fbpx
"การศึกษาแห่งอนาคต บทเรียนจากโลกสู่ไทย" กับ อรรถพล อนันตวรสกุล

“การศึกษาแห่งอนาคต บทเรียนจากโลกสู่ไทย” กับ อรรถพล อนันตวรสกุล

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการศึกษาคือหัวใจสำคัญของการก่อร่างสร้างอนาคตของประเทศ

ด้วยฐานะเครื่องมือสรรค์สร้างความรู้ความสามารถ ถ่ายทอดวัฒนธรรมค่านิยม ฟูมฟักเยาวชนในวันนี้ให้กลายเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในวันหน้า นานาอารยประเทศจึงล้วนแล้วแต่แสวงหาและพัฒนาระบบการศึกษาอันเปี่ยมด้วยคุณภาพเพื่อตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการแสวงหาและพัฒนาเหล่านั้น ทว่าผ่านมาหลายทศวรรษ ภาพการศึกษาของบ้านเรายังคงแลดูห่างไกลจากคำว่า ‘คุณภาพ’ ตามมาตรฐานสากล วาทกรรมและนโยบายเพื่อการปฏิรูปผ่านสายตาคนในสังคมไปครั้งแล้วครั้งเล่า หากไม่สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจนเสียที

เหตุใดไทยจึงจมปลักอยู่กับปัญหาการพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาในวันที่นานาชาติก้าวไปข้างหน้า ระบบของประเทศใดที่เป็นแม่แบบอันน่าสนใจ และเราจะเรียนรู้แนวคิด วิธีการจากตัวอย่างเหล่านั้นเพื่อมาประยุกต์ปรับใช้ได้อย่างไร

101 ชวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้สนใจศึกษาด้านการจัดการระบบและสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาจากหลายประเทศ มาร่วมตอบคำถามดังกล่าว ผ่านการถอดบทเรียนและประสบการณ์ในแวดวงการศึกษาจากแบบอย่างที่น่าสนใจทั่วโลก สู่การวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาที่เรื้อรังในบริบทสังคมไทย

ต่อไปนี้คือบทสนทนาแบบคำต่อคำ ในรายการ 101 One-on-One ชวนสนทนาโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับภาพการศึกษาแห่งอนาคตที่ควรจะเป็น

 

อรรถพล อนันตวรสกุล

ก่อนอื่น อยากถามถึงประวัติของอาจารย์คร่าวๆ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นครู ร.ร.มัธยมอยู่ 4 ปีครึ่ง ตอนเรียนจบ ป.ตรีสอนที่ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยมฯ พอจบ ป.โทก็ถูกดึงตัวมาอยู่ที่คณะ มาเทรนรุ่นน้องให้เป็นคุณครูในครุศาสตร์ หลักๆ เราจะสอนวิชาว่าด้วยการสอน โดยเฉพาะด้านการสอนวิชาสังคมศึกษาซึ่งมีทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง

งานหลักจะอยู่กับนิสิตมาตลอดตั้งแต่ปี 40 เป็นแต้มต่อว่าเวลาคุยเรื่องการศึกษา ผมจะคุยจากภาพที่เห็นอยู่ในหัว เพราะว่าได้ทำงานกับโรงเรียนตลอด ผมจะได้รับข้อมูลตรงจากคนทำงานภาคสนามเยอะ ยิ่งเป็นอาจารย์นิเทศเด็กฝึกสอนต้องเข้าโรงเรียนทุกเดือน บางช่วงทุกอาทิตย์ ต้องเข้าไปนั่งอยู่ในห้องร่วมกับเด็ก ดังนั้นเราจะเห็นห้องเรียนที่แตกต่างกันมากๆ ช่วงหลังมีลูกศิษย์สอบบรรจุเป็นครูมากขึ้น เราก็จะได้รับรู้เรื่องราว exclusive มากจากคำบอกเล่า เขาไปเป็นคนในอยู่ในองค์กร เจอความไม่ตรงไปตรงมา เจอนโยบายที่ไม่มีเหตุผล เจอคำสั่งที่เขาไม่เห็นด้วย ทำให้ช่วงสองสามปีหลังที่ผมได้มีโอกาสสื่อสารตรงนี้ ผมจะพูดจากสิ่งที่ผมได้เห็นในโรงเรียน จากเรื่องเล่าของคนทำงาน

อาจารย์ทำงานอยู่ที่ ‘ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ และ ‘Thai Civic Education’ สององค์กรนี้คืออะไร

‘ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นศูนย์วิจัยภายใต้คณะครุศาสตร์ 11 ปีที่แล้วคณบดีอ.พฤทธิ์ (ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์) ตั้งขึ้นมาเพื่ออยากให้เป็นกลไกเชื่อมประสานกับองค์กรนานาชาติเช่นยูเนสโก ยูนิเซฟ เพื่อมอนิเตอร์วาระการศึกษานานาชาติ

ผมถูกมอบหมายมาทำงานนี้ตอนกลับมาจากญี่ปุ่นใหม่ๆ เพราะจะได้ keep connection กับอาจารย์บางคนที่ตัวเองรู้จัก และมีโอกาสได้ทำหลายโปรเจ็กต์กับองค์กรเหล่านี้ที่มีผลกับผมมาก เพราะเมื่อก่อนผมเป็นครูในเมือง ได้สอนแต่เด็กเก่ง เด็กที่มีความพร้อม แต่พอมาทำโปรเจ็กต์ก็ได้ไปลงพื้นที่ในโรงเรียนชายขอบ โรงเรียนบนดอย ทำให้เราได้เห็นว่าสังคมต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

ช่วงสี่ห้าปีหลังก็มี movement เรื่องการเมืองและพลเมืองเกิดขึ้น ศูนย์ผมเป็นหนึ่งในเครือข่ายนั้น ทำให้ได้รับมอบหมายเป็นศูนย์ประสานงานเครือข่าย เรียกตัวเองว่า ‘Thai Civic Education’ หรือศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย หลักๆ ทำงานสนับสนุนคุณครู โดยเฉพาะครูหนุ่มสาว อาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ที่ทำงานเกี่ยวกับพลเมือง ให้มี platform มาเจอกัน เพื่อพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็ง มีเพื่อนและเรียนรู้ไปด้วยกัน ทำหน้าที่ประสานมหาวิทยาลัยต่างประเทศบางแห่ง เชิญนักวิชาการมาให้ความรู้และเป็นเครือข่ายที่ทำให้ครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ฝึกหัดครูในมหาวิทยาลัย

มันมาจากเมื่อสามสี่ปีก่อนตอนที่เรามีวิชาหน้าที่พลเมือง ผมเป็นหนึ่งในคนที่ต้องตระเวนเป็นวิทยากร แล้วผมรู้สึกว่าทำไมต้องให้วิทยากรจากส่วนกลางกรุงเทพฯ ออกไปตระเวนสอนทุกเขตพื้นที่ฯ แต่ละจังหวัดก็มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย มีครูที่มีศักยภาพ ทำไมเราไม่สร้างเครือข่ายที่ให้คนในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมือนกันได้มีพื้นที่ทำงาน เราจึงวางบทบาททำหน้าที่เป็นสะพานให้คนเหล่านี้มาเจอกัน ทำงานมาสามปี มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง กับโรงเรียน 100 กว่าแห่งที่อยู่ในเครือข่าย

