fbpx
ฟื้นวิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ฟื้นวิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ในห้วงเวลาที่กระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง 101 ชวน 4 คณบดีคณะนิติศาสตร์ จาก 4 มหาวิทยาลัย ร่วมคุย-ร่วมคิดในเวทีนโยบายสาธารณะว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ผ่านรายการ 101 Policy Forum #11 : “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้ยุติธรรม” ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

101 สรุปเนื้อหาจากการพูดคุยมาชวนสังคมให้คิดต่อไปถึงการทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ ในช่วงเวลาที่การทำหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน เช่น สิทธิในการประกันตัวเพื่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม

YouTube video


รอยร้าวในกระบวนการยุติธรรมไทย

มองกระบวนการยุติธรรมไทยในวันนี้ เห็น ความไม่ยุติธรรม หรือการปฏิบัติที่ไม่ตรงตามกฎหมายและหลักวิชาอะไรบ้าง และควรจัดการอย่างไร

มุนินทร์ : ปัญหาหลักของกระบวนการยุติธรรมไทยตอนนี้มี 2 ส่วน

ส่วนแรกคือ ตัวกฎหมาย ปัญหาที่เห็นชัดเจนที่สุดตอนนี้คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายที่ต้องการการสอบสวนทั้งหลาย

ส่วนที่สองคือ การบังคับใช้กฎหมาย เราเห็นจากหลายตัวอย่าง เช่น คดีบอส อยู่วิทยา ซึ่งเป็นปัญหาของยอดภูเขาน้ำแข็งที่บังเอิญสังคมได้พบเจอ หรือปัญหาเรื่องการใช้บังคับกฎหมายกับผู้ชุมนุมประท้วงและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นการแสดงเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนที่สุดว่าการบังคับใช้กฎหมายในบ้านเมืองเรากำลังมีปัญหาอย่างน่าวิตกมาก ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เราแทบไม่ค่อยเจอปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่อย่างตอนนี้


ถ้าเรามาดูคดีการเมืองที่คนให้ความสนใจมาก และคนตั้งคำถามเรื่องเฉพาะ เช่น สิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางการเมือง คุณมองเห็นอะไรที่คิดว่าเป็นปัญหาบ้าง

มุนินทร์ : การบังคับใช้กฎหมายกับคนที่แสดงเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง และสร้างความสั่นสะเทือนต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมภาพรวมทั้งหมด

มีอยู่ 4 เหตุผลที่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง

หนึ่ง สิ่งนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอาญาที่เราเรียนและสอนกันมา เราคาดหวังว่าจะมีการบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้องตามหลักวิชา รัฐธรรมนูญก็มีบัญญัติไว้เรื่องหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะดูจากคำวินิจฉัยของศาลก็ดูเหมือนศาลจะเชื่อไว้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิด

สอง คนที่เกี่ยวข้องหรือคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและเยาวชน เราเห็นเยาวชนถูกจับกุม ซึ่งในสายตาของคนทั่วไปหรือในสายตานานาชาติเป็นเรื่องยากจะยอมรับได้ เพราะเราทราบกันดีว่าเยาวชนมีความฝันที่จะเห็นสังคมพัฒนาไปในทิศทางที่เขาต้องการ เขาก็ควรมีสิทธิฝัน หลายเรื่องอาจจะเป็นความฝันที่คนไม่เห็นด้วย แต่บางครั้งเราอาจจะต้องปล่อยให้เขาเติบโตขึ้นมา แล้วเรียนรู้เองว่าความฝันจะเป็นความจริงได้ไหม หรือเขาจะทำอย่างไรให้ไปสู่จุดที่ฝัน เพราะฉะนั้นการไม่เปิดโอกาสให้เขาแสดงออกหรือฝันถึงสังคมที่ดี เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ

สาม การปฏิบัติต่อคนที่แสดงความคิดเห็นหรือใช้เสรีภาพในทางการเมือง เป็นตัวสะท้อนให้เห็นปัญหาของการเลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งบ้านเรามีปัญหามายาวนานแล้ว คดีบอส อยู่วิทยา เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าคนที่มีเงินและอำนาจจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไป แต่ในบางคดี เจ้าหน้าที่รัฐก็ดำเนินการอย่างรวดเร็วและเข้มงวด คนก็จะเปรียบเทียบว่าทำไมคดีอุกฉกรรจ์จึงเกิดความล่าช้า ปล่อยให้ผู้ต้องหาที่มีเงินและอำนาจลอยนวล ในขณะที่คดีที่ดูแล้วไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่เจ้าหน้ารัฐก็บังคับใช้กฎหมายค่อนข้างเข้มงวด

สี่ นโยบายของรัฐบาลในการดำเนินการเกี่ยวกับคดี 112 อาจจะไม่ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว ผมเชื่อว่าการปกป้องสถาบันที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล พวกเราอยู่ท่ามกลางช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ทุกสถาบัน ทุกองค์กร และตัวบุคคลถูกตั้งคำถามทั้งหมด อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างพวกเราก็ถูกนักศึกษาตั้งคำถาม เราต้องใช้ความอดทนในการพูดคุยและให้เหตุผลกับเขา เรารู้ดีว่าไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามไปได้ เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาความเห็นที่ไม่ตรงกัน คือการอธิบายกันด้วยเหตุผล น่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด


ศาลไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาที่อัยการสั่งฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 คุณคิดว่าคดี 112 ควรจะมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างจากคดีอื่นทั่วไปไหม

มุนินทร์ : ต้องยอมรับว่าคดีนี้อ่อนไหว ผมเข้าใจคนที่เกี่ยวข้องว่าอาจจะวางตัวลำบาก แต่ถ้าคำนึงถึงทั้งหลักกฎหมาย หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเรื่องความอ่อนไหวในประเด็นนี้ เราจะทำอย่างไรให้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการปกป้องอย่างมั่นคงถาวร ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด นักกฎหมายส่วนใหญ่อาจจะเห็นคล้ายๆ กันว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรงหรือเข้มงวดอย่างที่เราเห็นอยู่อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย

ส่วนในระดับนโยบายรัฐ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพียงเพื่อให้คนที่ต้องการจะพูดนั้นหยุดพูด อาจจะไม่ส่งผลดีมากนักในการไปสู่เป้าหมาย สิ่งที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกันด้วยเหตุผล คนที่ถูกจับอาจจะมีโอกาสพูดน้อยลง แต่ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ข้างนอกก็ไม่ได้พูดน้อยลง อาจจะพูดมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นรัฐบาลอาจต้องกลับไปทบทวนนโยบายและท่าทีใหม่ว่านำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจริงๆ หรือเปล่า

การเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันและอธิบายกันด้วยเหตุผลคือทางออก เราไม่มีสิทธิจะห้ามคนถามอยู่แล้ว เขาจะพอใจหรือไม่พอใจกับเหตุผลก็ปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของเขา เรื่องนี้สังคมจะเป็นคนตัดสิน


ถามคุณปารีณา มองกระบวนการยุติธรรมไทยในวันนี้ เห็น ‘ความไม่ยุติธรรม’ หรือการปฏิบัติที่ไม่ตรงตามกฎหมายและหลักวิชาอะไรบ้าง และควรจัดการอย่างไร

ปารีณา : จากปฏิกิริยาของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หลายท่านคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือเรื่องศรัทธาของสังคมที่มีต่อกฎหมายและหน่วยงานที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งก็สะท้อนออกมาผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายพื้นที่ เช่น ในทวิตเตอร์ มีทั้งที่วิจารณ์ด้วยเหตุผลและมีที่ใช้คำด่าทอ แต่เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นและความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมที่มีต่อความยุติธรรมว่าการใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมนั้นยุติธรรมจริงหรือไม่ มีหลายกรณีที่สังคมมีความสงสัย ไม่ชัดเจน และสังคมก็ยังไม่ได้ยินคำตอบ ไม่มีคำอธิบายพร้อมหลักฐานที่กระจ่างแจ้ง

เช่น การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีบอส อยู่วิทยา สังคมอาจจะมีคำถามที่ใหญ่กว่าว่าจะได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีต่อหรือไม่ เช่น คำถามว่ามีการแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมจริงหรือเปล่า มีความพยายามในการช่วยเหลือให้มีการหลบหนีไปต่างประเทศไหม มีการดำเนินการเป็นขบวนการเพื่อจัดฉากบีบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงคำให้การหรือพยานหลักฐานในสำนวนจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ประชาชนยังไม่มีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริง

สังคมอาจจะอยากรู้ว่า ถ้าไม่มีการแทรกแซงจริงก็ต้องบอกมาว่าอะไรที่เป็นหลักฐานว่าไม่มีการแทรกแซง แต่ถ้ามีการแทรกแซง สังคมก็อาจจะอยากรู้ต่อไปว่า แล้วรัฐบาลดำเนินการอะไรต่อจากนั้น การที่อยู่ดีๆ ก็เงียบไปทุกอย่าง สะท้อนถึงความไม่โปร่งใส แล้วยิ่งไม่โปร่งใสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นเท่านั้น

อีกเรื่องคือการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันในกรณีที่คล้ายคลึงกัน โดยหลักแล้ว ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันต้องตัดสินเหมือนกัน แต่ปัจจุบันยังมีเรื่องที่สังคมสังเกตเห็น เช่น การจับกุมแล้วนำไปไว้เรือนจำคนละที่ ทำไมบางคดีเอาไปไว้ที่เรือนจำพิเศษได้ แต่บางคดีเอาไปไว้ที่เรือนจำพิเศษไม่ได้ ทำไมบางคดีผู้ต้องหาได้พบทนาย แต่บางคดีไม่ได้พบ เหล่านี้คือคำถามที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงในความยุติธรรม สังคมต้องการคำตอบเหล่านั้น


คุณบอกว่าสองหลักสำคัญ คือ กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นอิสระ ต้องปราศจากการถูกแทรกแซง และกระบวนการยุติธรรมต้องมีมาตรฐานเดียว โดยในข้อเท็จจริงเดียวกัน ควรจะถูกตัดสินคล้ายๆ กัน ถ้าเราใช้หลักแบบนี้มาดูคดีการเมือง คุณมองเห็นอะไรในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและการดำเนินคดีจากมาตรา 112 บ้าง

ปารีณา : คดี 112 เป็นคดีที่อ่อนไหวมาก เพราะในมุมหนึ่ง คดี 112 อยู่ในคดีความมั่นคง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นคดีความมั่นคงแล้ว หนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาปล่อยหรือไม่ปล่อยตัวชั่วคราวคือการพิจารณาความหนักเบาของข้อหา ถึงแม้ว่าผู้ต้องหาจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม แต่กฎหมายให้อำนาจรัฐในการควบคุมผู้ต้องหาไว้ในกระบวนการยุติธรรมได้ เขาจึงจับคุมขังและไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว และเมื่อมีเกณฑ์การพิจารณาเรื่องความหนักเบาของข้อกล่าวหา เมื่อคดีความมั่นคงมีอัตราโทษจำคุกค่อนข้างสูง จึงกลายเป็นคดีที่มีข้อหาหนัก


เราจะสร้างสมดุลอย่างไรระหว่างความมั่นคงของรัฐกับเสรีภาพของบุคคล นักกฎหมายมองหลักการสร้างสมดุลตรงนี้อย่างไร

ปารีณา : คดีนี้ยาก เพราะแตกต่างจากอาชญากรรมร้ายแรงทั่วๆ ไป คือไม่ได้กระทบถึงชีวิตและอันตรายของบุคคล แต่เป็นคดีที่มีการแสดงความคิดเห็น คนที่ออกมาพูด เราก็มองว่าเขาปรารถนาดีต่อประเทศในทิศทางที่เขาเชื่อ จึงไม่ควรถูกตัดโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต การที่เขาออกมาพูดบนถนนแสดงว่าเขาไม่มีเวทีที่ปลอดภัยในการพูด เพราะฉะนั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการสร้างสมดุล

อีกหนึ่งเกณฑ์ที่เราต้องเอามาใช้คือเงื่อนไขสามข้อ จะหลบหนีไหม ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือเปล่า และไปก่อเหตุร้ายประการอื่นไหม ซึ่งคำว่า ‘ก่อเหตุร้ายประการอื่น’ ศาลอาจใช้ดุลพินิจว่าเป็นคดีความมั่นคง จึงตีความคำว่าก่อเหตุร้ายเป็นการกระทำผิดหรือกระทำซ้ำ

เรื่องนี้เป็นโจทย์ยาก แต่ถ้าถามว่าเด็กเหล่านี้ควรได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นไหม ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณากันว่าจะเปิดพื้นที่หรือไม่ และยิ่งถ้ามาเทียบกับคดีบอส อยู่วิทยา เป็นคดีที่กระทำโดยประมาททำให้คนตาย เมื่อถูกจับก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเขามีเงินวางประกันจนกระทั่งหนีไปต่างประเทศได้ เมื่อเทียบกับคดีบางกลอยที่ชาวบ้านมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่อยู่ที่ทำกิน ซึ่งไม่ได้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่เมื่อถูกจับกลับไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเขาไม่มีเงินประกัน ถูกคุมขังหนึ่งวันก่อนมีการให้ประกันโดยใช้นายประกัน

ดังนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวมีหลากหลายมากเลย เราต้องการคำอธิบายจากหน่วยงานที่ใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้ให้กระจ่างอยู่เหมือนกัน


ศาลเคยระบุในประเด็นเรื่องการประกันตัวของคดี 112 ว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้ง 4 อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน” ในการวิเคราะห์ทางวิชาการ เราจะทำความเข้าใจอย่างไรได้บ้าง เห็นข้อถกเถียงอะไรที่น่าสนใจในกรณีนี้

ปารีณา : ต้องเรียนว่าศาลใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวโดยอาศัยฐานของกฎหมาย ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 108/1 ซึ่งให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ เพราะฉะนั้นถ้าในแง่ของผู้ใช้ดุลพินิจเองก็แปลว่าให้ใช้การพิจารณาและวินิจฉัยตามที่เห็นสมควร ในเมื่อศาลเห็นสมควรเช่นนี้ ก็เป็นไปตามนั้น

อันนั้นคือมุมมองจากศาล แต่ส่วนที่จะมองต่อไปก็คือ ถ้ากรณีอื่นๆ ในกรณีใกล้เคียงกันก็ยังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แล้วการกระทำของเขาถ้าใช้คำว่าก่อเหตุร้าย แต่ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นภัยต่อชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลอื่นแล้ว ก็ไม่เข้าเงื่อนไขนี้ แล้วการนำเอาเงื่อนไขของความหนักเบาเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา น่าจะเป็นเกณฑ์ท้ายๆ ทีหลังการพิจารณาจากพฤติกรรมการหลบหนี การไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือการก่อเหตุร้ายของผู้ต้องหา


ถามคุณสุทธิชัย มองกระบวนการยุติธรรมไทยในวันนี้ เห็น ‘ความไม่ยุติธรรม’ หรือการปฏิบัติที่ไม่ตรงตามกฎหมายและหลักวิชาอะไรบ้าง และควรจัดการอย่างไร คุณอยู่ภาคใต้น่าจะเคยทำงานเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ทำงานเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงสามจังหวัดชายแดนใต้ อยากชวนแชร์ประเด็นเหล่านี้ด้วย

สุทธิชัย : สิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการยุติธรรมคือความเชื่อมั่นและศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม การทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความเชื่อมั่นหรือศรัทธาได้ โดยหลักแล้วต้องไม่มีจุดด่างพร้อย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศาลทำได้ดีในหลายเรื่อง เช่น เปิดให้มีการประกันตัวในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้ประกันโดยไม่มีหลักประกันในหลายคดี เรื่องการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ทำให้คนยากจนไม่ต้องเข้าคุก เป็นต้น แต่พอเรามาเจอปัญหาแบบในปัจจุบันที่ทำให้สังคมเกิดคำถาม ส่งผลไปสู่ความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นประเด็นที่เราต้องมาคุยกัน เพราะการจะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมได้นั้น ต้องไม่มีจุดด่างพร้อย

ถ้าพูดในฐานะคนสอนกฎหมายมหาชน การใช้อำนาจรัฐในช่วงเวลานี้ หลุดลอยจากหลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญหลายประการมาก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วทุกระบบกฎหมายก็ยอมรับหลักการพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการห้ามเลือกปฏิบัติ สิทธิในการพบทนาย สิทธิในการแจ้งให้ญาติทราบว่าถูกควบคุมตัว นี่คือหลักการพื้นฐานที่ระบบกฎหมายยอมรับทุกระบบ และไม่ได้เป็นข้อถกเถียงอะไรเลย แต่ว่าเป็นประเด็นที่เรายังต้องมาพูดกันอยู่วันนี้

