fbpx
1+1 by Eyedropper Fill (2) : โปรเจ็กเตอร์ + กำยาน

1+1 by Eyedropper Fill (2) : โปรเจ็กเตอร์ + กำยาน

Eyedropper Fill เรื่อง

 

ใน 1+1 ตอนที่แล้ว เราพาทุกคนไปรู้จัก ‘อายดรอปเปอร์ฟิลล์ เอ็กซพีเรียนซ์ แลป’ โปรเจ็กต์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตล่าสุดจาก Eyedropper Fill ในรูปแบบรายการไสยศาสตร์ ผี และสิ่งลี้ลับขนหัวลุก เชื่อว่าหลายคนก็คงจะเคยชมรายการตอนแรกกันไปแล้ว แต่หากใครยังไม่ได้ชม โปรดกดชม ก่อนที่เราจะชวนนั่งล้อมวงพูดถึงกระบวนการเบื้องหลังงานตัวนี้กัน

วิดีโอ Experience Lab EP.1

สมการที่ 1

ผี + บรรพบุรุษโปรเจ็กเตอร์

สำหรับชิ้นงานที่จะมาเริ่มประเดิมตอนแรกของรายการ จำเป็นต้องสร้างคาแรคเตอร์และภาพจำของรายการที่มีความเป็น ‘อินเตอร์แอคทีฟอาร์ต + ไสยศาสตร์’ ให้ได้มากที่สุด และเป็นปกติของการคิดงาน ที่ยิ่งนั่งคิดอยู่กับที่ ยิ่งคิดไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโจทย์ประหลาดโลกแบบนี้ เราจึงเริ่มด้วยการ ‘เดินทาง’ กลับไปย้อนดูประวัติศาสตร์ทั้งงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตและมัลติมีเดียที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อศึกษาดูว่างานประเภทนี้เคยตีความหรือนำเสนอภาพของผีและสิ่งลึกลับออกมาแบบไหนบ้าง

เราย้อนเวลากลับไปไกลถึงปลายศตวรรษที่ 18 ท่ามกลางความนิยมศิลปะลัทธิ ​Romanticism ผู้คนกำลังหลงใหลในความมหัศจรรย์และเรื่องเหนือธรรมชาติ เราพบหลายบันทึกที่เขียนถึงการ ‘ปลุกผี’ – กิจกรรม ‘ต้มตุ๋น’ โดยพวกที่อ้างตัวเองว่าเป็น ‘พ่อหมอ’ … อะไรจะตรงกับงานเราขนาดนี้ !

Magic Lanterns

ขอเกริ่นก่อนว่า คนในยุคนั้นมีความเชื่อว่าภาพจากกระจกนูน กล้องรูเข็ม (Camera Obscura) และตะเกียงฉายภาพที่เรียกว่า ‘Magic Lantern’ เป็นเสมือนการปรากฏตัวของพระเจ้าหรือวิญญาณ แก๊งพ่อหมอเก๊จึงปิ๊งไอเดีย เปิดโชว์เก็บตั๋วให้ผู้ชมต่อแถวเข้าห้องมืดเพื่อชมการปรากฏตัวของวิญญาณที่อ้างว่าตัวเองเป็นผู้ปลุกขึ้นมา ฝั่งผู้ชมเมื่อเห็นร่างผีส่องสว่างกลางห้องมืด ก็พานเชื่อว่าภาพที่เห็นคือ ‘ผี’ ที่ถูกพ่อหมอ ‘ปลุก’ ขึ้นจริงๆ พากันร้องกรี๊ดกร๊าด บ้างก็วิ่งหนีไม่คิดชีวิต โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งที่เห็น แท้จริงเป็นเพียงแสงจากตะเกียงที่ส่องผ่านภาพผีที่ถูกวาดขึ้นบนกระจกเท่านั้น

กล้องรูเข็ม (Camera Obscura) และตะเกียงฉายภาพที่เรียกว่า ‘Magic Lantern’

ทั้งพ่อหมอปลอม รวมทั้งนักมายากลต่างนำเอาเทคนิคที่เรียกว่า ‘Phantasmagoria’ นี้ไปพัฒนาต่อจากภาพนิ่งให้เคลื่อนไหวได้ (เทคนิคที่อ่านแล้วชอบมากคือการใช้แผ่นสไลด์สองแผ่น แผ่นหนึ่งเป็นรูปส่วนของร่างกายผี อีกแผ่นมีเฉพาะส่วนหัว สำหรับดึงเข้าออกจากเครื่องฉายเพื่อให้ดูแล้วเหมือนผีหัวหลุดออกจากร่าง)