การสร้างเครือข่ายแบบนี้จะให้อะไรกับการศึกษา

เสริมความเข้มแข็งทางวิชาการ ให้คุณครูเป็นเจ้าของห้องเรียนอย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ใช่แค่รับหลักสูตรมาแล้วสอนตามคำสั่ง แต่ออกแบบกระบวนการเอง ตีความหลักสูตรเอง ถ้าใช้วิธีการนี้แล้วเวิร์คก็นำมาแชร์ต่อ กลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน เป็นเทรนเนอร์ในพื้นที่ต่อ

บทเรียนการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น

 

ทราบมาว่าอาจารย์เคยไปทำงานที่ญี่ปุ่นด้วย

ผมจบ ป.ตรีกับ ป.โทที่ครุศาสตร์ จุฬาฯ ด้านการสอนสังคมศึกษา และไปจบ ป.โทอีกใบที่ ม.มหิดลด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา พอดีจังหวะตอนนั้นมีอาจารย์ญี่ปุ่นมาเยี่ยมที่คณะ และอยากได้อาจารย์คนหนึ่งไปเชื่อมโยงกับเขาเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา เลยชวนผมไปรับทุนปีครึ่ง ไปทำวิจัยเกี่ยวกับอยู่กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูของญี่ปุ่น ทำให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่น ไปนั่งหลังห้อง ดูครูทำงาน เห็นวัฒนธรรมทำงานเป็นกลุ่ม สังเกตว่าเขาไม่ค่อยมีอบรมเหมือนบ้านเรา มีแต่ประชุมให้ครูผลัดกันนำเสนอแผนการสอนของตัวเองว่าเป็นอย่างไรแล้วพูดคุยหารือกัน

ผมก็สนใจว่าเขาทำกันอย่างไรเพราะต่างกับบ้านเรา บ้านเราคนไหนสอนก็เตรียมสอนของตัวเองไปและรับผิดชอบเต็มที่ในห้องเรียนของตัวเอง แต่ญี่ปุ่นต้องนำแผนการสอนมาคุยกันว่าสัปดาห์นี้จะสอนเรื่องอะไร ด้วยวิธีการอะไร มีกระบวนการ lesson study คือการศึกษาบทเรียนด้วยกัน ซึ่งคอนเซปต์แบบนี้บ้านเรากำลังเริ่มขับเคลื่อนอยู่ เรียกว่า ‘PLC หรือ Professional Learning Community’ เป็นชุมชนเรียนรู้เชิงวิชาชีพในโรงเรียน

กระบวนการ PLC กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาหรือไม่

ใช่ครับ จริงๆ มีคนพยายามขับเคลื่อนตรงนี้มาหลายปีแล้ว แต่ทำในเครือข่ายที่ไม่ใหญ่มากนัก พอเริ่มเห็นผล กระทรวงก็เริ่มคิดว่านี่เป็นโอกาส และประกาศให้ทำ

ทีนี้การทำ PLC มีความยากเพราะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมโรงเรียนให้คนมานั่งพูดคุยกัน สมัยก่อนครูทำงานโดดเดี่ยวในโรงเรียนได้ แต่วิธีการนี้ทำให้ครูต้องคุยกัน หารือกันในการวางแผนการสอน เราก็ต้องสร้างความเชื่อว่าเรามาเรียนรู้ด้วยกัน เปิดห้องเรียนตัวเองให้คนมาเยี่ยมบ้าง แต่บ้านเราโรงเรียนไม่ค่อยมีวัฒนธรรมแบบนี้ มันต่างคนต่างอยู่ พอประกาศให้ใช้โดยไม่มีความเชื่อร่วมมาก่อนก็เลยยาก ทุกวันนี้ PLC ก็ยังเป็นโจทย์ท้าทายของสังคมไทยอยู่ ว่าจะใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า

ถ้ามีสังคมครูที่พูดคุยกันเรื่องการสอน จะช่วยสร้างอะไรให้กับวงการการศึกษา

สร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในบ้านเรา ถ้ากระบวนการนี้สร้างวัฒนธรรมใหม่จะทำให้ครูไม่โดดเดี่ยวในโรงเรียน และทำให้ครูเข้มแข็งขึ้นจากการลองผิดลองถูก เรียนรู้จากเด็ก ว่าแผนการสอนแบบนี้สอนในห้องหนึ่งแล้วเวิร์ค อีกห้องไม่เวิร์คเพราะอะไร การให้เพื่อนครูมาช่วยนั่งดูจะเป็นกระจกสะท้อนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในห้องเรียน เอาครูคนละวิชามาจับคู่กัน สมมติว่าเป็นครูการงานสอน แล้วมีครูศิลปะมานั่งดู ว่าห้องที่เราสอนวิชาศิลปะ เด็กบางคนแอคทีฟมาก แต่วิชาอื่นดันหลับ เพราะเด็กมีความเก่งไม่เหมือนกัน หรือบางคนเรียนกับเราไม่ได้เรื่องเลย แต่วิชาคนอื่นแอคทีฟมาก

การเรียนรู้ของครูทำให้ครูไม่หยุดนิ่ง เหมือนเติมพลังอยู่เสมอเพราะมีคนมาแชร์ประสบการณ์ มาเรียนรู้ไปด้วยกัน

โมเดล PLC คือสิ่งที่อาจารย์เห็นมาจากญี่ปุ่นแล้วคิดว่าเราน่าจะพอทำได้

ไม่ใช่แค่ที่ญี่ปุ่น แต่กระบวนการ PLC นี้กำลังแพร่ขยายในหลายที่ทั่วโลก ถ้าในเอเชียด้วยกัน มีเวียดนาม อินโดนีเซีย จีน เกาหลีใต้ เริ่มขับเคลื่อนเยอะและไปไกลกว่า PLC เขาทำเป็น School as Learning Community หรือ SLC คือทั้งโรงเรียนเป็นสถานที่ที่คนมาเรียนรู้ เด็กเรียนรู้จากเพื่อน จากครู ครูก็สอนไปเรียนรู้จากเด็กไป ครูคนอื่นก็มานั่งเรียนรู้ในห้องเรียนกับเด็กได้ เปิดให้พ่อแม่เข้ามานั่งดูได้ ทำให้โรงเรียนกลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของทุกคน

ในญี่ปุ่นเขาเรียก movement นี้ว่าเป็นการปฏิวัติเงียบทางการศึกษาจากโรงเรียน ไม่รอนโยบาย แต่เกิดขึ้นได้เลยเมื่อผอ. กับครู เดินหน้าไปด้วยกัน เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่คือพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ ห้องเรียนไม่ได้ปิดประตูอยู่กันเอง ฉะนั้นไม่ใช่คุณนึกจะตีเด็กก็ตี นึกจะตวาดก็ตวาด เพราะห้องเรียนคุณมีคนเต็มไปหมด เด็กก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของห้องเรียนเพราะมีคนสนใจว่าพวกเขาเรียนอะไร

อรรถพล อนันตวรสกุล

บทเรียนการศึกษาจากประเทศฟินแลนด์

 

ทำไมจู่ๆ คนไทยมาพูดเรื่องการศึกษาฟินแลนด์กันเยอะ และมันน่านำมาใช้จริงไหม

ไม่ใช่แค่เฉพาะคนไทย หลายประเทศก็แห่ไปดูงานฟินแลนด์ อเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์จ้างผู้เชี่ยวชาญจากฟินแลนด์มาอยู่ที่สิงคโปร์ และปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นตลอดสิบกว่าปี

ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศยากจนของยุโรปมาก่อน ด้วยความที่ทรัพยากรน้อย มีกำลังคนประมาณนี้ ก็ต้องลงทุนกับการพัฒนาคน ทำอย่างไรให้ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงได้ เขาเป็นประเทศอยู่บนฐานคิดแบบรัฐสวัสดิการจึงมีการสร้างความเชื่อร่วมกันบางอย่าง เช่นเรื่องความเท่าเทียม เสมอภาค ที่มาที่ไปเริ่มมาจากโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ทำอย่างไรให้เด็กไม่ว่ารวยหรือจนมาถึงโรงเรียนแล้วได้อาหารอุ่นๆ ร้อนๆ เหมือนกัน พ่อแม่ก็เข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนดูแลลูกของตัวเองดี ฉะนั้นมันเริ่มจากทำอย่างไรให้โรงเรียนใกล้บ้านเป็นโรงเรียนที่ดี เพราะประเทศเขาเมืองเล็กๆ อยู่ห่างไกล ถ้าปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำสูงมาก คนจะหลั่งไหลเข้าเมืองหมด ชนบทจะไม่มีคนอยู่

อาจารย์จากฟินแลนด์ท่านหนึ่งซึ่งเคยมาพูดที่ครุศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า คนมักจะคิดว่าการศึกษาฟินแลนด์เป็นปาฏิหาริย์ แต่สำหรับคนฟินแลนด์แล้ว ทั้งหมดคือความทุ่มเทพยายามของครู นักวิชาการนักการศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการยกระดับการศึกษา และมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบดอกไม้ไฟ มันใช้เวลา 30-40 กว่าปีเปลี่ยนทั้งสังคม เพราะก่อนทศวรรษ 1980 การศึกษาเขาก็ไม่ได้ดีนะ เขาเริ่มมาดีขึ้นช่วงปี 1990-2000 พอช่วงที่เห็นผลเต็มที่คือปี 2000 ต้นๆ คะแนน PISA มันทะยานขึ้น นักวิชาการก็งงว่าทำไมคะแนนขึ้น เพราะเขาไม่เคยสอนเด็กให้สอบเพื่อคะแนน PISA แต่มันเป็นผลมาจากการเรียนการสอนที่ส่งเสริมสมรรถนะให้เด็ก เพราะ PISA วัดเรื่องการใช้เหตุผล การคิดแก้ปัญหา การอ่านจับใจความ ตีความ ซึ่งเป็นผลจากการทำซ้ำๆ จนเป็นสมรรถนะติดตัว ไม่ใช่การท่องจำ

ผมคิดว่าตอนนี้พอคนพูดถึงฟินแลนด์ จะติดกับดัก พูดแค่เรื่องแนวปฏิบัติฉาบฉวย เช่น ไม่มีการบ้าน เหตุที่ไม่มีการบ้านเพราะเขาเชื่อว่าการอยู่กับเด็กมันเข้มข้นเพียงพอแล้ว งานที่ทำในวิชาเรียนเพียงพอแล้ว และเชื่อบนฐานคิดมนุษยนิยมยุคใหม่ว่าเด็กทุกคนมีอิสระ ควรมีเวลาไปเจอสิ่งที่ตัวเองสนใจ เวลาว่างเป็นสิ่งสำคัญเพราะเด็กมีหน้าที่เล่น การเล่นทำให้เด็กพัฒนา ทำให้รู้จักอยู่กับเพื่อน ทำให้รู้จักตนเองว่าตนเองเป็นใคร ยิ่งเป็นวัยรุ่นต้องยิ่งมีเวลาว่าง เพราะมันคือโอกาสในการเรียนรู้ตนเอง ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ก็ไม่มีการบ้าน มันต้องมาพร้อมกับการมีพื้นที่เรียนรู้อื่นในตำบล ในอำเภอตัวเอง มี Community Center มี Sport Center มีพิพิธภัณฑ์ เพราะฉะนั้นเราจะเอามาแค่เรื่องไม่มีการบ้านไม่ได้ เราต้องเอามาให้หมด และตอนนี้สังคมไทยยังเชื่อปรัชญาการศึกษาแบบสารัตถนิยม คือเชื่อว่าสอนเนื้อหาให้เด็กเยอะที่สุดดีแล้ว เรายังไม่ก้าวข้ามปรัชญาการศึกษายุคเก่า

ฟินแลนด์ใช้เวลาวางระบบการศึกษา 30-40 ปี เป็นไปได้ไหมถ้าเราทำวันนี้แล้วจะเกิดผล 30-40 ปีข้างหน้า

เราไม่ต้องเดินตามเขา เพราะถ้าเราเดินตาม เท่ากับเดินตามอดีตของเขา ตอนนี้เขาเปลี่ยนแนวคิดการศึกษาไปหลายอย่าง

สิ่งที่เราควรเรียนรู้จากเขาคือวิธีการคิด วิธีการมอง วิธีการวางแผน อาจารย์ที่ผมพูดถึงบอกว่าคนมาดูงานฟินแลนด์เยอะมาก แต่ทุกคนมาแล้วก็จากไป คุณควรกลับไปดูบ้านตัวเอง ดูวัฒนธรรมบ้านคุณ เพราะนั่นคือที่มาของปัญหา แก้ที่วัฒนธรรมเพราะวัฒนธรรมคือสิ่งที่สร้างโดยมนุษย์ ถ้าเปลี่ยนวัฒนธรรมของโรงเรียน ของคนในสังคมได้ การศึกษาก็เปลี่ยน มันเป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน การศึกษาเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรม และเป็นเครื่องมือในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ เพราะฉะนั้นมาเรียนรู้แนวปฏิบัติเขาได้ แต่อย่าหยิบฉวยไปใช้อย่างมักง่าย

บทเรียนการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์

มีบทเรียนจากที่ใดที่น่านำมาใช้ในประเทศไทยอีกบ้าง

มีประเทศหนึ่งที่คนไทยพูดถึงน้อยเกินไปคือสิงคโปร์ คนมักจะคุ้นกับเรื่องฟินแลนด์ แต่จริงๆ สิงคโปร์กับฟินแลนด์มีความเชื่อทางการศึกษาบางอย่างร่วมกัน

ถ้าถามผม สิงคโปร์จะเทียบเคียงกับเราได้ง่ายเพราะเป็นรัฐที่มีความเป็นข้าราชการสูงเหมือนกัน มีวัฒนธรรมแบบเอเชียมากๆ และมีแนวคิดความเป็นชาติ สิ่งที่ผมสนใจคือระบบการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับสถาบันฝึกหัดครู ในสิงคโปร์จะมีจุดแข็งเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นประเทศเกาะที่มีโรงเรียนจำนวนจำกัด สถาบันฝึกหัดครูก็มีฟังก์ชันชัดเจนว่ารัฐบาลมอบหมายให้คุณต้องเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการศึกษา เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ปล่อยให้โรงเรียนอยู่โดดเดี่ยว เขาจะมีอาจารย์จากสถาบันฝึกหัดครูลงมาทำงานด้วย และส่งเสริมให้ครูทำวิจัย ใช้กระบวนการวิจัยพัฒนาเด็ก บันทึกการเรียนรู้ของเด็ก และถอดเป็นความรู้ออกมา ทำให้คุณครูภูมิใจว่าความรู้เล็กๆ ของพวกเขา พอต่อจิ๊กซอว์กันแล้วกลายเป็นนโยบายรัฐ

