็กต่อการศึกษา เขาอยากเป็นผู้ให้เช่าเจ็ทสกี ให้เช่าร่มที่ชายหาด เพราะพื้นที่ของเขาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ส่วนพ่อแม่เขาก็มองว่าเรียนจบสูงๆ ไปก็กลับมาทำอาชีพเหล่านี้อยู่ดี ถ้างั้นออกมาช่วยพ่อแม่ตอนนี้เลยดีกว่า เด็กก็เลยออกจากโรงเรียนหมด ไม่มีความคิดอยากเรียนสูงๆ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ส่วนกลางและชุมชนต้องคุยกัน ดูว่าเขาพร้อมที่จะดูแลพื้นที่ของตัวเองได้หรือยัง

ที่ผ่านมาเราเคยทำกองทุนหมู่บ้าน ชุมชนไหนที่พร้อมจะบริการงบประมาณด้วยตัวเอง แล้วสามารถเอากองทุนไปทำให้งอกเงยได้ มีกลไกการตรวจสอบที่แน่นอน มีมาตรฐาน ก็ค่อยๆ อนุมัติไป อาจจะมีชุมชนนำร่องที่ลองใช้การกระจายอำนาจเป็นตัวอย่าง ค่อยๆ เรียนรู้ไป

พิสิฐ : ผมนึกถึงกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งมีงบ 3.6 แสนล้าน 80% เป็นงบของ สพฐ. 20% ที่เหลือแบ่งเป็นงบใหญ่ๆ คือสํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานอาชีวศึกษา นอกจากนั้นก็แบ่งเป็นงบของหน่วยงานอื่นๆ อีก 2% เช่น คุรุสภา สำนักงานสวัสดิการ ฯลฯ

สำนักงานปลัดฯ ใช้เงินกว่า 5 หมื่นล้าน คิดเป็นสองเท่าของงบสำนักงานอาชีวศึกษาที่ดูแลนักเรียนล้านกว่าคน จากประเด็นนี้สะท้อนว่าเราต้องเปลี่ยนความคิด การศึกษาที่มีคุณภาพ ต้องให้เงินไปอยู่ใกล้กับนักเรียนมากที่สุด ไม่ใช่อยู่กับรัฐมนตรีหรือสำนักงานปลัดฯ

อีกเรื่องนึงที่ผมกำลังจะตั้งกระทู้ไปยังสภา คือเรื่องกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทุกวันนี้แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ออกนอกระบบแล้ว เวลาจะเปลี่ยนแปลงหลักสูตร อาจารย์แต่ละคนที่รับผิดชอบเรื่องการสอน กลับต้องไปให้กระทรวงเป็นคนอนุมัติ กว่าเรื่องจะผ่าน กว่าจะตีกลับไปกลับมา อาจารย์ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนหลักสูตร เพราะต้องใช้เวลาและผ่านหลายขั้นตอน นี่คือตัวอย่างของอำนาจการศึกษา ถึงเวลาหรือยังที่จะกระจายอำนาจ

กุลธิดา : ปัจจุบันโรงเรียนไม่มีอำนาจการตัดสินใจอะไรเลย ได้เงินค่านมหรืออาหารกลางวันมาก็ต้องใช้เฉพาะในหมวดนั้น หรือแม้กระทั่งตึกและอาคาร โรงเรียนก็ไม่มีอำนาจในการออกแบบใดๆ ตึกโรงเรียนจะเป็นกล่องๆ ตามแบบในอดีต ซึ่งไม่ตอบโจทย์ยุคปัจจุบัน ดังนั้นที่จำเป็นจะต้องกระจายให้มากที่สุดคือ อำนาจในการจัดการเงิน และอำนาจในการจัดการคน

