fbpx
ทางพ้นทุกข์จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ภัยร้ายเบอร์ 1 ของคนไทย - นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

ทางพ้นทุกข์จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ภัยร้ายเบอร์ 1 ของคนไทย – นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

[et_pb_section admin_label=”section”][et_pb_row admin_label=”row”][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”Text” background_layout=”light” text_orientation=”left” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid”]

ภัทชา ด้วงกลัด เรื่อง

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ เอ็นซีดี (Non-Communicable Diseases; NCDs) เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคโดยตรง แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง ที่ทำให้โรคค่อยๆ สะสมก่อตัว และมักมีอาการเรื้อรังจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

คุณอาจไม่คุ้นหูกับชื่อเอ็นซีดี แต่คงร้องอ๋อ เมื่อกล่าวถึงโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์อัมพาต มะเร็ง ตับแข็ง สมองเสื่อม และโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น

แม้จะไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คนอย่างโรคระบาด แต่เอ็นซีดี คือ ‘ทุกข์ของโลก’ ที่แพร่กระจายไปได้ทุกเวลา ทุกที่สู่ทุกคน จนกลายเป็นภัยร้ายอันดับหนึ่ง ที่ทำให้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยป่วย พิการ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปี จนองค์การอนามัยโลกถึงกับจัดให้เป็นวิกฤตทางสุขภาพและสังคม ที่ต้องจัดการแก้ปัญหาให้ได้ภายในปี 2568

ไทย
ที่มา: World Health Organization – Noncommunicable Diseases (NCD) Country Profiles (2014)

ทุกวันนี้ คนไทยเสียชีวิตจากโรคกลุ่มเอ็นซีดีกว่าปีละ 5 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด เท่ากับว่าทุกๆ 6 นาที จะมีคนไทยเสียชีวิตจากเอ็นซีดี 4 คนเลยทีเดียว

คุณเองก็อาจเป็นหนึ่งในนั้นเข้าสักวัน จากพฤติกรรมที่คุ้นเคยอย่างไม่รู้ตัว

101 จับเข่าคุยอย่างเจาะลึก กับ ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาทางพ้นทุกข์จากเอ็นซีดี ด้วยยาตั้งต้นที่ชื่อว่า ‘ความเชื่อ’

นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

เอ็นซีดีน่ากลัวและรุนแรงขนาดไหน

เอ็นซีดีคือ ‘ความทุกข์ของชาวโลก’

ถ้าดูข้อมูลจากวารสาร Lancent[1] ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์อันดับต้นๆ ที่แพทย์ทั่วโลกอ่าน จะเห็นว่าสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในปี 2556 ของคนไทยคือโรคหลอดเลือดหัวใจ (หัวใจขาดเลือด – IHD) อันดับสอง คือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์) ปอดบวม ตับแข็ง โรคไตเรื้อรัง HIV/AIDS การทำร้ายตัวเอง และเบาหวาน ตามลำดับ

สาเหตุการตาย 10 อันดับแรกของชาวโลกและชาวไทยในปี 2556
ที่มา: สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ พบ. (2559). เอ็นซีดี โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง. เอกสารประกอบการบรรยาย: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากสิบอันดับนี้ มีเพียงหนึ่งสาเหตุการตายเท่านั้นที่เป็นการติดเชื้อโดยตรง นอกจากนั้นไม่ติดเชื้อทั้งหมดเลย เอ็นซีดีหรือโรคไม่ติดเชื้อจึงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย ซึ่งสาเหตุการตายอันดับ 1 และ 3 ซึ่งคือโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรม คือ ความดันสูงฯ เบาหวาน (อ้วนลงพุง) และสูบบุหรี่ กินเหล้า

การเสียชีวิตของคนไทยจากโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ในช่วงปี 2553-58 สูงขึ้น ไม่ลดลงเลย ปี 2557 ผู้ชายเสียชีวิตจากโรคนี้ 91.6 คนต่อแสนคน ในขณะที่ผู้หญิงเสียชีวิต 63 คนต่อแสนคน จะเห็นว่าผู้ชายเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง โรคหลอดเลือดหัวใจก็แบบเดียวกัน ปี 2557 ผู้ชายเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 73.2 คนต่อแสนคน ส่วนผู้หญิงเสียชีวิตแค่ 45 คนต่อแสนคน เพราะผู้ชายไม่ค่อยดูแลตัวเอง เป็นความดันสูงก็ไม่รักษา ออกกำลังกายก็น้อย สูบบุหรี่ กินเหล้ามากกว่า ปัจจัยเสี่ยงสามอันดับแรกก็ผู้ชายทั้งนั้นที่ทำเยอะ

การเสียชีวิตจาก Stroke ในไทย สถิติ
ที่มา: สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ พบ. (2559). เอ็นซีดี โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง. เอกสารประกอบการบรรยาย: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
IHD สถิติในไทย
ที่มา: สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ พบ. (2559). เอ็นซีดี โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง. เอกสารประกอบการบรรยาย: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถ้าดู ‘ปัจจัยเสี่ยง’ ของสาเหตุการตายของชาวโลก อันดับหนึ่งเลยคือ ความดันสูง อันดับสอง สูบหรือดมควันบุหรี่ อันดับสาม กินผลไม้น้อย อันดับสี่ อ้วน อันดับห้า น้ำตาลในเลือดสูง อันดับหก กิจกรรมทางกายน้อย อันดับเจ็ด กินอาหารที่มีโซเดียมมาก อันดับแปด ดื่มแอลกอฮอล์

ที่มา: สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ พบ. (2559). เอ็นซีดี โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง. เอกสารประกอบการบรรยาย: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทำไมคนไทยถึงเป็นเอ็นซีดีกันมาก อะไรคือสาเหตุหลักของเอ็นซีดี

มันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเยอะเลย ต้นเหตุความทุกข์ของเอ็นซีดีเกิดจาก ‘ความเพลิน’ ใน 3 อ. 2 ส. คือ อ.อร่อยเพลิน อ.อยู่สบายเพลิน อ.เอาแต่ใจเพลิน ส.สบายเพลิน (สูบบุหรี่) ส.สุขเพลิน (เสพสุรา)

ต้องเข้าใจก่อนว่าสุขภาพเป็นเรื่องของวิถีชีวิตและมีพื้นฐานจาก ‘ความเชื่อ’ ทุกวันนี้ความเชื่อมันเปลี่ยน เขาเชื่อว่าความสุขคืออะไรกันล่ะ เดิมอาจเชื่อว่าความสุขคือการไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่เพิ่มโรค ไม่ป่วยอีก เดี๋ยวนี้ความสุขคือได้บริโภค ความสุขคืออยู่สบาย หรือเอาเงินเป็นตัวตั้ง ตัวหัวเลยคือความเชื่อ เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ว่าคุณเชื่ออะไร

เอาง่ายๆ ถ้าเชื่อว่าเพลินคือความสุข คุณอร่อยเพลิน คุณกินเกินไหม ทั้งหวานมันเค็ม คุณอยู่สบายเพลิน คุณขี้เกียจออกกำลังกายไหม คุณเอาแต่ใจเพลินหรือเครียดเกินไหม ยิ่งเครียดยิ่งกิน ยิ่งนอน ยิ่งสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือเปล่า คุณสบายเพลินคุณก็สูบบุหรี่ สุขเพลินคุณก็กินเหล้า ความเพลินเป็นเหตุให้เกิดโรค

ถ้าคุณไม่เพลินก็โอเค เรื่องของกินผมไม่ห้ามคนไข้เลยนะ คุณกินได้หมด ถ้าคุณไม่เพลิน แล้วคุณใช้มันให้หมด มันก็ไม่สะสมในตัวคุณ คุณก็ไม่ป่วย ปัญหาเกิดจากมันเพลินแล้วคุณก็ใช้ไม่หมด จนสะสมจนเกิดโรค แค่นี้ตรงไปตรงมาเลย

นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาเอ็นซีดี มีอะไรบ้างที่ควรทำหรือไม่ควรทำ

