fbpx
101 policy forum : คิดใหม่ นโยบายครอบครัวไทยยุคไร้นิยาม

101 policy forum : คิดใหม่ นโยบายครอบครัวไทยยุคไร้นิยาม

พิมพ์ชนก พุกสุข เรียบเรียง

 

ที่ผ่านมา หลายคนอาจมีภาพจำต่อคำว่า ‘ครอบครัว’ จากสื่อกระแสหลักเป็นภาพของพ่อแม่ลูกในบ้านหลังใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างเปี่ยมสุขและเต็มไปด้วยรอยยิ้ม อันดูเหมือนจะเป็นครอบครัวในอุดมคติของสังคมสมัยใหม่

คำถามคือ แล้วในปัจจุบันนี้ ครอบครัวเป็นเช่นนั้นอยู่จริงๆ หรือ ใช่หรือไม่ว่า ความหลากหลายในสังคมทำให้กรอบของคำว่าครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแบบที่สื่อเคยนำเสนอ กระทั่งว่าหลุดออกไปจากมิติที่รัฐไทยเข้าใจเสมอมา เรามีทั้งครอบครัวแบบพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่เต็มไปด้วยคนหลายรุ่น คู่รักเพศเดียวกันหรือครอบครัวที่ไม่มีลูก ซึ่งสถานะต่างๆ ของคำว่าครอบครัวเหล่านี้ต่างออกไปจากภาพจำที่สังคมเคยมี และยิ่งเมื่อวิกฤต COVID-19 ที่บุกรุกเข้ามาถึงหน่วยย่อยระดับเล็กสุดอย่างครอบครัว ยิ่งเปิดเปลือยให้เห็นว่ามีประชากรอีกหลายคนที่ตกสำรวจไปจากสวัสดิการ ข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญและในสายตาของรัฐไทยไปอย่างน่าเสียดาย

101 Policy Forum : คิดใหม่ นโยบายครอบครัวไทยยุคไร้นิยาม ชวน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ศุภมาส อิศรภักดี โฆษกพรรคภูมิใจไทย, ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล และ นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาร่วมพูดคุยถึงครอบครัวไทยยุคใหม่ในนิยามของแต่ละพรรค หนทางและวิธีการที่จะรองรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศและวัยไม่ให้ตกสำรวจไปจากข้อกฎหมาย ตลอดจนครอบครัวเปราะบางที่ไม่ตรงกับภาพจำที่เรามีต่อครอบครัวในอุดมคติ

 

 

 ตีโจทย์ครอบครัวยุคใหม่

 

ปัจจุบันครอบครัวไทยมีลักษณะหลากหลายมากขึ้น มีวิธีตีโจทย์และจัดลำดับความสำคัญเรื่องนโยบายครอบครัวอย่างไร

ชลน่าน : โจทย์ของครอบครัวยุคใหม่หลากหลายมากขึ้นในเชิงปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการยอมรับในเชิงกฎหมาย คำว่าครอบครัวในยุคนี้จึงมีความอ่อนด้อยหรือมีลักษณะที่ได้รับการปฏิบัติทั้งจากภาครัฐและคนในครอบครัวอย่างขาดๆ เกินๆ ซึ่งครอบครัวเป็นหน่วยย่อยที่สุด คนที่มาอยู่ด้วยกันมีความผูกพัน ซึ่งคำว่าผูกพันตามหลักคือสมรสกัน เป็นสามีภรรยากัน หรือผูกพันกันในสายเลือด เป็นนิยามเดิมๆ และกฎหมายยอมรับแค่นั้น แต่ปัญหาตอนนี้คือครอบครัวชาว LGBT หรืออื่นๆ ในตอนนี้เขายังไม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย

ปัญหาอย่างที่สอง หลังจากภาวะการระบาดของ COVID-19 ทำให้เราเห็นอะไรเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือเรื่องวิกฤตฐานข้อมูลของบ้านเมืองเราซึ่งแย่มาก ด้อยค่ามาก เป็นฐานข้อมูลที่บ่งบอกอะไรไม่ได้เลยทั้งสิทธิผู้ได้รับการเยียวยา ผู้มีความเปราะบางทางสังคม

 

ศุภมาส : ในประเด็นครอบครัว ที่เราเห็นและได้ยินจากคนรู้จักคือ ทุกคนได้เวลาของครอบครัวกลับคืนมา แต่ก็มีส่วนที่ต้องเสียไปนั่นคือการถูกเลิกจ้าง หรือได้เงินน้อยลงในบางครอบครัว หลายๆ บ้านไม่เคยมีเวลาเช่นนี้ ก่อนนี้อาจไม่เคยมีเวลากินข้าว ดูทีวี เล่านิทานให้ลูกฟัง เราจึงคิดว่าทุกประเด็นปัญหามีทั้งข้อดีข้อเสีย

เราเองเพิ่งมีลูกเล็กและมีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กค่อนข้างเยอะ ทุกเล่มพูดเหมือนกันหมดคือเด็กเล็กต้องการเวลาที่มีคุณภาพ เราจึงอยากให้เห็นในจุดนี้ว่าสิ่งที่ได้คืนมาคือเวลาซึ่งเป็นสิ่งที่มีเงินก็ซื้อไม่ได้

นอกจากนี้ ครอบครัวที่เคยคิดว่าตัวเองต้องออกไปทำงานข้างนอกตลอดเวลา หรือกิจกรรมต่างๆ เช่นกินข้าวนอกบ้าน ก็อาจจะตระหนักได้ว่าจริงๆ ไม่ต้องไปทำงานนอกบ้านหรือไม่ต้องไปกินข้าวนอกบ้านบ่อยๆ ตรงนี้คิดว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลัง COVID-19

 

ณัฐวุฒิ : เรื่องของครอบครัวอยู่ในหลัก 12 ประการของอดีตพรรคอนาคตใหม่มาโดยตลอด และในฐานะพรรคก้าวไกล เราก็ยืนยันจะผลักดันเรื่องนี้ต่อ

เวลาเราลงพื้นที่ ประการแรกเห็นด้วยกับคุณศุภมาสว่า COVID-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น แต่เราขอจำแนกออกสัก 4 ประการ ข้อแรก มีครอบครัวที่ไม่สามารถตั้งรับวิกฤตนี้ในเชิงรายได้ เช่น เหล่าคนไร้บ้าน

ประเด็นที่สอง มีครอบครัวที่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่ อย่างเรื่องระบบแอปพลิเคชันก็ใช้ได้แค่กับคนที่เข้าถึง แต่คนที่อยู่ในชุมชนลึกๆ อย่างโรงหมูที่คลองเตยซึ่งผมไปเจอมา มีบ้านอยู่สิบหลังแต่ลงทะเบียนรับสิทธิได้แค่หลังเดียว ที่เหลือคือพวกเขาเข้าไม่ถึงแอปพลิเคชันเลย

ประเด็นที่สาม ครอบครัวที่ประสบปัญหาครอบครัว เราพบว่าปรากฏความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้น

