fbpx

1 ปีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 1 ปีประเทศไทยบนทางแยก

พลันที่ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกนำเสนอต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยก็เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เมื่อเพดานทางความคิดได้ถูกยกระดับอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในด้านหนึ่ง ‘การทะลุเพดาน’ สะท้อนการตกผลึกทางความคิดของสังคมไทยในการมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมาอย่างแหลมคม แต่ในอีกด้านหนึ่ง เพดานที่เปิดขึ้นก็เผยให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีพื้นที่ของ ‘ความไม่รู้’ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อยู่มากเพียงไร ความสุ่มเสี่ยง ผันผวนและคาดเดาไม่ได้จึงไม่ใช่ผลลัพธ์ที่น่าแปลกใจ

ในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ ทางออกของสังคมไทยคงเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่หยุดคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถาม

101 ชวน 5 นักคิด นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทบทวนและอ่านการเมืองไทย จากความคิดความรู้สึกของผู้ประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูป คำถามเกี่ยวกับกิจการราชสำนักและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บทวิเคราะห์เครือข่ายในหลวงและพระราชอำนาจนำ ข้อวิพากษ์ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์กับทุน ถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุขในมุมมองเชิงเปรียบเทียบกับสากล

ความกลัวไม่อาจเปลี่ยนเป็นความรัก

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

สิ้นคำประกาศ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เพดานความคิดและการถกเถียงต่อประเด็นสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยก็พลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง

แม้ช่วงเวลาดังกล่าวจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่เบื้องหลังการเงยหน้าสบตากับประเด็นที่หลายคนมองว่าอ่อนไหว มีจุดเริ่มต้นจากการที่เธอตั้งคำถามอย่างเรียบง่าย 

“ตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่าทำไมคนบางกลุ่มจึงดูเหนือกว่าคนส่วนใหญ่มากๆ คนกลุ่มนี้เป็นใครกัน สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่สืบทอดมาจากสายเลือด ก็เกิดคำถามว่าวิธีการแบบนี้มาจากไหน ไม่ได้เป็นคนเหมือนกันหรือ แล้วการที่สถาบันฯ มีอำนาจ ทรัพยากร และอิทธิพลมหาศาลขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อสถาบันอื่นๆ ในสังคมอย่างไร” รุ้งกล่าว

หลังจากที่รุ้งอ่านข้อเรียกร้องและสื่อสารประเด็นอันแหลมคมผ่านกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมา ผู้คนจำนวนมากยังตั้งคำถามต่อการอธิบายปัญหาทางการเมืองโดยกล่าวถึงสถาบันฯ ขณะที่หลายคนยังลังเลว่าการสื่อสารประเด็นดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวโดยรวมจริงหรือ ท่ามกลางคำถามมากมาย รุ้งยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่มีสถาบันใดจะสามารถแยกตัวโดยไม่เกี่ยวข้องกับส่วนอื่น ไม่เว้นแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีอำนาจและอยู่ในเงื่อนไขการตรวจสอบที่จำกัด

“ขอย้ำว่าเราไม่ได้พูดว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศมีต้นตอมาจากสถาบันฯ แต่เราจะบอกว่าปัญหาใหญ่หลายปัญหาในประเทศเกี่ยวข้องกับสถานะและบทบาทของสถาบันฯ ซึ่งหากต้องการแก้ไขปัญหานั้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเอาบทบาทของสถาบันฯ มาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ด้วย”

“ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นข้อเสนอสำเร็จรูป ซึ่งบอกชัดว่าประเด็นใดบ้างเป็นปัญหาและต้องแก้ไขอย่างไร เรายังหวังว่าข้อเรียกร้องของเราจะถูกมองเห็นและมีการโอนอ่อนผ่อนตาม เชื่อว่าพลังของมวลชนจะมากพอให้สถาบันฯ สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ สถาบันฯ ต้องเลือกว่าอยากเป็นแบบไหน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง กระแสต่อต้านก็มีโอกาสรุนแรงมากขึ้น ถึงตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะจบลงอย่างไร ดังนั้น การปฏิรูปสถาบันฯ ตามข้อเรียกร้องนี้จะดีกับทุกคน” รุ้งกล่าวเพื่อย้ำว่า เหตุใดข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ จึงจำเป็น

