fbpx
"การเมืองเปลี่ยนผัน ชีวิตจึงผันเปลี่ยน" - รัฐประหารพม่า 1 ปีผ่านมา ชีวิตคนพม่าเปลี่ยนไปอย่างไร

“การเมืองเปลี่ยนผัน ชีวิตจึงผันเปลี่ยน” – รัฐประหารพม่า 1 ปีผ่านมา ชีวิตคนพม่าเปลี่ยนไปอย่างไร

เช้ามืดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพพม่านำรถถังบุกกรุงเนปิดอว์ เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน วินาทีนั้นไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สังคมการเมือง เปลี่ยนแปลงดุลอำนาจเชิงภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นวินาทีที่ทำให้ ‘ชีวิตของประชาชนคนพม่า’ ล้วนต้องผันแปรไปอย่างสิ้นเชิง

1 ปีที่เหตุการณ์รัฐประหารล่วงผ่านมา 101 พูดคุยกับคนพม่า 7 คน ถึงเรื่องราวชีวิตที่ต้องพลิกผัน พร้อมกับความฝันที่พังทลาย ภายใต้ช่วงเวลา 1 ปีแห่งการรัฐประหาร ทั้งเรื่องราวของ ‘เจแปน จี๊’ (นามสมมติ) ครูสอนภาษาญี่ปุ่นที่ตัดสินใจเข้าป่า ผันตัวเป็นทหารในสังกัดกองกำลังประชาชน เพื่อสู้รบกับทหารพม่า, ‘ซู’ (นามสมมติ) บัณฑิตปริญญาโทจบใหม่จากมหาวิทยาลัยในไทยที่ความฝันต้องพังทลายและสูญเสียคนที่รัก, ‘เซีย’ ข้าราชการครูที่หาญกล้าต่อต้านกองทัพ จนต้องหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย, ‘โกธู’ (นามสมมติ) แรงงานชาวกะเหรี่ยงที่แม่สอด ที่ต้องแยกจากสมาชิกในครอบครัว, ‘ยีมาเล’ ชาวพม่าที่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยร้านอาหารในไทย เพราะห่วงความปลอดภัยของชีวิต, ‘ทีดาวิน’ ผู้ช่วยร้านค้าในกรุงเทพฯ ที่ไม่อาจกลับไปตั้งตัวเปิดร้านอาหารที่บ้านเกิดได้อย่างที่ตั้งใจ, และ ‘พิเชษฐ์’ (นามสมมติ) แรงงานตลาดกุ้งในสมุทรสาคร ที่ต้องพยายามพาครอบครัวที่พม่าข้ามมาฝั่งไทย เพราะห่วงความปลอดภัยของครอบครัว

เจแปน จี๊ (นามสมมติ, 24 ปี) – อดีตครูสอนภาษาญี่ปุ่น ผู้ผันตัวสู่ทหารสังกัดกองกำลังประชาชน

“ผมสังกัดกลุ่มกองกำลังประชาชนที่เมืองกะเหล่ หน้าที่ในกองกำลังคือ หาเงินระดมทุนให้กับกลุ่ม รวมทั้งบันทึกรายรับรายจ่าย และเงินบริจาคด้วย”

“จริงๆ อาชีพที่ทำก่อนรัฐประหารคือเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น ก่อนโควิดระบาดกับก่อนเกิดรัฐประหาร ผมกำลังจะเตรียมเปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น แต่เพราะโควิด ก็เลยต้องพักเรื่องที่จะเปิดโรงเรียนไปก่อน พอมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ก็เกิดรัฐประหาร”

“ตั้งแต่รู้ข่าวชัดเจนแน่นอนแล้วว่าเกิดการรัฐประหาร ผมและเพื่อนๆ ก็ออกมาประท้วงเคลื่อนไหวบนท้องถนน ช่วงที่ออกมาประท้วง กลุ่มของผมเริ่มมีคนพูดถึงเยอะ เริ่มมีชื่อเสียง พอคนเริ่มจำได้ว่าออกมาประท้วง ทหารก็เริ่มตามจับ เพื่อนๆ ที่ร่วมขบวนการก็โดนจับไปหลายคน

“ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มรัฐประหารจนถึงช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ต้องหนีตลอด เพราะถูกทหารตามตัว ต้องหนีไปเรื่อยๆ แต่ช่วงที่หนีอยู่ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ พยายามระดมทุนเพื่อที่จะช่วยกองกำลังหาเงินระดมทุนออนไลน์ แต่ผ่านไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าไม่โอเคแล้ว เพราะเริ่มเห็นว่า ทหารบุกที่เมืองตัวเองอีกแล้ว เพื่อนโดนจับอีกแล้ว รู้สึกว่าช่วยแค่บนโลกออนไลน์ไม่ไหว เลยตัดสินใจเข้ามาอยู่ในพื้นที่กองกำลัง ตอนนี้ก็เข้าร่วมกับกองกำลังมาแล้วประมาณสามเดือน”

“สิ่งที่กองทัพกำลังทำกับประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และเราก็ไม่ได้อยากอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร เพราะฉะนั้น ที่ตัดสินใจออกมาร่วมสู้ในขบวนการ ก็เพราะเราต้องหาทางเลือกว่าจะสู้อย่างไร จะหาทางอย่างไรที่จะเอาอนาคต เอาความฝันของเรากลับคืนมาให้ได้ เลยเริ่มต้นลงถนนประท้วงก่อน จนกระทั่งเริ่มเห็นแล้วว่าฝ่ายทหารทำร้ายประชาชน เอาก้อนหินปา เอาปืนยิงใส่ประชาชนอย่างไม่มีจิตใจที่จะอยู่ข้างประชาชน ทหารคิดแต่จะทำร้ายประชาชน คิดว่าไม่สามารถออกประท้วงแค่บนท้องถนนอย่างเดียวได้อีกต่อไปแล้ว คนรุ่นใหม่ส่วนมาก รวมถึงผม เลยตัดสินใจจับอาวุธ สู้กลับด้วยอาวุธอย่างที่ทหารทำกับพวกเรา”

“ตั้งแต่มีการรัฐประหาร การงานอาชีพทุกคนแทบจะพังไปหมด แน่นอนว่าเสรีภาพ อิสรภาพแทบจะไม่เหลือเลย ทั้งสำหรับคนรุ่นใหม่ และทุกๆ คนที่ในพม่า จริงๆ ไม่มีใครต้องการการปกครองโดยระบบทหาร ไม่ใช่แค่คนรุ่นนี้ คนพม่าทุกรุ่นไม่มีใครต้องการระบบทหารอยู่แล้ว อีกอย่างที่กระทบชัดเจนคือเศรษฐกิจย่ำแย่ไปหมดทั้งประเทศ เพราะทหารปกครองไม่เป็น ส่วนครอบครัวผมทำงานราชการ หลังรัฐประหารก็ทำ CDM (Civil Disobedience Movement – อารยะขัดขืน) กันหมด ความเป็นอยู่ก็ได้รับผลกระทบไปหมด”

“ตัวผมเองในฐานะที่ทำอาชีพอาจารย์ ผมคิดถึงอนาคตของเด็กๆ เลยสู้เพื่อความฝันของตัวเองและอนาคตของเด็กๆ ด้วย ในรุ่นผมยังพอได้รับกลิ่นไอของความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่คนรุ่นหลังต่อจากนี้ที่กำลังจะเติบโต พวกเขาต้องได้สัมผัสมันอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ผมกล้าที่จะร่วมกับกองกำลังประชาชนอย่างเต็มที่ ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะทุ่มพลังอย่างเต็มที่ พร้อมสละชีวิต แม้ว่าจะต้องสูญสิ้นชีวิต เราก็ยอม ถ้าสิ่งที่ทำไปเป็นไปเพื่ออนาคตของทุกคน” 

“ช่วงเวลา 5 ปีที่รัฐบาล NLD ปกครองทำให้ความรู้สึกของเราเปลี่ยนไปเยอะมาก เพราะเป็นช่วงที่สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง ได้รับอิสรภาพ อยากทำอะไรก็ได้ทำ ทั้งในชีวิตประจำวันและในสิ่งที่ฝัน กลิ่นไอเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราเพิ่งได้รับมาไม่นานและรู้สึกประทับใจ พอมีรัฐประหาร รู้เลยว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะหายไป เราไม่อยากให้มันหายไป และจะไม่ยอมให้มันหายไป เลยตัดสินใจไม่ยากเลย ประชาชนส่วนมากก็คิดประมาณนี้ว่า จะทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งอิสรภาพและเสรีภาพกลับคืนมา”