และประเด็นที่สี่ เราพบว่ามีหลายครอบครัวที่สูญเสียคนในครอบครัวไป ไม่ว่าจะเป็นการแยกทางกัน การทิ้งเด็ก หรือการฆ่าตัวตาย เวลาเราพูดเรื่องนี้เราเห็นแต่ศพแต่ไม่เห็นคนตาย เราไม่เคยถามเลยว่าคนที่อยู่จะอยู่อย่างไรต่อ เราจึงควรกลับมาทบทวนนิยาม ทบทวนกฎหมายของครอบครัวในปัจจุบันเสียก่อน

 

คณวัฒน์ : ภาพจำของคำว่าครอบครัวที่ติดตาเราทุกคนว่าต้องมีพ่อแม่ลูก ตามที่เห็นในบทเรียนหรือโฆษณาต่างๆ แต่ถามว่าในความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ตามข้อมูลที่ผมได้รับมานั้น ปัจจุบัน กว่าหนึ่งในสามของครอบครัวไทยเป็นครอบครัวแบบสามรุ่น คือรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่และรุ่นลูก จึงมองว่า ภาครัฐควรมีมุมมองต่อคำว่าครอบครัวให้กว้างขึ้นเพื่อจะได้นำไปสู่การออกนโยบายที่ตอบโจทย์มากขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีครอบครัวที่อยู่คนเดียว ครอบครัวที่ไม่มีบุตร หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือชายกับชาย มันจึงเป็นชุดของความสัมพันธ์ที่อยู่ในอีกบริบทหนึ่ง

เรื่องเหล่านี้จึงนำไปสู่ปัญหาการออกนโยบาย เช่น คู่รักชายกับชายที่ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับอย่างเป็นรูปธรรม หรือเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ภาพจำเก่าๆ ที่เจอในละครอาจจะจำกันว่าสามีทำร้ายภรรยา แต่ความจริงแล้วอาจเป็นไปได้ทั้งลูกทำร้ายพ่อแม่ หรือคนรักทำร้ายกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนออกนโยบายต้องตามให้ทัน

ผมเห็นด้วยกับคุณหมอชลน่านว่าถ้าเราเก็บข้อมูล สร้างฐานข้อมูลให้ครบถ้วน ก็จะทำให้ออกนโยบายได้ ถ้าเราพบว่าเพศเดียวกันที่อยู่ด้วยกันมีจำนวนมากขึ้น เราก็อาจออกนโยบายลดหย่อนภาษีที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ ผมจึงมองว่าปัญหาใหญ่สุดในการออกนโยบายยุคใหม่คือการตีโจทย์และมองให้ออกว่าครอบครัวยุคใหม่คืออะไร

 

วิกฤติ COVID-19 และครอบครัวไทย นโยบายที่เราต้องเข้าให้ถึง

 

จากวิกฤติ COVID-19 รัฐจะเยียวยาครอบครัวที่เปราะบาง เข้าไม่ถึงระบบได้อย่างไร

ศุภมาส : นับจากเกิด COVID-19 มีหน่วยเล็กๆ ในแต่ละหมู่บ้านที่เข้มแข็งมาก เช่น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) เป็นหน่วยงานเล็กๆ แต่เข้มแข็งมากและนอกจากนี้เรายังมีหน่วยงานจิตอาสาต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้พวกเขาเข้มแข็งมาก คนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลพยายามดูแลเพื่อสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้พวกเขาได้ดูแลชาวบ้านต่อไป

อย่างทุกวันนี้ คนต่างจังหวัดเขารู้กันหมดนะว่าใครไปไหนมา ไปพื้นที่สุ่มเสี่ยงมาหรือเปล่า ก็พยายายามกระตุ้นให้มีการกักตัวกัน คิดว่ารัฐบาลควรสนับสนุนหน่วยงานเล็กๆ เหล่านี้เพื่อให้เป็นการเข้าถึงชาวบ้านและชุมชนได้ เช่น อสม. ที่ทำตัวเป็นตำรวจบ้าน ช่วยรักษา ดูแลและคอยทำงานร่วมกับปลัดอำเภอเพื่อให้ในหมู่บ้านอยู่กันอย่างปลอดภัย และช่วยดูแลครอบครัวที่เป็นครอบครัวเปราะบาง ขาดพ่อแม่หรือลูก หรือเรียกว่าครอบครัวแหว่งกลางก็ได้

 

ณัฐวุฒิ : ส่วนตัวคิดว่าเราต้องมาแบ่งหรือนิยามคำว่าครอบครัวเปราะบางที่ต่างไปจากเดิม ครอบครัวแหว่งกลางเป็นอย่างไร ครอบครัวข้ามรุ่นอาจไม่เปราะบางเสมอไป ในทางกลับกันครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกก็อาจจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางได้ ยังไม่นับรวมถึงครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ ฉะนั้น เวลาเราพูดว่าเป็นครอบครัวเปราะบางจึงเป็นปัญหา อาจต้องมารื้อนิยามหรือมาเพิ่มนิยามใหม่ๆ

ความจริงก่อนมาเป็น ส.ส. ผมทำงานคุ้มครองเด็กมา 18 ปีเต็ม เราเห็นระบบชุมชนที่เป็นธรรมชาติว่ามีการดูแลระหว่างกันและกันซึ่งเป็นข้อดี แต่ระบบที่สำคัญไปกว่านั้นคือการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งน่าเสียดายว่าขาดการกระจายอำนาจในเชิงเจ้าหน้าที่ องค์ความรู้ และการจัดการงบประมาณให้พวกเขาเข้าไปมีส่วนในการดูแลคนในชุมชนได้ ซึ่งพรรคก้าวไกลมองปัญหาเหล่านี้ไว้สามระดับ

หนึ่ง เราจำเป็นต้องมีการจัดการข้อมูลแบบ open data แต่ต้องดูแลความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย โดยเราจะเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้แล้วนำไปคัดกรองว่าครอบครัวใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นครอบครัวเปราะบาง

สอง เรื่องของการเพิ่มศักยภาพในการกระจายอำนาจไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ท้ายที่สุดเราไม่สามารถรู้จักคนในชุมชนได้เท่าคนในชุมชนด้วยกันเองหรอก ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด

สาม ในระดับนโยบายของการดูแลครอบครัวเปราะบาง เราควรมีเครือข่ายเฝ้าระวังในระดับจังหวัด เพื่อคัดกรองว่าถ้าเราเจอครอบครัวที่มีลักษณะเช่นนี้ จะทำอย่างไร เราจะวางการป้องกันขั้นพื้นฐานไว้ เช่น มีเงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิด จัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพ เพิ่มเงินดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ในชุมชนและดูแลครอบครัวได้ ดังนั้นแล้ว นี่จึงเป็นนโยบายที่ไปไกลกว่าการคัดกรองเพียงอย่างเดียว

 

คณวัฒน์ : เราอาจต้องมานิยามคำว่าครอบครัวเปราะบางจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เช่น บางครอบครัวที่แหว่งกลางที่มีปู่ย่าแล้วข้ามมาเป็นรุ่นลูกเลย ก็อาจมีความพร้อมกว่าครอบครัวที่ไม่ได้แหว่งกลางก็ได้

