fbpx
100 ปีแห่งชีวิต ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น

100 ปีแห่งชีวิต ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

 

17 เมษายน 2560 เป็นวันประชุมเพลิง ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า “ฉลบ”) ครูใหญ่แห่งโรงเรียนดรุโณทยาน ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความจริง ความดี ความงามขึ้นในลูกศิษย์มายาวนานกว่า 60 ปี ภรรยาผู้เสียสละสามีไปในภารกิจ “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” สตรีผู้กล้าเผชิญหน้ากับอำนาจอธรรม ผู้อุปการะลูกหลานของผู้ที่ถูกการเมืองเป็นพิษเล่นงานตั้งแต่ 2490 เรื่อยมาจนเป็น “คุณป้า” ของนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เพื่อเป็นการรำลึกถึงเธอ ปูชนียบุคคลผู้ควรแก่การก้มหัวให้ จึงขอร้อยเรียงเรื่องราวใน 100 ปีแห่งชีวิตของ ฉลบชลัยย์ พลางกูร “ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น” ให้เห็นว่าชีวิตเพื่อผู้อื่นของเธอนั้นเป็นอย่างไร

 

กำเนิด

ฉลบชลัยย์ เป็นบุตรของขุนสมานสมุทกรรม (บุญหนุน มหานีรานนท์) กับนางแฉล้ม เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2459 โดยพี่น้องและตัวเธอได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช อย่างคล้องจองกันว่า “อรรณพ” “ฉลบชลัยย์” “บุญชะนัยชล”

ชื่อของเธออ่านว่า “ฉะ-หลบ-ชะ-ไล” (Chalobchlaya) แปลว่า “ระคนด้วยน้ำเป็นใหญ่” เพราะสมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้น มุ่งหมายถึงแม่น้ำแม่กลองที่พระองค์ชอบ ซึ่งบิดาแห่งเธอรับราชการอยู่ในจังหวัดนั้น

ใบพระราชทานชื่อ จากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ให้ไว้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2460

 

“ตุ๊ใหญ่” ด.ญ.ฉลบชลัยย์ มหานีรานนท์

 

การศึกษา

เมื่อจบจากโรงเรียนราชินีแล้ว ฉลบเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จอนุปริญญาประโยคมัธยม (ป.ม.) ในปี 2479 ก็สอบชิงทุน King’s Scholarship และได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาด้านอนุบาลศึกษา ที่ประเทศอังกฤษ โดยเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่สอบได้ในปีนั้น จึงมีรูปลงหนังสือพิมพ์เป็นที่รู้จักของใครๆ เช่น นางประดิษฐ์มนูธรรมรู้จักเธอจากที่ลงหนังสือพิมพ์นี้

นักเรียนทุน King’s Scholarship พ.ศ.2479

 

แต่งงาน

ที่อังกฤษ เธอได้พบจำกัด พลางกูร นักศึกษาสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (P.P.E.) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ ปรัชญาของสยามใหม่  จนคบหาดูใจเป็นแฟนกัน และเมื่อกลับไทยแล้ว 11 กันยายน 2482 เขาและเธอแต่งงานกัน โดยมีคุณหลวงและนางประดิษฐ์มนูธรรมมารดน้ำในงานมงคลสมรสของทั้งสองด้วย

โดยที่จำกัดกับฉลบจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 24 สิงหาคม 2482 ทุกๆ ปี ในวันครบรอบ ทั้งสองจะไปถ่ายรูปด้วยกันเสมอ แต่ก็มีโอกาสได้ถ่ายเพียง 3 ปีเท่านั้น

ฉลบชลัยย์กับจำกัด ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี

 

เปิดโรงเรียนดรุโณทยาน

หลังจากกลับจากอังกฤษแล้ว จำกัดเข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการต้นสังกัดของเขา แต่ต่อมาเขาต้องออกจากราชการ เนื่องจากระหว่างเรียนที่อังกฤษ จำกัดเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้เป็นที่ไม่พอใจของ ฯพณฯ จอมพล จำกัดจึงร่วมกับฉลบเปิดโรงเรียนดรุโณทยานขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2483 ที่บริเวณสะพานหัวช้าง ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ตามชื่อโรงเรียนที่แปลว่า Kindergarten ต่อมาขยายถึงประถม และมัธยม ภายหลังในปี 2527 จึงย้ายไปที่ถนนประชาชื่น

จำกัดบอกฉลบว่า ที่ตั้งโรงเรียนดรุโณทยานขึ้นนั้น ไม่เพียงแต่ต้องการให้นักเรียนมีวิชาความรู้ดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องสอนให้เขารักประชาธิปไตย และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมด้วย ซึ่งเธอก็สานต่อเจตนารมณ์นี้มาจนกระทั่งปิดโรงเรียนไปในปี 2549 เนื่องจากสุขภาพของเธอไม่อำนวย

ด.ญ.สุรภิน สายประดิษฐ์ บุตรสาวคนโตของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เพื่อนรักของจำกัด เข้าเรียนโรงเรียนดรุโณทยานเป็นคนแรก เลขประจำตัว 1 

นอกจากนี้ มาร์เกรท อึ๊งภากรณ์ ภรรยาชาวอังกฤษของป๋วย ยังเคยเป็นครูสอนในโรงเรียนดรุโณทยานนี้ด้วย

