fbpx
101 ปี – 101 เรื่อง – ป๋วย 101

101 ปี – 101 เรื่อง – ป๋วย 101

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ภาพ

 

‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ คือใคร? อะไรคือป๋วย? คนที่ฟังคราวแรกอาจนึกถึงผักชนิดหนึ่ง หรือยาแก้ไอน้ำดำยี่ห้อหนึ่ง แต่ถ้าเขารู้จักธนาคารแห่งประเทศไทย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ก็จะพอทราบว่าป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางที่ยาวนานที่สุดของไทย และเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นในห้วงเวลาที่วิกฤตที่สุด

คนที่สนใจประวัติศาสตร์ จะรู้จักป๋วยจากนิยาม “คนตรงในประเทศคด” และ “ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน” ลูกศิษย์ในวงการจะจดจำป๋วยในฐานะ “บุคคลที่ซื่อสัตย์พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตามได้”

นอกจากป๋วยจะรับราชการสำคัญหลายตำแหน่งทั้งในทางเศรษฐกิจและการศึกษา เขายังทำงานพัฒนาชนบท สนับสนุนวงการศิลปะ และอุทิศชีวิตให้กับเสรีภาพของบ้านเมืองและประชาธิปไตย นอกจากนั้น ป๋วยยังเป็นนักเขียนด้วย

ในวาระ 101 ปีชาตกาลของป๋วย จึงขอสุขสันต์วันเกิดให้เขาด้วยการเขียน 101 เรื่องของป๋วย ถึงมิติต่างๆ ในชีวิต ทั้งประวัติ ความคิด และการงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของคนเรานั้น ไม่สำคัญว่าจะมาจากไหน แต่สำคัญว่าจะทำอะไร และจะมุ่งไปสู่หนทางใด ป๋วยคงไม่ต้องการให้ผมมายกย่องเชิดชูเขา จึงขอเล่าถึงป๋วยแบบธรรมดาๆ ให้ผู้อ่านหานิยามของป๋วยจากมุมมองของคุณเอง

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ่ายที่ Isabella Plantation, Richmond Park, 1984

 

101 เรื่องป๋วย 101

  1. ป๋วยเกิดวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1916 ตามปฏิทินเก่าของไทยที่ขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายนนั้น จะนับว่าป๋วยเกิดปลายปี 2458 แต่ถ้านับอย่างปีปัจจุบันที่ขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม เขาจะเกิดในต้นปี 2459
  1. ชื่อ “ป๋วย” มาจากชื่อภาษาจีน (สำเนียงแต้จิ๋ว) ว่า “อึ้ง ป้วย เคียม” ถ้าอ่านโดดๆ ก็จะเป็นแซ่อึ๊ง ชื่อป๋วย ส่วนเคียมเป็นชื่อ generation ตามธรรมเนียมจีน โดยแปลตามศัพท์ได้ว่า “พูนดินที่โคนต้นไม้” และขยายความไปได้ว่า บำรุง หล่อเลี้ยง เพาะเลี้ยง เสริมกำลัง
  1. เมื่อเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เคยสัพยอกป๋วยว่า น่าจะเปลี่ยนชื่อที่เป็นเจ๊กเป็นจีนให้เป็นไทยได้สักที ป๋วยตอบปฏิเสธด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ (1) เตี่ยตั้งให้ จะเปลี่ยนก็ต้องให้เตี่ยเปลี่ยน แต่เตี่ยตายไปแล้ว เลยเปลี่ยนไม่ได้ และ (2) ที่ลำปางมีตำบลหนึ่งชื่อ “ปางป๋วย” ชะรอยป๋วยก็น่าจะเป็นคำไทยด้วย
  1. นามสกุล “อึ๊งภากรณ์” ของป๋วยใช้ตามสกุลของลุง คือขุนรักษาอากรกิจ (ปอ) ซึ่งได้รับพระราชทานจากกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์มาในปี 2456 โดยนายปอติดตามเศรษฐีจีนมาค้าขายในเมืองไทยจนมีฐานะ จึงกลับไปชวนน้องๆ มาทำงานด้วยกัน ในบรรดาพี่น้องหลายคน มีนายซามาเพียงคนเดียว เตี่ยของป๋วยจึงไม่ได้มาเมืองไทยด้วยความยากลำบากแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่มาอย่างพอมีอันจะกิน
  1. นายซา พ่อของป๋วย เคยแต่งงานมาก่อนแล้วที่เมืองจีน แต่พออพยพมาเมืองไทย ภรรยาเก่าไม่ได้ตามมาด้วย จึงแต่งงานใหม่กับนางเซาะเซ็ง ประสาทเสรี แม่ของป๋วย มีบุตรด้วยกัน 7 คน ป๋วยเป็นคนกลาง
  1. นายซาทำอาชีพ merchant banking คือออกเงินให้ชาวประมงกู้ไปลงทุนแล้วรับซื้อปลาภายหลัง เป็นการให้กู้และเป็นคนกลางจำหน่ายปลาด้วย ป๋วยไม่ค่อยสนิทกับเตี่ย เพราะเตี่ยไปทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ กว่าจะกลับบ้านก็สองสามทุ่ม
  1. เมื่อนายซาตาย ป๋วยอายุเพียง 9 ขวบ เช้าวันนั้นป๋วยไม่ค่อยสบาย แต่เตี่ยก็เรียก “ป๋วย ไปซื้อโจ๊กให้กินหน่อยเถิด” ป๋วยอิดเอื้อนอยู่สักพักว่าทำไมเตี่ยถึงไม่ใช้คนอื่น แต่เมื่อแสดงฤทธิ์ด้วยการทำหน้างอกระฟัดกระเฟียดแล้ว ก็เดินไปซื้อที่สำเพ็งมาให้ บ่ายนั้นเองเตี่ยของป๋วยก็ตาย ป๋วยสรุปบทเรียนว่า “เสียดายโอกาส” เพราะในวันสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน แทนที่ป๋วยจะรับใช้ด้วยหน้าชื่นตาบาน กลับทำให้ท่านต้องหมองใจ
  1. ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ป๋วยก็ถูกเพื่อนล้อว่าเป็นเจ๊ก เพื่อนบางคนเรียกว่า “ไอ้ตี๋” ป๋วยจึงถูกปัญหาทั้งไทยและจีนอัดก๊อปปี้ แต่แม่ได้ให้คาถาว่า “เกิดเป็นไทย อยู่เมืองไทย ต้องเป็นไทย ต้องจงรักภักดีต่อไทย” แม้จะถูกเย้ยหยันต่อว่าว่าทิ้งขนบธรรมเนียมภาษาจีนไปก็ทนไหว หรือถูกล้อว่าเป็น “ฮ้วนเกี๊ย” เพราะพูดจีนไม่ชัดก็ตาม
  1. เมื่อเตี่ยตาย แม่ก็เลี้ยงลูกด้วยความลำบาก เธอเป็นหนี้หลายแห่ง เพราะต้องเลี้ยงดูลูกหลายคน จนเกือบหนีปัญหาด้วยการกระโดดน้ำตายเสียให้พ้นทุกข์ เผอิญงวดนั้นถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท เลยพ้นเคราะห์ไป
  1. นางเซาะเช็งเป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีความบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็มีคุณธรรมหลายประการที่เป็นแบบอย่างให้ป๋วย คือ (1) ความมานะเด็ดเดี่ยว (2) ความรักในอิสรภาพและเสรีภาพ (3) ความซื่อสัตย์สุจริต และ (4) ความใจกว้างเมตตากรุณา และยังสอนไม่ให้นินทาใครและไม่ให้ใครดูถูกได้ ป๋วยบอกว่าเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วมีปัญหาถกเถียงกัน โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพของบ้านเมือง ใครมาตอบเรื่องส่วนตัว ก็นึกเสียว่ามดกัด
  1. คุณยายของป๋วยชื่อ “เชย” ชอบให้ป๋วยอ่านหนังสือให้ฟัง แม้ไม่รู้หนังสือสักตัวเดียว แต่ก็คอยบอกให้ป๋วยได้เมื่อติดขัด จะนับเป็นครูภาษาไทยคนแรกของป๋วยก็ได้ เมื่อป๋วยอ่านหนังสือออกแล้วได้อ่าน รามเกียรติ์ อิเหนา พระอภัยมณี ซิยิ่นกุ้ย เต็กเช็ง นิราศต่างๆ ฯลฯ จากห้องสมุดของคุณยาย
  1. ป๋วยชอบกินข้าวเหนียวมะม่วง ตอนเด็ก ประมาณปี 2467 ถึงกับแต่งกลอนว่า
                    “กินอะไรก็ไม่เท่าข้าวเหนียวมะม่วง
                    หวานชุ่มทรวงดีไม่หยอกจะบอกให้
                    แม่ซื้อมาข้าลองดูสองใบ
                    เลยติดใจซื้อเขาทุกเช้าเย็น
                    ทุเรียนเบื่อเหลือแพงไม่แกล้งติ
                    กินแล้วซิซ้ำเรอให้เกลอเหม็น
                    แพ้มะม่วงมากมายหลายเปอร์เซ็นต์
                    ไม่ว่าเล่นมะม่วงฮ้อหลายต่อเอย”
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ่ายที่ Wimbledon Common, London, 1995

