ภาพถ่ายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
17 เมษายน 2557 ‘บิลลี่ – พอละจี รักจงเจริญ’ ชายชาวปกาเกอะญอ นักต่อสู้เพื่อสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ถูกบังคับสูญหายไปจากหมู่บ้านบางกลอย
17 เมษายน 2567 กลางแสงแดดร้อนระอุ เรากำลังนั่งอยู่ท้ายรถกระบะ ออกเดินทางจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มุ่งหน้าสู่ ‘บ้านโป่งลึก-บางกลอย’ เพื่อตามรอยเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น ณ ผืนดินแห่งนี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ระยะทางจากอุทยานฯ ราว 30 กิโลเมตรอาจดูไม่ไกลนัก แต่ถนนดินลูกรังนั้นขรุขระและเต็มไปด้วยหลุมบ่อจนเราต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนตลอดเวลาที่รถเคลื่อนไปข้างหน้า ทำให้ระยะทางที่ควรใกล้ กลับไกลจนนึกภาพไม่ออกว่าเมื่อไรจะถึงที่หมาย และยิ่งฝุ่นดินสีแดงส้มตลบคลุ้งไปทั่วบริเวณ ยิ่งแสงแดดแผดเผา ก็ยิ่งทำให้เราสัมผัสได้ถึงความแห้งแล้งของพื้นที่รอบกาย
ในที่สุด หลังจากผจญถนนเส้นขรุขระราวสามชั่วโมง รถกระบะของชาวบ้านก็จอดส่งเราตรงบริเวณก่อนถึงสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเพชรบุรี – สะพานแขวนแคบๆ นี้คือทางเดียวที่เชื่อมหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยกับโลกภายนอก ความรู้สึกโคลงเคลงระหว่างเดินข้ามสะพานคือจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่โลกอีกใบหนึ่งที่เราไม่เคยสัมผัส

1
เรื่องของ ‘บิลลี่’ และ ‘บางกลอย’
หลังจากข้ามสะพานแขวนไปถึงพื้นดินอีกฟาก ภาพที่ปรากฏสู่สายตาคือป้าย ‘หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย’ เมื่อก้าวเข้าไปก็พบลานกว้างของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ให้เด็กๆ มาเล่นฟุตบอลและการละเล่นพื้นบ้าน ก่อนที่เราจะเดินตรงไปยัง ‘ศาลาพอละจี’ ที่ตั้งตามชื่อของบุคคลผู้สูญหายไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
วันนี้ลานของหมู่บ้านกลายเป็นสถานที่สำหรับกิจกรรม ‘10 ปี ที่สาบสูญ : บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้พิทักษ์แห่งบางกลอย ณ ใจแผ่นดิน’ จัดโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ภาคีเซฟบางกลอย บางกลอยคืนถิ่น และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) รวมทั้งครอบครัวของบิลลี่และชุมชนปกาเกอะญอใจแผ่นดิน-บางกลอย จึงไม่น่าแปลกใจนักที่พื้นที่ตรงนี้จะคึกคักด้วยผู้คน
“มากันเถอะทุกคน มาฟังมาดูเรื่องราวของ ‘พะตีบิลลี่’ กัน” เสียงของพี่ไก่–เกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กำลังชวนเด็กๆ หมู่บ้านบางกลอยที่กำลังเมียงมองคล้ายสงสัย ให้เดินตรงเข้ามาดูนิทรรศการ และแล้วเสียงเล็กๆ เจื้อยแจ้วที่อ่านเรื่องราวของ ‘พะตีบิลลี่’ ให้กันและกันฟังก็แว่วเข้ามาในโสตประสาท

เรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว 10 ปี อาจยังคงสดใหม่ในความทรงจำของใครบางคนที่รอคอยการกลับมาของบิลลี่ แต่ในที่นี้ จะขอทบทวนเรื่องราวใหม่อีกครั้ง เริ่มต้น ณ ดินแดนที่เรียกว่า ‘ใจแผ่นดิน’ และ ‘บางกลอยบน’ บ้านเกิดและที่ทำกินของชาวปกาเกอะญอแก่งกระจาน โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยัน ไม่ว่าจะเป็น
รูปถ่ายเมื่อปี 2493 หน้าร้านยาไทยสมบูรณ์ ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ปรากฏภาพวัยหนุ่มของปู่คออี้ มิมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวปกาเกอะญอ
เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขาซึ่งราชการออกให้ชุมชนปกาเกอะญอบางกลอยและใจแผ่นดิน เมื่อปี 2512
ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2515 ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยในพื้นที่ใจแผ่นดิน
แผนที่ทหารในปี 2516 ปรากฏหมู่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2524 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่บางกลอยบนและใจแผ่นดินกลับถูกรวมไปด้วย ทั้งที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อราวปี 2538-2539 ก็เริ่มมียุทธการผลักดันชาวปกาเกอะญอให้ย้ายลงมายังพื้นที่ซึ่งรัฐจัดสรรไว้ให้ ที่เรียกว่า ‘บางกลอยล่าง’ ซึ่งเป็นหมู่บ้านปัจจุบัน[1]
หลังการย้ายลงมา พบว่ามีปัญหามากมาย ทั้งข้อพิพาทกับเจ้าของที่ดินเดิม สภาพของดินไม่อุดมสมบูรณ์จนทำการเกษตรหรือทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ อีกทั้งรัฐก็ไม่สนับสนุนข้าวสารตามสัญญา ในที่สุดชาวบ้านจึงย้ายกลับไปยังบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ดำรงชีวิตอย่างที่เคยเป็นมา โดยเป็นที่รับรู้ของหน่วยงานภาครัฐ ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติเป็นระยะเวลาราว 10 ปี
จนกระทั่งเมื่อปี 2552 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ย้ายมาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเริ่มมีปฏิบัติการผลักดันและขับไล่ชุมชนปกาเกอะญอบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ระหว่างปี 2553-2554 เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นกระทั่งมีการเผาทำลายบ้าน ยุ้งข้าว และยึดทรัพย์สิน อุปกรณ์ทำการเกษตร กระทั่งเครื่องดนตรีพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอ ซึ่งปฏิบัติการครั้งสำคัญคือ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ในเดือนเมษายน ปี 2553 ครั้งนั้น ชาวบ้านถูกอพยพขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาที่บางกลอยล่าง
พี่หน่อย-พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าถึงประเด็นนี้ว่า ปฏิบัติการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากรอบการอนุรักษ์ธรรมชาติที่รัฐไทยนำมาครอบทับนั้น ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยอ้างเหตุผลว่าชาวปกาเกอะญอบางกลอยทำ ‘ไร่เลื่อนลอย’ หรือย้ายพื้นที่เพาะปลูกและเผาทำลายป่าไม้เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด แต่อันที่จริงแล้ว การทำไร่ของชาวบางกลอยมีระบบหมุนเวียนเป็นรอบๆ ไม่ใช่การถางทั้งป่า และมีการเว้นช่วงให้พื้นดินได้พักฟื้น หรือที่เรียกว่า ‘ไร่หมุนเวียน’ เพราะวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอนั้นพึ่งพาป่าไม้ การอนุรักษ์ป่าให้อุดมสมบูรณ์จึงนับเป็นภูมิปัญญาของพวกเขาด้วยซ้ำ
ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ‘บิลลี่ – พอละจี รักจงเจริญ’ หลานชายแท้ๆ ของปู่คออี้ ก็เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน นับตั้งแต่เวลานั้น

