fbpx
“ถ้าปัญหาไม่เข้ามาถึงรั้วบ้าน เราก็เห็นแก่ตัวไปเรื่อยๆ” อาทิตย์ อัสสรัตน์

“ถ้าปัญหาไม่เข้ามาถึงรั้วบ้าน เราก็เห็นแก่ตัวไปเรื่อยๆ” อาทิตย์ อัสสรัตน์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

ย้อนไปช่วงกลางเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกเข้าตรวจงานศิลปะในแกลลอรี่แห่งหนึ่งใจกลางกรุง ก่อนจะสั่งให้ปลดภาพบางภาพลง ด้วยเหตุผลว่า ภาพเหล่านั้นสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกในสังคม

นับเป็นกรณีแรกๆ ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 2557 ที่เจ้าหน้ารัฐใช้อำนาจเข้ามาคุกคามพื้นที่ทางศิลปะอย่างโจ่งแจ้ง จากที่ก่อนหน้านั้นเคยมีการใช้วิธีเดียวกันนี้มาแล้ว ในการข่มขู่ คุกคาม คนทำงานศิลปะและสื่อแขนงอื่นๆ ตั้งแต่การสั่งให้ตัดฉากบางฉากในละครโทรทัศน์ เข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในเวทีเสวนาวิชาการต่างๆ ไปจนถึงโรงละครเวที

เหตุการณ์นี้จุดประกายให้ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ นำมาสะท้อนเป็นภาพยนตร์สั้นชื่อว่า ‘Sunset’ เป็นหนึ่งในสี่เรื่องที่อยู่ในโปรเจกต์ 10 Years Thailand ที่ได้รับเลือกให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งล่าสุด ก่อนจะกลับมาเข้าฉายในเมืองไทยช่วงปลายปีนี้

ในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับและทีมโปรดิวเซอร์ เราชวนอาทิตย์คุยถึงไอเดียที่อยู่ในหนังของเขา มุมมองที่เขามีต่อแวดวงภาพยนตร์อิสระ การเซ็นเซอร์ ไปจนถึงอนาคตสังคมไทยในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งเขาออกตัวว่า “ผมเป็นคนที่ชอบเสพติดเรื่องส่วนตัว”

อาทิตย์ อัสสรัตน์

พอได้โจทย์ 10 years มา คุณตั้งต้นจากอะไร หยิบเอาประเด็นไหนมาเล่า

ไอเดียของผมมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ถ้าใครยังจำได้ ประมาณปีที่แล้ว จะมีข่าวที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปขอตรวจงานศิลปะที่แกลลอรี่แห่งหนึ่ง แล้วสั่งให้ศิลปินดึงภาพบางภาพลง ทีนี้มันมีคนที่ถ่ายรูปเหตุการณ์นั้นไว้ แล้วโพสต์ลงโชเชียล มีรูปหนึ่งเป็นรูปทหารกำลังยืนดูงานศิลป์อยู่ สำหรับผมรูปนี้มีพลังมาก ก็เลยตั้งต้นเขียนบททั้งหมดจากรูปนี้เลย ชื่อเรื่องว่า Sunset

การทำประเด็นนี้มีอะไรที่น่ากังวลไหม เพราะมันพูดถึงการเซ็นเซอร์จากรัฐ ซึ่งอ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริง

ส่วนตัวผม ไม่รู้สึกว่ามันแรงหรือเสี่ยงอะไรขนาดนั้นนะครับ แล้วในฐานะคนเล่าเรื่อง เราไม่ได้ตัดสินว่าใครดีหรือไม่ดี ไม่ได้มองว่าทหารหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้าย แต่มองว่าเขาก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ ศิลปินก็เช่นกัน เจ้าของแกลลอรี่ก็เช่นกัน ทุกคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหนังมันจะไปโฟกัสที่ความรักของตัวเอกในเรื่องที่เป็นพลทหารมากกว่าด้วยซ้ำ ฉะนั้นส่วนตัวจึงไม่ได้กังวลเท่าไหร่ แต่ถึงเวลาก็ไม่รู้เหมือนนะ ผมอาจมองโลกในแง่ดีเกินไป (หัวเราะ)

