fbpx
เก็บตกงานเสวนา 101 Minutes at Starbucks: A.I. โลกใหม่ของมนุษย์? – โลกยังเป็นของเรา

เก็บตกงานเสวนา 101 Minutes at Starbucks: A.I. โลกใหม่ของมนุษย์? – โลกยังเป็นของเรา

อันโตนิโอ โฉมชา เรียบเรียง

‘A.I.’ หรือ ‘Artificial Intelligence’ คือปัญญาหรือระบบประมวลผลที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้งานในหลากหลายด้านของชีวิต ตั้งแต่ในครอบครัว ธุรกิจ ยันความมั่นคง ความพิเศษของ A.I. อยู่ตรงที่มันถูกโปรแกรมให้สามารถคิดอะไรเองได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถปฏิบัติตามที่มนุษย์สั่งได้อย่างแม่นยำ

ด้วยเหตุนี้ A.I. จึงสามารถทำงานบางอย่างที่อาศัยความซับซ้อนสูงๆ ได้ อย่างเช่นการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่

ตั้งแต่เริ่มมีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกจนมาถึงการมาถึงของ AlphaGo A.I. ได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก จนมีนักคิดหลายคนกังวลว่า A.I. อาจวิวัฒนาการตัวเอง จนสามารถคิดอะไรได้เองโดยไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์มาพร่ำสอนอีกต่อไป และนอกจากนี้ มันอาจสร้างปรัชญาของมันขึ้นมาเองก็ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ A.I. เกิดความคิดที่อยากเข้ามาแทนที่มนุษย์ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็มองว่าเหตุการณ์ที่ว่ามานี้จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันอย่างแน่นอน เนื่องจากพัฒนาการของ A.I. ยังอยู่ในระยะตั้งไข่เท่านั้น การใช้งานก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

ดังนั้น หากมัวแต่กลัวว่า A.I. จะทำให้เกิดวันสิ้นโลก มนุษย์เราคงพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากความพิเศษของ A.I. ไปอย่างน่าเสียดาย

ในงานเสวนา 101 Minutes at Starbucks: A.I. โลกใหม่ของมนุษย์? เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา The101.World ได้ชวนผู้รู้เรื่อง A.I. ในมุมมองที่หลากหลาย มาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็น A.I. โดยไล่ตั้งแต่คำถามพื้นฐานว่า A.I. คืออะไร ประโยชน์ที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ได้จะมีอะไรบ้าง ตลอดจนประเด็นสุดท้าทายอย่างเช่น A.I. มีตัวตนหรือไม่ และมันจะสามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้จริงหรือ

วิทยากรทั้งสามท่าน ประกอบด้วย .ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักปรัชญาที่จะมาชวนพวกเราขบคิดในประเด็นการตัวตนของ A.I. ทางปรัชญา ดร.ขจรศักดิ์ สังข์เจริญ ผู้อำนวยการด้านการศึกษา บริษัท Elearnity ประเทศไทย และอดีตผู้จัดการศูนย์นวัตกรรม บริษัท IBM ประเทศไทย คนทำงานด้านไอทีซึ่งจะมาช่วยพาเราไปรู้จักกับประโยชน์ของ A.I. ในแวดวงธุรกิจ และ ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท Skooldio และ Google Developper Expert ด้าน Machine Learning ซึ่งจะพาพวกเราไปรู้จัก A.I. ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน

ที่จะได้อ่านต่อไปนี้ คือ ประเด็นที่ถูกเก็บตกมาจากบทสนทนาของวิทยากรทั้งสามท่าน

 

ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล: A.I. ผู้ช่วยแห่งอนาคต

 

 

ดร.วิโรจน์ เปิดประเด็นโดยการบอกเล่าความเป็นมาของ A.I. ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน โดยเขาเล่าว่า A.I. คือการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถคิดและตัดสินใจเองได้ ซึ่งมันก็มีบทบาทในชีวิตประจำวันของพวกเราอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ ส่วนใหญ่จะเป็นแอปพลิเคชันชื่อดังต่างๆ ที่ใช้ระบบอัลกอริธึ่มมาประมวลผลเพื่อช่วยให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้ A.I. ในชีวิตประจำวันก็ยังค่อนข้างจำกัดอยู่