เรื่องคน ปัญหาทุกอย่างวนเข้าระบบราชการ เช่น ครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน โรงเรียนก็ต้องไปคำนวณให้ได้ตามนั้น ไม่สามารถเลือกได้ว่าครูคนไหนจะมาประจำอยู่ที่โรงเรียนอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือผิดฝาผิดตัว ครูพละต้องสอนภาษาอังกฤษ ครูไม่เหมาะกับบริบทพื้นที่ โรงเรียนจึงไม่สามารถมีคุณภาพได้ เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าต้องการครูแบบไหน

ตอนนี้เรากระจายอำนาจแบบอนาถาอยู่ เหมือนทอดผ้าป่าเพื่อมาเป็นเงินเดือนครู แต่ละพื้นที่ต้องหาเงินเอง หาครูอัตราจ้างมาเอง และครูเหล่านั้นก็ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ เราเคยเจอครูอัตราจ้างได้เงินเดือนละ 3,000 บาท เพราะโครงสร้างบังคับให้การตัดสินใจไปอยู่ที่ราชการส่วนกลาง ทั้งที่ปัญหาเป็นเรื่องของโรงเรียน

ในเรื่องบุคลากรต้องทำให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้ ใช้กรรมการบริหารโรงเรียนที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ฟังก์ชันได้ ใช้โอเพ่นดาต้า มีเอกสารอะไรก็เปิดให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบได้ ถ้าไม่สามารถมีคนเก่ง อย่างน้อยก็สามารถสร้างระบบที่ดี ตรวจสอบได้

ส่วนเรื่องเงิน ตอนนี้เราใช้ทุกอย่างเป็นหมวดๆ ถ้าโรงเรียนมีปัญหาเรื่องห้องน้ำก็ต้องรอเงิน และถ้าปีนั้นไม่ได้เงิน ปัญหาห้องน้ำก็ต้องรอไป เราต้องคิดว่าจะคลี่คลายระบบราชการเพื่อให้โรงเรียนบริหารจัดการเงินแต่ละก้อนได้ โดยสร้างมาตรฐานเอาไว้ว่า จำนวนเงินที่เหมาะสมในการจัดการโรงเรียนแต่ละขนาดควรจะเป็นเท่าไหร่ และมีชุมชนและเทคโนโลยีช่วยตรวจสอบ เปิดเผยข้อมูล ไม่อย่างนั้นเมื่อมีปัญหาทุจริตในโรงเรียนก็ต้องไปร้องเรียนสื่อ เพราะโรงเรียนตรวจสอบกันเองไม่ได้

 

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

 

พัฒนา คุณภาพครู– คุณภาพการเรียนการสอน

 

ศิธา : การเรียนการสอนหลายเรื่องในอดีตไม่สามารถใช้ในปัจจุบันได้แล้ว เช่น การตีลูกศิษย์ แต่ครูยังเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ปัจจุบันงบประมาณที่ใช้ออกแบบและดูแลแม่พิมพ์ให้ได้กลับมีน้อยมาก การจะแก้ไขทั้งระบบต้องดูเนื้อหาหลักสูตรและตัวครูว่าจะตอบสนองเนื้อหานั้นหรือไม่ ผมมองว่าอีกไกลแต่เราต้องเริ่มลงมือทำ

โรงเรียนในประเทศไทยมีอุปสรรคทางการศึกษาคือฐานะของพ่อแม่ โรงเรียนหลักสูตรอินเตอร์แตกต่างจากหลักสูตรทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เขาสอนนักเรียนให้รู้จักทำกิจกรรมกลุ่ม คิดต่อยอด ค้นหาจากแหล่งต่างๆ เด็กจึงมีโอกาสที่จะเก่งกว่าครู แต่นักเรียนในหลักสูตรของเราเรียนยังไงก็ไม่มีทางเก่งกว่าครู เนื้อหาหลักสูตรของไทยยึดว่าคุณท่องสูตรคูณได้เก่งก็ถือว่าเก่ง แต่เมื่อคู่แข่งในอนาคตของเราคือ AI ถ้าเด็กไทยเรียนแบบเดิม จบมาจะไม่มีงานทำ ปัจจุบันไม่มีใครกล้ากำหนดอนาคตของคนเกิน 3-5 ปี ของเราดันไปล็อกไว้ถึง 10-20 ปี