ตลอดหลายปีที่ผมทำหนังมา เวลาที่มีคนพูดถึงเรื่องการเซ็นเซอร์ ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากตัดสินหรือสอนคนดูว่าการเซ็นเซอร์มันถูกหรือผิด เพราะคิดว่าทุกคนก็รู้อยู่แล้ว ตัดสินเองได้อยู่แล้ว แต่ผมสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า สนใจภาวะความรู้สึกของคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น สุดท้ายเลยเลือกเล่าเรื่องของคนๆ หนึ่งที่เป็นพลทหาร มีหน้าที่ขับรถตู้พานายทหารชั้นผู้ใหญ่มาตรวจงานศิลปะ เราอยากรู้ว่าเขารู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นี้

วิธีทำหนังของผมอาจคล้ายการปั้นดินน้ำมัน เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ ปั้นให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยที่ยังไม่แน่ใจว่ามันจะออกมาเป็นอะไรด้วยซ้ำ ครึ่งแรกก็เข้าใจว่ากำลังปั้นช้าง ไปๆ มาๆ อ้าว มันไม่ใช่ช้าง แต่เป็นยีราฟนี่หว่า สุดท้ายไปจบที่ยีราฟ เออ ก็สวยดี

จริงๆ หนังเรื่องนี้ก็คือเรื่องหนุ่มสาวจีบกันแบบที่ผมชอบทำ เพียงแต่มันเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ทหารไปตรวจงานศิลปะ ซึ่งสำหรับผม แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ได้มี message อะไรที่อยากสื่อเป็นพิเศษ แต่ไปเน้นที่ความเป็นคนมากกว่า ผมสนใจความเป็นหนุ่มสาว สนใจความเป็นคน สนใจผู้หมวดที่รับหน้าที่นี้ว่าเขาคิดยังไง พลทหารที่เป็นคนขับรถคิดยังไง

 

แล้วสมมติว่าถ้าคนทำหนังเจอสภาวะแบบนี้ ต้องถูกตรวจสอบหรือเซ็นเซอร์ผลงานจากเจ้าหน้าที่รัฐ คิดว่าจะรับมือยังไง

สิ่งที่ผมรู้สึกคือ ภาวะแบบนี้มันบีบให้เราต้อง self-censored ในระดับหนึ่ง ผมนึกถึงประเทศมาเลเซีย ที่ล่าสุดรัฐบาลเพิ่งออกกฎมาว่าจะจับคนเผยแพร่ fake news ซึ่งหากมองเผินๆ มันก็ดูโอเคนะ หมายความว่าถ้าคุณไม่ได้ทำผิด ไม่ได้เผยแพร่ คุณก็ไม่ต้องกลัวอะไร แต่ความจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะมันขึ้นอยู่กับการตีความ ซึ่งคนที่มีอำนาจตีความก็คือคนบังคับใช้กฎหมาย แปลว่าการออกกฎแบบนี้ก็มีแนวโน้มที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ง่ายมาก

ถ้าเทียบกับเรื่องราวในหนังที่ผมทำ ศิลปินก็จะบอกว่า รูปนี้ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่เจ้าหน้าที่อีกคนก็บอกว่า คุณคิดว่ามันไม่มีอะไรก็จริง แต่มีคนอื่นที่เขาเห็นแล้วเขาคิดว่ามันมีอะไร เขาไม่ชอบ แค่นี้ก็จบแล้ว สุดท้ายแล้วระบบแบบนี้มันทำลายทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งศิลปิน ทั้งผู้หมวด ทั้งพลทหาร ทั้งเจ้าของแกลลอรี่

ในเรื่องนี้ คนที่เล่นเป็นผู้หมวด คือคุณอังกฤษ อัจฉริยะโสภณ ซึ่งชีวิตจริงเขาเป็นศิลปิน เป็นเจ้าของแกลอรี่ เพราะในเรื่องผมอยากให้เห็นมิติว่า แม้เขาจะใส่ชุดทหาร แต่เขาก็เป็นทหารที่รู้เรื่องศิลปะ เขาดูงานพวกนี้ออก มีประโยคหนึ่งที่เขาบอกว่า รูปนี้สวยดี ผมชอบ มันดูเหมือนงานของอาจารย์คนหนึ่งที่เขารู้จัก เมื่อเขาเห็นรูปนี้จึงพูดประโยคนี้ออกมาได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วการที่ต้องมาทำหน้าที่แบบนี้ เขาเองก็เจ็บปวดเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าระบบเซ็นเซอร์แบบนี้มันทำลายทุกคน

ในฐานะที่เป็นทั้งผู้กำกับและทีมโปรดิวเซอร์ของโปรเจกต์นี้ คิดว่าพอหนังเรื่องนี้เข้ามาฉายในไทย จะได้รับความสนใจระดับไหน