ฉลบชลัยย์และจำกัด กับศิษย์ดรุโณทยาน รุ่นแรก

 

ภรรยาของเลขาธิการขบวนการเสรีไทย

8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกไทยในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 คืนวันนั้นเองผู้รักชาติจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม “เสรีไทย” มีปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า จำกัดเป็นเลขาธิการ ฉลบเล่าถึงการเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยของจำกัดว่า

สามีดิฉัน ผู้ซึ่งรักระบอบประชาธิปไตยเป็นชีวิตจิตใจ ไม่เห็นด้วยเลยที่รัฐบาล (เผด็จการ) ตอนนั้นยอมจำนน และเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น

ปี 2485 ด.ญ.ลลิตา พนมยงค์ เข้าเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียนดรุโณทยาน ระหว่างนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่  ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ส่งเรือสำปั้นลำใหญ่มารับธิดากลับไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ที่ทำเนียบท่าช้างวันเว้นวัน ทั้งนี้เพราะต้องการให้จำกัดได้พบหัวหน้าขบวนการเสรีไทยอย่างน้อยวันเว้นวันโดยไม่ให้ใครสงสัย

28 กุมภาพันธ์ 2486 จำกัด พลางกูร เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อหาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรเรื่องการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น และไปเจรจาให้สัมพันธมิตรรับรองสถานะเอกราชให้ไทยหากสงครามสิ้นสุดลง ฉลบตามไปส่งจำกัดถึงท่าแขก ในฝั่งประเทศลาว

แม้เหตุการณ์นั้นจะล่วงเลยนานเพียงใด เธอก็ยังคงจำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย คำพูด หรือสถานที่ในเหตุการณ์นั้น โดยสุดท้ายที่จำกัดบอกฉลบก่อนจะจากกันคือคำสั้นๆ ที่ว่า

อยู่ดีๆ นะ

มีคนถามฉลบว่า ทำไมไม่ค้าน ไม่ให้จำกัดเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอันเสี่ยงตายนี้ เธอตอบว่า

การที่เขาได้มาร่วมกับเสรีไทย ทำให้เขามีโอกาสได้รับใช้ชาติ ถ้าเผื่อว่าเขาพลาดโอกาสอันนี้ไป เขาคงเสียใจมาก เพราะฉะนั้น ฉันจึงไม่กล้าขัดอะไรเขา ก็คอยสนับสนุน

ภาพคู่ชีวิต จำกัด-ฉลบชลัยย์ โดยในรูปเขียนว่า
“ให้คุณกุหลาบและคุณชนิด ด้วยความรักใคร่” ลงเดือนพฤศจิกายน 2482

 

ทำงานระหว่างโรงเรียนปิดเพราะสงคราม

เมื่อจำกัดออกจากประเทศไปแล้ว และกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนในพระนครเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเครื่องบินของสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดบ่อยขึ้น ปรีดีจึงให้ท่านผู้หญิงพูนศุขมารับฉลบไปอยู่ด้วยเพื่อความปลอดภัย

จำกัดเป็นคนรักหนังสือมาก ฉลบเคยเล่าว่า เวลาจำกัดไปซื้อหนังสือที่เวิ้งนาครเกษม จะเหมือนผู้หญิงไปช็อปปิ้งไม่มีผิด รักหนังสือมาก เลือกแล้วเลือกอีก ใช้เวลาอยู่กับร้านหนังสือได้นาน กลับมาบ้านก็เก็บหนังสือเป็นอย่างดี ทะนุถนอมหนังสือมาก เมื่อจำกัดไม่อยู่แล้ว และสงครามทวีความรุนแรงขึ้น ฉลบต้องขนหนังสือกว่า 1,000 เล่ม พร้อมเอกสารสำคัญของเขาไปไว้ที่บ้านคุณพ่อของเธอที่จังหวัดสมุทรสงคราม แต่น่าเศร้าที่หลังจากนั้นไม่นาน บ้านหลังที่ว่าก็ถูกเพลิงไหม้ไป

หลังจากโรงเรียนปิดไป ฉลบว่างงาน ปรีดีไม่อยากให้เธออยู่ว่างๆ เพราะจะคิดถึงจำกัดเปล่าๆ พอดีเวลานั้น ทิพยา ณ ป้อมเพชร พี่สะใภ้ของท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีที่ธนาคารเอเชีย ลาไปคลอดบุตร และคิดว่าจะไม่กลับมาทำอีก ฉลบจึงไปทำงานที่ธนาคารเอเชียแทน

 

อพยพหนีสงคราม

เมื่อสงครามรุนแรงขึ้น ปรีดีทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระบรมวงศานุวงศ์ไปประทับที่พระราชวังบางปะอินเพื่อความปลอดภัย ท่านผู้หญิงพูนศุขและครอบครัวก็ไปด้วย ท่านผู้หญิงได้เป็นผู้อำนวยการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาในพระราชวังนั้น ฉลบเป็นครูคนหนึ่งด้วย นักเรียนเป็นเด็กๆ ตั้งแต่หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ลูกข้าราชบริพาร ไปจนถึงเด็กๆ นอกวัง

 

ความตายของจำกัด

จำกัดเสียชีวิตในวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ที่ประเทศจีน กลับไทยมาเพียงเถ้ากระดูก ในบันทึกส่วนตัวของเขา ได้เขียนถึงฉลบหลายครั้งว่าอยากพบหน้ากัน ดังมีข้อความอมตะปรากฏแก่ตาโลกว่า