ไกรเสริม : หากเราแบ่งโรงเรียนเป็นประเภทตามความพร้อม เราน่าจะตั้งโจทย์การแก้ปัญหาหรือเพิ่มศักยภาพครูได้ตรงประเด็นขึ้น โรงเรียนที่มีความพร้อมน้อยมีเด็กประมาณ 1 ล้านคน โรงเรียนความพร้อมปานกลางมี 2 ล้านกว่าคน โรงเรียนที่มีความพร้อมมากเด็กแย่งกันเข้ามี 3 ล้านกว่าคน โดยเรามีหลักสูตรแกนกลางที่อาจต้องคุยกันใหม่ว่าอะไรตรงกับความจำเป็นและความต้องการของประเทศ แล้วปรับให้เข้ากับสภาพแต่ละโรงเรียน

เราไม่สามารถพัฒนาแค่ครูโดยไม่ไปแตะหลักสูตรได้ ครูในระบบ 4 แสนกว่าคนจะเกษียณทุกปี แล้วมีคนใหม่ๆ เข้ามา ต้องดูว่าระบบการผลิตครูเป็นอย่างไร เปิดช่องพอหรือไม่ เรื่องใบประกอบวิชาชีพครูยังเป็น พ.ร.บ. ที่ถกเถียงกันว่าควรเปิดกว้างแค่ไหน จะเปิดกว้างอย่างไร แล้วมองไปที่อนาคตของเด็กในบางพื้นที่มีเด็กที่ใช้การเรียนแบบฐานการวิจัย วันนี้อยากศึกษาเรื่องถนนคนเดิน ก็ไปเก็บสถิติ เก็บข้อมูลจนได้ข้อสรุปเป็นผลงาน นี่คือการเรียนรู้ที่จะเอาไปใช้ประโยชน์จริงได้

กุลธิดา : ต้องลดงานครู ตอนนี้ในโรงเรียนหนึ่งมี 160 โครงการที่ต้องกรอกเอกสาร ขณะที่เรามีเวลาเรียนปีละ 200 วัน แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาคุณภาพ งบประมาณของโครงการเหล่านี้ไม่โดนตัดสักบาท เช่น โครงการอบรมครูเพื่อสร้างจริยธรรมหรือปราบปรามทุจริต ทั้งที่ทำในโรงเรียนได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแยกโครงการออกมา โครงการเหล่านี้ทำให้คุณครูต้องทำโครงการเพิ่ม ออกนอกโรงเรียน พาเด็กไปแข่ง ภาระงานสอนเหลือนิดเดียว ยังไม่รวมเวลาทำกับข้าวหรือซ่อมหลังคา ถ้าเราไม่สามารถลดงานส่วนนี้ได้ การจะพูดเรื่องหลักสูตรจะยาก

ส่วนหน่วยงานผลิตครูของเราก็ยังไม่สามารถทำให้ครูเป็นผู้สร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง เช่น การสอนครูวิเคราะห์ผลประเมินเด็ก อย่างข้อสอบโอเน็ตไม่สามารถดูเฉพาะตัวเลขรวมๆ ได้ คุณต้องไล่ดูว่าเด็กแต่ละคนอ่อนเรื่องอะไร แล้วไปออกแบบห้องเรียนให้เหมาะกับเด็กๆ แต่ทั้งหลักสูตรมีเรียนเรื่องนี้แค่ 3 หน่วยกิต และ 70% เป็นเรื่องระเบียบกระทรวง การออกแบบและพัฒนาห้องเรียนของตัวเองบนฐานข้อมูลหายไปจากหลักสูตรเลย