เรื่องนี้เรายังต้องไปคุยกันต่อว่า จะขายมันยังไง เพราะมันไม่ใช่หนังปกติ แต่เท่าที่ประเมินดู ก็คิดว่ามีมุมขายของมันอยู่

ถ้าดูกรณีของ 10 Years Hongkong ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะประเด็นในหนังมันเป็นประเด็นร้อนที่คนฮ่องกงทุกคนเป็นห่วง ก็คือเรื่องอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวหนังที่ทำออกมา มันก็ถือเป็นหนังอินดี้ที่ดูยากพอสมควร แต่สุดท้ายคนไปดูเต็มเลย เพราะมันเป็นประเด็นร้อน

แต่ในส่วนของเรา โจทย์ที่ต้องตีให้แตกก่อนคือ จะทำอย่างไรให้หนังเรื่องนี้สามารถเชื่อมโยงกับคนส่วนใหญ่ได้ ตอนนี้กำลังวางแผนกันอยู่

คุณทำหนังที่อยู่นอกกระแสมานาน อยากรู้ว่าทำไมถึงชอบทำหนังแนวนี้ ซึ่งไม่ได้มีคนดูหรือยอดขายมากมายนัก

ผมปลงแล้ว ชินแล้ว ทำหนังอินดี้มาตั้งสิบกว่าปีแล้ว แต่ก่อนก็ไม่รู้เลยว่าคนจะมาดูไหม แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่ากำลังทำอะไรอยู่ เลยไม่ได้คาดหวังอะไรสูงมาก

ผมเคยพูดแบบเปรียบเทียบว่า การทำหนังอย่างนี้ก็เหมือนกับคนทำรองเท้า ชาวบ้านเขาทำเบอร์ 6 7 8 ที่คนส่วนใหญ่เขาใส่กัน แต่เราเลือกที่จะทำเบอร์ 13 ที่มีคนใส่น้อยมาก หมายความว่าถ้าคุณเลือกแล้ว คุณก็ต้องยอมรับได้ ไม่ต้องไปบ่นอะไรมาก เพราะคุณเลือกเอง

แต่ขณะเดียวกัน การที่เราเลือกแบบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเรารู้ว่านี่คือสิ่งที่เราถนัด จะให้เราทำเบอร์ 6 7 8 เราก็สู้เขาไม่ได้ ตอนนี้มันอาจไม่ได้ขายอะไรนักหนา แต่ผ่านไปสิบปี ยี่สิบปี มันอาจมีคุณค่าขึ้นมาก็ได้ เพราะสุดท้ายมันคือการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เหมือนเวลาที่เรากลับไปดูหนังเก่าเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว หนังมันอาจไม่ได้ดีมาก แต่กาลเวลาทำให้มันน่าสนใจขึ้น มีพลังขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราดูตอนที่มันเข้าโรงเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว เราจะพูดว่าหนังเรื่องนี้แม่งไม่เห็นดีเลย (หัวเราะ) เหมือนเราเล่นรถเก่า มันต้องเก่าถึงจะสวย

อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมของบ้านเราด้วยรึเปล่า ที่ไม่คุ้นเคยกับการเสพศิลปะที่หลากหลาย

ก็มีส่วน คนไทยไม่ชินกับหนังแบบนี้ เราไม่ได้เป็นคนฝรั่งเศสที่มีหนังแบบนี้ให้ดูมากมาย อยู่ในทีวี อยู่รอบตัวเรา เราพาลูกหลานไปดูหนัง ดูเสร็จก็เดินออกมา กินกาแฟแล้วนั่งคุยกับเด็กอายุประมาณป.6 ว่าหนังเรื่องนี้กำลังพูดถึงอะไร แต่ของไทยเราไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนี้ ความบันเทิงของบ้านเราคือชิงร้อยชิงล้าน งานวัด ตลกคาเฟ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เราแค่หล่อหลอมมาคนละแบบ ส่วนตัวเรา เราเลือกที่จะทำแบบนี้ ได้รับความคิดแบบนี้มา แล้วเราชอบ ถนัดที่จะทำ

