fbpx
'นายผี' ในมุมของนักวิจารณ์วรรณกรรม และนักกฎหมาย

‘นายผี’ ในมุมของนักวิจารณ์วรรณกรรม และนักกฎหมาย

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

เมื่อเอ่ยชื่อ ‘นายผี’ หรือ อัศนี พลจันทร เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อย รู้จักชื่อนี้ในฐานะที่เขาเป็นผู้แต่งเพลง ‘คิดถึงบ้าน’ หรือ ‘เดือนเพ็ญ’

แต่อาจมีคนไม่มากนัก ที่จะรู้ว่านายผีเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน กวี และนักวิจารณ์วรรณกรรม ซึ่งผลิตงานเขียนจำนวนมหาศาล ครอบคลุมตั้งแต่แนวคิดทฤษฎีการปฏิวัติ กาพย์กลอน เรื่องสั้น บทความวิจารณ์วรรณคดี ไปจนถึงตำราทำกับข้าว และอาจมีน้อยยิ่งกว่า ที่จะทราบว่านายผี เคยมีอาชีพเป็นอัยการ เป็นบัณฑิตรุ่นแรกๆ ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ยังไม่นับบทบาทของการเป็นอดีตกรรมการกลางของ ‘พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย’ รวมถึงการเป็นนักปฏิวัติเพียงไม่กี่คน ที่เลือกยืนหยัดอยู่ในขบวนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ งานของนายผีและนักเขียนฝ่ายซ้ายทั้งหลาย ดูเหมือนจะค่อยๆ ล่มสลายและเสื่อมมนต์ขลังไปตามยุคสมัย แต่ใช่ว่างานเหล่านั้นจะถูกหลงลืมเสมอไป กระทั่งว่าไม่หลงเหลือคุณค่าใดอยู่เลย

นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา สำนักพิมพ์อ่าน ได้เริ่มต้นโครงการ ‘อ่านนายผี’ โดยได้รับมอบหมายจากคุณวิมลมาลี พลจันทร ทายาทของนายผี ให้ทำหน้าที่รวบรวมและจัดพิมพ์ต้นฉบับของนายผีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาครบชุด 20 เล่มพอดี ในวาระครบรอบ ‘100 ปีชาตกาล’ ควบคู่ไปกับการจัดเสวนาหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับงานของนายผี

ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน และผู้อยู่เบื้องหลังโครงการอ่านนายผี กล่าวว่า สิ่งที่คุณวิมลมาลี พลจันทร กำชับเสมอคือ ไม่ว่าจะในวาระไหนก็ตาม ขอให้เน้นที่เรื่องหนังสือและตัวบทเป็นหลัก ซึ่งเป็นคำสั่งที่สืบต่อมาจากเจตจำนงของนายผีและภรรยา (วิมล พลจันทร) อีกทีหนึ่ง

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงยึดถือคำสั่งของคุณวิมลมาลีเป็นแนวทางว่า ให้เน้นไปที่ตัวงาน เพราะเราถือว่ามันคือหลักฐานที่คุณอัศนีตั้งใจฝากไว้ ไม่ใช่เพื่อจะฝากชื่อตัว หรือฝากเพื่อให้ใครมารำลึกถึงตัว แต่ฝาก เพราะเขาถือว่ามันเป็นพันธกิจ แม้จะเป็นพันธกิจในยุคสมัยที่อาจจะดูไกลโพ้นไปแล้วสักหน่อย…

“แต่ชะรอยกรรมคงเป็นว่า สภาพสังคมการเมืองไทยของเรา ประหนึ่งมีนาฬิกาของตัวเอง ที่ไม่ผูกพันกับกาลสมัย ประเดี๋ยวเราจึงก้าวไปข้างหน้า จนเราเผลอนึกไปว่า เราเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ประเดี๋ยวเราก็ถอยหลังกลับไป ไกลจนถึงจุดที่เรายืนกลับหลังกันอยู่ในทุกวันนี้ ฉะนั้นการพูดถึงงานของคุณอัศนีในบางแง่ อาจเป็นการพูดถึงสภาพการณ์ความคิดอันพ้นสมัย ที่บางด้านอาจยังร่วมสมัยอยู่ในที”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักพิมพ์อ่าน ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา ‘วรรณกรรมของนายผี กับความยุติธรรมของอัศนี พลจันทร’ โดยชวน รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมวิเคราะห์และตีความผลงานของนายผี จากมุมของ ‘นักวิจารณ์วรรณกรรม’ และ ‘นักกฎหมาย’