ส่วนเรื่อง data เราต้องมาขยายนิยาม ทำความเข้าใจคำว่าเปราะบางใหม่ โดยเน้นให้เห็นว่าครอบครัวที่มีในไทยเป็นแบบไหนบ้าง แล้วจัดกลุ่มใหม่ เพื่อจะได้เข้าใจว่าภาครัฐควรให้การเยียวยาอย่างไร และจะนำมาซึ่งเรื่องของวิธีการหรือสวัสดิการ

เมื่อก่อนผมอาจคิดว่านโยบายบางอย่างต้องออกไปจากส่วนกลาง ปัจจุบันที่ผ่านมา นโยบายของรัฐไทยก็ออกไปจากส่วนกลางเป็นหลัก แต่ปรากฏการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนั้นเปลี่ยนมุมมองผมไป เช่น การดูแลคนในหมู่บ้าน คนในชุมชนเดียวกันของ อสม. จะเห็นได้ว่า COVID-19 มีการระบาดในสามจังหวัด ความเข้มแข็งของ อสม. และคนในชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ควบคุมโรคได้ ใครออกไปตลาด ใครไปพื้นที่เสี่ยง เขารู้กันหมดและนี่คือจุดแข็ง

การนำเสนอสวัสดิการของรัฐไปสู่คนที่เปราะบางตามนิยามใหม่จึงมีความสำคัญมาก เราต้องกระจายไปตามท้องถิ่นให้มาก เนื่องจากท้องถิ่นที่เข้มแข็งถือเป็นจุดแข็งของไทย ผมว่าต่างจากต่างประเทศอย่างอเมริกาหรืออังกฤษมาก เช่น ศูนย์เด็กเล็กตามต่างจังหวัดหรือโครงการมหัศจรรย์ 1000 วันแรกของชีวิต ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังทำอยู่ ก็พยายามจะกระจายสวัสดิการตรงนี้ไปตามจังหวัดต่างๆ ความช่วยเหลือผู้สูงอายุก็มีการกระจายนโยบายตามที่กระทรวงสาธารณสุขทำได้ การแพทย์ก็มีส่วนร่วมในกระจายเครื่องมือและองค์ความรู้ไปตามองค์การบริการส่วนจังหวัดต่างๆ เพื่อให้มาดูแลผู้สูงอายุได้

นโยบายที่ผมเคยบอกคือ อาจถึงเวลาแล้วที่เราไม่ควรรวมศูนย์ทั้งหมดตรงกลาง แต่ต้องกระจายไปตามท้องถิ่น ตามหน้างานให้ดูแลตัวเอง แล้วส่วนกลางมีหน้าที่ให้แนวคิด ให้ความรู้ตรงนี้ออกไปเท่านั้น

 

ชลน่าน : ตอนนี้ไทยมีประมาณ 20 ล้านครัวเรือน บางครัวเรือนมี 2-3 ครอบครัว ผมถามว่าขณะนี้มีครอบครัวเปราะบางเท่าไหร่ ไม่มีใครตอบได้เลย ประเด็นสำคัญคือฐานข้อมูลการสำรวจตรงนี้จึงต้องชัด โดยเฉพาะหลัง COVID-19 ต้องชัด สำรวจตรวจสอบให้ชัด และนิยามต้องชัดว่าเปราะบางคืออะไร ที่ว่าเป็นครอบครัวแหว่งกลางนั้นมีกี่ครัวเรือน แยกประเภทให้ชัด ดูว่าสิ่งที่เขาขาดคืออะไร สภาพปัญหาของแต่ละครอบครัวคืออะไร ฐานอาชีพของเขาคืออะไร

COVID-19 ทำให้เรารู้ว่า เราไม่รู้เลยว่าแต่ละคนมีอาชีพอะไร เมื่อสำรวจแล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อคือให้เขามีสภานภาพที่รองรับตามกฎหมาย บางคนไม่มีบัตรประชาชนด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะต้องเอาเข้าสภาเพื่อปรึกษากัน

และสิ่งที่เรารู้ เราเห็นแล้ว เราก็ต้องกลับมาที่ระดับครอบครัว นั่นคือจะเสริมสร้างให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างไร ให้เขามีทั้งความรู้ ความสามารถ เราต้องเติมเต็มตรงนี้เข้าไป ต้องมีสถาบันเข้ามารองรับ เรามีนโยบายพัฒนาสังคม คือเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง และหากจะผลักดันเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ต้องมีสถาบันพัฒนาครอบครัวในชุมชน จะเป็นระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอก็มองไปอีกรูปแบบหนึ่ง ว่าจะทำอย่างไรให้ตอบสนองต่อการกระจายอำนาจไปท้องถิ่นให้เต็มที่

สังเกตได้ว่า COVID-19 คนท้องถิ่นไม่อดตายเพราะเขาดูแลกันและกันดี สถาบันพัฒนาครอบครัวจึงจำเป็น ต้องเอาคนจากหลากหลายวิชาชีพเข้ามา เช่น มีครอบครัวที่เป็นกลุ่มเด็กออทิสติก กลุ่มเด็กพิเศษ เป็นต้น เราต้องเติมเต็มเข้าไป สิ่งที่ต้องช่วยกันทำคือ หนึ่ง เรื่องฐานข้อมูล สอง แก้ด้วยสถานภาพด้านกฎหมาย สาม เสริมสร้างความรู้ความสามารถทั้งครอบครัวและคน และสี่คือเรื่องกลไกรัฐที่จะเข้าไปดูแล ไม่ว่าจะเป็นสถาบันเสริมสร้างการพัฒนาครอบครัวหรือกลไกอื่นๆ

เรื่อง COVID-19 สถาบันครอบครัวเปราะบาง เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ สิทธิในการเข้าถึงการดูแลจากภาครัฐไม่ทั่วถึงจริงๆ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีมันก็มี พอ COVID-19 มา มีข้อดีและข้อเสีย ความผูกพันระหว่างครอบครัวหายไป แม้ในครอบครัวยังต้องใส่หน้ากากหากัน สิ่งที่เราต้องมองหลัง COVID-19 คือ จากนี้วิถีชีวิตรูปแบบใหม่จะส่งให้มีการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวพอสมควร

ดังนั้น เราต้องการสร้างสภาวะ wealth, health และ happiness ให้ครอบครัว

 

ออกแบบนโยบายครอบครัวในภาวะเกิดน้อย-อายุยืน

 

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการให้กำเนิดบุตรน้อย ปีที่ผ่านมามีอยู่ประมาณ 7 แสนรายเท่านั้น เพราะพ่อแม่ไม่ค่อยอยากมีลูก เนื่องจากต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ทั้งศูนย์เด็กเล็กก็ไม่พอ นโยบายรัฐที่จะทำให้ครอบครัวมีทายาทควรเป็นแบบไหน