แล้วสิบปีที่ทำหนังมา คนไทยใส่รองเท้าเบอร์ 13 มากขึ้นไหม

เพิ่มขึ้นนิดนึงมั้ง อันนี้เราก็ไม่รู้จำนวนที่ชัดๆ เหมือนกัน เพราะไม่เคยสำรวจ แต่ที่แน่ๆ คือการเปลี่ยนแปลงมันช้า หรือสุดท้ายมันอาจไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลยก็ได้ ซึ่งเราก็เข้าใจนะ เพราะธรรมชาติของสังคมเราเป็นแบบนี้

ถ้าถามในมุมส่วนตัว คุณพอจะนึกภาพออกไหมว่าอีก 10 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน แล้วตัวคุณเองกำลังทำอะไรอยู่

ผมเป็นคนที่เสพติดเรื่องส่วนตัว วันๆ ก็จะห่วงแต่อะไรที่อยู่ในรั้วบ้านเรา อยู่กับครอบครัว เลี้ยงลูกไป ถึงแม้ว่าเราจะเปิดเฟซบุ๊กมาแล้วเห็นเรื่องอื่นๆ เราก็แค่อ่าน แล้วเราก็รับรู้ว่าประเทศนี้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง แต่สุดท้ายถ้าปัญหามันยังไม่เข้ามาอยู่ในรั้วบ้านเรา มันก็เป็นเรื่องง่ายมากที่จะปล่อยผ่านไป

พูดง่ายๆ ว่าสิ่งที่เราคิดในหัว กับสิ่งที่เรารู้สึกในใจ มันต่างกัน จะเรียกว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าผมก็เหมือนกับคนอีกจำนวนมากในสังคมนี้ เคยมีฝรั่งถามผมว่า ในขณะที่ปัญหาบ้านเมืองมันใหญ่ขนาดนี้ แต่ทำไมไม่ค่อยมีคนออกมาประท้วงหรือพยายามทำอะไรสักอย่างเลย ผมก็ตอบไปทำนองนี้แหละ ว่าสุดท้ายถ้าปัญหานั้นไม่ได้เข้ามาถึงภายในรั้วบ้านเขา เขาก็จะไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร

ส่วนหนึ่งผมก็รู้แหละว่าสังคมเรามีปัญหาอะไร อย่างช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ไม่ปกติ เอาเข้าจริงก็ไม่ปกติมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว ถึงตอนนี้ก็ 12 ปีแล้ว แต่ว่าตราบใดที่ข้างในบ้านผมยังปกติอยู่ ผมยังใช้ชีวิตของผมได้อยู่ ผมก็เห็นแก่ตัวไปเรื่อยๆ อันนี้คือยอมรับเลยนะ ซึ่งบางทีก็คิดเหมือนกันว่า เราทำได้แค่นี้เหรอวะ

แล้วในฐานะคนทำหนัง คุณคิดว่าหนังที่คุณทำออกมา สามารถสะท้อนปัญหาเหล่านั้นได้บ้างไหม

คิดครับ อย่างหนังเรื่องต่อไปที่กำลังจะทำ ก็จะพูดถึงเรื่องของคนอย่างผมนี่แหละ กับเพื่อนอีกสองสามคน ที่ในหัวเขาเนี่ย คิดเยอะแยะไปหมด มีอุดมการณ์ มีความเห็นว่าสังคมควรจะเป็นแบบไหน ทุกวันนี้มันไม่ดียังไง เราควรจะทำแบบนี้นะเพื่อให้มันดีขึ้น เออ แต่ตอนนี้ขอเวลาแป๊บนึงนะ เลี้ยงลูกก่อน แป๊บนึงนะ ขอไปกินเหล้ากับเพื่อนก่อน

พูดง่ายๆ ว่าสุดท้ายเราให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวมากไป จนทำให้เรื่องเกี่ยวกับสังคมที่อยู่ในหัว ก็อยู่ในหัวอย่างนั้นแหละ ไม่ได้เดินไปหามันหรือทำให้มันเป็นจริงสักที

ในฐานะคนทำหนัง เราก็คงสะท้อนได้ประมาณนี้ เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่หรือมีอำนาจที่จะเปลี่ยนอะไรขนาดนั้น ถ้าเปลี่ยนได้มันก็ดี แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือสะท้อนมันออกมา เล่ามันออกมา ในแบบที่เรารู้ ส่วนคนอื่นเขาก็คงสะท้อนในแบบของเขา ซึ่งผมคิดว่าในท้ายที่สุด ถ้ามีหลายๆ เสียงที่สะท้อนออกมา พอมารวมกันแล้ว ก็อาจช่วยเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้


อ่านบทสัมภาษณ์รวมของโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ 10 Years Thailand ได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save