ฉลบจ๋า เธอจงอยู่ไปดีๆ นะ เธอจงนึกเสียว่า ได้อุทิศฉันให้ชาติไปแล้ว ก็แล้วกัน

แม้จำกัดตายแล้ว แต่ฉลบก็ยังไม่ทราบเรื่อง จนสงครามโลกยุติลง หลังจากมีประกาศสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2488 แล้ว ในสัปดาห์ต่อมา ปรีดีให้ เฉลียว ปทุมรส ข้าราชการสำนักพระราชวังมารับฉลบจากอยุธยาไปทำเนียบท่าช้างเพื่อแจ้งข่าว ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เสรีไทยคนสำคัญซึ่งได้พบจำกัดที่เมืองจีนด้วยเป็นผู้แจ้งข่าวร้ายให้เธอทราบ เธอบันทึกว่า

เกลียดท่านชิ้นอย่างจับใจ ในฉับพลันนั้น…ถ้าท่านชิ้นเป็นสิ่งของ ก็จะทำลายให้แหลกลาญไปกับมือ

หลังจากฉลบทราบข่าวแล้ว ได้วิ่งเข้าไปที่ห้องนอนของเธอ ซึ่งไม่ไกลนักจากห้องที่แจ้งข่าวในทำเนียบท่าช้าง กำแหง น้องชายของจำกัด และปรีดี ได้ตามเข้าไปปลอบ ปรีดีได้โอบกอดทั้งสองแล้วพูดว่า

ต่อไปนี้ ขอให้เราถือเป็นครอบครัวเดียวกันนะ มีอะไรขอให้มาบอกเล่า และปรึกษาหารือกัน

นอกจากนี้ปรีดียังได้จัดแจงขอพระราชทานยศให้จำกัดเป็นนายพันตรี ทำให้ฉลบได้รับพระราชทานบำนาญเรื่อยมา ทั้งยังขอบำนาญจากทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้อีกด้วย

เมื่อทราบเรื่องจำกัดจากไปแล้ว ฉลบในวัย 26 ปี กำลังสดใสสวยงาม ได้แต่งกายไว้ทุกข์ให้จำกัดเรื่อยมาอีก 20 ปี จนออกจากทุกข์หลังการถึงอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เธอเคยเล่าว่า

ทางการออกประกาศทีวีให้ประชาชนใส่สีดำเพื่อร่วมกันไว้ทุกข์ … ฉันเลิกไว้ทุกข์ในวันนั้นแล้วใส่ชุดแดงเลย

แม้จะไม่มีจำกัดแล้ว ฉลบยังไปมาหาสู่กับที่บ้านของจำกัดเสมอ เธอไปเยี่ยมพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) คุณพ่อของจำกัดทุกสัปดาห์ จนท่านจากไปเมื่อปี 2497

ภาพจำกัด และภาพคู่ ที่ฉลบเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ในรูปคือบางส่วนที่นำมาจัดแสดงที่ทำเนียบท่าช้าง เมื่องาน 100 ปี จำกัด

 

ครอบครัวเดียวกัน “ปรีดี-พูนศุข”

หลังสงครามเลิกใหม่ๆ รอบโรงเรียนยังมีทหารแขกอยู่ ปรีดีคิดรอบคอบเกรงว่า ฉลบและครูในโรงเรียนซึ่งล้วนแต่เป็นผู้หญิงจะไม่ปลอดภัย จึงให้จัดงานเลี้ยงขึ้นที่โรงเรียน แล้วให้ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับคณะเสรีไทยสายอังกฤษทุกคน แต่งชุดนายทหารอังกฤษเต็มยศมากินเลี้ยง เปิดประตูและหน้าต่างทุกบานส่งเสียงดังให้พวกทหารแขกได้ยิน ซึ่งได้ผล เพราะพวกทหารแขกโผล่หน้ากันมาดูใหญ่ ได้เห็นทหารอังกฤษเต็มไปหมด จึงไม่มารังควาญที่โรงเรียนเลย

8 พฤศจิกายน 2490 เกิดรัฐประหารโดยจอมพลผิน ชุณหะวัน และพวก ลูกชายของจอมพลผินเป็นผู้นำรถถังมายิงที่ทำเนียบท่าช้าง เคราะห์ดีที่ปรีดีหลบออกไปได้ก่อน เมื่อพวกทหารจะเข้ามาค้นบ้าน ฉลบผู้กล้าหาญได้บอกแก่ทหารว่า

เมื่อคุณไม่ไว้ใจเรา เราก็มีสิทธิ์ไม่ไว้ใจคุณ คุณจะเข้าตรวจค้นโดยพลการได้อย่างไร

พวกทหารจึงต้องยอมให้มีคนในทำเนียบตามประกบตลอดเวลาที่ตรวจค้น ซึ่งก็ไม่เจอสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

15 พฤศจิกายน 2495 ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกจับกุมในฐานะ “กบฏสันติภาพ” ถูกคุมขังอยู่ที่สันติบาล ซึ่งเวลานั้นมีกฎว่าให้เยี่ยมได้วันเดียวในสัปดาห์ ฉลบสงสารท่านผู้หญิง อยากให้กำลังใจ จึงไปขอพบนายตำรวจผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ควบคุม ซึ่งเขาผู้นี้เคยเป็นเสรีไทยมาก่อนด้วย ฉลบร้องขอต่อตำรวจว่า