หลักสูตรผลิตครูต้องยกเครื่องเรื่องการทำหลักสูตรที่ตอบโจทย์โรงเรียนและพื้นที่ของตัวเองให้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ทุกวันนี้เราใช้การอบรมในสเกลใหญ่มากเกินไป ซึ่งไม่เหมาะกับการสร้างทักษะครู

พิสิฐ : ผมคิดว่า 2 เงื่อนไขที่จะทำให้คุณภาพนักเรียนดีขึ้น คือ 1. คืนครูให้นักเรียน ครูใช้เวลามากในการเขียนรายงานเพื่ออวดศึกษานิเทศก์หรือผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง เราลดลงได้ไหม เพื่อให้ครูมีเวลากับเด็กที่แต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน 2. อยากให้เด็กมีความคิด แต่หากการสอบยังเป็นวิชาความจำ ครูก็ต้องสอนตามนั้น

อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องกิจกรรม ให้เด็กเล่นเป็นกลุ่มหรือทำกิจกรรมช่วยชุมชน สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเรียนได้จากการเปิดหนังสือหรือท่องจำ แต่ได้มาจากการที่โรงเรียนหรือคุณครูให้โอกาสเด็กๆ ไปทำ เราต้องเปลี่ยนครูให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เวลากับเด็กแทนที่จะให้เวลากับกระทรวงหรือระเบียบต่างๆ

 

ติดเขี้ยวเล็บ ยกระดับ กสศ.

 

กุลธิดา : อยากเห็น กสศ. ทำงานแบบเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ตรงจุดมากขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่าการแก้ปัญหาแบบที่ไม่ใช่ one size fit all นั้นใช้ได้จริงๆ โดยต้องมีข้อมูลจากพื้นที่มากขึ้น อยากเห็นระบบการส่งข้อมูลของครูที่ซับซ้อนน้อยกว่านี้ เข้าใจว่าตอนนี้ใช้วิธีเยี่ยมบ้านแล้วส่งข้อมูลต่อให้ กสศ. จะทำยังไงให้คุณครูสะดวกที่สุด และข้อมูลควรเชื่อมกับสาธารณสุข ซึ่ง กสศ. พยายามทำแล้ว แต่อยากเห็นข้อมูลมากกว่านี้ เช่น เรื่องวัคซีน หรือการหาหมอฟัน

อีกเรื่องคือฐานข้อมูลเด็กที่ออกนอกระบบการศึกษา เป็นเรื่องท้าทายมากเพราะติดตามได้ยาก ทำอย่างไรที่จะได้ตั้งแต่ข้อมูลเด็กเสี่ยง จนถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบแล้วเขาไปอยู่ที่ไหน จะจัดการอย่างไร อยากเห็น กสศ. เป็นตาข่ายที่มารองรับกลุ่มที่ยากจนมากและต้องการความช่วยเหลือมาก โดยมีระบบที่ชัดเจนและดูแลคนกลุ่มนี้ได้ดี

ไกรเสริม : กสศ. ตั้งโจทย์ว่าจะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากการเข้าไปช่วยเหลือเด็กขาดโอกาส เด็กยากจนให้เข้าสู่การศึกษาแล้ว ถ้าจะเพิ่มประสิทธิภาพ กสศ. ผมคิดว่าควรมีเทคโนโลยีบางอย่างช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น งานของ กสศ. เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าได้ทดลองใช้รูปแบบบางอย่างในพื้นที่ แล้วเอามาขยายผลสู่ระดับนโยบาย จะทำให้นโยบายสาธารณะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันบุคลากรส่วนใหญ่คือนักการศึกษา อาจต้องมีภาคส่วนอื่นๆ เพิ่มเพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภูมิภาคให้เกิดประโยชน์และสามารถตั้งโจทย์สำหรับการแก้ปัญหาในอนาคตของประเทศได้