ณัฐวุฒิ : ตอนอภิปรายนโยบาย ผมใช้คำว่าคนที่ท้องไม่พร้อม คนที่พร้อมก็ไม่ท้อง แต่ผมไม่ได้หมายความว่าท้องวัยรุ่นเป็นท้องที่ไม่พร้อมทั้งหมด

ทั้งนี้ แบบแผนการสร้างชีวิตครอบครัวมีสามหลักคือ หนึ่ง สร้างพื้นที่ให้เด็ก สอง สร้างความเท่าเทียม ความเสมอภาคในทางเพศสภาพ และสาม การสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว ประเด็นนโยบายส่งเสริมการมีลูกเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ ต้องมาจากการเห็นปัญหาโครงสร้างใหญ่ด้วย เราไม่สามารถส่งเสริมการมีบุตรได้ถ้าไม่กระจายการจ้างงานไปยังต่างจังหวัด เพื่อให้ผู้คนมีงานทำและดูแลบุตรได้

ในกรณีของคนที่มีภาวะมีบุตรยาก จะเห็นว่าคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ต้องเป็นคนมีฐานะ ทั้งที่จริงๆ มีคนจำนวนมากที่มีภาวะมีบุตรยากแต่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้นโยบายดูแลคนมีบุตรยากเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสาธารณสุขด้วย

ประเด็นที่สอง เรื่องศูนย์เด็กเล็ก ผมไม่ได้แค่พูดถึงเรื่องศูนย์เด็กเล็กจำนวนสองหมื่นกว่าแห่ง แต่เราจำเป็นต้องพูดถึง Day Care Center ที่มีคุณภาพ อย่างที่สภาฯ มีห้องให้นมบุตรก็จริง แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ Day Care Center ช่วงล็อกดาวน์นี้ผมต้องย้ายมาอยู่ต่างจังหวัดเพราะถ้าอยู่กรุงเทพฯ ผมกับภรรยาคงไม่มีทางเลี้ยงดูเด็กสองขวบได้หากไม่มีศูนย์เด็กเล็ก เราจึงเคยเสนองบประมาณการยกระดับ Day Care Center สองหมื่นแห่ง แห่งละหนึ่งแสนบาท

ประเด็นที่สาม คือเรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด แต่เราต้องยอมรับว่ากระทั่งเรื่องวัคซีนไวรัสโรต้า (ไวรัสซึ่งพบมากในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก) ซึ่งวันนี้มีการถอนออกแล้ว คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมองว่าฉีดฟรีได้ แต่ไม่ได้ทำได้ทุกที่ ฉะนั้นเงิน 600 บาทจึงไม่พอต่อการดำรงชีวิตของครอบครัว เรื่องเด็กเล็กต้องเป็นเงินอุดหนุนถ้วนหน้าอย่างน้อยที่สุดราว 1,200 บาทต่อเดือน ในเด็กอายุ 0-6 ปี ถ้าทำได้ก็จะส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้ไม่มากก็น้อย

 

คณวัฒน์ : ประเด็นคนเกิดน้อย จริงๆ แล้วพรรคมีนโยบายนมโรงเรียนมาตั้งแต่สมัยก่อน และมีนโยบายการลงทุนให้เด็ก ซึ่งมักมีการรีเทิร์นกลับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนช่วงวัยอื่นๆ

เรามีนโยบาย ‘เกิดปั๊บ รับสิทธิเงินแสน’ เรามองตั้งแต่เด็กเด็กแรกเกิดจน 8 ขวบ เมื่อเกิดแล้วได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 5,000 บาท จากนั้นแต่ละเดือนก็รับอีกเดือนละ 1,000 บาท เพราะมีการศึกษาว่าค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองใช้กับบุตรตกมาเดือนละ 900 บาท นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมเงินสนับสนุนต้องอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน

และอีกส่วนหนึ่งในเชิงการแพทย์ ผมพยายามเสนอว่าสิ่งสำคัญ เราไม่ได้ต้องการเด็กที่เกิดมาแค่จำนวน แต่เราต้องการประชากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพด้วย เราจึงต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปกครองรุ่นใหม่สร้างครอบครัว โดยรัฐต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อให้เด็กที่เกิดมาได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และเรื่องอาหารก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เรานึกถึง

เรื่องศูนย์เด็กเล็ก เราพยายามสร้างศูนย์เด็กเล็กที่ร่วมงานกันกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งระดับเทศบาล ตำบลและจังหวัด ซึ่งก็เริ่มแล้วในภาคตะวันออก โครงการมหัศจรรย์ 1000 วันก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย ทีนี้ คุณภาพของศูนย์เด็กเล็ก สุดท้าย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์คงทำไม่ได้ทั้งหมดจากส่วนกลาง ยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น โดยส่วนกลางให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดขึ้นได้

สำหรับประเด็นวัคซีน ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่นคงของวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องของ COVID-19 เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ชี้ให้เราเห็นว่าประเทศไทยไม่มีกำลังมากพอในการผลิตวัคซีน อย่างเด็กเล็กๆ ต้องได้รับวัคซีนเป็นประจำ ศูนย์วัคซีนแห่งชาติต้องเป็นหัวหอกในการดำเนินเรื่องนี้ ถ้าประเทศไทยไม่มี know how หรือพื้นฐานความรู้จะสร้างได้เอง ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ามี แต่ถ้าคิดว่าไม่มี เราต้องหาความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยของรัฐหรือต่างประเทศ เพื่อสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เด็กเกิดใหม่โตไปเป็นคนคุณภาพ

 

ชลน่าน : เรื่องเด็กเกิดน้อยเป็นปัญหาสังคมไทย ถ้ามาดูถึงสาเหตุ เราคงพอจะแบ่งได้หลายประเด็น ต้องยอมรับว่าคนไทยมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการมีลูก คนที่มีความพร้อมจะมีลูกนั้นมีจำนวนน้อย และมีการเกิดไม่สมดุลด้วย บางบ้าน หนึ่งหลังมี 5 ครอบครัวและมีลูก 20 คน นี่คือเกิดเยอะ แต่บางครอบครัว การจะมีลูกก็คิดเยอะ เราต้องไปแก้ที่ทัศนคติด้วย

ปัญหาต่อมา คือปัญหาการดำรงชีพ การเอาชีวิตรอด คนไทยมองว่าลูกมากจะยากจน ขณะที่บางประเทศเขาไม่คิดถึงเรื่องภาระงาน เนื่องจากเขามีนโยบายเหล่านี้ชัดเจน แล้วยังมีเรื่องสภาพแวดล้อม ถิ่นกำเนิด โอกาสของแต่ละบุคคล ซึ่งมีผลต่อการทำให้ยอดการเกิดน้อยด้วย