อันนี้ผมว่าน่าสนใจเพราะเปลี่ยนบทบาทครู จากเดิมครูเป็นคนมาสอนแล้วปล่อยให้ไปสอบ แต่ครูที่สิงคโปร์สอนไป สังเกตการณ์ไป ดูการเปลี่ยนแปลงและคอยบันทึก ตั้งคำถามว่ามีวิธีการสอนแบบอื่นอีกไหม เขาจะใช้ลักษณะของชุดวิจัย คือมีอาจารย์ฝึกหัดครูเป็นแม่ข่ายวิจัย มีครูอีกหลายโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วม มีหัวข้อบางอย่างร่วมกัน เช่น ทำวิจัยเรื่องการสร้างแรงจูงใจของเด็ก ทุกคนมีงานวิจัยเล็กๆ จากห้องเรียนของตัวเอง พอสังเคราะห์ออกมาจะกลายเป็นชุดความรู้ก้อนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์ในห้องเรียน ไม่ได้มาจากทฤษฎีอย่างเดียว

สิงคโปร์จะให้คุณค่ากับการลงทุนเรื่องนี้มาก เพราะเขาเชื่อว่ามันต้อง bottom-up ขึ้นมาจากห้องเรียน practice ที่ดีต้องมาจากห้องเรียน ไปกำหนดเป็นนโยบายแล้วค่อยขยายผลต่อ นโยบายหนึ่งที่คนไทยรู้จักดีคือ ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ สิงคโปร์เรียก ‘Teach less, Learn more’ ก็มาจากการวิจัยแบบนี้ 3 ปี ทำกับโรงเรียนประมาณ 10 เปอร์เซนต์ ราวๆ 30 โรงเรียนที่สนใจ

คีย์เวิร์ดการศึกษาของสิงคโปร์คือ ‘Research-Led policy ไม่มีนโยบายไหนมาจากประสบการณ์ของผู้สั่งอย่างเดียว ต้องมาจากการวิจัย และการวิจัยจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความร่วมมือของครูด้วยกัน นี่เป็นโมเดลที่แข็งแรง ฟินแลนด์มีมหาวิทยาลัยฝึกหัดครู 7 แห่งก็ทำแบบนี้ แบ่งกันดูแลภูมิภาคของตัวเอง ญี่ปุ่นก็ใช้วิธีการนี้ มีมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูประจำจังหวัดประกบโรงเรียนในเครือข่ายจังหวัดของตัวเอง

การทำวิจัยในห้องเรียนเช่นนี้จะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ครูหรือ

มันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตนเองเชิงวิชาชีพ ไม่ใช่ภาระ เขาไม่ได้สอนเยอะเหมือนบ้านเรา จำนวนชั่วโมงการสอนอาจจะลดน้อยลงมา แล้วให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ของครูกับเด็ก โฟกัสของครูจะอยู่ที่เด็ก ทำอย่างไรให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มันคือการคืนความเป็นนักวิชาการด้านการศึกษาให้คุณครู ซึ่งผมว่าสำคัญ เพราะทำให้อาชีพครูกลายเป็นอาชีพที่คนให้คุณค่าโดยไม่ต้องเรียกร้อง กลายเป็นงานที่มีความหมายโดยตัวมันเอง

คำว่า Teach less ใน Teach less, Learn more คือสอนน้อยลง ในเมื่อสอนน้อยลงแล้วนำเวลาไปทำอะไร

สอนน้อยลงเพื่อให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกันและครูสังเกตเด็กมากขึ้น คำว่าสอนน้อยลงคือลดการบรรยายของครู บางอย่างครูอาจจะทำคลิปวิดิโอสั้นๆ ให้ดูมาก่อน เตรียมการเรียนออนไลน์ให้เด็กเรียนที่บ้านมาก่อน เขียนเป็นบล็อก ตอบอีเมล มี platform ออนไลน์ให้เขียนโต้ตอบกัน พอเข้ามาในห้องก็เป็นช่วงเวลาที่เช็คว่าสิ่งที่เข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ และทำกิจกรรมด้วยกัน พอเด็กเริ่มทำงานด้วยกัน ครูจะถอยออกมาเป็นผู้สังเกตเดินดูว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ปัญหาแต่ละคนคืออะไร

การสร้างนโยบายทางการศึกษาของของประเทศสิงคโปร์เกิดขึ้นได้อย่างไร

เกิดจากจากการสร้างความเชื่อร่วมกัน สิงคโปร์ใช้เครื่องมือหนึ่งคือการสร้าง ‘Desired Outcome of Education’ หรือเป้าหมายที่พึงปรารถนาของการศึกษา คิดว่าปี 2020 สิงคโปร์จะอยู่ในสังคมแบบไหน เด็กที่เข้มแข็ง เอาตัวรอดได้จะต้องเป็นอย่างไร ใช้วิธีการเรียนรู้แบบไหนสร้างมา ครูแบบไหนสร้างเด็กแบบนี้ และครูถูกเตรียมมาอย่างไร ซึ่ง logic แบบนี้เป็น logic แบบนักวิชาการฟินแลนด์ที่สิงคโปร์เรียนรู้มา

แม้จะเป็นประเทศรัฐข้าราชการที่อำนาจรวมศูนย์มากๆ แต่เวลาทำเรื่องนี้มาจากการระดมความคิดของครู โดยเฉพาะครูเด็กๆ ภาคเอกชน พ่อแม่ มามองว่าอีก 25 ปีข้างหน้า วันที่เด็กจะเป็นผู้ใหญ่ เด็กของเขาจะอยู่ในสังคมแบบไหน ใช้เวลาหลอมความคิดนานมาก แต่พอออกมาแล้วไม่เปลี่ยนเลย 20 ปี จนทุกวันนี้คอนเซปต์ Desired Outcome of Education ยังไม่เคยเปลี่ยน

สิงคโปร์เป็นประเทศการค้า ต้องบริหารทุกอย่างให้คุ้มค่า ฉะนั้นเขาจึงเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง และถอยมาดูว่าจะไปถึงได้อย่างไร ซึ่งยืดหยุ่นพอสมควร มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรสองสามรอบ แต่ตัวเป้าหมายนิ่ง รอเปลี่ยนทีเดียวพร้อมกัน

อรรถพล อนันตวรสกุล

ย้อนมองการศึกษาในประเทศไทย

 

ที่ผ่านมาในประเทศไทยปฏิรูปแบบมีคนคิดแทนให้  หรือมีเปิดให้มีส่วนร่วมมากน้อยเพียงไร

เรียกว่ามีคนจำนวนหนึ่งช่วยกันคิด คนจำนวนหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นตัวแทนแล้ว แต่งานการศึกษาเป็นงานของทุกคน ต้องมีเสียงคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง คนทำงานเช่นครู ฟังเสียงพ่อแม่ว่าอยากเห็นเด็กโตมาเป็นแบบไหน หรือภาคธุรกิจที่ต้องการแรงงานรุ่นใหม่เป็นอย่างไร เราไม่ค่อยมีโอกาสรับฟังเสียงพวกนี้อย่างจริงจัง

เรามีการมีส่วนร่วมบ้าง แต่เป็นการมีส่วนร่วมที่เกณฑ์คนมาเข้าร่วม ไม่ได้เปิดช่องให้ส่งเสียงหรือถกเถียงดีเบทกัน

การปฏิรูปการศึกษาไทยที่ผ่านมาในช่วง 20 ปี ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