ในวันที่แกนนำและผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสถาบันฯ ถูกดำเนินคดี ในวันที่ความหวาดกลัวกลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่ปิดโอกาสการสร้างพื้นที่พูดคุยถกเถียง รุ้งเชื่อว่าในบรรดาข้อเรียกร้องทั้งหมด การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอาญามาตรา 112 คือเรื่องที่ควรทำให้เร็วที่สุด เพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์และเปิดให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้สถานการณ์ไม่ดี การออกมาพูดเรื่องสถาบันฯ เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมากๆ แค่คนโพสต์เฟซบุ๊กก็โดน 112 ได้ แม้คำพูดจะดูไม่มีอะไร ยิ่งทำให้คนกลัวและการปกครองด้วยความกลัวมันไม่ยั่งยืนเลย ความกลัวอาจเปลี่ยนเป็นความเกลียดก็ได้ ใครจะรู้ แต่ความกลัวไม่อาจเปลี่ยนเป็นความรัก

“มีการดำเนินคดี 112 ไปกี่คนแล้ว ยิ่งรัฐทำแบบนี้สถาบันกษัตริย์ยิ่งอยู่ยากขึ้น เพราะเป็นการทำให้ประชาชนลำบากมากขึ้นที่จะเชื่อมั่น ลำบากมากขึ้นที่จะรัก ลำบากมากขึ้นที่จะศรัทธา ประชาชนคาดหวังว่าสถาบันจะเป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทรให้ประเทศนี้ เป็นประมุขบนหิ้ง เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ผดุงความยุติธรรม จึงไม่แปลกที่มีคนตาสว่างเพิ่มขึ้น ไม่แปลกที่จะมีคนเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากขึ้น

“ถ้าคนสามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี ไม่มีใครไปจับขัง ไปทำร้าย คงเป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ ในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนกับสถาบันฯ สามารถเจรจาต่อรองหรือพูดคุยกันได้บ้าง”

สถาบันกษัตริย์ภายใต้หลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบ

ปราการ กลิ่นฟุ้ง

“สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” คือหนึ่งในวรรคทองที่ปรากฏบนป้ายของผู้ชุมนุมบนท้องถนนในช่วงปีที่ผ่านมา และอาจเป็นวลีขนาดสั้นที่คนแก่พรรษาทางการเมืองไม่คิดไม่ฝันจะได้เห็น

แต่หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ใจความเดียวกันนี้ปรากฏชัดในเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 หลังการอภิวัฒน์สยาม ปี 2475 และปรากฏชัดแจ้งเป็นรูปธรรมผ่านท่วงทำนองแห่งรัฐสภา เมื่อตัวแทนประชาชนสามารถจัดระเบียบกิจการต่างๆ ของราชสำนักในฐานะกิจการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ การประกอบพระราชกรณียกิจ ไปจนถึงการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

หากพูดด้วยสุ้มเสียงแบบปัจจุบัน ‘การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงและมีความพยายามต่อรอง-จัดระเบียบมาตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์สยาม ปี 2475 ภายใต้หลักการราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ในยุคคณะราษฎร แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานะและพระราชอำนาจของสถาบันฯ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนผ่าน การเปลี่ยนแปลงบางสิ่งขยับออกจากหลักการในยุคคณะราษฎร และบางประเด็นก็กลายเป็นเรื่องเปราะบางที่ยากจะแตะต้องในปัจจุบัน

“ปัญหาเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันฯ มีรากฐานมาจากรัชกาลที่ 9 ประเด็นต่างๆ ในข้อเรียกร้องหลายข้อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยก่อน เพียงแต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยปัจจุบัน อาจกระตุ้นให้คนเห็นปัญหาเหล่านั้นชัดเจนมากขึ้น” นี่คือทัศนะของ ดร.ปราการ กลิ่นฟุ้ง อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของงานวิทยาพนธ์ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘Crown Property and Constitutional Monarchy in Thailand, 1932-1948’ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิชาการไทยจำนวนน้อยชิ้นที่ศึกษาเรื่องการจัดการกิจการราชสำนักและการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างเป็นระบบ