การใช้อำนาจรัฐที่หลุดลอยจากหลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญมีหลายประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องที่ทุกคนเคลือบแคลงสงสัยก็คือ เวลาเราบอกว่าเขาไม่ควรได้รับการประกันตัวเพราะมีเหตุจะหลบหนีหรือไปก่อภัยยันตรายอื่นๆ ซึ่งบางทีพอคนอ่านคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ศาลอาจต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าที่เขาไม่ได้รับการประกันตัว มีข้อเท็จจริงอะไรรองรับว่าเขาจะหลบหนี หรือจะไปก่ออันตรายอย่างอื่น ซึ่งเรายังไม่เห็น จึงยังเป็นข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า การใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัวของศาลถูกต้องหรือเปล่า

ประเด็นที่สอง การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่หลุดลอยจากหลักการพื้นฐาน ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจตามกฎหมายแล้วจะใช้อำนาจแบบใดก็ได้ แต่ต้องใช้อำนาจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในการชุมนุมที่ผ่านมาอาจจะมีการใช้กำลังจากผู้ชุมนุมบ้าง แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายอาจจะไม่ใช่ผู้ที่ใช้ความรุนแรง นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้อำนาจที่หลุดลอยจากหลักการพื้นฐาน ซึ่งนักศึกษากฎหมายทุกคนเรียนรู้จากตรงนี้ทั้งหมด

ประเด็นที่สาม ส่วนที่เป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย คือตัวระบบของกระบวนการยุติธรรมที่อาจจะไม่ได้เชื่อมตัวข้อมูลทั้งหลาย สิ่งนี้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้มาเป็นสิบปีแล้ว คือการที่นักโทษออกจากเรือนจำ เดินอยู่หน้าประตูเรือนจำ กำลังจะได้กลับบ้านแล้ว แต่ถูกควบคุมตัวต่อ เพราะถูกอายัดตัวจากอีกหมายหนึ่ง

ผมเข้าใจว่ากรณีอย่างนี้เกิดจากกรณีกระทำความผิดทางการเมืองที่ผ่านมาอยู่เหมือนกัน คือโดนดำเนินคดีใน สน. หนึ่ง ดำเนินการประกันตัวออกมาแล้ว แล้วอีก สน. ก็มาอายัดไป ถ้ากระบวนการยุติธรรมเชื่อมข้อมูลทั้งหมด ในเมื่อตัวผู้ต้องหาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐแล้ว ไม่ว่าจะมีกี่หมายก็ควรสืบสวนสอบสวนไปทีเดียว โดยไม่ต้องมาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ตลอด เพียงแต่ในมุมนี้เราอาจจะต้องเข้าใจตัวเจ้าหน้าที่

ถ้าว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าหน้าที่จะมีเวลาในการสอบสวนประมาณ​ 84 วัน ซึ่งแน่นอนว่าการพิจารณาคดีอาจจะไม่เพียงพอ เราอาจต้องเสนอว่าในกรณีที่ผู้ต้องหาหนึ่งคนมีหลายหมายที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ถ้าจะทำให้กระทบสิทธิเขาน้อยที่สุด เป็นไปได้ไหมที่เราจะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ขยายเวลามากขึ้นในกรณีแบบนี้

เมื่อเราพูดถึงการใช้อำนาจโดยลอยจากหลักการพื้นฐาน ถ้าลองย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในหลายคดี ศาลจะเข้าไปดูว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือเปล่า ซึ่งพอศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรแล้ว ศาลก็จะวินิจฉัยว่ามีอำนาจตามกฎหมายแล้วจบแค่นั้น แต่ในความเป็นจริง ศาลอาจจะต้องดูบริบทของข้อเท็จจริงต่อไปว่า ในบริบทข้อเท็จจริงแบบนี้ การกระทำแบบไหนจะพอสมควรแก่เหตุ

ทีนี้ศาลก็จะไม่ค่อยดึงมาพิจารณาในการวินิจฉัยคดี ข้อเด่นของวงการนิติศาสตร์ คือระบบกฎหมายเป็นเอกภาพ ฉะนั้นเวลาเราใช้กฎหมายฉบับหนึ่งมันไม่ได้หลุดลอยแยกขาดจากกัน แต่ต้องถูกใช้และตีความ โดยเฉพาะการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วย แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นการใช้ในกฎหมายที่หลุดลอยแยกขาดจากรัฐธรรมนูญค่อนข้างเยอะ


คนที่เราคาดหวังว่าควรจะต้องรู้กฎหมายเหล่านี้ ทั้งฝั่งผู้บังคับใช้กฎหมาย ฝั่งคนที่ตัดสินข้อพิพาทตามกฎหมาย น่าจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ แต่ทำไมยังเกิดกรณีที่คุณใช้คำว่าเป็นรอยด่างบางจุดของกระบวนการยุติธรรมได้อยู่ คุณอธิบายอย่างไร ปัญหาอยู่ตรงไหน

สุทธิชัย : นี่เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ สุดท้ายต้องย้อนกลับไปถามที่อุดมการณ์เบื้องหลังทั้งหลาย ปัจจุบันเรามีนักกฎหมายอยู่สองประเภท หนึ่ง นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ถูกบ่มเพาะมาในแนวทางนักกฎหมายแบบอำนาจนิยม ที่มองว่าความมั่นคงของรัฐสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้นนักกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับรัฐ ความมั่นคง และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของรัฐ จะทำให้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องรอง เพราะฉะนั้นการใช้และการตีความกฎหมายก็จะเป็นไปอีกทางหนึ่ง

และสอง นักกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ซึ่งค่อนข้างขาดแคลนในบ้านเรา สุดท้ายก็ย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงฟังก์ชันของกฎหมายว่าเรามีไว้เพื่ออะไร กฎหมายเป็นเรื่องอำนาจหรือเป็นเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเราอาจจะปลูกฝังเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไม่เข้มข้นพอในโรงเรียนกฎหมายหรือเปล่า

และต้องย้อนกลับไปถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชนด้วย เมื่อมองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผมเข้าใจว่าองค์กรตุลาการอาจจะไม่เคยปฏิรูปเลยตั้งแต่ปี 2475 หรืออาจจะมีการปรับบ้าง แต่การปรับเพื่อยึดโยงกับประชาชนอาจจะยังไม่เห็นชัด


ถามคุณพรชัย ที่ภาคเหนือมีคดีเรื่องสิ่งแวดล้อมหลายคดี หรือเรื่องที่ไม่ได้อยู่ภาคเหนือ แต่คนสนใจมาก คือเรื่องบางกลอย เรื่องคน รัฐ ป่า คุณมีอะไรอยากแลกเปลี่ยน ตั้งแต่คดีการเมือง คดี 112 คดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือตัวคุณเองทำเรื่องกฎหมายแข่งขันการค้า ทำเรื่องกฎหมายเศรษฐกิจ เห็นช่องว่างช่องโหว่อะไรในกระบวนการยุติธรรมไทยในเรื่องที่คุณสนใจอยู่บ้าง

พรชัย : สิ่งที่คณะนิติศาสตร์พร่ำเรียนกันมา 4 ปี เป็นการหล่อหลอมให้เป็นนักกฎหมาย แต่เราลืมตั้งคำถามกับการใช้กฎหมาย ส่วนหนึ่งเพราะเราพยายามสอนนักศึกษาให้เข้าใจตัวกฎหมาย แต่เราไม่เคยเข้าใจถึงแนวคิดพื้นฐานว่าคนเราต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างไร หรือในการดำเนินคดีทางอาญาเราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

เราเห็นสองมาตรฐานของกฎหมายในตำรากับกฎหมายในทางปฏิบัติอยู่มาก เช่น คดีที่ตำรวจไปจับคดีพนัน หวยออนไลน์ สามารถประกันตัวได้โดยง่าย แม้ว่าความผิดทางเศรษฐกิจมีมาก แล้วก็สร้างปัญหาทางสังคมมากกว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองด้วยซ้ำ การดำเนินงานส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมขาดการตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพหรือการตระหนักถึงความเป็นคน แต่เนื่องจากว่าเราเรียนเป็นนักกฎหมายเพื่อใช้กฎหมายมาตลอด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการตัดสินให้หรือไม่ให้ประกันตัว เราจะพิเคราะห์ได้ว่าอัตราโทษสูง อาจจะมีการกระทำซ้ำ หรือมีการก่อเหตุร้ายแรง ซึ่งตรงกับกฎหมายตามตำรา แต่เราลืมตั้งคำถามกับหลักความยุติธรรมที่จะไปใช้ตัวกฎหมายนั้นหรือเปล่า

