fbpx

ส่องอัฟกานิสถาน 1 ปี หลังฏอลิบานครองอำนาจ กับ จรัญ มะลูลีม

ณ วินาทีที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน การยึดครองกรุงคาบูลและขึ้นครองอำนาจอีกครั้งของฏอลิบาน นี่คือหนึ่งในเหตุการณ์ที่เขย่าการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศมากที่สุดในปี 2021

1 ปีล่วงผ่านหลังการกลับขึ้นมามีอำนาจของฏอลิบาน เศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพ และความมั่นคงในอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? 101 สนทนากับ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการตะวันออกกลางศึกษา ว่าด้วยสถานการณ์อัฟกานิสถานในปัจจุบันและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียใต้

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากรายการ 101 One-on-One Ep.274 อัฟกานิสถาน: 1 ปี หลังฏอลิบาน กับ จรัญ มะลูลีม

เศรษฐกิจ-สิทธิสตรี-ความมั่นคงทางการเมืองภายใต้ฏอลิบาน

นับตั้งแต่รัฐบาลฏอลิบานก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจอีกครั้ง ทั่วโลกต่างจับตามองความเปลี่ยนแปลงที่อาจเรียกได้ว่า ‘พลิกผัน’ ในอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม จรัญเกริ่นว่า ในการทำความเข้าใจอัฟกานิสถานหลังฏอลิบานกุมอำนาจ สามารถมองได้จากหลากหลายมุมมอง เช่น มองจากมุมของโลกมุสลิม หรือจากมุมมองของโลกตะวันตก

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ประชาคมโลกตั้งคำถามต่อรัฐบาลฏอลิบานมากที่สุดคือ สิทธิเสรีภาพของชาวอัฟกัน เนื่องจากรัฐบาลฏอลิบานกลับมาดำเนินนโยบายเคร่งศาสนาอีกครั้ง แม้จะลดระดับความเข้มข้นกว่าในอดีตก็ตาม แต่ก็ส่งผลโดยตรงต่อสิทธิสตรี ทั้งสิทธิในการทำงานนอกบ้าน และสิทธิทางการศึกษา ซึ่งพวกเธอเคยได้รับจากวิถีชีวิตสมัยรัฐบาลอัชราฟ ฆานีที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ณ วันนี้หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานหญิงหาผู้ชายมาทำงานแทนในตำแหน่งตนเอง และนักเรียนหญิงหลายคนไม่มีโอกาสศึกษาระดับมัธยมศึกษา

“จุดอ่อนของฏอลิบานคือ เรื่องสิทธิสตรีเพศที่ยังไม่สามารถทำให้ใกล้เคียงกับสิทธิของผู้ชาย การตีความทางศาสนาของฏอลิบานได้รับอิทธิพลผสมกันจากบางสำนักคิดของอินเดียและปากีสถานจึงตีความค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องผู้หญิง แต่ถ้าเราดูในโลกมุสลิมปัจจุบัน ผู้หญิงอินโดนีเซียหรือผู้หญิงไทยที่เป็นมุสลิม พวกเธอใช้สิทธิอย่างเต็มที่”

ในมิติทางเศรษฐกิจ อัฟกานิสถานต้องเผชิญปัญหาทางการเงินอย่างหนักหน่วง หลังรัฐบาลสหรัฐฯ อายัดทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 9.5 พันล้านดอลลาร์ของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน (DAB) ทั้งยังถูกซ้ำเติมจากภาระทางการคลังของรัฐบาลเดิม วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกและภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวและอุทกภัยนำมาสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ผลจากพิษเศรษฐกิจทำให้ชาวอัฟกันกว่าครึ่งต้องประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญต่อทุพโภชนาการ

อย่างไรก็ดี ในมิติเความมั่นคง จรัญให้ความเห็นว่า ภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งการจัดการกลุ่มมิจฉาชีพ กลุ่มลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย ความมั่นคงภายในประเทศที่เข้มแข็งขึ้น หรือการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศพันธมิตร อย่างรัสเซีย ปากีสถาน และจีน แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายในการบริหารจัดการภายใต้รัฐบาลรักษาการ

