fbpx
“อุปสรรคของคนทำหนังอินดี้ คือสนามที่ไม่แฟร์” คัทลียา เผ่าศรีเจริญ

“อุปสรรคของคนทำหนังอินดี้ คือสนามที่ไม่แฟร์” คัทลียา เผ่าศรีเจริญ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

ท่ามกลางภาพยนตร์กระแสหลักทั้งไทยเทศที่เรียงคิวกันเข้าฉายตามโรงใหญ่ๆ ยังมีภาพยนตร์ไทยอีกจำพวกหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจจากคนกลุ่มเล็กๆ ก็คือภาพยนตร์นอกกระแสที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มคนทำหนังอิสระทั้งหลาย

แม้จะไม่ได้สร้างยอดขายแบบถล่มทลาย และไม่เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป แต่จุดที่น่าสนใจคือภาพยนตร์ประเภทนี้ สามารถสร้างที่ทางและหมุดหมายให้แวดวงภาพยนตร์ไทยได้อย่างต่อเนื่อง หลายเรื่องเดินทางข้ามทวีปไปไกลและได้รับการยอมรับในระดับโลก

คัทลียา เผ่าศรีเจริญ คือหนึ่งในคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงภาพยนตร์อิสระมานาน ฝากผลงานเบื้องหลังในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ผลักดันหนังไทยให้ไปไกลถึงเวทีนานาชาติมาแล้วนักต่อนัก รวมถึงเรื่องล่าสุดอย่าง 10 Years Thailand ที่ได้รับเลือกให้ไปฉายที่เมืองคานส์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

หลังจากเราชวนทีมผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของโปรเจกต์นี้มาล้อมวงคุยกันแบบจุใจ เราชวนคัทลียาคุยต่อถึงอุปสรรคของคนทำหนังอิสระในเมืองไทย ไปจนถึงมุมมองที่เธอมีต่อสังคมไทยในอนาคต

ในมุมของผู้ปิดทองหลังพระ เธอมองแวดวงนี้อย่างไร เผชิญปัญหาอะไรบ้างในการทำงาน มีความคิดความเห็นต่อสถานการณ์ของสังคมไทยอย่างไร

หาคำตอบได้ในบทสนทนาต่อไปนี้

คัทลียา เผ่าศรีเจริญ

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ 10 Years Thailand

ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่า ตัวโปรเจกต์แรกเริ่มคือ Films for free เป็นไอเดียที่พวกเราอยากทำหนังสักเรื่องขึ้นมาเพื่อทดสอบว่า ในสภาวะที่ไม่ปกตินี้ ยังมีอิสระอะไรสำหรับคนทำงานภาพยนตร์อย่างพวกเราอยู่บ้าง โมเดลตั้งต้นจะใช้การระดมทุนเป็นหลัก ซึ่งพอถึงเวลาจริงๆ ก็มีปัญหาอยู่พอสมควร เพราะสุดท้ายมันได้ไม่ถึงเป้าที่เราตั้งไว้

ระหว่างนั้น เราก็ได้ยินเรื่องเกี่ยวกับโปรเจกต์ 10 years Hongkong มาสักพัก ซึ่งคุณจุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์ เขาเคยคุยกับโปรดิวเซอร์ทางฮ่องกงมาก่อนบ้างแล้ว ซึ่งเราคิดว่าน่าสนใจถ้าจะเอามาทำในแบบของไทย ก็เลยกลับมาคิดกันใหม่ว่า น่าจะเอาโปรเจกต์ Films for free ที่ค้างไว้อยู่ มาปรับเป็น 10 years thailand ซึ่งพูดถึงประเด็นที่เราอยากนำเสนอเหมือนกัน

อีกข้อที่เราสนใจคือ โมเดลการร่วมทุน และที่ทางของการทำหนังแบบนี้ อย่างกรณีของฮ่องกง พอหนังเรื่องนี้ทำออกมาเสร็จ มันก็ถูกแบนที่เมืองจีนด้วย ซึ่งจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เรารู้สึกว่าถ้าเราร่วมทุนกับเขา มันอาจจะสามารถเผยแพร่หรือเอาไปต่อยอดในทางอื่นต่อได้ ไม่ได้จำกัดแค่ตัวหนังที่ทำออกมาแล้วจบไปเท่านั้น