เวลาใครถามมาผมว่าไอ้นี้ควรกินไหม ไอ้นั่นควรจะใช้หรือเปล่า ผมต้องถามกลับก่อนว่า “คุณเชื่อความรู้ไหนล่ะ” การดูแลสุขภาพคือเรื่อง ‘ความเชื่อ’ ที่ทำให้เกิดความรู้และความไม่รู้ และบอกว่าที่รู้นั้นถูกต้องหรือไม่ จะป้องกันหรือรักษาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อ แล้วแต่ว่าเขาเชื่อองค์ความรู้แบบไหน

ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ จบแพทย์ใหม่ๆ ผมก็เชื่อฝรั่ง เชื่อว่าความรู้ตะวันตกใช้ประโยชน์ได้จริง ก็เลยใช้มาตลอด แล้วมีช่วงหนึ่งผมป่วย ปวดหลังเรื้อรัง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ความรู้ตะวันตกบอกว่าน่าจะต้องผ่าตัด แต่ผมเกิดความไม่แน่ใจว่าผ่าแล้วจะหายหรือเปล่า เพราะบางงานวิจัยบอกว่าไม่แน่ ผ่าแล้วหายก็มี ไม่หายก็มี ผมก็เลยเริ่มหาความรู้อื่นจึงมาเจอความรู้ตะวันออก พวกไทเก็ก โยคะ ชี่กง ฝังเข็ม อะไรพวกนี้ ซึ่งสุดท้ายผมได้ชี่กงรักษาผม ก็เลยรู้ว่ามีความรู้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งความรู้ตะวันตกไม่ได้สอนไว้ เพราะผมไม่เคยเรียนในโรงเรียนแพทย์ เป็นความรู้ท้องถิ่นของคนโบราณ

แล้วต่อมาก็เริ่มสนใจว่า การฝึกเรื่องจิตใจช่วยเรื่องการเจ็บป่วยทางกายได้เยอะเลย โดยเฉพาะพวกชี่กง ไทชี่ โยคะ พอดีมีคนเชิญไปบรรยายเรื่องอายุยืน ผมก็เลยรีวิวดูว่าทั่วโลกมีใครพูดเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ทั้งญี่ปุ่นทั้งฝรั่ง ก็เลยมาฉุกคิดว่าแล้วสิ่งที่เรานับถือ คือพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอายุยืนไหม ก็พบว่ามี เลยไปหาความรู้พวกนี้จากคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ศึกษาเรื่อยมาประมาณ 5 ปี ถึงรู้ว่า ‘ธรรมศาสดา’ คือ องค์ความรู้อีกแบบหนึ่ง สมบูรณ์ที่สุด เพราะว่าไม่เคยเปลี่ยน

ผมจึงแบ่งองค์ความรู้ออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ

อย่างแรกก็คือ ‘Global knowledge : science and technology’ หรือความรู้ฝรั่ง ความรู้ตะวันตก เป็นความรู้สากลที่ใช้กันทั้งโลก ใช้ตาหูจมูกลิ้นกาย (ไม่มีใจ) ในการพิสูจน์ว่ามันจริง ถ้าคุณสามารถแสดงหลักฐานที่ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายบอกว่าอันนี้จริงให้ทุกคนเห็นตรงกันได้ ก็จะเชื่อตามนั้น นี่คือความรู้ที่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขเรียนมา

แต่เรารู้ว่า ความรู้พวกนี้ไม่สมบูรณ์ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ต้องมีฉบับใหม่ มีองค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อยอดมาอีก การที่เราใช้คำว่า ‘พัฒนา’ ก็เพราะมันยังไม่สมบูรณ์ แต่ก่อนเคยสอนให้รักษาแบบหนึ่ง ตอนนี้เปลี่ยนแล้วก็มี สิ่งที่เคยห้าม ตอนนี้มาใช้ก็มี สิ่งที่เคยบอกว่าควรใช้ ตอนนี้ห้ามก็มี

องค์ความรู้แบบต่อมาคือ ‘Local Knowledge : tradition and culture’ หรือองค์ความรู้ท้องถิ่น เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไทย จีน อินเดีย ซึ่งปู่ย่าตายายสะสมมาเป็นร้อยเป็นพันปี ทุกหนทุกแห่งใช้ ไม่รู้กี่ล้านคนใช้ ความรู้เหล่านี้ทนทานจากการพิสูจน์ของกาลเวลา สถานที่ บุคคล

ความรู้ฝรั่งพิสูจน์อย่างเก่งก็หมื่นคนห้าหมื่นคน ติดตาม 5 ปี 10 ปี แล้วก็บอกว่าใช้แล้วดีได้ประโยชน์ โดยใช้โอกาสเป็นตัวบอก แต่ความรู้ท้องถิ่นใช้ความเชื่อ คุณเชื่อไหมล่ะ ถ้าคุณเชื่อก็เอาไปลองใช้กับตัวเอง ถ้าได้ผล รู้สึกตัวเองใช้แล้วมันดี ไม่มีพิษมีภัย ก็บอกลูกบอกหลานต่อ

องค์ความรู้แบบที่สามคือ ‘Universal Knowledge : religious and spiritual’ หรือ ธรรมศาสดา ไม่ว่าศาสดาของศาสนาไหนก็ตาม อย่างศาสนาพุทธ เป็นองค์ความรู้ที่ไม่เคยเปลี่ยนมาเป็นเวลา 2 พันกว่าปี ไม่ต้องมีสิ่งใหม่ ไม่ต้องพัฒนา เพราะเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์แบบ จริงที่สุด ดีที่สุด และสุขที่สุด

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อว่าคนๆ นั้นจะเอาองค์ความรู้แบบไหนมาใช้ บางคนก็ใช้อันนั้นมากอันนี้น้อย เพราะความเชื่อไม่เหมือนกัน ความเชื่อจะเป็นตัวบอกว่า อะไรคือความรู้ที่คุณควรรู้ ผมก็จะเอาความรู้นั้นมาตอบเขา

อย่างผมเชื่อใน ‘ความไม่รู้’ เราต้องไปดูก่อนว่าเขาเชื่ออะไร แล้วถึงเอาองค์ความรู้นั้นไปบอกเขา ความเชื่อ 3 แบบนี้ แต่ละคนต้องถามตัวเอง แล้วจะใช้ความรู้อะไร อะไรคือ ‘ความจริง ความดี ความสุข’ ที่สุดตามความเชื่อนั้น

องค์ความรู้แต่ละแบบ ให้คำตอบเรื่องการป้องกันรักษาเอ็นซีดีอย่างไรบ้าง

เมื่อเหตุปัจจัยในการเกิดเอ็นซีดีคือความเพลิน ทางแก้ก็คือต้อง ‘ละความเพลิน’ โดยมีแนวทางปฏิบัติคือ ‘ใส่ใจ 3 อ.’ คือ อ.อาหาร อ.อิริยาบถ เคลื่อนไหวออกแรง ออกกำลังกาย และ อ.ออกกำลังใจ  ‘บอกลา 2 ส.’ คือ ส.สูบบุหรี่ ส.สุรา และประเมิน ‘น.ค.ร.  ส.ว.ย.’ คือ มีกายสุข ดูตัวชี้วัด น.น้ำหนัก ค.ความดันโลหิต ร.รอบเอว และ มีใจสวย คือ ส.สติ ว.วาง ย.เย็น

สำหรับ 3 อ. (อาหาร อิริยาบถ และออกกำลังใจ) สรุปแนวทางในการดูแลตัวเองจากองค์ความรู้ทั้ง 3 แบบ ที่สอดคล้องกันหมดได้ดังนี้

องค์ความรู้ 3 อ. 3 แบบ
ที่มา: สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ พบ. (2559). เอ็นซีดี โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง. เอกสารประกอบการบรรยาย: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยกตัวอย่างเรื่อง ‘อ. อาหาร’