เขาเสริมต่อว่า การเอาคอมพิวเตอร์มาทำงานแทนเราจะมีผลดีอย่างมากต่อชีวิตของเรา เพราะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายและเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เราสามารถติดตามการอพยพถิ่นฐานจากเฟซบุ๊กและนำข้อมูลมาดูพลวัตของเมืองต่างๆ ทั่วโลกได้ นอกจากนี้ ในเรื่องการจราจรหรือการขนส่ง เราก็สามารถนำเอา A.I. มาช่วยคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าช่วงไหนจะมีคนเดินทางไปที่แห่งหนึ่งมากแค่ไหน และการจราจรจะเป็นอย่างไร

ในเรื่องของ A.I. ที่จะเข้ามาในโลกธุรกิจ หากงานคุณเป็นงานที่ต้องทำอะไรซ้ำๆ มีกฎเกณฑ์และแบบแผนที่ตายตัวก็มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนทดแทนด้วย A.I. แต่งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และการบูรณาการจะยังไม่ถูกแทนได้ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคงจะเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่าการทดแทนกัน เพราะ A.I. จะมาช่วยให้ให้งานของเราง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความอคติของข้อมูล ซึ่งคอมพิวเตอร์จะคอยรับแต่ข้อมูลที่เราป้อนเข้าไป และมีแนวโน้มจะคิดแบบเดียวกับข้อมูลที่ป้อนเข้าไป ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนที่จะเข้าไปช่วยคอมพิวเตอร์คิดและแยกแยะข้อมูลอย่างเป็นกลาง และไม่เกิดความเอนเอียง ตัวอย่างเช่นกูเกิ้ลเองก็เคยทำนายข้อมูลผิดพลาดในช่วงไข้หวัดหมูระบาด เพราะมีคนค้นหาคีย์เวิร์ดนี้มากทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจริง กูเกิ้ลเลยคาดการณ์การเกิดของโรคมากกว่าความเป็นจริงอยู่มาก

ดร.วิโรจน์ได้คาดการณ์การเข้ามาของ A.I. โดยบอกว่า A.I. ที่กำลังเข้ามาอาจแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ ‘Automation’ ซึ่งเราหลีกไม่พ้นแน่นอน ส่วนนี้จะมาช่วยทำงานง่ายๆ ซ้ำๆ แทนคน แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือ A.I. ที่มี ‘ความฉลาด’ อาจต้องใช้เวลาหน่อยเพราะเราต้องพร้อมไปด้วยข้อมูลที่ดีและแม่นยำเพื่อให้เกิดการประมวลผลที่ดีได้ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ของไทยก็ยังจัดการเรื่องนี้ไม่เป็นระบบมากนัก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในไทยคือค่าแรงที่ถูก ในต่างประเทศที่มีค่าแรงสูง นายจ้างหรือผู้บริหารก็มีแจงจูงใจที่จะนำ A.I. มาใช้แทนแรงงานที่ราคาสูง แต่ในไทยยังมีค่าแรงต่ำอีกมากและมีงานที่อาจจะไม่มีความจำเป็น การจะนำ A.I. มาปรับใช้ใหม่อาจมีค่าแรงที่สูงกว่ามาก การนำ A.I. มาใช้จึงอาจเกิดได้ช้ากว่าในไทย

ในขณะเดียวกัน งานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจาก ‘Digital Transformation’ จะเป็นพวกนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) โปรแกรมเมอร์ และผู้พัฒนานวัตกรรม ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ นี่จึงถือเป็นอาชีพในอนาคตที่คนรุ่นใหม่ควรทำกัน

ดร.วิโรจน์ ขมวดประเด็นว่า ในอนาคต A.I. จะเป็นสิ่งที่มาช่วยในการตัดสินใจให้คุณ มันจะยกระดับการทำงานของคนขึ้นไปอีกระดับ ทำให้ทุกคนต้องพยายามคิดแบบใหม่มากขึ้น มีความท้าทายมากขึ้นในการทำงาน และมันจะทำให้ทุกคนใกล้เคียงกันมาก เพราะมี A.I. คอยช่วยเหมือนๆ กัน A.I. จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยในการทำงานและตัดสินใจมากกว่าจะมาครอบงำเรา

 

ดร.ขจรศักดิ์ สังข์เจริญ: โอกาสทางธุรกิจที่ A.I. มอบให้

 

 

ดร.ขจรศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการบอกว่า ในปัจจุบัน Big Data กับ Analytics ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมากพร้อมๆ กัน สามารถช่วยพัฒนา A.I. และ Machine Learning ไปอย่างก้าวกระโดด