การทำหนังที่ตั้งโจทย์เกี่ยวกับสังคมการเมืองแบบนี้ มีความท้าทายในแง่ใดบ้าง

ความท้าทายแรกคือเรื่องการเซ็นเซอร์ ซึ่งแน่นอนว่ามันผูกกับการนิยามของรัฐด้วย ที่มองภาพยนตร์เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ต้องตรวจสอบควบคุม ถ้าจะให้ทุนสนับสนุน ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ต้องเข้าหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น ปลอดภัย สร้างสรรค์ อะไรก็ว่าไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า มันคือการปิดกั้นอย่างหนึ่งหรือไม่ รวมไปถึงการจัดเรตติ้ง ก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า ทำไมหนังหลายเรื่องจึงยังถูกแบน ทั้งที่คุณสามารถปล่อยให้ฉายไป แล้วให้คนไปตีความกันเองเหมือนกับสื่ออื่นๆ ได้

อีกปัจจัยที่เหมือนจะไม่เกี่ยว แต่มีผลเยอะ ก็คือการขอสปอนเซอร์จากแหล่งต่างๆ  ซึ่งเป็นเหมือนบรรทัดฐานของสังคมที่จะมาตัดสินว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ ควรค่าแก่การให้ทุนหรือไม่ แล้วภาพยนตร์มันเป็นสื่อที่ต้องใช้เงินทุนสูง ถ้าคุณไม่มีทุนก็จบเลย

พอมาทำโปรเจกต์ 10 Years Thailand เราเห็นชัดเลยว่า ทำไมมันหาเงินยากจัง ทำไมมีแรงเสียดทานเยอะจัง เพราะคนที่จะให้สปอนเซอร์ก็กังวลว่าเนื้อหาจะออกมาเป็นแบบไหน รวมถึงคนที่จะร่วมสมทบทุนในตอนแรก แล้วด้วยความที่มันเป็นหนังสั้นที่เอามาประกบกัน เราจึงไม่สามารถเปิดเผยเนื้อหาหรือพล็อตเรื่องที่ชัดเจนได้ ซึ่งสุดท้ายก็มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะให้การสนับสนุนหรือไม่ด้วย

จากหนังที่ทำออกมา ดูแล้วก็จัดเป็นหนังนอกกระแส คือไม่ได้ดูง่าย และอาจไม่ได้รับความนิยมแบบหนังทั่วไป เรื่องนี้ถือเป็นอุปสรรคไหม

สำหรับเราที่โตมากับการดูหนังนอกกระแส จนกระทั่งได้มาเป็นผู้ผลิตเอง เรารู้สึกว่าหนังประเภทนี้มันท้าทายความคิดความอ่านของเรา คนอื่นอาจมองว่าเราชอบดูหนังแปลกๆ ไม่เหมือนชาวบ้าน แต่เราก็มองในมุมกลับว่า แล้วเราจะไปดูหนังที่เป็นสูตรทำไม เหมือนการกินข้าว ทำไมเราต้องกินเมนูที่คนอื่นบอกว่าอร่อย แล้วก็กินแบบนั้นทุกวัน แง่หนึ่งก็เหมือนเราอยากทดลองอะไรใหม่ๆ ด้วย ซึ่งถ้าพูดในมุมของคนทำงาน การทดลองอะไรแปลกๆ มันอาจมีความผิดพลาด แต่สุดท้ายมันจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ซึ่งนั่นคือรสชาติที่เขาอยากนำเสนอ

พอหนังเรื่องนี้เข้าโรงในประเทศไทย คนดูจะเป็นกลุ่มเดิมๆ ไหม

เราว่าคนทำหนังทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหนังในระบบสตู หรือหนังอินดี้ ก็อยากให้มันไปถึงคนในวงกว้างมากที่สุดอยู่แล้ว จริงๆ มันเป็นเรื่องสิทธิ์เลยนะ ว่าคุณเลือกที่จะดูหรือไม่ดูเรื่องไหน แต่ประเด็นคือมันต้องมีให้คุณเลือกก่อน ซึ่งทุกวันนี้มันไม่ใช่แบบนั้น มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง นอกจากการเซ็นเซอร์ของรัฐที่บอกไป ก็มีเรื่องระบบธุรกิจด้วย ที่ส่งผลต่อช่องทางการเผยแพร่ พูดง่ายๆ ว่าสนามที่เราแข่งมันมีความไม่แฟร์อยู่