“บิลลี่กลับมาจากการทำงานในเมืองข้างล่าง แล้วได้เห็นสถานการณ์ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิ พอเกิดเหตุการณ์หลายครั้งเข้า เขาเริ่มฉายแววออกมาว่าอยากจะเป็นคนช่วย เราก็เลยชวนให้บิลลี่มาเป็นกรรมการเครือข่ายกะเหรี่ยง ตอนนั้นมีการประสานให้เกิดวงคุย มีนักข่าวพลเมือง ภาคประชาสังคม กลุ่มเอ็นจีโอ และเครือข่ายต่างๆ เราก็ได้เห็นว่าบิลลี่เดินทางไปเจอกลุ่มพี่น้องกะเหรี่ยงทางภาคเหนือ บิลลี่เป็นธุระจัดการ ประสานงานเวลามีคนเข้ามาในพื้นที่ และเขาก็ยังลงสมัคร อบต.ด้วย ทำให้เขายิ่งจัดการได้ดี เป็นที่คาดหวังและฝากฝังของชาวบ้านว่าอย่างน้อยบิลลี่จะเป็นตัวเชื่อมเพื่อคลี่คลายอะไรบางอย่าง บิลลี่พาบางกลอยไปในทุกมิติ ถือว่าเขาก็เป็นตัวจักรหนึ่งที่ทำให้สังคมรับรู้เรื่องราวของบางกลอย” พี่ไก่ ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เล่า
ในช่วงเวลานั้น จากหลายเหตุการณ์ที่ชาวบ้านบางกลอยถูกละเมิดจนได้รับความเสียหาย ปู่คออี้และตัวแทนกะเหรี่ยงได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ โดยเฉพาะในคดีที่ชาวบ้านบางกลอยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อปี 2554 กรณีได้รับความเสียหายจากการถูกอุทยานแก่งชาติแก่งกระจานเผาบ้านและยุ้งข้าว ภาพที่เราพบเห็นได้ตามรายงานข่าว คือบิลลี่สะพายย่ามคู่กาย เป็นผู้ติดตามปู่คออี้ไปทุกหนแห่ง ทั้งช่วยเป็นล่ามแปลภาษาและประสานงานเครือข่าย นับว่าเป็นคนสำคัญในขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิชาติพันธุ์
ระหว่างการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ ได้มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 ทัศน์กมล โอบอ้อม หรืออาจารย์ป๊อด ผู้นำคนสำคัญอีกคนหนึ่งในการเรียกร้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงถูกยิงเสียชีวิต ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกอีกสี่คน ถูกตั้งข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ยิ่งบิลลี่มีบทบาทมากเท่าไร เขาก็ยิ่งถูกจับตามองมากเท่านั้น ในระหว่างที่บิลลี่เตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขาเคยได้รับคำเตือนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานนั้นขู่ฆ่า จนบิลลี่เคยบอก มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของเขาว่า หากเขาเป็นอะไรไป ให้สงสัยว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
จนวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ถูกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวที่ด่านมะเร็ว ข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่าหกขวด โดยเจ้าหน้าอ้างว่าได้ปล่อยตัวเขาไประหว่างทาง
แต่เย็นวันนั้น บิลลี่ไม่ได้กลับบ้าน…
วันที่ 18 พิณนภา พฤกษาพรรณ (มึนอ) ภรรยาและเครือญาติของบิลลี่มาแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธร แก่งกระจาน หลังจากนั้นจึงมีการออกค้นหาตามสถานที่ต่างๆ แต่ก็ไม่พบบิลลี่ อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการเรียกร้องสิทธิให้บิลลี่ก็ไม่จบลงอย่างง่ายดาย มีการยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ต่อมา นายชัยวัฒน์ถูกตั้งข้อหา แต่ศาลยกฟ้องโดยเหตุผลคือ ฟังไม่ได้ว่าในวันเกิดเหตุ บิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่จริง แต่มึนอและทนายความก็ได้ยื่นอุทธรณ์ และพนักงานสอบสวนก็ได้ตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทั้งนี้ตลอดการสืบสวน พบพิรุธมากมายในคำให้การของพยาน เช่น นักศึกษาฝึกงานของอุทยานฯ ให้การไม่ตรงกันในแต่ละครั้ง หรือหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่บ่งชี้ว่าคำให้การของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เรื่องตำแหน่งที่ปล่อยตัวบิลลี่นั้นไม่สมเหตุสมผล
เวลาผ่านไปกว่าสี่ปีก็ยังไม่พบบิลลี่ จนต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็ได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ การสืบสวนดำเนินต่อไปจนพบหลักฐานคือถัง 200 ลิตรและซากกระดูกมนุษย์ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน กระดูกดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ ซึ่งในทางการแพทย์ หากไม่มีชิ้นส่วนนี้ในร่างกาย ผู้นั้นจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
เชื่อกันว่านั่นคือกระดูกของบิลลี่
อย่างไรก็ตาม คดีความก็ยังไม่สิ้นสุด