  • กินแบบความรู้ตะวันตก

ตามองค์ความรู้ฝรั่ง (Global Knowledge) อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็จะมี Mediterranean diet เป็นอาหารแบบชาวกรีกโบราณ DASH diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension) อาหารลดความดันโลหิตของอเมริกา เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีข้อมูลเยอะ แล้วก็จะมีพวก Vegetarian diet แล้วก็ Okinawa diet ซึ่งเป็นอาหารที่คนอายุยืนในโลกกิน

เมื่อสกัดเอาลักษณะร่วมออกมาจากอาหารแบบต่างๆ เหล่านี้ ก็จะได้ ‘7 คำปราศจากโรคภัย’ ที่ใช้กับคนไข้เอ็นซีดีได้เกือบหมด คือ ‘พืชสด ลดเกลือ เนื้อน้อย ด้อยมัน น้ำตาลต่ำ ธรรมชาติ ปราศจากภัย’

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”box” background_layout=”light” text_orientation=”left” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”|10px||10px”]

คำปราศจากโรคภัย

  • พืชสด คือ กินผักสด (สุก) ผลไม้สด รวมกันมากกว่า 5 ฝ่ามือต่อวัน
  • ลดเกลือ คือ กินอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีเกลือโซเดียมรวมกันไม่เกินวันละ 2,400 มก.(เท่ากับน้ำปลาประมาณ 5 ช้อนโต๊ะ)
  • เนื้อน้อย คือ ลดการกินเนื้อแดง เช่น หมู วัว แพะ แกะ ควาย (เนื้อสัตว์ใหญ่) และ เนื้อปรุงแต่ง (เช่น ไส้กรอก หมูแฮม เบคอน) หรือกินตามอย่างชาวกรีกโบราณ โดยการกินเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ถึงเดือนละ 1-2 ครั้ง ไม่กินเนื้อสัตว์ทุกมื้อ ส่วนเนื้อขาว (เช่น ปลา ไก่) กินได้พอประมาณ และให้กินปลาขนาดประมาณปลาทู สัปดาห์ละแค่ 2-3 ตัวก็พอ
  • ด้อยมัน คือ กินของทอด ของมัน ไขมันสัตว์ให้น้อย งดการกินไขมันชนิดทรานซ์ เช่น มาการีน เนยขาว เนยเทียม เป็นต้น และงดอาหารทอดด้วยน้ำมันซ้ำ แต่ให้กินไขมันจากพืช เช่น ถั่ว งา น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง หรือน้ำมันมะกอก แทน
  • น้ำตาลต่ำ คือ กินน้ำตาลให้น้อย ไม่เกิน 6-9 ช้อนชาต่อวัน
  • ธรรมชาติ คือ อาหารธรรมชาติ ปรุงแต่งน้อย
  • ปราศจากภัย คือ อาหารที่ปราศจากการปนเปื้อน

ที่มา: สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข (2560). รูปแบบการบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง. สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”Text” background_layout=”light” text_orientation=”left” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid”]

แต่ความรู้ตรงนี้มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ ปรับเพิ่มโน่นลดนี่เยอะ อย่างแต่ก่อนเราไม่เคยกังวลเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ตอนนี้องค์การอนามัยโลกออกมาบอกแล้วว่า เนื้อแดงเนื้อปรุงแต่งควรจะต้องลด หรือแต่ก่อนเรากินสามมื้อ ตอนนี้ข้อมูลเริ่มออกมาแล้วว่า Intermittent Fasting ซึ่งคือแทนที่จะกินสามมื้อ ให้ลดมื้อกลางคืนลง ช่วยลดน้ำหนักได้ และเชื่อว่าทำให้อายุยืนด้วย

  • กินแบบความรู้ท้องถิ่น

ถ้าเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่น ก็จะเป็นวัฒนธรรมจิ้ม เป็นวัฒนธรรมโบราณของเอเชียหมดเลย ที่มีน้ำจิ้มหรือเครื่องจิ้ม เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ้ว โชยุ กิมจิ น้ำพริก จิ้มแปลว่าแตะ แตะน้ำจิ้ม แล้วมาแตะลิ้นให้รู้รสแล้วพุ้ยข้าวพุ้ยกับไป หรือเอาผักจิ้ม นี่คือสิ่งที่ปู่ย่าตายายถ่ายทอดมา แต่วัฒนธรรมตะวันตกกินผักอย่างไร ต้องเอามาคลุกมาราด แล้วกินทั้งหมด ถามว่าแบบไหนเกินล่ะ อร่อยจริง แต่มันเกิน จิ้มคืออร่อยอย่างพอเพียง นอกจากนี้ก็มีวัฒนธรรมตะเกียบ คนไทยเราก็มีตะเกียบไทยนะ (ชูนิ้วขึ้น จีบมือเหมือนหยิบข้าว)

นี่คือองค์ความรู้คนโบราณ คุณชอบไหมล่ะ คุณทำได้ไหม ถ้าคุณชอบก็เอามาใช้

ผมไม่ค่อยชอบคำว่า ‘ฟิวชัน’ มันดูเหมือนว่าพัฒนาแต่ทำให้ของเก่าหายไป โดยส่วนใหญ่คนเปลี่ยนก็ไม่รู้ว่าทำไมคนโบราณถึงทำอย่างนี้ ยกตัวอย่างเช่น ลูกชายผมชอบกินปลาดิบ แต่ไม่ชอบกินวาซาบิ ผมก็ไปหาข้อมูลว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงให้กินวาซาบิ แล้วก็เจอว่า วาซาบิฆ่าเชื้อโรคในปลา เพราะว่าคนญี่ปุ่นไม่ทำปลาให้สุก ซึ่งเขาก็มีเหตุผลอีกว่าต้องกินปลาน้ำลึกที่เย็นไม่ทำให้สุก เพราะโอเมก้า 3 เมื่อเจอความร้อนแล้วจะสลายไป ปลาน้ำลึกจึงต้องกินดิบกินเย็น แม้แต่คนทำปลาดิบยังต้องเป็นผู้ชาย เพราะมือเย็นกว่าผู้หญิง แต่ว่ากินเย็นกินดิบก็กลัวเชื้อโรคในปลา จึงต้องกินคู่กับวาซาบิ สมัยนี้เป็นไง วาซาบิเผ็ดขึ้นจมูก เอาทิ้งไปเลย เอาอย่างอื่นมาใส่แทน

อย่างคนจีนแคะโบราณกิน Red yeast rice หรือ ข้าวหมักราแดง ที่คนแต้จิ๋วเรียกอั่งคัก เคยกินหมูหันเป็ดปักกิ่งไหม ซอสแดงๆ ที่ใช้ทาแล้วย่าง นั่นแหละคือยาลดไขมัน ในข้าวหมักราแดงมีสารที่ฝรั่งสกัดมาทำยาสเตติน (Statin) ซึ่งเป็นยาลดไขมันที่ขายดีที่สุดในโลกตอนนี้ ยาสเตตินตัวแรกก็สกัดมาจากอันนี้ เป็นภูมิปัญญาของคนจีนแคะมาเป็นพันปี ใช้กินกับของมัน ใส่ในเย็นตาโฟ แต่สมัยนี้เย็นตาโฟกลายเป็นน้ำซอสมะเขือเทศ นี่แหละคือองค์ความรู้ตะวันออก ถ่ายทอดกันมาอย่างนี้ แต่น่าเสียดายที่คนสมัยนี้ไปแปลงมันโดยไม่รู้ที่มาที่ไป

คนเอเชียถึงเคารพบรรพบุรุษ ฝรั่งบอกบรรพบุรุษเอายีนไม่ดีให้ฉัน บอกว่าเป็นเพราะกรรมพันธุ์ ฉันเลยป่วย แล้วจะไปเคารพทำไม แต่คนเอเชียเคารพบรรพบุรุษ เพราะบรรพบุรุษใช้ชีวิต ให้เราดูว่าเขาใช้ชีวิตแบบนี้ทั้งชีวิตแล้วไม่ป่วย การกินอยู่ก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่รู้ เอาอร่อยเข้าว่า ไปเปลี่ยนสิ่งที่บรรพบุรุษกิน แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคุณ ก็ไม่รู้นะ

