fbpx

100 ปีของสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงในโคลอมเบีย

ในช่วงระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา โคลอมเบียเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก จากการเป็นสังคมชนบท ค่อนข้างโดดเดี่ยวจากภายนอก และปลูกกาแฟเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ สู่การเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่ที่มีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นจำนวนไม่น้อย ในปัจจุบันโคลอมเบียมีการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับหลายประเทศ เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกทั้งในด้านที่ดี เช่น ฟุตบอล และสาวงาม รวมทั้งในด้านที่ไม่ดีอย่างปัญหาความรุนแรงที่มาพร้อมกับยาเสพติด นอกจากนี้โคลอมเบียยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในลาตินอเมริกาที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ดังนั้นในบทความนี้ กระผมจึงขอนำเสนอว่า ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา โคลอมเบียต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเมือง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในโคลอมเบียทำให้ประชาชนโยกย้ายจากชนบทเข้าสู่เมืองเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายโดยความสมัครใจหรือการโยกย้ายโดยการถูกบังคับขู่เข็ญ (Chaowarit Chaowsangrat, 2011) โดยหากมองย้อนไปในช่วงระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1930s ร้อยละ 71 ยังคงของประชากรอาศัยอยู่ในชนบท แต่เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เกิดภาพสลับ กล่าวคือสัดส่วนของประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทลดลง

การอพยพดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าถึงระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้นในยุค The National Front (การร่วมมือกันระหว่างพรรคเสรีนิยมกับพรรคอนุรักษนิยมในการบริหารประเทศ) ทำให้ประชากรมีความคิดอ่านที่ทันสมัย ขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจของโคลอมเบียก็ลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นรายได้หลักของประเทศ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อระบบพรรคการเมือง รวมไปถึงความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากประชากรที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองผูกติดกับความเชื่อทางศาสนาลดลง และยังเป็นเพราะพวกเขาได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น

นอกจากนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1948-1958 รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกบฏฝ่ายซ้ายและกองกำลังกึ่งทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวา ยังส่งผลให้คนต้องหนีความรุนแรงในพื้นที่สู้รบในชนบทเข้าสู่เมือง โดยโคลอมเบียถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่ประชาชนต้องหนีสงครามอพยพย้ายจากชนบทเข้าสู่เมือง ซึ่งในปลายปี 2021 มีคนกว่า 7.5 ล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพดังกล่าว (UNHCR, 2022: p.57) พวกเขาเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสลัม ได้ละทิ้งระบบอุปถัมภ์แบบเดิมที่มีอยู่ในชนบท โดยหันมาพึ่งพานักการเมืองหน้าใหม่ที่มีนโยบายสนองต่อความต้องการของเขาซึ่งแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง (Dávila and Delgado, 2002)

การเปลี่ยนแปลงทางสถาบัน

ความเข้าใจของการล่มสลายของความเป็นสถาบันทางการเมืองของโคลอมเบียอย่างเฉียบพลันนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงกติกาทางการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ในช่วงปลายๆ คริสต์ศตวรรษที่ 20 โคลอมเบียเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันไม่น้อย โดยมีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้ง ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบอุปถัมภ์เดิม นอกจากนี้ การปฏิรูปทางการเมืองในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980s ต่อไปถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990s เช่นการขยายพื้นที่การเลือกตั้งต่อจำนวนวุฒิสมาชิก การให้รายชื่อของนักการเมืองในระบบปาร์ตี้ลิสต์สามารถขึ้นมาแทนสมาชิกสภาทั้งสองได้ตลอดเวลาเมื่อเกิดการถอดถอนขึ้น รวมทั้งการลดบรรทัดฐานการก่อตัวเป็นพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดกลุ่มการเมืองย่อยๆ มากมายที่อาศัยบารมีส่วนบุคคล ส่งผลให้มีนักการเมืองละทิ้งพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมไปก่อตั้งเป็นกลุ่มหรือพรรคการเมืองเล็กๆ จนทำให้ให้ระบบสองพรรคการเมืองตกต่ำลง