 

  1. ตอนเด็กๆ ป๋วยเรียนที่โรงเรียนสะพานเตี้ย แถวตลาดน้อย เป็นโรงเรียนกลางคืนที่วัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) ได้เรียนภาษาอังกฤษครั้งแรกจากโรงเรียนนี้ โดยมีคุณครูเจริญ เกิดมณี เป็นผู้สอน ก่อนจะไปเข้า ม.1 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โดยมหาสุข ศุภศิริ ซึ่งสอนภาษาไทยที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นผู้นำป๋วยไปฝากกับภราดาฮีแลร์ ท่านภราดาบอกว่าเด็กปัญญาดี ต้องเรียนภาษาฝรั่งเศส
  1. เมื่ออยู่ ม.2 มีภราดาฟรานซิสโก เซเวียร์ (ฉายา หลิม) ชาวสเปน เป็นครูประจำชั้น ภาษาฝรั่งเศสสำเนียงท่านยากเกินป๋วยจะเข้าใจ พักกลางวันวันหนึ่ง ภราดาหลิมมานั่งทำงานที่โต๊ะครู ป๋วยซึ่งนั่งอยู่ข้างหน้าต่างเอามือไปปัดไม้ค้ำหน้าต่างตกไปข้างนอก ภราดาหลิมบอกให้เดินออกไปเก็บ ป๋วยไม่เข้าใจเลยปีนออกหน้าต่าง ท่านเห็นดังนั้นเลยเอ็ดว่าให้เก็บเสียแล้วเดินกลับมา ป๋วยไม่เข้าใจเห็นท่านโกรธเลยรีบปีนกลับมา พอเห็นภราดาหลิมโกรธอีก ป๋วยเลยปีนออกไปเก็บ ยื่นให้เพื่อน แล้ววิ่งเข้าโรงเล่นหนีไป ป๋วยถูกอธิการไมเคิลตีในเย็นนั้น เขาสรุปบทเรียนว่า “ถ้าเราฟังไม่ได้ศัพท์ ก็อย่าจับเอาไปกระเดียด”
  1. ป๋วยเรียนหนังสือเก่ง ในชั้น ม.8 สอบได้ที่ 1 ของโรงเรียน เมื่อเรียนจบจึงได้รับการชักชวนให้เป็นครูที่อัสสัมชัญ สอนอยู่ 4 ปี โดยสอนวิทยาศาสตร์ คำนวณ ภาษาไทย และภาษาฝรั่งเศส สมัยนั้นได้เงินเดือน 40 บาท
  1. จากประสบการณ์ที่เป็นนักเรียนและครูโรงเรียนอัสสัมชัญมานานปี ป๋วยเห็นว่าคณะครูในโรงเรียนนี้ได้พร่ำสอนเขาและทำเป็นตัวอย่างให้เห็นในเรื่องการจัดสรรเวลา ด้วยคุณสมบัติ 2 ข้อ คือ (1) คาดการณ์ล่วงหน้า และ (2) การจัดระเบียบ ทำอะไรอยู่ในลักษณะแบบแผน ไม่วุ่นวายรุงรัง ป๋วยเตือนไว้ด้วยว่า “เวลาก็เหมือนเงิน มีแต่เพียงจำกัด ถ้าผู้ใช้ไม่ตริตรองวางแผนว่าจะใช้อย่างไรจึงจะดีแล้ว ถึงมีมากก็เหมือนมีน้อย ถ้ามีน้อยก็จะขัดสนยิ่งขึ้น”
  1. ระหว่างเป็นครูที่อัสสัมชัญ ในปี 2477 ป๋วยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด สำเร็จการศึกษาเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี 2479 แต่สอบได้ที่ 65 จาก 79 คน เพราะไม่มีเวลาดูหนังสือ หลังจากเรียนจบไม่นาน ก็ทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสให้ศาสตราจารย์เอกู้ ได้เงินเดือน 70 บาท
  1. ป๋วยสอบชิงทุนกระทรวงการคลังได้ไปเรียนทางเศรษฐศาสตร์ ที่ London School of Economics and Political Science มหาวิทยาลัยลอนดอน จบปริญญาตรี ในปี 2484 เป็นที่ 1 ในบรรดาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยกัน ทำให้ได้ทุน Leverhulme เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านปริญญาโท
  1. ปลายปี 2481 พร้อม วัชระคุปต์ นักศึกษาวิชาโลหกรรมจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ละล่ำละลักมาหาป๋วยบอกว่า แต่นี้ไปเมืองไทยจะแย่ เพราะหลวงพิบูลสงครามมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลพลพยุหเสนา และมีแนวโน้มเป็นเผด็จการแบบเยอรมันและอิตาลี ป๋วยรับว่าไม่เคยคิดมาก่อน พร้อมซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้ให้สติเรื่องเผด็จการและประชาธิปไตยแก่ป๋วยซึ่งเรียนในทางสังคมศาสตร์
  1. 9 มีนาคม 2483 ป๋วยอายุครบ 24 ปี เขาเขียนโคลงสี่สุภาพไว้ 3 บท ดังปณิธานแห่งชีวิตตนเองว่า
                    “คิดคุณอุ่นอกโอ้         แม่จ๋า
                    ก่อเกิดเกื้อกายา         ชุบเลี้ยง
                    อำนวยสุขศึกษา         ประเสริฐ ยิ่งแฮ
                    คุณท่านคณิตเพี้ยง     โลกล้นคณนา
 
                    เกิดมาสองรอบแล้ว    นักษัตร
                    ป๋วยเอ่ยจงตั้งมนัส      แน่ไว้
                    ปุริสะยาวอัต-             ถัสส์นิป- ปทาเฮย
                    วายเมเถว์ให้              ระลึกน้อมปณิธาน
 
                    กูชายชาญชาติเชื้อ     ชาตรี
                    กูเกิดมาก็ที-              หนึ่งเฮ้ย
                    กูคาดก่อนสิ้นชี-         วาอาตม์
                    กูจักไว้ลายเว้ย           โลกให้แลเห็น”

 

