fbpx
1+1 by Eyedropper Fill (3) : เธรามิน + ไหซองจากวงโปงลาง

1+1 by Eyedropper Fill (3) : เธรามิน + ไหซองจากวงโปงลาง

Eyedropper Fill เรื่อง

หลังจากประเดิม ‘เปิดผัสสะ โลกพิศวง’ รายการออนไลน์เกี่ยวกับศาสตร์อินเตอร์แอคทีฟอาร์ต โปรเจ็กต์ล่าสุดของเรา กับชิ้นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์การ ‘สร้างภาพ’ ต้มตุ๋นคนดูของนักมายากลในศตวรรษที่ 18 ไปในตอนแรก ชิ้นงานต่อไป เราจึงหันมาทดลอง ‘สร้างเสียง’ กันบ้าง

อย่างที่รู้กัน คอนเซ็ปต์ของรายการคือ ‘ไสยศาสตร์-ขนหัวลุก’ เราจึงตั้งต้นด้วยโจทย์เรื่องเสียงที่เกี่ยวพันกับเรื่อง ’ผีๆ’ แม้ดูเป็นโจทย์ง่าย เพราะเสียงและผีดูเหมือนจะเป็นของคู่กันในความทรงจำของหลายคน แทบทุกคนรู้สึกกลัวเมื่อได้ยินเสียงหมาหอน เสียงลมลอดช่องหน้าต่าง หรือเสียงร้องไห้สะอื้นที่ไม่มีมา แต่ถึงอย่างนั้นชิ้นงานที่ประกอบด้วยเสียงและผี ที่แถมกลไกอินเตอร์แอคทีฟเข้าไปด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

สมการที่ 1

Theremin + ไหซอง

คิดงานจากความเป็น ‘ผี’ แบบตรงไปตรงมาอาจจะยาก เราจึงใช้วิธีตีความ ดึงเอาคุณสมบัติ ‘จับต้องไม่ได้’ ของผีออกมา นั่นจึงทำให้เรานึกถึงเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติตรงตามคอนเซ็ปต์นี้

Theremin หรือเธรามิน

Theremin หรือเธรามิน คือเครื่องดนตรีที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 1920 โดยนักฟิสิกส์รัสเซียนาม Léon Theremin เครื่องดนตรีลักษณะเป็นกล่องแบนๆ ขนาดใกล้เคียงกับวิทยุ ประกอบด้วยเสาอากาศ 2 เสา อันหนึ่งตั้งตรงเหนือตัวเครื่อง ส่วนอีกเสาขดเป็นรูปโค้งด้านข้างตัวเครื่อง

การใช้งาน Theremin

YouTube video

Theremin ถือเป็นเครื่องดนตรีใช้ไฟฟ้าชนิดแรกๆ ของโลก นวัตกรรมทางดนตรีชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลผลิตของการทดลองเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับระยะห่างด้วยคลื่นเสียงที่สนับสนุนโดยรัฐบาลโซเวียต และการทำงานของ Theremin ก็ถอดแบบมาจากการทำงานของเซ็นเซอร์ที่ว่านี้

เสาอากาศแต่ละเสาจะปล่อยความถี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกมา เสาหนึ่งใช้ควบคุมความดังเบา อีกเสาใช้ควบคุมระดับเสียงของตัวโน้ต ความถี่ของไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมือของผู้เล่นเคลื่อนที่เข้าใกล้หรือไกลจากเสาทั้งสอง ทำให้เกิดเสียงที่มีลักษณะคล้ายเครื่องสาย โดยผู้เล่นไม่ต้องใช้มือสัมผัสอะไรเลย ราวกับกำลังเล่นเครื่องดนตรีล่องหน

ในขณะที่ Theremin สร้างความประหลาดใจให้ผู้ใช้ด้วยคอนเซ็ปต์ ‘สร้างเสียงเพียงมือโบก’ เรายังนึงถึงเครื่องดนตรีอีกชนิดที่อยู่ใกล้ตัวเรา จัดจ้านพอกันด้วยคอนเซ็ปต์ ‘เครื่องดนตรีไม่มีเสียง’!