ขณะเดียวกัน ธุรกิจการค้ายาเสพติดก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการแข่งขันกันของพรรคการเมือง (Gutiérrez, 2006; López, 2010) เพราะองค์กรผิดกฎหมายดังกล่าวทุ่มเงินซื้อตัวนักการเมืองทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เงินจากการค้ายาเสพติดกลายเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญให้กับนักการเมืองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะนักการเมืองหน้าใหม่ จนสามารถเอาชนะนักการเมืองจากสองพรรคการเมืองหลักได้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองดังกล่าวสามารถสร้างองค์กรทางการเมืองของตัวเองเป็นเอกเทศ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติได้

การกระจายอำนาจที่สูงขึ้น

ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา ได้เกิดการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง การคลัง และการบริหารระบบราชการ การกระจายอำนาจทางการเมืองส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นทั่วประเทศในปี 1992 ส่วนในระดับท้องถิ่นก็มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีขึ้นทั่วประเทศในปี 1988 การกระจายอำนาจทางด้านการคลังและการบริหารระบบราชการ ส่งผลให้ทั้งส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนกลางที่สามารถนำไปตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่และมีความคล่องตัวในการบริหารงานเพิ่มมากขึ้น (Eaton, 2004; Falleti, 2005)

การกระจายอำนาจดังกล่าวข้างต้นเป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยสร้างประชาธิปไตยให้กับโคลอมเบีย โดยการเพิ่มผู้เล่นทางการเมือง จากที่ในอดีต ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตาได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ส่วนนายกเทศมนตรีเมืองอื่นๆ ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด

การกระจายอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ส่งเสริมให้มีนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ลงแข่งขันในสนามการเลือกตั้งที่เดิมถูกผูกขาดโดยพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยม การเลือกตั้งส่วนภูมิภาคและการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดใหม่ให้กับประชาชนที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครอิสระเป็นจำนวนไม่น้อยได้รับการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตาหรือนายกเทศมนตรีเมืองใหญ่อื่นๆ เป็นต้น (Gilbert, 2006)

การเปลี่ยนแปลงของระบอบอุปถัมภ์

ถึงแม้ว่าระบอบอุปถัมภ์ทางการเมืองซึ่งก็คือการจัดหาสิ่งของหรือการแจกเงินให้ประชาชนของผู้สมัครทางการเมืองเพื่อแลกกับคะแนนเสียง (Stokes, 2007) จะเป็นที่ปฏิบัติกันมานานในโคลอมเบีย แต่ก็มีการเปลี่ยนวิธีการมาเรื่อยๆ โดยในช่วงแรกระบอบอุปถัมภ์เกิดขึ้นในชนบทระหว่างเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ที่มอบสิ่งของให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายข้างต้นกินระยะเวลาที่ยาวนานและยังรวมการช่วยเหลือกันในเรื่องอื่นๆ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางสังคมระหว่างกัน ถึงแม้จะมีการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยม นักการเมืองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งก็เป็นฐานเสียงให้กับนักการเมืองระดับชาติอีกต่อหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในพื้นที่ของตนเอง ลักษณะของระบอบอุปถัมภ์ดังกล่าวก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองระดับชาติกับนักการเมืองระดับภูมิภาคและนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักการเมืองระดับระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นไม่สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้แต่เพียงลำพัง อย่างน้อยจะต้องมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (Archer, 1990; Leal Buitrago and Dávila, 1990)

การขยายตัวใหญ่ขึ้นของรัฐในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 รวมถึงความรุนแรงทางการเมืองที่ลดลงในช่วง The National Front ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบอุปถัมภ์เดิม นักการเมืองอาชีพเข้ามาแทนที่นักการเมืองที่อาศัยสายสัมพันธ์ในระบอบอุปถัมภ์แบบเดิม เงินของรัฐที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมือง รวมถึงเงินจากการค้ายาเสพติด กลายเป็นตัวเชื่อมโยงนักการเมืองในระบอบอุปถัมภ์แบบใหม่