 

กวีในสยามมีสามนาย : หนึ่งในนั้นคือ นายผี

 

หนึ่งศรีปราชญ์เปรื่องฟุ้งกาลกรุงเก่า

สองตัวเราลือเลื่องเขื่องขยาย

คนที่สามแสนประเสริฐสุดเพริดพราย

แต่เสียดายตัวยังไม่ได้เกิดมา

 

ข้างต้นคือบทกวีที่นายผีเขียนขึ้นในวาระครบรอบ 6 ปี นิตยสาร สยามสมัย โดยชูศักดิ์ยกกวีบทนี้ขึ้นมาเปิดวงเสวนา ก่อนขยายความเพิ่มเติมว่า นายผีมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านงานเขียนเชิงกวีนิพนธ์ โดยบทกวีข้างต้น มีการกล่าวถึงตัวเองในลักษณะทีเล่นทีจริงว่า นับเป็นหนึ่งในกวีแห่งสยาม ซึ่งมีอยู่สามคนเท่านั้น คนแรกคือ ‘ศรีปราชญ์’ แห่งกรุงศรีอยุธยา คนที่สองคือตัวเขาเอง ส่วนคนที่สามนั้น ‘ยังไม่เกิด’

หากอ่านแบบผิวเผิน อาจตีความได้ว่านายผีนั้น ‘ไม่ถ่อมตัว’ เท่าไรนัก จากการยกตัวเองให้เป็นหนึ่งในกวีแห่งสยาม เทียบชั้นกับยอดกวีอย่างศรีปราชญ์ ก่อนจะตบท้ายด้วยอารมณ์ขัน ว่ากวีคนที่สามนั้นยังไม่เกิด

ทั้งนี้ ชูศักดิ์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า นายผีได้เขียนอธิบายความหมายของบทกวีดังกล่าวในภายหลังว่า ศรีปราชญ์เป็นเหมือนสัญลักษณ์และตัวแทนกวีในยุค ‘ศักดินา’ ต่อมาในยุคกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ซึ่งเป็นยุคที่นายผีมีชีวิตอยู่นั้น ก็มีตัวเขาเป็นหนึ่งในกวี เช่นเดียวกับจิตร ภูมิศักดิ์ และคนอื่นๆ ที่เป็นตัวแทนของยุคนี้ ส่วนกวีคนที่สามที่ยังไม่เกิด ก็หมายถึงกวีในยุคสังคมใหม่ คือสังคมที่ปราศจากชนชั้น ซึ่งแม้กวีคนนั้นจะยังไม่เกิด แต่จะต้องเกิดอย่างแน่นอนในอนาคตอันไม่ไกลนัก

“สำหรับบรรดาคนที่ไม่ชอบงานของนายผี มักจะหยิบยกบทกวีชิ้นนี้ มาตำหนิติเตียนว่านายผีเป็นคนหลงตัวเอง อวดตัวเองเกินจริง ทว่าคนที่ศึกษางานของนายผีอย่างจริงจัง ย่อมทราบดีว่า แม้นั่นจะแลดูเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ แต่ก็มิใช่การอวดอ้างที่เกินจริงแต่อย่างใด โดยชิ้นงานที่สามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี คือบทกวีที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง อีศาน รวมถึงบทกวีที่เป็นเรื่องยาวอย่าง เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า

ชูศักดิ์ขยายความต่อว่า นอกจากงานกวีนิพนธ์ที่ยกมา นายผียังมีข้อเขียนที่เป็นเสมือน ‘คู่มือในการเขียนกวีนิพนธ์’ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน และ เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจนจัดด้านภาษา รวมถึงความเป็นอัจฉริยะด้านกวีนิพนธ์ของนายผี ซึ่งแทบไม่มีครูภาษาไทยคนไหนตั้งข้อสังเกตหรือพูดถึง โดยในที่นี้ ชูศักดิ์ได้ยกตัวอย่างให้ฟังสองข้อด้วยกัน

ข้อแรกคือเรื่องของสัมผัส ซึ่งนายผีให้ความเห็นไว้ว่า เวลาจะดูเรื่องสัมผัส ควรดูที่ ‘เสียง’ มากกว่า ‘รูป’ เช่น คำว่า น้ำ หากยึดสัมผัสตามรูป ก็น่าจะสัมผัสกับคำว่า ซ้ำ หรือ จำ แต่หากพิจารณาจากเสียง มันควรสัมผัสกับคำว่า ตาม หรือ ถาม มากกว่า