  1. ภาษิตที่ป๋วยนำมาเขียนเป็นโคลง คือ “วายเม เถว ยาวอตฺตสฺส นิปฺปทา” แปลว่า เป็นบุรุษพึงพยายามไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ ตรงกับคำที่อยู่ในตราของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลที่ว่า Labor Omnia Vincit ซึ่งแปลว่า สิ่งทั้งปวงเอาชนะได้ด้วยอุตสาหะ และป๋วยก็ยึดมั่นในแนวทางนี้มาตลอด เขาเคยแสดงปาฐกถาโกมลคีมทองครั้งแรกเมื่อปี 2517 ตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่ดีนั้นปฏิบัติได้ยาก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้ สิ่งที่เลวนั้น จะปฏิบัติให้ง่ายสักปานใด ก็ดีขึ้นมาไม่ได้”
  1. เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นเข้าประเทศไทยแล้ว ป๋วยได้ร่วมกับคณะ ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นในประเทศอังกฤษ วันที่ 7 สิงหาคม 2485 เข้าเป็นทหารในกองทัพบกอังกฤษ เพื่อรับใช้ชาติไทยโดยความร่วมมือจากอังกฤษ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และมีเจตนาแน่วแน่ที่จะสลายตัวไปเมื่อมหาสงครามยุติ โดยไม่เรียกร้องแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในด้านลาภยศหรือด้านอื่นใด
  1. ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ เล่าว่า เมื่อฝึกทหารกันในกองทัพอังกฤษแล้ว คณะได้พร้อมใจกันยกให้ป๋วยเป็นหัวหน้า เพราะเป็นแกนนำมาตั้งแต่ต้น เวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ป๋วยได้เรียกประชุมคณะ และขอให้เลือกหัวหน้าคนใหม่ เพราะเขาไม่ต้องการเป็นหัวหน้าตลอดกาล
  1. เมื่อฝึกเตรียมการเข้ามาปฏิบัติงานติดต่อกับเสรีไทยในประเทศ ป๋วยใช้นามแฝงในขบวนการเสรีไทยว่า “เข้ม” ทศ พันธุมเสน เพื่อนเสรีไทยเล่าว่า เพราะป๋วยหมายมั่นปั้นมือไว้แล้วว่า ถ้าเข้ามาปฏิบัติภารกิจในประเทศ จะให้ประทาน เปรมกมล เป็นบอดี้การ์ด เมื่อ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ประทานชื่อ “แดง” เป็นนามแฝงแก่ประทานแล้ว ป๋วยจึงใช้ “เข้ม” เพื่อให้เข้าคู่กันเป็น “แดงเข้ม”
  1. กันยายน 2486 ป๋วยพยายามเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือดำน้ำ แต่ไม่สำเร็จ เพราะสายที่จะต้องมารอรับ เดินทางล่าช้ากว่ากำหนด หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม 2487 ได้เข้าประเทศไทยโดยเครื่องบิน แต่การมาครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จเพราะนักบินหาจุดปล่อยไม่เจอ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์จึงเข้ามากระโดดร่มลงในประเทศไทยได้ แต่พลาดไปจากรอยต่อระหว่างจังหวัดตากและนครสวรรค์ เป็นชัยนาท
  1. ตอนถูกชาวบ้านจับที่ชัยนาท ป๋วยไม่คิดจะสู้ ยอมให้จับแต่โดยดี ทีแรกชาวบ้านจะยิงป๋วยให้ตายเพราะคิดว่าเป็นสายลับ เป็นอันตรายต่อประเทศ โชคดีที่นายบุญธรรม ปานแก้ว ขวางเอาไว้ โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองกำลังคับขัน ดีชั่วอย่างไรควรให้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงได้สอบสวนก่อนจะตัดสินใจอะไรโดยพลการ ตอนนั้นป๋วยคิดเหมือนกันว่าควรกินยาพิษที่เตรียมมาเพื่อฆ่าตัวตายหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญอะไรอีกบ้าง แต่เขาก็ไม่ทำเพราะเห็นว่า “ชีวิตเป็นสิ่งที่มีความสดชื่นและสวยงาม และตราบใดที่มีชีวิต ตราบนั้นยังมีหวัง”
  1. ป๋วยเล่าว่า ตอนที่มาปฏิบัติภารกิจเสรีไทย เขาไม่ถือปืนเข้ามา เพราะยึดมั่นในหลักอหิงสา และเขาเคยเสนอในที่ประชุมคณะเสรีไทยด้วยว่า ไม่ให้ใช้อาวุธประหัตประหารคนไทยด้วยกัน ถึงแม้จะต้องตายก็ไม่ควรสู้ ส่วนกับทหารญี่ปุ่น ป๋วยก็บอกว่าเขายิงไม่ลง จึงไม่พกปืนเข้ามา ไม่แปลกที่ต่อมาหลายสิบปี เมื่อป๋วยเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 2517 เขาจะเสนอเสรีภาพในมโนธรรมสำนึก ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร เพราะขัดกับความเชื่อเรื่องสันติวิธี แม้ศีลข้อที่ 1 ก็ผิดแล้ว
  1. ตอนที่ป๋วยถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไปสอบ เขาโชคดีที่ล่ามภาษาญี่ปุ่นของนายทหารเหล่านั้น คือนายฮาตาโน่ เพื่อนอัสสัมชนิกของป๋วย ที่เคยเล่นลูกหินในลานด้วยกัน เคยเที่ยวเตร่กัน และเคยรู้อกรู้ใจกันมาก่อน หลังสงครามฮาตาโน่ส่งจดหมายมาฟื้นความหลังกับป๋วยว่า “นึกขำในใจที่เห็นลื้อตีหน้าตอแหลพูดจนพวกนั้นเขาเชื่อหมด
  1. ป๋วยเห็นว่า สงครามมีความเลวที่ทำให้คนต้องโกหกกัน “มุสาวาทาต้องมาก่อน” ดังที่ป๋วยต้องโกหกใครหลายต่อหลายคนในช่วงนั้น ไม่เว้นกระทั่งภราดาฮีแลร์ ที่ป๋วยเจอในอินเดีย ป๋วยบอกว่า “สมัยนี้ที่โรงเรียนอัสสัมชัญคงจะยังมีการสอนไม่ให้มีการกล่าวคำเท็จอยู่ สมัยที่ข้าพเจ้าเรียนก็ได้รับคำสั่งสอนเหมือนกัน แต่ในฐานะของข้าพเจ้าในครั้งนั้นจำเป็นต้องลุศีล มีแต่จะลุมากหรือลุน้อยเท่านั้น
  1. เหตุที่ป๋วยร่วมเป็นชุดแรกที่เข้ามาปฏิบัติงานเพราะเขาอาสารับความเสี่ยงภัยสูงสุดในฐานะที่เป็นแกนนำ และเขามีความสัมพันธ์กับเสรีไทยในประเทศอยู่มาก กล่าวคือ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยที่ป๋วยสำเร็จการศึกษา และเมื่อป๋วยจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และได้คะแนนสูงสุดในรุ่นจาก LSE นายวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการ มธก. ก็ได้เรียนผู้ประศาสน์การให้ทราบ ในอีกฐานะหนึ่งผู้ประศาสน์การก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของทุนของป๋วยด้วย ป๋วยจึงเชื่อว่านายปรีดีจะจำเขาได้
  1. ด้วยความช่วยเหลือจากเสรีไทยในประเทศ ทำให้ป๋วยสามารถพบนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ เขาเป็นคนไทยคนแรกจากฝั่งสัมพันธมิตรที่สามารถติดต่อกับนายปรีดีได้ เป็นผู้ถือสารจากกองบัญชาการสัมพันธมิตรมาถึงหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และนายปรีดีได้ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยเครื่องส่งวิทยุจากป๋วย ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่สามารถสื่อสารออกไปได้ เป็นเวลาหลายเดือนกว่าที่พลร่มจากอังกฤษและอเมริกาจะสมทบตามมา
  1. หน้าที่ประการหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากนายปรีดี คือส่งโทรเลขไปแจ้งเตือนฝ่ายสัมพันธมิตรว่าขอให้ระมัดระวังในการทิ้งระเบิด โดยเฉพาะที่พระบรมมหาราชวัง วังของเจ้านายต่างๆ หรือกระทั่งที่พระราชวังบางปะอินที่พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ย้ายไปประทับที่นั่น คราวหนึ่งอังกฤษไปทิ้งระเบิดที่บางปะอิน ป๋วยถูกนายปรีดีต่อว่าอย่างรุนแรง และให้ส่งคำประท้วงอย่างดุเดือดไปถึงกองบัญชาการทหารอังกฤษทันที จนอังกฤษต้องขอโทษและรับรองว่าจะไม่เกิดซ้ำสอง
  1. มิถุนายน 2488 ก่อนมหาสงครามจะยุติ นายปรีดีให้ป๋วยกลับไปประเทศอังกฤษเพื่อขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษรับรองสถานะเอกราชของไทยหลังสงคราม เพราะเวลานั้นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศเข้ากับฝ่ายอักษะ ถ้าญี่ปุ่นแพ้ ไทยก็จะต้องเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม และอยู่ใต้อารักขาของประเทศสัมพันธมิตร ป๋วยจึงหาทางเจรจา โดยไปพบศาสตราจารย์ลัสกี้ ซึ่งสอนที่ LSE และเป็นประธานพรรคกรรมกร ที่มีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจารย์ของเขาก็ช่วยติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศให้ แม้ในคราวนั้นจะไม่สำเร็จก็ตาม
  1. ในปี 2489 ป๋วยแต่งงานกับมาร์เกรท สมิธ (Margaret Smith) เพื่อนนักศึกษาใน LSE มีบุตรชาย 3 คนด้วยกัน คือ จอน ปีเตอร์ และใจ แม้เธอจะสอบได้ปริญญาตรีทางสังคมวิทยา แต่ก็อุทิศชีวิตให้ครอบครัว เลี้ยงดูลูก ทำงานบ้านเอง เช่น ซักผ้า ทำอาหาร ฯลฯ ต่อเมื่อลูกๆ โตแล้วจึงได้ออกไปทำงานด้านสังคมสงเคราะห์
(จากซ้ายไปขวา) ป๋วย อึ๊งภากรณ์ – มาร์เกรท สมิธ – ฟิลลิส (พี่สาวของมาร์เกรท) ถ่ายที่ Wimbledon Common, London, 1995

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ มาร์เกรท สมิธ ถ่ายที่ Wimbledon Common, London, 1995

 