“ทุกคนเชื่ออย่างแน่นอนว่าประชาชนจะชนะ เพราะการต่อสู้รอบนี้เป็นกระบวนการต่อสู้ของประชาชนโดยแท้จริง ประชาชนทุกฝ่ายเข้าร่วม แล้วความเชื่อที่ว่าสุดท้ายประชาชนจะชนะแน่นอน มันฝังอยู่ในใจทุกคน ไม่มีใครสามารถทำลายลงได้”

“ถ้าถามว่าอยากเห็นอะไรบ้างในอนาคต บอกได้ว่าตอบได้ยากมาก แต่สิ่งที่แน่นอนคือ ณ ตอนนี้ ฝ่ายประชาชนชนะอยู่ เพราะที่เรากำลังทำอยู่ก็มีบางส่วนที่ชนะแล้ว ส่วนในอนาคตบอกได้เลยว่า ประชาชนชนะอย่างแน่นอน แล้ววันหนึ่งเราจะประกาศชัยชนะได้อย่างเต็มที่ ผมเชื่อแบบนี้”

“อีกอย่างหนึ่งคือว่า ถ้าทำให้กองกำลังทหารและระบบทหารพังทลายลงได้ และพม่ากลับมาเป็นประชาธิปไตย ก็อยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนที่ต้องออกเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ไม่ได้ทำงานในบ้านเกิดตัวเองเพราะค่าตอบแทนไม่เพียงพอ เศรษฐกิจไม่ดี ได้กลับมาทำงานอยู่บ้านในวันที่เราชนะ มีค่าตอบแทนที่ดี ได้ใช้ชีวิตอย่างดีในประเทศพม่าของเราเอง”

“ในการต่อสู้ครั้งนี้ เราตัดสินใจไว้แต่แรกแล้วว่าอาจจะต้องสละชีวิตไปในการต่อสู้ ยังไม่รู้เลยว่าถ้าวางแผนชีวิตในอนาคตแล้ว เราจะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าในวันที่ประชาชนชนะ นี่เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้ เลยยังมองไม่เห็นอนาคตตัวเองสักเท่าไหร่” 

“แต่ถ้าจะให้จินตนาการ ส่วนตัวอยากจะไปใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น อยากไปเรียนต่อ หาเงินกลับมาลงทุนเปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นที่บ้านตัวเอง ใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดาๆ มีวาดฝันไว้แหล่ะ แต่ความฝันของเรามันก็เป็นแค่สิ่งลางๆ ที่ไม่แน่นอน เพราะในการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่รู้ว่าจะต้องเสียใครในกลุ่มไปอีก เมื่อปีที่แล้ว ประมาณวันที่ 20 ธันวาคม เราก็เพิ่งสูญเสียเพื่อนร่วมทัพของเราไป เขาเพิ่งจะอายุแค่ 20 ปี เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นช่วงวัยที่กำลังเติบโต กำลังใช้ชีวิต กำลังจะมีอนาคต แต่ก็ต้องสูญเสียชีวิตไป ทุกการสูญเสียแต่ละครั้งมันกระทบต่อจิตใจมากๆ แต่ก็ต้องยอมรับ เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา การทำสงครามหรือการออกรบย่อมต้องมีการสูญเสีย ต้องมีการสละชีวิตอย่างแน่นอน”

“อยากให้ประเทศไทยช่วยเหลือพม่าด้วย อยากฝากถึงรัฐบาลประเทศไทยว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลไทยไม่ยอมรับระบอบทหาร ไม่ยอมรับว่ากองทัพคือรัฐบาลพม่า อยากขอให้ไทยหยุดสนับสนุนกองทัพพม่า ไม่ร่วมธุรกิจกับทหารพม่า และอยากให้รัฐไทยร่วมสนับสนุน ช่วยเหลือ ทำงานกับทางฝ่ายประชาชน ไม่ว่าจะเป็น NUG (์National Unity Government – รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) หรือ PDF (People’s Defense Force – กองกำลังป้องกันประชาชน) ที่กำลังต่อสู้อยู่ตอนนี้”