ข้อต่อมาคือ นายผีได้พูดถึงหัวใจของ ‘กลอนเปล่า’ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ล้ำสมัยพอสมควรในยุคนั้น (ช่วงปี 2500) โดยตั้งข้อสังเกตว่า กลอนเปล่าที่คนเข้าใจกันว่า ‘ไร้ฉันทลักษณ์’ นั้น อันที่จริงแล้วมีฉันทลักษณ์ซ่อนอยู่ เพียงแต่เป็นฉันทลักษณ์ที่กวีหรือผู้เขียนกำหนดขึ้นเอง จากโครงสร้างหรือจังหวะที่ต่างไปจากฉันทลักษณ์ตามขนบ

“นี่เป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากของนายผี ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่านักเขียน หรือแม้แต่กวีจำนวนมาก อาจยังไม่เข้าใจหัวใจของกลอนเปล่าด้วยซ้ำ และอาจหลงคิดว่าการเขียนให้ไม่มีสัมผัส ก็ถือเป็นกลอนเปล่าแล้ว”

ทั้งนี้ คำถามหนึ่งที่น่าขบคิดต่อก็คือ หากกวีในสยามมีสามนาย อย่างที่นายผีว่าไว้จริง ถึงตอนนี้ ‘กวีคนที่สาม’ ได้ถือกำเนิดขึ้นหรือยัง

ชูศักดิ์ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า หากยึดตามความหมายที่นายผีกล่าวไว้ กวีคนที่สาม ย่อมหมายถึงกวีซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมใหม่ ซึ่งสังคมไทย ณ ตอนนี้ ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ฉะนั้นกวีคนที่สามจึงยังไม่เกิดอย่างแน่นอน ทว่าหากมองในแง่ของความสามารถด้านกวีนิพนธ์ ก็อาจมีบางคนที่พอเทียบเคียงได้ ภายใต้ข้อสังเกตสั้นๆ ว่า “ถ้าเทียบกับนายผีนี่ผมไม่แน่ใจ แต่ถ้าแบบศรีปราชญ์นี่ผมว่ามีเยอะ (หัวเราะ)”

 

เรื่องสั้นของนายผี : เพื่อชีวิตก็โรแมนติกได้ 

 

แม่สายยิ้มอีก ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าสวยเหลือเกิน ผมมองออกไปทางช่องหน้าต่างครัว เห็นฝนโปรยลงมาปรอยๆ เป็นละอองฟุ้งไปในอากาศ มีกลิ่นหอมเย็นระรื่นอะไรเช่นนั้น…

นอกจากงานด้านกวีนิพนธ์ที่โดดเด่น งานวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งนายผีเขียนไว้เยอะ แต่กลับไม่ค่อยได้รับการพูดถึงหรือศึกษาอย่างจริงจังสักเท่าไหร่ คืองานประเภท ‘เรื่องสั้น’ ภายใต้หลากหลายนามปากกา อาทิ กุลิศ อินทุศักดิ์, อินทรายุธ, อำแดงกล่อม, หง เกลียวกาม เป็นต้น โดยต้นฉบับที่รวบรวมได้ ณ ตอนนี้ มีทั้งสิ้น 54 เรื่อง เขียนขึ้นระหว่างปี 2489-2503

สำหรับการบรรยายครั้งนี้ ชูศักดิ์ได้จำแนกงานเรื่องสั้นของนายผีออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

กลุ่มแรก คืองานที่เขียนขึ้นในช่วงปี 2489-2493 ตีพิมพ์ลงนิตยสาร สยามนิกร มีจุดเด่นสำคัญคือ ฉากที่ใช้ในเรื่องมักวนเวียนอยู่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สังคมมลายู เนื้อหาพูดถึงประเด็นปัญหาทั่วๆ ไป ตั้งแต่ความสัมพันธ์หนุ่มสาว ไปจนถึงเรื่องมนุษยธรรม ขณะเดียวกันก็มีความแฟนตาซี เสียดสีสังคม พร้อมสอดแทรกอารมณ์ขัน อันเป็นเสมือน ‘ลายเซ็น’ ของนายผี

กลุ่มที่สอง คืองานที่เป็นแนว ‘เพื่อชีวิต’ แบบฝ่ายซ้าย ซึ่งปรากฏในช่วงปลายทศวรรษ 2490 โดยเฉพาะในนิตยสาร สยามสมัย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการกดขี่ทางชนชั้น การขูดรีดแรงงานจากบรรดานายทุน เจ้าที่ดิน และชนชั้นศักดินา รวมถึงการมอมเมาประชาชนด้วยศาสนา