เราต้องปรับโครงสร้างประชากร ยอมรับว่าโครงสร้างประชากรเราบิดเบี้ยวมาก เพราะเรามีเด็กน้อย ผู้สูงอายุเยอะ ปีรามิดกลับไปหมด เราจึงต้องปรับโครงสร้าง อย่างสิงคโปร์ออกนโยบายฟรี ให้คนแต่งงานวัยเจริญพันธุ์ทุกคู่ต้องมีลูก 3 คนขึ้นไป อันนี้ต้องเป็นนโยบายเลย ถ้าทุกพรรคจับมือกันผมว่าเราปรับโครงสร้างประชากรได้ สิงคโปร์เขาให้ความมั่นใจว่าถ้าคุณมีลูกเขาจะดูแลเต็มที่ อย่างลูกคนที่สามก็ส่งเรียนถึงปริญญาตรีได้ ผู้คนเขาจึงมั่นใจเรื่องอาชีพ เรื่องลูก เขามีหน้าที่แค่เลี้ยงลูกอย่างดีเท่านั้น

จากนั้น เราต้องแก้ทัศนคติลูกมากยากจนที่ฝังหัวคนไทยมา 20 กว่าปี ต้องเอาออก ต้องบอกว่าลูกมากจะร่ำรวย แต่ต้องมีนโยบายรองรับก่อน ปรับทัศนคติหน้าที่ของมนุษยชาติ บางคนตอบว่าหน้าที่มนุษย์คือสืบพันธุ์นี่ผมให้ห้าคะแนนนะ หน้าที่หลักของเราคือการดำรงพันธุ์ เรื่องพวกนี้ต้องแก้ ซึ่งต้องไปแก้ในเชิงนโยบาย ขึ้นทะเบียนอาชีพการงานให้ถูกต้อง ดูแลพวกเขาให้เต็มที่เพื่อให้พวกเขามั่นใจ มีหลักประกัน และนโยบายเรื่องหลักประกัน เราต้องส่งเสริมให้พวกเขาพร้อมเต็มที่ว่าจะมีลูก และมีมาตรการเสริมอย่างอื่น ถ้าเขาดำรงพันธุ์ไม่ได้ก็ต้องมีวิธีอื่น เช่น การผสมเทียม ขณะนี้คนจีนนิยมมาไทยมากเพราะเรามีความสามารถด้านนี้ เพื่อจะแก้ปัญหาเกิดน้อยได้

 

ศุภมาส : ในฐานะคุณแม่ ตอนมีลูกก็ไม่ได้คิดเยอะเพราะอยากมีมาตลอด จริงๆ แล้วเรื่องการเกิดน้อย ต้องย้อนถามว่าทำไมคนกลัวการมีลูก ซึ่งแน่นอนว่ากลัวไม่มีปัญญาเลี้ยงลูก ทั้งในแง่ไม่มีเงินและไม่มีเวลา จึงต้องกลับไปตรงที่ว่าทำไมคิดว่าเลี้ยงลูกคนหนึ่งต้องใช้เงินมหาศาล หลายคนบอกว่าไม่อยากมีลูกเพราะนมผงแพง แต่ตอนนี้เราเลี้ยงลูกมา 1 ขวบ 2 เดือน ไม่เคยซื้อนมให้ลูกเลย ให้กินนมแม่ตลอด

เราควรสนับสนุนว่าจะทำอย่างไรให้ลูกได้กินนมแม่ อย่างที่สภาก็มีห้องปั๊มนม ก็เป็นการสนับสนุนให้คุณแม่ปั๊มนมได้ บริษัทเอกชนต่างๆ ก็มีการสนับสนุนประเด็นนี้ ดังนั้น ถ้านอกจากนมผงแล้วมีค่าอะไรอีก ก็อาจจะมีค่าผ้าอ้อม รัฐบาลก็มีเงินอุดหนุนพอสมควร ถ้าบริหารเงินดีๆ ก็คงจะไม่ได้น่ากลัวมากในการจะมีลูก พอเด็กโตมาหน่อยก็มีศูนย์เด็กเล็กรองรับ เราจึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่าคนกลัวการมีลูกเพราะอะไรแล้วแก้ปัญหาที่สาเหตุ

 

ชลน่าน : เราเห็นสภาพเพื่อน ส.ส. เราหลายคนที่มีบุตร ต้องเอาผ้ามาคลุมปั๊มนมกลางสภา น่าสงสารมาก ผมเลยเอาเรื่องนี้มาหารือในการประชุม ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนา เลยสร้างห้องเด็กเล็กก่อน

ในชนบท ผมเห็นศูนย์เด็กเล็กแล้วก็มีความสุข ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ เขาก็เอาเข้าศูนย์เด็กเล็ก แต่ก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่เขาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ น้อยรายจะใช้นมผงมาเลี้ยงลูก แต่สภาพครอบครัวแหว่งกลาง เด็กเกิดได้ 2-3 เดือนพ่อแม่ก็ต้องกลับมาทำงาน นั่นจึงเป็นปัญหา เรื่องการดูแลเด็กเล็กต้องแยกว่าตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือนควรเน้นหนักตรงไหน แม่ควรอยู่กับลูก ควรมีมาตรการอะไร ถ้าเขาไปทำงานก็ควรทำงานแบบที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ หลังจากนั้นก็ค่อยดูอีกที

ภาพของศูนย์เด็กเล็กมีความจำเป็น ต้องยอมรับว่าท้องถิ่นเขาจะรับเรื่องนี้ไป ฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นเชิงนโยบายต้องเน้นเรื่องนี้ในท้องถิ่นเลย พัฒนาศักยภาพบุคลากร มิติสุขภาพและมิติอื่นๆ เฝ้าระวังภาวะโรคต่างๆ มีความจำเป็นต้องใช้ ครู หมอ พ่อแม่เฝ้าระวังโรคของเด็ก ต้องเติมเต็มในทุกมิติเพื่อให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพ

 

คณวัฒน์ : ศูนย์เด็กเล็กที่ให้ทางท้องถิ่นเข้าไปดูแล ถ้าเป็นในตัวเมือง ถ้ารัฐอยากจริงจังเรื่องนี้รัฐก็ควรทำให้เป็นภาคบังคับ หน่วยงานของรัฐอาจต้องมี Day Care สำหรับเจ้าหน้าที่หรือบุคลากร หรือแม้แต่เอกชนก็ควรมีเพื่อเตรียมความพร้อมให้บุคลากรนำลูกหรือเด็กเล็กมาฝากระหว่างการทำงานได้

ที่อยากเสริมคือ วัยทำงานอาจเป็นประเด็น ผมว่าวันลาอาจเป็นอีกประเด็นที่ต้องคุยกันจริงจัง มารดาอาจลาได้เยอะ เราอาจต้องเพิ่มตัวเลขวันหยุดทั้งฝั่งบิดาและมารดา เพราะการเลี้ยงดูคงต้องช่วยกันทั้งสองฝั่ง และการลาไปเพื่อเลี้ยงดูบุตรอาจต้องเพิ่มรายได้

 

วัยว้าวุ่น รุ่นซึมเศร้า

 

ปีนี้เป็นปีแรกที่มีตัวแทนวัยรุ่นบอกว่าอยากให้บัตรทองครอบคลุมเรื่องประเด็นโรคซึมเศร้าด้วย แต่ละพรรคคิดเห็นประเด็นนี้อย่างไรบ้าง