ซู (นามสมมติ, 31 ปี) – ครูสอนดนตรี, บัณฑิตปริญญาโทจบใหม่จากมหาวิทยาลัยในไทย

“ฉันอยู่ที่ไทยมาแล้ว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2017 ก่อนหน้านี้ฉันวางแผนว่าจะกลับประเทศพม่า หลังจากที่ฉันเรียนจบปริญญาโท แต่…(ร้องไห้)…ฉันขอโทษนะ จริงๆ ฉันพยายามจะไม่คิดถึงเรื่องนี้”

“คุณรู้ไหม ฉันวาดฝันเอาไว้ใหญ่โตมาก ฉันเพิ่งเรียนจบ เป็นครูสอนดนตรี ฉันก็ตั้งใจว่าฉันจะกลับประเทศ ไปเปิดโรงเรียนสอนดนตรีกับคุณป้าของฉัน แล้วก็จะพยายามเอาตำแหน่งวิชาการสูงๆ มาให้ได้ แต่พอเกิดรัฐประหาร ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด มันเป็นการเปลี่ยนแปลงมหาศาลของชีวิตฉันเลย”

“ช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ พวกกองทัพ – ไม่สิ พวกกลุ่มก่อการร้าย – ทำระบบสาธาธารณสุขของประเทศเราพัง กีดกันไม่ให้พวกเราได้เข้าถึงถังออกซิเจน มันเลยทำให้ฉันต้องเสียคนในครอบครัวไปสองคน คนแรกคือคุณป้าของฉัน คนที่ฉันจะเปิดโรงเรียนสอนดนตรีด้วยนั่นแหละ อีกคนหนึ่งก็คุณย่าของฉัน ท่านเสียวันเดียวกับคุณป้าฉันเลย”

“แล้วเพื่อนของฉันหลายคนตอนนี้ก็ถูกจับไปขังคุก เพราะพวกเขาออกไปชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ฉันไม่รู้เลยว่าพวกเขาเป็นตายร้ายดียังไง ยังมีชีวิตอยู่ไหมก็ไม่รู้ ส่วนเพื่อนฉันอีกหลายคนก็กำลังหลบหนีอยู่”

“สำหรับคนพม่าทุกคนตอนนี้ แต่ละวันคือการดิ้นรนเอาชีวิตรอดให้ได้ ส่วนตัวฉันเอง ฉันอยากกลับบ้านฉันมาก อยากทำตามความฝันของฉัน แต่ทุกอย่างพังหมด ตอนนี้ฉันเลยรู้สึกเหมือนคนเป็นซึมเศร้า”

“ทุกวันนี้ ฉันติดตามข่าวประเทศของฉันทุกวัน แต่ก็ทำได้แค่นั้น ฉันช่วยอะไรไม่ได้เลย และฉันก็กำลังรู้สึกเหมือนว่าฉันกลายเป็นผู้ลี้ภัยไปแล้ว ฉันกลับไปไม่ได้จริงๆ ฉันไม่สามารถกลับไปประเทศในสภาพที่กำลังถอยหลังไปนานกว่า 20 ปี เป็นสภาพที่ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจพังทลาย นี่แหละคือผลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร”

“รัฐประหารครั้งนี้เป็นอะไรที่ทำลายความฝันพวกเราทุกคน ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยคิดว่าจะย้ายไปอยู่ประเทศไหน ฉันอยากกลับบ้าน แล้วตอนนี้ฉันก็ไม่เห็นอนาคตเลยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ตอนนี้ฉันมีปัญหาเรื่องวีซ่าด้วย เพราะพอฉันเรียนจบ วีซ่านักศึกษาฉันก็ถูกมหาวิทยาลัยยกเลิกไป หลังจากนั้นฉันก็ได้วีซ่าทำงานมา 6 เดือน พอครบกำหนด ฉันก็ต้องกลายเป็นเหมือนแรงงานเถื่อนอยู่พักหนึ่ง ตอนนี้ฉันไม่ได้ทำงานนั้นแล้ว แล้วหลังจากนั้นก็ได้วีซ่าโควิดมา แต่ตอนนี้วีซ่าตัวนี้ก็ใกล้หมดอีกแล้ว ฉันไม่รู้เลยว่าชีวิตจะยังไงต่อ”