พี่น้ำ-อัญชลี อิสมันยี
2
‘บิลลี่’ ที่มีชีวิต
เสียงเล็กๆ ของเด็กๆ พาเรากลับมายังปัจจุบันขณะ ณ หมู่บ้านบางกลอย พวกเขาพากันไปมุงดูภาพของบิลลี่ที่ติดบนเสาไม้ไผ่รอบลานกว้าง พาให้หวนระลึกถึงวันที่บิลลี่ยังอยู่ ณ ที่แห่งนี้
ลมพัดจนรูปปลิวร่วงหล่นลงบนพื้น และเด็กๆ ก็เก็บมันขึ้นมาติดใหม่
บิลลี่จากไป แต่ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ของพี่น้องชาวปกาเกอะญอบางกลอยเพื่อทวงคืนสิทธิในพื้นที่ทำกินจะจบลง แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกิน แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อ เหมือนที่ฉันมองเห็นความเคลื่อนไหวปรากฏอยู่ตรงหน้า ได้ยินเสียงหัวเราะของเด็กๆ และเสียงพูดคุยกันเป็นภาษาปกาเกอะญอของชาวบ้านที่กำลังช่วยเตรียมอาหารเย็นให้พวกเรา ก่อนฝนจะตกโปรยในเวลาต่อมา
เสียงฝนเคล้าไปกับเสียงขับขานบทเพลงจากพี่น้ำ อัญชลี อิสมันยี ศิลปินวงคีตาญชลีและสมาชิกภาคีเซฟบางกลอย ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ของพี่น้องปกาเกอะญอผ่านเสียงเพลง
“เราคือผู้คน อยู่บนผืนดินเดียวกัน เชื่อมโยงสัมพันธ์ร้อยเรียงเป็นผืนป่า
เราคือผู้คน อยู่ในสายธารเดียวกัน หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ให้ดินได้ชุ่มเย็น
เราคือผู้คน ปกาเกอะญอก็คือคน ในความเป็นคน เราเหมือนกัน”[2]
ระหว่างที่เสียงเพลงขับกล่อมเรา ชาวบ้านก็กำลังประกอบอาหารบางอย่างบริเวณข้างศาลา เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ก็ได้เห็นว่าสิ่งนั้นคือ ‘หมาก’ และแล้ว วงคุยที่เชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามาร่วมทำความรู้จักบิลลี่ก็เริ่มต้นขึ้น
“บิลลี่ชอบกินหมาก หมากเป็นของกินพื้นเมืองของพวกเราชาวกะเหรี่ยง การกินหมากไม่ได้มีความหมายแค่การกินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงช่วงเวลาของการรวมกลุ่มกัน เวลานั่งกินหมากกับบิลลี่ ก็จะเป็นเวลาที่ได้พูดคุยกันเรื่องพี่น้องชาวบ้านและความเป็นไปของหมู่บ้านบางกลอย” เพื่อนของบิลลี่เล่าให้เราฟัง
ถัดไปจากโต๊ะหมาก พี่มึนอกำลังประคองถาดอาหารที่ประกอบด้วยข้าวโถใหญ่และน้ำพริก ซึ่งแน่นอนว่าน้ำพริกฝีมือพี่มึนอก็คืออีกหนึ่งจานโปรดของบิลลี่ จากนั้นวงกินข้าวก็ขยายกลายเป็นวงขนาดใหญ่ กองไฟปิ้งมันเผาตรงหน้า มีเด็กๆ รุมล้อม ไอร้อนจากไฟทำให้อากาศเย็นชื้นยามฝนตกอุ่นขึ้นมาเล็กน้อย

พี่มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ


ฝนหยุดตกแล้ว ฟ้าเริ่มมืดลง ลานกลางหมู่บ้านเวลานี้กลายเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีรำลึกถึงคุณงามความดีของบุคคลสำคัญทั้งสามที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวบ้านบางกลอย ได้แก่ ปู่คออี้ บิลลี่ และ กิ๊ป ต้นน้ำเพชร
“ขอบคุณที่ไม่ลืมบิลลี่” คือประโยคสำคัญที่พี่มึนอกล่าว ท่ามกลางความรู้สึกท่วมท้น ทั้งความรู้สึกขอบคุณพวกเขาทั้งสามที่ต่อสู้เพื่อชาวบ้านบางกลอย และขอบคุณทุกคนที่ยังไม่ลืมพวกเขา ทั้งหมดนี้ถ่ายทอดผ่านคำกล่าวของตัวแทนแต่ละครอบครัว ก่อนที่สมาชิกครอบครัวและชาวบ้านบางกลอยที่มาร่วมงาน จะยืนสงบนิ่ง และเวียนรดน้ำสักการะบุคคลที่พวกเขาคิดถึง ซึ่งเวลานี้หลงเหลือเพียงแค่ภาพถ่ายในกรอบรูป


พี่ไก่-เกรียงไกร ชีช่วง (ขวา)
หลังจากนั้น ภาพยนตร์สั้นก็เริ่มฉาย เสียงของใครสักคนบอกว่าบิลลี่คงเป็นใจให้ฝนหยุดตกก่อนถึงเวลาฉายหนังกลางแปลง
“อาจเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านบางกลอยได้เห็นภาพวิถีชีวิตและเรื่องราวของตัวเองฉายอยู่บนจอหนัง” พี่หน่อย-พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกฉันหลังจากภาพยนตร์สั้นฉายจบ ด้วยความหวังว่าภาพเหล่านี้จะเป็นพลังใจให้พวกเขาสู้ต่อ
วิถีชีวิต (The Way of Lives) สนับสนุนโดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน โดยมีบิลลี่เป็นผู้ร่วมสร้างหลัก คือภาพยนตร์สั้นที่ฉายเรื่องราววิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ โดยจำลองภาพความทรงจำเมื่อครั้งปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยยังใช้ชีวิตอยู่ที่ใจแผ่นดิน ก่อนจะถูกผลักให้ต้องย้ายออกจากถิ่นกำเนิด ซึ่งชาวบ้านที่ปรากฏในภาพยนตร์สั้น หลายคนอยู่ในเหตุการณ์เผาบ้านเผาไร่ของยุทธการตะนาวศรี
“ลูกๆ มาดู แล้วก็บอกว่า เห็นแม่ในหนังด้วย แม่ไม่เห็นตลกเลย” พี่มึนอกล่าวพร้อมยิ้มบาง ไม่แปลกที่พี่มึนอในภาพยนตร์สั้นเรื่องถัดมาจะไม่ตลกอย่างที่ลูกๆ คาดหวัง เพราะ The Purple Kingdom ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงชาวบ้านชื่อ น้ำทิพย์ ทองหยด (รับบทโดยพี่มึนอ) ผู้ออกตามหาสามีที่หายตัวไปกลางผืนป่า เรื่องราวดำเนินตัดสลับกับความฝัน และคู่ขนานไปกับหญิงชาวไทยชนชั้นกลาง ผู้ที่สามีหายตัวไปในผืนป่าแห่งเดียวกัน แต่แม้จะเผชิญสถานการณ์คล้ายกัน เจ้าหน้าที่รัฐกลับปฏิบัติต่อพวกเธอแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ส่วนภาพยนตร์สั้นเรื่องสุดท้าย คือ Billy and “The Way of Lives” เป็นการบันทึกคำกล่าวของบิลลี่ถึงบางกลอย ในวันที่เขานำภาพยนตร์เรื่อง วิถีชีวิต (The Way of Lives) ไปฉายในการประชุมกะเหรี่ยงศึกษา จัดโดยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยบิลลี่ตั้งคำถามว่าเหตุใดกะเหรี่ยงทางเชียงใหม่จึงสามารถดํารงวิถีชีวิตของตัวเองได้ ในขณะที่ชุมชนบางกลอยถูกเผาและถูกขับไล่
และหลังจากการประชุมครั้งนั้นไม่นาน บิลลี่ถูกบังคับให้หายไป และการหายไปของบิลลี่ก็ทิ้งบาดแผลไว้กับหมู่บ้านบางกลอย ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา
“ปัจจุบันนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับประกาศรับสมัครเจ้าหน้าพิทักษ์ป่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่างบประมาณที่กระทรวงลงทุน คือจัดหาคนอื่นมาพิทักษ์ป่า ทั้งที่วิถีชาวบ้านนั้นคือการพิทักษ์ป่าอยู่แล้ว” พี่หน่อยกล่าว และทิ้งท้ายว่า “ชาวบ้านรู้ว่าบิลลี่หายไปจากด่านค่ามะเร็ว ซึ่งคือทางเข้าออกเดียวของที่นี่ ทุกครั้งที่พวกเขาจะต้องผ่านด่าน ความหวาดกลัว ความรู้สึกถูกคุกคาม ยังคงมีอยู่ทุกเมื่อ”