  • กินแบบธรรมศาสดา

สำหรับอาหารธรรมศาสดามี 3 คำ ก็คือ ย่อยง่าย ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น เว้นกินกลางคืน ดึงมาจากพระไตรปิฎกเลย

อย่างแรก บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย หรือ ‘ปริณตโภชี’ เป็นหนึ่งในธรรมที่เป็นเหตุให้อายุยืน บริโภคสิ่งที่ย่อยยากอายุสั้น คำถามคือ ย่อยง่ายคืออะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไว้ ที่เข้าใจก็คือ กินแล้วมันย่อยสลายง่าย เช่น กินแล้วท้องไม่ผูก กินแล้วไม่สะสมในร่างกายเรา ถ้าย่อยยากมันก็สะสมในตัวคน เป็นน้ำตาล เป็นไขมัน ทำให้น้ำหนักขึ้น ความดันขึ้น ไขมันขึ้น น้ำตาลขึ้น

เมื่อไปเทียบกับความรู้ตะวันออก ก็คือการกินแบบคนโบราณ กินผลไม้กินผักที่แก่จัดหรือสุกแล้ว ฝรั่งบอกว่าถ้ากินพืชผักผลไม้น้อยอายุสั้น (Diet low in fruit) การกินผลไม้น้อยเป็นสาเหตุอายุสั้นอันดับ 3 ของชาวโลก ผลไม้มีวิตามินมีสารในผลไม้เยอะมากเป็นหมื่นชนิดเลย

อาหาร ย่อยยาก ย่อยง่าย
ที่มา: สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ พบ. (2559). เอ็นซีดี โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง. เอกสารประกอบการบรรยาย: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างที่สอง ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น หรือ ‘โภชเน มัตตัญญู’ คือกินเพื่อบรรเทาเวทนาเก่า ซึ่งก็คือความหิว ไม่ให้เกิดเวทนาใหม่คืออิ่มอึดอัด เป็นการกินที่รู้จักประมาณ เพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ ให้ชีวิตเป็นไป เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ (เจริญมรรคมีองค์แปด) เวลาจะกินต้องพิจารณาอย่างแยบคายให้ดีก่อน ว่าเราไม่ได้กินเพื่อเล่น เพื่อมึนเมา เพื่อประดับ เพื่อตกแต่ง ดังนั้น ของกินเล่นไม่มี อาหารเสริมไม่มี บุฟเฟ่ต์ก็ไม่มี

ถามว่ากินอร่อยได้ไหม อร่อยได้ อาหารมีรสอร่อยของมันอยู่ ไม่ได้หมายความว่าห้ามอร่อย พระพุทธเจ้ามีคำว่ารสอร่อย คือ ‘อัสสาทะ’ แต่อยู่ที่ว่าคุณกินอร่อยเพื่ออะไร กินเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ ให้ชีวิตเป็นไป และเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ กินอร่อยเพื่อบรรเทาความหิว หรือกินอร่อยเพื่อกินเล่น เพื่อประดับบารมี หรือกินเพื่อตกแต่งร่างกาย

อย่างที่สาม คือเว้นกินกลางคืน หรือ ‘รตฺติโภชนา’ พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าเว้นกินกลางคืนหลังพระอาทิตย์ตกจะอาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า อยู่สุขสำราญ ก็คือ Intermittent fasting ตามความรู้ฝรั่งนั่นเอง

นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

ในเมื่อความเชื่อ-ความรู้มีหลายแบบ เวลาคนไข้มาหา คุณหมอให้คำแนะนำอย่างไร

ก็ให้เขาเลือกเองไง ซึ่งก็อยู่ที่หมอเชื่ออะไรอีกล่ะ แล้วใครชี้นำสังคมให้ไปทางไหน พระพุทธเจ้าเรียก ‘ปรโตโฆสะ’ การโฆษณาโดยบุคคลอื่น ให้มีโยนิโสมนสิการ คือให้พิจารณาโดยแยบคาย ใครมาพูดอะไร โฆษณาเห็นอะไรในสื่อ แล้วคุณพิจารณาโดยแยบคายหรือเปล่า หรือคุณเชื่อไปเลย ไม่เช่นนั้นมันจะเกิดมิจฉาทิฐิ เช่น เข้าใจผิดว่าการบริโภคคือความสุข ก็เกิดโรคจากการบริโภค เกิดความไม่สบายตามมา

ตอนนี้ฝรั่งมีสิ่งที่เรียกว่า Integrative medicine แต่ก่อนมีการแพทย์ทางเลือกหรือ Alternative medicine คือให้คุณเลือกคุณจะเลือกใช้แผนไหน ถ้าเลือกแผนตะวันตกก็เชื่อฝรั่งไปเลย เลือกตะวันออกก็อาจจะไปฝังเข็มกินสมุนไพร เป็นต้น ต่อมาเริ่มมีข้อมูลว่า Alternative medicine บางอย่างใช้ความรู้ตะวันตกไปพิสูจน์ได้ว่ามันจริง ตัวอย่างเช่น ฝังเข็ม แต่ก่อนฝังกันเอง ตอนนี้มาฝังกันที่โรงเรียนแพทย์แล้ว ก็เริ่มกลายเป็น Complimentary alternative คือใช้สององค์ความรู้คู่กันไป แต่สุดท้ายตอนนี้มันกลายเป็น Integrative medicine แล้ว คือใช้ผสมผสานกันเลย กินยาก็กินไป พร้อมกับฝังเข็ม กินสมุนไพร โยคะ ไทเก็ก

ในเมืองนอกมีเป็นหน่วยงานหรือภาควิชา Integrative medicine มาเป็น 20-30 ปีเป็นอย่างน้อย จากความไม่สมบูรณ์ของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีคนส่วนหนึ่งที่หันหลังให้การแพทย์ตะวันตกด้วยซ้ำ ส่วนในไทยเราเพิ่งเริ่ม แต่สามารถหาง่ายๆ คือเดินไปที่สวนลุมฯ มีทางเลือกเยอะแยะเลย สวนลุมฯ เป็นแหล่งสร้างเสริมสุขภาพใหญ่ที่สุดในประเทศก็ว่าได้ มีตั้งแต่ไสยศาสตร์ไปถึงการแพทย์ทางเลือก การแพทย์ผสมผสาน

แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อเขานั่นแหละ ว่าเขาเชื่ออะไรเป็นหลัก อันไหนมากอันไหนน้อย มันก็เป็นข้อดีตรงที่คนไข้มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องผ่าตัดอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ผ่าคุณตาย นี่จะทำให้คนไข้เครียดมาก แต่ถ้าบอกว่า หากคุณไม่ผ่ามีทางเลือกอะไรบ้าง และคุณชอบแบบไหน คุณสามารถที่จะใช้ชีวิตแบบที่คุณมีความสุข ซึ่งเป็นความจริงความดีที่เข้ากับตัวเขา ยกตัวอย่างการให้คีโม ถ้าผมทดลองใช้แล้วบอกว่าไม่ไหวหรอก ผมแย่ มีความทุกข์มากกว่าความสุข ผมก็อาจจะไม่ใช้ก็ได้ ถึงแม้คุณจะไปใช้ในกี่คนแล้วได้ประโยชน์เท่าไหร่ก็ตาม สุดท้ายตัวเขาต้องเป็นคนเลือกเอง (I am my evidence)

เพราะฉะนั้น การที่จะไปบอกว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูก สำหรับผมมันไม่แน่ ผมไม่ค่อยชอบคำว่า ‘ฟันธง’ เพราะเหมือนเป็นการบอกว่าอันนี้จริงอย่างเดียวนะ อย่างอื่นไม่ใช่ อย่างอื่นผิดหมด ซึ่งในความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น