กลุ่มที่สาม คืองานที่ปรากฏอยู่ใน ปิยมิตร วันจันทร์ ในช่วงปี 2501-2503 ซึ่งนับเป็นงานช่วงท้ายๆ ก่อนที่นายผีจะเข้าร่วมขบวนปฏิวัติอย่างเต็มตัว นำเสนอภาพชีวิตทั่วไปของชนชั้นกลาง ตั้งแต่เรื่องปากท้อง ไปจนถึงความรักความสัมพันธ์

ทั้งนี้ ชูศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ ตัวเขาเอง รวมถึงนักอ่านรุ่นหลังๆ อาจมีภาพจำว่างานของนายผีต้องมีความเป็น ‘เพื่อชีวิต’ แบบสุดโต่ง ทว่าเมื่อได้กลับมาไล่อ่านงานทั้งหมดแล้ว กลับพบว่ามีเนื้อหาและกลวิธี ‘แบบอื่นๆ’ ที่ดูขัดกับขนบของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตพอสมควร ดังบางบทบางตอนจากเรื่องสั้น ‘จางวางขุยตายเพราะใคร’ ที่ว่า

เฮ่ย, ฝรั่งไทยมันก็เหมือนกันแหละน่า รักเกี่ยวอะไรกับชื่อ! ดูแต่นางรื่นนางโรยของเราซิ สนุกน้ำสนุกบกเรียบร้อย แล้วจึงค่อยถามนายแก้วนายขวัญว่าคุณพี่ชื่ออะไรคะ รัก, โอ..มันช่างเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมหัศจรรย์อะไรอย่างนั้น! พวกหัวเก่าๆ มักเห็นความรักเป็นของน่าเกลียด แต่ก็ทำไมจึงชอบแอบทำของน่าเกลียดกันนัก? เราสมัยนี้จะยอมมีจิตใจคับแคบต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว ฟอยเออบัคว่าไว้ดี ความรักคือพระเจ้า เราไม่นับถือพระเจ้าที่ไหนอีก เราไม่มีที่พึ่งที่ระลึกที่ไหนอีก นอกจากพระเจ้าแห่งความรัก!

ชีวิตนี้เป็นทุกข์หรือ? ถ้าเช่นนั้น ก็ทำให้มันเป็นสุขขึ้นซิ บูชาเทพเจ้าแห่งความรักเข้าซิ ความรักเป็นทุกข์อย่างหนึ่งหรือ? ใครว่า? ฮึ! ไม่จริงละน่า กวีเก่าเขายังว่า..บุญใดที่โททำ แลมานำไปสมนาง บาปใดนี่หนอปาง มาบำราศพงางาม ร่วมรักเป็นสุข ร้างรักต่างหากเป็นทุกข์ เมื่อเช่นนี้เกิดมาไม่รู้จักรักก็ต้องเป็นทุกข์ รักแล้วก็ได้ทำให้เป็นสุข เมื่อจะต้องร้างรัก เพื่อให้เกิดทุกข์อีก ก็ควรจะหาสุขเสียสักช่วงหนึ่งของชีวิต ถึงจะต้องขาดทุนในการค้าความรักก็ยังดีกว่าไม่ได้ค้า ซึ่งเท่ากับไม่มีทุนจะมาขาด คนไม่มีทุนมาค้าจัดเป็นเครดิตชนได้ไฉน?

ชูศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การเขียนความรู้สึกของตัวละครที่พรั่งพรูในลักษณะนี้ ให้ความรู้สึกคล้ายงานประเภท ‘กระแสสำนึก’ ของนักเขียนระดับโลก แล้วหากพิจารณาถึงชั้นเชิงภาษา ลูกล่อลูกชนในการเขียน จะพบว่าหาคนที่เทียบเคียงได้ยาก แม้กระทั่งนักเขียนยุคปัจจุบัน ที่นิยมเขียนงานประเภท ‘เปลี่ยวเหงาเศร้าซึม’ ทั้งหลาย ก็นับว่ายังห่างชั้นจากนายผีอยู่พอสมควร

จุดที่น่าสนใจคือ ในเรื่องสั้นหลายเรื่องของนายผี มีการผสมผสานกันระหว่างความเป็นเพื่อชีวิต กับความโรแมนติก-แฟนตาซี เข้าด้วยกัน ซึ่งชูศักดิ์มองว่าเป็นการผสมผสานที่ ‘ไม่เข้ากัน’ เท่าไหร่นัก