20 ปีผ่านไปยังเป็นกราฟขึ้นๆ ลงๆ อยู่ มีบางช่วงที่มีสัญญาณเชิงบวกเกิดขึ้นมาบ้าง แต่ก็ดรอปลงมาเพราะมีความไม่นิ่งเชิงนโยบาย 20 ปีมานี้เปลี่ยนรัฐมนตรีไป 22 คน ทุกคนมาพร้อมเป้าหมายแก้ปัญหา แต่คุณเข้ามาโดยที่ไม่มีเวลาทำความเข้าใจระบบทั้งหมด ต้องการผลงานระยะสั้น การศึกษาเลยเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบดอกไม้ไฟแทนที่จะเกิดระลอกคลื่นการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

นวัตกรรมดีๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราหยิบฉวยมาใช้ แต่เรามีปัญหาคือไม่ใช้อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ต่อเนื่อง และเราปล่อยให้นโยบายถูกแทรกแซงได้ง่าย

ในบรรดานวัตกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา อาจารย์เห็นด้วยกับนวัตกรรมใดมากที่สุด

อันหนึ่งที่ดีและควรพูดถึงนานแล้วคือการออกแบบการเรียนรู้เอาผลที่เกิดกับเด็กเป็นตัวตั้ง ที่เรียกว่า ‘Backward Design หรือออกแบบย้อนกลับ เวลาคุณวางเป้าหมายในการสอน คุณต้องคิดก่อนว่าชิ้นงานคืออะไร เด็กต้องทำอะไรเป็น การสอนต้องพาให้เด็กทำชิ้นนี้ได้ แล้วมันจะเปลี่ยนวิธีการวัดผล การลงมือทำได้แสดงว่าประยุกต์ความรู้เป็น มีความอดทนอยู่กับโปรเจ็กต์ เด็กจะภูมิใจในความสำเร็จและจะเป็นสิ่งที่ติดตัวไป

Backward Design เคยถูกส่งเสริมสมัยคุณหญิงกษมาเป็นเลขาธิการ กพฐ. ตอนนี้ยังมีโรงเรียนทำอยู่ และมันก็ไม่ได้เชย เพราะตอนนี้เรามาเชื่อเรื่องการประเมินผลอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้ประเมินแค่ด้วยการสอบ แต่เชื่อว่าต้องประเมินเพื่อสังเกตเด็ก เรียกว่า Assessment as Learning ของคุณครู ครูเรียนรู้จากการประเมินเด็ก และเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็ก

ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่

มันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะถ้าการเมืองระดับประเทศไม่นิ่ง ก็จะส่งผลต่อการเมืองระดับองค์กร โดยเฉพาะกระทรวง ซึ่งองคาพยพมันใหญ่มาก มันคือคุณครูจำนวนสี่แสนกว่าคนดูแลเด็กกว่าแปดล้าน และเกี่ยวกับผู้ใหญ่ตั้งไม่รู้เท่าไรที่อยู่กับเด็ก พอการเมืองมันแกว่งไปแกว่งมา โรงเรียนมันก็ไม่ต่อเนื่องและรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย

ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ ช่วงแรกๆ ที่การเมืองค่อนข้างนิ่ง กระแสปฏิรูปค่อนข้างไปได้เร็ว แต่พอมีความขัดแย้งสูง มีการติดกับดักการเมืองยาวนาน การศึกษาแย่เลยเพราะคุณเปลี่ยนรัฐมนตรีทุก 6 เดือน คนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ารัฐมนตรีคือใคร

ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ นโยบายการศึกษาต่างกันหรือไม่

ตราบใดที่รัฐบาลเชื่อเรื่องการตัดสินใจลำพัง ไม่แคร์เสียงประชาชน ไม่ว่ามาจากการเลือกตั้ง หรือการยึดอำนาจก็มีบทบาทไม่ต่างกัน

แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังถูก control โดยประชาชน เมื่อคุณทำในสิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วย เสียงคัดค้านดัง ก็ยังคานอำนาจได้ แต่พอเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม การตัดสินใจลำพังไม่แคร์เสียงประชาชนถือว่าอันตราย เพราะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือของรัฐได้เต็มที่ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังต้องแคร์เพราะไม่อย่างนั้นจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถูกตรวจสอบโดยประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่แคร์เรื่องเสียงของประชาชน โอกาสการมีส่วนร่วมน้อยมาก เป็นเรื่องง่ายมากที่จะเดินหน้าทำตามแผนที่วางไว้

ความพยายามของรัฐบาลคสช. ที่จะเดินหน้าการศึกษาไทยเป็นอย่างไร

มีความพยายาม แต่ความพยายามเหล่านี้ไม่ได้ดึงคนเข้าไปมีส่วนร่วม มีแค่คีย์แมนจำนวนหนึ่งที่คสช. เลือกเข้าไปเป็นคณะทำงาน และเป็นการคุยนโยบายกันจากประสบการณ์ จุดอ่อนที่สุดของประเทศไทยคือไม่ใช้กระบวนการวิจัย ไม่ใช้ความรู้ มีความรู้มากมายที่คนอื่นทำไว้ ต้องดึงความรู้เข้ามาบ้าง และต้องเอาคนทำงานข้างล่างมาส่งเสียงบ้าง ฟังเสียงเด็กบ้าง ฟังเสียงพ่อแม่บ้าง ฟังเสียงภาคธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบเวลารับคนไม่มีสมรรถนะเข้ามาทำงานบ้าง

แต่พอคุณไม่เปิดช่องให้คนเหล่านี้ มันเลยกลายเป็นการคุยของคนไม่กี่คน ซึ่งคุณกำลังวางแผนของประเทศที่จะกระทบคนอีก Generation หนึ่งในระยะยาว แต่คุณไม่เคยดึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีคณะทำงานเยอะมากเกี่ยวกับการศึกษาที่เราไม่เคยรู้เลย รู้อีกทีก็ประกาศเป็นนโยบายออกมาแล้ว

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปพยายามปั้นไอเดียให้ได้ก่อนการเลือกตั้ง แต่คุณฟูมฟักไอเดียไปโดยที่คนอื่นไม่รับรู้ด้วย ไม่ใช่เจ้าของความคิดด้วยกัน วันหนึ่งคุณประกาศใช้ก็เป็นเพียงไอเดียของคุณที่อยากให้สังคมยอมรับ ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ซื้อนโยบายคุณล่ะ จะทำอย่างไร คุณอาจจะใช้อำนาจพิเศษตอนนี้สั่งให้เกิดขึ้นมาได้ แต่วันหนึ่งถ้าเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยแบบปกติ ก็อีหรอบเดิม

ระบบการสอนครูในบ้านเราเป็นอย่างไร ครูเรียนอะไร และมีปัญหาหรือไม่

ความรู้สำหรับการทำงานครูมีอยู่ 3 ชุดใหญ่ๆ ชุดแรกคือความรู้ว่าด้วยเรื่องโลกการทำงานครู จิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็ก การออกแบบการสอน การประเมินผล หลักๆ คือรู้ว่าอยู่กับเด็กอย่างไร สอนอย่างไร ชุดที่สองคือความรู้วิชาเอก สอนวิชาอะไร ต้องนำ 2 ชุดนี้มารวมกัน คือรู้เนื้อ และรู้วิธีสอน และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะโลกยุคใหม่คือเด็กเรียนที่ไหนก็ได้ เป็นกระแสของการเปลี่ยนแปลง ความรู้ทั้ง 3 ชุดนี้คือสิ่งสำคัญที่นำมาใช้ในการทำงานครู