ถ้าเราเชื่อที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าสันนิษฐานโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง การที่เราไปปักใจว่าสิ่งนี้จริงแน่ๆ สิ่งอื่นผิดหมด แสดงว่าเราไม่ยอมรับความจริงแล้ว เราต้องเปิดใจว่าบางทีสิ่งที่เราเชื่อวันนี้ พรุ่งนี้มะรืนนี้อาจเปลี่ยนแปลงก็ได้ เมื่อมีความรู้ใหม่เข้ามา เพราะฉะนั้นไม่ได้แปลว่าคนที่เชื่อไม่ถูกมาก่อนตามองค์ความรู้ไหนก็ตาม จะเป็นเช่นนั้นไปตลอด  

แต่ในการรักษาคนไข้มักต้องการคำตอบที่ชัดเจน อยากให้หมอฟันธงมาเลยว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ในทางการแพทย์เราสามารถให้คำตอบแบบนั้นได้จริงหรือไม่

สุดท้ายการแพทย์ก็ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะบอกโอกาส เช่น คนไข้ถามว่า กินยาตัวนี้แล้วหายไหม ผมก็บอกได้แค่ว่า ในบรรดาคนอย่างคุณร้อยคนที่เขาศึกษาไว้ ถ้าไม่กินยาโอกาสหาย 50% (สมมติ) แต่ถ้ากินยาโอกาสหายจะเพิ่มเป็น 60% เพราะฉะนั้นทางการแพทย์บอกว่าใช้ได้ แต่ถามว่าคุณจะไปอยู่ใน 10% ที่เพิ่มขึ้นหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ ตรงนี้มันถึงเป็นความไม่สมบูรณ์ไง เราบอกได้แต่โอกาส

คนไข้มาถามผมบ่อย หมอกินยานี้มา 5 ปีแล้ว ถ้ากินต่อไปจะเป็นอะไรหรือเปล่า ผมก็ไปค้นดูบอกเขาว่าไม่รู้เหมือนกัน เพราะการศึกษาอยู่ที่ 5 ปี ถ้าเอาตามหลักฐานวิชาการจริงๆ หลังปีที่ 5 ไปแล้วเราไม่รู้โอกาส บอกได้แค่นั้น แต่ส่วนใหญ่คำตอบที่เราได้จากหมอคือ “กินไปเหอะ ไม่เป็นไรหรอก” กินไปตลอดชีวิต เพราะว่าหมอไม่ได้ใช้หลักฐานวิชาการ แต่ใช้ความรู้สึก คนไข้คนโน้นกินมาตั้ง 10 ปี แล้วไม่เห็นเป็นอะไรเลย คนนี้ก็กินไป 8 ปีแล้วไม่เป็นอะไร นี่คือความรู้สึก แล้วมันจะต่างอะไรกับคนขายอาหารเสริม

เพราะฉะนั้น เราถึงต้องใช้องค์ความรู้ ซึ่งองค์ความรู้มีระดับอยู่ ถ้าเกิดเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ฉันทำแล้วฉันดี มาบอกเพื่อนต่อ อย่างนี้เป็นองค์ความรู้ที่ต่ำที่สุด ต่อมาก็มีการรวมหลายๆ รายเข้าด้วยกัน ก็จะสูงขึ้นมาหน่อย แล้วต่อมามีการติดตามย้อนหลัง เช่น ถามคนไข้ย้อนหลังว่าเขาสูบบุหรี่หรือเปล่า เพื่อดูว่าคนสูบบุหรี่แล้วเป็นโรคไหม หรือมีการศึกษาไปข้างหน้า เช่น เทียบคนสูบบุหรี่กับคนไม่สูบบุหรี่ในตอนนี้ แล้วติดตามไป 5 ปีจะเป็นอย่างไร หรือแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ศึกษาพร้อมกันไป โดยสองกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าใครได้ยาจริงยาหลอกอย่างนี้เป็นต้น

ส่วนองค์ความรู้ท้องถิ่นหรือความรู้ธรรมศาสดา มีคำว่า ‘ปัจจัตตัง’ หมายถึง ผู้ปฏิบัติ คือผู้เห็นผลด้วยตนเอง วิญญูชนย่อมรู้ด้วยตนเอง ฝรั่งบอกว่าคุณพิสูจน์ด้วยกายหูจมูกลิ้นกายเพื่อค้นหาความจริง เพราะใจแต่ละคนวัดและเทียบกันไม่ได้ แต่ความรู้ท้องถิ่นและความรู้ธรรมศาสดาไม่เหมือนฝรั่ง ถามว่าคุณเชื่อหรือเปล่า ถ้าเชื่อก็ฟังไป แล้วจำได้หรือเปล่า จำได้เสร็จไปใคร่ครวญ เสร็จแล้วเอาไปทำ เห็นผลเอง พิสูจน์ด้วยตนเอง ฝึกไป โยคะ ชี่กง หรือถ้าคุณเชื่ออาณาปานสติก็ทำไป แล้วคุณก็รู้เองเห็นเองว่าเป็นความจริง ความดี ความสุข ตามที่บอกไว้ไหม เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่แต่ละคนพึ่งตัวเองได้มาก (พระพุทธเข้าสอนให้พึ่งตนพึ่งธรรม) ในขณะที่การแพทย์ตะวันตกต้องพึ่งคนอื่น  

การใช้ยาจำเป็นไหมในการรักษาเอ็นซีดี

ผมเป็นคนที่ไม่กินยามาเป็นสิบปีแล้ว มีครั้งเดียวคือตอนที่ผมเป็นงูสวัด แล้วอยากรู้ว่า ถ้ากินยาแล้วจะหายเร็วขึ้นอย่างที่เคยได้อ่านมาไหม ปรากฏว่าไม่เหมือนที่ฝรั่งบอกเลยว่ามันจะลดโอกาสเป็นนี่เป็นนั่น เพราะผมไม่ได้อยู่ในโอกาสที่เขาบอกว่าจะดีขึ้น ผมพิสูจน์ตัวเองตรงนี้มาแล้วหลายครั้ง เลยไม่เชื่อว่ายาอันนี้ถูกต้องสำหรับผม

เพราะฉะนั้นยาไม่ใช่เป้าหมาย คนส่วนใหญ่คิดว่ากินยาแล้วหมดเรื่อง ยารักษาของมันเอง ฉันไม่ต้องทำอะไร แต่สำหรับผม ยาคือเครื่องมือ ที่บอกว่าคุณใช้ชีวิตถูกไหม ไม่เช่นนั้นคุณก็บอกว่ากินยาแล้ว ไม่ต้องทำอะไร การกินอยู่ของคุณถ้าเป็นไปตามการพึ่งตนพึ่งธรรม ตามธรรมชาติที่มันควรเป็น หรือใช้ชีวิตตามแบบคนโบราณ ยาจะน้อยลงไปเอง เพราะยาที่ผมรู้มันเป็นปลายเหตุทั้งนั้น

มีการศึกษาว่า ยิ่งกินยา ยิ่งเพิ่มโรค ตัวอย่างเช่น ฝรั่งศึกษาคนที่มีระดับไขมันผิดปกติ เทียบกันระหว่างคนที่กินยาลดไขมันกับคนที่ไม่กิน ติดตามผล 5-15 ปี ถามง่ายๆ ว่าใครจะตะกละมากขึ้น การศึกษานี้บอกว่าคนกินยาลดไขมันมีแนวโน้มอ้วนขึ้น เพราะกินอาหารกินไขมันเพิ่มขึ้น คิดว่าฉันกินยาแล้ว ฉันกินเต็มที่เลยทีนี้ ทำให้มีโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นอีก ในทางตรงข้าม คนที่ไม่กินยากลับกินไขมันน้อยลง การศึกษาเรื่องยาลดความดันก็เช่นกัน กลายเป็นว่าคนที่กินยาลดความดันมีโอกาสเป็นเบาหวาน เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบกล้ามเนื้อหัวใจตาย และเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต มากกว่ากันคนที่ไม่กินฯ ที่มีระดับความดันฯ เดียวกัน