…
เช้าวันต่อมา ก่อนที่ฉันจะบอกลาหมู่บ้านบางกลอย ชาวบ้านมารวมตัวกัน ณ ศาลาพอละจีอีกครั้งหนึ่งเพื่อเปิด ‘กล่องความทรงจำ’ ที่ทีมงานมอบให้นำกลับบ้านไปใส่ข้าวของที่มีความทรงจำเกี่ยวกับชุมชนของตน และฉันก็ได้ฟังเรื่องราวที่แต่ละคนแบ่งปัน เรื่องราวเหล่านั้นพาเราย้อนกลับไปในวันที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสุขสงบที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ย้อนกลับไปในวันที่บิลลี่ยังอยู่ หรือกระทั่งย้อนกลับไปในวันที่พวกเขามีความสุขกับเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นในชีวิต
คนแรกที่เปิดกล่องความทรงจำคือแม่โพเราะจี แม่ของบิลลี่ สิ่งที่อยู่ในกล่องความทรงจำของแม่ คือ ‘สำเนาบัตรประชาชน’ เหตุผลที่แม่นำสิ่งนี้มา คือต้องการแสดงให้เห็นว่าตนนั้น “เป็นคนไทย มีบัตรประชาชน” และอีกสิ่งที่ไม่ได้อยู่กล่องแต่ดูเหมือนว่าจะอยู่ในห้วงคำนึงของแม่ คือเรื่องราวของบิลลี่ แม่โพเราะจีกล่าวว่า “แม่ฝันสองสามครั้ง ว่าบิลลี่กลับมาหาแม่ที่บ้าน แม่ก็ทำข้าวที่มีอยู่ให้กิน เหมือนปกติที่แม่ทำน้ำพริกผักให้บิลลี่ แล้วก็ได้กินข้าวด้วยกันและคุยกัน”
นอกจากนั้น ความทรงจำของชาวบ้านหลายคนผูกพันกับบางกลอยบนอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ หลายคนเปิดกล่อง และหยิบกระดาษที่เขียนความรู้สึกของตนต่อการกลับไปยังบางกลอยบนออกมาอ่านออกเสียงให้พวกเราฟัง “เราอยากกลับไปบางกลอยบน กลับไปที่ดั้งเดิมที่พ่อแม่เราเคยอยู่ เราอยู่ที่บางกลอยแล้วมีความสุข ไม่เหมือนที่นี่ มีแต่ความวุ่นวาย” คือตัวอย่างหนึ่งของความรู้สึกในความทรงจำ

พี่หน่อย-พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ


พี่ไก่-เกรียงไกร ชีช่วง
อีกหนึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับบางกลอยบน มาจากกล่องความทรงจำของจันทร สมาชิกกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น จันทรเปิดกล่องความทรงจำและหยิบ ‘ใบไผ่’ ขึ้นมา พร้อมกับบอกเราว่า “ใบไผ่ทำให้เราคิดถึงบ้านบางกลอยบนที่เราเคยอยู่อาศัย ที่นั่นคือบ้านที่แท้จริง นอนบนปูนที่ไหนก็ไม่รู้สึกว่าเป็นบ้าน เท่ากับนอนเพิงไม้ไผ่ที่ให้ความร่มรื่นกับเรา”
สิ่งของอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้หวนระลึกถึงบางกลอยบนคือ ‘ย่าม’ ของ ‘พี่แมว’ เขาเล่าให้วงสนทนาฟังว่า “นี่เป็นย่ามกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ทำให้นึกถึงตอนเป็นเด็ก ผมเห็นพ่อสะพายย่ามแบบนี้ไปทำไร่ ข้างในจะมีกระบอกไม้ไผ่ใส่หมาก น้ำ และกับข้าว พ่อจะสะพายย่ามแบบนี้ไปไร่หมุนเวียน เป็นความทรงจำที่เห็นพ่อใช้ย่ามแบบนี้ อยากให้พี่น้องรู้ว่าเราพูดถึงไร่หมุนเวียน คนที่ไม่เคยเห็น คงมองภาพไม่ออกว่าไร่หมุนเวียนเป็นอย่างไร มันมีจริงหรือเปล่า ผมขอบอกว่ามีจริง”
นอกจากเรื่องราวของบางกลอยบนแล้ว ข้างในกล่องความทรงจำของชาวบ้านคนหนึ่ง มีกระดาษเขียนว่า “ให้มีการยอมรับการมีตัวตนอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและออกกฎหมายที่มีความเป็นธรรมกับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ขอความเป็นธรรมให้กับบิลลี่” คุณป้าเจ้าของข้อความ กล่าวว่าความเป็นธรรมที่ว่านี้คือการเยียวยาครอบครัวของบิลลี่ และให้ลูกของบิลลี่ได้รับการศึกษา เพราะถ้าบิลลี่ยังอยู่ บิลลี่ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกๆ แน่นอน