ขอเป็นพิเศษให้ดิฉันได้เยี่ยมคุณพูนศุขทุกวัน

นายตำรวจคนนั้นจึงว่า

เมื่อคุณกล้าขอมาเช่นนี้ ผมก็กล้าให้เหมือนกัน

ปี 2499 ฉลบมีเรื่องทะเลาะเอะอะกับหลวงแผ้วพาลชน อธิบดีกรมตำรวจ เพราะไม่ยอมออกหนังสือเดินทางให้เธอ  จนหลายปีต่อมามีผู้ช่วยเหลือจนเธอได้รับหนังสือเดินทาง หลังจากนั้นในปี 2510–2526 ฉลบเดินทางไปปารีสเกือบทุกปี เพื่อพบปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข ในปีหนึ่งก่อนฉลบจะกลับเมืองไทย ท่านผู้หญิงพูนศุขบอกกับวาณี บุตรสาวคนเล็กว่า

ครูจวนจะกลับเมืองไทยแล้ว ยังทำอาหารที่ครูชอบให้กินไม่ครบเลย!

ฉลบมาทราบที่หลังว่าท่านผู้หญิงให้วาณีบันทึกไว้ว่าเธอชอบกินอะไรบ้าง และตั้งใจว่าในระหว่าง 1 เดือนที่อยู่นั้น จะทำให้กินให้ครบ ฉลบซาบซึ้งใจในความเป็นครอบครัวเดียวกันยิ่งนัก

ท่านผู้หญิงพูนศุข และนายปรีดี พนมยงค์ กับฉลบชลัยย์ ถ่ายที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

ครูใหญ่แห่งดรุโณทยาน

ฉลบรักโรงเรียนนี้มาก โต๊ะเก้าอี้นักเรียนถึงกับสั่งทำพิเศษจากโรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศ เครื่องเล่นเด็กชุดแรกของโรงเรียน เธอก็ออกแบบเอง ทาสีเอง เพื่อให้เหมาะกับเด็กๆ

พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายคนหนึ่งของพระยาพหลพลพยุหเสนา นักเรียนโรงเรียนดรุโณทยาน บันทึกถึงการสอนภาษาอังกฤษของฉลบว่า

“การอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะตัว H คุณครูได้พยายามจ้ำจี้จ้ำไชมาก โดยท่านจะทำริมฝีปากในการออกเสียงอักษรตัวนี้ แล้วบอกให้ผมจ้องดูที่ริมฝีปากว่าท่านทำลักษณะอย่างไร … ท่านจะพร่ำจ้ำจี้จ้ำไชอยู่อย่างนั้นอย่างไม่รู้เบื่อหรือแม้แต่เหนื่อยหน่าย”

แม้ฉลบจะมีใบหน้าดุ ผมยุ่ง เสียงดัง แต่ลึกๆ สายตาที่มองลอดแว่นคู่นั้นของเธอ เปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อศิษย์อย่างสุดประมาณ

ฉลบดูแลเอาใจใส่นักเรียนเป็นอย่างมาก เธอไม่อยากเห็นเด็กนอกลู่นอกทาง ลูกศิษย์คนหนึ่งเล่าว่า ฉลบเคยโทรหา พ.ต.อ.เสฐียร สินธุเสน บิดาของเธอ เพื่อขอให้ส่งตำรวจมาช่วยทำเป็นตรวจตรานักเรียนหนีเที่ยวด้วย

ฉลบรักธรรมชาติและความเรียบง่าย เธอเป็นคนประหยัด เวลาเธอพานักเรียน โดยเฉพาะก็ลูกของ “เหยื่ออธรรม” ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมือง ไม่ว่าจะไปเที่ยวแม่น้ำ ทะเล น้ำตก ฯลฯ เธอจะจัดของปิกนิกไปเอง บอกว่าสะดวกและประหยัดเงินกว่า บางทีก็จะหยุดรถข้างถนนใกล้ทุ่งนาหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ที่พื้นที่กว้าง ราบเรียบ ปูผ้าและกินอาหารกันที่นั่น ฉลบจะสอนให้เด็กๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ นี่คือเรื่องที่อรพินทร์ กลางการ เล่า นอกจากนี้ต้นไม้เล็กใหญ่ในโรงเรียนดรุโณทยานหลายร้อยต้น ฉลบก็ค่อยๆ ปลูกเองอย่างเอาใจใส่

ต่อการสอนนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนอายุถึง 90 นั้น ฉลบเคยบอกว่า

พวกเธอหลายๆ คนคิดว่า ครูต้องเสียสละอะไรมากมายเพื่อนักเรียน ความจริงแล้ว ครูไม่ได้เสียสละอะไรมากเลย  ตรงข้าม ครูเป็นหนี้นักเรียนไม่น้อย เพราะการได้ทำงาน ได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนพวกเธอรุ่นแล้วรุ่นเล่าทำให้ครูมีความสุขมาก ทำให้อายุยืนยาว

อนึ่ง ผู้เขียนไม่ได้เป็นศิษย์โรงเรียนดรุโณทยาน ซึ่งเข้าใจดีว่าจะมีเรื่องเล่าขานถึงครูในมิติต่างๆ เกี่ยวกับโรงเรียนอีกหลายเรื่อง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านที่เป็นศิษย์เคยเรียนกับครู จะช่วยกันเล่าเรื่องต่างๆ ออกมาในแง่มุมของแต่ละคนต่อไป