“ปัญหาความมั่นคงตอนนี้ของรัฐบาลฏอลิบานไม่ได้มีที่มาจากความไม่ลงรอยกับโลกตะวันตก แต่เผชิญกับคนที่เคยทำงานร่วมกันมาในอดีต” จรัญกล่าว พร้อมเสริมว่ารัฐบาลฏอลิบานถูกก่อกวนจากกลุ่มนักรบในพื้นที่หุบเขาปัญจ์ชีร์ และกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ISIS-K (Islamic State’s Khorasan Province) ซึ่งกลุ่ม ISIS-K มีความสัมพันธ์กับกลุ่มฏอลิบานของปากีสถาน (Tehrik-i-Taliban Pakistan) และเคยทำงานร่วมกับฏอลิบานในอดีต แต่เมื่อเห็นว่ารัฐบาลฏอลิบานเปิดโต๊ะเจรจากับประเทศฝั่งตะวันตกจึงทำให้มีอุดมการณ์ที่ไม่ตรงกันอีกต่อไป

โลกและอัฟกานิสถานภายใต้ฏอลิบาน

แม้ว่าจะไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่อัฟกานิสถานถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคตะวันออกกลาง ในอดีต มหาอำนาจทั่วโลกจึงต่างแวะเวียนมาครองอำนาจประกาศศักดาเหนือพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีจรัญตั้งข้อสังเกตว่าสุดท้ายมหาอำนาจเหล่านั้นล้วนแต่ต้องถอนกำลังออกไปทั้งสิ้น

ย้อนกลับไปในอดีต ช่วงที่ฏอลิบานเรืองอำนาจในอัฟกานิสถานสมัยแรก มีเพียงแค่ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และปากีสถานที่ให้การรองรับฏอลิบานเท่านั้น ขณะที่ประเทศมุสลิมหลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของฏอลิบานที่บังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวด เพื่อเปลี่ยนโฉมอัฟกานิสถานเป็นรัฐอิสลาม แต่ในปี 2021 ที่ฏอลิบานกลับขึ้นมากุมอำนาจอีกครั้ง จรัญตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างอัฟกานิสถานภายใต้รัฐบาลฏอลิบานและโลก ดังต่อไปนี้

ประการแรก ระหว่าง 1 ปีที่ฏอลิบานครองอำนาจ เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียใต้พอสมควร ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจในอัฟกานิสถาน อินเดียที่เคยลงทุนมหาศาลในรัฐบาลชุดก่อนได้ถอนสถานทูตออกไป แต่ภายหลังรัฐบาลอินเดียได้มีข้อถกเถียงภายในรัฐบาลว่า การต่อต้านรัฐบาลฏอลิบานจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว รัฐบาลอินเดียจึงหันมาดำเนินการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐบาลฏอลิบานใหม่อีกครั้ง และปรับท่าทีให้เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม ค้าขายกับโลกมุสลิมมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลภารติยะ ชนะตะของนเรนทรา โมดีจะเผชิญข้อครหาเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง อีกทั้งถูกตั้งคำถามในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวแคชเมียร์ก็ตาม

ประการที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับรัฐบาลฏอลิบานยังคงแนบแน่นในฐานะผู้ที่มีเชื้อสายใกล้เคียงกัน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศไม่แสดงท่าทีปฏิเสธรัฐบาลฏอลิบาน แม้จะไม่แสดงออกถึงการสานความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด

ประการที่สาม จีนหันมากระชับความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของฏอลิบาน โดยลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสำคัญอย่างธาตุหายาก หรือ Rare-Earth (REEs) ในอัฟกานิสถาน และมีการคาดการณ์ว่าเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) จะเชื่อมโยงมาถึงอัฟกานิสถาน

ประการสุดท้าย หลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันตกยังคง  มีเงื่อนไขเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอัฟกานิสถาน

อนาคตของรัฐบาลฏอลิบานและการสร้างความเชื่อมั่นต่ออารยะประเทศ

จรัญได้กล่าวถึงอนาคตของอัฟกานิสถานว่า ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลฏอลิบาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติ และยังเสนอแนวทาง โดยครอบคลุมทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นเศรษฐกิจ รัฐบาลฏอลิบานต้องปรับนโยบายทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐกษัตริย์  (oil-rich monarchies) ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่ร่ำรวยจากน้ำมัน และหันมาพึ่งพาการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น