คุณต้องรู้ว่ายามันทำอะไร ยามันกดตัวเลขลง ถ้าตัวเลขไขมันขึ้น ตัวเลขน้ำตาลขึ้น ก็กินยาให้ไปกดมันลง พอหมอบอกปกติแล้ว ฉันก็ไปกินอร่อยเกิน อยู่สบายเกินเต็มที่ ในขณะที่บางคนดูแลตัวเองอย่างดีก่อนมาโรงพยาบาล หมอบอกดีแล้ว ทีนี้กลับไปบริโภคกันเต็มที่อีก เห็นไหมยาเป็นดาบสองคม อยู่ที่ว่าคุณใช้อย่างไร ถ้าคุณใช้เป็นเป้าหมายคุณก็จะเจอปัญหาแบบนี้ มันก็จะเพิ่มโรค

เพราะฉะนั้นการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มี 4 เรื่องที่อยากให้ทุกคนได้ คือ

1. หายป่วยไว คือการรักษาโรค (Treatment) ถ้าเค้าป่วยไม่สบายตรงไหนทำให้เขาสบาย หายจากความเจ็บป่วยโดยเร็ว

2. ให้เหมือนเดิม คือฟื้นฟู (Rehabilitation) ฟื้นฟูให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม บางทีป่วยแล้วเดี้ยง อย่างนี้ก็ไม่เอา

3. ไม่ป่วยอีก คือป้องกัน (Prevention) การจะไม่ป่วยอีกได้ต้องรู้ว่าทำไมคุณถึงป่วย เพราะฉะนั้นถ้าคุณหรือหมอไม่รู้เลยว่าคุณใช้ชีวิตอย่างไรทำให้ป่วย ก็ไม่มีทางบอกได้เลยว่าต้องทำอย่างไรถึงไม่ป่วยอีก ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ แล้วคุณคิดว่าแบบนี้ยาป้องกันได้ไหม

4. ไม่เพิ่มโรค คือสร้างเสริมสุขภาพ (Health promotion) คุณมาโรงพยาบาลป่วยโรคหนึ่ง รักษาไป 3 ปี 5 ปี มันจะเพิ่มโรค รักษาความดันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเบาหวานมา เดี๋ยวไขมัน เดี๋ยวโรคไต เดี๋ยวมะเร็ง มันเพิ่มโรคไปเรื่อยๆ เลยถ้าคุณกินแต่ยา ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค ดังนั้น การมีพฤติกรรมสุขภาพ ใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส. จึงเป็นการลดโอกาสการเกิดโรคเอ็นซีดีอื่นๆ เพิ่มขึ้น

สี่อย่างนี้คือสิ่งที่อย่างน้อยๆ เราต้องให้คนไข้ได้ ไม่ใช่ว่าเรารักษาให้เขาหายป่วยครั้งนี้อย่างเดียว ผมมีคำที่ 5 ด้วย ‘หมดโศกด้วยปัญญา’ ถ้าคุณทำสี่อย่างนี้ได้แล้ว คุณมีความสุข หมดความทุกข์ความโศก และเห็นความจริง รู้ว่าคุณใช้ชีวิตแบบนี้ กินอยู่แบบนี้ เลยป่วยแบบนี้ แล้วถ้าคุณเปลี่ยนคุณจะไม่ป่วยอีก ไม่เพิ่มโรค คุณมีความสุขได้ นี่คือเห็นตามที่มันเป็นจริง เกิดปัญญา สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน

เราอยากได้คนไข้แบบนี้ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับความเชื่อ ว่าเขาเชื่อสิ่งที่ดีที่สุด จริงที่สุด สุขที่สุดหรือเปล่า ถ้าเขาไม่เชื่อก็ไปไม่สุดถึงข้อสุดท้ายหรอก เพราะจะหยุดอยู่แค่ไม่เพิ่มโรค

ถ้าไม่พึ่งยา ผู้ป่วยเอ็นซีดีจะสามารถดูแลตัวเองได้อย่างไร

ถ้าเราต้องการให้เขาดูแลตัวเอง เขาต้องรู้วิธีการใช้ชีวิต บางคนสอนเรื่อง 3 อ. 2 ส. (ดูแลเรื่อง อาหาร อิริยาบถ ออกกำลังใจ และงดสูบบุหรี่ งดสุรา) คำถามคือ คนไข้รู้ไหมว่าไอ้ที่ทำไป อะไรมากอะไรน้อย ดีแล้วหรือยัง บางคนบอกว่ากินผักนิดกินผลไม้อีกหน่อย เดินอีกหน่อย แล้วบอกว่ากินดีแล้วออกกำลังกายดีแล้ว เพราะฉะนั้นมันต้องมีตัววัดไง เราขาดตัววัดที่จะบอกว่าสุขภาพดีขึ้นไหม

ทุกสัปดาห์ที่ผ่านไป คุณรู้ไหมสุขภาพคุณดีขึ้นหรือแย่ลง คุณอยากรู้ไหมว่าโอกาสเกิดโรคหรือโอกาสตายเพิ่มขึ้นหรือลดลงไหม ถ้าอยากรู้ก็ต้องวัด 5 ตัวต่อไปนี้  คือ น้ำหนัก ความดัน รอบเอว แล้วก็บุหรี่กับเหล้า (น.ค.ร. 2 ส.) ถ้ามันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณก็เตรียมพร้อมจะเป็นเอ็นซีดีได้เลย โอกาสการเป็นเบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง และสมองเสื่อม มีปัจจัยมาจากสิ่งเหล่านี้

ตัวชี้วัดโรคเอ็นซีดี NCD

ทั้งหมดนี้วัดที่บ้านเลยได้ ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลหรอก ตัวชี้วัดพวกนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราประเมินเองที่บ้านได้หมด ไม่ต้องรอมาตรวจสุขภาพ (ได้แก่ น.น้ำหนัก ค.ความดันฯ ร.รอบเอว ส.สูบบุหรี่ ส.เสพสุรา หรือ น.ค.ร. 2 ส.)

ตรวจสุขภาพคือดาบสองคม ถ้าคุณตรวจแล้วผลปกติ คุณก็กลับไปประมาท ถ้าคุณเจอผิดปกติอะไรนิดหน่อย คุณก็กังวล ถูกไหม แล้วชอบไปตรวจกันนัก หลอดเลือดตีบกี่เปอร์เซ็นต์ พอไปตรวจหมอบอก ตีบไปแล้ว 80% ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับเครียด ไปหาหมอคนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่อีก แล้วตรวจไปทำไมให้มันเครียด

การตรวจสุขภาพประจำปี คุณตรวจวันนี้รู้ผลของวันนี้นะ ไม่ได้ตรวจทุกวัน แล้วคุณรู้ได้ไงว่าพรุ่งนี้ มะรืนนี้ หรืออีกสามเดือนข้างหน้า คุณจะเป็นโรคอะไรหรือเปล่า คุณไม่รู้หรอก จริงอยู่ว่ามันช่วยบอกโอกาส แต่มันบอกไหมว่าคุณจะไปอยู่ในโอกาสไหน ก็ไม่รู้อีก ถ้าคุณอยากรู้คุณตรวจเองที่บ้านได้เลย 5 ตัวนี้ ถ้าความดันมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ รอบเอวขึ้นเรื่อยๆ สูบบุหรี่กินเหล้าอยู่ตลอด คุณก็เพิ่มโรคพวกนี้ ดังนั้น สัญญาณเตือนภัยเอ็นซีดี คือ “น้ำหนักขึ้น เข็มขัดคับ ความดันขึ้น มึนเมาด้วยเหล้าบุหรี่”

เอ็นซีดีเป็นโรคที่ไม่เคยมีวันหยุด ไม่เลือกบุคคล ไม่เลือกสถานที่ แล้วคุณไปตรวจสุขภาพปีละครั้ง มันจะไปบอกอะไรเล่า มันต้องตรวจได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกบุคคล คุณอยากเพิ่มทำอย่างไร อยากลดทำอย่างไร ก็คุมให้อยู่ในเกณฑ์สิ ด้วยหลักการที่ว่า ตัวเลข น้ำหนัก ความดัน รอบเอว ที่เกินเกณฑ์อยู่ “ลดได้ลด ลดไม่ได้ อย่าให้เพิ่ม”