“ทุกวันนี้ ฉันก็ยังติดต่อคนในครอบครัวได้อยู่ มันก็ยังดีนะ แต่ก็มีความลำบากบ้าง เพราะพวกเขาอายุเกิน 60 กัน เลยขลุกขลักบ้าง แต่ตอนนี้ก็คุยได้ ฉันก็ติดต่อกับพวกเขาเกือบทุกวัน แล้วทุกครั้งคำถามที่ฉันต้องถามคือ ยังมีชีวิตอยู่ใช่ไหม ยังปลอดภัยดีใช่ไหม ส่วนแม่ฉันก็จะชอบบอกว่าเขาอยู่ที่นั่นได้ เพราะเขาเคยอยู่แบบนี้มาก่อนแล้วในสมัยเผด็จการทหารยุคก่อนๆ”

“ฉันหวังเสมอว่าประเทศของฉันจะกลับคืนมาโดยเร็ว ไม่ใช่แค่หวัง แต่ ‘เชื่อ’ เลยล่ะ เพราะมีความเชื่อแบบนี้ ทุกวันนี้ฉันถึงยังอยู่ได้”

เซีย (25 ปี) – ข้าราชการครู CDM ผู้หลบหนีมายังไทย

“ผมรับราชการเป็นคุณครูสอนนักเรียนในโรงเรียนมัธยมปลาย และมีส่วนร่วมในขบวนการ CDM ตั้งแต่ช่วงแรกๆ หลังเกิดการยึดอำนาจอองซานซูจี ผมก็ร่วมลงถนนประท้วง และสุดท้ายก็โดนหมาย 505 (มาตราที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้จากการประท้วง) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา”

“การที่ผมเป็นข้าราชการด้วยก็อาจทำให้ผมถูกเพ่งเล็งได้ง่ายกว่าคนทำอาชีพอื่นๆ อันที่จริงก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร ผมแทบไม่ได้สนใจการเมืองเลย ตื่นมาก็ไปสอนหนังสืออย่างเดียว เพราะแค่นั้นผมก็มีความสุขดีอยู่แล้ว จนเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ทุกอย่างก็ลำบากมาก เศรษฐกิจย่ำแย่ คนตกงาน ไม่มีเงิน มันไม่มีทางรอดเลย แม้แต่คนในสายอาชีพข้าราชการอย่างผมที่ถือว่าอยู่สบายที่สุดอาชีพหนึ่งในสังคมก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะไม่รู้ว่าคณะรัฐประหารจะทำอะไรเราบ้าง”

“นักเรียนที่ผมสอนต่างก็เกลียดคณะรัฐประหารกันทั้งนั้น ผมเองก็เกลียดการยึดอำนาจ จึงต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้นักเรียนได้เห็นเป็นแบบอย่าง และเพื่อจะซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อด้วย เราเป็นครู เราก็ต้องกล้าหาญให้พวกเขาได้เห็นอแม้ว่ามันจะเสี่ยงเอามากๆ เหลือเกิน อย่างตอนนี้ผมเองก็ถูกหมายจากกองทัพจนต้องพยายามหนีออกมา ต้องละทิ้งหน้าที่การงานไว้ ทั้งที่ผมชอบการสอนหนังสือมากที่สุดในชีวิต และเป็นไปได้ ถ้าไม่มีรัฐประหารผมก็อยากเรียนต่อสักที่ แต่ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว”

“ตอนนี้ผมไม่เห็นอนาคตตัวเองเลย ไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นยังไง จะได้กลับไปสอนหนังสือไหม แต่นั่นไม่ได้แปลว่าชีวิตผมพัง ชีวิตเราไม่ได้พังเพราะเรายังต่อสู้อยู่ ซึ่งถ้าเรายังสู้ได้ก็แปลว่ามันมีทาง ตัวผมหวังว่าคณะรัฐประหารจะหมดอำนาจไปภายในปีนี้”

โกธู (นามสมมติ, 29 ปี) – แรงงานชาวกะเหรี่ยง แถบริมแม่น้ำเมย
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