เราเรียนกฎหมายโดยไม่ได้ให้นักศึกษาเข้าไปสู่กระบวนการที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เราให้เด็กเรียนแค่นี้ ตอบแค่นี้ ไปใช้กฎหมายอย่างนี้ จบแล้ว รวมถึงที่ผ่านมาเราเจอนักกฎหมายแนวอำนาจนิยม เรามองกฎหมายเป็นการกำกับ แต่ไม่เคยมองกฎหมายเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้สังคม หรือทำให้สังคมเดินต่อไปได้ นี่คือปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ถ้าเราไม่ปรับปรุงอะไรสักอย่าง สังคมเดินไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมคือโครงสร้างทั้งหมดของสังคม

ปัญหาอีกเรื่องคือ ที่ผมประชุมกับหลายๆ ภาคส่วน ไม่ใช่ว่าเขาไม่ตระหนัก แต่ผมไม่ทราบว่าทำไมเขาไม่ดำเนินการ เขาก็ตระหนักอยู่ว่ามีสองมาตรฐาน มีความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและตัวกฎหมาย แต่เนื่องจากเป็นรัฐราชการ ความสุขสบายในความเป็นรัฐราชการนี่แหละที่ทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง


คุณบอกว่ามีกฎหมายในตำรากับกฎหมายในทางปฏิบัติ คุณมาจากโลกการเมืองก่อนจะกลายเป็นนักกฎหมาย พอเป็นนักกฎหมายแล้ว คุณมองว่าในตำรากฎหมาย หลักต่างๆ โอเคแล้วหรือยัง การเอาหลักไปใช้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากพอหรือยัง

พรชัย : เราเป็นนิติรัฐแบบอำนาจนิยมจนเกินไป แล้วเราพยายามจะอยู่ภายใต้กรอบ ฉันมีกฎหมายเท่านี้ ฉันจะใช้เมื่อจำเป็น เพื่อที่จะเลือกปฏิบัติได้ อีกส่วนหนึ่งคือเรามีกรอบกฎหมายแค่นี้ ราชการก็จะใช้ตามนี้โดยไม่ได้มองถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สมมติว่าเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งเขาก็ตอบตัวเองได้ว่าถูกต้องแล้ว ไม่มีปัญหาใด เพราะฉันปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือแม้ส่วนใหญ่ก็จะมีข้ออ้างกันว่า ถ้าฉันไม่ปฏิบัติก็ผิดมาตรา 157 นั่นเป็นหลังพิงให้เขา แต่ประเด็นปัญหาคือเขาไม่เคยตั้งคำถามว่าการใช้กฎหมายของเขาสร้างผลกระทบใดที่จะเกิดขึ้นในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต


มีกฎหมายที่ยุติธรรม มีกฎหมายที่มาจากฉันทานุมัติของสังคม และมีกฎหมายที่บางคนมองว่าไม่มีความยุติธรรมอยู่ในนั้น เพราะมีกฎหมายบางแบบที่อาจจะไม่ได้มาจากฉันทานุมัติของสังคม เช่น กฎหมายที่มาจากคณะรัฐประหาร คำถามก็คือถ้ากฎหมายไม่ยุติธรรม ประชาชนอย่างเราทำอย่างไร หรือผู้บังคับใช้กฎหมายทำอย่างไรได้บ้าง

พรชัย : ถ้ากฎหมายไม่ยุติธรรมก็ต้องเปลี่ยนให้ยุติธรรม โดยพยายามสร้างกรอบการยอมรับของสังคมว่าเราต้องเปลี่ยน ซึ่งสังคมนั่นแหละจะเป็นตัวเคลื่อน แล้วส่วนใหญ่ไม่ใช่ว่านักกฎหมาย นักการเมือง หรือนักสังคมศาสตร์ไม่รู้ว่ากฎหมายบ้านเรามีปัญหา เขารู้ แต่แค่ไม่เกิดการเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแค่นั้นเอง

ยกตัวอย่างเช่น การบังคับใช้กฎหมายด้านเศรษฐกิจตัวใดตัวหนึ่ง พอรู้อยู่แล้วว่าจะมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากตัวกฎหมาย แต่ก็ไม่เปลี่ยน เพราะไม่มีการเคลื่อนไหว แล้วคนที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายสามารถกำกับโครงสร้างทางกฎหมายได้ นี่ยังไม่นับรวมกฎหมายอาญาและกฎหมายมหาชนอื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราต้องมาคุยกัน

บทบาทที่เป็นอยู่จริง กับ บทบาทที่ควรจะเป็น

ของสถาบันยุติธรรม

แต่ละท่านประเมินช่องว่างความคาดหวังระหว่าง ‘บทบาทที่เป็นอยู่จริง’ กับ ‘บทบาทที่ควรจะเป็น’ ของสถาบันต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร

ปารีณา : คำถามนี้สะท้อนจากปัญหาในปัจจุบัน เมื่อมีความไม่เชื่อมั่นศรัทธาต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม มีช่องว่างระหว่างบทบาทที่สังคมคาดหวังกับบทบาทที่เป็นอยู่จริง ระบบกฎหมายอเมริกาพัฒนามาจากการเอาสิทธิเป็นตัวตั้ง แต่ไทยพัฒนามาจากการใช้อำนาจรัฐเป็นตัวตั้ง ป.วิ.อาญาเห็นได้ชัดมาก เพราะเป็นการบอกว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่และอำนาจต้องทำอะไรบ้าง กลายมาเป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานในภาครัฐ นี่คือรูปแบบปกติของกฎหมายไทย เกือบทุกฉบับพูดถึงแต่หน้าที่และอำนาจของรัฐและราชการ เรื่องสิทธิมีแต่ในรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายที่ชูเรื่องสิทธิเป็นหลักในกฎหมายนั้นแทบจะไม่มีเลย

หลักที่ดีคือการสร้างสมดุล กฎหมายอาญาต้องมีเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยความมั่นคงปลอดภัยของสังคม และเพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสังคม แต่เหมือนว่าหน้าที่การสร้างความสงบเรียบร้อยจะมีน้ำหนักมากกว่า มากไปกว่านั้นรัฐตีความคำว่า ‘ความมั่นคงปลอดภัย’ ว่าไม่ใช่ความมั่นคงของสาธารณะหรือประชาชน แต่คือความมั่นคงของรัฐบาลหรือไม่ ถ้าตีความเรื่องนี้ผิดจะทำให้ทิศทางการใช้กฎหมายบิดเบี้ยวไปตามมุมมองผู้ใช้กฎหมายได้

เราอาจต้องปรับมุมมองว่า ไม่มองเฉพาะเรื่องการใช้กฎหมาย แต่ต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิด้วย เมื่อไหร่ที่จะคุ้มครองสิทธิก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่อธิบายได้ ไม่ใช่ให้สิทธิพิเศษแก่บางคน เพราะจะทำให้สังคมเกิดความไม่เข้าใจ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นนี้ที่มีประสบการณ์แตกต่างจากคนรุ่นอื่น ถ้าใช้มุมมองของกฎหมายที่อยู่ในคนรุ่นหนึ่งไปบอกคนอีกรุ่นหนึ่งที่มีประสบการณ์คนละอย่าง จะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนที่กำลังใช้กฎหมายกับคนที่ถูกบังคับใช้กฎหมายซึ่งคิดว่าเขาควรมีสิทธิมีเสียง นี่คือช่องว่างสำคัญที่เราต้องทำให้แคบลง

เราต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยภายใต้กติกาที่ทุกคนยอมรับได้ ไม่มีการเสียดสีด่าทอ เด็กรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคต เขาจึงมาเรียกร้องบนถนน เสียงของเขาเล็กมากและไม่มีใครฟัง จึงต้องรวมกันเพื่อให้เสียงดังขึ้น ถ้าจะลดช่องว่างต้องฟังกันจริงๆ ไม่ใช่แค่เปิดเวทีแล้วเลือกตัวแทนที่มีความคิดแบบที่คนฟังสบายใจมาพูด อย่ามองว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นเราจะรับฟังไม่ได้ทั้งหมด ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น คนรุ่นใหม่ก็ต้องฟังคนรุ่นอื่นๆ เช่นกัน เราต้องเปิดให้สังคมรับฟังกัน ด้วยการเคารพความเห็นซึ่งกัน