ด้วยเหตุที่ว่ามา โจทย์ใหญ่ที่ชูศักดิ์พยายามตีให้แตกก็คือว่า เหตุใดงานของนายผีจึงแตกต่างหลากหลายได้ถึงเพียงนี้ โดยวิเคราะห์ออกมาเป็น 3 แนวทาง คือ

หนึ่ง คือการวิเคราะห์จากจุดยืนทางการเมือง การที่นายผีเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการในช่วงปี 2492 อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เนื้องานมีความเป็นเพื่อชีวิตชัดเจนขึ้น ต่างจากงานยุคแรกที่พูดถึงปัญหาทั่วๆ ไป ต่อมาพอถึงช่วงต้นทศวรรษ 2500 ซึ่งตรงกับยุคของจอมพลสฤษดิ์ ก็จำเป็นต้องลดความเข้มข้นของเนื้อหาลง ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง

สอง คือการมองแบบเรียบง่ายว่าเป็น ‘การคลี่คลายขยายตัวของนักเขียน’ ที่ย่อมต้องมีการเติบโตและพัฒนาการในงานเขียนของตนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยภายใน หรือสภาพแวดล้อมภายนอกก็ตาม

อย่างไรก็ดี ชูศักดิ์บอกว่าการวิเคราะห์ในสองแนวทางแรกนี้ แม้จะพออธิบายได้บ้าง แต่ก็เป็นคำตอบที่ยัง ‘ไม่น่าพอใจ’ เท่าไหร่นัก เพราะถ้านับว่านายผีเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ‘อย่างเป็นทางการ’ ในปี 2492 หมายความว่า เขาย่อมมีแนวคิดแบบฝ่ายซ้ายมาก่อนหน้านั้นแล้ว กระทั่งต้องผ่านการ ‘จัดตั้ง’ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ด้วยเหตุนี้การเคลมว่านายผีหันมาเขียนแนวเพื่อชีวิตอย่างจริงจังหลังเข้าร่วมพรรค จึงอาจไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ เช่นเดียวกับเรื่องความคลี่คลายและพัฒนาการของนักเขียน ซึ่งดูเป็นกรอบที่กว้างเกินไป และไม่ได้บ่งชี้นัยสำคัญเท่าไหร่นัก

การวิเคราะห์ที่ชูศักดิ์ให้น้ำหนักมากที่สุด คือการวิเคราะห์ในแนวทางที่สาม ซึ่งวิเคราะห์จาก ‘ฝีมือ’ ด้านการเขียนอันโดดเด่นของนายผี ประกอบกับแนวทางของนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ที่หลากหลายในช่วงเวลานั้น

“หากพิจารณาจากความสามารถของนายผี ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการ ‘เลือก’ ว่าจะเขียนสไตล์ไหนมากกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้อ่านหรือนิตยสารนั้นๆ เป็นสำคัญ ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนวิธีเขียนตามอุดมการณ์แต่อย่างใด เพราะเอาเข้าจริงแล้ว นายผีน่าจะมีใจฝักใฝ่อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายมานาน ตั้งแต่ช่วงที่เขียนงานชิ้นแรกๆ แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ถ่ายทอดออกมา ส่วนเรื่องสไตล์หรือรูปแบบการเขียนที่แตกต่างกันนั้น ก็คงเป็นการปรับให้เข้ากับนิตยสารหรือกลุ่มผู้อ่านเท่านั้นเอง”

ส่วนประเด็นของการผสมผสานที่ ‘ไม่เข้ากัน’ ชูศักดิ์มาขยายความในตอนท้ายว่า นั่นเป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของเขาในฐานะคนอ่าน ทว่าถ้าลองมองจากมุมของนายผี จะพบว่านายผีไม่ได้มองอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายแบบนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่มองว่ามันสามารถ ‘ไปด้วยกันได้’ กับเรื่องอื่นๆ ของปัจเจก ที่สามารถมีความรัก หรือมีความซาบซึ้งในความงามของธรรมชาติได้เช่นกัน