“ครอบครัวผมพากันมาอยู่ที่นี่ได้ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารแป๊ปเดียว”

“ตอนอยู่ฝั่งโน้นก็ทำไร่ทำสวน ปลูกผัก ปลูกถั่ว ปลูกข้าวโพด พอย้ายมาอยู่นี่ก็ทำคล้ายกัน รับจ้างทำไร่ทำสวน มีเจ้านายคอยดูแล”

“ตอนนั้นครอบครัวเราก็ทยอยย้ายมาฝั่งนี้ แต่อยู่ๆ ก็มีรัฐประหาร แล้วปรากฏว่าเหลือน้องชายผมคนหนึ่งที่ยังอยู่ฝั่งนั้น ไม่ทันได้ข้ามมา แล้วตอนนี้สถานการณ์ก็ยิ่งหนักขึ้นๆ แถมมีโควิดอีก น้องชายผมก็ข้ามไม่ได้ เราก็พยายามหาทางพาเขาข้ามมาให้ได้อยู่ แต่ก็ยังไม่ได้ ผมปรึกษาเจ้านาย ขอให้เจ้านายช่วย เขาก็ยังไม่กล้า เพราะตอนนี้ทางการตรวจสอบเยอะแยะไปหมด”

“ยังดีที่เรายังพอติดต่อกับน้องชาย ติดต่อกับเพื่อนๆ ญาติพี่น้องคนอื่นฝั่งนั้นได้ ที่เรารู้จากพวกเขาคือตรงนั้นก็มีการสู้กัน พอสู้กันปุ๊ป พวกเขาก็ต้องคอยหนีไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ยังได้ข่าวว่าปลอดภัยอยู่”

“ผมอยู่ตรงนี้ก็ได้ยินเสียงปืนนะ ได้ยินไกลๆ มาจากข้างบน ทุกครั้งที่ได้ยิน ผมก็เป็นห่วงครอบครัวกับเพื่อนๆ ของผมที่ยังอยู่ฝั่งโน้น”

“ตัวผมเอง ผมอยู่ในที่ที่ปลอดภัย มีเจ้านายดูแล มีกินมีใช้ มีที่อยู่ให้ ตรงนี้โอเคมาก แต่ผมห่วงคนที่หมู่บ้าน อยากให้ช่วยเหลือคนทางนั้นกันมากกว่า ที่ผมรู้มาคือในนั้นลำบากกันมาก ทั้งเรื่องการกิน เรื่องการอยู่ อยากให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือ”

“ตั้งแต่รัฐประหารมาหนึ่งปี ชีวิตผมเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันนะ ตัวผมอาจจะไม่เท่าไหร่ คนอื่นๆ มากกว่า พอเกิดเหตุการณ์แล้ว คนพม่าก็เจอความยากลำบากมากมาย ผมก็ทำได้แค่คอยเป็นกำลังใจให้”

“ถามว่าอยู่ฝั่งพม่าหรือฝั่งไทยดีกว่า ตอบยากนะ เพราะเราเป็นคนจน เราอยู่ที่ไหนก็ได้ที่มีรายได้ มีงานทำ เลี้ยงครอบครัวได้ ความรู้สึกของครอบครัวคนจนก็แค่นี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนรวยเขาอยู่กันยังไง เจอผลกระทบมากขนาดไหน”

“แน่นอนผมกลับบ้านไม่ได้ แต่ผมก็มีความหวังว่าวันหนึ่งผมจะได้กลับไปอยู่บ้าน แต่ก็ไม่รู้ว่าบ้านผมถูกเผาไปหรือยังนะ”

ยีมาเล (24 ปี) – ผู้ช่วยร้านอาหารในกรุงเทพฯ
เพิ่งย้ายมาไทยเพราะรัฐประหาร

“ย้ายมาไทยได้ประมาณอาทิตย์กว่าๆ แล้ว ย้ายมากับน้อง ตอนนี้ได้งานแล้ว ทำงานเป็นผู้ช่วยอยู่ที่ร้านเมี่ยงคำ” 

“ก่อนรัฐประหารทำงานรับจ้างเย็บผ้า แต่พอรัฐประหารแล้วก็ทำงานไม่ได้ ไม่มีงานทำเลย”