การเรียน 5 ปี หัวใจคือเรียนทั้งทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติ ตอนนี้ต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติระหว่างการเรียน ต้องเข้มข้นกับการดูแลเขาตอนฝึกงานมากขึ้น  อันนี้เป็นจุดอ่อนเพราะเวลาส่งนิสิตไปฝึกงาน บางมหาวิทยาลัยทิ้งให้เป็นหน้าที่โรงเรียนดูแล เป็นสิ่งที่หลายๆ แห่งละเลยมากที่สุดและมันส่งผลต่อคุณภาพนักศึกษา ถ้าไม่จริงจัง ประสบการณ์ในห้องเรียนแทนที่จะทำให้คนอยากเป็นครู มันจะกลายเป็นแรงผลักให้เด็กไม่อยากเป็น

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กอยากเป็นครูหรือไม่อยากเป็น คือครูพี่เลี้ยงที่เป็นแบบให้เขาตอนอยู่ที่โรงเรียน พอเห็นครูพี่เลี้ยงที่ไม่ดี ไม่สนใจพัฒนาเด็กจริงๆ จะไม่อยากเป็น แต่ถ้าได้ครูพี่เลี้ยงที่เป็นแม่แบบที่ดี จะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คิดว่างานครูเป็นงานที่มีคุณค่า

ในประเทศไทยสามารถเป็นครูได้ด้วยผ่านระบบการสอบบรรจุ อาจารย์มีทัศนะอย่างไรกับมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูที่จัดติวสอบ

เราติดกับดักการแข่งขันมาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยบางแห่งต้องการให้ลูกศิษย์สอบติดครูได้เยอะก็มีการเอาติวเตอร์มาติว ผมมีคำถาม คุณสอนเขามาสี่ปี คุณดูแลเขาฝึกงานมาทั้งปี คุณไม่มั่นใจเลยใช่ไหมว่าลูกศิษย์คุณจะมีคุณภาพพอจะสอบบรรจุได้ การที่เอาติวเตอร์มาติวลูกศิษย์คุณมันต่างอะไรกับโรงเรียนจำนวนมากที่เอาติวเตอร์มาติวเด็กสอบโอเน็ต มันเหมือนตบหน้าคุณครู ว่าคุณไม่ได้เรื่อง

สถาบันฝึกหัดครูยิ่งต้องไม่ทำเรื่องพวกนี้ เพราะสร้างค่านิยมผิดๆ กับเด็กที่จะไปเป็นครูในโรงเรียน วันหนึ่งเขาเป็นครู เขาจะเชื่อเรื่องการเอาติวเตอร์มาติวเด็ก เพราะตอนเขาเป็นเด็ก เขาก็ถูกติวเพื่อสอบบรรจุเช่นเดียวกัน และคะแนนสอบบรรจุที่ดีไม่ได้หมายความว่ามีสมรรถนะที่ดีกว่า เมื่อไปอยู่หน้างานด้วยกัน สปีดการพัฒนาอยู่ที่ช่วง 3 ปีแรกของการเป็นครู

หลายๆ ประเทศจะทุ่มเทกับการดูแลครูใหม่ 2-3 ปีแรกเพราะว่ามันคือช่วงที่เปราะบางที่สุดของคนทำงานครู เมื่อเรียนจบมาสู่โลกการทำงาน การเป็นครูต้องแบกรับความเครียด อยู่กับเด็ก อยู่กับงานที่ต้องดีลกับผู้คนเยอะมาก ถ้าเราไม่มีระบบที่ฟูมฟักดีพอ จะมีครูจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบ ซึ่งทุกประเทศเจอปัญหานี้ ดังนั้นต้องลงทุนพัฒนาครูใหม่

การได้ครูที่เก่ง ไม่ควรได้มาจากการสอบอย่างเดียว ที่ญี่ปุ่นเรียนจบไม่สามารถสอบครูได้เลยทันที แต่ต้องมีชั่วโมงการทำงานมาก่อน เพราะฉะนั้นมันเป็นการ approve แล้วว่าคุณเลือกที่จะอยู่ในวิชาชีพนี้ บ้านเรายังเป็นระบบการสอบอยู่ แต่เริ่มมีคนคิดระบบใหม่ กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ก็ต้องติดตามต่อไป

คนที่อยู่นอกวงการศึกษา สามารถช่วยปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไรบ้าง   

อยู่ที่ว่าอยู่ในบทบาทอะไร ถ้าเป็นพ่อแม่ คุณต้องทำงานร่วมกับโรงเรียน ถ้าเป็นภาคีที่สามารถซัพพอร์ตโรงเรียน เช่น เครือข่ายชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง เวลาโรงเรียนต้องการระดมความคิดคน เปิดโอกาสให้เป็นคณะกรรมการการศึกษา นี่คือช่องทางที่คุณจะทำ หรือคุณเป็นผู้ประกอบการ คุณก็ซัพพอร์ตให้เด็กมาเรียนรู้จากสถานประกอบการคุณได้ และอีกทางหนึ่งคือส่งเสียงในฐานะคนร่วมสังคมเดียวกัน เวลาถกเถียงประเด็นการศึกษา เราต้องรู้สึกว่านี่คือปัญหาร่วมกัน

มีคำแนะนำสำหรับครูอย่างไร ในฐานะผู้สนองนโยบาย และนักปฏิบัติหน้างาน จะสร้างความเข้มแข็งในการทำงานอย่างไร

กลับมาที่เรื่องสำคัญ เพราะครูบ้านเราสวมหมวก 2 ใบ เป็นครูด้วย เป็นข้าราชการด้วย คำถามคือ คุณตระหนักรู้ในบทบาทครูว่า คุณเป็นเจ้าของห้องเรียนร่วมกับเด็กมากน้อยแค่ไหน นโยบายรัฐคือนโยบายรัฐ บางเรื่องเป็นเรื่องของการที่มาถึงห้องเรียนแล้วครูตีความ เช่น เวลาเขาบอกว่าสอนให้เด็กมีวินัย วินัยแบบไหนที่คุณครูจะพัฒนาขึ้นในห้องเรียน ถ้าวินัยหมายถึงการบังคับ การลงโทษ อันนี้คุณทำแบบดื้อๆ ไม่ใช่ความรู้แล้ว ถ้าคุณบอกว่าทำวินัยเชิงบวก ให้เด็กรู้ว่าการอยู่ร่วมกันต้องเคารพคนอื่นเป็น อันนี้มันคือพลังการตีความ ซึ่งเป็นเรื่องของคุณครูที่จะต้องมีความเป็นนักวิชาการทางการศึกษา รู้ว่าตัวเองทำอะไร ยิ่งเป็นคุณครูที่ดูแลเด็ก งานมันยิ่งละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นห้องเรียนมันคือเรื่องของครูกับเด็กอยู่ด้วยกัน มันไม่ใช่อำนาจครูคนเดียว มันคือการแชร์พาวเวอร์กันระหว่างครูกับเด็ก แล้วก็คำนึงถึงคนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ชีวิตพ่อแม่เขา เพราะฉะนั้นถ้าครูไม่มีความเป็นผู้นำพอ ไม่มีความเป็นนักวิชาการพอ มันก็เต้นตามนโยบายแล้วก็ไม่ได้เห็นบทบาทที่แท้จริงของตัวเอง อันนี้ถ้าเรามีความเป็นผู้นำพอ เราจะไม่มีคถามถึงความเข้มแข็งเพราะเราจะรู้ว่า เรากำลังมีฟังก์ชั่นทำงานกับเด็กเรื่องอะไร