พอบอกว่ากฎหมายมาจากฉันทานุมัตินั้น เป็นฉันทานุมัติจากประชาชนจริงไหม หรือเป็นแค่ตามรูปแบบ กฎหมายนั้นถูกถกเถียงอย่างรอบด้านในรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ มี พ.ร.บ. อีกเยอะที่ถูกส่งมาจากกระทรวงที่เป็นเจ้าภาพกฎหมาย แต่ผู้ได้รับผลกระทบมีโอกาสเข้าไปส่งเสียงน้อยมาก รัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีคือให้ประเมินผลกระทบของกฎหมาย ถ้าเราขยายการประเมินผลกระทบอย่างจริงจังได้จะทำให้เสียงของคนที่ถูกกระทบจากกฎหมายเกิดขึ้น แต่ต้องอดทนเพราะจะใช้เวลานานกว่าที่เป็นมา

ระบบการคานอำนาจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายมีตามพอสมควรแล้ว แต่ต้องบังคับใช้จริงจัง ส่วนที่ขาดไปคือความโปร่งใสที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม วิพากษ์วิจารณ์หรือเข้าถึงผลการพิจารณาได้ กระบวนการยุติธรรมต้องเปิดเผยอย่างจริงจังและพิจารณาถึงผลกระทบที่มีอยู่

สุทธิชัย : สิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยเกิดได้ คือทุกคนในสังคมสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายได้และถกเถียงกันด้วยเหตุผล สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่เอะอะโวยวายอยู่แล้ว ถกเถียงได้แต่อย่าใช้กำลังกัน สิ่งสำคัญคือองค์กรที่จะควบคุมกติกาให้คนรู้สึกว่าเรายังคุยกันด้วยเหตุผลได้ ถ้ามีคนล้ำเส้นศาลก็ต้องชี้ว่ามีคนล้ำเส้น ให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยโวยวายกันได้ภายในกติกา แต่ถ้าศาลเลยจากจุดนี้ไป แล้วคนรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม คนจะรู้สึกว่าคุยด้วยเหตุผลไม่ได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวม

บทบาทสำคัญมากของตุลาการคือการชี้ถูกผิดว่าคุณกำลังล้ำเส้นในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งต้องชี้ทั้งสองฝ่าย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ การชุมนุมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ถ้ากระบวนการยุติธรรมยังมีประสิทธิภาพ ต้องมีคนรับผิดชอบภาพที่มีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับรู้เรื่องการใช้อำนาจของตัวเองว่ามีคนที่อาจใช้กำลังทำสิ่งที่ไม่ถูก ก็ต้องกันคนเหล่านี้ออก ให้คนที่ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกอย่างสันติอยู่ต่อไปได้ ถ้าการตัดสินขององค์กรตุลาการยังไปในรูปแบบที่เห็นอยู่นี้และยังอธิบายเหตุผลทางกฎหมายได้ไม่ดีพอ มีโอกาสที่คนรู้สึกว่าคุยกันด้วยเหตุผลไม่ได้แล้วจะอันตรายมาก

ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มออกจากบทบาทที่ควรจะเป็นของตัวเอง ในรัฐธรรมนูญมีโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกออกแบบมา แล้วให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ถูกระบุอำนาจหน้าที่แบบหนึ่งไว้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจตัดสินชี้ขาดทุกคดี กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด คนที่จะยื่นได้ต้องอ้างว่าถูกละเมิดในสิทธิเสรีภาพ แต่คดีนี้คนยื่นกลับเป็นองค์กรรัฐ กรณีนี้คนสอนรัฐธรรมนูญคงไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร แต่ผลที่จะตามมาคือเป็นการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไปเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ต่อจากนี้ทุกเรื่องก็จะถูกส่งมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา จะทำให้ระบบกฎหมายบิดเบี้ยวไปหมด

พรชัย : ในกระบวนการยุติธรรมมีตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ และองค์กรอื่นๆ เราพยายามปฏิรูปองค์กรเหล่านี้มานานแต่ปัจจุบันก็ยังไม่เกิดขึ้น ผมเคยแลกเปลี่ยนกับศาลพบว่า เวลาจะปฏิรูปทีไรองค์กรตำรวจก็ใหญ่ขึ้นทุกที เรากำลังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

ต้นทางคือองค์กรตำรวจ ที่อาจจะมีการซื้อตำแหน่งกัน แต่เราไม่คิดจะปฏิรูป นี่คือปัญหาหลักของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงโครงสร้างอัยการที่มีการสั่งไม่ฟ้องในบางคดี ไม่ได้หมายความว่าทั้งองค์กรอัยการไม่ดี มีบางส่วนเป็นสีดำที่ทำให้ทั้งองค์กรดำไปด้วย ส่วนศาลนั้นเท่าที่ผมทราบไม่มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน แต่องคาพยพอยู่สูงจนไม่สามารถเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรมได้ ศาลจึงตัดสินลงโทษอย่างเดียว ทั้งที่ศาลควรเข้าใจกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมด้วย แม้จะมีการประชุมร่วมกันแต่ไม่เกิดความเข้าใจร่วมกัน ทำให้เป็นปัญหาในองค์กรต่างๆ

ประเด็นศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เราอิงศาลรัฐธรรมนูญมาก ตอนรัฐธรรมนูญ 2540 เราไม่ได้คาดหวังกับศาลรัฐธรรมนูญขนาดนี้ เราคาดหวังให้เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่คดีมติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดนั้น ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้ก่อร่างสร้างของทุกศาล เราอยู่ในระบบศาลคู่ แต่ละศาลมีอำนาจของตัวเอง เราต้องเคารพคำตัดสินของแต่ละศาล ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิพิจารณาว่ามติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เพราะเป็นอำนาจศาลปกครอง เกิดความบิดเบี้ยวในกระบวนการพึ่งพิงศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้คิดว่าเราต้องปฏิรูปกระบวนการเหล่านี้

เราเห็นความจริงแต่เราไม่จัดการความจริง เราเห็นตำรวจและอัยการที่มีประเด็นปัญหาแต่ไม่จัดการ เพราะเราอยู่ในสภาวะอำนาจนิยม การทำแบบนี้จะคงอยู่ได้ไม่นาน ยิ่งมีคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง สุดท้ายเราต้องยอมรับความจริงและแก้ไขปัญหา เราอยู่ในระบบราชการและระบบทางสังคมแบบกำกับจนเกินไป แต่ไม่เกิดภาคประชาสังคม เราต้องกระจายอำนาจ สร้างระบบตำรวจอิงประชาชน อัยการอิงประชาชน รวมถึงศาลที่ต้องเชื่อมโยงกับการยอมรับของประชาชนมากขึ้นและมีความโปร่งใสมากขึ้น ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมเหมือนเขาวงกต

มุนินทร์ : ถ้ามองกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม จะเห็นตัวละครจำนวนหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ตำรวจ มีการประกาศปฏิรูปตำรวจทุกรัฐบาล สุดท้ายเรื่องก็เงียบหาย คนในสังคมเริ่มสงสัยว่าที่ปฏิรูปตำรวจไม่ได้ เพราะตำรวจเป็นกลไกหรือเครื่องมือของนักการเมืองในการใช้อำนาจหรือไม่ การปฏิรูปอย่างจริงจังจึงทำได้ยากมาก

ส่วนอัยการควรมีบทบาทมากกว่านี้ โดยเฉพาะการถ่วงดุลและคานการใช้อำนาจของตำรวจ อัยการควรจะเป็นเหมือนอีกศาลหนึ่งที่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลายคดีเรื่องไม่ควรไปถึงศาล แต่เมื่อไหร่ที่อัยการไม่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมาจะเป็นจุดสิ้นสุดในคดีนั้น สำหรับคดีเล็กๆ จะปิดฉากความยุติธรรมสำหรับคนหนึ่งคนเลย เราต้องเรียกร้องอัยการให้มีบทบาทพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน หวังว่ากฎหมายที่จะมีการแก้ไขนั้นจะให้อัยการเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลมากขึ้น