“การที่ผมในฐานะผู้อ่าน เกิดความรู้สึกว่ามันไม่เข้ากัน ระหว่างเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ที่ถูกนำมาผสมกับการชื่นชมความงาม หรือความรักของปัจเจกนั้น มันเกิดจากผมเอง ที่รู้สึกไปเองว่าไม่เข้ากัน ต่างจากนายผีที่มองว่ามันเข้ากันได้ และสองสิ่งนี้สามารถดำเนินควบคู่กันไปได้ ซึ่งนี่แหละคือวรรณกรรมเพื่อชีวิตแบบนายผี คือความไม่ลงตัวที่งดงาม”

 

นายอัศนี : อัยการผู้เป็นที่รักและชัง

           

นอกจากบทบาทในฐานะนักเขียนและกวี อีกบทบาทหนึ่งในนามของ นายอัศนี พลจันทร ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงนัก คือบทบาทของการเป็นอัยการ ที่ขึ้นชื่อว่าเถรตรงและรักความยุติธรรม จนนำมาซึ่งความยากเข็ญในชีวิตการทำงาน ต้องระเหระหน (หรือที่คุณวิมล พลจันทร ผู้เป็นภรรยา ใช้คำว่า ‘ถูกเนรเทศ’) ครั้งแล้วครั้งเล่า

ช่วงเวลาอันเป็นที่โจษจันมากที่สุด คือช่วงที่เขาถูกย้ายไปประจำที่ปัตตานีในปี 2485 โดยในเวลานั้น ชาวปัตตานีจำนวนมากถูกเปรียบเทียบปรับ ข้อหาฝ่าฝืนรัฐนิยมของรัฐบาล จอมพล ป. เช่น กินหมาก ไม่สวมหมวก นุ่งโสร่ง ฯลฯ

เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีเปรียบเทียบปรับมาขอความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ อัศนีก็ใช้ความกล้าหาญ สั่งว่าการเปรียบเทียบปรับนั้น ‘ไม่ชอบ’ ซึ่งมีผลเท่ากับสั่งไม่ฟ้อง ต้องคืนค่าปรับให้กับผู้ต้องหาทุกคน ด้วยเหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่รู้ภาษาไทย ไม่เข้าใจกฎหมายไทย รัฐนิยมขัดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และขัดต่อหลักความยุติธรรม ใช้บังคับไม่ได้

เขาเลือกยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ แทนที่จะเป็นผู้กดขี่เสียเอง ทำให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วทั้งปัตตานีและในกรมอัยการ ต่อมาเมื่อเขาถูกย้ายไปสระบุรี จึงเป็นการพลัดพรากท่ามกลางหยาดน้ำตาของประชาชนที่เขารัก และรักเขา

เรื่องราวระหว่างที่เขาประจำการอยู่ที่ปัตตานี รวมถึงสิ่งที่ประสบระหว่างดำรงหน้าที่พนักงานอัยการ ถูกนำมาถ่ายทอดในงานเขียนของนายผี ทั้งบทความ นิทานการเมือง และเรื่องสั้น ดังที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการบรรยายหัวข้อ ‘ความยุติธรรมของอัศนี พลจันทร’ โดยเก็บแง่มุมที่น่าสนใจจากการอ่านงานของนายผี ผ่านแว่นตาของนักกฎหมาย

หนึ่งในประเด็นที่วรเจตน์หยิบยกขึ้นมา คือการวิพากษ์วิจารณ์ ‘ผู้พิพากษา’ และ ‘ศาล’ อย่างตรงไปตรงมา เป็นต้นว่า

ขึ้นชื่อว่าหลวงนิเทศธรมา ใครๆ ก็รู้จัก! สาวๆ จะหายใจสะท้อนถี่ เมื่อนึกถึงร่างสูงโปร่ง เต็มไปด้วยสง่าภาคภูมิแห่งท่านผู้พิพากษาผู้สูงเกียรติ แม้มีวัยอันจะล่วงความกลางคนไปแล้ว ทำไมเล่า? ก็เพราะว่าความเป็นคุณนายท่านผู้พิพากษานั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณนายใหญ่หรือคุณนายเล็กย่อมจะส่งเสริมความพริ้งของหญิงสาว สวยหรือไม่ก็ตามที ให้เพริดพรายยิ่งขึ้น ท่านผู้พิพากษาเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจราชศักดิ์ สามารถตัดหัวคนได้!’ เขาว่ากันดังนี้ ซึ่งความเชื่อเก่าๆ ที่ว่าเป็นถึง ‘เจ้าแผ่นดินและ เจ้าชีวิตนั้น ยังเป็นที่แน่นแฟ้นอยู่…