โรงเรียนดรุโณทยานในอดีต บริเวณสะพานหัวช้าง ถนนพญาไท

 

ผู้อุปการะ “เหยื่ออธรรม”

ช่วง “สมัยทมิฬ” ในทศวรรษ 2490 นี้เอง ฉลบได้เป็นแม่พระของคนยาก เธออุปการะลูกๆ ของคนที่ถูกออกจากราชการโดยไม่ยุติธรรม เพียงเพราะเหตุว่าเป็นพวกของปรีดี บ้างก็ถูกจับกุมคุมขัง บ้างก็หลบๆ ซ่อนๆ บ้างร้ายแรงถึงขนาดถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เตียง ศิริขันธ์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์

บุตรสาวของทองอินทร์ คือ อรกิติ ภูริพัฒน์ ชาตรูปะมัย กล่าวถึงน้ำใจของฉลบไว้ว่า

“ในขณะนั้น ผู้ใดมาติดต่อกับครอบครัวของ 4 อดีตรัฐมนตรี จะถูกเพ่งเล็งและอาจมีอันตราย … แต่ก็ได้มีสตรีท่านหนึ่ง … ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ”

และให้รายละเอียดว่า

“เรา 3 คนพี่น้อง … กิน อยู่ เรียนที่โรงเรียนฯ มีคนซักเสื้อผ้าให้ มีอาหารวันละสามเวลา โดยครูฉลบไม่เคยคิดเงินเลยสักบาทเดียว … ยังให้พวกเราเรียนเปียโนอีกด้วย”

ฉลบอุปถัมภ์เลี้ยงดู วิฑูรย์ ศิริขันธ์ บุตรคนเดียวของเตียง ศิริขันธ์ ขุนพลภูพาน รัฐมนตรีอีสาน ผู้เป็นกำลังสำคัญของเสรีไทย เพื่อนรักของจำกัด ตั้งแต่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ  โดยให้พำนักด้วยกันที่บ้าน จนวิฑูรย์ตายจากไป

แม้ครอบครัวของผู้ต้องหากรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 อย่างครอบครัวของ ชิต สิงหเสนี บุตรสาวของเขาก็ได้รับความเกื้อกูลจากฉลบ ดังเธอเล่าว่า

เมื่อรู้ว่าครอบครัวของเราตกอยู่ในความทุกข์ ความเศร้าหมองจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครูฉลบเอาหัวใจของครูฉลบเข้ามาได้ถึงในหัวใจพวกเรา ท่านจึงรู้ได้เป็นอย่างดีว่า เราทุกข์เพียงใด และท่านคลายทุกข์ให้เราด้วยเมตตา

ดังที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ สรุปว่า

คุณฉลบเป็นคนที่เห็นใครถูกรังแกเป็นไม่ได้ เธอจะช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

ทำให้ฉลบมีลูกหลานที่มิได้เป็นสายเลือดของตนหลายคน ตั้งแต่ลูกๆ ของ 4 รัฐมนตรีอีสาน ลูกๆ ของผู้ต้องหากรณีสวรรคต ลูกๆ ของนักการเมืองที่ต่อต้านเผด็จการ ซึ่งฉลบล้วนอบรมดูแลจนสำเร็จการศึกษาในระดับสูง

 

“คุณป้า” ผู้อยู่เบื้องหลังผู้บริสุทธิ์คดี 6 ตุลา

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ฉลบกลายเป็น “คุณป้า” ของนิสิตนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ ที่ได้รับผลเป็นความตายและการจำกัดอิสรภาพอย่างกว้างขวาง ฉลบเลือกที่จะยืนอยู่ข้างผู้เสียเปรียบและถูกกดขี่ แม้เธอจะไม่รู้จักกับนักโทษคดี 6 ตุลาเป็นส่วนตัวก็ตาม เธอให้เหตุผลเองว่า

นักศึกษาพวกนี้จะถูกฟ้องศาลทหาร ศาลพิเศษนี่แหละที่จำกัด สามีของดิฉัน ได้เคยเขียนวิพากษ์วิจารณ์ไว้ และนั่นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาต้องถูกออกจากราชการ และชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะต้องทุ่มตัวช่วยเด็กพวกนี้ทุกวิถีทาง

เวลาฉลบไปเยี่ยมนักศึกษาในคุก เธอจะนำอาหารไปให้เสมอ แม้กระนั้นเธอก็เกรงใจแม่ครัวที่โรงเรียน ไม่อยากเพิ่มภาระให้เขา จึงลงมือทำเองทุกอย่าง