คนสำคัญอีกคนหนึ่งที่เปิดกล่องความทรงจำคือมึนอ ภรรยาของบิลลี่ พี่มึนอออกตัวว่าตนเองแต่งกลอนได้ไม่ดีนัก แต่ก็แต่งกลอนมาอ่านให้ทุกคนได้ฟัง
“สิบเจ็ดเมษาเวียนมาบรรจบ
เป็นวันพบสิ่งเศร้าเรื่องลำบาก
โอ้ชีวิตทำกรรมใดบาปตาม
ถึงร่างกายต้องประคองชีวิต
เธอกับฉันคงร่วมบุญกันน้อยนิด
พรหมลิขิตแยกทางไปมืดมิด
จะมีบ้างไหมหนอแสงส่องทิศ
ครบรอบสิบปีเมษารำลึก
สิบเจ็ดเมษาจัดกิจกรรม
รำลึกธรรมความดีของบิลลี่”
…
ฉันถามพี่ไก่ว่า ถ้าวันนี้บิลลี่ยังอยู่ คิดว่าบางกลอยจะเป็นอย่างไร พี่ไก่นิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบฉันว่า “บทบาทหนึ่งของบิลลี่คือเขาเป็นผู้นํา ตอนนั้นเขาเป็นสมาชิก อบต. ถ้าเขายังอยู่ ความต้องการของชุมชนจะได้รับการพัฒนาอย่างตรงจุดมากกว่านี้หลายเรื่อง เวลานี้การแก้ไขปัญหาเหมือนเป็นการเลี้ยงไข้ จะให้ดีก็ไม่ดี ให้มีมากกว่านี้ก็ไม่ได้ แต่ถ้าบิลลี่อยู่ ปัจจัยขั้นพื้นฐานคงได้รับการจัดการมากกว่านี้”
พี่ไก่ชี้ไปที่แผงควบคุมไฟที่ติดตั้งอยู่ในศาลาพอละจี “แผงไฟขนาดนี้ เราคิดว่าน่าจะใช้ไฟได้นาน แต่เอาเข้าจริง เปิดไฟได้ไม่นานก็ดับไป เราได้ยินเสียงมันดัง ‘ตี๊ด ตี๊ด ตี๊ด’ ตลอดเวลา แล้วพอไฟดับก็ต้องคอยจุดไฟเรื่อยๆ น้ำก็เหมือนกัน มีเวลาเปิดปิด ไม่ได้ใช้ได้ตลอด ทั้งที่ถ้าจะทำประปาภูเขา ก็น่าจะทำได้”
และนอกจากบทบาทในการผลักดันเรื่องความเป็นธรรมให้แก่ชาวบางกลอยแล้ว ชีวิตของบิลลี่ยังคงมีความหมายมากมายกับที่นี่
“ถ้าบิลลี่ยังอยู่นะ ชาวบ้านก็จะไม่เครียด เอาง่ายๆ บิลลี่เป็นคนขี้เล่น มันก็หยอกเล่นไปทั่ว กับเพื่อน กับแม่ กับยาย ชาวบ้านก็ไม่เครียด แต่ทุกวันนี้แม่โพเราะจียังอยู่กับแววตาของความทุกข์ และชาวบ้านก็ดูเหมือนไม่มีชีวิตชีวา นี่แหละคือผลจากการที่คนหนึ่งคนของพวกเขาถูกกระทำให้หายไป” พี่ไก่กล่าว