ข้อที่ร้ายที่สุด ก็คือการกล่าวหาบุคคลด้วยมาตรา 104 ซึ่งถูกยกเลิกไปนานแล้ว กฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือกำจัดบุคคลที่หัวรั้น ไม่ปฏิบัติตามนโยบายเผด็จการอย่างได้ผลยิ่ง มีข้าราชการบำนาญไทยอิสลามผู้หนึ่งต้องได้รับโทษ และถูกส่งมาจำคุกที่กรุงเทพฯ ไม่เท่าไหร่ก็ตาย และข่าวว่าป่วยตาย

การพิจารณาในศาลบางครั้งเป็นไปอย่างป่าเถื่อน ศาลจะใช้วาจาสามหาวต่อจำเลยและพยาน มีการขู่ตะคอกด่าทอด้วยคำหยาบคาย และร้องเรียกว่า ไอ้แขก ซึ่งที่แท้ก็ขัดกับนโยบายจอมพล ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาโดยมาก มีโทสาคติตามวิสัย

 

นักกฎหมายผู้มาก่อนกาล

 

อีกประเด็นที่วรเจตน์หยิบยกมาบรรยาย คือข้อคิดเห็นที่นายผีมีต่อ ‘การปฏิวัติกระบวนการยุติธรรม’ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของวรเจตน์เมื่อปี 2553 ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475’ ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

ในงานเสวนาคราวนั้น วรเจตน์เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของฝ่ายตุลาการแต่อย่างใด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักของสถาบันทางการเมืองบางส่วนเท่านั้น คือการก่อกำเนิดสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎรขึ้นมา ในขณะที่ระบบการศาล ถือได้ว่าได้รับเอาคนในระบอบเก่า เข้ามาสู่ระบอบใหม่ เช่นเดียวกับระบบการบริหาร ซึ่งยังเป็นเหมือนระบอบเก่าทั้งหมด

“ผมคิดว่าการที่คณะผู้อภิวัฒน์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจตุลาการ มันส่งผลสะเทือนมากว้างไกลกว่าที่คิด เพราะหลังจากเกิดการรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา สิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงกัน ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ภายใต้แนวคิดที่ว่าศาล ควรขยายอิทธิพลมากขึ้นในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทางการเมือง”

“แต่จุดยืนของผม ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าเป็นวิธีที่ผิด และจะทำให้การแก้ปัญหาในทางกฎหมาย ยิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น อย่างที่เห็นว่าในช่วง 10 ปีมานี้ คำพิพากษาต่างๆ โดยเฉพาะคดีทางการเมือง มันมีปัญหาอยู่พอสมควร ซึ่งเกิดขึ้นในบริบทที่ศาลขยายอิทธิพลเข้ามาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง”

วรเจตน์เล่าต่อว่า หลังจากการบรรยายในวันนั้นจบลง เขาได้รับคำบอกเล่าจากเจ้าของหนังสือมาว่า เพิ่งเคยได้ยินนักกฎหมายพูดถึงประเด็นนี้เป็นครั้งแรก ทว่าเมื่อล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ วรเจตน์ค้นพบว่าเขาไม่ใช่คนแรกที่พูดเรื่องนี้ แต่เป็นนายผีต่างหาก ซึ่งพูดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2491 ว่า

ตามวิธีการแห่งระบอบประชาธิปไตย ที่แบ่งอำนาจอธิปไตยออกไปเป็นหลายอย่างนั้น อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่จะพิทักษ์รักษาความปลอดภัยและเสรีภาพของมนุษย์ตามเหตุผล ที่ใดอำนาจตุลาการไม่ศักดิ์สิทธิ์ ที่นั่นย่อมเกิดยุคเข็ญ บ้านเมืองสมควรที่จะจัดการให้ศาลยุติธรรมได้เป็นหลักประกันในความปลอดภัยและเสรีภาพ ตลอดจนเป็นหลักประกันในการวินิจฉัยข้อพิพาทอย่างเป็นธรรมโดยแท้จริง

การจัดการนี้ น่าจะมิได้หมายความเพียงว่า จะจัดการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการศาล หรือจัดการอบรมบ่มนิสัยผู้พิพากษาให้พ้นสภาวะกิเลสอันชั่วช้าสามานย์ หรือจากการปลูกฝังความรู้ความคิดในตัวผู้พิพากษาให้เป็นผู้ทรงธรรมะ และทรงความจัดเจนในความรู้ทั้งหลายเท่านั้น หากต้องจัดการปฏิวัติการศาลเสียใหม่