 

อาจารย์ก็สอนคุณครูทุกวันนี้แบบนี้อยู่ด้วย

พยายามที่จะบอกว่าตัวเองเชื่ออะไร ผมไม่สามารถสอนให้ทุกคนเชื่อเหมือนผมได้ ผมทำได้แค่พยายามจะบอกว่า ผมเชื่อแบบนี้แล้วผมก็พยายามทำงานของผมบนความเชื่อแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นทางเลือกของคุณว่า คุณจะเป็นคนที่เชื่อแบบไหน ทำงานแบบไหน เพราะถ้าเกิดคุณไม่ได้มีความเชื่อแบบนี้ คุณก็ต้องเผชิญกับความอึดอัดคับข้องใจ แล้วถ้าคุณก้าวไม่ข้าม มันก็ทำให้คุณติดกับอยู่ในระบบการศึกษาแล้วมันก็ท้อง่าย

 

อยากให้อาจารย์พูดถึงระบบโฮมสคูลบ้าง

โฮมสคูลก็เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่มาช่วยตอบโจทย์สำหรับคนที่ไม่ได้เชื่อ ศรัทธาในเรื่องการศึกษาหรือจริงๆ มีความยากลำบากในการจะทำให้ลูกตัวเองเข้าถึงระบบ เช่น บ้านอยู่ไกลมาก ในหลายประเทศโฮมสคูลมันเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ในภาวะที่พร้อมจะส่งลูกไปโรงเรียน อยู่ชนบทห่างไกล ต้องสอนเองที่บ้าน

โฮมสคูลของบ้านเราตอนนี้มันจะเป็นที่นิยมกันในกลุ่มคนที่อาจจะรู้สึกไม่ศรัทธาระบบการศึกษา และเชื่อว่าตัวเองสามารถจัดการกับชีวิตลูกได้ ซึ่งก็มีข้อจำกัด เพราะคนที่จะสามารถทำแบบนี้ได้มันต้องมีความพร้อมทางเศรษฐกิจ มันก็ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ทำเรื่องโฮมสคูลก็เรียกร้องเวลาในการต้องอยู่กับเด็กเต็มเวลา แล้วก็ไม่ใช่แค่พ่อแม่ผู้ปกครองคนอื่นทำไหว ก็เลยทำให้ตัวชุมชนสังคมโฮมสคูลก็ไม่ได้ใหญ่มากนัก บ้านเราก็สัก 500 กว่าครอบครัวที่ทำเรื่องพวกนี้อยู่ แต่เขามีปัญหาที่เขาต้องเผชิญเยอะ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ค่อยเข้าใจเขาว่าทำไมต้องจัดการศึกษาที่บ้านซึ่งจริงๆ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสนับสนุนเมื่อพ่อแม่ไม่พร้อมจะส่งลูกไปโรงเรียนหรือลูกไม่ได้มีวิธีการเรียนที่เหมาะจะอยู่โรงเรียน ไม่ชอบวิถีในโรงเรียน เขาต้องมีสิทธิ์เลือกและเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องสนับสนุนให้เขาทำงานได้ ไม่ใช่เอากติกาเดียวกับโรงเรียนมาใช้ในการวัดพวกเขา

ผมมีข้อสังเกตว่าการทำโฮมสคูลมันก็ช่วยลูกตัวเอง ช่วยเครือข่ายเพื่อนที่ทำโฮมสคูลด้วยกัน แต่การศึกษากระแสหลักมันก็จะยังเหมือนเดิม เพราะว่ามันเหมือนกับเราแยกส่วนออกมาทำงานเฉพาะหน้างานของเรา แต่จริงๆ มันมีแนวปฏิบัติดีๆ เยอะมากเลยนะ จากครอบครัวโฮมสคูลที่มันจะไปสร้างแรงบันดาลใจกับคนในระบบโรงเรียนได้ ผมเคยไปฟังคุณพ่อที่จัดโฮมสคูลคนหนึ่งที่เชียงราย เขาคุยเรื่องลูกเขาเรียนอย่างไร แล้วเอาคลิปวิดีโอที่ลูกเขานำเสนองานมาให้คุณครูในโรงเรียน ในระบบของ สพฐ. ฟัง คำถามหนึ่งที่คุณครูถามมาทันทีคือ ทำไมลูกของคุณพ่อเวลาเล่าหน้าห้องไม่มีความเขินอาย ไม่มีความประหม่า ดวงตาเป็นประกาย มีความสุขในการเล่า แล้วทำไมลูกศิษย์ของเราไม่เป็นแบบนั้นบ้าง คำถามเขาเป็นคำตอบในตัวแล้ว เพราะว่าการอยู่ที่บ้านเรียนกับพ่อ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันเป็นมิตรปลอดภัย พร้อมสนับสนุน เขาเป็นเจ้าของบทเรียนตัวเอง เขามีเวลาอยู่กับมันเต็มที่ได้ โปรเจกต์แมลงของเขาเนี่ย แต่โรงเรียนมันคือทำงาน ทำโจทย์คุณครู เวลาก็จำกัดแล้วครูก็สั่งให้ทำนู่นทำนี่เยอะมาก ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นอิสระ ไม่รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ความรู้สึกเบิกบานในการเรียนมันก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจริงๆ ประสบการณ์ดีๆ จากโฮมสคูล ถ้าเกิดมันถูกขยายผลกลับเข้ามาในโรงเรียน ช่วยเขย่า mindset คุณครูกันใหม่ มันก็จะเป็นประโยชน์ แต่จริงๆ มันเป็นระบบที่ไม่ควรแยกขาดจากกัน มันควรจะไปด้วยกัน 

ครูส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำวิทยฐานะมากกว่าการร่วมวิเคราะห์ปัญหาของโรงเรียนเพื่อตั้งเป้าหมายร่วมกัน ทำอย่างไรดี 

ปัจจุบันนี้เวลาครูจะเลื่อนวิทยฐานะ ครูต้องทำผลงานวิชาการ คือบ้านเราในอดีตใช้ระบบว่า ครูต้องทำงานวิชาการเพื่อเลื่อนไป คศ.1 คศ.2 ซึ่งตอนนี้เขากำลังออกแบบกันใหม่ว่า ไม่ได้เอาเกณฑ์เดิมมาใช้แล้ว เขาจะเน้นปฏิบัติการในห้องเรียน

จริงๆ โจทย์นี้ใหญ่มากนะ เพราะมันพูดถึง Professional Learning ของคุณครู คุณครูจะเรียนรู้เป็นมืออาชีพได้ยังไง หลายประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในเชิงของการกำหนดสิ่งที่เรียกว่าเส้นทางชีวิต (career path) คุณเป็นครูใหม่ 3 ปีแรก โจทย์คือเรื่องนี้ คุณต้องกลายเป็นซีเนียร์ให้ได้ เป็นซีเนียร์เท่านี้ปีต้องถีบตัวเองขึ้นมากลายเป็น Master Teacher ให้ได้ เป็นเมนเตอร์ให้ครูใหม่ให้ได้ แต่ทำแบบนั้นได้ ภาระงานคุณจะมีความเปลี่ยนไป คุณอาจจะสอนน้อยลงแต่คุณเป็นพี่เลี้ยงน้อง คุณสอนน้อยลง คุณเป็นพี่เลี้ยงคนทำวิจัย คุณสอนน้อยลงแล้วคุณวิจัยห้องเรียนตัวเอง มันก็ต้องมีการดีไซน์ชีวิตคุณครูในโรงเรียนอีกแบบหนึ่ง