ไหซอง

YouTube video

ไหซอง เดิมเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงโปงลาง ให้เสียงทุ้มต่ำสำหรับคุมจังหวะเหมือนเสียงเบส ด้วยการดีดสายยางหรือหนังสติ๊กที่ขึงพาดปากไห ให้เสียงสูงต่ำแปรผันตามขนาดของไห

ตัดภาพมายังปัจจุบัน หน้าที่คุมจังหวะของไหซองถูกแทนที่ด้วยกีต้าร์เบส ทว่า ‘การดีดไห – รำไห’ ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวงโปงลางเพื่อใช้สร้างอารมณ์ สร้างความสนุกสนานและสวยงามของโชว์ โดยนำไหขนาดต่างๆ มาตั้งไว้ดังเดิม แต่ถอดสายยางที่ใช้เล่นออก ผู้เล่นตำแหน่ง ‘นางดีดไห’ เพียงมีหน้าที่ร่ายรำทำท่าทางดีดไห ปลุกให้คนหน้าเวทีโปงลางลุกขึ้นเซิ้งให้สุดเหวี่ยงเท่านั้น โดยไม่ได้สร้างเสียงดนตรีขึ้นจริงๆ

โจทย์ต่อไป! เราตั้งใจจะสร้างเครื่องดนตรีล่องหน เล่นกลกับคนดูโดยไม่ให้รู้ว่าที่มาของเสียงอยู่ตรงไหน และออกแบบหน้าตาให้น่าขนลุกพอๆ กับเสียงที่จะออกมา โดยใช้วัตดุดิบบันดาลใจจากสองฝั่งโลกอย่าง Theremin–เครื่องดนตรีที่มาพร้อมกับกลไกเกิดเสียงล่องหนสุดมหัศจรรย์ และไหซอง–เครื่องดนตรีไร้เสียง แต่สร้างอารมณ์ด้วยลีลาท่าทาง เป็นส่วนผสมหลักในการออกแบบครั้งนี้

สมการที่ 2

อัลตร้าโซนิคเซ็นเซอร์ + แสงเลเซอร์

อัลตร้าโซนิคเซ็นเซอร์

อุปกรณ์พระเอกของเครื่องดนตรีล่องหนชิ้นนี้ได้แก่ อัลตร้าโซนิคเซ็นเซอร์ ก่อนอื่นเราขอแนะนำให้รู้จักกับ ‘คลื่นเสียงอัลตร้าโซนิค’ หัวใจสำคัญของอุปกรณ์นี้กันก่อน เจ้าคลื่นเสียงที่ว่านี้มีความถี่สูงมากกว่า 20,000 Hz เกินกว่าหูของมนุษย์จะได้ยิน แต่กับสัตว์บางชนิดเช่นค้างคาว สามารถสร้างเสียงความถี่สูงนี้ในการนำทางและหาอาหาร โดยรับรู้ได้จากคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาจากวัตถุ และในอัลตร้าโซนิคเซ็นเซอร์ก็บรรจุกลไกเช่นเดียวกันนี้ เซ็นเซอร์ตัวนี้จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้ในงานประเภทต่างๆ คุ้นตาที่สุดคงจะเป็นระบบป้องกันชนของรถยนต์ที่จะส่งเสียงเตือนหากกันชนเริ่มเข้าไปใกล้วัตถุ อย่างผนังหรือรั้วบ้าน

เราจึงนำกลไกของเจ้าเซ็นเซอร์ตัวนี้มาประยุกต์กับเสียงดนตรี โดยสร้างเงื่อนไขว่า หากเราใช้มือบังหน้าเซ็นเซอร์เสียงดนตรีจะดังขึ้น ยิ่งใกล้ระดับเสียงจะยิ่งสูง และยิ่งห่างเสียงจะยิ่งต่ำ