  1. ป๋วยกับมาร์เกรท เคยเขียนหนังสือเป็นฉบับไทย-อังกฤษ ด้วยกัน 2 เล่ม คือ การสงเคราะห์ประชาชนในประเทศอังกฤษ และ เรียงความบางเรื่อง (ประกอบด้วย ทหารชั่วคราว และ การปกครองแบบรัฐสภาในประเทศบริเทน) โดยที่เล่มหลังพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.อ.สรรค์ ยุทธวงศ์ น้องเขย
  1. ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยพูดกับป๋วย 2-3 ครั้งว่า “คุณป๋วย ผมรู้ดอกว่าบ้านของคุณเป็นเรือนไม้เล็กๆ อยู่ไม่สบาย เอาไหม ผมจะสร้างตึกให้อยู่อย่างสบาย” ป๋วยปฏิเสธไปว่าสุขสบายดีแล้ว ครั้นถูกเซ้าซี้หนักเข้า จึงพูดทีเล่นทีจริงไปว่า มาร์เกรทไม่ชอบอยู่ตึก ถึงสร้างตึกให้เขาก็เข้าไปอยู่ไม่ได้
  1. ที่เมืองไทยบ้านของป๋วยกับมาร์เกรท ไม่มีโทรทัศน์ เหตุผลสำคัญคือไม่อยากให้ลูกๆ ติดโทรทัศน์ อยากฝึกนิสัยให้อ่านหนังสือมากกว่า ต่อเมื่อลูกๆ โตแล้วและอยู่ด้วยกันในอังกฤษ จึงได้ดูโทรทัศน์บ้าง ที่ป๋วยชอบดูคือข่าว และฟุตบอล
  1. ด้วยความที่ป๋วยเป็นเสรีไทย ทำให้ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องกลับมารับราชการตามเงื่อนไข มีบริษัทฝรั่งหลายแห่งเสนอเงินเดือนให้สูงลิบ แต่ป๋วยปฏิเสธและกลับมารับราชการในกระทรวงการคลังตามเดิม เพราะสำนึกว่าตน “ได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนา ชาวเมืองไทย ไปเมืองนอกแล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย”
  1. ในปี 2491 ป๋วยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก LSE ด้วยการทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเกี่ยวกับดีบุก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในเวลานั้น แต่พี่น้องทางกรุงเทพฯ เตือนยังไม่ให้กลับ เพราะมีเสียงลือว่าป๋วยจะกระโดดร่มเข้ามาช่วยคณะของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อต้านคณะรัฐประหารที่ครองเมืองตั้งแต่ปี 2490 ป๋วยจึงไปเรียนศาสตราจารย์ Robbins ว่าขอให้ถ่วงเวลาประกาศผลสอบได้ออกไป ท่านว่าป๋วยนี่พิกล ตั้งแต่ตั้ง LSE มา มีแต่คนมาขอให้เร่งประกาศ ซึ่งท่านก็หน่วงไว้ให้หลายเดือน
  1. ป๋วยเข้ารับราชการครั้งแรก ในปี 2492 ที่กรมบัญชีกลาง ต่อมาจึงได้เป็นผู้เชี่ยวชาญกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ช่วงนี้เอง ที่ป๋วยเริ่มเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยบรรยายในวิชาต่างๆ เช่น การคลัง และปัญหาพลเมือง กับบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิชาเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย  ซึ่งทั้ง 3 วิชานี้ ต่อมาบรรดาลูกศิษย์และผู้ร่วมงานได้ช่วยกันถอดเทปเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือตำราของป๋วยจำนวน 3 เล่ม ตั้งแต่ปี 2495
  1. ป๋วยนับถือนายดิเรก ชัยนามมาก ป๋วยบอกว่าตอนเกิดรัฐประหาร 2490 นายดิเรกเป็นเอกอัครราชทูตที่อังกฤษ ท่านไม่มีความจำเป็นต้องลาออกแต่ประการใด แต่ท่านขอลาออกทันที โดยบอกป๋วยว่าคนเรานั้น “สำคัญที่เกียรติ” ท่านจะลอยหน้าเป็นทูตอยู่ต่อไปไม่ได้ ในขณะที่พรรคพวกในประเทศถูกเล่นงาน ถูกทหารรังแก แม้นายดิเรกจะมีความสุขสบายอยู่ในต่างแดน แต่ท่านถือว่าไม่มีเกียรติที่จะลอยหน้าเป็นทูตต่อไป เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยและอังกฤษจะไว้ใจท่านเพียงใด เนื่องจากท่านเป็นคนสนิทของรัฐบาลเก่า
  1. ในช่วงที่อยู่ในกระทรวงการคลัง ป๋วยมีบทบาทสำคัญในการเจรจาขอกู้เงินจากธนาคารโลก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เช่น การสร้างเขื่อนเจ้าพระยา การซ่อมแซมสถานีรถไฟหัวลำโพง และยังเจรจากับ USOM และอเมริกาให้สร้างถนนมิตรภาพขึ้นในเส้นทางสระบุรี-นครราชสีมา เพื่อเป็นตัวอย่างของถนนที่ได้มาตรฐาน โดยที่รัฐบาลไทยไม่ต้องเสียเงินเลยแม้สตางค์เดียว
  1. ปี 2496 ป๋วยเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ 7 เดือน ก็ถูกย้าย เพราะไปขวางอิทธิพลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จะซื้อสหธนาคารกรุงเทพ ซึ่งกำลังจะต้องเสียค่าปรับแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเงินหลายล้านบาท สฤษดิ์และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ขอให้ป๋วยยกเลิกค่าปรับ แต่ป๋วยปฏิเสธและยืนกรานจะเสนอเรื่องไปตามเดิม จึงถูกย้าย
  1. สิงหาคม 2497 ป๋วยเล่นมุขในการบรรยายเรื่อง หลักการคลัง ให้ข้าราชการพลเรือน ตอนหนึ่งว่า “การจะเลื่อนจากชั้นตรีเป็นชั้นโทนี้ ลำบากยิ่งกว่าไก่ เพราะไก่ถ้าจะรับประทานได้ดีละก็เพียงแต่อบเท่านั้น แต่ท่านต้องทั้งอบทั้งรม และนอกจากทั้งอบและรมแล้ว จะต้องมารมควันหลักวิชาการคลังซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นวิชาที่ไม่สนุกนัก
  1. ปี 2499 ป๋วยไปขวางผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจอีกครั้ง คราวนี้ เผ่า ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการเปลี่ยนโรงพิมพ์ธนบัตรจากโทมัสเดอลารูเป็นบริษัทใหม่ในสหรัฐอเมริกา ป๋วยเห็นว่าบริษัทใหม่ไม่น่าเชื่อถือ จึงเสนอว่าไม่ควรเปลี่ยน และยืนยันต่อคณะรัฐมนตรีว่าถ้าเปลี่ยนไปใช้โรงพิมพ์ที่ไม่น่าเชื่อถือแล้ว เห็นจะรับราชการต่อไปไม่ได้ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีถึงกับกล่าวกับพลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า “ไอ้ลูกศิษย์คุณพระนี่มันจองหองจริง คำหนึ่งมันก็จะลาออก สองคำมันก็จะลาออก
  1. ช่วงปี 2498-2499 ป๋วยรู้สึกว่าเป็นที่เกลียดชังของจอมพล ป. สฤษดิ์ และเผ่า 3 ผู้มีอิทธิพลในบ้านเมือง คิดจะลาออกจากราชการไปทำวิจัยที่ Chatham House ในกรุงลอนดอน แต่เมื่อความทราบถึงคุณพระบริภัณฑ์ฯ ท่านไม่อยากให้ป๋วยออกจากราชการ จึงตั้งตำแหน่งใหม่ให้ป๋วยไปเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน และเป็นผู้แทนไทยในคณะมนตรีดีบุก
  1. เมื่อรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ตั้งสำนักงบประมาณขึ้นในปี 2502 ป๋วยได้รับเรียกกลับมาให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรก ผลงานชิ้นสำคัญคือการปรับปรุงระเบียบวิธีการงบประมาณของประเทศเสียใหม่ จากที่ไม่เคยทำอย่างเป็นระบบให้มีความชัดเจนขึ้น จนสามารถออก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
  1. ในเวลาที่ป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีนายสิริ ปกาสิต เป็นรองผู้อำนวยการ ป๋วยกล่าวยกย่องเพื่อนร่วมงานว่า “ผมวางหลักการไว้ คุณสิริต่อเติมเนื้อหนังให้ ผมเพ่งเล็งในหลักเศรษฐกิจ คุณสิริวางแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักนั้นๆ ผมรู้แต่วิธีการงบประมาณของต่างประเทศ คุณสิริจูงเข้าแนววิธีการของไทย … ถ้าราชการงบประมาณ 3 ปีแรกของสำนักงบประมาณเป็นไปโดยดีและมีประโยชน์ อานิสงส์ส่วนใหญ่ต้องได้แก่คุณสิริ
  1. ในปี 2502 ช่วงที่ป๋วยประชุมคณะมนตรีดีบุกอยู่ที่ลอนดอน สฤษดิ์โทรเลขไปหาเรียกร้องให้ป๋วยรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนคนเดิมที่มีเรื่องอื้อฉาว ป๋วยปฏิเสธไปทันที โดยให้เหตุผลว่า ได้สาบานไว้ตอนเป็นเสรีไทยว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อยืนยันว่าการเข้าเป็นเสรีไทยไม่ใช่เพราะเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว สฤษดิ์ขอร้องอีกว่า “เห็นมีแต่คุณที่จะช่วยผมได้” ป๋วยยืนกรานไปว่าท่านนายกรัฐมนตรีคงไม่ต้องการรัฐมนตรีที่ทวนคำสาบานเป็นแน่
  1. เมื่อกลับมาจากการประชุมคราวนั้น จอมพลสฤษดิ์จึงตั้งให้ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากคนเดิมคือคนเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีปัญหาอื้อฉาว ป๋วยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยาวนานที่สุดถึง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน วางรากฐานให้องค์กรแห่งนี้มีความมั่นคง น่าเชื่อถือ และสร้างบุคลากรผ่านการให้ทุนการศึกษาจำนวนมาก จนเป็นหลักสำคัญของประเทศจนถึงทุกวันนี้
  1. ในการเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยของป๋วย นอกจากจะออก พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ริเริ่มการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อวัตถุดิบไปใช้ในกิจการอุตสาหกรรม การก่อตั้งสถาบันเป็นศูนย์กลางวางแผนเศรษฐกิจ การจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร การพัฒนาตลาดธนบัตรและตั๋วเงินคลัง ฯลฯ แล้ว ป๋วยยังทำงานในด้านการพัฒนาจนรวมถึงเรื่องการวางท่อระบายน้ำและท่อน้ำโสโครกในกรุงเทพฯด้วย
  1. หลังจากเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่นาน ป๋วยยังคงเป็นผู้แทนไทยในคณะมนตรีดีบุกอยู่ มีเรื่องให้พิจารณาถึงกรณีที่ไทยลักลอบส่งออกดีบุกนอกโควตาอย่างอุกอาจที่ภูเก็ต ด้วยความเซ่อของป๋วย เขาจึงไม่ทราบว่าจอมพลสฤษดิ์คือหัวหน้าของขบวนการนี้ ป๋วยได้ทำเรื่องร้องเรียนมายังหัวหน้ารัฐบาลคือสฤษดิ์ให้ทำการสอบสวนเพื่อส่งรายงานต่อที่ประชุม จนเวลาล่วงไป 2 ปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เมื่อถูกเร่งหนักเข้า สฤษดิ์จึงสั่งให้ป๋วยเดินออกจากที่ประชุมเลย ป๋วยคัดค้านและเสนอให้ทำตามวิถีทางที่ถูกต้องชอบธรรมจนสฤษดิ์ยินยอมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยป๋วยตั้งใจไว้แล้วว่า ถ้าคัดค้านไม่สำเร็จจะลาออกจากตำแหน่งผู้แทนไทย และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการประท้วง
  1. อีกครั้งหนึ่ง ตอนจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นกำหนดนโยบายการเงิน ป๋วยจึงแจ้งต่อหลวงวิจิตรวาทการ ปลัดบัญชาการว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว การตั้งคณะกรรมการใหม่จะทำให้ความรับผิดชอบพร่าไป และเน้นย้ำว่า ถ้ารัฐบาลจะตั้งขึ้นมาจริง ป๋วยก็เห็นจะต้องลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติ ท้ายที่สุดคณะกรรมการนี้ก็ไม่ได้ตั้ง
  1. ปี 2505 ป๋วยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นคนแรก ทำหน้าที่ทางวิชาการ เป็นมันสมองให้กระทรวง เสมือนเป็นเสนาธิการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการศึกษาแนวโน้มและกิจการสำคัญต่างๆ ให้คำแนะนำทางวิชาการ และนโยบายด้านการคลังต่อรัฐมนตรี
  1. ในเวลาที่ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เขามักจะใช้เวทีงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมธนาคารไทย กล่าวเรื่องทักท้วงรัฐบาล เช่นในปี 2507 หลังจากจอมพลถนอมประกาศไม่ให้คณะรัฐมนตรีถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้า ป๋วยแสดงสุนทรพจน์เป็นกลอนสุภาพทั้งหมดโดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า
                    “ยังจนใจไม่รู้อยู่หนึ่งข้อ
                    จอมพล ถ. ท่านแถลงแจ้งเป็นเรื่อง
                    ท่านปรารมภ์ผมก็เห็นเด่นประเทือง
                    ว่าใครเฟื่องเป็นใหญ่ในราชการ
 