พี่มึนอและแม่โพเราะจี
3
#saveบางกลอย ในวันที่ไม่มีบิลลี่
‘ถ้าบิลลี่ยังอยู่ คุณภาพชีวิตของชาวบ้านก็คงดีกว่านี้’ อาจเรียกได้ว่าเป็นการคาดเดาสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่กระนั้นก็มีเค้ามูลความจริง เพราะเมื่อตัดภาพมาตรงหน้า สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของฉันคือผืนดินของบ้านบางกลอยล่างที่แห้งแล้ง ยิ่งไปกว่านั้นคือสวนกล้วยที่ดูไม่สู้จะให้ผลผลิตมากนักที่ฉันเห็นระหว่างเส้นทางหลุมบ่อก่อนที่จะมาถึงหมู่บ้าน ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้ฉันสงสัยว่า ปัจจุบันนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ที่บางกลอยล่างเป็นอย่างไร และต่างจากบางกลอยบนมากขนาดไหน
ในบ้านไม้ไผ่ที่ดูจะสร้างขึ้นมานานแล้ว และเริ่มผุพังไปตามกาลเวลา ฉันมีโอกาสได้สนทนากับ ‘ปู่นอแอะ’ ลูกชายของปู่คออี้ มิมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้พิทักษ์ผืนป่าบางกลอย ปู่นอแอะอยู่ในเหตุการณ์ยุทธการตะนาวศรี เผชิญการถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็ยืนยันว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ชาวปกาเกอะญอและเจ้าหน้าที่รัฐเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่านี้ ปู่เล่าย้อนให้เราฟังถึงชีวิตที่ใจแผ่นดิน ชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งการขายผลผลิตเพื่อแลกเงิน ตลอดจนเล่าถึงพิธีกรรมประเพณีของชาวปกาเกอะญอในช่วงเวลานั้น
และฉันก็ได้รู้ว่ากอข้าวแห้งๆ ที่ปลูกในบริเวณเล็กๆ ใต้ถุนเพิงของปู่นอแอะ ไม่ใช่ปลูกเพื่อขายผลผลิต แต่เป็นเพราะปู่ต้องการรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของกะเหรี่ยงไว้ ไม่ให้หายไปพร้อมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อชาวบ้านลงมาอาศัยที่บางกลอยล่าง หรือออกไปทำงานในเมือง
ชีวิตที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินที่ปู่นอแอะเล่า ช่างแตกต่างจากชีวิตที่บางกลอยล่าง
‘พี่ปลุ’ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางกลอย เล่าให้ฉันฟังว่า “ตอนอยู่บางกลอยบนก็ปลูกข้าว ส่วนมากปลูกใกล้แม่น้ำ เพราะต้องยึดตามแหล่งน้ำ ทั้งดินทั้งน้ำมีผลต่อข้าว และนอกจากข้าว ก็ปลูกพริก กล้วย อ้อย หลายอย่างผสมกัน แม้จะไม่มีเงิน แต่ก็มีข้าวกิน ไม่รวยแต่ไม่จน ไม่เดือดร้อนเรื่องการกิน อยู่แบบสบายๆ และตอนอยู่ข้างบนก็แทบไม่ต้องขับรถไปในเมืองเลย เพราะปลูกเอง กินเอง ไม่ต้องเอาผลผลิตไปขายในเมือง”
เมื่อถามว่าที่ดินที่ใช้เพาะปลูกที่บางกลอยล่างเป็นอย่างไร เขาตอบว่า “เป็นที่ดินที่เขาให้เราใช้เพาะปลูก แต่ไม่ใช่ของเรา น้ำน้อย ไม่เพียงพอ ปลูกได้แค่มะนาวกับกล้วย ขนาดกล้วยยังไม่ค่อยรอด เพราะดินเป็นดินลูกรังเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ปลูกกล้วยเป็นหลัก แต่มันไม่พอขายด้วย ขายได้แค่เดือนละครั้ง ถามว่าเท่าไรถึงจะพอ ก็ถ้าได้ดินดี ที่กว้างสัก 5-6 ไร่ ขายได้เดือนละสัก 3,000 บาท ก็น่าจะพอได้”
เขากล่าวต่อไปว่า “ตอนอพยพลงมา รัฐบอกว่าจะจัดการให้เรียบร้อยทุกอย่าง แต่เรื่องน้ำ อุทยานฯ เขาก็ไม่มาช่วย แต่มีองค์การอย่างปิดทองหลังพระมาส่งเสริมด้านการเกษตร แต่ถ้าอุทยานไม่อนุญาต ปิดทองฯ ก็มาช่วยไม่ได้ เขาไม่ใช่หน่วยงานหลัก ก็ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะพื้นที่อยู่ใต้อำนาจของอุทยานฯ น้องที่ดูแลโครงการก็ตัวเล็กตัวน้อย”
“พอไฟเสียก็ซ่อมไม่ได้ ต้องรอบริษัทมาสร้างให้ น้ำที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็ไม่พอ เราเสนอให้ทำบ่อน้ำ ทำประปาภูเขา แต่สิ่งที่เราเสนอ ทางการเขามักไม่ให้ เขามักทำตามความคิดของเขา ทั้งๆ ที่เราเห็นว่าที่อื่นก็ทำประปาภูเขาได้ แต่ที่นี่กลับทำไม่ได้” พี่ปลุกล่าวย้ำ
นอกเหนือไปจากที่ดินทำกินแล้ว ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข พี่หน่อยเล่าว่า “สร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในเขตอุทยานฯ กลับเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือผู้มีอิทธิพลบางกลุ่ม แต่กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นถนนหรือทางเข้าหมู่บ้าน รัฐก็ไม่สร้างให้ ทําให้ชาวบ้านเดินทางเข้าออกด้วยความยากลำบาก ทำให้ตั้งคำถามว่าถ้าเขาเจ็บป่วยจะลงไปหาหมอทันไหม อย่างกรณีแม่กิ๊ปที่เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ก็สะท้อนถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล”
“กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ช่วยเจรจาทําความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่ปู่คออี้ จะไม่เกิดการหายไปของบิลลี่ ถนนหนทางก็จะเกิดขึ้น ก็จะไม่เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้ที่เจ็บป่วยสาหัสแต่ไม่สามารถลงไปรักษาได้หรือถูกปฏิเสธการรักษา เพราะอย่างโรงพยาบาลตามพื้นที่ชายแดนก็มีความร่วมมือของหน่วยงาน มีแพทย์พยาบาลช่วยเหลือคนไร้สัญชาติและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการรักษา แต่พื้นที่นี้ถูกปิดกั้นค่อนข้างมาก ไม่รู้ว่าทัศนคติชาวพื้นเมืองขัดแย้งกับรัฐมากขนาดไหน จนทําให้สิทธิขั้นพื้นฐานบางส่วนถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ” พี่หน่อยทิ้งท้าย