เรื่องศาล ถ้ามองในภาพรวม ศาลยุติธรรมทำหน้าที่ได้ดีระดับหนึ่ง แต่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงเวลาเซนซิทีฟ คนมองศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรม ถ้าศาลถูกตั้งคำถามว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ก็เหมือนว่าความหวังในความยุติธรรมของคนหนึ่งคนจบสิ้นลง คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาจึงแรงไปด้วย

ผมเสียใจแทนผู้พิพากษาส่วนมากที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมาย แต่บางเรื่องเมื่อคนคาดหวังว่าศาลต้องละเอียดอ่อน ใช้วิจารญาณมากกว่าปกติและมีความกล้าหาญในการใช้กฎหมาย ก็ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาองค์กรตุลาการในภาพรวม ศาลต้องมาคิดเรื่องนี้ใหม่ อย่าให้เรื่องเล็กเสียไปถึงภาพรวม

ศาลยุติธรรมอาจขาดความยึดโยงกับประชาชนหรือมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระหรือเปล่า ผมกังวลว่าศาลกำลังสูญเสียความเป็นอิสระ สิ่งที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันจากการสังเกตในบางคดีว่าศาลกำลังตัดสินคดีด้วยความเป็นอิสระและเป็นกลางจริงหรือไม่ หรือตกอยู่ภายใต้อคติ ความชอบ การมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือความเกรงกลัวต่อความกดดันใดหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ศาลต้องพิสูจน์ตัวเองว่าได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เป็นอิสระภายใต้หลักกฎหมาย

อีกเรื่องที่กังวลมาก คือศาลอาจเข้าไปเชื่อมต่อกับภายนอกมากเกินไปหรือเปล่า เช่น การเข้าไปร่วมหลักสูตรกับเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นหลักสูตรสร้างเครือข่าย ทั้งที่ศาลมีหน่วยงานพัฒนาวิชาการอบรมผู้พิพากษาได้อย่างเข้มแข็งมากเพียงพอแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเป็นอิสระเริ่มเกิดช่องโหว่ อำนาจภายนอกเข้าไปได้มากกว่าเดิม

ศาลรัฐธรรมนูญก็มีพัฒนาการที่นักกฎหมายส่วนใหญ่วิตกกังวลอย่างยิ่ง เรื่องการขยายเขตอำนาจ ซึ่งอันตรายมาก มีความกังวลว่าศาลจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ แม้จะชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตัดสินข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง เป็นหลักที่ยอมรับทั่วกันว่ามีองค์กรที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญหลายองค์กรและศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญต้องเคารพการทำงานของศาลปกครองสูงสุดหรือการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของศาลยุติธรรม ที่จริงมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ในมาตรา 47 (4) ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่น หรือเรื่องที่ศาลอื่นมีคําพิพากษา หรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว” หลักการเขียนไว้ชัด แต่ทำไมศาลรัฐธรรมนูญพยายามขยายอำนาจตัวเอง

สมัยก่อนนักกฎหมายเอกชนมักอ้างคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ต่อจากนี้จะอ้างไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญอาจกลับคำพิพากษาศาลฎีกาได้ สิ่งที่ตามมาคือการสร้างความไม่ชัดเจนแน่นอนในสิทธิและหน้าที่ของบุคคล เพราะศาลรัฐธรรมนูญขยายเขตอำนาจตัวเองไปล้วงลูกคำวินิจฉัยที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องการออกระเบียบแต่เป็นเรื่องการตีความกฎหมาย นี่เป็นการทำหน้าที่ซึ่งไม่ได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนชนมีความไม่ชัดเจนแน่นอน เกิดความสั่นคลอน


โจทย์ท้าทายการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย


อะไรคือโจทย์ท้าทายของการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยไทย คณะนิติศาสตร์ควรปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและไทยอย่างไร

ปารีณา: ความท้าทายที่สุดคือการกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษามีทัศนะต่อกฎหมายในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมให้มากขึ้น เราพูดถึงความรู้ การใช้กฎหมาย แต่ยังไม่ได้สอนให้เขามองผลกระทบของกฎหมายหรือคำตัดสิน มองว่าถ้าเขาตัดสินคดีออกไปแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราอยากกระตุ้นให้เกิดการดีเบตมากขึ้น ทั้งในแวดวงวิชาการและในทุกๆ วงการ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาดูว่า คำตัดสินนั้นจะมีความสอดคล้องหรือส่งผลกับสังคมอย่างไร และถ้าส่งผลกระทบกับสังคมแล้ว ต้องทำอย่างไรจึงจะดี อันนี้เป็นความท้าทายที่เราอยากทำให้เกิดขึ้น มากกว่าการพัฒนาความรู้ทักษะซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว

มุนินทร์: ในฐานะผู้สอนกฎหมายคนหนึ่งที่สังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในคณะนิติศาสตร์ตอนนี้ ผมมีความรู้สึกที่ระคนกัน ใจหนึ่งก็รู้สึกยินดีที่เห็นนักศึกษากฎหมายรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแค่นักศึกษาที่เข้ามาในห้องเรียนเพื่อเรียนและไปสอบ

สิ่งที่สำคัญมากคือ เราเห็นนักศึกษากฎหมายออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของเขาต่อประเด็นที่เขามองว่าไม่ยุติธรรม นี่คือสิ่งที่เราต้องการจะเห็นจากนักกฎหมาย ซึ่งผมภาวนาให้เขายังรักษาความรู้สึกเหล่านี้ต่อเนื่องไป เมื่อออกจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้วยังคงมีความกล้าหาญที่จะวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ที่เขามองว่าไม่เป็นธรรม และสามารถปรับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรมและอิสระ ภายใต้หลักการที่ได้ร่ำเรียนมา

ดังนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องของนักศึกษากฎหมาย ผมไม่ได้กังวลเลย กลับมองว่ามีความหวังเสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ผมกังวลคือสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกทำให้คนรู้สึกท้อแท้ นักศึกษากฎหมายหลายคนถามว่า คณะนิติศาสตร์ยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกสวนทางกับที่เขาเรียนมาในมหาวิทยาลัย และทำให้คนเรียนท้อแท้ว่าเราเรียนหลักการเยอะแยะมากมาย แต่สุดท้ายกลับใช้อะไรไม่ได้เลย หรือถูกบิดเบือนไปจากสิ่งที่ตัวเองเรียนมา

เราอาจบอกได้ว่า นักศึกษากฎหมายคือผู้ที่สะท้อนให้เห็นถึงความยุติธรรมหรือความไม่ยุติธรรมได้ดีที่สุด เพราะเขายังไม่ได้ถูกกดดันทางการเมืองใดๆ จึงทำหน้าที่หรือมองการปรับใช้กฎหมายได้อย่างค่อนข้างเป็นกลางและเป็นอิสระ แต่แน่นอน เราเข้าใจว่าคนที่ทำหน้าที่ข้างนอกมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น สิ่งที่นักศึกษากฎหมายสะท้อนออกมาจึงเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างบริสุทธิ์และเราควรรับฟัง มากกว่าจะบอกว่ามันไม่ถูกต้อง หรือบอกว่ามหาวิทยาลัยต้องไปสอนใหม่อะไรแบบนี้

นอกจากนี้ สิ่งที่ผมคาดหวังและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงคือ การทำงานร่วมกันระหว่างคณะนิติศาสตร์กับองค์กรวิชาชีพในการกำหนดบทบาทอย่างชัดเจนเหมือนในระบบของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น common law หรือ civil law ต่างก็มีการทำงานสอดประสานกัน คณะนิติศาสตร์จะปูพื้นฐานทฤษฎีทางกฎหมาย ส่วนองค์กรวิชาชีพเป็นคนช่วยให้นักศึกษามองเห็นว่ากฎหมายหรือหลักการที่เรียนมาจะถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ยังไง และได้ทดสอบทักษะทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

ผมจึงอยากเห็นเนติบัณฑิตยสภา รวมถึงองค์กรอัยการหรือตุลาการ มาร่วมมือกับคณะในการคิดระบบการศึกษากฎหมายที่ควรจะสอดคล้องกับที่เป็นอยู่ในประเทศต้นแบบ ซึ่งตอนนี้เราก็มีการพูดคุยกับฝั่งตุลาการและได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ฝั่งตุลาการเองก็กระตือรือร้นอยากจะช่วยกันปรับเปลี่ยนระบบการศึกษากฎหมายด้วย