“ใจกลางของประเด็นเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และการจัดการราชสำนักโดยรวมคือ เราจะจัดการในฐานะที่เป็นกิจการสาธารณะหรือกิจการส่วนพระองค์ ถ้าย้อนกลับไปสมัยคณะราษฎร กิจการราชสำนักเกือบทั้งหมดถือว่าเป็นกิจการสาธารณะ เมื่อถือว่าเป็นกิจการสาธารณะแล้ว ตามหลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบ พระมหากษัตริย์ก็จะไม่มีพระราชอำนาจในกิจการเหล่านั้น อำนาจในการจัดการถูกเปลี่ยนมาเป็นของรัฐบาลตามกระบวนการ ขณะที่พระมหากษัตริย์จะเหลือพระราชอำนาจเพียงแค่การจัดการกิจการส่วนพระองค์บางอย่างเท่านั้น เช่น งบประมาณส่วนพระองค์ เป็นต้น” ปราการอธิบาย

หลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบถูกใช้กับกิจการราชสำนักอย่างค่อนข้างเข้มข้นในสมัยคณะราษฎร  แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจ การฟื้นฟูสถานะและบทบาทของสถาบันฯ ก็เกิดขึ้น ในการฟื้นฟูนี้นอกจากการรื้อฟื้นพระราชพิธีต่างๆ และสนับสนุนให้ทรงมีบทบาททางสังคมการเมืองแล้ว หลักการอำนาจและความรับผิดชอบก็ถูกละทิ้งไปด้วย

สำหรับปราการ การที่หลักนโยบายเกี่ยวกับสถาบันฯ ที่คณะราษฎรได้สร้างไว้ถูกละทิ้งไป เปรียบได้กับสันปันน้ำอันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ถึงกระนั้น บทเรียนสำคัญที่ปราการตกผลึกจากการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคหลัง 2475 คือ ความจำเป็นของการมีพื้นที่เจรจาต่อรอง

“คณะราษฎรประสบความสำเร็จจริงๆ หลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ช่วงต้นปี 2478 ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีพระมหากษัตริย์ที่บรรลุนิติภาวะประทับอยู่ในไทยเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ด้านหนึ่งมีข้อดีคือทำให้การผลักดันวาระต่างๆ เป็นไปโดยค่อนข้างราบรื่น รัฐบาลคุมเสียงครึ่งหนึ่งในสภาอยู่แล้ว”

“แต่จุดอ่อนที่ส่งผลในระยะยาวคือทำให้การผลักดันประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักเป็นไปโดยไม่มีการต่อรองกับราชสำนักจนเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง เหมือนรัฐบาลทำอยู่ฝ่ายเดียว พอฝ่ายราชสำนักสามารถกลับมามีบทบาททางการเมืองได้ วาระทางการเมืองแรกๆ ที่ถูกผลักดันให้แก้ไขคือ โละทิ้งสิ่งที่คณะราษฎรทำกับกิจการราชสำนัก”

“หากเราคาดหวังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยไม่นองเลือดและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน จะต้องผ่านการเจรจาต่อรอง และทำให้เกิดการยอมรับของแต่ละฝ่ายได้จริง ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปะทะแล้ว การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เท่านั้น” ปราการกล่าวทิ้งท้าย

พระราชอำนาจนำ และ ‘เครือข่ายในหลวง’

อาสา คำภา

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กรอบคิดว่าด้วย ‘เครือข่ายในหลวง’ (network monarchy) และ ‘พระราชอำนาจนำ’ (royal hegemony) คือกรอบแนวคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความรู้ความเข้าใจการเมืองไทยร่วมสมัย และคงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า วิกฤตและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของไทยส่วนหนึ่งเกิดจากความผกผันของเครือข่ายในหลวงและพระราชอำนาจนำ เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย

“เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงต่างๆ ล้วนสัมพันธ์กับการขึ้นลงของพระราชอำนาจนำและเครือข่ายในหลวง” นี่คือคำยืนยันถึงบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยในทัศนะของ ดร.อาสา คำภา จากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของหนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ งานศึกษาเกี่ยวกับการเมืองไทยและสถาบันกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดเล่มหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา

อาสาเห็นด้วยกับ ดันแคน แมคคาโก (Duncan McCargo) ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษานอร์ดิก และศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ที่เสนอว่าการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างแท้จริงควรพิจารณาการเมืองเชิงเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่ายสถาบันกษัตริย์หรือเครือข่ายในหลวง แต่สิ่งที่เขาทำต่อจากงานของแมคคาโกคือการเข้าไปค้นลึกถึงตัวแสดงอย่างชัดเจน โดยย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปไกลตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน

สิ่งที่อาสาค้นพบคือ สถานะความนิยมของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบลอยๆ หากแต่ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกเครือข่ายอย่างเข้มข้น กล่าวคือในสมัยต้นรัชกาลที่ 9 ความพยายามอย่างหนึ่งของสถาบันฯ คือการแสวงหาจุดยืนเพื่อที่จะอยู่ในระบอบใหม่หลัง 2475 โดยไม่ต้องอิงกับระบอบทหาร จุดยืนดังกล่าวตั้งต้นจากอุดมการณ์แบบ ‘ราชประชาสมาสัย’ ก่อนจะเคลื่อนไปเป็นโมเดลแบบ ‘กษัตริย์ผู้เป็นพ่อแห่งชาติ’ หลังผ่านกระแสการเมืองยุคตุลา

“ราชประชาสมาสัยเป็นคำสนธิ ที่แปลว่า ‘พระราชากับประชาชนพึ่งพาอาศัยกัน’ คำนี้เกิดขึ้นปลายทศวรรษ 2490 คือช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับมาประเทศไทย จากการเผชิญปัญหาต่างๆ สุดท้ายก็ตกตะกอนว่าสถาบันฯ ต้องนำตัวเองไปผูกกับประชาชน กษัตริย์กับประชาชนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย นี่เป็นโครงการทางการเมือง (political projects) ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มปัญญาชนกษัตริย์นิยม”

“ช่วงทศวรรษ 2520 เราจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของในหลวงอีกครั้งว่ามีความประนีประนอมต่อรองมากขึ้น เพื่อที่จะเป็นกษัตริย์ของชนชั้นนำไทยทุกกลุ่ม เป็นประมุขของชนชั้นปกครอง (head of the ruling class) จากเดิมมีฐานคิดแบบราชประชาสมาสัยก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นอุดมการณ์แบบพ่อแห่งชาติ ตรงนี้น่าสนใจว่า คำว่าราชประชาสมาสัย นอกจากมีความหมายว่ากษัตริย์และประชาชนพึ่งพาอาศัยกัน ยังแฝงว่าทั้งสองฝ่ายมีสถานะเท่าเทียมกันด้วย แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นพ่อแห่งชาติ จะมีฝ่ายหนึ่งอยู่สูงกว่า กลายเป็น ‘ที่พึ่ง’ ของประชาชน” อาสากล่าว