หรือแม้กระทั่งพัฒนาฉากรับภาพ จากผนังห้องมืดเปลี่ยนมาฉายภาพลงบนกลุ่มควันที่ถูกจุดเหนือเครื่อง ทำให้เกิดภาพคล้ายวิญญาณมากขึ้นไปอีก ด้วยลักษณะของกลุ่มควันที่ไม่มีที่มาที่ไป และมองไม่เห็นจนกระทั่งมีแสงมาตกกระทบ การฉายภาพลงบนม่านควันนี้ถูกแพร่กระจายไกลออกไป สร้างความตื่นกลัวขนหัวลุกปนมหัศจรรย์ยาวนานจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว

เราอาจนึกขำกับปฏิกิริยาของคนในยุคนั้นที่หวาดกลัวภาพบนม่านควัน แต่หากมองกลับมายุคนี้ อุปกรณ์ฉายภาพซึ่งเป็นเสมือนลูกหลานของ Magic Lantern อย่าง ‘Projector’ ก็ยังสร้างความหวาดกลัว เสียงกรีดร้อง น้ำตา เสียงหัวเราะ และอารมณ์อีกมากมายให้กับผู้คนด้วยภาพฉายเช่นเดิม หากแต่เปลี่ยนจากห้องมืดของพ่อหมอ มาสู่จอสีขาวในโรงภาพยนตร์

เทคนิค ‘พ่อหมอปลุกผี’ ที่เราค้นเจอและหยิบยืมมาจากศตวรรษที่ 18 นี้ จะถูกประยุกต์เป็นงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตในปี 2018 ได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่สมการถัดไป

สมการที่ 2

โปรเจ็กเตอร์ + ม่านควันกำยาน

เราหยิบไอเดียผีๆ อย่าง ‘Phantasmagoria’ จากสองร้อยปีก่อน มาทดลองกับอุปกรณ์ในปัจจุบันอย่าง Projector โดยเริ่มจากการฉายภาพลงบนม่านควันจากเครื่องปล่อยควัน (Smoke Machine) ซึ่งสามารถควบคุมจังหวะและปริมาณของควันได้ แต่ผลลัพธ์ของภาพกลับไม่ใช่อย่างใจ เพราะลักษณะของควันฟุ้งกระจายเร็วและไม่เป็นกลุ่มก้อน ทำให้ภาพที่ฉายมองเห็นไม่ชัดเจน

เมื่อสมการแรกไม่สำเร็จ เราจึงตั้งต้นหาสมการใหม่ จากที่เดินทางกลับไปดูประวัติศาสตร์ในสมการก่อน คราวนี้เราเริ่มด้วยการเดิน (จริงๆ) ออกไปนอกสตูดิโอบ้าง เพราะบ่อยครั้ง ‘ข้างถนน’ คือห้องสมุดวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับการทำงานของพวกเรา การเดินฟุตปาธบนถนนแต่ละเส้น เราจะได้พบกับแรงบันดาลใจและวัสดุที่แสนจะ ‘แรนดอม’ แบบหาไม่ได้จากกูเกิล

และใครจะเชื่อว่าครั้งนี้ เราจะพบกับไอเดียใหม่ในศาลเจ้า !

ควันจากธูปนับสิบก้านในกระถางเตะจมูกเราด้วยกลิ่น จากนั้นเตะตาเราด้วยลักษณะของควันที่ลอยช้าเป็นเส้น และรวมกันเป็นแผงเมื่อถูกจุดเรียงกัน รูปแบบของควันตรงสเปคกับที่เราตามหา เราจึงปฏิบัติการตามหาร้านธูป เพื่อกว้านซื้อธูปทุกแบบ ทุกขนาด รวมถึงหยิบทุกอย่างที่จุดเป็นควันได้มาทดลองกันที่สตูดิโอ

ธูป งานศิลป์

และแล้ว…

สมการที่ 2 ของเราจึงถูกเติมเต็มด้วยของบ้านๆ อย่างกำยาน ที่แสนคอนทราสต์กับโปรเจ็กเตอร์

‘ควันกำยาน’ เครื่องจุดอินเดียที่เราผ่านตาเสมอเวลาไปวัดแขก ถูกโหวตจากทุกคนในทีมว่าให้ลักษณะของควันที่ตรงใจเรามากที่สุด ควันลอยเป็นเส้นตรงแบบธูป แต่หนาเป็นแผ่นและนิ่งกว่าจนฉายภาพได้ชัดเจน