มีเรื่องหนึ่งที่กระแทกใจเรามาก ตอนเราทำเรื่อง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ (กำกับโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี) จำได้ว่าตอนนั้นพี่เล็ก Greasy Cafe ที่มาเล่นเป็นนักแสดงนำ เขาดังมาก เลยทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นกระแส มีคนดูเยอะกว่าที่คิดไว้มาก

ทีนี้มันมีอยู่วันหนึ่ง เราเจอเด็กวัยรุ่นท่าทางงงๆ เดินมาซื้อตั๋ว ซื้อโปสเตอร์ด้วย เราก็ถามว่าน้องมาจากไหน น้องบอกมาจากสุไหงโกลก เหมารถตู้มากับเพื่อนอีกคน เพื่อที่จะมาดูหนังเรื่องนี้ พอได้ยินเราก็จุกเลย เพราะถ้าเทียบกับตัวเราเอง ถ้าเราอยากดูหนังเรื่องนี้ เราแค่ออกจากบ้านมาลิโด้ ไม่กี่กิโลก็ถึง แต่น้องแม่งต้องเดินทางเป็นร้อยกิโลเพื่อมาดู

เราจึงเกิดคำถามทันทีว่า ทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทำไมไม่มีโรงใกล้บ้านให้เขาเลือกดูได้ สมมติว่าถ้าสนามมันแฟร์ หนังเรื่องนี้มันควรจะไปฉายได้ทุกที่ และคนก็เลือกเอาเองว่าชอบไม่ชอบยังไง

ความไม่แฟร์ที่ว่า เกิดจากอะไร

หลักๆ คือเงื่อนไขทางธุรกิจ แม้แต่คนที่รักหนัง ทำธุรกิจหนัง นำหนังต่างประเทศเข้ามาฉาย เขาก็จะประเมินว่ามันเหมาะกับตลาดไหน คนที่นี่ควรดูเรื่องนี้ คนที่นั่นควรดูเรื่องนั้น ซึ่งมันเป็นวิธีการทำการตลาดแบบเก่า

ตอนที่เราทำเรื่อง 10 Years Thailand เสร็จ เรายังต้องตั้งคำถามกับมันเลยว่า ตอนนี้พ่อแม่เราแก่เฒ่าแล้ว แล้วถ้าเรายังจะทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วมันจะเป็นภาระใครมั้ย เพราะแน่นอนว่ามันไม่เคยสร้างรายได้ให้เราเป็นกอบเป็นกำ มันทำเป็นอาชีพที่แท้จริงไม่ได้ แม้จะทำมาเป็นสิบปีแล้วก็เถอะ ยิ่งพูดยิ่งสะเทือนใจ (ยิ้ม)

ด้วยเหตุนี้ ก็เลยต้องใช้วิธีส่งไปตามเทศกาลก่อนรึเปล่า เพื่อให้หนังมีที่ทางมากขึ้น

ก็ส่วนหนึ่ง แต่ประเด็นหลักคือเวลาเราส่งหนังไปตามเทศกาล เขามีการจัดการ มีการตลาดอย่างเป็นระบบกว่าบ้านเรามาก การดูแลงานพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขา ยกตัวอย่างฝรั่งเศส มันแทบจะเป็นนโยบายของเขาด้วยซ้ำ ที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปะ ภาพยนตร์ หรือองค์กรอย่าง UN หรือ EU ที่เราเคยขอทุนเขา เขาก็ให้ความสำคัญเหมือนกัน เพราะเขามองว่าสิ่งเหล่านี้คืองานทางวัฒนธรรมซึ่งมีคุณค่าต่อมนุษยชาติ

แล้วการนำหนังที่เกี่ยวกับบริบทประเทศไทยไปฉายในต่างประเทศ คนดูเขาอินกับประเด็นของเราไหม

ก็แล้วแต่ว่าเขาจะดูหนังเรื่องนั้นๆ จากมุมไหน ถ้าดูในแง่ขององค์ความรู้ด้านภาพยนตร์ ก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจบริบท หรือถ้าจะดูในแง่วัฒนธรรม การนำเสนอความเป็นท้องถิ่นของหนังแต่ละเรื่องให้ผู้ชมระดับสากลได้รู้ได้เห็น ก็มีคุณค่าของมันอยู่เช่นกัน