คณวัฒน์ : ผมแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือเรื่องครอบครัว เราต้องทำความเข้าใจและปลูกฝังเรื่องนี้ใหม่ ครอบครัวที่ดูสมบูรณ์พร้อม ที่บ้านมีฐานะอาจมีเด็กที่เก็บกดได้ ได้รับความคาดหวังจากผู้ปกครองเยอะก็อาจมีปัญหา เราต้องสร้างความเข้าใจให้คนในครอบครัวด้วย ต้องทำให้เข้าใจว่าคนในครอบครัวคุยกันได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่อาจจะเปราะบาง เช่น พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือครอบครัวแหว่งกลางที่อาจยังไม่พร้อม และมีโอกาสทำให้วัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวตนมีปัญหาด้านสภาพจิตใจได้ ยิ่งต้องพูดคุยกัน ถ้าหากคนรอบตัววัยรุ่นจับอาการได้ว่าเอาไม่อยู่ ไม่ไหวแล้วก็ควรติดต่อภาครัฐ

ส่วนที่สอง สิ่งสำคัญของวัยรุ่นคือสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ต้องมีการให้คำปรึกษาฟรีๆ ที่สถานศึกษาให้นักเรียนนักศึกษา ต้องทำให้เขารู้สึกว่าการคุยกับนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปกติ ถ้าเขามีปัญหาต่างๆ ในชีวิต อกหัก การเรียน เขาต้องมีที่พึ่ง เขาต้องมีความคิดว่า ถ้ามีปัญหาและแก้ไขไม่ได้ เขาควรจะต้องไปหาใคร ผมคิดว่านี่ควรเป็นสวัสดิการที่มหาวิทยาลัยมีให้นักศึกษา

ส่วนที่สามคือภาครัฐและประเด็นสังคม ต้องช่วยกันลดการตีตราผู้มีสุขภาพจิต ผมว่าทุกคนน่าจะเคยผ่านความเครียดมา วิธีการแก้ปัญหาอาจแตกต่างกัน บางคนแก้ได้น้อยหรือบางคนอาจแก้ได้เยอะ ฉะนั้น การตีตราปัญหาสุขภาพจิตไม่ควรเกิดขึ้น ปัจจุบัน รัฐและกรมสุขภาพจิตก็พยายามเพิ่มการให้บริการ ให้คำแนะนำในการตรวจสอบสุขภาพจิต ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่ 10 หรือ 30 คู่สายเท่านั้นเอง ถือว่าน้อยมากๆ ทางหน่วยงานรัฐก็พยายามเพิ่มอยู่ หรือถ้าหากเพิ่มคู่สายไม่ได้ จะใช้เทคโนโลยี เช่น telehealth เข้ามาช่วยได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดสรร

สำหรับวัยรุ่น ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ คนในครอบครัวต้องจับสังเกตให้ได้อย่างเร็ว มีอะไรก็พูดคุยกัน ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวก็ต้องหาความช่วยเหลือ ตลอดจนสถานศึกษาควรจัดบริการให้เป็นเรื่องปกติ และสังคมไม่ควรตีตรา ต้องลดการตีตราให้ได้

 

ชลน่าน : ขั้นพื้นฐาน เราต้องรู้ว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยง ฐานข้อมูลวัยรุ่นจึงต้องมีความชัดเจน ระบุได้ว่าใครอยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร แต่เวลานี้เราทำงานโดยปราศจากข้อเท็จจริง จึงแก้ปัญหาได้ยาก แต่ถ้าเรามีฐานข้อมูลที่ชัดเจน สืบค้นได้ แต่ต้องมีการระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยหรือตีตราเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล

ประการต่อมา เราต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร ซึ่งผมเชื่อว่าแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันไป อย่างเราจะเห็นว่าในชนบทมีปัญหาเรื่องการซึมเศร้าของวัยรุ่นค่อนข้างน้อย และจะไปปรากฏในเมืองหรือจังหวัดใหญ่ๆ อาจเพราะวัยรุ่นไม่ค่อยอยู่ในชนบทและย้ายมาอยู่ในเมืองหมดแล้ว แต่วัยรุ่นที่ยังอยู่ตามชนบท ระดับมัธยมหรือ ปวช. และ ปวส. ก็ยังมีอยู่ เท่าที่เราเจอ เมื่อเทียบปัญหาภาวะร่างกายและจิตใจ เด็กในชนบทและในเมืองต่างกัน เราจึงต้องแยกให้ชัด ค้นหาให้เจอ

เมื่อเจอสิ่งนี้แล้ว ในนโยบายของพรรคเพื่อไทยเราเขียนไว้ในนโยบายพัฒนาสังคมอยู่กว้างๆ ว่า สร้างความพร้อม ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน และมุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติหรือ discrimination ทั้งเรื่องเพศ อายุต่างๆ สาเหตุอันหนึ่งเกิดจากการที่สังคมไปตีตราเขา จึงเป็นปัญหา เราจึงควรหาทางแก้ไขและเขียนลงในนโยบายว่าหากเจอเด็กกลุ่มนี้แล้วเราควรทำอย่างไรต่อ

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ สังคมไปคาดหวังกับเขามากเกินไป ทั้งจากพ่อแม่ญาติพี่น้อง เขาจึงเกิดปัญหาจนเด็กมีปัญหาภาวะซึมเศร้าเมื่อตอบสนองความคาดหวังเหล่านี้ไม่ได้ ที่สำคัญ เราต่างเคยเห็นสภาพเด็กวัยรุ่นติดเตียง ติดเกมเยอะมาก เราต้องเจาะตรงนั้นให้ได้และดูว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะทักษะชีวิตของพวกเขาขาดหาย หลายครอบครัวลูกซักถุงเท้าไม่เป็น กางเกงในก็ซักไม่เป็น ทั้งที่วิถีชีวิตเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เขาเอาตัวรอดได้ ผมว่าถ้าแก้ตรงนี้ได้จะลดภาวะซึมเศร้าได้

 

ศุภมาส : คนเคยท้องคลอดลูกน่าจะเคยได้ยินเรื่องคุณแม่ประสบภาวะซึมเศร้า คิดว่าคงไม่ได้ต่างไปจากวัยรุ่นเท่าไหร่ เราต้องมาดูว่าที่เกิดภาวะซึมเศร้านั้นเพราะอะไร ส่วนที่เกิดจากสารเคมีนั้นเลี่ยงไม่ได้ ต้องรักษากันไป แต่ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากสิ่งแวดล้อมและคนรอบตัว

จริงๆ แล้วการให้ความรู้ในระดับสถาบันครอบครัวและสังคมเพื่อนบ้าน สังคมที่ทำงาน และสังคมเพื่อนฝูง สามารถมาดูแลการเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ถ้าในหมู่คุณแม่ ก็จะพบว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเราที่ไม่เคยมีลูก ไม่มีความมั่นใจ เลี้ยงลูกไม่เป็น กังวลเรื่องลูก จะทำอะไรผิดหรือไม่ สรีระเราจะเปลี่ยนไปแค่ไหน สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ทำให้คุณแม่ซึมเศร้าหลังคลอดและจะดีขึ้นเมื่อคนรอบตัวเข้าใจและช่วยกันดูแล