“ที่ตัดสินใจเข้ามาไทย เพราะต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ทุกๆ วัน ทหารมาตามตรวจบ่อย จับใครได้ก็จับไป ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่แบบนี้ตลอดเราก็ไม่ไหว วันนี้ต่อให้ตรวจไม่เจอ วันหน้าก็ต้องเจออยู่ดี เลยต้องหนีออกมาอยู่ที่ไทย”

“ทหารเขาจับหมดเลย แต่ถ้าแสดงตัวว่าเป็นพวกเดียวกับทหาร หรือเป็นคนซักทอด แจ้งทหารให้ไปบุกตามจับคนก็จะไม่จับ เราอยู่ไม่ได้เลย เลยต้องมาหลบที่ไทยก่อน ตอนนี้ก็ทำงานเอาตัวรอดไปก่อน”

“ครอบครัวยังอยู่ที่พม่า ได้ติดต่ออยู่บ้าง ที่บ้านยังสบายดีเพราะว่าเป็นผู้ใหญ่ ทหารจะไล่จับแต่วัยรุ่นที่เข้าขบวนการ CDM ซึ่งเกือบจะทุกคน 90 คนใน 100 คนยังไงก็เข้าร่วม CDM อยู่แล้ว ทหารก็ตามจับเหมารวม”

“ตอนอยู่ที่พม่าก็ประท้วงไปด้วย หนีไปด้วย” 

“ก็สู้ไปด้วยกัน ตอนนี้ก็สู้เท่าที่สู้ได้ ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ช่วยคนที่กำลังสู้อยู่จริงๆ พวกเราจะคอยช่วยให้กำลังใจ ส่งอะไรไปให้ได้ก็ช่วยส่งไป” 

“ถึงเวลาที่สถานการณ์ที่พม่าดีขึ้นก็จะกลับ เพราะว่าในอนาคตเราอยากอยู่ที่นั่น”

“ถ้าทุกอย่างดีขึ้นแล้วได้กลับบ้าน ก็อยากทำงานเป็นดีไซเนอร์ เพราะก่อนหน้ารัฐประหารก็กำลังเรียนอยู่เลย”  

ทีดาวิน – ผู้ช่วยร้านค้าในกรุงเทพฯ

“ตอนนี้ทำงานในจตุจักรพลาซ่า ทำงานเป็นผู้ช่วยร้านค้า อยู่ไทยมา 14 ปีแล้ว”

“รัฐประหาร 1 ปีที่ผ่านมากระทบชีวิตมาก มากสุดๆ อนาคตหายไปเลย ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรแน่นอนเลยสำหรับพวกเรา ไม่ว่าจะคนพม่าทุกคนที่อยู่ในไทยหรือที่อยู่ในพม่า หรือแม้แต่เด็ก พ่อแม่เราก็กระทบ ทุกคนกระทบหมด”

“ที่รู้สึกว่าไม่มีอนาคตคือ อยากกลับบ้านแต่ไม่ได้กลับ ตอนนี้สิ่งที่อยากให้เปลี่ยนมากที่สุดมีอยู่อย่างเดียวคือรัฐประหาร” 

“พอเกิดรัฐประหารแล้ว แผนที่วางไว้ในอนาคตก็เปลี่ยน ที่เราตั้งเป้าหมายไว่ว่าอีกปีสองปีเราจะกลับบ้านไปตั้งตัว กลับไปทำอะไรที่ตั้งใจไว้คือหายหมดเลย ไม่รู้จะกลับบ้านไปยังไง อยากจะกลับไปก็ไม่รู้ว่ากลับได้เมื่อไหร่” 

“ที่ตั้งเป้าหมายไว้คือ ตั้งใจว่าจะเอาหลายๆ อย่างที่ได้เรียนรู้จากที่นี่อย่างการทำอาหาร ไปตั้งตัวที่พม่า เอาไปเปิดร้านอาหารไทย อาหารอีสาน เอาสิ่งที่เคยได้เรียนรู้ไปตั้งตัว แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอายังไงต่อ”