นอกจากโมเดลที่สร้างความเชื่อมโยงกับประชาชนแล้ว อาสายังชี้ให้เห็นว่าเครือข่ายสถาบันฯ เป็นกลไกที่มีส่วนในการหนุนสร้างพระราชอำนาจนำเป็นอย่างมาก และหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าเครือข่ายสถาบันฯ นั้นมีความสัมพันธ์แบบอิสระเชิงสัมพัทธ์ กล่าวคือมีคนวิ่งเข้าวิ่งออก บางช่วงก็แนบแน่นกับสถาบันฯ บางช่วงก็ถอยห่าง โดยความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดำเนินภายใต้เงื่อนไข ‘ฉันทมติร่วม’ ของชนชั้นนำ “กระแสพระราชอำนาจนำที่เคยขึ้นสูงอาจตกลงมาได้ง่ายๆ ถ้าคุณละเมิดฉันทมติชนชั้นนำไทย” อาสาย้ำให้เห็นถึงอิทธิพลของความสัมพันธ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม พระราชอำนาจนำก็มิใช่สิ่งที่อยู่ในกระแสสูงอยู่ตลอดเวลา แต่ถูกท้าทายด้วยความเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครา เช่น ช่วงปี  2553 เกิดปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ ที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ความคิดของผู้คนจำนวนหนึ่งไป ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านรัชกาลและเกิดรัฐประหารในปี 2557 เครือข่ายสถาบันฯ ในรัชกาลที่แล้วก็ลดบทบาทลงเรื่อยๆ พร้อมกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ และตัวละครที่เคยอยู่ในสถานะคล้าย ‘หุ้นส่วน’ อย่าง ‘ทหาร’ เปลี่ยนแปลงไป นำมาซึ่งภาพจำแบบ ‘ทหารของพระราชา’ ที่หลายคนคุ้นเคย

“นักวิชาการหลายคนบอกว่ารัฐประหารปี 2557 เป็นการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนผ่านรัชกาล ชนชั้นนำยังคงคิดใช้วิธีการเดิมคือรัฐประหารเพื่อจัดระเบียบอำนาจกันใหม่ แต่ก็ชัดเจนว่ามันใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว สมัยหนึ่งรัฐประหารอาจจะเป็นฉันทมติของชนชั้นนำไทยในการแก้ไขปัญหา แต่หลังจากที่การเมืองกลายเป็นเรื่องที่มีมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงแล้ว การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป

“ด้านหนึ่งการที่ภาพลักษณ์สถาบันฯ ไปผูกติดกับรัฐบาลประยุทธ์ ไม่เป็นผลดีกับสถาบันฯ เลย ความสัมพันธ์แบบนี้ห่างไกลจากแนวทางราชประชาสมาสัย ที่เป็นจุดยืนสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลที่แล้ว ใครก็ตามที่ยังหลงใหลได้ปลื้มและคิดว่าสิ่งนี้ถูกต้องดีแล้ว น่าจะต้องคิดใหม่มากๆ” อาสากล่าว

ความมั่งคั่งบนสายสัมพันธ์ ‘เจ้าฟ้า-เจ้าสัว’

ปวงชน อุนจะนำ

‘เหตุใดสถาบันกษัตริย์จึงร่ำรวย’ และ ‘ความร่ำรวยนั้นสะท้อนอะไร’ เป็นคำถามง่ายๆ ที่ส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน

คำถามดังกล่าวเริ่มก่อตัวอย่างเงียบเชียบตั้งแต่ครั้งที่นิตยสาร Forbes รายงานและจัดอันดับว่ากษัตริย์ไทยร่ำรวยที่สุดในโลก กลายปริศนาสำหรับใครหลายคนว่า ขณะที่ทุนนิยมไทยเติบโตอย่างมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เหตุใดคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศกลับไม่ใช่นายทุน แต่เป็นกษัตริย์  

คำถามเดิมส่งเสียงสนั่นหวั่นไหวอีกครั้งผ่านปรากฏการณ์ ‘#ม็อบ25พฤศจิกาไปSCB’ เมื่อผู้ชุมนุมทางการเมืองบังคับทิศทางการเคลื่อนไหวโดยกระทุ้งไปยังความมั่งคงของสถาบันฯ ที่สวนทางกับสถานการณ์ปากท้องของประชาชนในช่วงปีที่ผ่านมา

ยามที่คำถามดังก้องขึ้นเรื่อยๆ ปวงชน อุนจะนำ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เขียนหนังสือ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand ชวนให้เรามองทะลุทรัพย์สินขนาดมหาศาลของสถาบันฯ ไปยังความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ และทุน รวมไปถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์ในโลกทุนนิยม