พิสิฐ : ผมคิดว่าต้องคิดถึงระยะยาวว่าคนไหนควรได้รับการดูแล เพื่อนประถมหลายคนของผมเรียนเก่ง แต่ไม่ได้มีโอกาสศึกษาต่อ ช่องทางต่อยอดเขาก็ตีบตัน เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เรามีการใช้ พ.ร.บ.ประถมศึกษา มาตั้งแต่ปี 2464 มีคนไทยจบสูงกว่าประถมแค่ครึ่งเดียว คนไม่จบประถมมี 1 ใน 4 เงินที่ลงไปเหล่านี้จะทำประโยชน์ได้มหาศาล แต่ต้องออกแบบดีๆ ไม่ให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดในอนาคต

ศิธา : กรอบคิดผมคือไม่ใช่ว่าจะให้เงินเด็กเท่าไหร่เพื่อให้เขากลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องจำนวนเงิน หากเราลดการอุดหนุนลงครึ่งหนึ่ง คนอาจออกจากระบบเพิ่มขึ้น 10% หรือเราเพิ่มเงินอีกเท่าตัวคนอาจกลับมาในระบบเพิ่มขึ้น 5-10% ก็ได้

กสศ. ต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้ทราบว่าเพราะอะไรเด็กคนนั้นจึงจำเป็นต้องออกจากระบบ ซึ่งเชื่อว่าเป็นความต้องการของเด็กเองในสัดส่วนที่น้อยมาก และเมื่อเขาจำเป็นต้องออกจากระบบแล้ว เราจะสร้างให้เด็กคนนั้นสามารถอยู่ในสังคม ประกอบสัมมาชีพสุจริตหาเลี้ยงตัวเองเป็นบุคลากรที่ดีได้อย่างไร

 

101 Policy Forum : ทลายคอขวดปฏิรูปการศึกษา ฝ่ามรสุมความเหลื่อมล้ำ

 

คอขวดแห่งการปฏิรูปการศึกษา

 

พิสิฐ : ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนบนภูเขาแห่งหนึ่ง เผอิญได้พูดคุยถามไถ่กับเสมียนที่โรงเรียน เขาหยิบกระดาษบัญชีเงินเดือนของครู 6-7 คนมาให้ดู ในบัญชีแถวแรกเป็นเงินเดือน แถวต่อมาเป็นรายจ่ายที่ถูกหักไป และแถวสุดท้ายเป็นเงินคงเหลือ ปรากฏว่าจากเงินเดือนประมาณ 3-4 หมื่นบาทเหลืออยู่ไม่กี่พันบาท เงินที่หายไปเป็นหนี้สินของครูเต็มไปหมด เอาเข้าจริงแล้วเงินเดือนที่รัฐจ่ายให้ครูทั้งเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ไม่ใช่น้อยเลย งบกลางประมาณ 5 แสนล้านบาท กว่า 80% คือสวัสดิการของข้าราชการ

สังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมของการบริโภค พวกนักขายตรงหรือพวกเงินผ่อน เชื่อได้เลยว่าต้องการเข้าไปขายกับครูในโรงเรียน เพราะครูหนีไปไหนไม่ได้ เราต้องขีดเส้น เป็นไปได้ไหมที่จะไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้าไปในโรงเรียน ไม่งั้นจะเป็นการสร้างนิสัยให้เกิดการสร้างหนี้ สังคมไทยต้องหาวิธีจะทำอย่างไรไม่ให้หนี้สินของครูพอกขึ้นมา

ไกรเสริม: ผมมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนเดียว กระทรวงศึกษาฯ กำกับดูแลก็จริง แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัยด้วย เพราะว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นงานใหญ่

ถ้าถามผมว่าจะแก้ปัญหาคอขวดการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร เราต้องตั้งตีโจทย์ร่วมกันว่าเราต้องการทักษะในอนาคตอย่างไร ถ้ามองเด็กที่เรียนวันนี้ อีก 4-5 ปี เขาเรียนจบ เราต้องคาดการณ์ให้ได้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าสังคมจะเป็นอย่างไร นั่นรวมถึงต้องดูประเทศอื่นด้วยว่าเขาปรับตัวกันอย่างไร