ฉลบเล่าว่า

“ไปเยี่ยมนักศึกษาพวกนี้ทุกสัปดาห์ทั้ง 3 แห่ง (บางเขน บางขวาง ลาดยาว) ตามวันที่ทางการอนุญาต โดยนำอาหารทั้งแห้งและสดไปด้วย ดิฉันทำแบบ SYSTEMATIC ทีเดียว เพื่อกันมิให้ลืมและสับสน โดยขีดเป็นตารางไว้ว่า สัปดาห์นั้น วันที่เท่านั้น ได้เอาของแห้ง และของสดอะไรไป ของที่เอาไปนั้นจะเหมือนกัน 3 แห่ง เช่น ของแห้งจะมี น้ำปลา น้ำมัน น้ำตาล เกลือ กุ้งแห้ง กระเทียมเจียว และของเค็มต่างๆ ส่วนอาหารสดก็เช่นข้าวราดหน้าต่างๆ ข้าวมันไก่ ข้าวยำ ข้าวหมกไก่ ข้าวผัด ข้าวคลุกกะปิ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ผัดซีอิ๊ว ราดหน้า ลูกชิ้นเนื้อวัว ผัดมักโรนี และแกงเผ็ดต่างๆ โดยมากจะถามว่า ใครอยากกินอะไร ก็จะทำให้ตามนั้น หน้าร้อนบางทีก็ทำข้าวแช่ด้วย พวกขนมก็เป็นของแห้งๆ และผลไม้”

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล บอกว่า รู้จักกิน “ข้าวแช่” ก็จากอาหารเยี่ยมของครูฉลบนี่เอง

ธงชัย วินิจจะกูล ให้รายละเอียดว่าหลังจากติดคุกในกรณี  6 ตุลา ไม่นาน ฉลบก็มาเยี่ยมทุกๆ คน และ

“ท่านมาพร้อมกับปิ่นโตเถาเบ้อเริ่ม ท่านพูดเสียงดังลั่นชนิดที่ตำรวจไม่ต้องแอบฟัง ไต่ถามทุกข์สุขพวกเราอย่างเปิดเผย ไม่เกรงกลัว ไม่สะทกสะท้านต่อนายตำรวจทั้งหลายซึ่งคุมคุกบางเขนอยู่ … ป้าฉลบแวะมาเยี่ยมพวกเรา…เป็นประจำทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง แทบไม่เคยขาด จนกระทั่งพวกเราได้รับการปล่อยตัวในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา”

ขณะที่สุรชาติ บำรุงสุข เสริมว่า

“คุณป้ามีเรื่องเล่าเรื่องสนุกจากภายนอกมาเล่าให้พวกเราฟังเสมอ”

ข้อหาที่นักศึกษาได้รับจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นข้อหาหนัก แต่ฉลบไม่ได้มองนักศึกษาในแง่ลบเลย วันไหนที่ศาลทหารนัดพิจารณาความที่กรมพลาธิการ ทหารบก ถนนติวานนท์ เธอจะไปให้กำลังใจและนำอาหารไปให้ผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นด้วยเสมอ บางครั้งฉลบจะผูกผ้าพันคอสีแดงสดใส หรือไม่ก็ถือร่มสีแดงเลือดนก โดยใช้ร่มโบกไปมาขณะที่รถของเรือนจำแล่นผ่าน ทำให้เกิดสีสันสำหรับนักโทษคดี 6 ตุลา ไปอีกแบบหนึ่งว่ามีกำลังใจจากเธอผู้นี้อยู่เสมอ

โดยสถานะทางสังคม ฉลบไม่จำเป็นต้องมาทำอะไรหลายๆ อย่างให้นักศึกษาที่ถูกคุมขังเลย แต่เธอก็เลือกเป็น “ผู้ให้” อย่างปิดทองหลังพระ แบบแทบไม่มีใครรู้เลยถึงความเสียสละของเธอ แต่ในหมู่ผู้ใกล้ชิด จะทราบดีว่าเธอรักพวกเขาเหล่านั้นเพียงใด ปรีดี พนมยงค์ ถึงกับเคยแซวเมื่อพูดถึงนักศึกษาที่ติดคุกในคดี 6 ตุลา ว่า “พวกลูกของคุณ” ฉลบจึงแก้ไปว่า “เขาเรียกดิฉันว่า ‘ป้า’ เขานับตัวเป็นหลานค่ะ

ดัง สุชีลา ตันชัยนันท์ นักโทษคดี 6 ตุลา คนหนึ่ง ได้เล่าว่า แม้เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว ฉลบก็ยังดูแลเอาใจใส่เธอเสมอมา เช่น เมื่อคราวเธอไปร่วมประชุมสมาพันธ์นักศึกษาแห่งเอเชียที่ฮ่องกง ฉลบได้จัดเตรียมเสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ และหมวกไว้ให้พร้อม ทั้งยังได้ให้แบบเรียนภาษาอังกฤษของโรงเรียนดรุโณทยานในบทที่เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อใช้เป็นคู่มือสำหรับการเดินทางให้อีกด้วย

ฉลบชลัยย์ในวัย 97 ปี กับ ผู้บริสุทธิ์คดี 6 ตุลาคม 2519 บางคน

 

ชอบเขียนกลอน

ฉลบเป็นคนชอบเขียนกลอนสุภาพ  มีตีพิมพ์ในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ เช่น เมื่อคราวจะเลิกโรงเรียนดรุโณทยาน เธอก็เขียนกลอนขนาดยาวเล่าเรื่องโรงเรียนเอาไว้อย่างมีสาระ สนุก และน่าสนใจ และในเดือนกันยายน 2526 เธอเขียนกลอนสุภาพถึงนักโทษคดี 6 ตุลา ทั้ง 18+1 คน ดังนี้

                    สุธรรม เคยนำมิตรทั้งหลาย                 ไยบัดนี้มักจะหายไม่เห็นหน้า

                    ขาดประชุมมาสายหลายเพลา                ต้องวานรุ้งกรุณาคอยช่วยเตือน

                    อย่ามุ่งหน้าหาเงินแต่อย่างเดียว            ไม่ควรลืมแลเหลียวพวกเพื่อนๆ !