แต่ในกลุ่มวัยรุ่น เขาอยู่กับโรงเรียน กับสถาบันการศึกษาแทบจะเท่าๆ กับที่บ้าน เราต้องดูเรื่องระบบการดูแลของครูกับนักเรียนว่าเป็นอย่างไร พ่อแม่และโรงเรียนควรต้องตามเด็กให้ทัน ดูว่าเด็กอยู่คนเดียวจะดูแลอย่างไร เมื่อเด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะดูแลอย่างไร

 

ณัฐวุฒิ : ในระดับนโยบาย เราต้องเสริมทักษะความเข้าใจของครอบครัว มีทักษะการให้คำปรึกษาโดยไม่ตอกย้ำเด็กมากไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหลายครั้ง การทำร้ายเด็กไม่ใช่การตี แต่เป็นทางจิตใจ มีเรื่องการตีตรา บังคับให้เขาเรียน ไม่ส่งเสริมสิ่งที่เขาต้องการ

ในระดับโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการก็พยายามขอความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข ฉะนั้น จริงๆ เราต้องสร้างพื้นที่ให้เด็กพร้อมเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ที่น่าสนใจคือโรงเรียนนานาชาติในไทยเขาใช้นักจิตวิทยาอาชีพ แต่ในระบบโรงเรียนของไทย สถานศึกษาทั้งหมดเรามีครูที่ทำหน้าที่จิตวิทยาเชิงคลินิก 25 คน ซึ่งต้องเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เรามีจิตแพทย์เพียง 400 คน แต่มีคนมีภาวะเสี่ยงป่วยจิตเวชราว 6 แสนคน ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด เรามีกฎหมาย เรามี พ.ร.บ. สุขภาพจิต เราก็แต่ขาดพระราชบัญญัติอนามัยเจริญพันธุ์นิดเดียว ถ้าเราผลักดันตรงนี้ได้ เราจะเห็นวงจรชีวิตคนทั้งหมดเลย นอกจากการดูกลุ่มที่ซึมเศร้าโดยไม่ตีตรา และต้องส่งเสริมเขาด้วย เช่น ในกรณีวัยรุ่น เราต้องมีกองทุนให้เขาดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องกู้ กยศ. เพื่อเอาไปพัฒนาทักษะตัวเองได้

 

ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน

 

ในช่วง COVID-19 นี้มีผู้สูงอายุที่ถูกห้ามออกจากบ้าน แต่ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งก็ยังต้องทำงาน จะออกแบบนโยบายอย่างไรเพื่อให้เข้ากับชีวิตผู้สูงอายุที่มากขึ้นจนแทบจะเป็นประชากรหลักของประเทศนี้

ชลน่าน : ประเด็นผู้สูงอายุ ผมคิดว่าสังคมให้ความสนใจมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในเชิงนโยบาย ภาครัฐเองก็ค่อนข้างชัดเจนเพราะประเทศเราใกล้สังคมผู้สูงอายุแล้ว สิ่งที่เป็นประเด็นคือ ผู้สูงอายุในประเทศเรามีภาวะพึ่งพิงค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ หรือไม่มีศักยภาพพอจะช่วยเหลือตัวเอง จึงต้องถามว่า เราจะทำอย่างไรให้เขาแก่อย่างมีคุณค่าและสร้างงานสร้างรายได้

โครงสร้างประชากรตอนนี้อาจนับว่าคนวัย 60 เป็นผู้สูงวัย แต่ชายไทยอายุ 65 ปียังมีศักยภาพสูงมากนะ โดยเฉพาะทางเอเชีย เราจะค่อนข้างแก่ช้าสำหรับผู้ชาย เทียบอายุในเชิงสรีระแล้วผู้ชายจะแก่ช้ากว่าผู้หญิง 6 ปี ดังนั้น จึงยังเป็นวัยที่สร้างงานสร้างรายได้ได้ เราจึงต้องดึงศักยภาพคนกลุ่มนี้เพื่อลดภาวะการพึ่งพิง

คนกลุ่มหนึ่งเมื่อเกษียณไปแล้วบอกว่าตัวเองไร้ค่า กลายเป็นซึมเศร้า โดดเดี่ยวอ้างว้าง เราต้องมองในรายละเอียดว่าจะแก้ปัญหาเขาได้อย่างไร โดยการปรับโครงสร้างก่อน ตัวผมไม่กล้าจะกล่าวว่าจะไปปรับวัยความแก่จาก 60 ปีเป็น 65 ปีเพราะเป็นเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก แต่คำถามคือเราจะแก่อย่างมีศักยภาพอย่างไรต่างหาก

และตัวโครงสร้างผู้สูงอายุตอนนี้ ในภาคชนบท ผู้สูงอายุมิติแรกคือผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งเนื่องจากลูกหลานไม่อยู่บ้าน สังคมแหว่งกลาง มีแค่ตัวเองและหลาน แต่มีข้อดีคือเขามีลักษณะของความเป็นชุมชน มีความเอื้ออาทร เราจึงเอามากำหนดเป็นนโยบายได้ว่าจะทำให้ผู้สูงอายุในแต่ละมุมเมืองมีคุณค่าได้อย่างไร ในบางพื้นที่จึงมีการนำผู้สูงอายุมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้เด็กๆ ฟัง ผมว่าเป็นประโยชน์มาก

ระบบบำนาญแห่งชาติถือเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุอย่างหนึ่ง เป็นหลักประกันว่าเขาจะอยู่ในสังคมและยังชีพตามสมควรได้ หลายพรรคเสนอว่าควรมีระบบบำนาญมารองรับ ปัญหาคือมีกฎหมายออกมาแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เราต้องเอามาดูในรายละเอียดว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่ผมเห็นด้วยว่าควรมีหลักประกันให้ผู้สูงอายุ

 

ศุภมาส : ทุกวันนี้ เราลงพื้นที่ก็จะเจอชมรมผู้สูงอายุเยอะมาก ช่วงเช้าเขาไปออกกำลังกายกันตามสถานที่ต่างๆ จับกลุ่มชุมนุมจิบน้ำชา มีกิจกรรมสันทนาการ ตกเย็นก็รวมกลุ่มออกกำลังกาย ดูแลลูกหลานเล็กๆ คิดว่ากลไกผู้สูงอายุที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นชมรมเป็นกลไกเล็กๆ ที่ดี เพราะทุกวันนี้ชมรมผู้สูงอายุมีตัวตนชัดเจนและสร้างสิ่งเป็นประโยชน์ให้ชุมชนมาโดยตลอด ยิ่งถ้ามองภาคธุรกิจ เขาเป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อด้วยซ้ำไป