ประเด็นสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลฏอลิบานต้องปรับนโยบายด้านสิทธิสตรี โดยเฉพาะสิทธิทางการศึกษา “คัมภีร์อัลกุรอานบอกชัดเจนว่าทั้งหญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน การไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือผิดหลักการอิสลาม เราไม่อาจทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือให้สถานภาพของผู้หญิงตกอยู่ภายใต้ความยากลำบาก แล้วจริงๆ คำว่า ‘ฏอลิบาน’ ก็มาจากคำว่า ‘ฏอลิบ (tālib)’  แปลว่านักเรียน ฏอลิบานคือกลุ่มนักเรียนศาสนาที่พัฒนาขึ้นมาจากการช่วยปลดปล่อยผู้หญิงที่พวกขุนศึกเอาไปข่มขืน ต่อสู้ที่ช่วยเหลือคนมาก่อน อันนี้คือส่วนดีของฏอลิบานมีอยู่ ไม่ใช่ว่ามองแต่ด้านลบอย่างเดียว” จรัญกล่าว

ประเด็นสุดท้าย ประเด็นความมั่นคงและการเมือง รัฐบาลฏอลิบานต้องแสดงถึงการครองอำนาจให้ได้อย่างมั่นคงด้วยตนเอง ลดการพึ่งพิงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ และจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มาจากความต้องการของประชาชนแทนที่รัฐบาลรักษาการในปัจจุบัน

อิทธิพลของกองทัพสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง

สาเหตุสำคัญในการถอนกำลังทหารสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรออกจากอัฟกานิสถานคือ การบริหารประเทศอย่างไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่พึ่งพิงความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เป็นหลัก เมื่อบารัก โอบามาก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจึงเริ่มมองเห็นว่าสงครามและการช่วยเหลืออัฟกานิสถานจะไม่มีวันจบสิ้น พอถึงยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐฯ จึงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการส่งทหารไปยังพื้นที่ต่างประเทศ นำมาสู่การถอนกำลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ แสดงแสนยานุภาพทางการทหารผ่านการสังหารผู้นำฝ่ายตะวันออกกลางอย่างอัล-บักห์ดาดี ผู้นำกลุ่ม IS โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำอัลกออิดะห์ หรือแม้แต่นายพลของอิหร่าน แต่จรัญให้ความเห็นว่า ในระยะหลังความเกรงกลัวสหรัฐฯ ของประเทศต่างๆ ในแถบตะวันออกกลางลดน้อยถอยลงไป เนื่องจากหลายเหตุการณ์สะท้อนว่ากองทัพสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้มแข็งเหมือนอย่างเดิม เช่น กรณีซีเรียที่สหรัฐอเมริกาต้องการล้มอำนาจบาชาร์ อัล-อัสซาด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กรณีการถอนกองกำลังออกจากอัฟกานิสถาน หรือกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเองก็ตาม

ภาพมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่อ่อนแอลงส่งผลให้แว่นที่ใช้มองการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศในตะวันออกกลางปรับเปลี่ยนท่าทีเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการหันไปจับมือกับประเทศจีน มหาอำนาจใหม่ที่นักวิชาการหลายท่านชี้ตรงกันว่าจะมีอิทธิพลแทนที่สหรัฐฯ ซึ่งหลังจากตีความหลักการคอมมิวนิสต์ใหม่ ทำให้การไม่นับถือพระเจ้าของคนในประเทศ (อดีต) คอมมิวนิสต์ไม่เป็นที่หวาดหวั่นสำหรับประเทศมุสลิมอีกต่อไป รวมไปถึงยังมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน ประเทศไม้เบื่อไม้เมาของสหรัฐฯ

หนึ่งในนั้นคือซาอุดิอาระเบีย หลังจากโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานขึ้นมาครองอำนาจ ซาอุดิอาระเบียก็ไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ อย่างเดียว ซาอุดิอาระเบียได้หันมาเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน จับมือสานความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านอีกครั้ง โดยมีอิรักเป็นตัวกลาง และเริ่มหาประเทศพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงฟื้นฟูความสัมพันธ์ประเทศไทยที่เคยมีข้อพิพาทเมื่อ 32 ปีที่แล้ว ขณะที่อิรักก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับอิหร่าน โดยมีนักการศาสนาชีอะห์เป็นสะพานเชื่อม

จรัญยังกล่าวอีกว่า การเมืองตะวันออกกลางกำลังอยู่ในช่วงน่าตื่นตาตื่นใจ เนื่องจากหลายประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจจากน้ำมัน เช่น ซาอุดิอาระเบีย คูเวต เป็นต้น เริ่มเตรียมการรับมือหากน้ำมันหมดประเทศ โดยปรับนโยบายตั้งแต่การรับแรงงานจากคนในประเทศมากขึ้น เก็บภาษีคนต่างชาติที่มาอาศัยในประเทศในอัตราที่แพงขึ้นจนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากมากขึ้น 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save