ตอนนี้ที่รพ.จุฬาฯ เรากำลังจะผลิตเครื่อง kiosk สแกนบัตรชั่งน้ำหนัก วัดความดัน วัดรอบเอว เก็บไว้หมดอยู่ในมือถือ ทำทุกครั้งก็พลอตกราฟให้เลย ทุกคนจะได้รู้ตัวเอง ไม่ต้องตรวจสุขภาพก็ได้ แต่ถ้าคุณอยากไปเจาะเลือดก็โอเค ปีละครั้งเพื่อเช็กละเอียดลงไปอีกหน่อยเรื่องน้ำตาล เบาหวาน ไขมัน แต่จริงๆ ตัวชี้วัดเหล่านี้ก็ประเมินได้เอง เช่น ถ้าน้ำตาล ไขมันในเลือดสูงไปเรื่อยๆ รอบเอวก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ (พุงยื่น) น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ความดันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือทางออกของคนไทย ซึ่งมันไม่ยาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็น

นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

ปัจจุบันเราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเอ็นซีดีมากมายจากสื่อและช่องทางต่างๆ ทั้งเรื่องแนวทางการรักษาและการป้องกัน เราควรมีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไรว่าความรู้ไหนน่าเชื่อถือ เพื่อที่จะสามารถดูแลตัวเองได้

  • เกณฑ์ความน่าเชื่อถือของความรู้ตะวันตก

อันที่หนึ่ง ถ้าเป็นความรู้ตะวันตก (Global knowledge) ก็มีเกณฑ์ที่คนทั่วไปเอาไปใช้ได้ การจะบอกว่าสิ่งที่เราได้ยินมาควรกิน ควรใช้ ควรห้ามหรือไม่ควรห้าม ให้ไปดูว่าโรงเรียนแพทย์ใช้ไหม (หรือโรงเรียนพยาบาล) ไม่ว่าจะจุฬาฯ รามาฯ ศิริราชฯ พระมงกุฎฯ ที่เขามีนักเรียนแพทย์ ถ้าโรงเรียนแพทย์ไม่ใช้ ก็ต้องดูว่าสิ่งนั้นมีข้อมูลทางวิชาการรองรับไหม ใช้ในคนกี่คน การวิจัยศึกษามีหรือไม่ มีองค์กรอะไรมารองรับหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น มีโรงเรียนแพทย์ไหนใช้ไหม ถ้าไม่มี เราต้องถามแล้วว่า คุณจะให้ผมเปลี่ยนมากินอย่างที่คุณแนะนำ มีข้อมูลอะไรที่จะบอกได้ว่าทำไมผมต้องเปลี่ยน

ทำไมต้องโรงเรียนแพทย์ เพราะโรงเรียนแพทย์เป็นที่สอนนักเรียนแพทย์ เวลาที่ผมไปสอนนักเรียน นักเรียนถามว่าอาจารย์ไปเอามาจากไหน ผมก็คงไม่สามารถบอกว่าผมไปเอามาจากทีวี อินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ใช่หลักฐานทางวิชาการ เวลาผมสอนก็ต้องบอกว่ามีการศึกษาวิจัยในคนกี่คน ศึกษาอย่างไร ติดตามมากี่ปี แล้วผลเป็นอย่างไร โอกาสมากน้อยแค่ไหน โรงเรียนแพทย์เลือกว่าอะไรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเหมาะสมจะเอามาใช้ ในแง่ของความปลอดภัย (safety) แล้วก็ดูประสิทธิภาพ (efficiency) ว่ารักษาแล้วโอกาสหายกี่เปอร์เซ็นต์ โอกาสตายลดลงหรือเปล่า จึงต้องใช้โรงเรียนแพทย์เป็นเกณฑ์

ถามว่าโรงพยาบาลทั่วไปได้ไหม ก็จะได้น้อยลงหน่อยในแง่ความน่าเชื่อถือ เพราะว่าโรงพยาบาลทั่วไปไม่ได้สอนนักเรียนแพทย์ บางทีเวลาหมอแต่ละคนจะสั่งอะไร ไม่ค่อยมีใครกล้ามาถามว่าอันนี้มาจากไหน หรือมาได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นเกณฑ์ทั่วไปที่ผมจะบอกคนไข้ว่าอะไรควร-ไม่ควร คือ ถ้าโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งใช้ คุณใช้เลย ถ้าโรงเรียนแพทย์ไม่มีสักแห่งใช้ คุณต้องระวังแล้ว ว่าสิ่งนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน

  • เกณฑ์ความน่าเชื่อถือของความรู้ท้องถิ่น

อันที่สอง เกณฑ์สำหรับ Local knowledge หรือความรู้ท้องถิ่น ก็ถามง่ายๆ ว่าปู่ย่าตายายใช้ไหม การบันทึกประวัติศาสตร์ทั้งหลายในอดีตมีไหม ถ้ามันสามารถทนทานต่อการพิสูจน์ของเวลาสถานที่บุคคลมาเป็นพันปี ทุกแห่งใช้เป็นเวลายาวนาน คุณไม่ต้องใช้วิทยาศาสตร์พิสูจน์ เพราะมันพิสูจน์มาแล้วด้วยเวลา สถานที่ บุคคล ถ้ามันไม่ดีจริง ปู่ย่าตายายไม่สอนถ่ายทอดลงมาถึงเราได้ มันจะหายไประหว่างทาง ระหว่างกาลเวลา ลองดูอย่างอาหารเสริมจะอยู่อีกกี่ปี ถ้าดีจริง ก็ต้องอยู่เป็นร้อยเป็นพันปี สมุนไพรอยู่ได้เพราะตรงนี้ คนโบราณรู้ว่าเวลาร้อนในต้องเอารากบัวหรือเก็กฮวยมาชงกิน แล้วมันดี ก็บอกลูกหลานต่อมาเรื่อยๆ

แต่ก็ต้องมีหลักฐานให้เห็นว่ามันใช้ได้จริง บางครั้งองค์ความรู้ท้องถิ่นอาจขัดแย้งกันเอง เราก็ต้องดูที่การบันทึกในอดีต เช่น มีการบันทึกอยู่ที่ไหน และความน่าเชื่อถือของการบันทึกนั้นมีมากน้อยแค่ไหน มันต้องมีที่มาที่ไป เป็นระดับชาวบ้านหรือระดับประเทศ ความน่าเชื่อถือจะต่างกัน เช่นพระเจ้าแผ่นดินบันทึกไว้ มีการคัดกรองเป็นตำรับยาหรือตำรับสมุนไพรหรือไม่ มันมีหมด ของจีนก็มี อินเดียก็มี ไทยเราก็มี

องค์กรก็ใช้อ้างอิงได้เหมือนกัน เช่น ถ้าองค์ความรู้ตะวันตกมีโรงเรียนแพทย์ไว้อ้างอิง องค์ความรู้ท้องถิ่นก็จะเป็นหน่วยงานวิชาการที่รับผิดชอบ ให้คำแนะนำทั้งประเทศว่าตัวไหนควรใช้ไม่ควรใช้อย่างไร เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งก็มีหน่วยงานแพทย์แผนไทย ซึ่งมีนักเรียนแพทย์เหมือนกัน เราถึงต้องมีองค์กรที่ดูแลแพทย์แผนไทยหรือองค์ความรู้เหล่านี้

  • เกณฑ์ความน่าเชื่อถือของความรู้ธรรมศาสดา

องค์ความรู้ที่สาม จะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนเป็นธรรมศาสดา ถ้าเป็นคริสต์ก็คงต้องดูไบเบิล ว่าพระเยซูคริสต์สอนโดยเอาคำพระเจ้ามาบอกอย่างไร ถ้าเป็นอิสลามก็จะเป็นคำสอนของนบีมุฮัมมัดซึ่งเอาคำอัลเลาะห์มาบอกกล่าวถ่ายทอด