สุทธิชัย: เราเห็นนักศึกษาแล้วมีความหวัง ทำให้ต้องย้อนกลับมามองตัวเองว่าเราต้องทำหน้าที่ให้ดี ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าในโรงเรียนกฎหมาย สิ่งที่เราสอนกันเยอะมากคือสอนให้ใช้อำนาจอย่างเดียว แต่สิ่งที่ขาดไปคือ เรายังไม่ได้ทำให้เขาเห็นว่าการใช้อำนาจนั้นกระทบชีวิตคนได้มากน้อยแค่ไหน การเป็นผู้พิพากษาที่ตัดสินในบางคดีอาจจะทำให้บางครอบครัวต้องแตกสลาย หรือการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนในการควบคุมตัวหรือคุมขังคนอาจส่งผลกระทบบางอย่าง ผมว่าเราต้องฉายภาพแบบนี้ให้ชัดมากขึ้น และให้มีสัดส่วนที่สมน้ำสมเนื้อกับการที่เราสอนให้เขาใช้อำนาจด้วย

ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ที่คณะนิติศาสตร์เพิ่งมีการปรับปรุงหลักสูตรไป ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกได้แสดงความเห็นกับหลักสูตรที่เสนอไปว่า วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมีหน่วยกิตเยอะเกินไป น่าจะลดลงมาหน่อยเพราะไม่ค่อยได้ใช้ เราเห็นวิธีคิดตรงนี้แล้วว่า เขาคิดไม่เหมือนเรา เพราะผมมองว่าวิชานี้สำคัญ จะเชื่อมโยงกฎหมายให้เป็นเอกภาพ และทำให้เห็นว่ากฎหมายมีหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพที่มีในรัฐธรรมนูญยังไง

อีกส่วนที่ผมคิดว่าเสริมได้คือ ในการสอนกฎหมายแต่ละวิชาล้วนถูกดึงและย้อนกลับมายึดโยงกับสิทธิเสรีภาพได้แทบทั้งหมด แม้จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือธุรกิจก็ตาม ผมว่าสุดท้ายทุกคนทราบว่าหลักนิติธรรม (rule of law) มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้เรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อใดที่เรามีหลักนิติธรรมก็จะทำให้นักธุรกิจมีความเชื่อมั่นตามไปด้วย ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงมิติสิทธิ เสรีภาพ และหลักนิติธรรม มันจึงไม่ได้หมายถึงแค่การใช้อำนาจรัฐกับประชาชน แต่เชื่อมโยงกับธุรกิจและเศรษฐกิจหลายภาคส่วนด้วย

ถ้าถามต่อไปว่า คณะนิติศาสตร์ยังจำเป็นอยู่ไหม ผมตอบว่าจำเป็น เพราะถ้าเราไม่มีการเรียนหรือทำความเข้าใจกฎหมายเลย โครงสร้างทางสังคมที่สร้างขึ้นด้วยกฎหมายก็จะไม่คงอยู่ แต่ปัญหาของการเรียนการสอนคือ ต้องสามารถทำให้นักศึกษามีการเคลื่อนไหวหรือมีตรรกะในการพัฒนาตัวกฎหมายได้ หรือทำความเข้าใจตัวกฎหมายได้ เท่าที่สอนมาเราพบว่า เราสอนกฎหมายเดิม กฎหมายเก่า และเขาก็ไปใช้ของเดิมของเก่า แต่เราไม่เคยให้เขาได้ตั้งคำถามเลยว่า ทำไมโทษต้องเป็นแบบนี้ด้วย

ดังนั้น ถ้าจะทำให้ดีขึ้น ผมว่าเราต้องพยายามสร้างการเคลื่อนไหวให้นักศึกษาสามารถตั้งคำถามกับตัวกฎหมายได้ รวมถึงตั้งคำถามเชิงวิชาการกับคำตัดสินได้ จากประสบการณ์ของผม เราจะเห็นบทความวิชาการในต่างประเทศสามารถโต้แย้งคำตัดสินที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งถ้านักศึกษาไทยไม่ได้อิงกับฎีกา มองว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามฎีกา แต่ให้เหตุผลได้ว่า ในมุมมองของเขาเป็นยังไง ฎีกาอาจจะผิดพลาดบางส่วนไหม ผมว่าเขาควรได้เกรด A+ เลย และน่าจะเป็นผู้ที่ช่วยสร้างบรรทัดฐานอื่นๆ ในอนาคตต่อไป

ข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม


ข้อเสนอรูปธรรมของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยของท่านคืออะไร อะไรคือจุดคานงัดที่สำคัญที่สุด และทำอย่างไรให้มีโอกาสสำเร็จ

สุทธิชัย: ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผมอยากให้มองถึงการปรับเปลี่ยนจากภายในตัวองค์กร ผมไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้คนในองค์กรรับรู้และคิดเห็นอย่างไรกับบทบาทของศาลที่เป็นอยู่ เชื่อว่าน่าจะมีคนไม่เห็นด้วย เพียงแต่เราจะไม่ค่อยได้ยินเสียงของเขา ทำให้ต้องย้อนกลับไปที่เรื่องการบริหารงานบุคคลขององค์กรตุลาการ

หนึ่ง ทำอย่างไรให้องค์กรตุลาการเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ สอง ผมอยากเสนอให้ ก.ต. (สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม) เป็นองค์กรที่เปิดมากกว่านี้ 

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 เขียนไว้ว่าใน ก.ต. ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คน ที่มาจากการเสนอของวุฒิสภา แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เขียนไว้ว่าต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คน ที่มาจากการเลือกของผู้พิพากษา นั่นหมายความว่า ก.ต. จะกลายเป็นองค์กรปิด เพราะส่วนประกอบที่เหลือเป็นคนในองค์กรตุลาการทั้งหมด สิ่งที่อยากจะเสนอคือ ก.ต. ควรจะมีคนข้างนอกเข้าไปเพื่อเชื่อมโยงกับรัฐสภา นอกจากนี้ ก.ต. ยังเป็นองค์กรที่ตรวจสอบการใช้อำนาจอะไรในทางกฎหมายไม่ได้เลย คำถามสำคัญคือจะออกแบบระบบอย่างไรให้สามารถตรวจสอบ ก.ต. ได้ เพื่อให้เชื่อมโยงกับองค์กรภายนอกอย่างที่ผมเสนอไป ทั้งนี้ การที่จะทำเรื่องพวกนี้ได้ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาก็บอกว่าทำไม่ได้

คำถามสำคัญคือ กระบวนการยุติธรรมของเราแคร์กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากน้อยแค่ไหน ผมขอยกตัวอย่างกรณีชาวบ้านบางกลอยที่เข้าไปในคุกไม่กี่วัน พอเขาออกมาจะเห็นว่าเขาถูกโกนหัวโดยอ้างระเบียบราชทัณฑ์ ในขณะที่ความเชื่อของชาวบางกลอยคือการไว้ผมยาว นี่เป็นพื้นฐานง่ายๆ ที่เราต้องเข้าใจว่าเขาไม่ใช่นักโทษ จะอ้างระเบียบอย่างไร แต่เขายังเป็นเพียงผู้ต้องหาอยู่

ส่วนเรื่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ประเด็นแรกคือการใช้เทคโนโลยี video conference ในกระบวนการยุติธรรม เป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังมาก ในการขอขยายระยะเวลาการฝากขังจะมีการใช้ video conference ด้านหนึ่งเราไม่รู้ว่ารอบข้างของการ conference หรือก่อนการ conference เกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมจึงอยากให้ในสามจังหวัดชายแดนใต้ยกเลิกกระบวนการนี้ การขอขยายการฝากขังผู้ต้องหาคดีความมั่นคงควรจะต้องเอาตัวมาแสดงที่ศาล

นอกจากนี้การมีกฎหมายอยู่ 3 ฉบับในสามจังหวัด คือ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ป.วิ.อาญา ทำให้ทหารสามารถควบคุมคนที่สงสัยได้ 7 วัน ควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้อีก 30 วัน และ ป.วิ.อาญา อีก 84 วัน จริงๆ เวลาถูกตัดสินคดีสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว โดยหลักแล้วเขาจะเอาวันที่ถูกควบคุมตัวมาหักออกจากวันที่ได้รับโทษ แต่การถูกควบคุมตัว 30 วัน ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่เคยถูกหักออกเลย เพิ่งมาทำได้เมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเหตุผลว่าเขายังไม่ใช่ผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อาญา คนเหล่านึ้จึงไม่มีสิทธิในการถูกหักวัน ไปจนถึงสิทธิในการพบญาติ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องใช้กับคนทุกคนเมื่อถูกควบคุมตัว