A.I. ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานในหลายด้าน อย่างเช่น ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก็นำ A.I. มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของแพทย์ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเกิดปัญหาทั้งด้านอาชญากรรมผ่าน A.I. และอันตรายที่อาจเกิดจากการประมวลผลของอัลกอริธึ่ม ซึ่งทาง IBM มีการกำหนดแนวทางว่าจะสร้าง A.I. มาเพื่ออะไรอย่างชัดเจน และจะไม่ทำเลยขอบเขตนั้น

สำหรับการนำ Big Data และ Machine Learning มาใช้ในภาคธุรกิจ อาจเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลว่าผู้ใช้งานเคยค้นหาสิ่งใดบ่อยๆ และแจ้งเตือนผู้ใช้งานว่าที่ไหนที่กำลังลดราคาสินค้าที่เขาต้องการ ในแง่การแพทย์ A.I. ก็ถูกนำมาใช้เพื่อวินิจฉัยโรค

ในอนาคตอันใกล้ งานที่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อาจจะถูกทดแทนเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ถึงแม้ A.I. จะเข้ามามีส่วนในการทำงานมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเราก็ยังต้องการความเป็นมนุษย์จากการบริการอยู่ดี ซึ่ง A.I. ยังไม่สามารถทดแทนคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ได้

อาชีพหลายๆ อย่างในไทยอาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะนายจ้างยังต้องการคงค่าแรงที่ต่ำไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป เพราะยิ่งโลกเปลี่ยนไปเร็วเท่าไร การเชื่อมต่อกันก็จะมีมากขึ้นและพรมแดนก็เริ่มลดลง ธุรกิจหรือการลงทุนใหม่ๆ จะเข้ามาเร็วกว่าเมื่อก่อนแน่นอน การฝึกฝนทักษะให้ตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเรายังทำงานแบบเดิมๆ อยู่ทุกวันโดยไม่มีการเรียนรู้หรือฝึกฝนอะไรใหม่ๆ ก็จะไปไม่รอดในที่สุด ดังนั้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ และความช่างคิดช่างสงสัยจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในโลกอนาคต

ถ้าเรารู้จักที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับ A.I. ที่ฉลาดขึ้น มันจะเปิดโอกาสใหม่ๆ มากขึ้น ถึงแม้เราจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เลยก็ตาม ดังนั้น เราต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตัวเองและพัฒนาความสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองในโลกอนาคต

ในอนาคตเราจะทำอะไรหลายอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้น แม้ในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นสิ่งคู่ชีวิตเรา และ A.I. ก็จะเป็นเช่นนั้นในอนาคตด้วย แต่เราจะมีปัญหาใหม่ๆ ที่ตามมากับ A.I. ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การปรับตัวของมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน

ดร.ขจรศักดิ์ คาดการณ์ต่อว่า หุ่นยนต์อาจไม่ได้เป็นหุ่นที่เป็นตัวตนแบบที่เราคิดกัน แต่จะเป็นระบบที่ทำให้ชีวิตประจำวันของเราสะดวกสบายมากขึ้น อาจเป็นเซ็นเซอร์ในห้องที่คอยรับคำสั่งเรา ในปัจจุบันความคิดของหุ่นยนต์ยังอิงอยู่กับโปรแกรมที่ติดตั้งมาอยู่ จึงไม่มีเรื่องจิตสำนึกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในอนาคตถ้าหุ่นเกิดมีจิตสำนึกขึ้นมาก็อาจจะต้องเป็นจิตสำนึกแบบเดียวกับมนุษย์จนเรารู้สึกได้ว่ามันคือเพื่อนจริงๆ

ดร.ขจรศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า A.I. ถูกสร้างมาหลักๆ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ตอนนี้อาจจะต้องใช้แนวทางที่มนุษย์ช่วยวางให้ แต่ต่อไปมันอาจใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นจนเป็น ‘General A.I.’ ผลดีและผลเสียมันต้องมีแน่นอน แต่เราอย่าไปเอาผลเสียเป็นตัวปิดกั้นวิวัฒนาการของมนุษย์ไม่ให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องป้องกันและแก้ไข สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมสร้างความเข้าใจกับมัน “เราคงปฏิเสธมีดไม่ได้ แม้มันจะมีอันตราย แต่โลกก็ขาดมีดไม่ได้“ ดังนั้น เราต้องใช้สติและวิจารณญาณในการรับข้อมูลของกระแสนวัตกรรมใหม่ครั้งนี้

 

.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์: จริยธรรมและการมีตัวตนของ A.I.