โปรแกรม MAX / MSP

YouTube video

ในขั้นตอนนี้เราใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า Max / Msp ที่ออกแบบมาสำหรับผลิตดนตรีและมัลติมีเดีย เป็นโปรแกรมที่ใช้ภาพกราฟิกในการเขียนคำสั่งแทนโค้ด เราเลือกชุดเสียงที่มีความแตกต่างกัน 5 เสียงเพื่อรับคำสั่งจากเซ็นเซอร์ 5 ตัว โดยเลือกเสียงที่ได้เซนส์ของความผี วังเวง และน่าขนลุก และเขียนคำสั่งกำหนดให้เซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิคแต่ละตัวควบคุมแต่ละเสียง

อินเตอร์แอคทีฟอาร์ต Interactive Art

ในการออกแบบอินเตอร์แอคทีฟอาร์ต นอกจากเทคนิคและผลลัพธ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ สิ่งที่ต้องคำนึงคือวิธีการที่คนดูจะมีปฏิสัมพันธ์กับมัน เพราะแม้เทคนิคจะอลังการแค่ไหนแต่คนดูเล่นไม่เป็นก็เป็นอันจบเห่ การออกแบบจึงต้องมีหน้าที่ให้ ‘คำใบ้’ บางอย่างกับผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่นคนจะรู้ว่าต้องผลักประตูจากการเห็นแป้นผลัก และรู้ว่าต้องดึงประตูจากการเห็นมือจับ เช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นปุ่มกดหรือสวิทช์ต้องออกแบบให้ยื่นออกมาจากพื้นผิว หรือสร้างสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารว่าพื้นที่เล็กๆ ตรงนี้สามารถกดได้

เช่นกัน สำหรับเครื่องดนตรีชิ้นนี้ก็ต้องการตัวบอกใบ้ให้คนดู ‘ลองเคลื่อนไหวมือเหนือเซ็นเซอร์เพื่อให้เกิดเสียง’ … แต่โจทย์คือมันต้องล่องหน และจับต้องไม่ได้นี่สิ

อินเตอร์แอคทีฟอาร์ต Interactive Art

วัสดุที่เรานึกถึงคือแสงที่มีความเข้มสูงมากจนสามารถเห็นเป็นเส้น และแสงเลเซอร์คือแสงตามคุณสมบัตินั้น หากเราปล่อยควันหรือหมอกเข้าไปในระยะของแสง เลเซอร์ก็จะปรากฏขึ้นเป็นเส้นแสง และเจ้าเส้นนี้นอกจากดูคล้ายคลึงกับเครื่องดนตรีแบบเครื่องสายที่ผู้ชมคุ้นเคย จนเชื่อมโยงถึงวิธีการเล่นได้แล้ว สีแดงของมันยังช่วยย้อมบรรยากาศและทำให้ตัวงานดูเข้าคอนเซ็ปต์กับความผีอีกด้วย

เราติดตั้งเลเซอร์ไดโอด (Laser Diode) ทั้งหมด 5 หัว เคียงข้างอัลตร้าโซนิคเซ็นเซอร์ทั้ง 5 เครื่อง ให้มีลักษณะคล้ายสายของเครื่องดนตรีเพื่อกำหนดตำแหน่งให้ผู้เล่นนำมือมาแตะ ดีด สัมผัสได้ถูกต้อง

ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาเป็นเครื่องดนตรีที่ดูภายนอกมีเพียงเส้นแสงสีแดงอยู่ท่ามกลางกลุ่มควัน สร้างเสียงโดยใช้มือสัมผัสเส้นแสง หรือจะเล่นโดยใส่อารมณ์แบบไทยๆ เข้าไปด้วยการ ‘จก’ และ ‘ทึ่ง’ กับเสียงหลอกหลอนที่ออกมา

YouTube video

งานชิ้นนี้พาเราข้ามขอบเขตของงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตไปสู่พรมแดนของเครื่องดนตรี ได้ลองทำงานศิลปะที่คิดถึงฟังก์ชั่นและการใช้งาน จนตอนนี้เริ่มคันไม้คันมืออยากลองทำเครื่องดนตรีอีกสักสองสามเครื่อง ไม่แน่ เร็วๆ นี้คุณอาจจะได้เห็นวงดนตรีอินเตอร์แอคทีฟวงแรกของประเทศไทย

ถึงเวลานั้นก็เตรียมซื้อบัตรมาดูคอนเสิร์ตเราได้เลยครับ !

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save