                    ตัวอย่างเช่นเป็นรัฐมนตรี
                    ไม่ควรมีการค้ามาสมาน
                    อย่าข้องเกี่ยวเที่ยวรับทำเป็นกรรมการ
                    สมาจารข้อนี้ดีจริงเจียว
 
                    ผมสงสัยไม่แจ้งจิตกิจการค้า
                    หมายความว่ากิจใดบ้างยังเฉลียว
                    กิจธนาคารท่านผู้ใหญ่จะไม่เกี่ยว
                    หรือจะเหนี่ยวรั้งไว้ไม่นับค้า”

แม้หลังจากการแสดงสุนทรพจน์ในวันนั้น จอมพลถนอมจะลาออกจากธนาคารต่างๆ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีคนอื่นเอาอย่างแต่ประการใด

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ่ายที่ Wimbledon Common, London, 1995

 

  1. ปี 2508 ป๋วยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาการทำงานภาครัฐ ในฐานะที่เป็นข้าราชการดีเด่นผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ดังสดุดีป๋วยว่า “การปฏิบัติงานของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นเครื่องยืนยันว่า บุคคลเพียงผู้เดียวเท่านั้นก็สามารถจะเป็นกำลังสำคัญในอันที่จะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศตนได้” โดยเงินรางวัลเรือนแสนบาทที่ได้มา เขาบริจาคให้องค์กรการกุศลทั้งหมด  อีก 40 ปีต่อมา จอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนโตของป๋วย ได้รับรางวัลเดียวกันในสาขาเดียวกัน
  1. ในการให้ข้อคิดเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนา ป๋วยมักยกข้อความของรามอน แมกไซไซ ที่ว่า “ใครเกิดมามีน้อย กฎหมายบ้านเมืองควรอำนวยให้มาก” มาแสดงอยู่เนืองๆ ดังป๋วยมักจะเอ่ยถึงการดูแลคนชายขอบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาชนบท หรือการเกษตร นอกจากนี้ป๋วยยังได้รับข้อคิดสำคัญจาก ม.จ.สิทธิพร กฤดากรว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง
  1. ป๋วยเป็นเจ้าของทฤษฎีลูกโป่งสามลูกสูบ ซึ่งใช้อธิบายการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง โดย 3 ลูกสูบนั้นได้แก่ (1) การคลัง (2) การเงินภายในประเทศ (3) การเงินต่างประเทศ
  1. ในเวลาที่เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ป๋วยเป็นผู้เสนอให้ตั้งธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACEN) ขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางด้านการเงิน การธนาคาร เศรษฐศาสตร์ของธนาคารสมาชิก กับกระตุ้นและส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและฝึกอบรม
  1. ป๋วยชอบเป่าขลุ่ย ในธนาคารแห่งประเทศไทยเขาได้สนับสนุนให้มีวงดนตรีไทยของพนักงานขึ้น และมักไปร่วมเล่นด้วยอยู่เนืองๆ เพลงที่เขาชอบคือ นกขมิ้น และเขมรพวง นอกจากเล่นแล้ว ป๋วยยังชอบเพลงฟังไทยเดิมด้วย ในห้องทำงานของเขามักจะเปิดอยู่เสมอ
  1. ป๋วยชอบช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ไม่ว่าในทางสังคมหรือเศรษฐกิจ คราวหนึ่งในปี 2508 มีหญิงตาบอดส่งจดหมายมาขอเงินจากป๋วย เขาให้เลขานุการออกไปสำรวจ เมื่อพบว่าจริงก็มอบเงินให้ครั้งละหลายร้อยบาท จนเรื่องมาแดงเมื่อเธอไปลักขโมยแล้วถูกตำรวจจับ จึงโวยวายอ้างว่ารู้จักสัมพันธ์กับป๋วย นั่นทำให้รู้ว่าป๋วยผู้ใจดี ถูกหล่อนต้มเอาเสียแล้ว
  1. หลังเลิกงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางวันป๋วยจะเดินไปสั่งเบียร์เย็นๆ ส่วนมากยืนดื่มที่เคาน์เตอร์กับเพื่อนพนักงาน ถ้าใครอยู่ใกล้ป๋วยจะเรียกให้ช่วยดื่มเพราะ “ช่วยผมดื่มหน่อย ดื่มคนเดียวไม่หมดหรอก” หรืออย่างตอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์หลังเลิกงาน ก็มักจะชวนเพื่อนอาจารย์จิบบรั่นดี
  1. ป๋วยชอบกินอาหารพื้นๆ ที่ชอบมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ข้าวต้มกุ๊ย สำหรับของหวานที่โปรดปรานเป็นพิเศษได้แก่ เต้าฮวย แม้ตอนไปอยู่ที่อังกฤษก็ชอบทำข้าวต้มกุ๊ยเลี้ยงแขก  คราวหนึ่งนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไปหาป๋วย ป๋วยถามว่าอยากกินอะไร สุลักษณ์บอกอยากกินอาหารฝรั่ง  ป๋วยว่าดัดจริต แล้วทำข้าวต้มให้กิน
  1. ตอนป๋วยเป็นผู้ว่าการฯ พนักงานบางคนแซวว่า นายปิ่น กลัมพะวนิช คนขับรถประจำตัวของป๋วย มีฐานะดีกว่าเจ้านายเสียอีก เพราะปิ่นออกเงินให้ใครๆ กู้ คิดดอกเบี้ยในอัตราสูง ส่วนป๋วยมักน้อย ถ้าได้เงินพิเศษจากการประชุมหรือบรรยายที่ไหน ก็จะเที่ยวแจกจ่ายเพื่อนร่วมงานที่มีบทบาทช่วยเหลือ หากจ่ายไม่หมดจำนวนที่ได้มาก็จะกลุ้มใจ
  1. ป๋วยเป็นคนเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชา เวลาทักทายใครก็ไม่ใช่แบบขอไปที เช่น คราวหนึ่งทักทายพนักงาน ธปท. ว่า “เป็นไงท้องไส้ปกติดีแล้วหรือ?” เพราะจำได้ว่าเมื่อเกือบ 3 เดือนก่อน ตอนที่ป๋วยทักว่า สบายดีหรือ ผู้ใต้บังคับบัญชาเขาตอบว่ากำลังมีปัญหาเรื่องท้องเสีย