“หากไม่มองกษัตริย์ผ่านกรอบการวิเคราะห์ทุนนิยม มีแนวโน้มว่าเราจะมองกษัตริย์ผ่านแค่มิติการเมืองและวัฒนธรรมเท่านั้น และจะพลาดการมองสถาบันกษัตริย์ในมิติเศรษฐกิจไป เราจะคิดว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยม ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด การกดขี่ขูดรีด การลดทอนสวัสดิการสังคม การเปิดโรงงานใหม่ การตกงาน หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือการที่รัฐให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน” ปวงชนกล่าว

ปวงชนอธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างทุนและกษัตริย์นั้นไปไกลกว่าแค่สำนักงานทรัพย์สินฯ กล่าวคือสถาบันฯ ยังมีการลงทุนส่วนพระองค์ การถือหุ้นของสมาชิกราชวงศ์ในตลาดหลักทรัพย์ การบริจาคของภาคเอกชนให้กับสถาบันฯ รวมไปถึงงบประมาณที่สถาบันฯ ได้รับจากภาครัฐซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ดังนั้นผมมองว่าระหว่างเจ้าฟ้ากับเจ้าสัว วังกับบริษัท พระราชทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์มีอะไรเกี่ยวข้องกัน” ปวงชนกล่าว

เมื่อสถานะฯ ของสถาบันกษัตริย์และทุนอยู่ในระยะอันใกล้ชิดทับซ้อน ตลาดการลงทุนจึงได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ปวงชนยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “หากสถาบันกษัตริย์มีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย หรือกิจการส่วนพระองค์ มักส่งผลสะเทือนต่อทิศทางการเมืองเรื่องทุนและการลงทุน ขณะเดียวกันเมื่อเสถียรภาพระหว่างสถาบัน กองทัพ และนายทุนลดลง ก็นำไปสู่การตั้งคำถามในหมู่นายทุนได้ว่าควรลงทุนหรือไม่ในทุกครั้งที่มีข่าวอ่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันฯ”

ไม่ใช่เพียงผลกระทบต่อตลาดทุนเท่านั้น แต่เส้นทางบนท้องถนนที่ประชาชนต้องฟันผ่าก็อาจปกคลุมไปด้วยอุปสรรคในนามของ ‘เจ้าฟ้า-เจ้าสัว’ เช่นกัน

“เวลาที่ขบวนการต้องการพันธมิตรร่วม อย่างน้อยเจ้าสัวนายทุนทั้งหลายไม่เอาด้วยแล้วกับเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในแง่นี้ หนึ่งโจทย์สำคัญที่อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของขบวนการในระยะยาวก็คือ จะทำอย่างไรให้ส่วนหนึ่งของชนชั้นนำหันมาอยู่ฝ่ายขบวนการ” ปวงชนกล่าว

ถ้าระบอบประชาธิปไตยรอด สถาบันกษัตริย์ก็จะรอดด้วย

Tom Ginsburg

‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (constitutional monarchy) คือนามของระบอบการปกครองที่ดำเนินมาช้านานในประเทศไทย ภายใต้นามเดิมนี้ รูปธรรมของระบอบปกครองกลับไม่หยุดนิ่ง แต่เคลื่อนไหวไปตามจังหวะขึ้นลงของอำนาจและสถานการณ์สังคม และปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันที่เพดานการเมืองไทยระเบิดออก ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘สถาบันพระมหากษัติย์’ กลายเป็นสองสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามว่าจะดำเนินไปด้วยกันอย่างไรในโลกยุคใหม่

หนึ่งคนที่น่าจะตอบคำถามดังกล่าวได้ดีที่สุดคือ ทอม กินสเบิร์ก (Tom Ginsburg) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์แห่ง University of Chicago ผู้เขียนหนังสือ How to Save a Constitutional Democracy ซึ่งศึกษาการถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อพูดถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทอมอธิบายว่าจุดเด่นของมันคือการที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของคนทั้งชาติและสามารถเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในประเทศได้ เฉกเช่นที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงดำรงบทบาทดังกล่าว

ขณะที่ปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถเล่นบทบาท ‘คนกลาง’ ท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างที่เคยเป็นมา และยังถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง เป็นเหตุให้ทอมนิยามสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “ความท้าทายที่น่ากังวลอย่างยิ่งของสังคมไทย”

“เกณฑ์ขั้นต่ำของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ 1. เป็นระบอบการปกครองซึ่งมีสถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับรัฐธรรมนูญ 2. รัฐธรรมนูญจะกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกษัตริย์ และ 3. กษัตริย์ต้องไม่อยู่ในสถานะหัวหน้ารัฐบาล เพราะหัวหน้ารัฐบาลต้องมาจากสถาบันการเลือกตั้งเท่านั้น

“หลักการนี้กษัตริย์จะมีอำนาจที่จำกัดอย่างมากหรือแทบไม่มีอำนาจเลย แต่ในทางปฏิบัติ การเป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของชาติทำให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจทางวัฒนธรรมในการเล่นบทบาทคนกลางเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง แต่อำนาจทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ใช้พร่ำเพรื่อไม่ได้ เพราะจะทำให้อำนาจถดถอยลงและเป็นแรงกดดันต่อสถาบันฯ เอง การออกมาเล่นบทบาทคนกลางจึงต้องเป็นที่พึ่งสุดท้าย (the last resort) ของสังคมอย่างแท้จริง กล่าวโดยทั่วไป ในช่วงชีวิตหนึ่งอาจจะมีแค่สักครั้งหรืออาจจะไม่มีเลยที่สถาบันกษัตริย์ต้องออกมาเล่นบทบาทนี้” ทอมกล่าว

แม้จะประสบความท้าทายอันน่ากังวล แต่หากมองผ่านหลักคิดแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ทางออกอันเป็นจุดร่วมของสถาบันฯ อันเก่าแก่อย่างสถาบันกษัตริย์ และคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีแต่จะหมุนไปตามวันเวลา คือทางออกภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “สถาบันกษัตริย์จะอยู่รอดได้ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้าระบอบประชาธิปไตยรอด สถาบันกษัตริย์ก็จะรอดด้วย”

“สถาบันกษัตริย์สามารถมีบทบาทสำคัญสองประการคือ การเป็นที่พึ่งสุดท้ายในภาวะวิกฤต และการเป็นเกราะปกป้องประชาชนจากกระแสประชานิยม (populism) ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นของกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชน

“แต่ประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะเกิดขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต่อเมื่อสถาบันฯ สามารถเล่นบทบาทที่กำหนดไว้ได้อย่างเหมาะสม และเงื่อนไขเดียวที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ได้คือ การถูกตีกรอบหรือถูกจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับสถาบันและองคาพยพอื่นของสังคม

“หากมองจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความชอบธรรมสูงมาก เพราะเป็นสถาบันฯ ที่ทำหน้าที่สั่งสมคุณค่าที่ ‘ดีที่สุด’ ของสังคมจากช่วงเวลาหนึ่งสู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ลักษณะเช่นนี้ก็ทำให้สถาบันฯ มีความเป็นอนุรักษนิยมโดยธรรมชาติ และโจทย์พื้นฐานที่สุดของการเป็นอนุรักษนิยมคือ การค่อยๆ ปรับตัวให้สอดคล้องสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป” ทอมกล่าว

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องการปฏิรูปและประเด็นหลากหลายที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์อยู่ในปัจจุบัน หัวใจสำคัญนั้นอาจประมวลเป็นคำถามอันแสนเรียบง่าย — จะทำอย่างไรให้สถานะ บทบาท และอำนาจของสถาบันกษัตริย์มีที่ทางที่สมดุลกับประชาชนและระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะในมิติการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ กระทั่งภาพจำของประชาชนที่มีต่อสถาบันฯ

จริงอยู่ การเมืองไทยแบบทะลุเพดานอาจก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดูแหลมคม – แต่ยิ่งมีพื้นที่ให้เราทบทวนมิติต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยมากเท่าไหร่ ทางแยกที่เกิดในสังคมไทยอาจยิ่งห่างไกลจากความแตกแยกมากเท่านั้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save