ขออนุญาตยกตัวอย่างศาสนาพุทธ คำสอนของพระพุทธเจ้าคือพุทธศาสนา ถ้าเราบอกว่าเรานับถือพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่มีตอนนี้คือพระไตรปิฎก คนส่วนใหญ่สงสัยว่าพระไตรปิฎกเชื่อได้หรือ มันตั้งสองพันปีมาแล้ว สังคายนามาตั้งกี่รอบ เพี้ยนไปเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ แม้แต่พระบางรูปยังบอกเลยว่ายกเว้นพระพุทธเจ้ามาพูดให้ได้ยินถึงจะเชื่อว่าเป็นคำสอนที่ออกมาจากพระโอษฐ์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คุณมีหลักฐานทางวิชาการที่ดีกว่าพระไตรปิฎกไหม ถ้าไม่มี ก็คงต้องเชื่อคำสอนพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ฝรั่งเรียกว่า best evidence หรือหลักฐานทางวิชาการที่ดีที่สุด

แต่ว่าบางคนเขาเชื่อว่า ให้เขามีความสุขอย่างเดียวก็พอ ไม่จำเป็นต้องดีที่สุด จริงที่สุดก็ได้ ซึ่งตรงนั้นเราก็บอกไม่ได้ว่าเขาเชื่อผิด หรือบอกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความไม่รู้ของเขา เขาอาจจะรู้ก็ได้ แต่เขาบอกว่าเขาขอเลือกอันนี้

เพราะฉะนั้นความดีของฝรั่งก็แบบหนึ่ง ความดีของคนไทยคนจีนคนอินเดียโบราณก็อาจจะอีกแบบหนึ่ง ความจริง ความดี ความสุขไม่เหมือนกัน ก็แล้วแต่ว่าเขาเชื่ออะไร แล้วเขาจะเอาแบบสุดๆ ไหม ตรงนี้มีปัจจัยหลายอย่างในการที่จะบอกว่าอันนี้คือสิ่งที่ควรรู้หรือไม่ เพราะฉะนั้นความไม่รู้ที่เราคุยกันต้องอยู่บนฐานนี้

เช่น คนไทยกินข้าวถามว่าต้องทำวิจัยไหมว่ากินข้าวดีกว่ากินขนมปัง ทั้งๆ ที่ฝรั่งทำวิจัยแล้วว่าคนเอเชียที่กินข้าวเป็นเบาหวานมากกว่าคนฝรั่งที่กินซีเรียล บางทีองค์ความรู้ฝรั่งกับองค์ความรู้ท้องถิ่นขัดแย้งกัน แล้วเราจะเชื่ออะไร ก็อยู่ที่ความเชื่อ ถ้าเราเชื่อว่าปู่ย่าตายายเอาสิ่งดีๆ ให้ลูกหลานเราต้องสนใจไหมว่าฝรั่งเชื่อว่ากินขนมปังดีกว่า

นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

ทำไมคุณหมอถึงหันมาสนใจองค์ความรู้ ธรรมศาสดา ในการดูแลสุขภาพ

อย่างที่บอกว่าองค์ความรู้ท้องถิ่นแต่ละแบบไม่เหมือนกันเลย แม้แต่การฝึกชี่กง แต่ละอาจารย์ก็สอนไม่เหมือนกัน ผมเกิดความสงสัยว่าทำไมไม่เหมือนกัน แล้วแก่นมันคืออะไร ก็พบว่าไม่ว่าจะโยคะ ไทเก็ก ชี่กง เป้าหมายสุดท้ายคือสมาธิ สมาธิมีผลต่อความเจ็บไข้ได้ป่วยและสุขภาพของแต่ละคน ลดความดัน เบาหวาน ไขมัน มะเร็ง ได้หมดเลย

แล้วถ้าเป็นเรื่องสมาธิ พระพุทธเจ้าสอนสมาธิหลายแบบ เช่น กายคตาสติ อาณาปานสติสมาธิ เป็นต้น ผมเริ่มตรงนี้ อยากรู้ว่ามันมีผลได้อย่างไร

‘ธรรมศาสดา’ อาจฟังดูห่างไกลจากเรื่องสุขภาพ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้ จริงๆ แล้วคำว่า ‘สุขภาพ’ พระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้โดยตรงแต่เทียบเคียงได้กับคำว่า ‘นิพพาน’

ถามว่าสุขภาพคืออะไร องค์การอนามัยโลกให้ความหมายของสุขภาพในปี 2489 ว่าเป็นสภาวะสมบูรณ์ของความสุขทางร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ไม่ใช่เพียงแต่ความไม่เป็นโรคหรือความไม่อ่อนแอเท่านั้น นิยามใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาในปี 2541 จะมี ‘Spiritual Well-being’ หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณด้วย

คำว่าสุขภาพ (Health) จึงใกล้เคียงกับคำว่า Completeness of Wellness Wellbeing และ Happiness ซึ่งความสมบูรณ์ของความสุขพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ‘นิพพานัง ปรมัง สุขขัง’ นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นบรมสุข ถ้าเทียบคำว่าสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกให้ไว้กับคำว่านิพพานที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ จะพบว่าใกล้เคียงกันมาก

บรรดาทางปฏิบัติทั้งหลายให้ถึงอมตะธรรม ซึ่งคือนิพพาน ‘อริยมรรคมีองค์ 8’ คือทางอันเกษม เป็นทางที่มีความสุขความสะดวกที่จะไป พระพุทธเจ้าสอนไว้ครบเลย ว่าความที่เราไม่มีโรคคือนิพพาน เป็นภาวะอันหนึ่งที่เป็นลาภอย่างยิ่ง ตรงกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่มีโรคที่เป็น Health และนิพพานเป็นความสมบูรณ์ ของ Wellness

พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ความเพลินเป็นทุกข์ ละความเพลินเป็นสุข เป็นการดับทุกข์ ทำอย่างไรจะละความเพลิน คำตอบก็คือสติ คุณมีสติ คุณรู้ คุณก็ไม่เพลิน ไม่อร่อยเกิน อยู่สบายเกิน เอาแต่ใจเกินจนเครียดเกิน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า คุณก็จะป่วยน้อยลง

นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ 

แนวทางการป้องกันรักษาเอ็นซีดีบนฐานความเชื่อที่แตกต่างกัน มีตัวอย่างรูปธรรมอย่างไรให้เห็นบ้างในระบบการดูแลสุขภาพของไทย

โรงพยาบาลจุฬาฯ จะมีความรู้ทั้งสามแบบ เรามีทั้งการสนทนาสุขภาพทุกวันเสาร์ ใครอยากรู้ว่าฝรั่งสอนอย่างไร โรงเรียนแพทย์สอนอย่างไรก็มาคุยกัน เพราะฉะนั้นใครที่รับรู้อะไรมาจากอินเทอร์เน็ตบ้าง จากโซเชียลมีเดียบ้าง เยอะแยะไปหมด ก็เอามาถามกัน เราก็ต้องเอาความรู้ฝรั่งที่เค้าพิสูจน์แล้วมาตอบ มีการสอนโยคะ และมีสอนเรื่องสุขภาพทางจิตวิญญาณ

เรากำลังจะใช้วิธีนี้ในผู้สูงอายุ แล้วกำลังจะติดตามผู้สูงอายุประมาณ 5,000 คน เป็นเวลา 5 ปี ผมจะไปดูแลเรื่อง Spiritual health promotion คือการสร้างเสริมสุขภาพทางจิตวิญญาณ ใช้พุทธภาษิต พุทธวจนะ ดูว่าเขาเปลี่ยนได้ไหม มีความสุขมากขึ้นไหม มีความทุกข์น้อยลงหรือเปล่า หรือรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นหรือไม่

สุดท้ายผมขอสรุปว่า โรคที่เป็นสาเหตุการตายของคนทั้งโลกต้องแก้ตรงไหน แก้ที่ ‘เพลิน’ คำเดียว ดังที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ว่า ความเพลินเกิด ความทุกข์จึงเกิด ความเพลินดับ ความทุกข์จึงดับ (นนฺทิสมุทยา ทุกฺขสมุทโย นนฺทินิโรธา ทุกฺขนิโรโธ)

เชิงอรรถ

[1] Global Burden of Disease 2013 Mortality & Cause of Death Collaborators. Lancet 2015; 385: 117-71

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save