เลนินได้กล่าวว่า ใครจะว่าเราไม่จัดการแก้ไขปรับปรุงศาลก็ช่างเขา แต่เราจะต้องเลิกร้างการศาลยุติธรรมอย่างเก่าเสียให้สิ้นเชิง การจัดการศาลยุติธรรมอย่างใหม่ หรือการปฏิวัติการศาลยุติธรรมนั้น เป็นหลักใหญ่หลักหนึ่งแห่งการปฏิวัติระบอบการปกครอง ซึ่งการปฏิวัติเมื่อปี 2475 ของเรา ยังหาได้ก้าวไปถึงไม่…

อย่างไรก็ดี วรเจตน์ชี้ว่า แม้ตัวเขากับนายผี จะเห็นตรงกันว่า นับตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา สิ่งที่คณะผู้ก่อการอภิวัฒน์ควรทำ แต่มิได้ทำ ก็คือการปฏิวัติกระบวนการยุติธรรม ทว่าสิ่งที่เขากับนายผีอาจคิดต่างกัน อาจเป็น ‘วิธีการ’ ว่าจะปฏิวัติอย่างไร เพราะหากยึดตามคำที่นายผีอ้างถึงเลนิน ก็อาจเป็นไปได้ว่า นายผีน่าจะมองการปฏิวัติในกรอบของคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่างจากเขาที่มองศาลว่าเป็นกลไกหนึ่งของการแบ่งแยกอำนาจตามหลักนิติรัฐ

 

นายผี กับรัฐประหาร

 

ช่วงท้ายของการบรรยาย วรเจตน์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมุมมองนายผี ที่มีต่อคำว่า ‘รัฐประหาร’ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ว่า ในงานช่วงแรกๆ นั้น นายผีให้สถานะของการอภิวัฒน์สยาม 2475 ว่าเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ ทว่างานในช่วงหลัง กลับให้สถานะว่าเป็น ‘รัฐประหาร’

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐประหารในความหมายของนายผีคืออะไร และถ้าหากนายผีมองการอภิวัฒน์สยามเมื่อปี 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร แล้วการรัฐประหารครั้งอื่นๆ ที่ตามมาหลังจากนั้น มีค่าเทียบเท่ากันหรือไม่

ในมุมของวรเจตน์ เขาวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะนายผี มองว่า ‘การปฏิวัติ’ ที่แท้จริงนั้นยังมาไม่ถึง อันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมอย่างถึงราก จึงเลือกที่จะสงวนคำนี้ไว้ แล้วเลี่ยงไปใช้คำว่ารัฐประหารแทน

“สำหรับกรณีนี้ ผมอ่านว่าเวลาที่นายผีพูดถึงรัฐประหารแบบ 2475 ค่าของมันไม่ใช่รัฐประหารแบบที่เราเข้าใจกัน ไม่ใช่ coup d’etat อย่างที่เรามองกันในปัจจุบัน คำถามก็คือว่า เหตุการณ์ในปี 2475 มีค่าเท่ากับการรัฐประหารในปี 2490 หรือรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 รึเปล่า

“สำหรับผม ผมว่าไม่ใช่ แล้วผมก็ประเมินว่านายผี ก็ไม่ได้มองแบบนั้นเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากการที่นายผี เรียกรัฐประหารในปี 2490 โดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นการยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรก โดยใช้คำว่า กบฏ

ทั้งนี้ วรเจตน์ทิ้งท้ายไว้ว่า รัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 เป็นรัฐประหารที่ส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญในหลายๆ ด้าน และเป็นการรัฐประหารที่ ‘แตกต่าง’ จากหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เพียงแต่เขายังมองไม่ออกว่า สุดท้ายแล้วผลพวงของมันจะคลี่คลายลงอย่างไร หรือนำไปสู่อะไรในอนาคต

“ถ้าเอาแค่เรื่องโครงสร้างทางกฎหมาย ผมพูดได้เลยว่า มันมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างลึกซึ้งมาก แต่ถ้าในภาพรวม ผมคิดว่าเราน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี จึงจะประเมินได้ว่ารัฐประหารครั้งนี้ มีสถานะเป็นอะไร”

 


 

อ้างอิงข้อมูลจาก :

นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของ อัศนี พลจันทร เล่ม 2 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อ่าน

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 2 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อ่าน  

บทความ “100 ปี นายผี” ตอน 1: นายผีคือใคร 

บทความ ชีวประวัติ นายอัศนี พลจันทร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save