การเพิ่มขึ้นของเงินจากการค้ายาเสพติดรวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980s ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในระบอบอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมืองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นกับนักการเมืองระดับชาติ การกระจายอำนาจส่งผลให้นักการเมืองระดับชาติไม่สามารถควบคุมการเมืองการบริหารภูมิภาคหรือท้องถิ่นได้ นักการเมืองรุ่นใหม่ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาตัวเองไปผูกติดกับพรรคเสรีนิยมหรือพรรคอนุรักษนิยมอีกต่อไปในการที่จะแสวงหาระบอบอุปถัมภ์แบบเดิม (Dargent and Muñoz, 2011) ยิ่งไปกว่านั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด ได้กลายเป็นแหล่งเงินทุนทางการเมืองใหม่ให้กับนักการเมืองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากนักการเมืองในโบโกตา แสดงให้เห็นว่าระบอบอุปถัมภ์ทางการเมืองก็มีการกระจายตัวลงสู่พื้นที่ย่อยๆ ในท้องถิ่นกันเอง ไม่จำเป็นต้องมาจากส่วนกลางอีกต่อไป การเพิ่มขึ้นของนักการเมืองหน้าใหม่ที่ลงสมัครในนามอิสระหรือพรรคการเมืองใหม่ ก่อให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองเพิ่มขึ้น

กล่าวโดยรวม การเข้าถึงทรัพยากรของนักการเมืองระดับท้องถิ่นและนักการเมืองระดับภูมิภาคภายหลังจากการกระจายอำนาจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบอุปถัมภ์ทางเมืองเดิมของโคลอมเบีย ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองระดับชาติกับนักการเมืองในระดับที่รองลงไปมีแนวโน้มถดถอยลงเป็นอย่างมาก (Dávila and Delgado, 2002) นักการเมืองไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่แบบเดิมอีกต่อไป

ความรุนแรง

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s และ 1990s ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับเครือข่ายค้ายาเสพติดขนาดใหญ่ในเมืองเมะเดยีนและเมืองกาลี การสู้รบกับพวกกบฏฝ่ายซ้ายและกองกำลังกึ่งทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวา ไม่มีรัฐบาลพรรคการเมืองไหนที่สามารถเอาชนะสงครามดังกล่าวได้ ทั้งพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมต่างก็ใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็งในการต่อกรกับปัญหากับกลุ่มผิดกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ประธานาธิบดีนับตั้งแต่รัฐบาลของ Belisario Betancur (1982-86) จนถึงรัฐบาลของ Andrés Pastrana (1998-2002) ต่างก็ตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพ ควบคู่ไปกับการใช้กองทัพเข้าปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมเหล่านี้ เห็นได้ว่าทั้งสองพรรคมีการทำงานในเรื่องนี้ไม่แตกต่างกัน คือใช้ทั้งการเจรจากับการเข้าปรามปราม แทนที่จะเลือกนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ

สถานการณ์ความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นมากในสมัยรัฐบาล Andrés Pastrana โดยเฉพาะในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990s (Chaowarit Chaowsangrat, 2011; Echandía Castilla and Bechara Gómez, 2006) การลักพาตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,122 คนในปี 1990 เป็น 3,306 คนในปี 2002 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 195) การฆาตกรรมเพิ่มขึ้นจาก 58 คนต่อ 100,000 คนในปี 1990 เป็น 149 คนต่อ 100,000 คนในปี 2002 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 156) การโจมตีจากผู้ก่อการร้ายเพิ่มขึ้นจาก 2 ครั้งในปี 1989 เป็น 21 ครั้งในปี 2002 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 950) ประชาชนที่เป็นเหยื่อของสงครามเพิ่มขึ้นจาก 60 คนในปี 1990 เป็น 218 คนในปี 2002 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 263) (Centro de Memoria Histórica, 2013) ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโคลอมเบียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมและการลักพาตัวสูงที่สุดในโลก

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว Álvaro Uribe อดีตสมาชิกพรรคเสรีนิยมที่มีชื่อเสียงว่าเป็นคนที่ให้ความสำคัญนโยบายปราบปรามกลุ่มผิดกฎหมายเป็นหลัก ตั้งแต่สมัยเขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแอนทิโอเกีย Uribe ได้ชูนโยบายการสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมโคลอมเบียเป็นนโยบายหลักของเขาในการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2002 ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนโคลอมเบียเป็นจำนวนมาก จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว (Wills Otero, 2014)

ตลอดสมัยของ Uribe การสร้างความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศกลายมาเป็นนโยบายหลักทางการเมืองของประเทศ นักการเมืองไม่ว่าจะฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาต่างก็นำเสนอนโยบายที่หลากหลายในการต่อกรกับกองกำลังนอกกฎหมาย ประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุนนโยบายของ Uribe