                    มหินทร ต้องใจแน่อย่าแชเชือน           ไม่ลืมเลือนเร่งสอบให้เสร็จไป

                    แล้วจึงค่อยเริ่มประกอบธุรกิจ                 สมความคิดได้เป็นพ่อค้าใหญ่ !

                    ประยูร ด้วยช่วยกันให้กำลังใจ               ต้องขยันสอบให้ได้โดยเร็ววัน

                    ทำหนังสือนั้นน่าก็ดีอยู่                          แต่ก็รู้ว่าเป็นเรื่องยากมหันต์

                    เปลืองเวลากายใจทรัพย์ฉกรรจ์             ทุนสำรองมีอนันต์จึงจะดี

                    อรรถการ ทำงานหลายอย่างนัก          ไม่ค่อยหยุดพักไปหลายที่

                    แต่ก็ไม่เว้นว่างทางดนตรี                      เพราะเป็นที่เริงสราญบานกมล

                    อภินันท์ ยังขี้ลืมไม่รู้สร่าง                     ลืมทุกอย่างหมดสิ้นไม่เคยสน

                    ทั้งของเล็กของใหญ่ไม่กังวล                 อีกหน่อยคงลืมตนเข้าสักครา !

                    อนุพงศ์ เป็นคนน่าเห็นใจ                     เพราะทุกข์โศกยิ่งใหญ่อยู่นักหนา

                    ขอให้ได้เป็นทนายมีหน้าตา                  พวกเพื่อนจะได้พากันเปรมปรีดิ์

                    สุชีลา ดูท่าไม่ค่อยว่าง                         ต้องเดินทางไปโน่นและมานี่

                    เมื่อไรจะให้เพื่อนได้ข่าวดี                     อย่าให้นานนักซีข่าวจะเซ็ง !

                    วิโรจน์ หายไปไม่เห็นหน้า                    ดูเหมือนว่าได้งานที่เหมาะเหม็ง

                    ทุกคนรู้อยู่ว่าเพื่อนชอบร้องเพลง           ทั้งที่เก่งด้านภาษาไม่อาลัย

                    สมศักดิ์ เงียบไปทำไมเล่า                  ไม่มีข่าวบ้างเลยหรือไฉน

                    รู้แต่ว่าได้ทำงานด้านวิจัย                     ไปถึงไหนขยายบ้างพอฟังเพลิน

                    เสงี่ยม เตรียมชีวิตช่างคิดถูก                ดูท่าทางเลี้ยงลูกไม่ขัดเขิน

                    มีคุณหมอแนะนำไม่ก้ำเกิน                    จงจำเริญสมหวังดังใจจินต์

                    สุชาติ ก็เก่งกาจตั้งร้าน “ฝู่”                  ตัดเสื้อผ้าน่าดูชวนถวิล

                    เปรียบได้กับนกน้อยค่อยโบกบิน          ไปทำมาหากินน่าชมเชย

                    บุญชาติ เรียนจบแน่ในปีนี้                    แล้วจะทำอะไรดีอย่าอยู่เฉย

                    ดนตรียังชอบเล่นอยู่เช่นเคย                  มอเตอร์ไซค์ไม่ละเลยคู่ชีวัน

                    เสรี ทำรายการตามระเบียบ                  มีชีวิตอย่างเรียบๆ ไม่แปรผัน

                    คงศักดิ์ เป็นนักข่าวประจำวัน                หนังสือ “เข็มทิศ” นั้นไม่เปลี่ยนแปลง

                    โอริสสา น่าสงสารทำงานไกล              สุดวิสัยจำเป็นต้องใจแข็ง

                    พวกเราเอาใจช่วยด้วยเป็นแรง             ให้จิตแกร่งต่อสู้อยู่ต่อไป

                    ประพนธ์ ยังเรียนอยู่อเมริกา                แต่หมั่นส่งข่าวมาหาขาดไม่

                    สุรชาติ เคยส่งข่าวให้เข้าใจ                ว่าอาจต้องย้ายไปออสเตรเลีย

                    ธงชัย คงดีใจได้พบเพื่อน                    ถ้าไม่เลือนล้มความตั้งใจเสีย

                    อารมณ์ ทำให้ใจอ่อนเพลีย                 จิตละเหี่ยคิดถึงอยู่มิรู้วาย

                    ทุกคนต้องไม่ลืมหกตุลา                      ควรรักษาให้ยังคงความหมาย

                    จงผนึกกำลังทั้งใจกาย                        อย่าให้รู้สลายชั่วนิรันดร์

 

ช่วงท้ายของชีวิต

31 สิงหาคม 2556 ฉลบเดินทางไปชมละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” ที่โรงละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสที่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา จัดแสดงละครเวทีที่กล่าวถึงการปฏิบัติภารกิจเสรีไทยของจำกัด สามีของเธอ หลังจากที่เขาได้ชุบชีวิตจำกัดผ่านหนังสือเรื่องสำคัญ เพื่อชาติ เพื่อ humanity ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว

หลังจบการแสดงละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”
ฉลบในวัย 97 ขึ้นมาบนเวที กล่าวความรู้สึกกับผู้ชมที่มาในวันนั้น