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ่ายกับ ลูอีส ลูกสาว ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่ Oxford, 1982

 

ป๋วยและมาร์เกรท ถ่ายกับ โรซา ลูกสาว ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่ Oxford, ประมาณปี 1984

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ่ายกับ โรซาและลูอีส หลานสาวทั้งสอง ในวันคริสต์มาส, 1986

 

  1. ป๋วยเป็นคนให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ครั้งหนึ่งผู้ว่าการธนาคารชาติฟิลิปปินส์ส่งจดหมายมาให้พร้อมแสตมป์ภาพประธานาธิบดีแมกไซไซ โดยเขียนในจดหมายว่าส่งมาให้ป๋วยในวันแรกจำหน่ายแสตมป์ดวงนี้ แต่ปรากฏว่าซองจดหมายที่พนักงานแนบมานั้น แสตมป์หายไปแล้ว แทนที่ป๋วยจะตำหนิว่าร้าย กลับเขียนบันทึกข้อความสั้นๆ ไปถึงลูกน้องว่า “ใครเอาแสตมป์หน้าซองนี้ไป คืนให้ผมเถอะ เขาเจาะจงให้ผมน่ะ
  1. ปี 2507 กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญให้ป๋วยมารับตำแหน่งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เสด็จในกรมนึกว่าจะต้องเชิญหลายทีเพราะเห็นป๋วยมีภารกิจมาก เวลานั้นเขาเป็นทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แต่ป๋วยตอบรับทันที เพราะอยากอุทิศชีวิตให้กับการศึกษา ดังเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในการแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาวนั้น การทอผ้าผืนใหม่ย่อมดีกว่าการคอยปะชุนผ้าที่ขาดอยู่ร่ำไป
  1. ป๋วยเป็นคณบดีตั้งแต่ปี 2507–2515 ปรับปรุงคณะเศรษฐศาสตร์จนเปลี่ยนโฉมเหมือนเป็นคนละคณะจากเดิม ทั้งปรับปรุงหลักสูตรใหม่ สร้างห้องสมุด หาทุนให้คณาจารย์ไปศึกษาต่อในประเทศต่างๆ สร้างตึกคณะหลังใหม่ ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยผ่านกลไกกรรมการต่างๆ ในคณะ และกวดขันให้นักศึกษามีความซื่อสัตย์สุจริต ดังประกาศว่า การทุจริตในห้องสอบ มีโทษไล่ออกสถานเดียว
  1. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) แต่เมื่อเป็นพระราชวรมุนีเคยกล่าวว่า เมื่อได้อ่านบทความเรื่อง เศรษฐศาสตร์บัณฑิตจงเจริญ (2511) พบว่าป๋วยอ้างพุทธพจน์ที่กล่าวถึงพละ 4 ประการ คือ (1) ปัญญา (2) ความเพียร (3) กิจการที่ไม่มีโทษ และ (4) ความสงเคราะห์ อันแสดงให้เห็นว่าป๋วยรู้เรื่องธรรมะมากอยู่ เพราะธรรมหมวดนี้ ท่านก็ยังไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำ จึงเป็นความประทับใจอันหนึ่งซึ่งจำติดมา
  1. ป๋วยตระหนักว่าการจัดระบบเศรษฐกิจให้เรียบร้อยอย่างที่พยายามทำนั้นยังไม่สามารถบันดาลให้ผู้ยากไร้ในประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในชนบทแร้นแค้น อีกนัยหนึ่งคือไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง เริ่มจากการก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในปี 2510 ที่จังหวัดชัยนาท
  1. ปี 2512 ป๋วยก่อตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร รับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเรียนรู้เรื่องการพัฒนาชนบท ลงไปทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่จริงเพื่อแก้ไขปัญหา  ป๋วยอุทิศวันสุดสัปดาห์ให้กับการออกไปเยี่ยมบัณฑิตในต่างจังหวัด  ถึงกับเคยกล่าวไว้อย่างกินใจว่า “สมมติว่าจะให้ผมออกจากตำแหน่งบางตำแหน่ง ให้เหลือน้อยตำแหน่ง ผมพูดได้ว่าบัณฑิตอาสาสมัครนี่จะเป็นตำแหน่งที่ผมสงวนเอาไว้ต้องทำ … เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นได้ว่าผมรักโครงการนี้แค่ไหน
  1. เดช พุ่มคชา บัณฑิตอาสาสมัครคนหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งเขามานอนที่ป้อมยามของธรรมศาสตร์ กลางดึกหลังจากปิดประตูมหาวิทยาลัยแล้ว ป๋วยซึ่งเป็นอธิการบดีอยู่ในเวลานั้น ขับรถมาแล้วออกไปไม่ได้ จึงลงมาเคาะประตูแล้วพูดอย่างสุภาพว่า “ยามครับๆ เปิดประตูให้ทีครับ” เมื่อเดชเปิดมาเจอป๋วย จึงทักทายกัน แล้วป๋วยจึงชวนไปกินข้าวต้มที่บางลำพู ร้านโปรดของเขา
  1. คราวหนึ่งป๋วยขับรถออสตินคู่ใจคันเก่าที่นำกลับมาจากประเทศอังกฤษจะไปประชุมที่แบงก์ชาติ แล้วเกิดไปชนท้ายรถคันหน้าเข้า  ปรากฏว่ารถคู่กรณีมีคนขับคือนายไววิทย์ ชัยสูตร ลูกนางเง็ก น้องสาวนางเซาะเช็ง แม่ป๋วย  ป๋วยเลยพูดว่า “ขอโทษที กำลังคิดอะไรเพลินๆ อยู่ เลยเหยียบเบรกไม่ทัน  รถเป็นอย่างไรบ้าง?  จะเอาค่าซ่อมก็ไปเอาที่แม่อี้ [คุณน้า]ก็แล้วกัน เฮียจะรีบไปประชุม
  1. มกราคม 2512 ป๋วยปาฐกถาเรื่อง ศีลธรรมและศาสนาในการพัฒนาชาติ กล่าวถึงหลักความเจริญแห่งสังคมว่าสังคมจะเจริญพัฒนาได้ต้องอาศัยหลัก 4 ประการ คือ (1) หลักสมรรถภาพ (2) หลักเสรีภาพ (3) หลักยุติธรรม และ (4) หลักเมตตากรุณา และในตอนท้ายป๋วยกล่าวเตือนผู้ใหญ่ว่า “ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ไม่ใช่บอกว่าผู้ใหญ่ทำได้อย่างหนึ่งแต่เด็กต้องทำอีกอย่างหนึ่ง … ความประพฤติชั่วของเด็กและเยาวชนนั้นไม่ใช่เกิดจากการละเมิดศีลธรรมของเด็ก แต่มีสาเหตุมาจากการละเมิดศีลธรรมของผู้ใหญ่เป็นสำคัญ