อย่างไรก็ตามการไม่กล้าตัดสินใจของประธานาธิบดี Álvaro Uribe ในการก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนตัวเขาเอง ส่งผลเสียต่อการสร้างความเป็นสถาบันทางการเมืองให้เกิดขึ้นอีกครั้ง การที่ Uribe ตัดสินใจลงสมัครในนามอิสระ ทั้งๆ ที่มีพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก รวมถึงบางส่วนของพรรคอนุรักษนิยมให้การสนับสนุนเขาก็ตาม เป็นการส่งสัญญาณว่าเขาเองนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองไหน ในทางกลับกันเขาได้จัดสรรตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลของเขาให้แก่กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนเขาให้มีลักษณะคอยถ่วงดุลอำนาจกันเอง เมื่อเขาสงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2006 เขาก็ได้ใช้กลุ่มการเมืองอิสระที่มีเขาเป็นสัญลักษณ์ในนาม Primero Colombia อีกครั้งหนึ่งเพื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับตัวเขา

กล่าวโดยสรุป 100 ปีของโคลอมเบียมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้แพร่กระจายไปทั้งสังคมโคลอมเบีย โคลอมเบียจะปรับรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดีหรือไม่โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง ก็ขึ้นอยู่กับการร่วมมือของประชาสังคมโคลอมเบียทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับโคลอมเบียต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน


เอกสารอ้างอิง

Archer, Ronald P. (1990). The Transition from Traditional to Broker Clientelism in Colombia: Political Stability and Social Unrest. Notre Dame, IN: University of Notre Dame, Helen Kellogg Institute for International Studies. 

Centro de Memoria Histórica. (2013). ¡Basta Ya! Colombia: Memorias de guerra y dignidad. Bogotá: Centro de Memoria Histórica.

Chaowarit Chaowsangrat. (2011). Violence and Forced Internal Migrants with Special Reference to the Metropolitan Area of Bogotá, Colombia (1990-2002) [Doctoral dissertation, University College London]. https://discovery.ucl.ac.uk/id/eprint/1331874/

Dargent, Eduardo, and Paula Muñoz. (2011). Democracy against Parties? Party System Deinstitutionalization in Colombia. Journal of Politics in Latin America, 3(2). 43-71.

Dávila, Andrés, and Natalia Delgado. (2002). La metamorfosis del sistema político colombiano: ¿Clientelismo de mercado o nueva forma de intermediación? In Francisco Gutiérrez (Ed.), Degradación o cambio: evolución del sistema político colombiano (pp. 321-55). Bogotá: Grupo Editorial Norma.

Eaton, Kent. (2004). Politics beyond the Capital: The Design of Subnational Institutions in South America. Stanford, CA: Stanford University Press.

Echandía Castilla, Camilo, and Eduardo Bechara Gómez. (2006). Conducta de la guerrilla durante el gobierno Uribe Vélez: De las lógicas de control territorial a las lógicas de control estratégico. Análisis Político, 19(57). 31-54.

Falleti, Tulia G. (2005). A Sequential Theory of Decentralization: Latin American Cases in Comparative Perspective. The American Political Science Review, 99(3). 327-46.

Gilbert, Alan. (2006). Good Urban Governance: Evidence from a Model City? Bulletin of Latin American Research, 25(3). 392-419.

Gutiérrez, Francisco. (2006). Estrenado sistema de partidos. Análisis Político, 57. 106-25.

Leal Buitrago, Francisco, and Andrés Dávila. (1990). Clientelismo: el sistema político y su expresión regional. Bogotá: Instituto de Estudios Políticos y Relaciones Internacionales.

López, Claudia. (2010). ‘La refundación de la patria’, de la teoría a la evidencia. In Claudia López (Ed.), Y refundaron la patria … De cómo mafiosos y políticos reconfiguraron el estado colombiano (pp. 29-79). Bogotá: Corporación Nuevo Arco Iris.  

Stokes, Susan C. (2007). Political Clientelism. In Carles Boix and Susan Stokes (Eds.), The Oxford Handbook of Comparative Politics (pp. 604-27). Oxford and New York: Oxford University Press.

United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR). (2022). Global Trends, Forced Displacement in 2021. Geneva: UNHCR.

Wills Otero, Laura. (2014). Colombia: Analyzing the Strategies for Political Action in Colombia. In Juan Pablo Luna and Cristóbal Rovira Kaltwasser (Eds.), The Resilience of the Latin American Right (pp. 194-215). Baltimore, MD: Johns Hopkins University Press.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save