แต่ถ้าพูดถึงบริบทปัญหาของเมืองไทย เราเคยคุยกับเพื่อนต่างชาติที่สนิทคนนึง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในโลก แล้วเราเอาหนังเรื่อง Motel Mist ของปราบดา หยุ่น ไปฉายในเทศกาล ซึ่งมันพูดถึงบริบทการเมืองไทย เขาก็บอกว่าเขาแทบไม่รู้ปัญหาของประเทศเราเลย ทำให้ไม่เข้าใจบริบทในหนังไปด้วย มันสะท้อนว่าปัญหาของเราเล็กมากเมื่อเทียบกับสเกลระดับโลก เช่น เรื่องซีเรีย หรือเรื่องผู้ลี้ภัยต่างๆ

ตอนจะส่งเรื่อง 10 Years Thailand ไปคานส์ พวกเรากังวลเหมือนกันว่า มันจะมีศักยภาพพอมั้ย ความยากของมันคือการเป็นหนังสั้นประกบ ซึ่งเราเพียงแต่ให้โจทย์แต่ละคนไปกว้างๆ ว่าสิบปีข้างหน้าคุณคิดว่าสังคมไทยเป็นแบบไหน แล้วก็ปล่อยให้เขาทำกันไป แล้วเดี๋ยวมาดูผลลัพธ์กัน ซึ่งพอทุกคนทำออกมา ก็ตกใจเหมือนกันว่าจะเรียงมันยังไงวะ เพราะมันไปคนละทิศคนละทางเลย (หัวเราะ)

สุดท้ายเราก็ส่งมันไปอย่างนี้แหละ เพราะรู้สึกว่าความที่มันไม่เหมือนกันเลย ก็เทียบได้กับมนุษย์เราซึ่งไม่มีใครที่คิดเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เราแค่จัดเรียงมันในระดับหนึ่งเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงบางอย่าง

โดยรวมมันก็ท้าทายทุกขั้นตอนตั้งแต่หาทุนยันปลายทาง เราว่ามันเป็นชีวิต ไม่ใช่แค่การทำงาน เพราะสุดท้ายแล้วหนังที่เราทำออกมามันก็สะท้อนสถานการณ์ของสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วย

 

ตอนนี้กำหนดฉายเข้าโรงในไทยแน่นอนแล้วรึยัง

ตอนแรกวางไว้ประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งใกล้ๆ กับช่วงที่จะมีการเลือกตั้งพอดี แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันว่าจะได้เลือกจริงไหม ซึ่งทำให้เราเคว้งคว้างและคิดหนักเหมือนกัน

 

ทำไมถึงต้องเป็นช่วงนั้น

เพราะว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงอนาคตสังคมไทย ซึ่งในเบื้องต้นเราก็อยากชวนให้คนคิดถึงอนาคตที่อยู่ใกล้ๆ ก่อน ก็คือการเลือกตั้ง ซึ่งมันจับต้องได้ และจะมีผลต่ออนาคตของประเทศถัดจากนั้น

แล้วในมุมส่วนตัว คุณคิดว่าสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

สำหรับเรา เมื่อพูดถึงเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจากจะรู้สึกว่ามันเร็วมากแล้ว เรายังรู้สึกว่าแทบจะวางแผนอะไรไม่ได้เลย แม้กระทั่งแผนส่วนตัวของเราเอง เพราะเราไม่รู้ว่าถ้าวางแผนไปแล้ว ในภาพใหญ่ของสังคม จะมีอะไรที่เป็นหลักประกันได้ว่าแผนของเราจะไม่ล่ม เราไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ไม่รู้ว่าการคาดการณ์ของเราจะถูกหรือไม่ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เราอึดอัดมากอยู่ช่วงหนึ่ง

หรือการที่เราอยากออกไปร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก เวลาที่คุณมีประเด็นที่อยากเรียกร้อง อยากทวงถาม คุณก็ควรจะออกไปได้ ออกไปในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นคนทำหนัง ไม่ได้เป็นโปรดิวเซอร์ เราแค่ออกไปแสดงจุดยืนของเรา ซึ่งไม่ว่าใครก็ควรทำได้ สังคมควรเป็นแบบนั้น แต่คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ อะไรกันที่ทำให้เรารู้สึกกลัว หรือไม่อยากออกไป

คำตอบที่ได้คือ เพราะว่าเรารู้สึกถึงความไม่ปกติ รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เราไม่รู้สึกว่าเราจะออกไปทำกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างสบายใจ ซึ่งเรากลัวมากว่าพอนานเข้าๆ วันหนึ่งเราจะชินกับมัน


อ่านบทสัมภาษณ์รวมของทีมโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ 10 Years Thailand ได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save