พรชัย :  กระบวนการยุติธรรมของไทยจะดีขึ้นได้ ต้องหลุดออกจากกรอบของกฎหมาย เพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นอาจารย์ที่เวียดนามเคยบอกว่า เวียดนามมี jungle of law คือป่าของกฎหมายที่คนเข้าไปแล้วหลง เช่นเดียวกับประเทศไทย เรากำลังเผชิญกับสภาวะที่มีกฎหมายกำกับมากมาย นี่เป็นต้นตอของการสร้างปัญหากระบวนการยุติธรรม เพราะทำให้เกิดการได้ประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเสียประโยชน์สำหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

โชคดีที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 บอกว่า เราต้องพยายามพิจารณาว่ากฎหมายมีผลกระทบอย่างไรบ้าง สิ่งนี้จึงน่าจะเป็นทางออกที่ทำให้กฎหมายง่ายขึ้น นำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางแพ่ง อาญา หรือมหาชน ผมคิดว่ากฎหมายควรจะถูกทำให้ลดลง ทำให้กลายเป็นสวนแทนที่จะเป็นป่า

เมื่อมีกฎหมายแล้ว จะต้องมีคำง่ายๆ ที่ทำให้เกิดการรับรู้และเข้าใจได้โดยง่าย เช่น ออสเตรเลียในช่วงปี 1970-1990 เขาตั้งนโยบายที่เรียกว่า Plain Legal Language กฎหมายที่ตราขึ้นจะต้องมีคำอธิบายที่เข้าใจง่ายไว้ด้วย ประชาชนไทยที่เข้าถึงการศึกษาอาจพอทำความเข้าใจภาษากฎหมายได้ แต่ประเทศเราก็มีสถานะทางสังคมที่เป็นลำดับขั้น ภาษากฎหมายจึงเข้าถึงยาก เอาแค่ พ.ร.บ. หนึ่งฉบับ เราสร้างทั้งประกาศ กฎ คำสั่ง ทำให้บางครั้งกฎเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มที่เข้าถึงข้อมูลทางกฎหมายได้มากกว่า

มุนินทร์:  ผมคิดว่าเราต้องปฏิรูปตั้งแต่ระบบการศึกษากฎหมาย ซึ่งน่าจะเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของกระบวนการยุติธรรมไทย น่าจะเป็นทัศนคติของคนที่บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงคนในสังคมด้วย

ถ้าเราอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมของสังคมเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สิ่งที่เราต้องมีให้มากคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด เราต้องอดทนฟังในสิ่งที่เราไม่ชอบฟังให้ได้ และพยายามพูดคุยกันด้วยเหตุผล ถ้าเเราคิดว่าคนที่คิดตรงกับเราเป็นพวกเรา ส่วนคนที่พูดอะไรที่เราไม่อยากฟังเป็นคนต่างพวก เมื่อเราอยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยมีอำนาจใช้กฎหมาย เราก็จะเลือกบังคับใช้กฎหมายกับคนที่เห็นต่าง ในขณะที่อาจพยายามหาวิธีการในการหลบเลี่ยง ไม่บังคับใช้กฎหมาย กับคนที่เรามองว่าเป็นพวก การเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานของกระบวนการยุติธรรม

สิ่งที่เกิดในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แต่เป็นโลกของความโปร่งใส เรามีอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ทำให้ทุกคนสามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารได้ตลอด นี่ไม่ใช่สังคมไทยที่เราเคยเจอเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว นี่คือยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เราต้องคุยกันด้วยเหตุผล เมื่อคนวิพากษ์วิจารณ์เราด้วยเหตุผลมา เราก็ต้องให้เหตุผลตอบกลับไป ไม่ใช่ใช้วิธีการปิดปาก วิธีการที่รัฐเคยใช้เมื่อหลายสิบปีก่อนจะไม่มีทางใช้ได้ผลอีกแล้ว ผมมองว่าปัจจุบันการแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมหรือปัญหาความมั่นคง เขาพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้คนหยุดพูด หยุดเคลื่อนไหว หยุดขัดขวาง แต่ผมนึกไม่ออกเลยว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่อายุสิบกว่าๆ ในตอนนี้จะเป็นกำลังสำคัญของสังคม เป็นคนทำงาน เป็นคนที่เสียงดังขึ้น เราจึงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนที่บังคับใช้กฎหมายและคนในสังคม และต้องคิดให้ยาวกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้คือ ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คนต้องคิดถึงความมั่นคงของส่วนรวมมากกว่าความมั่นคงส่วนตัว ที่บอกว่ามีการบังคับใช้กฎหมายโดยคนหรือองค์กรที่คิดถึงความมั่นคงของรัฐ ผมกลับตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการรักษาความมั่นคงส่วนตัวมากกว่าหรือเปล่า เรามองเห็นไหมว่าสังคมกำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ อีก 5-10 ปี สังคมเราจะเดินไปในทิศทางไหน ถ้าเรามองเห็น ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สังคมไปด้วยกันอย่างมั่นคง อยากจะให้โฟกัสกับกระบวนการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าเราทำได้ดีในช่วงนี้ ผมเชื่อว่าอีก 5-10 ปีเราก็จะดีไปด้วย

ปารีณา: ประการแรก อยากให้การเข้าถึงความยุติธรรมในฝั่งของผู้เสียหายง่ายกว่านี้ ตอนนี้ผู้เสียหายต้องมีหน้าที่รู้เองว่าจะไปแจ้งความ ดำเนินคดีที่ไหน เราควรทำให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เข้าไปที่ไหนก็ได้ ให้เป็นหน้าที่ของฝั่งพนักงานสอบสวนในการดำเนินการ นี่เป็นเรื่องเล็กๆ แต่เป็น pain point ของประชาชนทุกคน

ประการที่สอง อยากเห็นอัยการเข้ามามีบทบาทในการสอบสวนดำเนินคดี เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การวางรูปคดีร่วมกับตำรวจ ประเทศไทยยังคิดเรื่องการทำงานเป็นทีมน้อยไป แต่ถ้าแบ่งบทบาทกัน อัยการต้องเป็นคนตัดสินใจฟ้องคดีหรือไม่ฟ้องคดี เพราะเห็นชัดมากกว่า และจะรู้ว่าต้องวางรูปคดีอย่างไร ตำรวจก็ทำหน้าที่ในการเสาะสืบหาพยานหลักฐาน ถ้าสองหน่วยงานนี้ทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ น่าจะทำให้การสืบสวนคดีรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีความโปร่งใส

ประการที่สาม การใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์น่าจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ แต่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นต้องสามารถหักล้างได้ด้วยพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน

ประการที่สี่ คือเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวและหลักประกัน ตอนนี้เรามีกำไล EM แต่ยังใช้กันไม่เยอะ ยังดีที่ศาลมีโครงการปล่อยตัวชั่วคราววันหยุด โดยที่ไม่ต้องมีประกัน แต่การประกันตอนนี้ยังต้องมีหลักประกันเงินสดหรือนายประกัน แปลว่าต้องมีเงิน ไม่ก็คอนเน็กชัน สังคมไทยเรายึดถือกันอยู่สองเรื่องนี้หรือ ถ้าคนที่เขาไม่มีทั้งเงินและหานายประกันก็ไม่ได้จะทำอย่างไร

ประการที่ห้า ถ้ามีความจำเป็นต้องให้เขาอยู่ในความควบคุมของรัฐ การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการถูกคุมขังต้องแตกต่างจากกรณีของนักโทษ เป็นหน้าที่ของคนออกกฎหมายหรือรัฐบาลที่ต้องแยกคนเหล่านี้ออกจากกัน ต้องสะท้อนให้เห็นว่าเขาต้องไม่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นนักโทษ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ กระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่มีการปฏิรูปกระบวนการในการร่างกฎหมาย ตอนนี้กระบวนการร่างกฎหมายมาจากภาครัฐ แต่ถ้าเราไม่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม การปฏิรูปก็ไม่เกิดขึ้น การร่างกฎหมายก็จะมาจากมุมมองของคนที่อยู่ในฐานะภาครัฐ ดังนั้น อยากจะเห็นบทบาทของผู้แทนราษฎรหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มข้นกว่านี้ อยากเห็นบทบาทในการดึงประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนมากขึ้น

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save