…
การใช้ชีวิตที่บางกลอยล่างนั้นยากลำบาก แต่ความลำบากนั้นยิ่งทบทวี เมื่อย้อนไปช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ราวหนึ่งปีหลังการแพร่ระบาดของโรค ผลกระทบจากวิกฤตนี้ยังไม่คลี่คลาย จากคำบอกเล่าของพี่ไก่ ชาวบ้านพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาสาธารณสุข วัคซีนกระจายไม่ทั่วถึง อีกทั้งหนุ่มสาวชาวบางกลอยที่ทำงานรับจ้างในเมืองก็ตกอยู่ในสถานะว่างงาน
ในที่สุด เมื่อเดือนมกราคม 2564 ชาวบ้านบางกลอย 37 ครอบครัว ราว 85 คน ตัดสินใจเดินเท้าจากบางกลอยล่าง กลับขึ้นไปยังบางกลอยบน มีจุดมุ่งหมายคือการกลับไปยังใจแผ่นดิน ผืนดินอุดมสมบูรณ์ที่พวกเขาต้องจำจากมา
“ตอนนั้นเป็นช่วงชุลมุน พอกลับมาชาวบ้านก็กลัว เพราะยังมีปมขัดแย้งเดิมอยู่เรื่องพื้นที่ตรงนี้” พี่ไก่กล่าว และเล่าต่อไปว่า “พอรู้ข่าว เราห่วงอย่างเดียวว่าอย่าให้มีความรุนแรง ก็เลยรีบบอกเจ้าหน้าที่ รีบไปยื่นเรื่องเจรจาต่อรองขอทำข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาก่อน เวลานั้นก็จะมีชาวบ้านและเครือข่ายกลุ่มหนึ่งชุมนุมหน้ากระทรวง อีกกลุ่มหนึ่งถูกเชิญไปรับฟังข้อคิดเห็น”
ประเด็นเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐเตรียมปฏิบัติการนำชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่า และ แฮชแท็ก #saveบางกลอย ก็ได้กลายเป็นกระแสใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต เกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์และเครือข่าย แม้จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย แต่ก็ไม่เป็นผล
พี่ไก่เล่าว่า “ทั้งเครือข่ายกะเหรี่ยง รวมถึงหน่วยงานรัฐก็มาช่วยเก็บข้อมูล แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ชาวบ้านกำลังเก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อจะไปรายงานให้คณะกรรมการและรีบแก้ไขปัญหา จู่ๆ เฮลิคอปเตอร์ก็บินทั่วเลย และเจ้าหน้าที่ก็สนธิกำลังเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านเขาก็กลัว ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำร้อย” นั่นคือจุดเริ่มต้นของยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ที่ชาวบ้าน 13 คน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
พี่หน่อยเล่าให้เราฟังว่า ในบรรดาการเจรจาหลายครั้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีครั้งหนึ่งชาวบ้านถูกเรียกไปพบ เหตุการณ์วันนั้นถูกบันทึกภาพไว้ และเจ้าหน้าที่ก็นำภาพไปถามคนที่รู้จักชาวบ้าน เพื่อให้ระบุชื่อแต่ละคน “ทั้งที่ชาวบ้านอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเจ้าหน้าที่รัฐของไทยก็กลับใช้วิธีนี้ในการระบุชื่อ ระบุตัวตน และออกหมายจับ”
ปฏิบัติการครั้งใหญ่เกิดขึ้นตามมา พี่หน่อยเล่าให้เราฟังว่า “ช่วงนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าไปเจรจาหลายรอบ รอบสุดท้ายก็คือวันที่ 5 มีนาคม 2564 วันนั้นเหตุเกิดตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน พวกเขาถูกกระทำเหมือนไม่ใช่เรียกคน เจ้าหน้าที่ตีเกราะเคาะไม้ ใช้ไม้ตีเพิงไม้ไผ่ดังๆ ให้ชาวบ้านตื่นออกมาจากบ้าน และเกณฑ์ทุกคนมารวมกัน แล้วก็บังคับพวกเขาให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาข้างล่าง”
เหตุการณ์วันนั้น ที่ทำการอุทยานฯ ถูกตั้งเป็นพื้นสอบสวนชั่วคราว ชาวบ้านทั้งหมดราว 80 คน ถูกนำตัวลงมาทั้งหมด และเมื่อถึงอุทยาน ก็จะเลือกเฉพาะคนที่มีหมายจับอยู่แล้ว แม้พี่หน่อยจะติดต่อทนายความที่เพชรบุรีให้เข้ามาแสดงตนเป็นทนายความ แต่เจ้าหน้าที่ก็กลับไม่อนุญาตให้เข้าร่วมการสอบสวน และสุดท้ายก็แจ้งความดำเนินคดีชาวบ้าน 30 คน (ภายหลัง 28 คน เนื่องจากมีสองคนที่ถูกระบุผิดตัว) ในข้อหาบุกรุกป่า ซึ่งในจำนวนนี้มีเยาวชนสองคน ทุกคนถูกจับไปที่เรือนจำเขากลิ้ง ไม่เว้นแม้แต่ปู่นอแอะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้านบางกลอย ก็ต้องไปเรือนจำทั้งที่ยังนั่งรถเข็น ทุกคนถูกกล้อนผม
“วันนั้นเราเสนอแนะว่าขอใช้ตัวแทนของเราเข้าไปสังเกตการณ์และเป็นล่ามในการสอบสวนได้ไหม แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้ เขาบอกว่ามีล่ามอยู่แล้ว คือเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนปกาเกอะญอ แต่มันก็ไม่ยุติธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ชาวบ้าน เราถือว่าเราต้องมีสิทธิที่จะให้ตัวแทนฝั่งเราเข้าไป ตามมาตรฐานหลักการสากลหรือหลักการทั่วไปของกระบวนการยุติธรรม แต่เขากลับไม่ให้” พี่ไก่กล่าว
“มันก็เห็นอยู่แล้วว่าคุณจะเอาผิดชาวบ้าน คุณไม่ได้มีทางออกอย่างอื่นให้ ทั้งที่จริงๆ จะเจรจาหรือยกฟ้องไปก็จบ แต่คุณไม่มีความจริงใจที่อยากแก้ปัญหา” พี่ไก่ทิ้งท้าย
หลังจากนั้น ชาวบ้านที่ถูกคุมขังในเรือนจำก็ถูกปล่อยตัว พี่หน่อยเล่าย้อนถึงวันนั้นว่า “มันเป็นภาพที่น่าเศร้ามาก เด็กๆ ต้องเห็นผู้ชายถูกกล้อนผมกลับมา มันเป็นความเศร้าของทั้งชุมชนเลย คืนนั้นเรานอนที่นี่ ที่บ้านหลังหนึ่งของชาวบ้าน คุยกับเขา เขาก็เศร้า ไม่รู้จะอธิบายกับลูกอย่างไร”
จากสถานการณ์ดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย ซึ่งมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธาน และในปีถัดมา ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ประธานคือ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ปัญหาของชาวบ้านบางกลอยก็ยังไม่ได้รับการบรรเทา ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีในครั้งนั้นก็ยังคงอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย ท่ามกลางการเรียกร้องจากภาคประชาสังคม กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ภาคี Save บางกลอย พีมูฟ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการชุมนุมหลายครั้ง จนเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ลงนามรับรองให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่งตั้งคณะทำงานสามฝ่าย ประกอบด้วยผู้แทนชาวบ้านบางกลอยที่ต้องการกลับไปดำรงวิถีชีวิตทำไร่หมุนเวียนที่บางกลอยบน กรรมการอิสระ และผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากพี่ปลุแล้ว ฉันได้พูดคุยกับพี่น้องบางกลอยหลายคน หนึ่งในนั้นเคยพยายามกลับขึ้นไปยังบางกลอยบนเมื่อปี 2564 เขาเล่าว่า “ที่นี่ (บางกลอยล่าง) ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีงาน แต่บางกลอยบนมีที่ทำกิน ได้ทำไร่” ฉันสังเกตเห็นผมที่มัดเป็นจุกยาวของเขา ก่อนที่เขาจะบอกว่ามันเคยถูกกล้อนไปในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปเรือนจำ กล่าวมาถึงตรงนี้ เขาก็นิ่งไปครู่หนึ่ง และย้ำกับฉันอีกครั้งว่า
“อยากกลับขึ้นไปบางกลอยบน”