 

 

ศ.ดร.โสรัจจ์ เปิดประเด็นว่า สมัยก่อนเคยคิดกันว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถคิดเหมือนมนุษย์ได้ในท้ายที่สุด เช่น มีการหยั่งรู้ตัวเอง (Conciousness) จนสามารถตั้งคำถามกับสิ่งนามธรรมได้ไม่ต่างจากมนุษย์ ทั้งนี้ Alan Turing บิดาผู้ให้กำเนิดคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก เคยออกแบบ ‘Turing Test’ เพื่อทดสอบความฉลาดของคอมพิวเตอร์ไว้ ซึ่งแบ่งความฉลาดของคอมพิวเตอร์ไว้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน อย่างการทำ Automation ไปจนถึงระดับที่มีความสามารถในการคิดเองได้ อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่ผ่านการทดสอบนี้

มีการคาดการณ์กันว่าคอมพิวเตอร์น่าจะถึงจุดที่สามารถคิดเองได้ประมาณปี 2030 ซึ่งอาจจะมีการหยั่งรู้ตัวเองแบบคอมพิวเตอร์หรือแบบมนุษย์เราก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะมนุษย์ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่มีการหยั่งรู้ตัวเอง

เขากล่าวว่า ปัญหาด้านจริยธรรมของ A.I. นั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะ A.I. ที่ทำงานในการเก็บและประมวล Big Data อาจเก็บข้อมูลส่วนตัวของในอดีตของเราไว้ ซึ่งผลลัพธ์จากวิเคราะห์ข้อมูลอาจทำให้เราเสียหาย ทั้งที่ ข้อมูลที่ถูกใช้วิเคราะห์เหล่านั้นอาจไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในปัจจุบันแล้วก็ตาม นี่นับว่าเป็นปัญประเด็น ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ ซึ่งเคยมีปัญหาพิพาทกันระหว่างอียูที่สนับสนุน สิทธิการถูกลืม และกูเกิ้ลที่สนับสนุนการเก็บข้อมูลส่วนตัวใน Big Data

สิ่งที่น่าเป็นห่วงประการถัดมา คือการใช้ A.I. ในเทคโนโลยีการทหาร ศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวว่า ในอนาคตอาจมีการใช้หุ่นยนต์ทหารและอาจมีปัญหาในการเลือกเป้าหมาย เพราะหุ่นยนต์ไม่ได้มีการรับรู้ที่เหมือนมนุษย์ ผู้ผลิตจึงต้องศึกษาและออกแบบกันอย่างถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดกฎ 3 ข้อของอาซิมอฟ และเพื่อรักษาสิทธิ์และผลประโยชน์ของประชาชน

ในต่างประเทศเริ่มมีการนำระบบจดจำใบหน้าโดย A.I. มาใช้ ซึ่งถ้าใบหน้าของผู้ที่ถูกเพ่งเล็งไปปรากฎที่ไหนก็จะมีการติดตามความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว แต่ถ้าระบบดันจำหน้าคนผิด บุคคลนั้นก็อาจถูกสอดส่องและสูญเสียความเป็นส่วนตัวไป นี่เป็นความท้าทายจากการใช้งาน A.I. อีกตัวอย่างหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ

ศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวถึงประเด็นการมีตัวตนของ A.I. โดยยกตัวอย่างว่าเฟซบุ๊กเคยจัดให้คอมพิวเตอร์สองเครื่องได้คุยกันเป็นภาษาอังกฤษ แต่ตัวเครื่องกลับตัดคำส่วนที่คิดว่าไม่จำเป็นออกจนเป็นภาษาที่อ่านไม่รู้เรื่องจนทีมงานต้องตัดระบบก่อน ซึ่งเขามองว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดเองของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกัน แม้จะแปลงภาษาแล้วแต่ยังสามารถสื่อสารกันได้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังบอกไม่ได้ว่ามันเป็นจิตสำนึกหรือไม่

 

ติดตามชม 101 minutes at Starbucks ครั้งที่ 5 : A.I. โลกใหม่ของมนุษย์?

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023