เรื่องของสุขภาพ คนอายุยืนขึ้นเพราะคนมีความรู้มากขึ้นในเรื่องการดูแลตัวเอง เลือกอาหารการกิน ลูกหลานเข้ามาดูแลพ่อแม่ เมื่อมารวมกลุ่มกันแล้วก็รวมกันออกกำลังกาย เราคิดว่าภาครัฐสามารถเข้าไปส่งเสริมตรงนี้ได้

 

ณัฐวุฒิ : ในเชิงนโยบาย พรรคเราเห็นด้วยเรื่องบำนาญแห่งชาติ ผมไม่ปฏิเสธเรื่องจำนวนเงินขั้นต่ำ แต่ศักยภาพทางการเงินและระบบสนับสนุนยังไม่ตอบโจทย์

อาสาสมัครที่ดูแลคนแก่ในชุมชนคือคนสำคัญ หลายครั้งผู้สูงอายุถูกหลอกเรื่องแอปพลิเคชันต่างๆ หรือเฟคนิวส์ เราจึงคิดว่าจำเป็นต้องมีคนที่เป็นผู้ติดตามดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเหล่านี้ กรณีผู้สูงอายุติดเตียงหรืออยู่คนเดียวมีเยอะมาก เราไม่รู้เลยว่าการดูแลระระยาวจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าเป็นประเด็นใหม่ๆ ที่ท้าทายและจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในอนาคต

 

คณวัฒน์ : ในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ผมได้ยินกันมานาน เผลอๆ คงเป็นสิบปีแล้ว แต่เราอาจยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมในการเตรียมความพร้อม การหดตัวทางเศรษฐกิจของสังคมนี้อาจเป็นเรื่องที่ทั้งหลีกเลี่ยงได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องคิดให้ออกว่าสังคมผู้สูงอายุจะมีปัญหาอะไร แน่นอนว่าเราอาจเก็บภาษีที่ได้จากวัยแรงงานลดลง แต่มีรายจ่ายเรื่องการดูแล สวัสดิการเยอะขึ้น

มันแปลว่าคนจำนวนวัยแรงงานลดลงทำให้ไม่สอดคล้องกับจำนวนรายจ่าย ก็อาจจะต้องเพิ่มอายุการเกษียณ ซึ่งต้องดูว่าเพิ่มได้ไหม หรืออาจมองแบบสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นไปเลย คือดูเรื่องของแรงงานข้ามชาติที่มีคุณภาพเพื่อเก็บภาษีเอาไปเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ

แต่ถ้าเป็นเรื่องผลผลิตเชิงคุณภาพที่ลดลง อาจต้องมองว่าคงต้อง reskill คนที่มีอายุมากขึ้น ทักษะเขาอาจจะดีพร้อมในอดีต แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ทักษะของเขาก็อาจจะไม่เพียงพอกับโลกปัจจุบัน ทั้งนี้ก็อาจจะไปร่วมกับอาชีวะหรือภาคเอกชนเพื่อ reskill พวกเขา คือต้องเข้าใจว่าผู้สูงอายุเขามีกำลังเหมือนเดิมแต่ทักษะเขาอาจจะล้าสมัยไปแล้ว

ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะยกเลิกการขึ้นตำแหน่ง ที่ผ่านมาพอบุคลากรอายุเกินแล้วหมดสภาพ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย คนอายุ 70 ปีแต่ยังมีความคิดแหลมคมก็เยอะแยะ ต้องมองเป็นเรื่องของผลผลิตมากกว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะเปลี่ยนกลไกการทำงานโดยมองที่รูปแบบของประสิทธิภาพเป็นหลัก

 

ความหลากหลายทางเพศ โจทย์ใหม่และความท้าทายของรัฐ

 

ภาครัฐควรผลักดันเรื่องครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร

ชลน่าน : ต้องถือเป็นเรื่องใหม่นะ สิ่งที่ต้องยอมรับคือพวกเขาไม่มีสถานะตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เราต้องแก้ไขปัญหานี้ก่อน ต้องให้ความเป็นมนุษย์ตรงนี้ก่อน คือไปแก้ไขที่รัฐธรรมนูญก่อน แล้วออกกฎหมายลูกรองรับเพื่อพวกเขา ต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้มีตัวตน การแยกเพศในไทยมีชาย หญิงและพระ พระคือเพศบรรพชิต จะเติมอีกเพศคือคนหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้แปลกอะไร มันทำได้

เรื่องมิติทางสังคม เราก็เห็นแล้วว่าเป็นที่ยอมรับพอควร แต่ยังไม่ทั้งหมด ยังมีการตีตราในบางที่บางแห่ง สิ่งนี้จึงต้องปรับแก้กันไป

 

ศุภมาส : โดยส่วนตัวมีเพื่อนเป็นกลุ่ม LGBT เยอะและเห็นความพยายามในการต่อสู้อย่างหนึ่ง นั่นคือเรื่องให้ได้ใช้คำนำหน้า เราเข้าใจว่าเป็นเรื่องสิทธิในเชิงกฎหมาย เห็นด้วยว่าอยากให้ออกกฎหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ เรามองว่าเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมเพื่อให้ทุกคนได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็นโดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

 

ณัฐวุติ : หลายคนบอกว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นเพศใดเพศหนึ่ง ต้องบอกว่าไม่ใช่การให้เอกสิทธิ์ แต่เป็นการยืนยันเรื่องสิทธิที่เขามีมาแต่เกิด

ส่วนประเด็นการเลือกระหว่างร่าง พ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิตและการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตอนนี้ยังไม่เห็นเลยว่าจะเอาอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับนี้กันแน่ พรรคก้าวไกลเราไม่รอแล้ว เรามองว่าสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิพื้นฐาน ไม่ว่าจะมีเพศอย่างไร เราจึงขอแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์แล้ว) ปลดล็อคคำว่าชายและหญิงเป็นบุคคลในสิทธิการสมรส

และจุดยืนของพรรคก้าวไกลคือเราจะเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เราไม่ใช้คำว่า LGBT แต่เราใช้คำว่าคณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องที่ทุกเพศ ทุกคนมีส่วนร่วมได้

 

คณวัฒน์ : เรื่องความหลากหลายทางเพศ ผมและกลุ่ม New Dem ที่ถูกยุบไปแล้ว เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เสนอทางออกต่างจากที่อื่นที่พูดถึง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ผมเองไม่ได้ต่อสู้เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเพศสภาพใดเป็นพิเศษ แต่เราต้องต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิทธิที่เขาเกิดมาแล้ว ได้มาอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่เราไปเพิ่มให้เขา ชุดความคิดเช่นนี้อาจเป็นต้นตอในการผลักดันนโยบายต่างๆ

สิ่งที่เราเสนอจึงอยู่ในทิศเดียวตลอด คือต้องแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่เกิดจากชายและหญิง ต้องเปลี่ยนเป็นบุคคลกับบุคคล จุดยืนเราชัดเจนมาตลอด แต่อย่าหยุดแค่ พ.ร.บ. คู่ชีวิต แต่ควรแก้ไขกฎหมายลูกและมาตรา 1448 ที่เขาควรได้สิทธิที่เขามีมาแต่กำเนิดด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save