กุลธิดา : ประเทศไทยไม่มีความต่อเนื่องด้านนโยบาย เราบริหารนโยบายรายวัน ถ้านับค่าเฉลี่ยอายุงานของรัฐมนตรีคนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 9 เดือน ยังไม่ครบปีการศึกษาเลย แล้วทุกครั้งที่แต่ละคนมารับตำแหน่งก็จะหอบหิ้วแพคเกจนโยบายของตัวเองมา แล้วก็สั่งโรงเรียนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันเต็มไปด้วยความพยายามในการทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยต่อเนื่อง เพราะคนใหม่มาก็ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ปัญหาก็จะเป็นเหมือนเดิมถ้าเราไม่สามารถคุยกันได้ว่าตัวชี้วัดทางการศึกษาควรจะเป็นอย่างไรกันแน่

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกคือโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรเพียงพอหรือยัง ก่อนจะขยับไปทำเรื่องพัฒนาคุณภาพต่อ เพราะถ้าท้องยังไม่อิ่ม ห้องน้ำยังไม่สะอาด ย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งสิ้น แล้วคนที่ควรเป็นเจ้าภาพก็ไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาฯ อย่างเดียวควรจะเป็นหลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกันออกแบบ ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน ซึ่งรวมถึงชุมชนและเด็กนักเรียนด้วย

นอกจากนโยบายรายวันแล้ว เรายังมีหน่วยงานการศึกษาอีกเยอะที่กระจัดกระจายและไม่คุยกัน ทำให้ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน หรือต่อให้ใครมีทิศทางก็เป็นทิศทางที่ไม่ตรงกัน การจัดลำดับความสำคัญว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลังต้องลงไปถึงผู้ปฏิบัติงานให้ได้ ประเทศเรามีคนออกนโยบายเยอะ แต่มีผู้ปฏิบัติน้อย มันกลับหัวกลับหาง

เรื่องต่อมาคือเรื่องความรับผิดชอบ เช่น ตอนนี้เด็กอ่านไม่ออกใครรับผิดชอบ หรือเด็กโดนละเมิดในโรงเรียน ใครรับผิดชอบ ตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน โครงสร้างที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบและทำให้เกิดคุณภาพขึ้นก็ใช้การไม่ได้

ศิธา : การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาทุกคนยอมรับว่ามีพัฒนาการบ้าง แต่เป็นไปอย่างล่าช้า

ประเด็นแรกคือช้าแค่ไหน ผมยกตัวอย่างเช่นการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ใช้เวลา 50 ปีกว่าจะสร้างได้ หรือกรณีรถไฟไทยที่บางคนบอกว่าไม่ได้พัฒนามาเป็นร้อยปีแล้ว แต่สำหรับการศึกษาผมมองว่าแย่กว่าทั้ง 2 เรื่อง เพราะการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเวลาที่เสียไปจากการไม่ปรับตัวเป็นมูลค่ามหาศาล

ประเด็นต่อมาคือช้าอย่างไร ทุกคนทราบดีว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้การศึกษาพัฒนาไม่ได้ก็คือการเมือง

ประเด็นสุดท้ายคือจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมมองว่าทุกพรรคการเมืองพูดเหมือนกันว่าการปฏิรูปการศึกษาควรจะเป็นวาระแห่งชาติ แต่เป็นไปได้ไหมว่าทุกพรรคการเมืองควรมานั่งโต๊ะคุยกันก่อนการเลือกตั้ง แล้วคุยกันให้ตกผลึกว่าจะเอาอย่างไรกับการศึกษาไทย เสร็จแล้วลงนามทำสัญญาประชาคมหรือสัตยาบันร่วมกันก็ได้ ไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลจะต้องตอบโจทย์ตามนี้ ตกลงกันให้ได้ในเชิงหลักการก่อน ส่วนรายละเอียดก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรค

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save