‘ควันกำยาน’

สมการที่ 3

เวทมนตร์ + Leap Motion

 

คิดจะ ‘ปลุกผี’ กันในปี 2018 จะฉายภาพลงบนควันเปล่าๆ เหมือนในอดีตคงไม่พอ สมการสุดท้ายของงานนี้คือการสร้างปฏิสัมพันธ์กับตัวงาน อันเป็นหัวใจหลักของงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ต

วิดีโอพรีเซนต์ Leap Motion

เราคิดถึงกลไกบางอย่างที่สามารถควบคุมภาพที่ฉายได้ประหนึ่งเป็นพ่อหมอ จึงเริ่มตามหาอุปกรณ์อินเตอร์แอคทีฟอะไรบางอย่างที่ตอบโจทย์ จนกระทั่งเรารู้จักกับ Leap Motion – เครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวของมือ

เจ้าเครื่องขนาดเล็กกว่าก้อนสบู่นี้ ทำงานด้วยเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงที่รับข้อมูลการเคลื่อนไหวของนิ้วมือทั้งสิบ และเปลี่ยนเป็นคำสั่งไปควบคุมคอมพิวเตอร์ Leap Motion ถูกออกแบบมาให้ใช้งานหลากหลายตั้งแต่ควบคุมคอมพิวเตอร์แทนการใช้เมาส์ เล่นเกม วาดภาพ และโดยเฉพาะกับการทำงานอินเตอร์แอคทีฟ เราจึงไม่รอช้า คว้า Leap Motion มาจับการเคลื่อนไหวของมือ ควบคุมภาพที่ถูกฉายลงบนควันกำยาน เพื่อการเป็นพ่อหมอ 2018 อย่างสมบูรณ์แบบ

ไอเดียและอุปกรณ์ทั้งหมดที่เล่ามาถูกทำให้เกิดขึ้นจริงด้วยโปรแกรม Processing – โปรแกรมโค้ดดิ้งสร้างสรรค์ที่งานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตนิยมใช้ (ใครอยากรู้ว่า Processing ทำอะไรได้บ้างลองเข้าไปดูที่นี่ กันได้) เริ่มจากการสร้างภาพสามมิติ และนำเข้าไปในโปรแกรม Processing (ในที่นี้เราออกแบบเป็นกล่องเพื่อแสดงมิติของสิ่งที่ถูกฉายให้ได้มากที่สุด) จากนั้นเขียนคำสั่งเชื่อมให้ Leap Motion นำการเคลื่อนไหวของมือที่จับได้ไปเปลี่ยนเป็นคำสั่งทำให้ภาพกล่องเคลื่อนไหวไปมา และสุดท้ายคือการนำภาพทั้งหมดฉายด้วยโปรเจ็กเตอร์ลงบนม่านควันกำยานที่จุดไว้ เป็นอันสำเร็จ

โปรเจกเตอร์ ธูป งานอีเวนต์

‘กล่องล่องหนกับมือกลอัจฉริยะ’ จึงออกมาในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตที่คนดูสามารถโบกมือไปมาเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของภาพที่ถูกฉายด้วยโปรเจ็กเตอร์ลงบนควันกำยาน ตอบโจทย์การเป็น ‘ภาพจำ’ ของรายการได้ครบถ้วน รวมถึงผลลัพธ์ที่ออกมาก็ทำให้พวกเราเอง ‘ว้าว’ เมื่อเห็นมันอยู่ตรงหน้า และค่อนข้างเสียดายอยู่นิดๆ ที่เก็บมาให้คุณเห็นได้แค่ในวิดีโอ

ส่วนสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานนี้  อย่างแรก เราพบว่าวิธีการคิดงานที่เริ่มต้นด้วยการศึกษาอดีตก็ไม่เลว เพราะหลายครั้งเราจะมองหาสิ่งใหม่ จนลืมไปว่าสิ่งเก่า (อย่าง Phantasmagoria จากสองร้อยปีที่แล้ว) เมื่อปะทะเข้ากับวิธีการ อุปกรณ์ และวิธีคิดใหม่ ก็กลายเป็นสิ่งใหม่ที่แจ๋วกว่าเดิม

และอย่างที่สอง เราพบว่าบางครั้งแรงบันดาลใจ ก็มาในรูปแบบของศาลเจ้าข้างถนน

ฉะนั้นหากคิดงานไม่ออก จงลุกไปใส่รองเท้า แล้วออกไปเดินกันเถอะ !

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save