4
การต่อสู้ยังคงไม่สิ้นสุด
ปัจจุบันนี้ สำหรับสถานะคดีชาวบ้าน 28 คนที่ถูกตั้งข้อหาบุกรุกอุทยานฯ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย ตัวแทนจากกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น อธิบายว่า ขณะนี้ คดีอยู่ในชั้นอัยการสูงสุด โดยเมื่อปี 2564 ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและทางทีมทนายความได้ยื่นขอความเป็นธรรมกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อชะลอหรือยุติการการฟ้อง และต่อมาเมื่อปลายปี 2566 อัยการสูงสุดได้ส่งหนังสือตอบกลับแจ้งมายังชาวบ้านที่เป็นแกนนํา ให้ยุติเรื่องการร้องขอความเป็นธรรม
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2567 ทางตัวแทนบางกลอยคืนถิ่นได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เพื่อขอให้ชะลอหรือยุติคดี และคาดหวังว่าคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนปกาเกอะญอบางกลอย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) เป็นประธาน จะเป็นกลไกสำคัญในการคลี่คลายปัญหา ซึ่งขณะนี้มีแนวทางคือการให้ชาวบ้านบางกลอยกลับไปทดลองอยู่ที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นเวลาห้าปี แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีการดำเนินงานจากกรมอุทยานฯ ซึ่งชาวบ้านและเครือข่าย
…
ขณะที่คดีบิลลี่ ในส่วนของคดีอาญาที่ชัยวัฒน์และพวกรวมสี่คนตกเป็นจําเลย หรือเป็นผู้ต้องสงสัยว่าไม่ปล่อยตัวบิลลี่นั้น ศาลกลับไม่เชื่อว่ากระดูกที่พบนั้นเป็นของบิลลี่ เนื่องจากว่ากระดูกถูกเผาไปแล้ว ดีเอ็นเอเหลืออยู่น้อยมาก จึงเทียบได้เพียงว่าเป็นลูกของแม่หรือหลานของยายบิลลี่ ซึ่งในประเด็นนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่าไม่มีลูกของแม่โพเราะจีคนไหนเสียชีวิตก่อนบิลลี่ และสำหรับหลานของยาย หากเสียชีวิตก็จะฝังไว้บนภูเขา ไม่มีใครที่กระดูกจะลอยน้ำลงมาที่อุทยานแห่งชาติได้
พรพิมล มุกขุนทด ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงผลการตัดสินของศาลชั้นต้นที่ว่านายชัยวัฒน์ หรือหัวหน้าอุทยานฯ มีความผิดตามมาตรา 157 คือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีโทษจำคุกสามปี แต่ศาลยังไม่เชื่อว่านายชัยวัฒน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมบิลลี่ เป็นเหตุให้ยกฟ้อง ซึ่งปัจจุบันนี้ ชัยวัฒน์ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในผู้อำนวยการกรมอุทยานฯ ตามปกติ
ท้ายที่สุดแล้ว จากการที่ทีมทนายความพูดคุยกับพี่มึนอ แม่โพเราะจี และครอบครัว ก็ได้ข้อสรุปว่าโทษจําคุกของหัวหน้าอุทยานฯ ชัยวัฒน์นั้นน้อยเกินไป จึงได้ทําการยื่นอุทธรณ์คดี ซึ่งในเวลานี้อยู่ระหว่างการรอคําพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์
นอกเหนือจากการอุทธรณ์ในคดีอาญา ทีมทนายความ แม่โพเราะจี พี่มึนอ และลูกของบิลลี่อีกห้าคนก็ได้ร่วมกันยื่นฟ้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง เกี่ยวกับเรื่องความเสียหายทางด้านจิตใจ ชีวิต ร่างกาย โดยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ และเรียกร้องค่าเสียหาย 44 ล้านบาท
แม้ผลการตัดสินคดีอาญาจะยังทวงความยุติธรรมให้บิลลี่ไม่ได้เท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม พี่หน่อยทิ้งท้ายว่า “การต่อสู้ตลอด 20 ปี ทนายสมชาย และ 10 ปี บิลลี่ ทําให้เราได้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย ซึ่งตอนนี้มีบทที่จะเอื้อให้เกิดการค้นหาความจริงได้ดี และน่าจะกว้างขวางกว่า 10-20 ปีที่แล้ว และหากมีกรณีการบังคับให้สูญหายในอนาคต ก็จะกลายเป็นคดีอาญาที่มีบทลงโทษหนัก การสืบสวนสอบสวนจะดําเนินการเร็วขึ้นด้วย”
สามปี คดีชาวบ้านบางกลอยคืนถิ่น
10 ปี คดีบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ
ตลอดการต่อสู้ที่ผ่านมาของชาวบ้านบางกลอย ฉันนึกถึงคำพิพากษาเมื่อปี 2561 ของศาลปกครองสูงสุดที่ว่า หมู่บ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบนที่ปู่คออี้อยู่ เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่มาเนิ่นนานแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์ของปู่คออี้จริง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายคออี้และพวก
นั่นน่าจะเป็นคำตัดสินครั้งสำคัญในบรรดาการต่อสู้อันแสนยาวนาน แต่กระนั้น ก็ยังเห็นได้ชัดว่าชาวบ้านบางกลอยถูกละเมิดยิ่งกว่านั้นมากนัก และยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ นับเป็นเรื่องน่าสะท้อนใจ ที่คนกลุ่มหนึ่งต้องถูกขับไล่ให้ออกจากบ้านของตัวเอง คนคนหนึ่งถูกอุ้มหาย และคนที่พยายามกลับไปอยู่บ้านของตัวเองต้องถูกจับกุมดำเนินคดี
การต่อสู้ของชาวบ้านบางกลอยยังไม่จบลง และยังคงมีเรื่องราวมากมายที่รอคอยการเล่าขาน แต่ถึงเวลาแล้วที่ฉันจะต้องบอกลาชาวบ้านบางกลอย ฉันเดินทีละก้าว จากศาลาพอละจี ผ่านลานกว้างกลางหมู่บ้าน เห็นเด็กๆ กำลังสนุกสนานกับการละเล่นสะบ้า ภาพตรงหน้านี้ซ้อนทับกับภาพพี่มึนอที่กำลังอ่านกลอนรำลึกถึงบิลลี่ ภาพของแม่โพเราะจีเล่าความฝันที่บิลลี่กลับมาหา ภาพความทรงจำของชาวบ้านบางกลอยที่ปรารถนาจะกลับคืนสู่ใจแผ่นดิน ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ฉันมาที่นี่ ปรากฏในห้วงความคิดระหว่างที่ฉันข้ามสะพานแขวนแคบๆ กลับไปยังผืนดินอีกฟากหนึ่ง
ฉันมองไปรอบกาย เห็นภูเขาเรียงรายล้อมรอบฟ้ากว้างท่ามกลางแสงตะวัน พื้นที่แห่งนี้ยังคงมีชีวิต และการต่อสู้ของชาวบางกลอยยังคงดำเนินต่อไป
ในความแห้งแล้ง ยังมีความหวัง …
หวังว่าวันหนึ่งความยุติธรรมจะปรากฏ

[1] ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรียบเรียงจาก ย้อนอดีต เส้นทางที่ไม่ได้เลือก: กะเหรี่ยงแก่งกระจาน
[2] ใจเดียวกัน – วงสามัญชน