ของบ้านเราตอนนี้ไม่ได้คิดโจทย์แบบนี้ บ้านเราก็ยังเป็นโจทย์แบบว่า ไปทำผลงานมา เพราะฉะนั้นครูก็ดิ้นรนเพื่อจะได้สามารถเข้าไปสู่ตำแหน่งวิทยฐานะ ใครอบรมก็อยากจะไปอบรม เพราะทุกคนก็อยากได้เงินตำแหน่งเพิ่มขึ้น แต่งานสำคัญคืองานโรงเรียน ปรากฏว่าคุณครูจำนวนมากก็ละเลย เพราะเขาไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของโรงเรียน ถ้าเกิดเขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของโรงเรียน โรงเรียนนี้ประสบความสำเร็จหรือมีปัญหา มันเป็นโจทย์ที่ต้องรับผิดรับชอบร่วมกัน พอวัฒนธรรมอำนาจในโรงเรียนมันไม่ได้เอื้อให้ครูเขามีส่วนในการส่งเสียงได้ ถ้า ผอ. เก่ง ผอ. สร้างวัฒนธรรมdkiมีส่วนร่วมได้ บรรยากาศที่ชวนมาตั้งเป้าหมายร่วมกันมันก็จะเกิด อันนี้เป็นโจทย์ท้าทายมากๆ

ในสิงคโปร์ ผมเคยไปเจอโรงเรียนหนึ่งเป็นโรงเรียนนวัตกรรม เก่งมากเรื่องไอที ตั้งแต่ระดับประถมเลยนะ เป็นโรงเรียนต้นๆ ของประเทศเลย ตอนไปเยี่ยมก็เกิดปรากฏการณ์น่าสนใจ เพิ่งเปลี่ยน ผอ. ใหม่ ผอ. ใหม่คือ ผอ. ผู้หญิง พลังงานเยอะมาก แล้วก็มานำเสนอให้เราฟัง เขาเล่าให้เราฟังว่า เขาถูกย้ายมาเป็น ผอ. โรงเรียนนี้ เพราะว่าโรงเรียนนี้เก่งมาก ได้รางวัลเยอะมากแต่คุณครูไม่มีความสุข ผอ. ทุกคนเครียดว่าต้องพยายามรักษารางวัลให้ได้ ผอ. ก็เอาเป็นเอาตาย จะต้องได้รางวัลต่อทุกปี เด็กได้รางวัลแต่ครูไม่มีความสุข เด็กไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นเขตพื้นที่ตัดสินใจเปลี่ยนเป็นเลือก ผอ. ที่ไม่ได้เป็นคนซีเรียส เอาคนที่จะมาชุบความสนุกสนานในโรงเรียนกลับคืนมา เอาครูคนนี้เข้ามาเป็น ผอ. แล้วก็ให้มาทำหน้าที่ในการช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้คนมีความสุขในการมาทำงานมาเรียน เพราะฉะนั้นถ้าโรงเรียนอยากจะสร้างเป้าหมายร่วมกัน มันก็ต้องสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกันระหว่างครูด้วยกันกับผู้อำนวยการกับผู้ปกครองกับเด็กด้วย 

ในแง่บทบาทและหน้าที่ต่อผู้เรียน ระหว่างครูในโรงเรียนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างอย่างไร

จริงๆ เราเป็นครูเหมือนกันแต่ลูกศิษย์เราอยู่ในวัยที่ต่างกันแล้วก็อยู่บนคนละโจทย์ ตอนเราสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมคือเตรียมความพร้อม มัธยมคือช่วยให้ค้นพบตัวเองและรู้ว่าตัวเองจะวางแผนอนาคตยังไงต่อ ถ้าหลุดไปเป็นอาชีวะก็จะได้เตรียมสู่อาชีพ แต่ถ้ามาเรียนมหาวิทยาลัยมันคือการต่อยอดแล้ว จะเป็นนักวิชาชีพ จะไปเป็นคนทำงานอาชีพต่างๆ ซึ่งมันมีความเข้มข้นในเนื้องานต่างกัน แต่หัวใจเรื่องเดียวกันคือ เรื่องการทำให้เกิดการสอนที่มีคุณภาพ การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ บทบาทที่ถูกคาดหวังจากสังคมต่างกัน อาจารย์มหาวิทยาลัยมีบทบาทหนึ่งคือการทำงานวิจัย คนก็เลยจะมองภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยว่าต้องสอนหนังสือและทำวิจัย แต่ตอนนี้เวลาพูดถึงครูโรงเรียน เราจะนึกถึงแต่การสอน เราไม่นึกถึงครูกับเรื่องการทำวิจัย หลายประเทศพยายามใช้ตัวนี้เป็นตัวขับเคลื่อนให้ครูมีคุณภาพ ในหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่นใช้เครื่องมือนี้หมด มีการวิจัยในชั้นเรียน หรือในแคนาดาและออสเตรเลีย มีการส่งเสริมให้ครูทำวิจัยชั้นเรียนและใช้ตัวนี้เป็นตัวทำให้คุณครูภูมิใจในการทำงานแล้วก็สื่อสารกับสังคม

จากปัญหาการศึกษาทั้งหมด ประเด็นใดที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากที่สุด

ผมคิดว่าการศึกษาต้องเคารพความเป็นมนุษย์ทุกคน เคารพเด็กในฐานะคนที่จะโตมาเป็นตัวของตัวเอง เคารพครูในฐานะผู้ที่มีอัตลักษณ์การสอนของเขาเอง ทุกวันนี้เราไม่เคารพครูในฐานะคนขับเคลื่อนห้องเรียนให้มีคุณภาพ มองแค่เป็นมือไม้ของรัฐ เขาไม่มีอิสระ ถูกใช้งานหนัก ไม่ได้เห็นคุณค่าพวกเขา เราลืมเคารพความเป็นมนุษย์ของเขา ลืมกระทั่งว่าคนทุกคนต้องการเวลาในการพักผ่อน ถ้าอยากให้เด็กมีความสุขกับการเรียน ครูก็ต้องมีความสุขกับการสอน และเหนือสิ่งอื่นใด การศึกษาไม่ควรมองแค่ผลิตคนป้อนไปเป็นแรงงานบนสายพานเข้าสู่ธุรกิจอย่างเดียว เพราะถ้าคุณมองแค่นั้น ก็เท่ากับคุณไม่ได้มองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก เขาควรจะมีอิสระเติบโตมาเป็นตัวของตัวเอง และที่สำคัญต้องเห็นคุณค่าของตัวเองที่ยึดโยงกับสังคมได้ ต้องเห็นพลังของตัวเองว่าสามารถทำให้สังคมดีขึ้นได้

ผมคิดว่านี่คือโจทย์สำคัญ และคนไม่ควรอยู่เฉยกับมันแล้ว ถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามกับการศึกษาที่เป็นอยู่ให้ชัดเจนมากขึ้น

อรรถพล อนันตวรสกุล


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “การศึกษาแห่งอนาคต : บทเรียนจากโลกสู่ไทย” ฉบับเต็ม โดย อรรถพล อนันตวรสกุล ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561 ทาง The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save