 

(จากซ้ายไปขวา) พิภพ ธงไชย – อุทัย ดุลยเกษม – ป๋วย อึ๊งภากรณ์ – รัชนี ธงไชย ที่ Isabella Plantation, Richmond Park, ประมาณปี 1983-1984

 

  1. ปี 2513 เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ย้ายการลี้ภัยจากประเทศจีนมาฝรั่งเศส ป๋วยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนแรก ที่กล้าไปพบนายปรีดีที่เป็นปีศาจการเมืองของสังคมไทยในเวลานั้น ด้วยกตัญญุตาต่อท่านผู้ประศาสน์การและหัวหน้าขบวนการเสรีไทยของเขา  และไม่แต่พบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ป๋วยยังติดต่อกับปรีดีอย่างต่อเนื่อง และรับใช้อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เช่น เรื่องการซื้อบ้านอองโตนี  การตามหาฟิล์มภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก  การติดต่อสำนักพิมพ์และเป็นบรรณาธิการหนังสือให้อาจารย์ปรีดี ฯลฯ  และในจดหมายลงวันที่ 26 สิงหาคม 2513 ป๋วยเขียนถึงปรีดีว่า “ผมเองเชื่อแน่ว่า (ก) ท่านอาจารย์ไม่เป็นคอมมิวนิสต์  (ข) ท่านอาจารย์เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างเดียว (ค) ท่านอาจารย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตเลย
  1. ปี 2513-14 ป๋วยเป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยพรินสตัน สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี 2514-16 เป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เพื่อค้นคว้าทางวิชาการ และดูการจัดการอุดมศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาสนใจ เพราะป๋วยมีความฝันว่าอยากเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  1. มีนาคม 2514 ป๋วยเขียนบทความ ข้อคิดจากสหรัฐอเมริกา ชวนคิด 2 ข้อ คือ (1) อุดมคติเมื่อยังเป็นนักเรียนหรืออยู่เมืองนอกนั้น เราจะยึดมั่นกันเพียงใด เพราะเมื่อกลับมาทำงานในเมืองไทยแล้ว สังคมไทยเป็นสังคมที่กลืนอุดมคติเก่ง รวดเร็ว และแนบเนียน และ (2) นักเรียนมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกจะมีบทบาทอย่างไรเกี่ยวกับประชาธิปไตยและความอยู่รอดของประเทศ
  1. ป๋วยเชื่อว่า “คนเท่ากัน” ดังให้สัมภาษณ์ใน รัฐศาสตร์นิเทศ (เมษายน-มิถุนายน 2514) ว่า “ประชาชนชาวไทยไม่ใช่จะไร้ความคิดเสียทีเดียว  แม้แต่คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เท่าที่เราเห็นมา เขาเลือกผู้แทนฯได้ดีๆ นับแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา … ข้อห่วงใยของราษฎรแต่ครั้งกระโน้น หรือแม้กระทั่งบัดนี้ว่าในเมื่อราษฎรไทยเรายังไม่มีการศึกษาที่ดีแล้วก็ไม่ควรจะให้สิทธิเต็มที่ตามระบอบประชาธิปไตย ข้ออ้างนี้ผมไม่เห็นด้วย
  1. ปี 2514 ขณะที่พำนักอยู่เมืองเคมบริดจ์ นายอภิชัย พันธเสนได้ไปแวะเยี่ยมหา เย็นวันหนึ่งหลังจากรับประทานอาหารเย็นที่ป๋วยทำข้าวต้มเลี้ยงแล้ว ป๋วยก็ชวนว่า “วันนี้ไปดูหนังโป๊กันหน่อยไหม” แล้วเดินพาไปดูหนังโรงของมหาวิทยาลัย เรื่อง Deep End ซึ่งเป็นหนังเรท R ที่ไม่ได้โป๊มาก  ตรงกับที่นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เล่าว่าป๋วยก็เคยชวนเขาไปดูหนังโป๊เช่นกัน  นอกจากนี้บางคนยังกล่าวถึงอารมณ์ขันของป๋วยด้วยว่า เขาเก่งมากในการเล่นคำผวนทะลึ่งๆ

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่บ้านลอนดอน, ประมาณปี 1981-1982

 

  1. กุมภาพันธ์ 2515 ป๋วยใช้นามปากกา “เข้ม เย็นยิ่ง” เขียนจดหมายถึง “นายทำนุ เกียรติก้อง” ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ เรียกร้องให้มีการคืนกติกาหมู่บ้าน และให้เสรีภาพกับคนในหมู่บ้าน  เพื่อคัดค้านการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร ในเดือนพฤศจิกายน 2514  ทำให้ผู้ครองอำนาจในเวลานั้น ไม่ไว้ใจป๋วยเป็นอย่างมาก  จนการกลับเมืองไทยของท่านเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายทีเดียว  นายจิตติ ติงศภัทิย์ถึงกับฝากคนไปแจ้งกับป๋วยว่า “อย่าเพิ่งกลับมาเลย ตอนนี้มันเป็นระยะที่ไว้ใจใครไม่ได้เลย”  แม้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2516 คือ 1 ปีหลังจากเขียนจดหมาย ป๋วยกลับมาร่วมงานเปิด AIT ที่เขาเป็นกรรมการอยู่ เขาก็ต้องระวังตัว ดังเล่าว่า “แต่ละคืนเพื่อนฝูงพาไปนอนบ้านทั้งนั้น เราจะว่าขี้ขลาดก็ขลาด แต่ไม่ควรจะบ้าบิ่น
  1. อาจมีผู้สงสัยว่า ทำไมรัฐประหารเกิดในเดือนพฤศจิกายน 2514 แต่รออีก 3 เดือน กว่าป๋วยจะเขียนประท้วง ป๋วยเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เกิดรัฐประหารขึ้นก็เลยไม่ค่อยพอใจ จึงแวบเข้ามาดูราวเดือนธันวาคม ก็ยิ่งไม่พอใจเข้าไปใหญ่ กลับไปตั้งใจเขียนจดหมายนายเข้มขึ้นทันที ทีนี้เขียนไม่ทัน ไปถึงก็เป็นไข้หวัดอย่างแรง กว่าจะได้เขียนก็ตอนฟื้นไข้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 
  1. ป๋วยนับเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนแรกที่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ต้องการประชาธิปไตย จดหมายของนายเข้มเปรียบเหมือนคบเพลิงนำทางให้เขา แต่สำหรับผู้มีอำนาจเดิม นี่เป็นการท้าทายจากข้าราชการคนสำคัญแห่งยุคทีเดียว  เดิมที ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนลง สยามรัฐ ปฏิเสธว่า นี่ไม่ใช่จดหมายจากป๋วยเพื่อลดปฏิกิริยาต่อต้านรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นตามมา  จนป๋วยต้องเขียนชี้แจงว่าเขาเขียนเองจริงๆ
  1. เมษายน 2515 ป๋วยเขียนบทความชิ้นสำคัญเรื่อง บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี เสนอว่าประชาธิปไตยเป็นคำที่ใช้กันจนเฝือ จึงเสนอประชาธรรมมาแทนที่ ซึ่งต่อมาขยายความว่ามีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ (1) สิทธิเสรีภาพของคนในสังคม และ (2) การมีส่วนร่วมในการกำหนดโชคชะตาของสังคมที่พวกเราอาศัยอยู่  ในข้อสรุปป๋วยเสนอหลักการที่เรียกว่า “สันติประชาธรรม” กล่าวคือไม่มีวิธีการใดจะได้มาซึ่งประชาธรรมถาวรนอกจากสันติวิธี
  1. หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ร้องขอให้ป๋วยเข้าไปช่วยทำงานในรัฐบาล ป๋วยต่อรองขอรับเพียงตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพราะตำแหน่งนี้ไม่นับเป็นตำแหน่งทางการเมือง ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ที่เขาให้ไว้ตั้งแต่เป็นเสรีไทย
  1. มิถุนายน 2516 ป๋วยปาฐกถาในหัวข้อ ข้อคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับ ค.ศ.1980 ที่เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ในตอนท้ายได้เขียนภาคผนวกในชื่อ การกินดีอยู่ดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาปรับปรุงแก้ไขจนรู้จักทั่วไปในชื่อบทความ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
  1. ตุลาคม 2516 ป๋วยเขียนบทความ เสียชีพ อย่าเสียสิ้น รำลึกถึงวีรชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เสนอให้ตั้งสมาคมพิทักษ์เสรีภาพและประชาธิปไตย โดยถือคติว่าผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ตายเปล่า คือหาทางป้องกันระบอบประชาธิปไตยจากผู้ที่คอยปองร้าย เช่น ถ้ามีผู้ทำรัฐประหาร สมาชิกของสมาคมซึ่งประกอบอาชีพต่างๆ จำนวนมากมายมารวมตัวกันประท้วงโดยสันติวิธี ไม่ร่วมมือกับคณะรัฐประหาร ก็น่าจะพอสู้ได้บ้าง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สมาคมที่ว่านี้ซึ่งต่อมาเกิดขึ้นในชื่อ สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ เสนาะ ตันบุญยืน เพื่อนสนิท ถ่ายที่ ลอนดอน, 1981