“ครอบครัวทุกคน พ่อแม่พี่น้องอยู่ที่นั่นหมดเลย อยู่ที่นี่คือมีแค่เราคนเดียว พอหลังรัฐประหารก็ติดต่อคุยกันลำบากขึ้น บางทีเขาก็ไม่ได้อยู่ที่บ้าน ต้องแอบ เรามีพี่น้องผู้ชาย ตอนกลางคืนเขาก็ต้องแอบ เพราะทหารตรวจ ไม่อย่างนั้นก็จะโดนจับ แต่พ่อแม่เราตอนนี้อายุมากแล้ว ทำอะไรไม่ไหว ก็ต้องอยู่เฉยๆ” 

“มีคนที่เพิ่งย้ายมาหลังรัฐประหาร [ในชุมชนคนทวายที่กรุงเทพ] เยอะอยู่นะ บางคนก็ได้งานแล้ว บางคนก็ยังไม่ได้ทำงาน บางคนก็หนีมาหลังโดนจับติดคุกมา 5 เดือน”

“คนที่หนีมาที่นี่ ส่วนมากไม่ได้มาคนเดียวโดดเดียว แต่มากับพี่น้อง หรือขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ในไทย มาอยู่กับญาติ ส่วนมากจะเป็นวัยรุ่นที่มา เพราะถ้าต่อต้านรัฐประหารจะโดนจับ ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมาเท่าไหร่ อย่างเราถ้ากลับไปยังไงก็โดนจับอยู่แล้ว เพราะเราต้านรัฐประหารอยู่ที่นี่”

“เขามา เราก็ช่วยเหลือ ถ้าเดือดร้อนก็มาได้ มาหลบก่อน”

“ทุกอย่างต้องดีขึ้นค่ะ เราต้องสู้ต่อ”

พิเชษฐ์ (นามสมมติ, 38 ปี) – แรงงานตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร

“ผมอยู่ไทยมาได้ 17 ปีแล้ว เป็นลูกจ้างเขาในตลาดกุ้ง, สมุทรสาคร

“ตอนที่เข้าไทยคือเมื่อสักปี 2548 เศรษฐกิจในพม่าย่ำแย่มาก อยู่ต่อไปยังไงก็ไม่มีกิน ทำอะไรไม่ได้เลย ก็เลยมาทำงานในไทย เพื่อหาเงินส่งกลับไปให้ที่บ้าน ให้ครอบครัว ให้เขาได้พอกินพอใช้ เลยทำให้ผมได้อยู่ที่ไทยเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ ก็ยังได้ติดต่อกับครอบครัว ส่งเงินดูแลอะไรให้เขาสม่ำเสมอ”

“อันที่จริง รัฐประหารเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้กระทบชีวิตส่วนตัวเท่าไหร่เพราะตัวผมอยู่ไทย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็เดือดร้อนกันไปหมด พาสปอร์ตราคาแพงขึ้น ส่งเงินกลับที่บ้านลำบากขึ้น แต่ที่กระทบอย่างมากคือสมาชิกในครอบครัว ตอนนี้ผมต้องพยายามทำทุกทางให้คนในครอบครัวปลอดภัยและให้ข้ามมาฝั่งไทยให้ได้ เพราะสถานการณ์ทุกอย่างดูแย่มาก ทุกคนเดือดร้อนกันไปหมด โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ส่วนมากเข้าร่วมกระบวนการต่อต้านรัฐประหารในพม่า ทำให้เด็กเหล่านี้ถูกทางการเพ่งเล็งและจับกุมเป็นส่วนใหญ่”

“ผมมีหลานที่กำลังศึกษาอยู่ระดับมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 กับปีที่ 2 พวกเขาอยู่ฝั่งสนับสนุนอองซานซูจี ตอนนี้พวกเขาไม่ได้เรียนแล้ว ผมพยายามให้พวกเขาข้ามมาไทยให้ได้เร็วที่สุด เพราะถ้าให้อยู่ที่พม่าต่อไป จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

“อนาคตพวกเขาจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ผมมองไม่ออกหรอก ผมรู้แค่ว่าถ้าอยู่ไทยยังไงก็ปลอดภัยกว่าอยู่ที่นั่นแน่นอน เพราะถ้าพวกเขายังอยู่ที่พม่า ก็คงไปเข้าร่วมกระบวนการต่อต้านเผด็จการและคงถูกจับในที่สุด”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save