 

30 ตุลาคม 2557 จำกัด พลางกูร มีชาตกาลครบ 100 ปี  โครงการเตรียมงาน 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเวลานั้นอยู่ใต้ฉายามูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดงานรำลึก 100 ปี จำกัด พลางกูร ณ ทำเนียบท่าช้าง ขึ้นอย่างพิเศษ มีการเสวนาโดย สุดา-ดุษฎี-วาณี พนมยงค์ ถึงเรื่องทำเนียบท่าช้างกับคุณจำกัด รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรม ทั้งการอ่านบทกวี และการเล่นไวโอลินกับเปียโน ฉลบในวัย 98 ปี มาร่วมงานอันน่าประทับใจนี้ไปตั้งแต่ต้นจนจบ ยังความปลาบปลื้มให้ผู้ที่มาร่วมงานวันนั้นเป็นอันมาก

การเสวนาและเลี้ยงน้ำชา ในทำเนียบท่าช้าง รำลึก 100 ปี จำกัด พลางกูร

 

13 กุมภาพันธ์ 2558 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ให้เธอ หลังจากได้อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษามาอย่างยาวนาน และมีลูกศิษย์ดรุโณทยานจำนวนมากเป็นพยานแห่งความสำเร็จนี้

นอกจากนี้ ทุกๆ ปี จะมีการทำบุญในวันที่ 6 ตุลาคม แก่ผู้ที่จากไปในความรุนแรงวันนั้น พร้อมๆ กับทำบุญให้สามีของเธอที่ตายในวันที่ 7 ตุลาคม ด้วย ส่วนมากเธอเลือกทำบุญในวันที่ 6 มากกว่า แม้วันที่ 7 จะเป็นวันจากไปของสามีเธอก็ตาม สำหรับสถานที่บางครั้งไปทำบุญกันที่โรงพยาบาลสงฆ์ แต่ระยะหลังๆ จะจัดงานกันที่บ้านดรุโณทยาน

ฉลบในวัย 95 ปี ถ่ายในงานทำบุญฯ กับ สุดา-ดุษฎี-วาณี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2555
โดยที่ภาพซึ่งแขวนอยู่บนเสานั้น คือรูปของจำกัด สามีผู้ล่วงลับของเธอ

 

ส่วนในวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของเธอ จะมีการจัดงานเลี้ยงกันที่บ้านดรุโณทยาน มีศิษย์เก่าหลากรุ่นมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง แม้เธอจะไม่มีลูกโดยกำเนิด แต่เธอก็มีลูกโดยความรักจำนวนมาก ดังศิษย์ดรุโณทยานทุกคนล้วนรักเธอ ที่พิเศษคือในปีที่สุดแห่งวันคล้ายวันเกิดของเธอนั้น มีการจัดงานอย่างเป็นกันเองของลูกศิษย์หลากรุ่นของเธอที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น

 

ส่งท้าย

หลังจากความตายคร่าชีวิตจำกัดไปจากเธอตั้งแต่ปี 2486 เธอไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเธอเองเท่านั้น หากมีชีวิตอยู่เพื่อ จำกัด คนรักของเธอด้วย

แม้ความรักของทั้งคู่ได้จบลงโดยโศกนาฏกรรมคือความตายในวัยหนุ่มของจำกัด แต่ฉลบก็พลิกความรวดร้าวนั้นเป็นความรักเพื่อผู้อื่นได้อย่างเสียสละและกว้างขวาง อย่างยากที่จะหาสตรีคนใดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเทียบเคียงได้ ดังผู้ได้รับความเกื้อกูลและอุปการะจากฉลบมีตั้งแต่รัฐบุรุษอาวุโส ท่านผู้หญิง ครอบครัวของนักการเมืองที่ถูกอำนาจเผด็จการเบียดเบียนบีฑา ครอบครัวของผู้ต้องหากรณีสวรรคต เรื่อยมาจนถึงนักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขังในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ให้หลังมา 73 ปี 6 เมษายน 2560 ฉลบชลัยย์ พลางกูร จากโลกนี้ไปในวัย 100 ปีเศษ เขาและเธอคงจะได้พบกันแล้ว และถึงฉลบจะจากพวกเราไป แต่เรื่องราวในชีวิตของเธอจะเป็นตำนานเล่าขาน ที่เป็นแรงดลใจให้คนรุ่นหลัง ได้ใช้เป็นแบบอย่างของคนที่มีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นอย่างน่าสรรเสริญยิ่งนัก

ภาพวาดฉลบชลัยย์ในเสื้อสีแดงตัวโปรด
ที่กลัดเข็มลายเซ็น “ปรีดี พนมยงค์” บุคคลที่เธอเคารพรัก

 

ที่มา:

  • ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร หนึ่งศตวรรษแห่งคุณค่า (สุดา, ดุษฎี, วาณี พนมยงค์ จัดพิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ครบ 100 ปี 19 พฤศจิกายน 2559).
  • พูนศุข พนมยงค์. ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน (ลลิตา, สุดา, ศุขปรีดา, ดุษฎี, วาณี พนมยงค์ จัดพิมพ์เมื่อพฤษภาคม 2551)
  • สุชีลา ตันชัยนันท์. เปิดบันทึกนักโทษหญิง 6 ตุลา (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2546).
  • คลิปแนะนำโรงเรียนดรุโณทยาน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save