 

  1. หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ป๋วยอยู่ในสถานะที่ใครหลายคนชักชวนและสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขาปฏิเสธ พรรคการเมืองบางพรรคโกรธมากที่เขาไม่ยอมรับเป็นหัวหน้าพรรคให้  กล่าวคือป๋วยยึดมั่นในคำสาบานสมัยเป็นเสรีไทย และเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้เพราะการเป็นนายกรัฐมนตรีต้องประนีประนอมกับสิ่งที่ขัดแย้งกันให้ได้ แต่การประนีประนอมบางอย่างป๋วยทำไม่ได้  อนึ่ง ป๋วยเคยเปรยกับผู้ใกล้ชิดว่า อยากเป็นผู้ว่า กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง  และเคยให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า ถ้าไม่บังคับ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง  บางทีหลังเกษียณ ป๋วยจะสนใจลงสมัครรับเลือกตั้ง
  1. ต้นปี 2517 ป๋วยเริ่มโครงการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานลุ่มน้ำแม่กลองขึ้นด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล กินพื้นที่ 7 จังหวัด ราว 8.8 ล้านไร่  เพื่อบูรณาการการพัฒนาชนบทให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในทางการเกษตร การสาธารณสุข และการแก้ปัญหาการถือครองที่ดิน รวมถึงระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพในท้องที่ต่างๆ  น่าเสียดายที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นก่อนที่โครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์
  1. ป๋วยชอบสนับสนุนงานศิลปะ นอกจากการริเริ่มให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสะสมงานศิลปะแล้ว  เขายังรับเป็นรองประธานมูลนิธิหอศิลป พีระศรี และมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งหอศิลป พีระศรี ขึ้นเป็นหอศิลป์แห่งแรกในประเทศไทยด้วย
  1. พฤศจิกายน 2517 ป๋วยซึ่งเวลานั้นเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ทำหนังสือถึงคณบดีขอลาในเดือนธันวาคมเพื่อพักผ่อนและทำธุระเรื่องครอบครัว ในหนังสือฉบับดังกล่าว ป๋วยทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดจะทำ โดยเขียนว่า “โปรดเสนอมหาวิทยาลัยอย่าจ่ายเงินเดือนประจำเดือนธันวาคม 2517 ให้แก่ผม เพราะจะไม่ได้ทำงาน
  1. มกราคม 2518 ป๋วยได้รับเลือกให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นศิษย์เก่าคนแรกที่ได้กลับมาเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้  แม้จะดำรงตำแหน่งเป็นเวลาเพียง 1 ปี 8 เดือน 8 วัน แต่ป๋วยได้สร้างคุณูปการให้ธรรมศาสตร์หลายประการ เช่น การวางแผนขยายวิทยาเขตไปศูนย์รังสิต  การปรับปรุงหลักสูตรพื้นฐานโดยพยายามประสานให้สาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์สอดคล้องกัน  ริเริ่มแนวคิดมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  และโครงการรับนักศึกษาเรียนดีจากชนบท ฯลฯ
  1. มีนาคม 2519 ป๋วยแสดงปาฐกถาเรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า กล่าวย้ำถึงอุดมคติประจำใจ 3 ประการ คือ ความจริง ความงาม และความดี กล่าวโดยย่อความจริงหมายถึงสัจธรรมและหลักวิชา ความงามหมายถึงเรื่องทางศิลปวัฒนธรรมและกีฬา  ความดีหมายถึงความไม่เบียดเบียนต่อกัน ความซื่อสัตย์สุจริต  ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งไป ย่อมจะเป็นคนที่สมบูรณ์ไม่ได้
  1. อาจารย์ป๋วยมักจะคลายเครียดด้วยการเล่นบริดจ์ แม้เมื่อเป็นอธิการบดีแล้ว ก็จะเดินมาเล่นบริดจ์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ห้อง 403 ในตอนเย็น  บางครั้งเหมือนหนีเสือปะจระเข้ เพราะกลุ่มอาจารย์ที่เล่นบริดจ์จัดอยู่ในพวกมือใหม่ คือเล่นแบบไม่ค่อยคำนึงถึงกฎ กติกา มารยาท ทำให้บางครั้งป๋วยต้องปวดหัวไปอีกแบบหนึ่งที่ต้องมาสอนมารยาทการเล่นให้ด้วย

 

ป๋วยเล่นบริดจ์ ถ่ายที่ลอนดอน, 1979

 

  1. 6 ตุลาคม 2519 ป๋วยแทบเอาชีวิตไม่รอดจากเหตุการณ์ความรุนแรงและรัฐประหารในวันนั้น อันเป็นผลมาจากการโจมตีจากฝ่ายขวา เช่น อุทาร สนิทวงศ์  อุทิศ นาคสวัสดิ์  สมัคร สุนทรเวช และทมยันตี ว่าป๋วยเป็นคอมมิวนิสต์  นายตำรวจคนหนึ่งถึงกับไปตามราวีเขาที่สนามบินดอนเมือง ก่อนที่เขาจะลี้ภัยออกจากประเทศที่เขารักไป
  1. ป๋วยก่อตั้งกลุ่มมิตรไทยขึ้นที่ประเทศอังกฤษ แล้วเดินทางรอบโลกไปเผยแพร่ความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยให้โลกได้รับรู้ ดังได้กล่าววลีอมตะในสหรัฐอเมริกาว่า “ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในระบอบประชาธิปไตยและในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคน … ผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม  ผมมีความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยควรจะได้มาอย่างสันติวิธี
  1. หลังจากที่ป๋วยต้องลี้ภัย การติดต่อกับบุคคลในประเทศเป็นไปอย่างยากลำบาก เขาต้องใช้นามแฝงอื่นในการลงท้ายจดหมาย เช่น “Richard Evans” และ “สัจจะ ธรรมรักษา” คราวหนึ่งลงชื่อสัจจะเขียนกลับมาว่า “ถึงแม้ความหวังนั้นจะไม่สำเร็จในช่วงชีวิตของเรา แต่เราก็ต้องทิ้งความคิดไว้ให้คนรุ่นหลังทำต่อ
  1. กรกฎาคม 2520 นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางจากฝรั่งเศสมาแสดงปาฐกถาในงานประชุมสามัคคีสมาคมของนักเรียนไทยในอังกฤษ ป๋วยได้รับเชิญมาพูดด้วยเช่นกัน และนายจริย์วัฒน์ สันตะบุตร ได้ถ่ายภาพที่ปรีดีและป๋วยนั่งคู่กันบนม้านั่งที่หอพัก Beit Hall ของ Imperial College กรุงลอนดอน จนเกิดเป็นภาพประวัติศาสตร์ของ “สองมหาบุรุษ”
  1. ในปี 2521 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ป๋วย แต่เขาปฏิเสธที่จะรับ เพื่อแสดงท่าทีประท้วงสภาพการเมืองไทยที่ไร้เสรีภาพ และไม่เป็นประชาธิปไตย
  1. ในปี 2530 ป๋วยได้รับเกียรติเป็นธรรมศาสตราจารย์คนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขายกเงินที่ได้มาทั้งหมดให้สำนักหอสมุดเพื่อใช้พัฒนาห้องสมุดสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ต่อไป  ดังที่เขาเคยปาฐกถาไว้ตั้งแต่ปี 2511 ว่า “คนเราขาดห้องสมุดไม่ได้ เพราะหนังสือเป็นอาหารของสมองและจิตใจ”
  1. ป๋วยล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ในเดือนกันยายน 2520 ทำให้สมองในส่วนที่สั่งการเรื่องการพูดใช้การไม่ได้ เข้าอยู่ในโลกแห่งความเงียบถึง 22 ปี จนจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2542  โดยอาศัยอยู่ในบ้านพักชานกรุงลอนดอนเป็นหลัก  มีกลับมาเยี่ยมประเทศไทยบ้าง 3-4 ครั้ง
  1. ในวาระ 100 ปี ชาตกาล 9 มีนาคม 2559 องค์การ UNESCO ยกย่องให้ป๋วยเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา  สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  โดยได้กล่าวยกย่องไว้ว่าป๋วยเป็น “บิดาแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2” และเป็น “ข้าราชการที่โดดเด่น มีจริยธรรมอย่างหาที่ติมิได้”

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ่ายที่บ้านซอยอารีย์, 1994

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save